ข้อคิดชีวิตทวนกระแส

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ทวนกระแสร้ายไม่ไหว ถ้าลึกลงไปไม่ทวนกระแสกาม

ปัญญาเบื้องต้นก็คือปัญญาที่เข้าใจแนวทางชีวิตที่เราเรียกว่าทวนกระแสนั้นว่ามันคืออะไร และเข้าใจจุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร ประการที่สอง เข้าใจกระแสที่เราไปทวนว่ามันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร จุดไหนที่เสีย ที่เป็นเหตุให้เราจะต้องมาทวนกระแส เข้าใจมันตามความเป็นจริง และเข้าใจคนทั้งหลายที่อยู่ในกระแสนั้น ซึ่งบางทีก็เป็นเพราะเขาขาดความรู้ความเข้าใจอย่างที่ทางพระเรียกว่า เป็นผู้มิได้สดับ คือไม่เคยได้เรียนรู้ ไม่เคยมีใครมาแนะนำเขา ไม่เข้าใจ ไม่รู้ทางออก ไม่รู้โทษของสิ่งที่เขาทำอยู่ เราต้องเข้าใจเขาตามความเป็นจริง ต้องเข้าใจคนที่อยู่ในกระแสนั้น เราจะได้เห็นใจ และรู้แนวทางที่จะปฏิบัติต่อเขา เพื่อจะช่วยแก้ไขด้วยความเมตตากรุณาต่อไป

ชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปในกระแสใหญ่ ซึ่งไม่เฉพาะแต่กาลสมัยอันใดอันหนึ่งนั้น เป็นเรื่องของการตกอยู่ในกระแสของกาม อย่างเช่นในสมัยของพระพุทธเจ้า กระแสที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของสังคมสมัยนั้น ก็คือกระแสของความเชื่อถือการปฏิบัติและดำเนินชีวิตตามค่านิยมที่รอผลแห่งความปรารถนาด้วยการสวดอ้อนวอนหวังการดลบันดาลของเทพเจ้า มีการบวงสรวงบูชายัญ การถือเรื่องวรรณะ แต่พร้อมกันนั้น อีกกระแสหนึ่งซึ่งลึกกว่านั้นก็คือ กระแสของกามที่ครอบงำมนุษย์ ไม่เฉพาะยุคนั้นสมัยนั้น

สำหรับกระแสเรื่องวรรณะ เรื่องการดลบันดาล อาจจะเป็นเรื่องของยุคสมัย แต่อีกด้านหนึ่งที่ลึกลงไป คือกระแสของชีวิตมนุษย์ทั่วไปที่โดยปกติจะอยู่ใต้อำนาจครอบงำของกาม ของวัตถุภายนอก ต้องฝากความสุขของตนไว้กับวัตถุภายนอกที่เอามาบำรุงบำเรอ คนแบ่งแยกกีดกั้นวรรณะกันก็เพราะหวงกามและแย่งกาม อ้อนวอนหวังผลจากการดลบันดาลก็เพื่อจะได้กาม พระพุทธเจ้าทรงทวนกระแสทั้งสองกระแส ทั้งกระแสสังคมที่มีการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ เรื่องการบวงสรวงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังการดลบันดาลของเทพเจ้า และทวนกระแสกามที่ครอบงำกระแสชีวิตมนุษย์

คำว่า กระแสกาม ในที่นี้ ในสมัยใหม่นี้อาจไม่สบายใจ ต้องใช้ว่ากระแสวัตถุนิยม คือการที่ต้องเอาชีวิตไปขึ้นกับวัตถุภายนอกในการที่จะมีความสุข นี่เป็นกระแสธรรมดาของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย เราเรียกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในเมื่อยังไม่พัฒนาตน เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ว่า เบื้องแรกเขาจะต้องหาความสุขจากตา หู จมูก ลิ้น ที่จะได้รับได้เสพสิ่งที่ทำให้สบายชื่นมื่น แต่อย่างที่บอกแล้วว่า การหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้มีโทษ ทำให้ชีวิตตนเองก็ไม่เป็นอิสระ กลายเป็นอยู่อย่างปราศจากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ มีความสุขด้วยตนเองไม่ได้ และเกิดการเบียดเบียนกันในสังคม

เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองขึ้นมาและเมื่อเขารู้จักความสุขที่ประณีตแล้วก็จะเกิดดุลยภาพในชีวิตขึ้น แล้วความสุขที่ประณีตนั้นก็กลับมาเป็นฐานในการแสวงหาความสุขจากวัตถุให้เป็นไปอย่างพอดี อย่างมีขอบเขตและได้ผลอย่างเต็มที่ และในทางสังคมก็ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน แต่เกื้อกูลกันด้วย เราไม่ได้ไปต่อต้านหรือไปคัดค้านวัตถุนิยมโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่ไปสุดทางตรงข้าม แต่คำว่าวัตถุนิยมที่กลายเป็นว่าไปนิยมวัตถุนั้นไม่ถูกต้อง แต่เราจะบอกว่าชีวิตไม่อาศัยวัตถุเลยก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน

เราต้องยอมรับความจริง ความพอดี คือการรู้จักประมาณตามดุลยภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ชีวิตของมนุษย์ต้องการความดีงามที่ถูกต้องตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าสอน ซึ่งเป็นธรรม เป็นความถูกต้อง อย่างที่บอกว่าเป็นชีวิตทวนกระแสในทางสังคมและในเวลาเดียวกันนั้นอีกประการหนึ่ง ก็เป็นการทวนกระแสของธรรมชาติขั้นต่ำ คือธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนา อันนี้ก็ทวนกระแสเหมือนกัน คือการฝึกฝนและพัฒนาตนอยู่เสมอ เพื่อที่จะมีจิตใจที่พัฒนาและมีปัญญายิ่งขึ้น จนสามารถมีความสุขอย่างเป็นอิสระ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง