ธรรมนูญชีวิต: พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม

...วินัยชาวพุทธเป็นเกณฑ์อย่างต่ำ สำหรับการดำเนินชีวิตของชาวพุทธ ส่วนธรรมนูญชีวิตเป็นประมวลหลักธรรมทั่วไป เพื่อการดำเนินชีวิตทีดีงาม ซึ่งอาจเป็นส่วนขยายของวินัยชาวพุทธ ผู้ปฏิบัติอาจใช้วินัยชาวพุทธ เป็นเกณฑ์ตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับการดำเนินชีวิตของตน แล้วก้าวสู่คุณสมบัติและข้อปฏิบัติในธรรมนูญชีวิต เพื่อดำเนินชีวิตให้ดีงาม มีความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น จนถึงความสมบูรณ์...

ภาษาไทย
ที่มาจาก การประพันธ์
รวมเล่มมาจาก ธรรมนูญชีวิต
วินัยชาวพุทธ
อยู่ในหนังสือชื่อ-
ข้อมูลพัฒนาการ
  • หนังสือนี้มีกำเนิดจากความคิดที่จะอนุโมทนาต่อศรัทธา และคุณงามความดี อันเป็นบุญจริยา ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ไปช่วยอุปถัมภ์สนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของผู้เขียน ระหว่างพำนักอยู่ ณ ประเทศนั้นใน พ.ศ. ๒๕๑๙
  • เรื่องมีว่า เมื่อต้น พ.ศ. ๒๕๑๙ ผู้เขียนได้รับอาราธนาไปเป็นวิทยากรในวิชาฝ่ายพระพุทธศาสนา ณ สวอร์ทมอร์วิทยาลัย ในรัฐเพนน์ซิลเวเนีย โดยมีคุณบุญเลิศ โพธินี ร่วมเดินทางไปช่วยทำหน้าที่เป็นไวยาวัจกร ระหว่างพำนักอยู่ ณ ที่นั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยในถิ่นใกล้เคียง คือ ตำบลที่ติดต่อกับสวอร์ทมอร์บ้าง ในเมืองฟิลาเดลเฟียบ้าง ตลอดถึงบางเมืองในรัฐนิวเจอร์ซี ได้ไปเยี่ยมเยียนและอุปถัมภ์อำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะด้านพาหนะ นอกจากนั้น ยังได้บริจาคปัจจัยทำบุญในโอกาสต่างๆ ด้วย ผู้เขียนได้เกิดความรู้สึกในเวลานั้นว่า การที่ท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ไปถวายความอุปถัมภ์ด้วยภัตตาหาร และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็นับเป็นความเกื้อกูลอย่างยิ่งอยู่แล้ว สำหรับปัจจัยที่บริจาคถวายนั้นตั้งใจว่าจะส่งผลานิสงส์กลับคืนให้แก่ผู้บริจาคด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะเกิดดอกออกผลเป็นบุญกุศลเพิ่มพูนคุณความดียิ่งๆ ขึ้นไป โดยที่ทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาคได้มีส่วนบำเพ็ญจาคธรรมร่วมกัน
  • อาศัยความตั้งใจนี้ ประกอบกับความคิดพื้นเดิมที่ว่า น่าจะมีหนังสือแสดงหลักธรรมพื้นๆ ง่ายๆ ที่เหมาะแก่คฤหัสถ์ทั่วไปสักเล่มหนึ่ง สำหรับมอบให้เป็นประโยชน์ด้านความรู้ทางธรรม แก่ท่านผู้ศรัทธาซึ่งอยู่ห่างไกล พร้อมทั้งจะได้เผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนอื่นๆ กว้างขวางออกไปด้วย อาศัยข้อปรารภนี้ ผู้เขียนจึงได้ใช้เวลาช่วงท้ายของการพำนักที่สวอร์ทมอร์ หลังจากทำหน้าที่วิทยากรให้แก่วิทยาลัยนั้นเสร็จสิ้นแล้ว รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ คู่มือดำเนินชีวิต ขึ้น งานเรียบเรียง แม้จะได้ใช้หนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ที่ผู้เขียนจัดทำไว้ก่อนแล้วเป็นฐาน ก็ยังกินเวลาในการปรุงแต่ง ขัดเกลาคำอธิบาย และตรวจสอบความหมายตามคัมภีร์ อีกมิใช่น้อย เมื่อเขียนเสร็จยังไม่ทันได้พิมพ์ ก็เดินทางออกจากสวอร์ทมอร์เสียก่อน ต่อมาระหว่างพักอยู่ที่วัดวชิรธรรมปทีป นครนิวยอร์คตามคำอาราธนาของวัดนั้น จึงได้มีโอกาสจัดพิมพ์ขึ้น ในรูปตัวพิมพ์ดีดโรเนียวเย็บเล่ม โดยได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์วัดวชิรธรรมปทีป และได้ใช้ทุน ซึ่งผู้ศรัทธาได้บริจาคถวายที่สวอร์ทมอร์ สมตามความตั้งใจ นอกจากนั้น ทางวัดวชิรธรรมปทีปเองก็ได้พิมพ์เผยแพร่เพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งด้วย ต่อมาทางเมืองไทย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าภาพอื่น บางราย ได้ขออนุญาตบ้าง ถือวิสาสะบ้าง นำไปพิมพ์แจกในโอกาสต่างๆ นับว่าหนังสือได้แพร่หลายมากขึ้น
  • ทางด้านผู้เขียนเอง เมื่อกลับเมืองไทยแล้ว ก็ได้ปรับปรุง คู่มือดำเนินชีวิต จัดพิมพ์เป็นธรรมทานใหม่อีก ในเดือนมกราคม ๒๕๒๒ นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ ๔ มีที่แก้ไขปรับปรุงจากเดิมเป็นอันมาก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ธรรมนูญชีวิต หลังจากนั้น มีผู้ขอพิมพ์เผยแพร่อีก ๒-๓ ครั้ง เฉพาะในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้แก้ไขปรับปรุงอย่างมากตลอดเล่ม โดยมุ่งให้อ่านง่ายและจำง่ายยิ่งขึ้น (กรมการศาสนาขอพิมพ์ใหม่ในชื่อว่า พุทธจริยธรรม)
  • ขออนุโมทนา และอำนวยพรแก่พุทธศาสนิกชน ย่านใกล้เคียงสวอร์ทมอร์ ในฐานะที่ท่านเหล่านั้นเป็นเจ้าของศรัทธาและบุญจริยา ที่เป็นแรงดลใจให้หนังสือเล่มน้อยนี้เกิดมีขึ้น และขออนุโมทนาอาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ที่ได้ช่วยอนุเคราะห์รับภาระเป็นไวยาวัจกรเพื่อการนี้โดยตลอด ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีส่วนในความดีงาม และกุศลผลานิสงส์ ซึ่งจะพึงบังเกิดมีจากธรรมวิทยาทานนี้ทั่วกัน (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ๑๙ เมษายน ๒๕๒๓
  • "ธรรมนูญชีวิต : พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม" นี้พัฒนามาจาก "คู่มือดำเนินชีวิต" ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น "ธรรมนูญชีวิต"  (๒๑๐)  ข้อสังเกตระหว่าง ๒๑๐ และ ๒๑๕  คือ ๒๑๐  ที่ไม่มีเนื้อหา "วินัยชาวพุทธ"  เป็นหัวข้อแรกเหมือนใน ๒๑๕
  • มีรายละเอียดการพัฒนา-ปรับปรุง ระบุไว้ในคำปรารภ และบันทึกท้ายเล่ม อย่างละเอียดแล้ว
พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๑๙
พิมพ์ล่าสุดครั้งที่ ๒๖๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖
ISBN974-7701-05-7, 974-575-114-6
เลขหมู่BQ4570.L5

หนังสือที่เกี่ยวข้องกัน

พบหนังสือธรรมะ 4 เรื่อง
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง