เจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติ

Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

“มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง” มีเมื่อไร
คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี

ชาวพุทธจะต้อง มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาใช่ไหม ขอให้พิจารณาดู

พระพุทธศาสนาสอนให้เรามองกว้าง มองกว้างอย่างไร คือไม่มองอยู่แค่ตัวเอง ไม่มองแค่สังคมของเรา แต่ให้มองทั้งโลก ให้มีปัญญามองเห็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในสรรพสิ่ง ในธรรมชาติทั้งหมด

เรามองว่า ธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นระบบแห่งปัจจัยสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้มีความสัมพันธ์ พึ่งพาอิงอาศัยและส่งผลกระทบต่อกันทั้งสิ้น และให้มีเมตตากรุณา ดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจต่างๆ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลโลก

มองกว้างนั้น ถ้ายังมองออกไปไม่ถึงทั้งโลกหรือถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ ก็ขอให้มีจิตสำนึกทางสังคม ในระดับประเทศชาติของตัวเองก่อน เป็นการค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนากันไป ขยายทัศนะออกไป ไม่ใช่มองอยู่แค่ตัวเอง และผลประโยชน์ของตัว หรือเอาแต่กลุ่มแต่พวกของตัว แล้วก็กระทบกันไป กระแทกกันมา อยู่แค่นั้น

จิตสำนึกทางสังคมนั้น ตอนแรกเอาแค่ให้มีความรักบ้านเมือง มีความซาบซึ้งภูมิใจในความดีงามของชุมชนหรือสังคมของตน ซึ่งจะแสดงออกมาในจิตใจ เช่นว่า

เมื่อเห็นคนต่างประเทศเข้ามาในบ้านเมืองของตน ก็คิดนึกว่า ถ้าคนต่างชาติเหล่านั้นเดินทางไปในประเทศของเรา ขอให้เขาได้เห็นได้ชื่นชมความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามในบ้านเมืองของเรา และประชาชนที่อยู่ดีมีสุขมีน้ำใจ

แม้แต่ไม่เห็นคนต่างชาติเหล่านั้น แต่ตนเองเดินทางไปในบ้านเมืองของตัว มองเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ทัศนียภาพในธรรมชาติแวดล้อมที่ยังคงอยู่ในสภาพอันดี และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วเกิดความรู้สึกชื่นใจ อยากให้คนต่างบ้านต่างเมืองมาเห็น และนึกว่าถ้าเขามาเห็นแล้ว เขาก็จะชื่นชม

เมื่อนึกไป และทำให้เป็นไปจริงได้อย่างนี้แล้ว ก็เกิดความปีติ เอิบอิ่มปลาบปลื้มใจ ภูมิใจในประเทศชาติบ้านเมือง

ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ถ้ามีขึ้นเกิดขึ้นเสมอๆ ก็จะชักนำจิตใจและความคิดไปในทางที่ดีงาม และสร้างสรรค์ จะทำให้ชีวิตและสังคมเจริญพัฒนาไปในทางที่ดีงามถูกต้อง สำหรับมนุษย์ปุถุชน ได้แค่นี้ก็นับว่าดีนักหนาแล้ว

พระพุทธศาสนาสอนให้ คิดไกลไปข้างหน้า จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด

นั่นคือ ท่านสอนให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน โดยมีปัญญาสืบค้นหยั่งรู้เหตุปัจจัยยาวไกลในอดีต และมีความไม่ประมาทที่จะป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยให้พร้อมที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามในอนาคต บนฐานแห่งชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน ที่จัดการกับปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยการพัฒนาตนก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ให้ชีวิตงอกงามสมบูรณ์จนถึงพระนิพพาน นี่คือคิดไกลอย่างยิ่ง

ใฝ่สูง ก็คือใฝ่ธรรม มุ่งแสวงหาความรู้ความเข้าใจให้เข้าถึงความจริงแท้ ปรารถนาจะสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สังคม ให้ชีวิตและสังคมบรรลุความดีงามประเสริฐเลิศด้วยธรรม ให้โลกก้าวพ้นการเบียดเบียน ขึ้นสู่สันติสุข

เหมือนดังพระโพธิสัตว์ที่ตั้งปณิธาน ใฝ่ปรารถนาโพธิญาณ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งหวังบรมธรรม อย่างนี้จึงจะเรียกว่าใฝ่สูง

ความใฝ่สูง คือใฝ่ธรรม ที่เป็นหลักการใหญ่ประจำใจของคนทั้งสังคม คือ การถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพธรรม บูชาธรรม

คนในสังคมนี้จะต้องเชิดชูบูชาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดเอาธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั้นเป็นบรรทัดฐาน

ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความใฝ่ธรรมได้อย่างนี้ ก็ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีอุดมธรรม ถ้าคนไทยมีอุดมธรรมแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เลวร้ายทั้งหลายจะหมดไป และความเจริญพัฒนาที่แท้อันพึงปรารถนาจะตามมาอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเราจะต้องสอนกันให้ถูกต้อง แต่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้องเสียก่อน ต้องมองกว้าง คิดไกล และ ใฝ่สูง ในความหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องนำมาย้ำกัน นี่คือปัญหาสังคมไทยที่จะต้องแก้ไข และคือเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้

เมื่อรู้ว่าสังคมไทยเป็นอย่างนี้ และควรจะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างนั้นแล้ว เราจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

ขอสรุปความที่กล่าวมาเสียก่อนว่า เวลานี้สังคมไทยเรามีความสับสน และพร่ามัวมาก ต่างคนต่างไปคนละทิศละทาง

แม้แต่ที่บอกว่านับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องพูดว่า นับถือไปอย่างนั้นเอง นับถือเพียงถ้อยคำที่พร่ำแต่วาจา วาจาก็พร่ำไปว่าฉันนับถือพระพุทธศาสนา แต่เอาจริงแล้วเป็นการนับถือที่ไม่แท้ไม่จริง เอาอะไรก็ไม่รู้มานับถือ

ความพร่าความมัวความสับสนนี้เกิดจากการที่ไม่มีอะไรเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต และไม่มีอะไรเป็นจุดหมายรวมของชาติของสังคมใช่หรือเปล่า

เราขาดอุดมการณ์ที่จะเป็นที่รวมแห่งความคิดจิตใจ เราขาดอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมและของชาติ

The content of this site, apart from dhamma books and audio files, has not been approved by Somdet Phra Buddhaghosacariya.  Such content purpose is only to provide conveniece in searching for relevant dhamma.  Please make sure that you revisit and cross check with original documents or audio files before using it as a source of reference.