ต้นไม้แห่งชีวิตคู่

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

ในเมื่อโอกาสนี้เป็นโอกาสของความเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะขอกล่าวเรื่องมงคลสักเล็กน้อย เพื่อเสริมความเป็นมงคลนี้ให้ยิ่งขึ้นไป

มงคลแท้ไม่จบแค่พิธี

ถ้ากล่าวตามหลักพระศาสนาแล้วพูดได้ว่ามงคลนั้นจัดเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกเรียกว่า พิธีมงคล หรือ มงคลพิธี ได้แก่ การจัดเตรียมพิธีการต่างๆ ดังที่ปรากฏขึ้นนี้เรียกว่า พิธีมงคล ส่วนอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ธรรมมงคล มงคลคือธรรม หรือ ตัวธรรมนั่นเองทำให้เกิดสิริมงคล

อย่างแรกคือ พิธีมงคล มีความหมายว่า ในเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็จัดเป็นพิธีขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์นั้นแล้ว ก็เป็นโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดทั้งหลายจะได้มาร่วมกัน พร้อมกัน มีความสามัคคีในพิธีนั้น และจะได้อวยชัยให้พรตลอดจนมีความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ อีกทั้งจะได้เป็นที่ระลึกในกาลสืบไปภายหน้า เมื่อเวลาล่วงผ่านไปแล้ว วันข้างหน้าย้อนมาหวนรำลึกถึง จะได้เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีงาม ทั้งในด้านที่เป็นความคิดและด้านที่เป็นความสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจของบุคคล ดังนั้น มงคลพิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง

แต่ว่ามงคลพิธีอย่างเดียวยังไม่พอ ความเป็นสิริมงคลจะพร้อมสมบูรณ์ต่อเมื่อมีมงคลที่สองด้วย คือ ธรรมมงคล มงคลคือธรรมะ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือความจริงความถูกต้องดีงาม ความดีงามที่มีในบัดนี้อย่างที่กล่าวแล้วก็คือ ความมีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล และนึกถึงสิ่งที่ดีงาม ทำจิตใจของเราให้ผ่องใส พร้อมทั้งความมีเมตตาธรรมของท่านที่มาร่วมพิธี ดังนั้น ในเวลาใดความดีงามมีอยู่พร้อมในจิตใจของแต่ละคนแล้ว ก็เกิดเป็นธรรมมงคลขึ้น เสริมให้มงคลพิธีเป็นพิธีที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง

เป็นมงคลตลอดชีวิต เมื่อครองเรือนด้วยหลักธรรม ๔

อย่างไรก็ตาม ควรจะได้กล่าวถึงธรรมที่เหมาะเฉพาะในโอกาสแห่งพิธีนั้นๆ ไว้ด้วย เพราะธรรมคือคุณธรรมความดีงามเหล่านี้ เป็นธรรมมงคลคู่ชีวิต ที่มีไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกันตลอดเรื่อยไป และทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลระยะยาวตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น อาตมาจึงจะได้กล่าวถึงธรรมะที่เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าบางประการ ซึ่งจะนำให้เกิดคุณงามความดีนั้นๆ ให้เหมาะสมกับโอกาสนี้ จะขอแสดงเป็นหมวดหมู่

ธรรมะหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมาะกับโอกาสพิธีนี้ คือ ฆราวาสธรรม ๔ ประการ ฆราวาสธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับการครองเรือน มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน คือ

  1. สัจจะ แปลว่า ความจริง
  2. ทมะ แปลว่า การฝึกฝนปรับปรุงตน
  3. ขันติ  แปลว่า ความอดทน
  4. จาคะ  แปลว่า ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ

 

 

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.