ชีวิตในสังคมเทคโนโลยี

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

จุดบรรจบของพุทธธรรมกับวิทยาการและเทคโนโลยี

เมื่อจบเทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวกับสังคมไทยโดยเฉพาะแล้ว ก็มาสรุปในแง่ที่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีกับพุทธธรรม ขอพูดสั้นๆ ว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างที่เราเกี่ยวข้องอยู่ในยุคพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมนี้ เราจะต้องรู้ว่ามันเกิดมาจากวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นั้นเป็นตัวความรู้ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ก็คือการเรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติและกฎธรรมชาติ การเรียนรู้เข้าใจกฎของธรรมชาตินั้นก็คือการเรียนรู้ธรรม เพราะความจริงของธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม ฉะนั้น ความเพียรพยายามของวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา ก็คือการเพียรพยายามที่จะเข้าถึงธรรม

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมานั้น วิทยาศาสตร์ได้รู้เข้าใจธรรมเพียงบางด้านบางส่วน โดยเฉพาะในด้านรูปธรรม และในเมื่อวิทยาศาสตร์เจริญมาได้เพียงบางแง่บางส่วน มันก็ทำให้เรายังไม่สามารถสร้างระบบความประสานกลมกลืน ที่จะให้เกิดผลตามธรรมอย่างแท้จริง เพราะว่าแท้จริงนั้น ถ้าคนเข้าถึงธรรมอย่างแท้จริงแล้ว ผลจากธรรมก็จะเกิดขึ้นในแนวทางที่ว่า เมื่อเรารู้ตัวธรรม รู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ความรู้ คือปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ก็จะทำให้เราดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ หรือถูกต้องสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ นั้นก็คือการดำเนินชีวิตตามธรรม

เมื่อดำเนินชีวิตตามธรรมแล้ว ความพอดี ความสมดุล และประสานกลมกลืนก็เกิดขึ้น ความประสานกลมกลืนเกิดขึ้น ก็คือการไม่มีความบีบคั้น ความบีบคั้นนั้นคือความทุกข์ เมื่อไม่มีสิ่งบีบคั้นก็คือไม่มีทุกข์ เมื่อเกิดสภาพประสานกลมกลืนพอดี ก็เกิดความคล่องตัวเบาสบายเป็นความสุข ฉะนั้น การรู้ธรรมคือความจริงที่เรียกว่า สัจธรรมด้วยปัญญา ก็จึงนำมาซึ่งการดำเนินชีวิตตามธรรมที่เรียกว่า จริยธรรม และจากการดำเนินชีวิตตามธรรม สอดคล้องกับธรรมชาติถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เกิดความประสานกลมกลืนพอดี ก็เกิดภาวะไร้ทุกข์ที่เรียกว่าความสุข ขึ้น เป็นภาวะคล่อง สบาย ปราศจากความบีบคั้นขัดข้อง

ดังนั้น ในขั้นสุดท้าย ปัญญา การรู้ธรรมก็ดี จริยธรรม การดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรมก็ดี และความสุข ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรมแล้วเกิดความประสานกลมกลืนกันก็ดี จึงเป็นองค์ ๓ ที่เชื่อมโยงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดจริยธรรม คือการดำเนินชีวิตตามธรรม แล้วก็ทำให้เกิดความสุข

องค์ทั้ง ๓ นี้ในระดับสุดท้าย ใช้เป็นเครื่องวัดความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งจะต้องมาด้วยกัน แต่ในระดับต้นๆ เพราะเหตุที่มันยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น บางทีปัญญาก็ไม่มากับคุณธรรม บางทีปัญญาก็ไม่มากับความสุข บางทีจริยธรรมก็ไม่มากับความสุข ไม่มากับปัญญา ยุ่งไปหมด เพราะยังเจริญเป็นส่วนๆ วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ได้เข้าถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมเพียงบางแง่บางส่วน จึงยังไม่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จนี้ได้ กล่าวคือ ความเชื่อมโยงเป็นอันเดียวกันระหว่างปัญญากับคุณธรรมและความสุข

ฉะนั้น จุดหมายของพุทธธรรมก็คือ การเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์เกี่ยวกับธรรมชาตินี้ด้วยปัญญา แล้วทำให้เกิดคุณธรรมและความสุขขึ้นในขั้นสุดท้าย ผู้ที่เข้าถึงธรรมอย่างแท้จริง เรียกว่า พุทธะ จึงมีองค์คุณ ๓ คือ มีปัญญาคุณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมชาติ และกฎธรรมชาติ มีกรุณาคุณ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความเต็มบริบูรณ์ของคุณธรรม เพราะเมื่อมีคุณธรรมในตนเองพรั่งพร้อมแล้ว ก็แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ในรูปที่เรียกว่ากรุณา และมีวิมุตติคุณ คือความหลุดพ้น ซึ่งจะเรียกว่าวิสุทธิก็ได้ เรียกว่าความสุขก็ได้ เรียกว่าสันติก็ได้ เรียกว่าอิสรภาพก็ได้ หมายถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ได้เข้าถึงธรรม และมีองค์คุณสมบัติ ๓ อย่างนี้โยงรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

วิทยาศาสตร์จะต้องเจริญต่อไป และจะต้องเจริญให้ถูกทาง เพื่อให้เข้าถึงธรรมคือตัวความจริงโดยสมบูรณ์ ถ้าเข้าถึงความจริงคือตัวธรรมแล้วก็จะทำให้ได้ผลอันนี้ ฉะนั้น วิทยาศาสตร์จะต้องเจริญในแนวทางที่จะให้ได้ปัญญา ที่ทำให้เกิดคุณธรรม และนำมาซึ่งความสุขที่เป็นอิสระ จึงจะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง

ส่วนเทคโนโลยีนั้นก็จะต้องเป็นเครื่องช่วยสนับสนุนความปรารถนาของวิทยาศาสตร์ในการที่จะเข้าถึงจุดหมายอันนี้ ฉะนั้นเทคโนโลยีที่สร้างและใช้อย่างถูกต้อง ก็คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้มนุษย์มีโอกาสในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาศักยภาพของตนในการที่จะเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา มีคุณธรรม และมีความสุขแห่งสันติในอิสรภาพเป็นที่บรรจบประสาน เมื่อคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบทั้งสามนี้ประสานกันสมดุลและสมบูรณ์ได้ อันนี้ก็คือจุดบรรจบของพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอจบการปาฐกถาครั้งนี้ไว้ เพราะหมดเวลามานานแล้วเพียงเท่านี้ ขออนุโมทนา และขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.