ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ฐานะของเศรษฐกิจในแหล่งคำสอนของพุทธศาสตร์

ก่อนที่จะวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้ตามแนวของพุทธศาสตร์ต่อไป ก็จะหวนกลับมาหาคำสอนทั่วๆ ไปของพุทธศาสตร์เสียก่อน ในเรื่องพุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจนี้ ตามปกติ เมื่อเราจะมองหาหลักฐานที่อ้างอิง เราก็ต้องมองกลับไปที่พระไตรปิฎกก่อน เพราะถือว่าพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่บรรจุไว้ซึ่งคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา และคำสอนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ก็มีอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นจำนวนไม่น้อย พระไตรปิฎกนั้นมีเนื้อหามากมายถึงสี่สิบห้าเล่ม ถ้าคิดเป็นหน้าก็เกือบสองหมื่นสองพันหน้า แต่เรามาแบ่งกันง่ายๆ ว่าเป็นสามปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก คำสอนที่ว่าด้วยเศรษฐกิจนี้ ความจริงก็มีอยู่ไม่ใช่น้อยในพระไตรปิฎก จะว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจก็คงจะไม่ถูกต้องเลย

ลองสำรวจเริ่มจากปิฎกที่ว่าเกี่ยวข้องน้อยที่สุดก่อน คือ พระอภิธรรมปิฎก อภิธรรมปิฎกนั้นไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจโดยตรงเลย แต่ความจริงก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์อยู่นั่นแหละ เพราะว่าอภิธรรมนั้นว่าด้วยสภาพจิตใจ ทำการวิเคราะห์กระบวนการและองค์ประกอบต่างๆ ในจิตใจออกมา ให้เห็นเป็นแต่ละอย่างๆ องค์ประกอบของจิตใจเหล่านี้เป็นรากฐานของพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกด้าน รวมทั้งพฤติกรรมในทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ในฝ่ายลบก็มี โลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา มานะ ทิฐิ เป็นต้น หรือในฝ่ายบวกก็มี อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีศรัทธา มีจาคะ มีเมตตา อะไรต่างๆ ธรรมะหรือหน่วยธรรมเหล่านี้ เป็นองค์ประกอบทางจิตใจที่เป็นรากฐานของพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมนั้นมาเกี่ยวข้องกับวิชาการด้านใด นักวิชาการด้านนั้นก็เอาไปศึกษาเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านหนึ่ง ซึ่งจะต้องมาจากพื้นฐานในทางจิตใจเหล่านี้ เพราะฉะนั้น อภิธรรมจึงเป็นการศึกษาเรื่องของเศรษฐกิจ หรือเศรษฐศาสตร์ในขั้นรากฐานที่สุด แต่จะเห็นได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าเราจะสามารถเชื่อมโยงความจริงออกมาได้เพียงใด

ต่อมา คำสอนที่เราพบมากที่สุดในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ก็คือคำสอนในพระสุตตันตปิฎก ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พระสูตร คำสอนในพระสูตรนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสกับบุคคลหรือกลุ่มชนที่อยู่ในกาลเทศะต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นคำสอนในพระสูตร จึงมักจะเป็นคำสอนในทางปฏิบัติที่ใช้สำหรับชุมชนนั้นๆ ในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมแบบนั้นๆ ในสภาพอย่างนี้ คำสอนในพระสุตตันตปิฎกจึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องมองให้เข้าใจ โดยมุ่งไปที่สาระสำคัญว่าอยู่ที่ไหน แล้วจับเอามาใช้ ไม่ใช่จับเอามาทั้งดุ้น เพราะเป็นคำสอนที่จัดให้เหมาะกับบุคคล ตามสภาพแวดล้อมแห่งกาละและเทศะดังกล่าวแล้ว

ทีนี้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเหมือนกัน คือพระวินัยปิฎก วินัยปิฎกนี้มีความหมายสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก วินัยเป็นเรื่องของการจัดระเบียบชีวิตและระบบสังคม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ สำหรับชุมชนหนึ่งที่เรียกว่า สงฆ์ ซึ่งเป็นชุมชนที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นมาตามอุดมการณ์ของพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ในบทบัญญัติที่เรียกว่า วินัย นี้ จะมีกฎ ข้อบังคับ หลักปฏิบัติที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจมากมาย อย่างน้อยตอนแรกก็มีวิธีประกอบอาชีพที่จะเป็นหลักประกันให้ ภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งอยู่ในชุมชนนั้นหรืออยู่ในสงฆ์นั้น มีปัจจัยสี่ดำรงชีวิตอยู่ได้ อันนี้เป็นฐานเบื้องแรก ต่อจากนั้นก็วางหลักเกณฑ์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ปัจจัยสี่นั้นเป็นเครื่องอุดหนุนการอยู่ร่วมกันด้วยดี ไม่ให้คนที่อยู่ร่วมกันนั้นต้องมาทะเลาะวิวาทกัน ขัดแย้ง แย่งชิงกันด้วยเรื่องปัจจัยสี่ แต่ให้มีความหมายในทางบวกว่า ปัจจัยสี่ช่วยสนับสนุนการเป็นอยู่ร่วมกันด้วยดี แล้วก็มีความหมายต่อไปว่า ให้ความมีปัจจัยสี่นั้นเป็นเครื่องเกื้อกูลแก่การทำกิจหน้าที่ในการฝึกฝนพัฒนาตน คือการปฏิบัติตามมรรค ซึ่งเป็นการพัฒนาชีวิตหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนตน และในการที่จะนำเอาธรรมไปเผยแผ่สั่งสอนแนะนำผู้อื่นด้วย การมีและการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อปัจจัยสี่ จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมในลักษณะนี้ และการที่จะทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้ก็ต้องมีการจัดระบบ เพราะฉะนั้น ในทางวินัย จึงมีการจัดระบบในทางเศรษฐกิจมาก ดังจะเห็นได้ว่า เริ่มตั้งแต่บวชทีเดียว ก็จะมีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยว พอบวชเสร็จ พระอุปัชฌาย์ก็ต้องบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง คือ นิสสัยสี่ และ อกรณียกิจสี่ ตอนแรกบอก นิสสัยสี่ คือบอกแจ้งว่า ในการอยู่เป็นพระภิกษุต่อไป ตั้งแต่วันที่ท่านบวชนี้ ท่านจะเป็นอยู่ได้อย่างไร ทางมาของปัจจัยสี่เป็นอย่างไร คือบอกวิธีเลี้ยงชีวิตว่า หนึ่ง ในเรื่องอาหาร วิธีหาอาหารของพระภิกษุนั้นทำอย่างไร มีการออกเดินรับบิณฑบาต มีอาหารที่เขาจัดถวายด้วยวิธีต่างๆ สอง ในเรื่องจีวร จะใช้เครื่องนุ่งห่มอะไรได้บ้าง สาม ในเรื่องที่อยู่ ที่อยู่ประเภทไหนที่ควรจะอยู่ ที่ไหนอยู่ได้อยู่ไม่ได้ สี่ ในเรื่องยารักษาโรคก็บอกว่า มียาอะไรเป็นหลัก และจะมีอะไรเป็นส่วนที่เพิ่มได้บ้าง รวมความว่าบอกวิธีหาเลี้ยงชีพ บอกปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือปัจจัยสี่และวิธีได้มาซึ่งปัจจัยสี่นั้น เสร็จแล้วจึงบอกสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่เรียกว่าอกรณียกิจสี่

ในวินัยมีข้อบัญญัติหรือกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เรียกว่า สิกขาบท ซึ่งจะเต็มไปด้วยเรื่องปัจจัยสี่นี้มากมายทั่วไปหมด เช่นว่า พระภิกษุจะฉันอะไรได้ จะฉันอะไรไม่ได้ ฉันได้ในเวลาไหน จะหาอาหารได้อย่างไร จะขอจากใครได้หรือไม่ได้ ฯลฯ เป็นข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจมากมาย ถ้าวิเคราะห์พระวินัยของพระภิกษุแล้ว ก็จะเห็นว่า วินัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจนี้ อาจจะมากถึง ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์เข้าไปก็ได้ นอกจากวินัยหลักที่เรียกว่าศีล ๒๒๗ แล้ว พระยังมีศีลที่เรียกว่านอกปาติโมกข์อีกด้วย ศีลนอกปาติโมกข์นั้นท่านจัดเป็นหมวดๆ มาในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในส่วนวินัยนอกพระปาติโมกข์นี้ บางหมวดก็ว่าด้วยเรื่องจีวร คือเครื่องนุ่งห่มของพระโดยเฉพาะ เรียกว่า จีวรขันธกะ แปลว่าหมวดว่าด้วยจีวร กำหนดว่าพระจะใช้จีวรอย่างไร จีวรของพระรูปร่างอย่างไร สีอะไร ย้อม ด้วยอะไร จะตัดจะเย็บอย่างไร เสนาสนขันธกะ ก็ว่าด้วยที่อยู่อาศัยของพระ เภสัชชขันธกะ ก็ว่าด้วยยา พร้อมด้วยเรื่องอาหาร ของขบฉันต่างๆ แสดงว่าในวินัยมีเรื่องราวและกระบวนการทางเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ

แม้แต่ในวิธีที่แบ่งศีลของพระเป็นสี่อย่าง เรียกว่า ปาริสุทธิศีลสี่ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจอยู่มาก ปาริสุทธิศีลสี่แบ่งเป็น หนึ่ง ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในปาฏิโมกข์ ได้แก่ศีล ๒๒๗ ข้อที่พูดถึงมาแล้ว ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า มีเรื่องของปัจจัยสี่ หรือเรื่องของเศรษฐกิจเข้าไปอยู่มาก ข้อต่อไป อินทรียสังวรศีล เกี่ยวกับการสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้ดูเป็น ฟังเป็น เป็นต้น ก็มีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ทำให้ประหยัด ข้อต่อไป อาชีวปาริสุทธิศีล ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ข้อนี้โดยตรงอีกแล้ว คือบอกว่า การที่ภิกษุจะมีอาชีวะบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นอยู่อย่างไร เช่น ไม่ให้หากินด้วยการหลอกลวง ไม่ให้หาปัจจัยสี่ด้วยการเลียบเคียง ด้วยการประจบเขา ด้วยการขู่กรรโชก ด้วยการแบลคเมล์ ไม่ให้หาปัจจัยสี่ด้วยวิธีใช้ลาภต่อลาภ เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าท่านถือเรื่องอาชีวะเป็นสำคัญอย่างยิ่ง ข้อสุดท้ายคือศีลที่เรียกว่า ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่ศีลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ว่าด้วยการใช้ปัจจัยสี่ในทางที่จะให้เกิดคุณค่าที่แท้จริง อันนี้เป็นข้อปฏิบัติในขั้นที่ศีลไปต่อกับหลักการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้ว คือเราได้พูดมาแล้วถึงวิธีการที่จะหามาได้ซึ่งปัจจัยสี่ เมื่อเรามีปัจจัยสี่ หาปัจจัยสี่มาได้แล้ว ต่อไปก็จะต้องพูดถึงวิธีปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ หรือวิธีใช้ปัจจัยสี่ว่า ในการบริโภคปัจจัยสี่นั้น เราควรจะบริโภคอย่างไร ควรมีความมุ่งหมายในการบริโภคอย่างไร เรียกว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องต่อปัจจัยสี่ ข้อนี้เป็นศีลในหมวดสุดท้าย ว่าด้วยการใช้ปัจจัยสี่ให้เกิดผลเป็นคุณภาพชีวิตขึ้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.