ทางออกของสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ส่วนจุดเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนั้น จะบ่งชัดลงไปทีเดียวคงไม่ได้ แต่ในระยะสองสามปีมานี้ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดมากขึ้น ในหมู่นักวิชาการก็เริ่มหันมาสนใจมรดกหรือสิ่งที่มีคุณค่าที่สืบทอดมาทางสายวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น พวกตะวันตกนั้นมีความเจริญทางด้านวัตถุมาก ซึ่งเขาเองก็ยอมรับอย่างนั้น ความเจริญทางวัตถุนั้น เป็นภาพที่มองเห็นชัด ทำให้คนของตะวันออกตื่นเต้นตาม อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง ก็เลยตามเขาไป เพราะคิดว่าความเจริญทางวัตถุ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้น จะทำให้บรรลุผลสำเร็จทุกอย่าง จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง จะทำให้มีความสุขสมบูรณ์ เขาเข้าใจกันอย่างนั้น ต่อมาพวกหนึ่งก็ผิดหวัง มองเห็นว่าการพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างเดียวไม่เพียงพอ และอาจจะทำให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดความพินาศขึ้นมา พวกตะวันตกก็เกิดความรู้สึกว่าตนเดินทางผิด แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางส่วนก็ยังนิยมอยู่ ยังหวังอยู่ว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่กระแสใหญ่นี่เกิดความผิดหวังแล้ว ดังที่ได้เกิดความตื่นกลัวและตื่นตัวในหมู่ประชาชนชาวตะวันตกอย่างกว้างขวาง โดยมีความรู้สึกผิดหวังว่า การที่เคยหวังว่า ความเจริญทางวัตถุ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ จะให้ความสมบูรณ์เพียบพร้อมได้นั้น มันไม่จริง แต่อาจจะก่อให้เกิดภัยอันตรายและความสูญเสียมากยิ่งขึ้น อันนี้เป็นความรู้สึกที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้น จึงมีความเปลี่ยนแปลงมากในสังคมตะวันตก วงการนักวิชาการต่างๆ ก็พากันผิดหวังว่าตัวแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างวงการเศรษฐศาสตร์ก็ตาม วิทยาศาสตร์ก็ตาม หรือแม้แต่การแพทย์ ก็ล้วนมีปัญหากันทั้งนั้น ในยุคปัจจุบัน เขากำลังหาทางออกว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ฝรั่งจึงหันมาสนใจตะวันออกในแง่นี้ คือศึกษาเพื่อจะเอาความคิดของตะวันออกไปช่วยแก้ปัญหาความเจริญของตะวันตก ที่ถือว่าเป็นความเจริญสากล เวลาเรามองความเจริญของโลกปัจจุบันนี้ ก็จะมองไปที่ตะวันตก เพราะตะวันตกเหมือนเป็นตัวแทนของความเจริญ แต่ตอนนี้กำลังเกิดความผิดหวังขึ้นในหมู่คนจำนวนมาก รวมทั้งนักวิชาการต่างๆ ก็เลยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ว่า กระแสเริ่มปั่นป่วน ไม่วิ่งเรียบรื่นอย่างเก่าแล้ว เพราะพวกหนึ่งก็จะย้อนกลับหันเหกระแส อยู่ในสภาพที่เรียกว่า Turning Point คือ จุดเปลี่ยนหรือหัวเลี้ยวหัวต่อ

ความรู้สึกส่วนรวม ก็คือ มีความรู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงแน่ เพราะยุคสมัยที่ผ่านมานี้ ความเจริญเป็นแบบยุคอุตสาหกรรม แต่ในยุคปัจจุบันนี้เขามองเห็นว่า มันเปลี่ยนจากยุคอุตสาหกรรมแล้ว ชีวิตของคนก็ตาม ความเจริญทางเทคโนโลยีก็ตาม ไม่ใช่เหมือนเดิมที่จะเรียกว่ายุคอุตสาหกรรมได้อีกต่อไป ก็จึงมีคนพยายามตั้งชื่อยุคแห่งความเจริญใหม่นี้ว่าคืออะไร บางพวกก็ตั้งชื่อว่า ยุคหลังอุตสาหกรรม ยุคผ่านพ้นอุตสาหกรรม บ้างก็เรียกว่า ยุคข่าวสารข้อมูล อันนี้ใช้กันมาก ตรงกับที่เรียกว่ายุคสารสนเทศ หรือฝรั่งเรียกว่ายุค Information โดยเฉพาะสังคมอเมริกันได้เข้าสู่ยุคนี้แล้ว เข้าสู่ Information Age จะเป็น Information Society กันแล้ว เขามีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ชีวิตความเป็นอยู่จะต้องเปลี่ยน พวกที่เป็นนักคิด นักมองอนาคต เขาคาดการข้างหน้าว่า ชีวิตคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร วิธีแก้ปัญหาของมนุษย์ต่อไปจะเป็นอย่างไร นี่คือการที่เขาเตรียมเปลี่ยนยุคสมัย ดังนั้น คนไทยที่พอมองเห็นรู้ทันความเจริญของตะวันตก ก็จะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอันนี้ แล้วก็หันมาพิจารณาว่า เราก็ต้องเตรียมตัวเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็ยังตามเขาอยู่เรื่อยๆ และยังหวังในความเจริญแบบตะวันตกอยู่นั่นเอง

จุดผิดพลาดในการตามฝรั่งนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยจะต้องรับผิดชอบด้วยกัน โดยเฉพาะผู้บริหารมีส่วนอย่างมาก การรับช่วงกันของผู้บริหารนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง บางทีผู้บริหารประเทศในช่วงหนึ่งมีความรู้เท่าทัน แต่มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น ตัวอย่างง่ายๆ ในยุคที่มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก เริ่มแต่รัชกาลที่สี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว พอถึงรัชกาลที่ห้า เราก็นำระบบเข้ามาจากตะวันตกโดยตรงเลย ระบบการศึกษา ระบบการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เทคโนโลยีต่างๆ ก็เริ่มเข้ามา แต่ตอนนั้นเรามีความจำเป็นด้วย เพราะว่าตะวันตกเข้ามาแสวงหาอาณานิคม คือล่าเมืองขึ้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างตัวให้เข้มแข็ง สร้างความเจริญให้เท่าทันเขา เพื่อจะได้ต้านทานได้ ไม่ให้เขามายึดไปเป็นเมืองขึ้น ก็มองเห็นว่าเราจะต้องเจริญแบบเขาเราจึงจะสู้กับเขาได้ เมื่อเห็นความจำเป็นว่าจะต้องสร้างความเจริญอย่างเขา ให้ทันเขา เราก็เลยนำระบบของเขาเข้ามา จัดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งคือ การรวมกำลัง อย่างที่เรียกว่าใช้วิธีการรวมศูนย์อำนาจ เพราะตอนนั้นอำนาจยังกระจายอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ท้องถิ่นมีการศึกษาของตัวเอง การปกครองก็ยังมีศูนย์อำนาจย่อยๆ ที่แบ่งให้ไป วัฒนธรรมประเพณีก็มีลักษณะประจำถิ่นมาก พอถึงรัชกาลที่ห้า มีความจำเป็นต้องรวมศูนย์อำนาจให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อจะให้มีกำลังสู้เขาได้ การศึกษาก็ต้องเป็นระบบเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณี เช่น เรื่องภาษา ก็ต้องให้เป็นอย่างเดียวกันให้หมด การปกครองก็ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายบ้านเมืองเท่านั้น แม้ฝ่ายคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำประชาชนในท้องถิ่น ก็ต้องพยายามให้มารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง มีอะไรก็สั่งไปให้ได้รู้ร่วมกัน เป็นแบบแผนเป็นธรรมเนียมอย่างเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อจะสู้กับลัทธิอาณานิคม ไม่ให้เขามาครอบงำเรา รวมความว่ามีจุดมุ่งหมายชัดเจนที่จะต่อต้านลัทธิอาณานิคม

ต่อมา ลัทธิอาณานิคมผ่านพ้นไป ไม่ได้เป็นอันตรายต่อเราแล้ว แต่วิธีสร้างความเจริญเราก็ยังทำอยู่อย่างเดิม นี้คือปัญหา ปัญหาว่าคนยุคก่อนเขารับความเจริญแบบตะวันตก เพื่อจะสู้กับการคุกคามของลัทธิอาณานิคม แต่เมื่อลัทธิอาณานิคมไม่ใช่สิ่งบีบคั้นต่อไปแล้ว เรารอดจากการเป็นอาณานิคม ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศที่ถูกลัทธิอาณานิคมครอบงำนั้น ความรู้สึกต่อฝรั่งของประชาชนจะเป็นลบตลอด การครอบงำกดขี่บีบคั้นทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน เช่นโดยการพยายามรักษาขนบประเพณีของตนเอาไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนในประเทศใกล้เคียงของเรานี้ ประเทศไทยเราตอนแรกก็ถูกคุกคามเหมือนกัน จึงมีความรู้สึกชัดว่าเราจะต้องสร้างตัวให้เข้มแข็งเพื่อต่อสู้ ต่อมาเมื่อเราผ่านพ้นวิกฤตินั้นมาได้ ความรู้สึกต่อต้านหมดไป ความรู้สึกด้านลบก็ไม่มี เราก็เลยมองฝรั่งในแง่ที่เห็นว่าฝรั่งเจริญ แล้วก็พอใจชื่นชม ความรู้สึกต่อฝรั่งก็เป็นไปในทางบวก ต่อมาก็เลยกลายเป็นความรู้สึกที่ชอบตามฝรั่งเรื่อยไป

ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้บริหารประเทศในยุคต่อมาไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้เตรียมจุดหมายและจิตสำนึกให้แก่ประชาชน ในการพัฒนาประเทศว่า เมื่อเราไม่ได้สร้างความเจริญเพื่อไปต่อต้านลัทธิอาณานิคมแล้ว เราจะสร้างความเจริญเพื่ออะไร ตอนนี้เราหมดความชัดเจน การที่เราไม่มีความชัดเจนนี้เองที่ทำให้เราเกิดปัญหาขึ้น คือการสร้างความเจริญของเราก็มีความหมายแต่เพียงจะทำให้ทันเขา จะให้เป็นอย่างเขา ทำให้เรามีลักษณะเป็นเพียงผู้ตาม นอกจากนั้น ในด้านจิตใจก็มีปัญหาอีก จิตใจที่ต้องการจะตามเขา ให้มีความเจริญอย่างของเขา เมื่อความเจริญนั้นเป็นเรื่องของวัตถุและเทคโนโลยี ความเจริญอย่างเขา ก็กลายเป็นความอยากจะได้อยากจะมีอย่างเขา ซึ่งเป็นลักษณะของผู้บริโภค และต่อมาก็พัฒนาเป็นค่านิยมบริโภค เพราะฉะนั้น คนไทยเราจะมองความเจริญในลักษณะของคนที่ต้องการจะบริโภค ไม่ได้ต้องการผลิต คือ ต้องการจะบริโภคอย่างเขา แต่ไม่ต้องการผลิตให้ได้อย่างเขา นี่คือปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราก็ได้มีการวิจัยบ้างวิเคราะห์บ้าง ว่าคนไทยมีค่านิยมบริโภคสูง ขาดค่านิยมผลิต การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปได้ยาก เพราะมุ่งแต่จะเอา จะมี จะหาซื้อ เมื่อเห็นความเจริญใหม่ๆ เกิดขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น คอยดูว่าฝรั่งมีอะไรแล้วก็ตาม พอเห็นเขามีก็อยากจะได้ หาเงินซื้อ หนึ่ง ก็ไม่ประหยัด สอง เมื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็ทำให้เกิดหนี้สิน ซับซ้อนเข้ามาเป็นปัญหามากมาย แม้แต่ปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น เพื่อจะหาเงินมา เพื่อจะให้มี และการจะให้มีนี้ก็เป็นการส่งเสริมค่านิยมแบบเจ้าคนนายคน ต้องการมีฐานะสูง แข่งขันวัดฐานะกัน ค่านิยมของผู้บริโภคมาเข้ากับค่านิยมเจ้าคนนายคน ก็เลยหนุนกันไปให้บริโภคกันมากยิ่งขึ้น ฟุ้งเฟ้อแข่งฐานะกัน ก็เลยไม่สร้างสรรค์อะไร อันนี้ก็เป็นปัญหาของประเทศมาจนปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะมองถึงอนาคตก็เลยกลายเป็นต้องมองในแง่ว่า ขณะนี้ปัญหาเรามีมากมายหลายอย่าง แล้วเราจะแก้ได้อย่างไร

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.