ได้บอกแล้วว่า ที่พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อลูกนั้น ก็ด้วยความรัก เราจึงควรรู้จักความรักของพ่อแม่ให้ดีสักหน่อย
ความรัก ถ้าแยกตามหลักพระพุทธศาสนา ก็แบ่งง่ายๆ ก่อนว่า มี ๒ แบบ
ความรักแบบที่ ๑ คือ ความชอบใจในบุคคลหรือสิ่งที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขของเรา ชอบใจคนนั้นเพราะว่า จะมาสนองความต้องการช่วยบำรุงบำเรอ ทำให้เรามีความสุขได้ อะไรที่จะทำให้เรามีความสุข เราชอบใจ เราต้องการมัน นี่คือ ความรักแบบหนึ่ง ซึ่งมีมากทีเดียว
ความรักแบบที่ ๒ คือ ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข หรือความปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ความรักของพ่อแม่เป็นแบบที่ ๒ นี้ คือ อยากให้ลูกมีความสุข
ความรัก ๒ อย่างนี้ แทบจะตรงข้ามกันเลย แบบที่ ๑ อยากได้เขามาบำเรอความสุขของเรา (จะหาความสุขจากเขา หรือเอาเขามาทำให้เราเป็นสุข) แต่แบบที่ ๒ อยากให้เขาเป็นสุข (จะให้ความสุขแก่เขา หรือทำให้เขาเป็นสุข) ความรักมี ๒ แบบอย่างนี้ซึ่งเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
ความรักที่เด็กหนุ่มสาวพูดกันมาก ก็คือ ความรักแบบที่ว่า ชอบใจอยากได้เขามาสนองความต้องการของตน ทำให้ตนมีความสุข แต่ในครอบครัวจะมีความรักอีกแบบหนึ่งให้เห็น คือ ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ต่อลูก คือความอยากให้ลูกเป็นสุข
ฉะนั้น ตอนแรกจะต้องแยกระหว่างความรัก ๒ แบบนี้เสียก่อน ความรักชอบใจอยากได้คนอื่นมาบำเรอความสุขของเรานี้ ทางพระเรียกว่า ราคะ ส่วนความรักที่อยากให้คนอื่นเป็นสุข ท่านเรียกว่า เมตตา อะไรจะตามมาจากความรักทั้ง ๒ แบบนี้ ความรัก ๒ แบบนี้ มีลักษณะต่างกัน และมีผลต่างกันด้วย
ถ้ามีความรักแบบที่ ๑ ก็ต้องการได้ ต้องการเอาเพื่อตนเอง เมื่อทุกคนต่างคนต่างอยากได้ ความรักประเภทนี้ ก็จะนำมาซึ่งปัญหา คือ การเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน พร้อมด้วยความเห็นแก่ตัว
ส่วนความรักแบบที่ ๒ อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข เมื่ออยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็จะพยายามทำให้เขาเป็นสุข เหมือนพ่อแม่รักลูก ก็จะพยายามทำให้ลูกเป็นสุข และเมื่อทำให้ลูกเป็นสุขได้ ตัวเองจึงจะเป็นสุข
ความรักของพ่อแม่คืออยากทำให้ลูกเป็นสุข และมีความสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข เมื่ออยากเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็หาทางทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข วิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกมีความสุข ก็คือการให้แก่ลูก เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็จะมีความสุขในการให้แก่ลูก เพราะการให้นั้นเป็นการทำให้ลูกมีความสุข
ตามปกติ การให้คือการสละหรือการยอมเสียไป ซึ่งอาจจะทำให้ฝืนใจและเป็นความทุกข์ แต่พอมีความรักแบบที่สอง คือเมตตานี้มา ก็ให้ด้วยความสุข เพราะฉะนั้น ความรักคือเมตตาจึงมาสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ทำให้การให้กลายเป็นความสุข
ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้ตนเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่าย รังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองต้องการให้เขามีความสุข พอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อนนั้น
ความรักประเภทที่หนึ่งนั้น ต้องได้จึงจะเป็นสุข ซึ่งเป็นกระแสกิเลสของปุถุชนทั่วไป มนุษย์อยู่ในโลกนี้ เมื่อยังเป็นปุถุชนก็ต้องการได้ต้องการเอา เมื่อได้เมื่อเอาแล้ว ก็มีความสุข แต่ถ้าต้องให้ต้องเสีย ก็เป็นทุกข์ วิถีของปุถุชนนี้ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาในเรื่องของคุณธรรม เพราะว่าถ้าการให้เป็นทุกข์เสียแล้ว คุณธรรมก็มาไม่ได้ มนุษย์จะต้องเบียดเบียนกัน แก้ปัญหาสังคมไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไรเราสามารถมีความสุขจากการให้ เมื่อไรการให้กลายเป็นความสุข เมื่อนั้นปัญหาสังคมจะถูกลดน้อยลงไป หรือแก้ไขได้ทันที เพราะมนุษย์จะเกื้อกูลกัน ความรักแบบที่สอง ทำให้คนมีความสุขจากการให้ จึงเป็นความรักที่สร้างสรรค์และแก้ปัญหา
เมื่อมนุษย์มีความสุขจากการให้ จะเป็นความสุขแบบสองฝ่ายสุขด้วยกัน คือ เราผู้ให้ก็สุขเมื่อเห็นเขามีความสุข ส่วนผู้ได้รับก็มีความสุขจากการได้รับอยู่แล้ว สองฝ่ายสุขด้วยกัน จึงเป็นความสุขแบบประสาน ความสุขแบบนี้ดีแก่ชีวิตของตนเองด้วย คือ ตนเองก็มีทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น แล้วก็ดีต่อสังคม เพราะเป็นการเกื้อกูลกัน ช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี
ความรักของพ่อแม่ต่อลูกเป็นความรักแบบที่อยากเห็นลูกมีความสุข แล้วก็พยายามทำอะไรต่างๆ ให้ลูกมีความสุข เมื่อเห็นลูกมีความสุขพ่อแม่ก็มีความสุขด้วย ดังนั้น พ่อแม่จึงมีความสุขในการที่ได้ให้แก่ลูก ในขณะที่คนทั่วไปต้องได้จึงจะมีความสุข แต่พ่อแม่ให้แก่ลูกก็มีความสุข แม้ตัวเองจะต้องทุกข์เดือดร้อนพ่อแม่ก็ยอม
บางทีตัวเองต้องลำบากเดือดร้อน แต่พอเห็นลูกมีความสุขก็มีความสุข ในทางตรงข้ามถ้าเห็นลูกไม่สบายหรือตกทุกข์ลำบาก พ่อแม่ก็มีความสงสาร ไม่มีความรังเกียจ ไม่มีความเบื่อหน่าย แล้วยังทนทุกข์ทนลำบากเพื่อลูกได้ด้วย
รักของพ่อแม่นี้เป็นรักแท้ที่ยั่งยืน ลูกจะขึ้นสูง ลงต่ำ ดีร้าย พ่อแม่ก็รัก ตัดลูกไม่ขาด ลูกจะไปไหนห่างไกล ยาวนานเท่าใด จะเกิดเหตุการณ์ผันแปรอย่างไร แม้แต่จะถูกคนทั่วโลกรังเกียจ ไม่มีใครเอาด้วยแล้ว พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็ยังเป็นอ้อมอกสุดท้ายที่จะโอบกอดลูกไว้
นี้แหละที่ว่า เป็นการแยกความหมายของความรักเป็น ๒ แบบ พ่อแม่มีความรักแบบที่ ๒ ซึ่งเป็นรักแท้ คนทั่วไปเริ่มต้นก็มีความรักแบบแรก คืออยากได้เขามาทำให้ตัวเรามีความสุข แต่คนควรจะพัฒนาจากความรักแบบที่หนึ่งไปสู่ความรักแบบที่สอง คือ ให้ความรักแบบที่สองเกิดมีขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างดุลยภาพในเรื่องความรัก เช่น ระหว่างหนุ่มสาว ถ้ามีความรักแบบที่หนึ่งอย่างเดียวจะไม่ยั่งยืน ไม่ช้าไม่นานก็จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน เพราะว่าความรักแบบที่หนึ่งนั้น ต้องการที่จะเอาเขามาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอตัวเองเท่านั้น ถ้าเมื่อไรตนไม่สมใจปรารถนา เมื่อนั้นก็จะเกิดโทสะ มีความชิงชัง หรือไม่ก็เบื่อหน่าย แล้วปัญหาก็จะเกิดขึ้น
ฉะนั้น คนเราอาจจะเริ่มต้นด้วยความรักแบบที่หนึ่งได้ ตามเรื่องของปุถุชน แต่จะต้องรีบพัฒนาความรักแบบที่สองให้เกิดขึ้น พออยู่เป็นคู่ครองกันแล้ว ถ้ามีความรักแบบที่สองเข้ามาหนุน ก็จะทำให้อยู่กันได้ยั่งยืน ความรักแบบที่สองจะเป็นเครื่องผูกพันสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตครองเรือนมีความมั่นคง ดังนั้นปุถุชนนี้อย่างน้อยก็ให้มีความรัก ๒ แบบ มามีดุลยภาพกันก็ยังดี ขอให้ได้แค่นี้ก็พอ
ในกรณีของสามีภรรยา ถ้ามีความรักแบบแรกที่จะเอาแต่ใจฝ่ายตัวเอง ก็คือ ตัวเองต้องการเขามาเพื่อบำเรอความสุขของตน ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตามใจตัว ไม่ช้าก็จะต้องเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือเบื่อหน่าย แล้วก็อยู่กันไม่ได้ ไม่ยั่งยืน แต่ถ้ามีความรักแบบที่สอง คือ อยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะมีน้ำใจ พยายามทำให้เขาเป็นสุข
ถ้ามีความรักแบบที่สองอยู่ ความรักก็จะยั่งยืนแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข สามีก็คิดว่าทำอย่างไรจะให้ภรรยามีความสุข ภรรยาก็คิดแต่ว่า จะทำอย่างไรให้สามีมีความสุข คิดกันอย่างนี้ก็คือมีน้ำใจและมีแต่จะเกื้อกูลกัน ทำให้ครอบครัวอยู่ยั่งยืน ชีวิตก็มีความสุขได้
ที่พูดมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า เราจะต้องพัฒนาคนในเรื่องความรัก ให้รู้จักความรักทั้ง ๒ อย่าง อย่างน้อยก็ให้มีดุลยภาพในเรื่องความรัก ๒ ข้อนี้ แล้วพัฒนายิ่งขึ้น จนกระทั่งให้คนเราอยู่กันด้วยความรักประเภทที่สอง
ลักษณะของความรัก มีอยู่อย่างหนึ่ง คือมันนำความสุขมาให้ด้วย ความรักแบบที่หนึ่งก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่ตัวจะได้ ส่วนความรักประเภทที่สอง ก็ทำให้เกิดความสุข เมื่อได้สนองความต้องการที่จะให้เขามีความสุข
ฉะนั้น คนที่ทำจิตให้มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ได้หมด ก็จะมีความสุขได้มากเหลือเกิน คือเวลาเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข หรือเราทำให้เขามีความสุขได้ ตัวเราเองก็มีความสุขด้วย คนประเภทนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น คนที่พัฒนามาถึงระดับนี้ก็เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น พระโสดาบันนั้นไม่มีมัจฉริยะ ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน มีความพร้อมที่จะให้ เพราะฉะนั้น คุณธรรมคือเมตตาก็เจริญมากขึ้นด้วย และท่านก็มีความสุขยิ่งขึ้นมากมาย จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็มีแต่สุข ไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย
ความรักของพ่อแม่ถึงแม้จะจำกัดอยู่กับลูกก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการหวงแหนอย่างความรักแบบที่หนึ่ง คือพ่อแม่รักลูก ความหวงนั้นจะมีแต่ในแง่ที่อยากให้ลูกมีความสุข ไม่ยอมให้ใครมาทำให้ลูกทุกข์ แต่ไม่ได้หวงแหนที่ว่าต้องการครอบครองเอาไว้เป็นของตัว เพื่อบำเรอความสุขของตัว ไม่มีความหึง คือไม่ได้หวงผัสสะไว้เพื่อตัว และไม่ได้หวงใจ แต่ตรงกันข้าม ถ้าลูกมีคู่ครองที่ดีมีความสุข พ่อแม่ก็พลอยมีความสุขไปด้วย