ตามที่พูดมานี้จะเห็นว่า สถานการณ์ที่ ๔ ก็คือ สถานการณ์ที่มนุษย์สัมพันธ์กับมนุษย์ในกรณีที่ไปเกี่ยวข้องกับตัวธรรม การรักษาความสัมพันธ์กับธรรมนี้ยังมีอีกอย่างหนึ่งเป็นแง่ที่สอง
ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติ พูดอีกสำนวนหนึ่งว่าหลักการ หรือกติกาของธรรมชาติ คือ กฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ความสมเหตุสมผล หรือความสมควรตามเหตุและผล รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม หรือความชอบธรรม
จากหลักการหรือกฎของธรรมชาตินี้ มนุษย์เราก็มาบัญญัติระบบในสังคมของตน เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ในความดีงาม ก็เกิดเป็นหลักการหรือกฎในสังคมมนุษย์ กลายเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกา
เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปส่งผลกระทบเสียหายต่อธรรม คือ ทำให้เสียหลักการแห่งความเป็นจริง ความถูกต้องดีงาม ความสมตามเหตุผล ความชอบธรรม ความเป็นธรรม เช่นผิดกฎหมาย หรือกติกาสังคม เราต้องหยุดช่วยเหลือ เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อธรรม นี่คือ อุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุมหมด ทำให้สามข้อแรกมีขอบเขต
เมตตา กรุณา มุทิตาจะเลยขอบเขตไม่ได้ เมื่อช่วยกันไปถ้าจะละเมิดหลักการ ละเมิดกติกา ละเมิดความเป็นธรรม ต้องหยุด เราเลยแปล “อุเบกขา” ว่า เฉย หมายความว่าเฉยต่อคนนั้น ไม่ช่วย(ในทางที่ผิด) ในภาษาบาลีท่านอธิบายว่าไม่ขวนขวาย(ที่จะช่วย) เหมือนกับบอกว่าฉันไม่เอากะคุณละนะ
เราช่วยเหลือกันตลอดเวลา โดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ถ้าจะทำให้เสียหลักการ เสียความเป็นธรรม ฉันต้องหยุด ฉันไม่เอากับคุณแล้วนะ กฎต้องเป็นกฎ ตรงนี้เรียกว่าอุเบกขา
อุเบกขา คือเฉยต่อคนนั้น เพื่ออะไร เพื่อไม่ละเมิด เพื่อไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรม ธรรมจะออกผลอย่างไรต้องว่าไปตามนั้น ในขณะที่ เมตตา กรุณามุทิตา รักษาคน แต่อุเบกขา รักษาธรรม
ที่จริง อุเบกขาก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั่นแหละ แต่ในกรณีนี้ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่แค่มนุษย์แล้ว แต่มันไปเกี่ยวข้องกับธรรมด้วย คือไปเกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ทั้งในธรรมชาติ และที่มาบัญญัติกันในสังคมมนุษย์
ฉะนั้น อะไรที่เป็นเรื่องที่เขาสมควรจะช่วยตัวเอง ควรรับผิดชอบตามความเป็นจริงของความเป็นเหตุเป็นผล เราไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ช่วยเรื่อยเปื่อย ต้องช่วยในขอบเขตของความสมเหตุสมผล และช่วยเฉพาะในขอบเขตที่ไม่ละเมิดธรรม ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ฉะนั้น อุเบกขาจึงเป็นตัวคุม และรักษาดุล ให้การช่วยเหลือกันไม่เลยขอบเขตจนเสียธรรม
ถึงตอนนี้คงจะประมวลคำอธิบายพรหมวิหารข้อสุดท้าย มาสรุปลงเป็นความหมายของอุเบกขาได้ว่า
สถานการณ์ที่ ๔ เมื่อเขาสมควรจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตน (รวมทั้งฝึกหัดความรับผิดชอบนั้น) คือในกรณีที่ถ้าเราเข้าไปช่วยเหลือด้วยเมตตาก็ตาม กรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม จะเป็นการละเมิดก่อความเสียหายต่อธรรม ต่อความจริงความถูกต้องดีงาม ความสมควรตามเหตุผล หรือทำลายหลักการ กฎ กติกาที่ชอบธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ ๑-๒-๓ จะต้องถูกหยุดยั้ง เราจะต้องตั้งตัวหรือวางตนอยู่ในอุเบกขา คือ หยุดการขวนขวายช่วยเหลือ เพื่อให้มีการปฏิบัติไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกติกา โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
ขอยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จลักขโมยเงินเขามาได้ ๕,๐๐๐ บาท ดีใจใหญ่ เราเห็นว่าเด็กนั้นประสบความสำเร็จ เราจะไปมุทิตาถูกต้องไหม ไม่ถูกต้องใช่ไหม เพราะว่า ถ้าเราไปดีใจ ไปส่งเสริม ก็ไปกระทบกับตัวธรรม กลายเป็นการทำลายหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม ฉะนั้น ในกรณีนี้ เราก็ต้องปฏิบัติไปตามธรรม
อีกตัวอย่างหนึ่ง ลองดูในกรณีของผู้พิพากษา เช่น จำเลยทำความผิดจริง ไปฆ่าคนมา ผู้พิพากษาคิดว่าถ้าเราจะตัดสินให้เขาเข้าคุก เขาก็จะมีความทุกข์ ก็เกิดกรุณา สงสาร เลยตัดสินให้พ้นผิด อย่างนี้ไม่ถูก เพราะการมีกรุณาในกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวธรรม ทำให้เสียหลักความจริงความถูกต้องดีงาม ทำลายหลักการกฎเกณฑ์กติกาที่รองรับสังคมอยู่
ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ส่งผลกระทบเสียหายต่อหลักการแห่งความเป็นธรรม ชอบธรรม หรือตัวหลักการ ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ เราจะต้องหยุดข้อที่ ๑, ๒, ๓ ไว้ แล้วย้ายไปข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา เพื่อให้เขารับผิดชอบต่อความเป็นจริง ต่อตัวธรรม ต่อหลักการและกฎเกณฑ์กติกานั้นๆ อันนี้แหละเรียกว่าอุเบกขา
ได้บอกแล้วว่า อุเบกขา แปลว่าคอยมองดู มาจาก อุป (ใกล้ๆ หรือคอย) + อิกฺข (มอง) หมายความว่า เพื่อไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการของธรรม เราจึงเฉยต่อคนนั้น คือ ปล่อยหรือเปิดโอกาสให้มีการปฏิบัติต่อเขาไปตามธรรม ตามหลักการ หรือตามกฎเกณฑ์กติกา ใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไปตามนั้น หลักการหรือกฎเกณฑ์ว่าอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น เราก็คอยมองดู ถ้ามีอะไรต้องทำเมื่อไร ก็ทำ คือคอยมองดูให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้องตามที่มันควรจะเป็นหรือตามธรรม โดยใช้ปัญญาพิจารณาปฏิบัติให้เหมาะ
อุเบกขานี่ต้องใช้ปัญญา ต่างจากเมตตา กรุณา มุทิตา ที่ใช้ความรู้สึกมาก คือรู้สึกเป็นมิตร รู้สึกเห็นใจสงสาร และรู้สึกพลอยดีใจช่วยหนุน ส่วนอุเบกขาต้องมีปัญญา คือต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นความจริง แล้วจึงเอาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดี การที่ปัญญาความรู้นั้นมาปรับความรู้สึกให้ลงตัวพอดีได้ วางตัวถูกต้องเป็นกลางอยู่ในธรรม อันนี้เรียกว่า อุเบกขา เป็นอันว่า เราจะต้องมีอุเบกขาด้วย จึงจะรักษาสังคมนี้ไว้ได้ มิฉะนั้น สังคมนี้ก็จะปั่นป่วน
ถ้าเราใช้เมตตา กรุณา มุทิตามาก เราจะมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่ถ้าขาดอุเบกขา คนจะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งเสียหลักการ ไม่เหลียวแล ไม่ดูหลักการว่า จะเสียความเป็นธรรมในสังคมไหม หลักเกณฑ์ กฎหมาย กติกาไม่เอา จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลอย่างเดียว
สังคมไทยนี้ น่าจะหนักไปทาง ๓ ข้อแรก ส่วนข้อ ๔ นี่ขาดมาก อุเบกขาแทบจะไม่มี และไม่รู้จักด้วยซ้ำ
ในสังคมไทย เมื่อคนไม่รู้จักอุเบกขาตัวจริง เวลาพูดถึง อุเบกขา ก็เข้าใจผิด นึกว่าเฉยแล้วเป็นอุเบกขา เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็เฉย แต่กลายเป็นเฉยไม่รู้เรื่องรู้ราว เฉยไม่เอาเรื่องเอาราว และเฉยไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนี้ทางพระท่านมีศัพท์ให้ด้วย เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ ซึ่งเป็นอกุศล เป็นบาป คนไทยเรานี้ถ้าไม่ระวังให้ดีจะเฉยโง่กันมาก เฉยที่แท้ต้องเป็นเฉยด้วยปัญญา เพราะว่าอุเบกขานี้จะมีได้ต้องอาศัยปัญญา
สามข้อต้นนั้นหนักด้านความ“รู้สึก” ในการพัฒนามนุษย์ด้านความรู้สึก ที่เรียกเพี้ยนกันไปว่าด้านอารมณ์นี้ เรามุ่งให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเป็นฝ่ายความรู้สึก หรือ emotion ที่ดี แต่ความรู้สึก หรือ emotion นี้จะต้องถูกคุมด้วยปัญญามิฉะนั้น emotion คือด้านอารมณ์ หรือด้านความรู้สึก อาจจะเลยขอบเขตไม่ถูกต้อง และถ้าเราไม่มีปัญญาคุม เมื่อเราช่วยเขาไม่ได้ จิตใจเราจะร้อนรน กระวนกระวาย เป็นทุกข์ แต่พอปัญญาคือด้านความ“รู้”มา ก็จะสร้างดุลยภาพ ทำให้จิตใจสงบ จึงต้องเอาความรู้มาคุมความรู้สึก ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงไปจบที่ปัญญา
ด้านรู้ต้องคุมด้านรู้สึก แล้วเมื่อปัญญาด้านรู้พัฒนาไป ก็จะพัฒนาด้านความรู้สึกให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะด้านความรู้สึกนั้นมีฝ่ายอกุศล เช่น โกรธ เกลียด ชัง ริษยา ระแวง เห็นแก่ตัว เป็นต้น พอปัญญามาก็พัฒนาความรู้สึก คือพวก emotion ให้มาเป็น emotion ที่ดี เป็นฝ่ายเมตตา กรุณา หรือความรัก เป็นต้น แต่แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีแล้วก็ต้องอยู่ในความควบคุมของปัญญา
เป็นอันว่า สามข้อต้นหนักในด้านความรู้สึก คือ ความรัก ส่วนข้อสี่หนักในด้านปัญญา คือ ความรู้ ต้องให้ปัญญานำเอาอุเบกขามาคุมความรู้สึกไว้
สามข้อแรกคือ เมตตา กรุณา มุทิตา แทบไม่ต้องใช้ปัญญา เพียงแต่มีความรู้สึกที่ดีก็พอ คือ เขาอยู่เป็นปกติเราก็รู้สึกรัก เขาทุกข์ร้อนเราก็รู้สึกสงสาร เขาได้ดีมีสุขเราก็รู้สึกยินดีด้วย แต่ในข้อสี่นี่ ถ้าไม่มีปัญญาก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความถูกต้อง อะไรเป็นหลักการ จึงจะปฏิบัติได้ ข้อสี่จึงต้องเน้นปัญญา และเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะสร้างดุลยภาพ หรือความพอดีให้เกิดขึ้น
เมื่อมีความรักโดยไม่ขาดความรู้ คือ ใช้เมตตากรุณาโดยมีปัญญามาโยงเข้ากับอุเบกขา ก็จะเกิดความสมดุลและความถูกต้องพอดี