ถ้าไม่หาความรู้ความเข้าใจกันอย่างที่ว่านั้น ก็ได้แต่ตื่นตูมตามกระแสเรื่อยไป ก็สมที่ว่าเป็นโรคเส้นตื้น
มันไม่ใช่แค่โรคเส้นตื้นหรอก มันกินลึกเลย แล้วก็หนักหนามาก มันฟ้องสภาพสังคม และบ่งบอกปัญหาคุณภาพของคน
อาการนี้ ด้านหนึ่งก็คือมันแสดง อิทธิพลของระบบธุรกิจว่าสังคมไทยนี่ ธุรกิจเฟื่องดีนัก คนอยู่ใต้ครอบงำของระบบธุรกิจ มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ขนาดหนัก มองหาแต่เงิน
แม้แต่เรื่องทางด้านจิตใจ ก็ไม่เว้น ยังเอามาใช้เป็นช่องทางหรือเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ (อันนี้แหละตรงกับที่เรียกว่าเรื่องจิตวิญญาณ คือเรื่อง spiritual ขั้นพื้นฐานแท้เลย คือเรื่องผีๆ หรือเรื่องผีสางเทวดา)
อีกด้านหนึ่ง อาการนี้แสดงอะไร ก็แสดงว่าคนไทยเวลานี้ตื่นตูมง่ายมาก ปั่นกระแสขึ้นดีนัก ก็เลยสอดรับกับข้อแรกที่ว่าไปแล้ว คือเป็นเหยื่อที่ดีของธุรกิจ
ทำไมจึงตื่นตูมง่าย ก็เพราะพื้นฐานของตัวชอบหวังผลจากการดลบันดาล ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย คิดแต่จะพึ่งอำนาจภายนอกมาทำให้ อย่างที่ว่า “หวังลาภลอย นอนคอยโชค”
แล้วระยะยาวเป็นอย่างไร คนก็อ่อนแอ ไม่มีความเพียรพยายามที่จะทำการให้เกิดผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงทำการของตนเอง ได้แต่เป็นนักพึ่งพา
ถ้าขมวดให้สั้น ก็คือวงจรของลัทธิบริโภคนิยม กับลัทธิหวังผลดลบันดาล มาบรรจบประสานกัน แล้วก็ส่งผลเป็นเหตุปัจจัยหนุนกัน ให้ชีวิตและสังคมนี้หมุนกลิ้ง หรือลอยเคว้งคว้างต่อไป
นิตยสารมติชนรายสัปดาห์ ขึ้นปกว่า จตุคามรามเทพทำให้เกิดการสะพัดของเงินกว่า ๒๒,๐๐๐ ล้าน เท่ากับว่าตอนนี้ มันมีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวด้วย ถ้าผูกเข้าไปตรงนี้แล้ว ท่านเจ้าคุณฯ เห็นว่า เราจะหยุดกระแสนี้ได้อย่างไร
เรารู้อยู่ว่า สังคมนี้กำลังต้องการเงินทองมาก เป็นสังคมธุรกิจ ประสานกับบริโภคนิยม เห็นแก่การเสพบริโภค ระบาดเข้ามากระทั่งในวัด กระแสใหญ่เป็นอย่างนี้ เราต้องพยายามดึงกระแสใหญ่เข้ามาหาหลัก
สังคมสมัยพุทธกาล ก็คล้ายอย่างนี้ คือกำลังเฟื่องในด้านธุรกิจการค้า
ในสมัยพุทธกาลนั้น การพาณิชย์กำลังเจริญรุ่งเรือง มีกองเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมือง เศรษฐีขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ
ในชมพูทวีปมีวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พราหมณ์ถือตัวว่าสูงที่สุด
ว่าที่จริง กษัตริย์เป็นใหญ่มาก่อนตั้งแต่ในยุคพระอินทร์ คือ พวกอารยันเข้ามาจากทางอิหร่าน มาบุกอินเดีย ตอนแรกที่ยกทัพมานั้น พวกนักรบเป็นใหญ่ เป็นยุคของกษัตริย์ ตอนนั้นเทพที่ยิ่งใหญ่คือพระอินทร์
ทีนี้ พออารยันเข้ามาอินเดีย และยึดครองชมพูทวีปได้ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอารยัน พวกมิลักขะเจ้าถิ่นถูกเหยียดลงไปเป็นทาส กลายเป็นชนวรรณะศูทร เกิดวรรณะ ๔ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
พอตั้งหลักแหล่งได้แล้ว พวกปัญญาชนก็เริ่มใหญ่ขึ้น พระอินทร์ที่เดิมเคยใหญ่ เรียกได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของพวกนักรบ ก็เริ่มอับแสงลง กลายเป็นว่าพระพรหมที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกปัญญาชนหรือเจ้าคัมภีร์ขึ้นมาใหญ่ พระพรหมขึ้นมาตอนนี้
ตอนที่อารยันกำลังรุกเข้ามาอินเดีย ตอนนั้นยังไม่มีพระพรหม แต่พอตั้งหลักแหล่งดีแล้ว พระพรหมก็โผล่ มีพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้ประกอบพิธี เหมือนกับรู้พระทัยสามารถสื่อสารได้กับพระพรหม
ถึงยุคนี้ ใครๆ ก็ต้องอาศัยพระพรหมเป็นเจ้าใหญ่ ต้องทำพิธีบูชายัญ โดยให้พราหมณ์เป็นผู้บอกว่า เมื่อใครต้องการอะไร อยากได้ผลประโยชน์อะไร จะต้องทำอย่างไร ต้องบูชายัญอะไรอย่างไร กษัตริย์ก็ชักจะตกอันดับ พราหมณ์ขึ้นมาเป็นที่หนึ่ง ตามด้วยกษัตริย์ แพศย์ ศูทร ส่วนพระอินทร์ตอนนี้ก็ถูกเรื่องเสียหายเกิดขึ้นมากลบเยอะหมด กลายเป็นเทพที่ไม่ค่อยมีความหมาย
(ส่วนพระพรหมเองที่เป็นใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็มาอับแสงลงเมื่อราว ค.ศ. ๕๐๐-๖๐๐ โดยมีพระศิวะและพระนารายณ์ ใหญ่ขึ้นมาแทน)
ในยุคพุทธกาลจะเห็นว่า ชนพวกหนึ่งกำลังเฟื่องขึ้นมา คือพวกเศรษฐีคหบดี พวกนี้เป็นพ่อค้าวาณิช ทั้งๆ ที่เดิมน่าจะอยู่ในชนชั้นสาม (แพศย์/ไวศยะ) แต่กลายเป็นผู้มีอิทธิพลมาก เศรษฐีนี่ถึงกับเป็นตำแหน่ง ที่พระราชาทรงแต่งตั้งประจำเมืองเลย มีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละสองครั้ง
รัฐไหนไม่มีเศรษฐี ก็เหมือนจะน้อยหน้า เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรือง เหมือนกับต้องแข่งกันว่า รัฐนี้ๆ มีเศรษฐีกี่คน บางรัฐที่รู้สึกจะด้อยก็จึงต้องหาทางมีเศรษฐี ถึงกับมีการขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง นางวิสาขาก็ไปจากบ้านเมืองเดิมเพราะเหตุนี้
เรื่องก็คือ แคว้นมคธมีเศรษฐีใหญ่ร่ำรวยมากถึง ๕ คน ทางแคว้นโกศลซึ่งขาดแคลนเศรษฐีใหญ่ ต้องการมีเศรษฐีใหญ่บ้าง จึงขอให้แคว้นมคธส่งเศรษฐีใหญ่แบ่งไปให้คนหนึ่ง แต่แคว้นมคธไม่ได้ให้ตัวเศรษฐีใหญ่ เพียงส่งลูกเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งไปให้ ชื่อว่าธนัญชัย ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเศรษฐีประจำเมืองสาเกต
ธนัญชัยเศรษฐีนี้ก็คือพ่อของนางวิสาขา เมื่อธนัญชัยเศรษฐีย้ายไปอยู่โกศลรัฐ นางวิสาขาเป็นลูก ก็ไปด้วย แต่ต่อมานางวิสาขาแต่งงานไปอยู่เมืองสาวัตถี
เศรษฐีมีอิทธิพลมากเพราะการค้าขาย เรียกว่าสังคมกำลังเฟื่องในทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ก็มีสิ่งอุปโภคบริโภคกินใช้กันมากมาย มีการอวดกัน เช่นว่า ใช้ผ้าไหมจากรัฐนั้น ที่ถือกันว่าเป็นของชั้นดี
ในท่ามกลางสภาพสังคมอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ความนิยมหรือกระแสที่เกิดขึ้น เป็นจุดปรารภที่จะสอนให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมนั้น หันมาใฝ่ธรรม และนำธรรมไปปฏิบัติ ดังเช่นเศรษฐีก็ควรจะเอาทรัพย์มาทำประโยชน์ ส่งเสริมธรรม เกื้อกูลสังคม รวมทั้งพัฒนาชีวิตของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภคหรือใช้อิทธิพลจากทรัพย์และอำนาจไปข่มเหงคนอื่น
อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ก็หันมาทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ที่จริงชื่อตัวว่า สุทัตตะ แต่เพราะทำประโยชน์ ช่วยเหลือคนยากจนให้มีกินมีใช้ ตั้งโรงทานช่วยคนขาดแคลน จนได้สมญาเป็นชื่อว่า “อนาถบิณฑิก” แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา แล้วก็บำรุงพระศาสนา อุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีกำลังไปสอนประชาชนให้อยู่ดีทำดี ช่วยเหลือกัน สูญเสียทรัพย์ไปในการทำบุญเหล่านั้นเท่าไร ก็ไม่คำนึง นี่เป็นตัวอย่าง
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างนี้ ถ้าเราดูลึกลงไป พระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเพียงตัวหัวข้อธรรม แต่เป็นคำสอนที่โยงกันหรือเนื่องกับสภาพความเป็นไปของสังคม มีปัจจัยยักย้ายแผกกันไป เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนคนพวกนี้พวกนั้นว่า ทำอย่างไรชีวิตเขาจะดี และเขาจะอยู่กันดี พระดำรัสเทศนาก็จึงแตกต่างกัน
มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ปัจจุบันสังคมเป็นอย่างนี้ ก็ต้องรู้เข้าใจว่า ทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนเหล่านี้เหล่านั้นที่ต่างๆ กันได้
เรื่อง ‘จตุคามรามเทพ’ นี้ ยังมีเรื่องอิทธิฤทธิ์ หรืออภินิหารเกิดร่วมด้วย เช่น คนสวมจตุคามไว้ในเสื้อ พอไปถ่ายรูปเห็นเป็นแสงสว่างออกมา อะไรทำนองนี้ ท่านเจ้าคุณฯ เห็นอย่างไร
ก็เป็นไปได้ที่ว่า หนึ่ง เขาอาจจะสร้างหรือแต่งภาพขึ้นมา สอง ความเชื่อของมนุษย์เป็นแรงทำให้เกิดผลได้ พอเชื่อหรือมีศรัทธาแรงมากเข้า ใจคึกฮึกเหิม ก็เกิดความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นจะต้องไปเอาใจใส่เรื่องพวกนี้เลย ในสถานการณ์ตื่นกระแส เสียงเล่าลือก็จะมีกันมาอย่างนี้แหละ แล้วก็อาจจะโหมกระพือซ้ำเข้าไปอีก
เอาสาระกันตรงที่ว่า พอมีกระแสพวกนี้ เราจับแกนของเรื่องให้ได้ และเจาะความรู้ที่โยงมาถึงธรรม แล้วก็มอง เข้าทางที่จะให้ธรรมก้าวต่อไป
อย่างเช่น คนนับถือจตุคามรามเทพ ในเมื่อจตุคามรามเทพเป็นเทพพิทักษ์พระธาตุ หัวใจของจตุคามรามเทพก็อยู่ที่พระธาตุ อย่างน้อยคุณก็ควรจะไปให้ถึงพระธาตุ และให้ถึงไม่เฉพาะทางกาย แต่ให้ถึงจริงทั้งด้วยใจและด้วยปัญญา