ทางออกของสังคมไทย

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ด้านลับเร้นของปัญหาการพัฒนา

ว่าโดยสรุป ในการพัฒนาประเทศ งานหนึ่งที่มีความสำคัญมากก็คือ การสร้างดุลยภาพหรือความสมดุล คือให้เกิดความพอดี ปัญหาในขณะนี้ก็คือ สถาบันต่างๆ ในสังคมมีความลักลั่นกันอยู่ มีการแซงล้ำหน้ากัน เติบโตไม่สม่ำเสมอกัน ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ขณะนี้ก็คือ ปัญหาเมืองกับชนบท การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เมืองกับชนบทห่างไกลกันมาก ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้น ประการแรก คนในชนบทก็เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อการศึกษาแล้วไม่กลับไปเลย เพราะเข้ามาหาความเจริญในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ชนบทสูญเสียทรัพยากรบุคคล ไม่มีกำลัง คนที่มีปัญญาเข้ามาอยู่ในกรุงหมด สอง งานการในชนบทไม่มีทำ ถึงมีทำ ก็ไม่ได้ผล ไม่พอกินหรือยากเย็นกว่าในกรุง ก็ทำให้คนหลั่งไหลเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ นี่คือการเสียสมดุล และในเมืองก็เกิดปัญหา เพราะคนที่เข้ามานั้นไม่พร้อม ก็เข้ามาสร้างปัญหาในเมือง และชนบทก็ขาดกำลังที่จะพัฒนาตนเอง

ชนบทเป็นดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศ ตั้งเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ เมื่อส่วนใหญ่ของประเทศนี้เปลี้ยอ่อนกำลัง ประเทศไทยทั้งหมดก็อ่อนแอ ชนบทของเราขณะนี้โทรมมาก เพราะกำลังคนทั้งกำลังด้านสติปัญญาและกำลังด้านแรงกาย ต่างก็เข้ามาอยู่ในกรุงหมด เหลืออยู่บ้านนอกเฉพาะพวกเด็กและคนแก่ ชนบทก็พัฒนาไม่ไหว ชนบทก็เลยโทรม ความไม่มีดุลยภาพ เช่น ในด้านฐานะคน คนรวยก็รวยมากขึ้น คนจนก็ยังจนหนักอยู่ แก้ไม่ตก สถาบันสงฆ์กับสถาบันทั่วไป ก็มีความไม่พอดีในการพัฒนา ทำให้พูดกันไม่รู้เรื่องอย่างที่ว่า ไม่สามารถถ่ายทอดความคิด เอาหลักธรรมมาสนองความต้องการของเขาไม่ได้ แม้แต่ในชุมชนหนึ่งๆ ก็มีความไม่กลมกลืนกัน โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่มีวิถีชีวิตไปแบบหนึ่ง ชาวบ้านไปแบบหนึ่ง วัดไปอีกอย่างหนึ่ง วัดก็ไปกับชาวบ้านแต่ไม่รู้เรื่องกันกับโรงเรียน โรงเรียนตั้งอยู่ในวัด แต่วัดไม่รู้เรื่องโรงเรียนเลย โรงเรียนก็ไม่รู้เรื่องวัด ชีวิตก็เลยไปคนละแบบ ไม่ประสานกลมกลืนและไม่เกื้อกูลกัน

นอกจากนั้น วัดเองก็มีกำลังทรัพยากรที่เสื่อมลงมาก เพราะขาดนโยบายที่จะสร้างกำลังคน สร้างบุคลากร วัดในท้องถิ่นต่างๆ ก็จะหมดกำลัง ไม่มีพระที่มีคุณภาพจะอยู่วัด ไม่มีการศึกษา มีแต่คนที่แก่แล้ว ไม่มีทางไปหรือเลิกทำงานแล้วเข้ามาบวชมารักษาวัดไว้เฉยๆ ไม่มีความรู้ สังคมไทยก็ลักลั่น เพราะชาวบ้านก็ถือว่าวัดเป็นผู้นำของท้องถิ่น พระเป็นผู้นำชาวบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน พระที่มาเป็นผู้นำก็คือคนที่เป็นหางแถวของชาวบ้านมาบวช ก็เลยไม่ได้เรื่อง ได้แต่ความเชื่อถือที่เป็นบุญเก่า พออยู่ๆ ทำๆ กันไปตามประเพณี ถึงเขาจะเชื่อ ก็นำกันไม่ได้หรือนำไปผิดๆ เพราะผู้นำไม่มีคุณภาพ ก็โทรมลงไปทุกที

เพราะฉะนั้น ในด้านการพระศาสนานี้ จะต้องปรับปรุงการศึกษาขึ้นมา ในทางคณะสงฆ์ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของความเสื่อมและความเจริญ ปัญหาก็คือว่า ปัจจุบันนี้ เราไม่ได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาทางพระศาสนาเท่าที่ควร พระก็ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้เรียน ไม่มีการฝึกฝนพัฒนา แล้วก็มีผลย้อนกลับไปอีก คือ เมื่อเราปล่อยปละละเลย พระไม่มีการศึกษา พอมีคนตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา ตั้งขบวนการขึ้นมา ขบวนการเหล่านี้ก็ได้เปรียบที่จะสอนให้คนเห็นข้อบกพร่องของระบบที่มีอยู่ ว่าวัดและพระสงฆ์ที่มีอยู่นี้ไม่มีคุณภาพ ไม่มีหลักทั้งทางสติปัญญาและความประพฤติทั่วไป ความประพฤติก็ย่อหย่อน สติปัญญาก็ไม่มี พอพวกนั้นตั้งขบวนการขึ้นมา เอาจุดอ่อนเหล่านี้มาตี ก็ได้จุดสนใจ คนก็เห็นเด่นชัด ก็หันไปหาเขา

ดังนั้น จึงเป็นโทษของสังคมของเรานี่เอง ที่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เสื่อมโทรมไป ถ้าปล่อยกันอยู่อย่างนี้ปัญหาก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะเท่ากับว่า พระในชนบทไม่มีกำลังที่จะคุ้มครองตัวเอง อย่าว่าแต่จะไปช่วยชาวบ้านเลย ตัวเองก็จะเอาไว้ไม่อยู่แล้ว ดังนั้น พวกที่เขาจะเข้ามาตั้งตัวเป็นขบวนการใหม่ จะสอนลัทธิอะไรแปลกใหม่ เขาสามารถทำได้มากในตอนนี้ เพราะสภาพความเสื่อมเปิดช่องให้อย่างเต็มที่ พวกที่สอนใหม่นี้จะสอนผิดสอนถูกหรืออย่างไร พวกพระในวัดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถไปวินิจฉัยได้ ไม่มีความรู้ที่จะตอบโต้เขาได้ ตัวเองก็จะเอาไว้ไม่อยู่ มีแต่จะเป็นเหยื่อเขาไป พวกนั้นก็ตั้งตัวขึ้นมาได้ เอาชาวบ้านไปได้ สอนผิดสอนถูกชาวบ้านก็เชื่อ ตอนนี้ล่อแหลมต่ออันตราย ขบวนการทางศาสนาแบบสำนักต่างๆ ที่มีปัญหานี้ จะเกิดขึ้นในชนบทของไทยได้ง่ายมากในขณะนี้ จากสภาพปัจจุบัน แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องเดรัจฉานวิชาต่างๆ ที่แพร่หลายเข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนา ก็เกิดจากความย่อหย่อนอ่อนแอเสื่อมโทรมด้อยการศึกษาของพระสงฆ์นี่เอง จะเรียกว่าเป็นคลื่นหรือระลอกหนึ่งของสิ่งที่เข้ามาปะปนในพระพุทธศาสนาก็ได้ เมื่อยังไม่ปรับปรุงแก้ไข ก็มีคลื่นหรือระลอกที่สอง สาม สี่ เข้ามาอีก ซึ่งระลอกใหม่บางลูกอาจจะเป็นปฏิกิริยาตรงข้ามสุดทางกับลูกก่อนก็ได้ โดยที่ทั้งสอง หรือสาม สี่ ลูกนั้น ก็ไม่ใช่ตัวจริงของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ตัวจริงนั้นถูกกลบถูกบังหรือจมหายไปหมด

ปัญหาดังกล่าวนี้ ทางแก้ไขที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ก็คือ ต้องเอาใจใส่ต่อการศึกษาของพระเณร โดยเฉพาะในชนบท ต้องไปจัดการให้พระได้รับการศึกษา ให้รู้ธรรมวินัย มีนโยบายในการสร้างบุคลากรว่า พระสงฆ์ในชนบทเราจะเอาคนชนิดใดไว้ เราจะส่งเสริมคนประเภทใดให้เข้ามา ทำอย่างไรจึงจะให้พระอยู่ชนบทครองวัดอย่างมีคุณภาพ ต้องทำกันขึ้นมาทันที ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคณะสงฆ์ รัฐก็ต้องเอาใจใส่ด้วย และอันนี้ก็คือความไม่กลมกลืนอย่างหนึ่งด้วย ที่ว่าทางฝ่ายรัฐ ผู้ที่เข้ามาเป็นคนในรัฐบาลก็ไม่ค่อยรู้เรื่องปัญหาทางศาสนา ว่าพระในวัดนั้นคือคนประเภทใด เดี๋ยวนี้ใครอยู่วัดบ้าง วัดในชนบทมีสภาพเป็นอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง หรือทั้งๆ ที่รู้แต่ไม่ตระหนัก คือ เขารู้เหมือนกันแต่ไม่ออกมาเป็นความตระหนัก ว่าพระสงฆ์นั้น ชาวบ้านเขายังนับถือเป็นผู้นำอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญในความเสื่อมและความเจริญของท้องถิ่น จะต้องเอาใจใส่ว่าจะสร้างผู้นำท้องถิ่นที่มีคุณภาพได้อย่างไร

รัฐบาลเมื่อมองว่าผู้นำของชนบทคือใคร บางทีก็เห็นไม่ชัดเจน บางทีก็อาจจะมองไปที่ข้าราชการ เช่น นายอำเภอ ว่าเป็นผู้นำท้องถิ่น แต่ข้าราชการนั้นไม่ใช่คนท้องถิ่นที่จะอยู่ยั่งยืน ตัวผู้นำท้องถิ่นที่ชาวบ้านเขายอมรับอยู่แล้วก็คือ พระ เจ้าอาวาส รองลงมาก็คือครู แต่ในขณะนี้สถาบันหลักทั้งพระและครูก็กลายเป็นสถาบันที่โทรมมากทั้งคู่ ครูก็กำลังมีปัญหา กำลังถกเถียงกันในวงการศึกษาว่า ครูของเรามีฐานะที่ตกต่ำในสังคมไทยปัจจุบัน คุณภาพก็ด้อย ก็จะต้องพยายามยกฐานะครูขึ้นมา และพระก็ยิ่งโทรมหนัก สองสถาบันนี้เป็นสถาบันสำคัญในชนบท ถ้าไม่สามารถยกขึ้นมาได้แล้ว ชนบทก็พัฒนาได้ยากยิ่ง ในขณะนี้ ทรัพยากรบุคคลในชนบทเข้ามาอยู่ในกรุงกันหมด มาศึกษา มาหางานทำกัน ชนบทก็เปลี้ยอยู่แล้ว แล้วผู้นำที่มีอยู่ก็ยังแย่อีก

ในการแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะแก้ที่ระบบการศึกษาแล้ว ในส่วนของกฎหมายคณะสงฆ์ก็ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไข ถึงเวลามานานแล้วด้วย กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับนี้ทำให้การพระศาสนาอ่อนแอมาจนปัจจุบันนี้ เป็นเวลาตั้งกี่ปีแล้วที่กฎหมายฉบับนี้ออกมา ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ ตอนนี้ ๒๖ ปีแล้ว ใช้มานานก็เท่ากับว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้เกิดความอ่อนแออย่างที่เป็นอยู่ สภาพการพระศาสนาที่เราเห็นอยู่ว่าอ่อนแออย่างไรในขณะนี้ ก็ต้องนับว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้งานการของคณะสงฆ์ไม่เดินเท่าที่ควร และทำให้ไม่มีการฟื้นฟูปรับปรุงการพระศาสนา โดยเฉพาะในชนบท การศึกษาที่ทรุดโทรมไปก็เพราะอย่างนี้ด้วย และปัญหาที่เกิดขึ้นมา อย่างที่เกิดสำนักอะไรต่างๆ ขึ้นนี้ ก็เพราะเราไม่พัฒนาคุณภาพของพระสงฆ์ให้ดีเท่าที่ควร ภายในก็ผุกลวง ภัยภายนอกก็เกิด แล้วก็แก้กันไม่ตก แล้วสาเหตุมาจากไหน ก็เพราะว่ากฎหมายนี้สร้างจุดอ่อนไว้ และไม่เป็นตัวช่วยเกื้อที่จะแก้ปัญหานี้ได้

ผู้ริเริ่มนั้นมีหลายฝ่ายที่จะแก้ไข เพียงแต่เขาจะทำกันจริงหรือไม่เท่านั้น แหล่งหนึ่งก็คือกระทรวงศึกษาธิการก็มีข่าวเป็นระยะๆ ว่าจะพยายาม สองก็คณะสงฆ์เองที่จะต้องคิดแก้ไข แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะแก้ไข นี้คือเจ้าหน้าที่โดยตรง เหนือจากนี้ก็ต้องเป็นตัวผู้บริหารประเทศ ตัวผู้นำรัฐบาลที่จะต้องมีความเข้าใจปัญหานี้ แล้วก็คิดทำให้สำเร็จ ถ้าปล่อยอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ ก็จะต้องเกิดปัญหาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ปัญหาอย่างสันติอโศกนี้เป็นเพียงสัญญาณเตือนภัย และฟ้องความผุเท่านั้น ถ้าไม่แก้ไขปรับปรุงตัว ทั้งภัยในและภัยนอกก็จะต้องประดังกันมาอีกมากมาย และไม่ใช่เฉพาะสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่จะผุกร่อน แต่สังคมไทยทั้งหมดจะได้รับผลนั้น

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.