ธรรม ๔ ประการนี้นับว่าเป็นหลักสำคัญในการครองเรือน เริ่มด้วย
ประการที่ ๑ สัจจะ ความจริง ธรรมข้อนี้ท่านยกเป็นอันดับที่ ๑ เพราะมีความสำคัญมาก ถือว่าเป็นเหมือนฐานทีเดียว ฐานรากของอาคาร หรือรากของต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาคารเป็นต้น หรือสิ่งทั้งหลายที่ตั้งอาศัย ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ถ้าฐานไม่แน่น ไม่ดี ไม่มั่นคงเสียแล้ว ทุกอย่างก็หวั่นไหว คลอนแคลน ไม่มีความแน่ใจ ไม่มั่นใจ สัจจะก็เป็นฐานรองรับชีวิตที่อยู่ร่วมกัน
บุคคลที่มาอยู่ร่วมกันจะต้องมีสัจจะคือ ความจริง เริ่มด้วยจริงใจ เช่น มีความรักจริง มีเมตตาด้วยใจจริง โดยบริสุทธิ์ใจ ขั้นแรกต้องมีความจริงอันนี้ คือจริงใจ มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ถ้าขาดความจริงใจ หรือขาดความซื่อสัตย์เมื่อไร ก็จะเริ่มระแวง เริ่มหวั่นไหว เริ่มแกว่งไกวทันที จึงจะต้องรักษาสัจจะตัวนี้ไว้ก่อน
ต่อจากจริงใจก็จริงวาจา เมื่อจริงใจแล้ว เวลาพูดจาอะไรต่างๆ ก็พูดจริงต่อกัน ไม่หลอกลวงกัน และจริงในการกระทำ คือทำจริงตามที่พูดบอกหรือให้สัญญาไว้ ถ้าบอกไว้ว่าจะทำอย่างไรแล้ว ไม่ทำตามสัญญา ไม่ทำตามที่พูด ก็เกิดปัญหาอีก จึงต้องจริงให้ครบ ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงการกระทำ ครบทั้ง ๓ อย่างที่ว่า จริงในการกระทำนั้น นอกจากทำจริงตามที่พูด แล้วก็ทำอย่างจริงๆ จังๆ เช่นในการทำงาน ก็มีความขยันหมั่นเพียรในกิจในหน้าที่ของตน แต่รวมแล้วก็คือต้องจริง นี้คือสัจจะข้อที่ ๑ ซึ่งสำคัญมาก เมื่อมีรากฐาน คือความจริง ความซื่อสัตย์์ แล้วก็ก้าวต่อไป ให้ข้อที่ ๒ ตามมาด้วย
ประการที่ ๒ ทมะ แปลตามศัพท์ว่า การฝึก การฝึกตามปกติมี ๒ ขั้น ท่านนำศัพท์นี้มาใช้ในการฝึกไม่ว่าคนหรือสัตว์ เช่นเมื่อเรานำเอาสัตว์มาจากป่า จะมีการฝึก ๒ ขั้น
ขั้นที่ ๑ คือ การปราบพยศ หรือทำให้เชื่อง ศัพท์โบราณท่านใช้คำว่า ข่ม หรือ ทรมาน
ทรมานนี้เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ความหมายเพี้ยนไป ทรมานกลายเป็นการทำให้เจ็บปวด แต่ในภาษาพระทรมานแปลว่า ฝึก เช่น พระโมคคัลลานะไปทรมานเศรษฐีท่านหนึ่ง เราอ่านก็สงสัยว่า พระทำไมไปทรมานคน แต่เปล่า ในภาษาโบราณของพระ ทรมานมาจากคำว่าทมะ แปลว่าฝึก คือแก้นิสัยเสีย เช่น ความตระหนี่เหนียวแน่น ความโกรธ แก้ไขให้ดีขึ้นหรือให้หาย เรียกว่าทมะหรือทรมาน เพราะฉะนั้นถ้าไปอ่านหนังสือเก่าๆ พบคำว่าทรมานก็อย่าเข้าใจผิด นี้คือตอนแรกปราบพยศ แก้ความผิดพลาดต่างๆ
พอแก้พยศได้เชื่องดีแล้ว ก็ฝึกขั้นที่ ๒ คือปรับปรุงพัฒนา ตอนนี้จะเอาไปใช้งานอะไรก็ฝึกไปตามนั้น เช่น จะให้ช้างลากซุง หรือจะให้ม้าวิ่งแข่ง หรืออะไรก็ตามแล้วแต่เราจะฝึก รวมความว่าฝึกปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น จนกระทั่งมีความสามารถที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ตามที่เราต้องการ
คนเราก็เหมือนกัน เราต้องยอมรับว่า เราต้องฝึกตัวอยู่เสมอ เพราะว่าคนเรานี้เกิดมา แน่นอนว่ายังเป็นคนไม่สมบูรณ์ เราทุกคนจึงต้องฝึกตนเอง การฝึกก็มี ๒ ตอน ตอนที่ ๑ คือ ข่มไว้ ปราม แก้ส่วนที่ไม่ดี แล้วต่อจากนั้นก็ คือ ปรับปรุง พัฒนา ทำให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของชีวิตที่อยู่ร่วมกัน จะมีส่วนสำคัญที่แยกง่ายๆ คือขั้นแรกเป็นการปรับตัว แล้วขั้นที่ ๒ ก็ปรับปรุงให้พัฒนายิ่งขึ้น
การปรับตัวนี้เข้ากับลักษณะขั้นที่ ๑ ของการฝึก เรายังไม่พร้อม ยังไม่เหมาะกับสภาพใหม่ๆ ที่จะไปอยู่ หรือจะไปทำงาน เรายังไม่คุ้น เรายังไม่รู้จัก ท่าทีลักษณะอาการของเรายังขัดเขินอยู่ เราจึงต้องเรียนรู้ แล้วเราก็ปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ ปรับตัวเข้ากับที่ทำงานใหม่ ปรับตัวเข้ากับคนที่พบใหม่ อย่างคู่สมรสนี้เรื่องการปรับตัวสำคัญมาก ท่านว่าต้องปรับตัวปรับใจให้เข้ากัน เพราะเป็นธรรมดาว่าคนเราไม่มีใครเหมือนกันสักคน แม้แต่พี่น้องฝาแฝดก็ยังมีข้อแตกต่าง ยิ่งอยู่คนละครอบครัว อยู่คนละถิ่นฐาน มีพื้นฐานพื้นเพทางด้านความรู้ความเข้าใจ ความนึกคิด การอบรมทางครอบครัว ทางวัฒนธรรมต่างๆ หรือถิ่นต่างๆ ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างนี้ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ซึ่งจะต้องรู้จักจัด
ความต่างนั้นทำให้เกิดผลได้ ๒ แบบ คือต่างทำให้แตกก็ได้ ต่างทำให้เต็มก็ได้ ถ้าจัดไม่เป็น หรือไม่จัด ความต่างก็ทำให้แตก คือ เพราะต่างกันก็เลยไปด้วยกันไม่ได้ ก็แตกกัน เป็นการแตกแยก แต่ถ้าจัดเป็น ก็กลายเป็นมาเติมให้เต็ม ดังเช่นร่างกายของเรานี้มีอวัยวะมากมาย ทำงานกันต่างๆ รูปร่างก็ไม่เหมือนกัน หน้าที่ก็ไม่เหมือนกัน จึงรวมกันเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ถ้าขืนมีอวัยวะอย่างเดียวกัน ก็ทำงานไปไม่ได้ เป็นชีวิตไม่ได้ ร่างกายไม่สมบูรณ์ การที่ร่างกายของเราสมบูรณ์ ชีวิตเราสมบูรณ์ ก็เพราะว่า เรามีอวัยวะต่างๆ ที่ต่างกัน เมื่ออวัยวะที่ต่างกันนั้นทำหน้าที่ของมัน มารวมกันเข้าก็กลายเป็นความเต็ม เพราะฉะนั้น ความต่างจึงมีความสำคัญมาก
คนเราเมื่อต่างกันมาก็ใช้หลักธรรมข้อนี้คือ ทมะ มาเป็นหลักในการปรับตัว ยกตัวอย่างง่ายๆ คนสองคนมาอยู่ด้วยกัน คนหนึ่งชอบเก็บตัว ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร อีกคนหนึ่งชอบออกสังคม ไม่ชอบอยู่นิ่งเลย ไปไหนๆ เรื่อยตลอดเวลา นี่ก็ต่างกันแล้ว ทีนี้ถ้าไม่รู้จักปรับไม่รู้จักจัด เมื่อมาอยู่ด้วยกันต่างฝ่ายต่างก็จะเอาอย่างของตัวเอง ก็เรียกร้องจากอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าจะต้องเอาตามฉัน ไม่ยอมซึ่งกันและกัน อย่างนี้ต่างก็ทำให้แตก แต่ถ้ารู้จักจัดก็จะพบว่า ความจริงการเก็บตัวก็ดีอยู่บ้างในบางกรณี แต่มันก็มีข้อเสียทำให้ขาดประโยชน์บางอย่างที่พึงได้ และในทำนองเดียวกันการออกข้างนอกตลอดเวลาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราก็มาจัดมาปรับ ๒ ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเก็บตัวมากไป อีกฝ่ายหนึ่งออกสังคมมากไป ก็มาจัดมาปรับตกลงกันให้พอดี ท่านว่าให้ใช้วิธีแห่งปัญญา ทมะนี่สำคัญมาก ต้องใช้ปัญญา คือมาพูดมาจามาช่วยกันพิจารณาปรับตัว ตกลงกันก็กลายเป็นดีไปเลย ๒ ฝ่ายก็มาเติมเต็มกัน ฝ่ายหนึ่งก็ขาดในการคบหาเกี่ยวข้องกับผู้คน อีกฝ่ายหนึ่งก็ขาดในแง่ของการทำในสิ่งที่ควรทำเฉพาะตัว เมื่อมาปรับให้พอดีอย่างนี้เรียกว่าต่างทำให้เต็ม หรือว่าฝ่ายหนึ่งเงียบไม่ยอมพูดยอมจา อีกฝ่ายหนึ่งก็พูดมากเหลือเกิน พูดจ้อ อย่างนี้ก็เหมือนกัน บางทีจัดให้ดีแล้วก็กลายเป็นว่าเกิดความพอดี เรียกว่าต่างที่ทำให้เต็ม คือต่างที่มาเติมซึ่งกันและกันให้เต็ม
เรื่องของชีวิตคู่ที่อยู่ด้วยกันนี้ ทมะสำคัญมาก อย่างน้อยเริ่มต้นก็ต้องปรับตัวปรับใจเข้าหากัน ไม่ถือสาในเรื่องข้อแตกต่าง ถ้าเห็นผิดหูผิดตาแปลกไปก็ไม่วู่วามไม่ตามอารมณ์ ค่อยๆ อดใจไว้ก่อน เรียกว่าข่มใจไว้ก่อนแล้วก็ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา ค่อยๆ ใช้ปัญญาคิดแก้ อะไรต่ออะไรก็ลงตัว
การที่คนมาอยู่ร่วมกันนี้ ท่านถือว่าเป็นการที่ทำให้เราได้ฝึกตัวเองด้วย ถ้าเราฝึกตัวเองได้สำเร็จในการมีชีวิตคู่ เราก็จะมีความอิ่มใจ ภูมิใจว่า เราประสบความสำเร็จในการฝึกตัว ซึ่งเป็นชีวิตส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้นจึงควรสำรวจตนเองว่าเรานี่สามารถไหม เรามีความสามารถในการปรับตัวเองเข้ากับสถานการณ์ หรือเข้ากับคนอื่นได้ ทมะก็จะมีประโยชน์มาก และถือว่าชีวิตแต่งงานเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ได้ฝึกตนไปด้วย
ต่อจากการปรับตัวขั้นที่ ๑ แล้วจากนั้นก็ปรับปรุงตน อะไรที่ยังบกพร่อง เราก็เรียนรู้ แล้วพยายามปรับปรุงตนหรือพัฒนาตนอยู่เรื่อย เราก็จะเจริญงอกงาม เรื่องของการปรับปรุงตน ในที่นี้จะไม่พูดถึง เพราะเป็นเรื่องกว้างขวางมาก แต่ขั้นที่ ๑ ต้องทำให้ได้ก่อนคือปรับตัว เมื่อถึงขั้นที่ ๒ ปรับปรุงตน เราพัฒนาต่อไป ก็จะทำให้เกิดความสุขความเจริญแน่นอน
ประการที่ ๓ ขันติ แปลว่าความอดทน ซึ่งเป็นความเข้มแข็ง เพราะตัวศัพท์เมื่อพูดสั้นๆ ก็คือทน อย่างเช่นไม้ ก็เรียกว่า ทนทาน อะไรต่ออะไรที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ เราก็ชอบของทนทาน ถ้าของไม่ทน อ่อนแอ เปราะ เราก็ไม่ชอบ เพราะใช้ไม่ได้ผลดี เราชอบของที่ทนทาน ก็คือเข้มแข็ง คนก็เหมือนกันก็ต้องดูว่า คนนั้นเป็นคนอดทนคือมีความทนทานหรือเปล่า หรือเป็นคนเปราะใจเสาะแตกง่าย
คนเราจะต้องมีความเข้มแข็งอยู่ในตัว ถ้าเป็นคนอ่อนแอก็โวยวายง่าย มีอะไรนิดอะไรหน่อย ก็โวยวาย วู่วามไปตามอารมณ์ ไม่มั่นคง แต่ถ้าเป็นคนเข้มแข็งก็อยู่กับเหตุกับผลได้ อะไรต่ออะไรที่ไม่ดีก็ขุดทิ้งไป อย่างน้อยเราก็ระงับเรื่องได้ สิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหาถ้าเป็นเรื่องเล็กก็ไม่ขยายตัว ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเป็นเรื่องเล็กก็หายเลย แต่ถ้าเราไม่มีความอดทนเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ก็เสียหายใหญ่โตอาจถึงกับทำให้เกิดความย่อยยับไปก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าต้องมีความอดทน
ในชีวิตของคนเราต้องใช้ขันติหลายอย่าง อย่างน้อยก็คือ
๑. ขันติ ความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ เช่นการทำงาน คนเราต้องมีงานการทำเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ ก็ต้องมีความอดทน ใจสู้ ไม่ย่อท้อง่ายๆ จะทำงานก็ทำไป บุกฝ่าไป ไม่ย่อท้อ ลำบากไม่กลัว อย่างนี้ก็เจริญแน่นอน
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเจ็บปวดเมื่อยล้าก็ต้องอดทน หรือในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องอดทน ไม่ใช่เจ็บไข้นิดๆ หน่อยๆ ก็โวยวายทำให้อีกฝ่ายหนึ่งใจคอไม่ดีไปด้วย แต่ที่ว่าอดทนนั้นไม่ใช่ไม่รักษา ก็รักษาไป และต้องไม่ประมาทด้วย แต่ความอดทนนี้ทำให้รักษาสถานการณ์ได้ดี และบรรยากาศก็ดี
๓. ความอดทนที่สำคัญคือ อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ คนเราเมื่ออยู่ด้วยกันก็เป็นธรรมดาอย่างที่บอกข้างต้นว่าย่อมมีความแตกต่าง มีความแปลกหูแปลกตา หรือแม้จะไม่ต่าง แต่เมื่ออยู่กันนานๆ ก็ต้องมีความพลาดพลั้งบ้าง แม้ไม่ได้เจตนา เมื่อทำอะไรไปเผลอไผลก็อาจจะไปกระทบกระเทือนใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทีนี้ถ้าเราไม่สะกดใจ ไม่มีขันติความอดทน ก็ยุ่งเลย พออะไรมาไม่ถูกใจปั๊บก็เกิดเรื่องทันที ถ้าอย่างนี้ ปัญหาก็ต้องตามมาแน่ๆ แต่ถ้าเราอดทนไว้ ก็ค่อยๆใช้วิธีเอาธรรมะข้อ ๒ มาช่วยในการจัดปรับ แล้วแก้ไขปัญหา ก็หมดเรื่องไป
ความกระทบใจนี้เป็นเรื่องใหญ่ บางทีใช้มากกว่าข้ออดทนต่อความลำบากตรากตรำ และอดทนต่อทุกขเวทนา เพราะว่าความอดทนต่อความลำบากตรากตรำและต่อทุกขเวทนานั้น โดยมากจะทำเป็นนิสัยไปเลย แต่อดทนต่อความกระทบกระทั่งใจนี้มีโอกาสเกิดได้เรื่อยๆ ฉะนั้น เราจึงควรมองในแง่ที่ว่าเป็นการฝึกตนเอง เริ่มตั้งแต่ดูว่าเรามีความเข้มแข็งพอไหม เขาทำมาอย่างนี้ เขาอาจจะไม่ได้เจตนา แล้วเรามีความเข้มแข็งพอที่จะรับได้ทนได้ไหม เมื่อมองอย่างนี้ ก็เป็นการทดสอบตนเองด้วย อย่าไปมองแต่เขา ถ้าเรามองตัวเอง เอาเป็นเครื่องทดสอบแล้ว เมื่อเห็นว่าเราแข็งพอ ก็กลับมีความอิ่มใจ และภูมิใจที่ว่าเรานี้เข้มแข็งพอ สู้ได้ เป็นการฝึกตนไปด้วย พร้อมกันนั้นปัญหาอะไรต่ออะไรก็แก้ไขไปด้วยวิธีของปัญญาด้วยเหตุด้วยผล และด้วยเจตนาดีปรารถนาดีต่อกัน
ขันติเป็นธรรมสำคัญมาก เพราะว่าเมื่อเราอยู่ด้วยกันเราก็จะต้องร่วมกันในการทำการทำงาน ในการสร้างสรรค์ชีวิตเป็นต้น ชีวิตของเราจะเจริญก้าวหน้าได้เราจะต้องมีความเข้มแข็งมีความทนทานอย่างที่ว่านี้ เมื่อมีความเข้มแข็งทนทานอย่างนี้ พลังของคนที่มาอยู่ร่วมกันก็จะกลายเป็นพลังบวกรวมเป็นสอง แต่ถ้าสองคนไม่มาเสริมกัน ก็กลายเป็นมาขัดมาแย้งกัน พอมาขัดมาแย้งกันหนึ่งกับหนึ่งก็ลบกันกลายเป็นศูนย์ กลายเป็นว่าแทนที่จะเท่าเดิม เดิมมีหนึ่งพอมาเจออีกหนึ่งกลายเป็นศูนย์ไปเลย แต่ถ้ามีความเข้มแข็งและมาอยู่ด้วยกันแล้วมาเสริมกัน ก็กลายเป็นหนึ่งบวกหนึ่งรวมเป็นสองเท่ากับได้พลัง
การแต่งงานนี้ถือว่าทำให้เราได้พลังเพิ่ม ไม่เฉพาะพลังเพิ่มของคู่บ่าวสาวเท่านั้น แต่ได้เพิ่มมามาก เริ่มตั้งแต่ได้เพิ่มญาติมากมาย คุณพ่อคุณแม่ก็เพิ่มสองเท่า คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา พี่น้อง เพื่อนก็เพิ่ม ฉะนั้นคนแต่งงาน จึงเป็นคนมีโชคดี จะต้องรักษาโชคนี้ไว้ให้ได้ คือ เมื่อได้กำลังเพิ่มแล้วก็รู้จักใช้กำลังเพิ่มให้เป็นประโยชน์
เป็นอันว่าขันตินี้มีความหมายมาก แต่รวมแล้วก็คือพลังความเข้มแข็ง ที่จะพาชีวิตของเราให้เดินหน้าไป และให้กำลังของเรามาเสริมซึ่งกันและกัน
ประการที่ ๔ จาคะ นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน จาคะนั้นแปลง่ายๆ ว่าความสละ คนเรานี่จะเอาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการสละให้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อคนมาอยู่ร่วมกัน การสละที่สำคัญก็คือสามารถสละความสุขของตนได้ คือไม่เอาแต่ใจ อยากจะได้แต่ความสุขของตนเอง ต้องนึกถึงความสุขของอีกฝ่ายหนึ่ง และสามารถสละความสุขของตัวเองเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ ถ้าใครทำได้อย่างนี้ก็ประเสริฐ คือแทนที่จะนึกว่าฉันจะเรียกร้องเอาความสุข ก็กลับไปนึกถึงอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเราทำอย่างไรจะให้เขาเป็นสุข ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็เรียกว่ามีจาคะ เริ่มต้นจากใจก็ตั้งไว้ถูกต้อง ว่าเราคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะให้เขาเป็นสุข คิดอยู่แต่อย่างนี้
การที่ตั้งใจว่าทำอย่างไรจะให้เขาเป็นสุขนั้น ใจเราเองก็จะดีด้วยเพราะเป็นใจที่มีเมตตา พร้อมกันนั้นก็ทำให้อยู่ด้วยกันอย่างสามัคคีปรองดอง เพราะฉะนั้นจาคะจึงสำคัญมาก จาคะจะต้องเก่งถึงขนาดที่ว่าสามารถสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่ง แม้กระทั่งคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรจะให้เขาเป็นสุข จนกระทั่งไม่คำนึงถึงความสุขของตัวเอง เมื่อสองฝ่ายคิดอย่างเดียวกันต่างฝ่ายต่างก็จะพยายามทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสุข ก็เลยสุขด้วยกัน สบายไป แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างเรียกร้องจะเอาอย่างใจตัวเอง ต่างก็เรียกร้องความสุขให้แก่ตัวเอง อย่างนี้ก็เกิดปัญหาแน่
ถ้ามีจาคะสละความสุขได้ก็เป็นคนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นจาคะจึงแปลว่าความมีน้ำใจ ความมีน้ำใจต่อกันนี้เริ่มต้นด้วยการยอมสละความสุขแก่กันได้ เช่นอีกฝ่ายหนึ่งเหนื่อยมาจากนอกบ้าน อีกฝ่ายหนึ่งอยากให้เขาเป็นสุข เขาเหนื่อยมาทำอย่างไรดี ก็ต้องต้อนรับจัดอะไรให้เขารับประทาน และพูดจาดีๆ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสบายใจ เมื่อคนหนึ่งเหนื่อยมาหรืออาจจะมีปัญหามาจากที่ทำงาน พอมาถึงบ้านพบการต้อนรับเอาใจใส่ก็เย็นใจสบาย คราวนี้ไม่อยากไปไหนแล้ว เพราะคิดว่าถ้ามีทุกข์มาเราก็กลับบ้าน เดี๋ยวเราก็หายทุกข์หายร้อน
จาคะนี่แสดงได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อฝ่ายหนึ่งเจ็บไข้ได้ป่วย อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามมาคอยเอาใจใส่ดูแลขวนขวายจัดอะไรให้ เฝ้าพยาบาลไม่เห็นแก่หลับแก่นอนเป็นต้น ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน ทำให้เกิดความประสานสามัคคี เพราะฉะนั้น จาคะจึงแปลว่ามีน้ำใจ เพราะเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยง มิฉะนั้นก็แห้งแล้ง ถ้ามีน้ำหล่อเลี้ยงแล้ว ชุ่มชื่นก็มีความสุข
นอกจากมีน้ำใจต่อกันโดยสละต่อกันระหว่างคู่ครองแล้ว ก็สละต่อผู้อื่นด้วย โดยมีน้ำใจต่อญาติมิตรทั้งสองฝ่าย ต่อคุณพ่อคุณแม่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ต่อญาติมิตรพี่น้องทั้งหลาย ต่อเพื่อนฝูง มีน้ำใจไปหมด เมื่อทำอย่างนี้แหละจึงจะมาเสริมกำลังซึ่งกันและกัน แล้วชีวิตก็จะเจริญงอกงามมาก เพราะฉะนั้นจาคะก็จึงช่วยให้เรามีกำลัง เมื่อมีกำลังมากต่อไปเรามีทรัพย์สินเงินทองมาก มียศฐาบรรดาศักดิ์มาก คือมีทรัพย์ มีอำนาจมาก เราก็ยิ่งสามารถใช้จาคะไปบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์แก่สังคมกว้างขวางออกไป ที่ว่านี้ก็แล้วแต่กำลังความสามารถ แต่อย่างน้อยก็ให้มีน้ำใจต่อกันระหว่างคู่ครองและญาติมิตรใกล้เคียงโดยแสดงออกซึ่งจาคะคือความเสียสละมีน้ำใจนี้
นี่คือหลักธรรม ๔ ประการ ซึ่งมีความสำคัญในการครองเรือน ที่พระพุทธเจ้าตรัสประทานไว้ ถ้าทำได้ตามนี้ก็ย่อมเป็นธรรมมงคลแน่นอน คือเป็นมงคลที่เกิดจากธรรมะ เกิดจากการปฏิบัติสิ่งที่ดีงามถูกต้อง มงคลนั้นแปลว่าสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ สิ่งอะไรจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญก็ต้องธรรมะนี่แหละคือการทำอะไรก็ตามที่ถูกต้องดีงาม เพราะฉะนั้นรวมแล้วก็เป็น ๔ ข้อ โดยสรุปก็คือ
ประการที่ ๑ สัจจะ ความจริง ทั้งจริงใจ จริงวาจา และจริงการกระทำ มีความซื่อสัตย์
ประการที่ ๒ ทมะ การฝึกฝนปรับปรุงตน เริ่มแต่ปรับตัวเป็นต้นไป เป็นคนที่พัฒนาตนอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง
ประการที่ ๓ ขันติ มีความอดทน เข้มแข็งทนทาน ทั้งต่องานยากลำบากตรากตรำ ต่อทุกขเวทนาความเจ็บปวดเมื่อยล้า และต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ
ประการที่ ๔ จาคะ มีน้ำใจสามารถสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ ตลอดจนเพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายกว้างขวางออกไป
เราจะต้องทำชีวิตของเราให้ดีให้มีความสุข ถ้าตัวเรามีความสุข คุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุขไปด้วย เป็นการตอบแทนพระคุณไปในตัวเลย เพราะฉะนั้นหลักธรรมนี้จึงมีความสำคัญ เป็นการพัฒนาชีวิตจากการที่คอยเรียกร้องความสุขให้แก่ตนเอง มาสู่ขั้นที่อยากจะให้คนอื่นเป็นสุขแล้วก็ขยายออกไป อยากให้คู่ครองเป็นสุข อยากให้ลูกเป็นสุข อยากให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข เมื่อทำได้อย่างนี้ชีวิตของตัวเราเองก็มีใจเป็นสุข และคนอื่นก็มีความสุขไปด้วย นี่ก็ครบชุดแล้ว