กระแสธรรม เพื่อชีวิตและสังคม

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

กฐิน: บทฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย
บนฐานแห่งการให้และการร่วมมือ1

ขอเจริญพร ท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

อาตมภาพขออนุโมทนา ในกุศลเจตนาของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ได้ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี และพุทธสมาคมจังหวัดสุพรรณบุรี ในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความมีจิตใจห่วงกังวล และมีความสนใจในการรักษาและสืบทอดประเพณีการทอดกฐิน ให้ประเพณีนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามความมุ่งหมายเดิมที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขประเพณีในส่วนที่อาจจะเคลื่อนคลาดไปด้วย

ในเรื่องของประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น การที่จะรักษาสืบทอด หรือปรับปรุงแก้ไข ข้อสำคัญจะต้องเข้าใจความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของตัวประเพณีนั้นเป็นข้อแรกก่อน นอกจากตัวความหมายที่เป็นสาระสำคัญนั้นแล้ว ก็จะต้องรู้จักรูปแบบของประเพณีนั้นด้วย

รูปแบบนี้แยกได้เป็น ๒ ส่วน คือรูปแบบที่เป็นส่วนของเดิมอันเป็นพื้นฐาน และรูปแบบที่เป็นส่วนขยายเพิ่มตลอดจนกระทั่งพอกเข้ามาภายหลัง

ความเป็นมาและเจตนารมณ์ของกฐิน

เรื่องกฐินนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เราต้องเข้าใจให้ครบ คือจะต้องรู้ทั้งตัวความหมาย สาระสำคัญ เจตนารมณ์ และรู้รูปแบบเดิมและรูปแบบที่ขยายเพิ่ม

รูปแบบเดิม หมายถึงรูปแบบที่เป็นพุทธบัญญัติ เป็นพระวินัย เป็นส่วนที่ต้องรักษาไว้ รูปแบบนี้จะควบคู่ไปกับความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ หมายความว่า รูปแบบเดิมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการที่จะรักษาความมุ่งหมายที่เป็นสาระไว้ เป็นธรรมดาว่า เนื้อหาสาระจะต้องอยู่ได้ด้วยรูปแบบเป็นเครื่องรักษา แต่ถ้ารูปแบบไม่มีสาระ รูปแบบนั้นก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะว่าเนื้อหากับรูปแบบเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน ตัวแท้ที่เราต้องการ คือเนื้อหาสาระ ความหมายเจตนารมณ์ นอกจากรูปแบบเดิมแล้วยังมีรูปแบบบางส่วนที่ขยายเพิ่มพูนขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของกาลเทศะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเพณี อันนี้เราจะต้องเข้าใจและแยกออกให้ได้ว่า อันไหนเป็นส่วนขยายส่วนพอกส่วนเพิ่ม หรือแม้แต่เป็นเนื้องอก

สำหรับเรื่องกฐิน เราก็เอาหลักการนี้เข้ามาจับ แต่อาตมภาพเข้าใจว่า ที่ประชุมนี้ได้ร่วมการสัมมนามาทั้งวัน คงมีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ในที่นี้เพียงแต่มาทบทวนกันเล็กน้อย

กฐินนั้นความจริงเป็นกิจหน้าที่ของสงฆ์ คือเป็นงานที่พระสงฆ์จะต้องทำ เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ญาติโยมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ญาติโยมเข้ามาร่วมนั้น เป็นเรื่องภายหลัง

หน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่ากฐินนี้ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการจำพรรษา พูดถึงเรื่องการจำพรรษาก็โยงไปถึงเรื่องฤดูกาลที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ หมายความว่า พระสงฆ์นั้นจำพรรษาอยู่ประจำที่ในฤดูฝน

ฤดูฝนนั้นมี ๔ เดือน พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาในฤดูฝนนั้น โดยอยู่แค่ ๓ เดือน อันนี้คือข้อสังเกตประการแรก ฤดูฝน ๔ เดือน บัญญัติให้อยู่ประจำที่ ๓ เดือน แสดงว่ายังเหลืออีกเดือนหนึ่งจึงจะครบตลอดฤดูฝน อีกเดือนหนึ่งนี้จะเหลือไว้ทำไม ปรากฏว่าท่านเหลือไว้เป็นเวลาสำหรับพระสงฆ์จะได้หาจีวร ทำจีวร

ชีวิตของพระสงฆ์ โดยเฉพาะในสมัยโบราณนั้น คือชีวิตของการจาริก ท่านบัญญัติให้จำพรรษาในฤดูฝน เพราะว่าในฤดูฝนไม่สะดวก ไม่เหมาะกับการเดินทาง พอหมดระยะเวลาที่อยู่กับที่ในฤดูฝนแล้ว ก็ออกจาริกกันต่อไป ในการจาริกนี้ท่านควรจะเตรียมตัวกันให้พร้อม มีบริขารอะไรที่ควรเตรียมก็เตรียมไว้เสีย สิ่งที่จะต้องเตรียมอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร เหลือเวลา ๑ เดือนไว้สำหรับหาจีวร พระแต่ละองค์มีหน้าที่ที่เป็นเรื่องของตัวเองในการที่จะต้องหาจีวร ทำจีวร

เพราะปรารภเรื่องนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้นมาในช่วงเวลานี้ คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหาจีวร ทำจีวรของพระสงฆ์ โดยยกเอาเรื่องการหาจีวรทำจีวรนี้ขึ้นมาเป็นกิจกรรมของสงฆ์ส่วนรวม กำหนดให้พระสงฆ์ที่หาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง แต่ละองค์นี้ให้มาร่วมกันทำกิจกรรมส่วนรวมขึ้นมาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการหาจีวรทำจีวรเหมือนกัน ซึ่งเรียกชื่อพิเศษว่า กฐิน แต่แทนที่จะเป็นการหาจีวรทำจีวรสำหรับตนเอง ก็เป็นการช่วยกันหาผ้าของส่วนรวมที่จะเอามาตกลงกันมอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นผลของความสามัคคี

ถ้ามองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าจะทรงพิสูจน์ความสามัคคีของพระสงฆ์ที่อยู่ด้วยกันมาตลอดเวลา ๓ เดือน ว่ามีความพร้อมเพรียงปรองดองกันหรือไม่ เพราะจะต้องมาทำกิจกรรมร่วมกันในการที่จะหาผ้ากฐินนี้ขึ้นมา และเสร็จแล้วก็ต้องมามอบให้แก่พระองค์หนึ่ง โดยต้องมีความยินยอมพร้อมเพรียงตกลงกันได้ และนอกจากพิสูจน์ความสามัคคีที่มีอยู่แล้วก็จะได้เป็นเครื่องผูกใจกันไว้อีกด้วย เพราะว่าในโอกาสที่จะแยกย้ายกันไป ก็ได้มาพร้อมเพรียงกัน ช่วยกันหาจีวรขึ้นมาแล้วถวายให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งบอกว่าเป็นผู้ที่มีศีลาจารวัตร มีความประพฤติดีงาม มีความสามารถ เมื่อต่างก็มีคุณสมบัติดีอย่างนี้ องค์ไหนจีวรเก่าก็ถวายองค์นั้นไป

เรื่องของกฐินก็มีสาระสำคัญอยู่ตรงนี้ คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหาจีวร ทำจีวร แต่แทนที่จะเป็นเรื่องที่ว่าแต่ละองค์ทำให้ตัวเอง ท่านก็ให้มีกิจกรรมของส่วนรวมขึ้นมา ในการที่จะให้พระที่จำพรรษาทั้งวัดมาพร้อมเพรียงกันหาและทำจีวรให้แก่สมาชิกในชุมชนของตน

ตอนที่จะเป็นกฐิน ก็คือตอนที่ว่า พระทั้งหมดที่จำพรรษาด้วยกันในวัดนั้น ตลอดเวลา ๓ เดือนนั้น หาผ้าได้แล้วก็มาประชุมกัน เอาผ้านั้นมาเข้าที่ประชุมตามระบบการอยู่ร่วมและดำเนินกิจการร่วมกันของสงฆ์ ที่ท่านเรียกว่าสังฆกรรม คือ งานของส่วนรวมกล่าวคือสงฆ์ เมื่อเข้าที่ประชุมแล้วก็มาตกลงกันว่าภิกษุรูปใดในหมู่ของตนนั้น เหมาะสมควรจะได้จีวร อย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่าพิจารณาถึงความสามารถ และความประพฤติ เมื่อดูแล้วเห็นว่าองค์นี้ คุณสมบัติอื่นท่านก็มีอยู่แล้ว ยังมีจีวรเก่าที่สุดด้วย ก็เสนอขึ้นมา และเมื่อเห็นชอบ ที่ประชุมก็มีมติตกลงกันว่ามอบจีวรนั้นให้องค์นี้ไป

เมื่อมอบผ้าให้องค์นั้นไปแล้ว องค์ที่ได้รับผ้าจะต้องทำจีวรให้เสร็จในวันเดียวและเอากลับมาแจ้งแก่ที่ประชุมให้ทราบ ตกลงว่าพระองค์เดียวได้รับมอบผ้าจากที่ประชุมก็ไปทำจีวร แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่องค์เดียวทำโดดเดี่ยวหรอก ให้องค์เดียวทำให้เสร็จก็จริง แต่ในเวลาทำนั้นทุกองค์ต้องมาช่วยกันทำ ท่านบอกว่าพระทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันนั้น ไม่ว่าเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย พรรษามาก พรรษาน้อย ต้องมาช่วยกันทำจีวรให้พระองค์นี้ คือ ตอนนี้เรารู้แล้วว่า จีวรเป็นของพระองค์นี้ แต่เราก็มาช่วยกันทำ พอทำเสร็จแล้วก็นำเข้าที่ประชุมอีก พระที่ได้รับมอบผ้านั้นก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าตนได้ทำถูกต้อง ครบกระบวนการของการทำผ้ากฐินแล้ว ที่ประชุมก็อนุโมทนา คือแสดงความเห็นชอบ เมื่อที่ประชุมแสดงความเห็นชอบด้วยแล้ว ก็เป็นอันว่าจบกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เรียกว่า “กรานกฐิน”

ในที่นี้จะไม่แยกแยะอธิบายว่า ทำไมถึงเรียกว่า กฐิน ทำไมถึงเรียกว่า กรานกฐิน เป็นรายละเอียด คงได้ฟังกันมาแล้ว

รวมความก็คือว่า พระองค์ที่ได้รับมอบหมายผ้าจากที่ประชุมไปทำผ้าจีวร และก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระในวัดนั้นทุกองค์จนกระทั่งทำกิจขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว ก็ไปแจ้งต่อที่ประชุมให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อขอความเห็นชอบร่วมกัน

เมื่อได้หาผ้าและทำจีวรร่วมกันให้แก่พระองค์หนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ได้รับผ้ากฐินไป องค์นี้สบาย เรื่องที่ว่ามีเวลาที่จะหาจีวรทำจีวร ๑ เดือน องค์นี้เสร็จแล้ว แต่องค์อื่นยังไม่เสร็จ องค์ที่ยังไม่เสร็จ อาจจะมัวยุ่งมาช่วยองค์นี้อยู่ เวลาเหลือน้อย แต่ก็เบาใจได้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงวางพุทธบัญญัติเรียกว่า อานิสงส์กฐิน ว่าพระที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม มาทำการกรานกฐินได้อนุโมทนาเสร็จแล้ว ก็ให้ได้รับอานิสงส์ คือสิทธิพิเศษต่างๆ หลายประการ ซึ่งเอื้อต่อการที่จะหาและรวบรวมผ้าทำจีวร รวมทั้งขยายเวลาที่จะหาจะทำจีวรออกไปอีก ๔ เดือน แต่ละองค์ได้สิทธิพิเศษขยายเวลาออกไป แต่ก่อนมีสิทธิแค่ท้ายฤดูฝน คือ ถึงกลางเดือน ๑๒ ก็หมดสิทธิ แต่เพราะมัวไปช่วยเขา ทำเพื่อแสดงความสามัคคี ตอนนี้พอทำเสร็จแล้ว ตัวเองก็ได้สิทธิพิเศษ ขยายเวลาออกไป นี้คือการให้ความยอมรับและสนับสนุนต่อการที่มาแสดงน้ำใจกันในเรื่องของส่วนรวม

รวมความว่ากฐินเป็นเรื่องของกิจหน้าที่ของพระสงฆ์ที่เป็นส่วนรวม เรียกว่า เป็นการพิสูจน์ความสามัคคีและเป็นการแสดงน้ำใจต่อกัน เป็นการผูกใจกันไว้ ต่อจากนี้ก็จะแยกย้ายกันไป แต่ก่อนจะไปก็ได้แสดงน้ำใจต่อกันไว้อย่างดี มีความพร้อมเพรียง สามัคคีกัน

กฐินขยายผล กลายเป็นกิจกรรมของประชาชน

ในการที่จะเสร็จเป็นกฐินนั้น มีกิจกรรมสำคัญแยกได้เป็นสองตอน ได้แก่

๑. ตอนเข้าที่ประชุม ซึ่งมี ๒ ช่วง คือ ประชุมมอบผ้ากฐินให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งไป และเมื่อพระทั้งวัดไปช่วยกันทำจีวรเสร็จแล้วก็มาประชุมกันอีก พระที่ได้จีวรก็แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกิจกรรมที่สำเร็จแล้ว และที่ประชุมก็อนุโมทนา กับ

๒. ตอนนอกที่ประชุม ซึ่งก็มี ๒ ช่วงเหมือนกัน คือ การหาผ้ามาก่อนมอบ กับตอนมอบกันแล้วก็ไปทำจีวร

กิจกรรม ๒ อย่างนี้ เดิมเป็นหน้าที่ของพระ ตามพุทธบัญญัติ พระต้องทำหมด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเปิดโอกาสไว้ในพุทธบัญญัติว่า ผ้าที่เอามามอบให้จะเป็นผ้าที่ทำมาเสร็จแล้วก็ได้ หมายความว่า มีญาติโยมนำมาถวายก็ได้ แต่ต้องถวายได้มาในวันนั้น และเอามามอบกันในที่ประชุม

ตรงนี้แหละ คือจุดที่แยกเป็น ๒ ตอน ตอนที่เป็นเรื่องของที่ประชุม คือตอนมอบผ้าและตอนอนุโมทนาเป็นเรื่องของพระสงฆ์โดยแท้ ส่วนอีกตอนหนึ่งที่เป็นเรื่องของการหาผ้าและทำผ้า ท่านขยายกว้างออกไป คือนอกจากพระสงฆ์จะสามัคคีกันเองแล้ว ถ้าคฤหัสถ์จะศรัทธาและร่วมใจก็ให้คฤหัสถ์เข้ามาสามัคคีด้วยได้ คือ เข้ามาร่วมในเรื่องกฐินนี้ ในส่วนของการเอาจีวรมาถวายพระสงฆ์

แต่ตรงนี้ขอย้ำว่า ญาติโยมพุทธศาสนิกชนนั้นต้องมีศรัทธาของเขาเอง ต้องเกิดจากน้ำใจของเขาเอง พระสงฆ์จะไปบอกเขาไม่ได้เป็นอันขาด จะไปพูดเลียบเคียงทำเลศนัยไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปบอกว่าวัดฉันยังไม่มีใครมาทอดกฐิน แล้วเขามาทอดกฐิน กฐินนั้นก็เป็นโมฆะ จะไปแสดงอะไรก็ตามที่เป็นเลศนัยทำให้เขามาทอดกฐิน ผิดทั้งนั้น ทำให้การกรานกฐินเป็นโมฆะ

การที่ญาติโยมจะมีน้ำใจศรัทธาและมีความสามัคคี ก็หมายความว่า พระในวัดนั้น ต้องมีความประพฤติดี มีความสามัคคี ปฏิบัติถูกต้องตามศีลาจารวัตรที่ทำให้ญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใส เขาจึงอยากจะร่วมมือช่วยเหลือโดยเอาผ้ามาถวาย

ในส่วนที่ญาติโยมทำได้ แสดงสามัคคีได้ โดยเอาผ้ามาถวายนี่แหละ ก็จึงทำให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ทำต่อกันมาจนขยายตัวเป็นประเพณีทอดกฐิน ซึ่งเราเรียกว่าไปทอดกฐิน การทอดกฐินก็เลยเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เข้ามามีส่วนด้วย ตกลงก็จึงมี ๒ ส่วน คือส่วนกรานกฐินเป็นเรื่องของพระ และส่วนทอดกฐินเป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือการเอาผ้ากฐินไปถวายสงฆ์ ถวายเป็นของส่วนรวม ถวายเป็นของกลาง

เวลาไปถวายตัวผ้ากฐิน ซึ่งเป็นแกนของเรื่องที่เรียกว่าองค์กฐิน นั้น จะต้องไม่ถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่เอาไปวางไว้ต่อหน้าที่ประชุมสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ท่านก็ไปตกลงกันเองในที่ประชุมว่าจะมอบให้แก่พระรูปใด

สาระสำคัญของกฐินนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องของความสามัคคีในพระสงฆ์แล้วขยายออกไปสู่พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ โดยเปิดโอกาสให้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ได้มาร่วมแสดงความสามัคคีด้วย และการที่ฝ่ายคฤหัสถ์จะมาแสดงความสามัคคีด้วยนั้น ก็มีผลย้อนกลับในแง่ที่เป็นทั้งการย้ำเตือน และการพิสูจน์ถึงการที่พระสงฆ์จะต้องประพฤติดีสามัคคีกันอยู่ก่อน

เป็นอันว่า ตอนนี้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์มาสามัคคีกับพระสงฆ์แล้ว ต่อมาพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ก็สามัคคีกันเองอีก แทนที่ว่าคนเดียวมาถวายก็ไปร่วมกันทำอย่างที่เรานิยมมีกฐินสามัคคี ตลอดจนมีประเพณีที่เรียกว่าจุลกฐิน เพื่อแสดงความสามัคคีให้มากขึ้น โดยต้องทำทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว ตั้งแต่นำผ้ามาปั่นเป็นด้าย เอาด้ายนั้นมาทอเป็นผ้า เอาผ้านั้นมาซักมาเย็บมาย้อมเป็นจีวร ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว และถวายให้เสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง เรียกจุลกฐิน ล้วนเป็นเรื่องของการสามัคคีทั้งนั้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสามัคคีข้ามถิ่น คือ พุทธศาสนิกชนในถิ่นนี้ถือตัวว่าเป็นเจ้าของวัดนี้ เป็นศรัทธาของวัดนี้ ก็ไปทอดกฐินที่วัดอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดของตำบลนั้น เป็นการแสดงน้ำใจต่อวัดนั้น และต่อชาวตำบลอีกตำบลหนึ่งนั้น บางทีก็ข้ามจังหวัดอย่างที่ท่านทั้งหลายมาทอดนี้ เป็นการแสดงน้ำใจสามัคคีที่ขยายวงกว้างออกไป สาระสำคัญของกฐินจึงอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความสามัคคี

รักษาสาระและเจตนารมณ์ไว้
แล้วพัฒนาประเพณีให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

ในการทอดกฐินนั้น สิ่งสำคัญก็คือตัวผ้าผืนเดียวที่ถวายให้พระท่านเอาไปตกลงมอบกัน ต่อมาเราก็คิดจะช่วยอนุเคราะห์ให้พระสงฆ์ได้มีความสะดวกในความเป็นอยู่ด้านอื่นๆ ด้วย ก็เลยเอาวัตถุ ปัจจัย บริขารอื่นๆ ไปถวายด้วย เพิ่มเข้าไปเป็นส่วนประกอบ โดยเอามาถวายเพิ่มจากผ้าที่เป็นองค์กฐิน เรียกว่า บริวารกฐิน ดังจะเห็นในคำถวายผ้ากฐินว่า “ถวายผ้ากฐินพร้อมทั้งบริวาร”

ของที่เป็นบริวารนี่แหละเป็นส่วนที่เป็นเนื้องอกขยายออกไปๆ ไปๆ มาๆ คนถวายกฐินไม่รู้ว่าตัวกฐินอยู่ที่ไหน หลายคนยังไม่รู้เลยว่าตัวกฐิน คืออะไร ไปมองที่บริวารกฐินเป็นตัวกฐิน ตลอดจนทอดกฐินเพื่อสร้างโน่นสร้างนี่ เพื่อเอาเงินเอาทอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ขยายพอกโตออกไป ตลอดจนกระทั่งว่าจะได้มีโอกาสไปเที่ยวกัน กลายเป็นกฐินเที่ยว กฐินทัศนาจร อย่างไรก็ตาม ถ้าสาระยังอยู่ ส่วนประกอบอย่างนี้เมื่อรู้จักจัดทำให้ดี ก็ไม่เสียหายอะไร หมายความว่าต้องทำให้อยู่ในขอบเขต คืออย่าให้เป็นเรื่องรื่นเริงสนุกสนานจนเลยเถิด จนกระทั่งออกนอกธรรมไป กลายเป็นสุรา กลายเป็นการพนันไปก็เสียหาย ข้อสำคัญคือจะต้องรักษาความหมายที่แท้ และเจตนารมณ์ของกฐินเอาไว้ และจัดกิจกรรมเสริมที่เป็นประโยชน์ชนิดที่สอดคล้องกัน

ถ้าหากว่าสิ่งที่มีขึ้นมาเป็นเครื่องประกอบองค์กฐิน ที่เรียกว่าบริวารกฐินเหล่านี้ จะเป็นส่วนเสริมให้กฐินมีความหมายมีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยที่เราเข้าใจสาระสำคัญ คือความสามัคคีและแสดงออกโดยการให้แก่กันก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ขอเสนอว่า นอกจากสิ่งของที่เป็นบริวารกฐิน เราอาจจะมีกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นเราไปถิ่นโน้น เขามีความต้องการอะไร มีความขาดแคลนอะไร เราควรจะช่วยเหลือสงเคราะห์อะไร เราก็นำไปพร้อมกับกฐิน จัดกิจกรรมที่เป็นบริวารกฐินขึ้นมา ไม่ใช่ไปเกื้อกูลเฉพาะพระสงฆ์อย่างเดียว แต่ไปให้ความหมายและทำประโยชน์แก่ท้องถิ่นด้วย

ความหมายนี้มีมาแต่โบราณ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพุทธศาสนิกชนถือว่าวัดในถิ่นของตัวเองนั้นเป็นวัดของตน เป็นวัดของหมู่บ้านของตน ของตำบลของตน ของอำเภอของตน ทีนี้เวลาไป เราไม่ได้ไปเฉพาะที่วัด แต่มีความหมายถึงว่าเราไปสามัคคีกับชาวบ้านในถิ่นในตำบลนั้น ถ้าเราช่วยให้ท้องถิ่นนั้นมีอะไรงอกงามขึ้นมา ก็น่าจะเป็นกิจกรรมประเภทบริวารกฐินได้

ยกตัวอย่างเช่นว่า ที่ตำบลนั้นมีความขาดแคลนในเรื่องนี้ หรือมีความต้องการในเรื่องนี้ หรือควรจะได้มีการพัฒนาในเรื่องนี้เป็นประโยชน์อยู่ เราก็จัดตัวกฐินพร้อมทั้งกิจกรรมบริวารกฐินในรูปที่ว่าไปช่วยเหลือสงเคราะห์หรือไปทำอะไรเป็นการให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น อันนี้ อาตมภาพก็ขอเสนอไว้คือให้กฐินขยายกว้างออกไปในแง่ของบริวารกฐิน ว่า นอกจากมุ่งกันในด้านของบริวาร แล้ว ก็ให้หันมาสนใจในแง่ของการจัด กิจกรรมบริวารให้มีคุณค่าอย่างแท้จริงด้วย

ที่พูดมานี้เป็นการเน้นความหมายอย่างง่ายๆ คือ ความสามัคคีและโยงต่อมาถึงเรื่องที่เราจัดทำเห็นๆ กันอยู่ คือ เรื่องบริวารกฐิน ทั้งด้านของบริวารและกิจกรรมบริวาร โดยขอให้สนใจพิจารณาทบทวนปรับปรุงกันในเรื่องกิจกรรมบริวาร นี้เป็นความหมายระดับพื้นๆ ที่แยกเป็นส่วนๆ

แต่ถ้าจะพูดให้ได้ความหมายที่ลึกลงไปจนถึงหลักการพื้นฐานที่ครอบคลุม กฐินที่เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีของสงฆ์นี้ ก็มีสาระสำคัญหรือเจตนารมณ์อยู่ที่การย้ำเตือนในหลักการและฝึกปฏิบัติในวิถีชีวิตของสังคมประชาธิปไตยนั่นเอง

จะเห็นได้ชัดว่า กฐินเป็นกิจกรรมของสังคมประชาธิปไตย การกรานกฐิน ซึ่งเป็นแกนของกฐินนั้นบ่งชัดถึงความหมายนี้ และในกิจกรรมประชาธิปไตยนี้ ท่านเน้นความหมายที่สำคัญๆ คือ

- ความมีส่วนร่วม ที่มีลักษณะเป็นความร่วมมือ

- ความร่วมมือนั้น เป็นไปด้วยความสามัคคี พร้อมเพรียง ร่วมแรง ร่วมใจกัน

- ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจนั้น แสดงออกในการให้และการกระทำเพื่อผู้อื่น

การแสดงออกในการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตนนั้น คนทั่วไปพร้อมที่จะทำอยู่แล้ว ไม่ต้องเน้นความหมายแง่นี้ในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่ควรฝึกฝนพัฒนาประชาธิปไตยด้วยกิจกรรมที่สมาชิกของชุมชนมาร่วมกัน คิดร่วมกันแสดงออกในการให้และทำเพื่อผู้อื่น วิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญแก่คุณลักษณะอย่างนี้ จึงจะนำสังคมประชาธิปไตยไปได้โดยเกษมสวัสดี

วันนี้เป็นวันที่มีการสัมมนา ซึ่งถือว่าเป็นวันสุกดิบ พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันทอดกฐินแล้ว การทอดกฐินนี้เราก็ทำกันไปตามประเพณี แต่อย่างน้อยก็ให้เราเข้าใจความหมาย สาระสำคัญ ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินไว้ก่อน แล้วก็พยายามทำให้เกิดผลตามความมุ่งหมายนั้นให้ได้ และต่อจากนี้ไปถ้ามีโอกาสก็ช่วยกันหาทางที่จะปรับปรุงพัฒนาเรื่องของกฐินนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับญาติโยมว่า ทำอย่างไรจะให้มีความหมายเป็นประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามสาระที่ว่ามานั้น

วันนี้มีเวลาน้อย บัดนี้ก็ล่วงเลยเกินเวลาไปมากทีเดียวกลายเป็นบ่าย ๔ โมง ๔๐ นาทีแล้ว อาตมภาพคิดว่าจะแสดงแง่คิดไว้เพียงบางประการ ซึ่งถ้าหากว่าจะเป็นจุดที่จะทำให้มีแง่สำหรับไปต่อไปขยายให้เกิดป็นกิจกรรมที่เป็นสารประโยชน์ขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้กฐินนี้มีความหมายต่อพระศาสนาและสังคมประเทศชาติมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่เป็นมาความหมายเดิมแท้ก็มีสาระสำคัญอยู่ที่จุดนี้

ความหมายเดิมแท้นั้นก็คือว่า กฐินนี้เป็นกิจกรรมแห่งความสามัคคีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยของสงฆ์ ซึ่งจะเป็นเครื่องดำรงพระศาสนาให้มั่นคงอยู่ได้ และการที่พระศาสนาดำรงอยู่นั้นก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจรรย์คือพระศาสนานี้ จะดำรงอยู่ยั่งยืนก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก

บัดนี้ก็เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ได้เวลาที่จะต้องปิดประชุม ผู้ดำเนินการประชุมก็ได้มาแจ้งว่าถึงเวลาจะต้องปิด ฉะนั้น อาตมภาพคงจะได้แต่เพียงอนุโมทนาผู้ที่มาร่วมประชุมสัมมนานี้อีกครั้งหนึ่ง และขอให้เราทั้งหลายช่วยกันรักษาสืบทอด ความหมาย ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฐินสืบต่อไป ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมความสามัคคี การพัฒนาวิถีชีวิตในสังคมประชาธิปไตยที่ชอบธรรม พยายามที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เป็นบริวารของกฐินนี้ ทั้งในส่วนที่เป็นของบริวารและกิจกรรมบริวาร ให้มีความหมายและเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่สังคมประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมสืบไป

ในโอกาสนี้ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งกุศลเจตนาที่ท่านทั้งหลายได้ตั้งขึ้นแล้ว ซึ่งนำมาสู่การที่ได้มาร่วมในกิจกรรมการทอดกฐินณโอกาสนี้ จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข เจริญงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลนาน

 

1สัมโมทนียกถา และคำกล่าวปิดการสัมมนา เรื่อง “กฐิน: ประเพณีที่เบี่ยงเบนไป” พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) แสดงในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อัญเชิญผ้ากฐินพระราชทานไปทอด ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.