ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

เทคโนโลยีรุดไกล การพัฒนาคนจะทันหรือไม่

เป็นอันว่า ยิ่งสร้างเทคโนโลยีซับซ้อนสูง ก็ยิ่งต้องเพิ่มความสามารถในการใช้ และในการควบคุมดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขเทคโนโลยีเหล่านั้น มนุษย์จะมีภารกิจในเรื่องอย่างนี้มากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น เทคโนโลยียิ่งสูง ยิ่งซับซ้อน ยิ่งเจริญ ก็ยิ่งต้องการคนที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น เพื่อมาใช้มาควบคุมเทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างราบรื่นได้ผลดี คุณภาพของคนที่เราต้องการนี้ หมายถึงทั้งสองด้านคือทั้งความรู้ความชำนาญในทางเทคนิค และความมีสติรอบคอบ ไม่ประมาท หรือทั้งคุณภาพด้านความชำนาญเฉพาะทางและคุณภาพด้านคุณธรรมในจิตใจ แต่ปรากฏว่า ในสภาพปัจจุบัน ความเจริญชักจะสวนทางกัน คือ ในขณะที่เทคโนโลยีเจริญมากขึ้น ซับซ้อนยิ่งขึ้น คุณภาพของคนกลับปรากฏว่าชักจะต่ำลงและต่ำลง ไม่เฉพาะในด้านของธรรม เช่น ความมีสติรอบคอบเท่านั้น แม้แต่ในเรื่องของความรู้ความชำนาญทางเทคนิคเองก็เสื่อมทรามลงไปด้วย

ตามที่ควรจะเป็นนั้น เราจะต้องยกระดับคนหมู่ใหญ่ขึ้นมา ไม่ใช่ให้คนหมู่น้อยที่สร้างเทคโนโลยีเท่านั้นมีความรู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค แต่คนจำนวนมากจะต้องมีความรู้ความชำนาญมากขึ้นด้วย เพื่อรับภาระในการใช้และดูแลรักษา แต่แล้วในอเมริกาเองก็มีปัญหานี้ขึ้น ยกตัวอย่างในด้านของความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีนั้น เวลานี้ ในทางเทคนิคก็มีปัญหา เพราะว่าปัจจุบันความชำนาญในการใช้งานและดูแลรักษามีความสำคัญมากขึ้น สำคัญไม่น้อยกว่าความชำนาญในการสร้าง ทีนี้ถ้ามีความสามารถในการผลิตหรือสร้างเทคโนโลยี แต่ความชำนาญความสามารถในการที่จะใช้และบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขตามไม่ทัน เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ผลิตขึ้นมาก็จะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร บางทีอาจจะต้องหยุดชะงักไปด้วยซ้ำ และอาจจะเกิดภัยอันตรายที่เกินกว่าประโยชน์จากมัน เช่น เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดปัญหาขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้

ในขณะที่ต้องการคนงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคนที่มีคุณภาพหาได้เพิ่มขึ้นไม่ อันนี้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในอเมริกาเอง อเมริกาเขาสรุปว่าอย่างนั้น

เมื่อคนมีคุณภาพต่ำ มาตรฐานความปลอดภัยก็ต่ำลง ความสามารถในการใช้และดูแลรักษา ก็ไม่เพียงพอ และไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็จะทำให้อันตรายเกิดมากขึ้น หรือมิฉะนั้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็จะกลายเป็นหมัน ต้องชะงักสะดุดหยุดเลิกไปเอง

ขอยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ได้มีการผลิตรถยนต์ที่ออกแบบก้าวหน้ายิ่งขึ้น ใช้งานได้ผลดียิ่งขึ้น มีระบบอัตโนมัติต่างๆ มากมาย ทีนี้ รถยนต์เหล่านี้ก็ปรากฏว่าราคาแพงดูแลรักษายาก สิ้นเปลือง เสียทีหนึ่งก็ยุ่งยากมาก ถ้าเป็นรถส่วนตัวใช้งานเฉพาะรายก็ปล่อยไป แต่ถ้าใช้ในงานส่วนรวม โดยเฉพาะเป็นกิจการสาธารณูปโภค มีตัวอย่างว่าปัญหาท่วมตัว ไปไม่ตลอดหรือไม่นานด้วยซ้ำไป เหตุเกิดที่รัฐสองรัฐในอเมริกา ทางการรับรถอย่างดี มีระบบอัตโนมัติมากมายมาใช้ แล้วในที่สุดต้องหยุดใช้และเก็บเอาไว้เฉยๆ หันไปเอารถเก่าๆ ออกมาซ่อมใช้แทน เพราะสู้ความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายไม่ไหว ยอมใช้รถเก่าต่อไปดีกว่า นี่เป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ที่เมืองฮูสตันในรัฐเทกซัส (Houston in Texas) และเมืองบัลติมอร์ ในรัฐแมรีแลนด์ (Baltimore in Maryland)

เขาบอกว่า การหาคนทำงานที่ดีมีคุณภาพ กำลังเป็นปัญหาของประเทศอเมริกา ถ้าไม่สามารถสร้างหรือหานักเทคนิคที่มีความชำนาญมาสนองความต้องการได้เพียงพอ ก็จะต้องถูกบีบบังคับให้เลิกใช้เทคโนโลยีระดับสูงเหล่านั้น และกลับไปใช้วิธีการเก่าๆ ที่ง่ายกว่า

เป็นอันว่า ปัญหาการใช้ การบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความต้องการวิศวกร นักเทคนิค ซ่างซ่อมที่มีความชำนาญมากขึ้น เพราะเมื่อมีการสร้าง และทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ก็ต้องมีการแก้ปัญหาโดยอาศัยช่างที่ชำนาญเป็นผู้ดูแลซ่อมแซม ฉะนั้น งานหนักที่ตามมาในสังคมเทคโนโลยีก็คือ งานใช้เป็น พร้อมทั้งงานบำรุงรักษาและซ่อมแซม และสิ่งหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกับกิจกรรมทุกอย่างเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงรักษา การซ่อมแซมแก้ไข หรือแม้แต่การจ้างวิศวกรไว้ควบคุมการใช้งาน ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในทุกรายการ ในเมื่อเรื่องนี้กำลังเริ่มเป็นปัญหาขึ้นมาในประเทศอเมริกาแล้ว ประเทศที่เจริญตามอย่างเขาก็ควรจะรับรู้ปัญหาไว้ด้วย

โรงพยาบาลใหญ่มากแห่งหนึ่งของราชการ ในกรุงเทพฯ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศระบบกลางที่เรียกง่ายๆ ว่า Central Air ขนาดใหญ่ ราคา ๑๐ ล้านบาทมาติดตั้ง ใช้งานมาได้ ๑๐ ปี นอกจากมูลค่าของเครื่องที่ใช้งานเฉลี่ยปีละ ๑ ล้านบาทแล้ว ยังต้องเสียเงินซ่อมมาเรื่อยทุกปี จนมาถึงปีนี้ เครื่องชำรุดทรุดโทรมลง ช่างประเมินราคาค่าซ่อม ๑ ล้านบาท ไม่มีเงินจ่าย จำใจต้องทิ้งเครื่องไปเลย แล้วหันไปซื้อเครื่องปรับอากาศชนิดแยกหน่วยมาใช้เป็นแห่งๆ ไป

มนุษย์จะต้องสำนึกตระหนักว่า ความสุขความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีนั้น มิใช่สิ่งที่จะได้มาเปล่าๆ โดยไม่ต้องลงทุน แต่เป็นความสุขและสะดวกสบายที่ต้องซื้อ และมันมาพร้อมกับภารกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งมนุษย์ผู้ที่อยากใช้ก็ควรจะต้องยินดีและเต็มใจแบกรับเอา ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ หรือ air conditioner นั้น เมื่อติดตั้งไว้ที่บ้านแล้ว ในเวลาที่ไม่อยู่ไม่ใช้ ก็ควรจะต้องเปิดเครื่องให้ทำงานอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง มิฉะนั้น น้ำยาจะทำให้เครื่องเสีย นอกจากความสิ้นเปลืองเงินค่าใช้จ่าย อันเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มีมูลค่าทางจิตใจ คือความห่วงกังวลที่จะต้องแบกภาระด้วยเช่นกัน

ดังนั้น คนที่ดำเนินชีวิตในสังคมเทคโนโลยี จึงต้องเป็นคนที่มีคุณภาพเท่าทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะต้องได้รับการฝึกหัดอบรมเป็นอย่างดี ในด้านความมีสติรอบคอบ ความไม่ประมาท และความรับผิดชอบ เป็นต้น ตลอดจนความไม่เห็นแก่ตัวจนเกินไป และความเมตตากรุณา อย่างน้อยเห็นคุณค่าชีวิตของผู้อื่น พอที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและคุ้มค่า โดยไม่ทำลายคุณภาพชีวิตและสังคมของตนเอง ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อมที่ตนต้องอาศัย แต่ถ้าเป็นคนมักง่ายไร้ความรับผิดชอบ จะเอาแต่สุขสบายอย่างเดียวแล้ว ในไม่ช้า เทคโนโลยีที่ให้ความสุขสบายนั่นแหละ จะเพิ่มพูนปัญหาและความทุกข์ให้ ตลอดจนนำไปสู่หายนะในที่สุด

ทีนี้ ถอยหลังย้อนลงไป การที่จะมีแรงงานที่มีความรู้ความสามารถชำนาญในการใช้และบำรุงรักษา หรือแม้กระทั่งในการที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้นได้นั้น ก็ต้องให้การศึกษาส่งต่อกันขึ้นมา เริ่มตั้งแต่การศึกษาระดับต้นๆ แต่ปัญหาก็เกิดซ้อนขึ้นมาอีก เพราะปรากฏว่าการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังทรุดลง แม้แต่ในระดับประถมและมัธยม ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ประเทศอเมริกาวิตกกังวลกันมาประมาณ ๒๐ ปี แล้ว

มีรายงานเมื่อปี ๒๕๒๓ โดยกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (U.S. Department of Education) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) เตือนว่า ชาวอเมริกันส่วนมาก กำลังก้าวไปสู่ภาวะไร้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยแท้ ในอเมริกานั้นเขามีการตรวจคะแนนความสามารถในการเรียน เรียกว่า เอสเอที สคอร์ หรือ SAT scores (Scholastic Aptitude Test) เป็นการทดสอบความสามารถ ในการศึกษาเล่าเรียน ก่อนที่จะเข้าวิทยาลัย ซึ่งทำให้เขารู้คุณภาพของการศึกษาในระดับประถมและมัธยม และก็ปรากฏว่า ในระยะเวลา ๑๖ ปีที่ผ่านมานี้ ความสามารถในทางสติปัญญาของนักเรียนที่จบประถมและมัธยมนั้น ได้ตกต่ำลดถอยลงมาโดยลำดับ

สภาศึกษานโยบายอุดมศึกษาของคาร์เนกี้ (Carnegie Council of Policy Studies in Higher Education) รายงานว่า เพราะความบกพร่อง ในระบบการศึกษาระดับประถมและมัธยมของอเมริกา เด็กอเมริกันประมาณ ๑ ใน ๓ มีการศึกษาอ่อนมาก ไม่พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในสังคมอเมริกัน คนไม่รู้หนังสือในสหรัฐฯตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามตัวเลขที่สำรวจกันว่าเรียนไม่จบ แต่เอาความจริงที่ว่าแม้เรียนจบแล้ว แต่อ่านหนังสือไม่ออก ใช้งานหนังสือไม่ได้นี้ มีจำนวน ๑๘-๖๔ ล้านคน เด็กมัธยม และแม้แต่มหาวิทยาลัย จบการศึกษาแล้วไม่สามารถเขียนภาษาอังกฤษที่ยอมรับได้ หรือแม้แต่ทำเลขอย่างง่ายๆ ก็มากมาย เขาบอกว่า

“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นี้ มีความรู้ความสามารถด้อยกว่าคนรุ่นบิดามารดาของตนเอง”1

เป็นอันว่า ในขณะที่สังคมกำลังต้องการคนทำงานที่มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น แต่กลับได้กำลังคนที่มีคุณภาพลดลง อันนี้เป็นปัญหาของสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นสังคมที่เจริญมากในด้านเทคโนโลยี เราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทันไว้

ด้านที่สอง คุณภาพของคน นอกจากความรู้ความชำนาญทางสมอง และฝีมือในการสร้างการใช้ดูแลแก้ไขเทคโนโลยีแล้ว ก็คือคุณภาพในทางความมีสติรอบคอบ ความละเอียดลออเอาใจใส่ระมัดระวัง ซึ่งเป็นคุณธรรมในจิตใจ อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลก็ตาม ที่เกาะทรีไมล์ก็ตาม ในกรณีกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ก็ตาม ได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดจากความสะเพร่า ความประมาท ความขาดสติรอบคอบ ฉะนั้น คุณภาพของคนในด้านนี้ก็ต้องมีมากขึ้น แต่ความเจริญทางเทคโนโลยีที่ยั่วเย้าให้คนเสพสุขมากๆ นี้ ถ้าไม่ระมัดระวังแล้วก็จะล่อใจ และมอมเมาให้คนมีคุณภาพในทางสติรอบคอบน้อยลง กลายเป็นคนที่มักง่ายขึ้น

ว่าโดยทั่วไป ความทุกข์ความยากลำบากมักเป็นเครื่องฝึกคนให้เข้มแข็งอดทน ความบีบคั้นและภัยที่คุกคาม มักเป็นเครื่องกระตุ้นเร้าให้คนดิ้นรนขวนขวาย ลุกขึ้นทำการด้วยความจริงจัง ในทางตรงข้าม ความสุขสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์มักล่อให้คนเพลิดเพลินมัวเมามักง่าย และอ่อนแอ ความเกษมสำราญมักชวนให้คนนิ่งเฉยเฉื่อยชา ตลอดจนเกียจคร้านปล่อยปละละเลยหน้าที่และตกอยู่ในความประมาท

เทคโนโลยียิ่งเจริญก้าวหน้าขึ้นเท่าไร ความสะดวกสบายพรั่งพร้อมบริบูรณ์ และโอกาสที่จะมีความสุขเกษมสำราญก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อความสะดวกสบายพรั่งพร้อมเช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว คนก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะหลงใหลมัวเมามักง่ายอ่อนแอและประมาท ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น คุณภาพของคนก็จึงมีแนวโน้มที่จะเสื่อมลง ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของคนเมื่อไม่ได้ฝึกฝนพัฒนาก็ย่อมเป็นเช่นนั้น สังคมใดเมื่อเจริญมากแล้ว ก็จึงเสื่อมโทรมลง เป็นอย่างนี้กันมามากมายและเรื่อยมา

ทางเดียวที่จะแก้ปัญหา ก็คือ จะต้องพัฒนาคุณภาพคนขึ้นมาจากข้างใน ไม่ให้ความเพิ่มหรือลดแห่งคุณภาพของคนเป็นไปตามยถากรรม โดยขึ้นต่อความเจริญและความเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอก แต่ต้องให้คุณภาพของคนยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ในท่ามกลางความพรั่งพร้อม สะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับว่าค่อนข้างจะเป็นการฝืนกระแสจิตใจของคน และจะทำสำเร็จได้ก็ด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาคนกันอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้าว่าให้ถูกแท้ก็ต้องว่า ให้การพัฒนาคนเหนือกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี

ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นในสังคมเทคโนโลยีว่า จะต้องพัฒนาคน โดยพัฒนาทั้งด้านความรู้ สติปัญญา ความสามารถในทางเทคนิค และในด้านภูมิธรรม เช่นที่เห็นชัดๆ คือ ความมีสติรอบคอบ ความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ประมาท ขยันตรวจสอบ ในที่นี้เราจะเห็นได้ชัดถึงหน้าที่ที่แตกต่างกันระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับศาสนาและจริยธรรม ไม่ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเจริญขึ้นไปมากมายเท่าใด ศาสนาและจริยธรรมที่ถูกต้องซึ่งทำหน้าที่ของมันเองแท้ๆ ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่ตรงข้าม ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากขึ้นไปเท่าไร ความต้องการในความมีสติรอบคอบ ความเอาใจใส่รับผิดชอบและความไม่ประมาทก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ามากเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง จึงต้องการจิตใจที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งและรอบคอบอย่างเท่าทันกัน

1John Naisbitt, Magatrends (New York: Warner Books, Inc., 1984), p.27
The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.