ความเป็นอนิจจังของสังขารกับอิสรภาพของสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ปัจจัยที่ส่งเสริม / ขัดขวางอิสรภาพ

ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องปัญญา ที่บอกว่าปัญญาเป็นปัจจัยตัวเอกในการที่จะนำมนุษย์ไปสู่อิสรภาพ จะเรียกว่า อิสรภาพหรือวิมุตติก็ได้ ปัญญานั้นเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในโครงสร้างของชีวิตจิตใจมนุษย์ ในทางพระศาสนาท่านใช้ศัพท์เรียกว่าเป็น สังขาร1อย่างหนึ่ง

บรรดาองค์ประกอบซึ่งอยู่ ในโครงสร้างชีวิตจิตใจของมนุษย์ ที่เรียกว่า สังขาร นั้น มิใช่มีแต่ปัญญาเพียงอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นด้วยอีกหลายอย่าง

ขอกล่าวถึงความหมายของ สังขาร ก่อน สังขารนั้นแปลว่า ตัวปรุงแต่ง ปรุงแต่งอะไร ปรุงแต่งจิตใจ ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งการกระทำ ถ้าจะใช้ภาษาสมัยใหม่ก็แปลว่า เครื่องมือประกอบการฝ่ายนามธรรมของมนุษย์ เพราะว่าสังขารเหล่านี้ เช่น ปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องมือประกอบการ หรือเป็นเครื่องมือในการกระทำของเราที่จะช่วยให้เราได้รับอิสรภาพ (หรือจะให้ไม่ได้รับอิสรภาพก็ได้)

สังขารนั้นมีมากมาย สังขารอย่างอื่นก็มีทั้งฝ่ายที่เป็นตัวช่วยให้เกิดอิสรภาพก็คือช่วยปัญญา และสังขารที่เป็นฝ่ายร้าย ฝ่ายขัดขวาง ฝ่ายกีดกั้น กำจัดทำลายอิสรภาพ

สังขารที่เป็นฝ่ายช่วย ก็ยกตัวอย่างเช่น สติ สติเป็นเครื่องช่วยให้ปัญญานี้ กระทำการโดยรอบคอบ กระทำโดยถูกจังหวะ เมื่อถึงจังหวะจึงทำ ยังไม่ถึงจังหวะก็ไม่ทำ เพราะบางทีทั้งๆ ที่รู้ แต่ทำผิดจังหวะก็ไม่สำเร็จ แล้วสติก็เป็นตัวช่วยให้ทำได้ถูกต้องรอบคอบไม่ผิดพลาด หรืออย่าง ศรัทธา ความซาบซึ้ง ความมีจิตใจผ่องใสมั่นใจ ก็ทำให้เรามีกำลังที่จะกระทำได้ต่อไป หรืออย่าง วิริยะ ความเพียร ก็ทำให้ไม่เกิดความท้อถอย ทำให้เข้มแข็งแกล้วกล้า ต่อสู้ วิ่งไปข้างหน้า หรือ สมาธิ ก็ทำให้เกิดความมั่นคงแน่วแน่ เป็นต้น

สังขารที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้เป็นฝ่ายช่วย หากว่ามีปัญญาแล้ว ได้อาศัยสังขารอย่างที่ว่ามาแล้วนี้เป็นองค์ประกอบ การทำงานเพื่ออิสรภาพก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกัน ก็มีสังขารฝ่ายตรงข้าม จะเรียกว่าฝ่ายร้ายก็ได้ เรามักจะเรียกว่า กิเลส ซึ่งเป็นตัวขัดขวางหักล้างทำลาย อาจจะทำให้ปัญญาทำงานไม่สำเร็จ หรืออาจจะเข้ามาครอบงำเสีย ทำให้เดินไปในทางตรงข้าม ออกนอกลู่นอกทางไปเสีย หรือแม้แต่แทนที่จะนำไปสู่อิสรภาพ ก็กลับนำไปสู่ความหมดอิสรภาพ

กิเลสเหล่านี้มีมากมาย แต่ที่ควรนำมากล่าวในที่นี้ ก็คือสังขารกิเลสที่สำคัญ ๓ อย่าง ได้แก่ กิเลสที่ผูกพันกับตัวตน หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า กิเลสพันตัว ๓ อย่าง กิเลสพันตัว ๓ อย่างนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนทั้งนั้น มันมีบทบาทในสังคมมนุษย์มากเหลือเกิน ได้แก่

  1. ความเห็นแก่ตัว ภาษาพระเรียกว่า ตัณหา
  2. ความถือตัว ภาษาพระเรียกว่า มานะ
  3. การยึดติดในความเห็นของตัว ภาษาพระเรียกว่า ทิฏฐิ

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ เป็นกิเลสพันตัว ผูกพันอยู่กับเรื่องตัวตน จะเอาแต่ตัว ในเมื่อเอาแต่ตัว ก็ไม่เกื้อกูลสังคม จะนำไปสู่อิสรภาพของสังคมไม่ได้ มีแต่จะขัดขวางอิสรภาพของสังคม ไม่เฉพาะขัดขวางอิสรภาพของสังคมเท่านั้น มันมัดตัวคนนั้นเองไม่ให้มีอิสรภาพด้วย คือ แม้แต่เจ้าตัวคนนั้นเองก็ไม่มีอิสรภาพ

ความเห็นแก่ตัวหรือ “ตัณหา” ทำให้มนุษย์เที่ยวแสวงหาสิ่งเสพ กอบโกยแย่งชิงผลประโยชน์กัน อันเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่มีบทบาทมากในสังคมของเรา

อย่างที่สอง ความถือตัวหรือ “มานะ” ทำให้มนุษย์ชิงดีชิงเด่นกัน อยากยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น แข่งขันกันเพื่อความเป็นใหญ่ แสวงหาอำนาจ แล้วก็พยายามครอบงำข่มขี่ซึ่งกันและกัน และ

อย่างที่สาม การยึดติดในความเห็นของตัว ที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” ก็ทำให้คนเอาแต่ความเห็นของตัว ถือรั้นไม่รับฟังผู้อื่น ไม่ฟังเหตุผล งมงายคลั่งในลัทธินิยมอุดมการณ์ อาจถึงกับไปบีบบังคับคนอื่น ให้ยอมรับนับถืออย่างตน โดยไม่ยอมให้เขาใช้ปัญญาที่จะยอมรับโดยเหตุผล

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นเป้าของกิเลส ๓ อย่างนี้ก็ได้แก่ เรื่องผลประโยชน์ (กาม) เรื่องอำนาจ และเรื่องลัทธินิยมอุดมการณ์ความคิดเห็น อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมส่วนมากก็พัวพันอยู่กับเรื่องเหล่านี้

กิเลส ๓ ตัวนี้ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถจะนำสังคมของตัวเองไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระตามที่มุ่งหมายได้

ผู้ทำงานจำนวนมากบอกว่า ตนทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคม หรือจะเรียกว่า ปลดปล่อยสังคม นำสังคมไปสู่ความอยู่ดีสงบสุขไร้การเบียดเบียน ปลอดพ้นจากความเบียดเบียน ก็คือความเป็นอิสรภาพ

อย่างไรก็ดี ผู้ทำงานมักจะมองแต่ฝ่ายศัตรูหรือฝ่ายปรปักษ์ว่า พวกนั้นมีความกระหาย มีความยึดติดในอำนาจ ในผลประโยชน์อะไรต่างๆ บางทีก็ลืมมอง ลืมสำรวจตัวเอง หรือว่าตัวเองสำรวจตัวเองแล้ว ไม่มีกิเลสผูกพันตัวตนเหล่านั้น แต่ผู้ร่วมงานมี บางทีผู้ร่วมงานก็มีมากๆ ด้วย ก็เลยทำงานไม่สำเร็จ

อีกอย่างหนึ่ง หรือว่าบางทีตอนแรก ทั้งตัวเองและผู้ร่วมงานก็ไม่มี ต่างก็ตั้งใจทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมอย่างแท้จริง แต่ทำต่อไป ทำไปทำมา ตัวเองมีขึ้นมา หรือผู้ร่วมงานมีขึ้นมา ก็ทำไม่สำเร็จอีก ก็เลยกลายเป็นว่า พฤติกรรมของตนเองหรือของผู้ร่วมงานหรือของหมู่คณะที่ทำงานนั่นเอง กลายเป็นอุปสรรคทำลายล้างอุดมการณ์ ทำให้การทำงานเพื่ออิสรภาพของสังคมไม่สำเร็จผล

สังขารที่กล่าวมาเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ มนุษย์จะเป็นอย่างไร จะทำอะไร และทำอย่างไร ก็อยู่ที่ปัจจัยอันเรียกว่าสังขารที่อยู่ในตัวเหล่านี้

ในเมื่อเราถือว่ามนุษย์เป็นปัจจัยตัวสำคัญในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคม เราก็ต้องรู้จักตัวมนุษย์ให้ดี การที่จะรู้จักตัวมนุษย์ได้ดี ก็คือรู้จักเจ้าตัวปัจจัยสังขารทั้งหลายที่อยู่ในตัวมนุษย์นั้น แล้วก็พยายามจัดการกับปัจจัยเหล่านั้นให้เกิดผลดี คือจัดการกับสังขารฝ่ายดี เช่นอย่างปัญญานี้ โดยส่งเสริมขึ้นมาให้เจริญงอกงาม ส่วนสังขารในฝ่ายร้ายที่กำจัดขัดขวางอิสรภาพ ก็ต้องแก้ไขลบล้างทำให้หมดไป

เพราะฉะนั้น ในการสร้างสรรค์อิสรภาพของสังคมนั้น จะรู้จักปัจจัยทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ด้วย เพราะว่าปัจจัยเหล่านี้คือตัวแปร ที่อาจทำให้เราเดินออกไปนอกลู่นอกทาง หรือทำงานล้มเหลว

พูดเป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่ง ก็บอกว่า ถ้าคนปราศจากอิสรภาพจากสังขารแล้ว อิสรภาพของสังคมก็คงไกลสุดเอื้อม คือไม่มีทางสำเร็จ เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากสังขาร โดยเฉพาะจากกิเลสที่พันตัว ๓ อย่างนั้น

รวมความว่า ในการทำงานเพื่อช่วยให้สังคมหลุดรอดปลอดพ้นจากการบีบคั้น ข่มเหง เบียดเบียนนั้น

ประการที่ ๑ เราจะต้องเรียนรู้ปัจจัยทั้งหลายในภายนอก และพัฒนาความสามารถในการที่เราจะเข้าไปร่วมเป็นปัจจัยในกระบวนการทางสังคมนั้น

ประการที่ ๒ ต้องรู้เข้าใจปัจจัยที่อยู่ในตัวมนุษย์ แล้วพัฒนาความสามารถและความมั่นคงในการที่จะเป็นอิสระจากสังขารที่เป็นเครื่องกำจัดขัดขวางอิสรภาพเหล่านั้น

พูดอีกนัยหนึ่งว่า คนที่จะไปปลดปล่อยสังคมนั้น ก็ต้องไม่ประมาทที่จะปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากการครอบงำของกิเลสข้างในตัวด้วย หรือทำตัวเองให้เป็นอิสระจากกิเลสที่เป็นเครื่องผูกพันตัวเองดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะจากตัณหา มานะ และทิฏฐิ มิฉะนั้นแล้วตัวเองจะถูกพันธนาการ ถูกผูกมัด และก็จะพลอยทำให้สังคมถูกผูกมัดไปด้วย

1สังขารในความหมายที่ ๑
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง