เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท และกรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

๔) วิธีปฏิบัติต่อกรรม

เมื่อพูดถึงหลักกรรม ปัญหาที่พูดกันมากที่สุดก็คือ

ทำดีได้ดี จริงหรือไม่? ทำไมฉันทำดีแล้ว ไม่เห็นได้ดี?

ถ้าเข้าใจปฏิจจสมุปบาท ในเรื่องเหตุปัจจัยอย่างที่พูดไปแล้ว ปัญหาอย่างนั้นจะหมดไป แต่จะก้าวขึ้นไปสู่คำถามใหม่ที่เป็นประโยชน์และควรจะถามมากกว่าว่า ทำกรรมอย่างไรจึงจะได้ผลดี และได้ผลดียิ่งขึ้นไป?

อีกปัญหาหนึ่งคือ

กรรมเก่ามีผลต่อชีวิตของเราแค่ไหน? และ

เราควรปฏิบัติต่อกรรมเก่าอย่างไร?

แม้ว่าเรื่องกรรมจะละเอียดซับซ้อนมาก แต่ก็พอจะให้หลักในการพิจารณาที่สำคัญได้ (ขอให้ทบทวนตามหลักใหญ่ที่ได้พูดไปแล้ว) ดังนี้

๑. รู้หลักความตรงกันของเหตุกับผล ต้องถามตัวเอง หรือจับให้ชัดก่อนว่า กรรมคือความดีที่เราทำนี้ เป็นปัจจัยตัวเหตุ ที่จะให้เกิดผลอะไร ที่เป็นผลโดยตรงของมัน (ผลโดยตรงของเหตุ) เช่น การปลูกเม็ดมะม่วง ทำให้เกิดต้นมะม่วง (ไม่ใช่ได้ต้นมะปราง ไม่ใช่ได้เงิน เป็นต้น) การศึกษา ทำให้ได้ปัญญาและเป็นอยู่หรือจัดการกับชีวิตของตนและปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ดีขึ้น (ไม่ใช่ได้เงิน ไม่ใช่ได้งาน เป็นต้น) การเรียนแพทย์ ทำให้สามารถบำบัดโรครักษาคนไข้ (ไม่ใช่ได้ตำแหน่ง ไม่ใช่ร่ำรวย เป็นต้น)

๒. กำหนดผลดีที่ต้องการให้ชัด จะเห็นว่า เพียงแค่ตามหลักความจริงของธรรมชาติว่า “ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก” การแยกปัจจัยแยกผลก็ซับซ้อนอยู่แล้ว เมื่อพูดถึงสังคมมนุษย์ ความซับซ้อนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะมีกฎมนุษย์ และปัจจัยทางสังคม ซ้อนขึ้นมาบนกฎธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง ขอยกตัวอย่างง่ายๆ

กฎธรรมชาติ: การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล

กฎมนุษย์: การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๗,๐๐๐ บาทเป็นผล
หรือ การทำสวนเป็นเหตุ ขายผลไม้ได้เงินมากเป็นผล

ผลโดยตรงของเหตุ เป็นผลตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยที่เที่ยงตรง

อย่างไรก็ดี ผลที่คนพูดถึงกันมาก มักไม่ใช่ผลโดยตรงของเหตุที่เป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้น แต่คนมักพูดกันถึงผลตามกฎมนุษย์

กฎมนุษย์เป็นกฎสมมติ ซึ่งขึ้นต่อเงื่อนไขคือสมมติ (=สํ-ร่วมกัน + มติ-การยอมรับ, ข้อตกลง → สมมติ=การตกลงหรือยอมรับร่วมกัน) ซึ่งผันแปรได้ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือกฎมนุษย์นั้นอีก เช่น ค่านิยมของสังคม และความถูกใจพอใจของบุคคล เป็นต้น โดยมีความต้องการเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ

จะเห็นว่า ความหมายของคำไทยว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” นี้ มักจะกำกวม “ดี” นี้ เรามักใช้ในความหมายว่าน่าปรารถนา ตรงกับความพอใจ ชอบใจ หรือแม้กระทั่งเป็นไปตามค่านิยม ดังนั้นจึงต้องมีการแยกแยะ เช่นว่า ดีตรงไปตรงมาตามความจริงของธรรมชาติ ดีต่อชีวิต ดีในเชิงสังคม เป็นต้น

ยกตัวอย่างที่แสนจะง่าย ใกล้ๆ ตัว เช่น เรากินอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีผลดีต่อชีวิต ทำให้มีสุขภาพดี แต่อาจจะไม่ดีในเชิงสังคม ไม่สนองค่านิยมให้รู้สึกโก้เก๋ บางคนอาจจะดูถูกว่าเราต่ำต้อย หรือว่าไม่ทันสมัย แต่ชีวิตเราก็ดี

ในทางตรงข้าม มีคนอื่นมาให้ของกินอย่างหนึ่งแก่เรา อาจจะเป็นขนมก็ได้ ราคาแพง มีกล่องใส่ ห่ออย่างสวยหรู โก้เก๋มาก ดีเหลือเกินในเชิงสังคม เราอาจจะลิงโลดดีใจที่ได้รับ แต่ถ้ากินเข้าไป ของนั้นกลับไม่ดีต่อชีวิตของเรา จะบั่นทอนสุขภาพ หรือก่อให้เกิดโรค

นี่เป็นตัวอย่าง ซึ่งคงนึกขยายเองได้

เพราะฉะนั้น คำว่า “ผลดี” ที่พูดถึงหรือนึกถึงนั้น จะต้องวิเคราะห์หรือกำหนดให้ชัดกับตัวเองว่า ผลดีที่เราต้องการนั้น “ดี” ในแง่ไหน เช่น เป็น นักกีฬาเตะตะกร้อ

๑. ผลดีตามกฎธรรมชาติ (=ร่างกายแข็งแรงเคลื่อนไหวแคล่วคล่อง)

→ได้ผลแน่นอน เท่ากับผลรวมหักลบแล้วของเหตุปัจจัย

๒. ผลดีตามนิยามและนิยมของมนุษย์

• ในแง่กระแสสังคม (=ผู้คนชื่นชมนิยมยกย่อง)

ปัจจัยภายนอก: ไม่เอื้อ → คนสนใจน้อย ได้รับการยกย่องในวงแคบ

• ในแง่อาชีพ (=เป็นทางหารายได้มีเงินเลี้ยงชีวิตและร่ำรวย)

ปัจจัยภายนอก: ไม่เอื้อ → แม้เป็นสัมมาชีพ แต่หาเงินยาก อาจฝืดเคือง

• ในแง่วัฒนธรรม (=ช่วยรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ)

ปัจจัยภายใน: ถ้าทำใจถูกต้อง → รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ ภูมิใจ สุขใจ แต่

ปัจจัยภายนอก: เงื่อนไขกาลเทศะ → คนอาจจะไม่เห็นคุณค่า ขึ้นต่อสภาพสังคม-การเมือง

นี้เป็นเพียงตัวอย่างของการที่จะต้องวิเคราะห์หรือกำหนดให้ชัดกับตัวเองว่า ผลดีที่เราต้องการนั้น “ดี” ตามสภาวะของมัน ดีที่เป็นความดีตามหลักการแท้ๆ (เช่น ดีเพื่อความดี) หรือดีต่อชีวิตของเรา หรือดีในแง่สังคมโดยการยอมรับ โดยระบบ โดยค่านิยม ฯลฯ

เมื่อชัดกับตัวเองแล้วว่า เราต้องการผลดีในความหมายใด ก็วิเคราะห์ต่อไปว่า ผลดีแบบที่เราต้องการนั้น จะเกิดขึ้นได้ นอกจากตัวการกระทำดีที่เป็นเหตุตรงแล้ว จะต้องมีปัจจัยอะไรอีกบ้าง ปัจจัยเหล่านั้นมีอยู่หรือเอื้ออำนวยหรือไม่ มีปัจจัยประกอบอะไรอีกที่เราจะต้องทำเพื่อให้ครบถ้วนที่จะออกผลที่เราต้องการ ถ้าต้องการผลดีที่ปัจจัยไม่เอื้อ ผลยากที่จะมา จะยอมรับหรือไม่ ฯลฯ

ขอย้ำว่า ผลดีตามสภาวะ หรือตามกฎธรรมชาตินั้น เป็นของแน่นอนตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติเอง แต่ผลดีตามนิยามและนิยมของมนุษย์ขึ้นต่อเจตจำนง เกี่ยวเนื่องกับความต้องการของมนุษย์ตามกาละและเทศะเป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์สืบค้นออกมา

หลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็คือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พึงมุ่งผลดีตามสภาวะเป็นแกนหรือเป็นหลักไว้ก่อน ซึ่งเมื่อทำก็ย่อมได้ ส่วนผลดีเชิงสังคมเป็นต้น พึงถือเป็นเรื่องรองหรือเป็นส่วนประกอบ จะได้หรือไม่ ก็แล้วแต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วไป เช่นทำดีเพื่อให้เกิดความดี ใครจะยกย่องสรรเสริญหรือไม่ ก็ไม่มัวติดข้อง หรือทำดีเพื่อฝึกตน เพื่อให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงาม โดยไม่ต้องคิดจะเอาหรือจะได้อะไรจากสังคม 1

แต่ถ้ามุ่งเอาผลดีด้านสังคมเป็นต้น โดยไม่ทำให้เกิดผลดีตามสภาวะ ถึงจะได้ผลที่ต้องการ แต่จะกลายเป็นการหลอกลวง ซึ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตและสังคมเสื่อมทรามลงไป ไม่เร็วก็ช้า

๓. ทำเหตุปัจจัยให้ครบที่จะให้เกิดผลที่ต้องการ ตามหลักความพรั่งพร้อมของปัจจัย อะไรจะปรากฏเป็นผลขึ้น ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อม ตรงนี้จะช่วยให้ไม่ไปติดในลัทธิเหตุเดียวผลเดียว

หลักหรือกฎไม่ได้บอกว่า เมื่อเอาเม็ดมะม่วงไปปลูกแล้ว ต้นมะม่วงจะต้องงอกขึ้นมา ท่านพูดแต่เพียงว่า จากเม็ดมะม่วง ต้นไม้ที่จะงอกขึ้นมา ก็เป็นมะม่วง นี้คือ เหตุ → ผล หรือ ปัจจัยตัวตรงสภาวะ → ผล

การที่เม็ดมะม่วงจะงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วงนั้น ไมใช่มีแต่เม็ดมะม่วงอย่างเดียวแล้วจะได้ต้นมะม่วง ต้องมีดิน มีปุ๋ยในดิน มีน้ำ มีแก๊ส (เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์) มีอุณหภูมิพอเหมาะ เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่า เมื่อปัจจัยพรั่งพร้อมแล้ว ต้นมะม่วงจึงจะงอกขึ้นมาได้

นอกจากผลที่เรามองจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างพรั่งพร้อมแล้ว ปัจจัยแต่ละอย่างที่มาพรั่งพร้อมนั้น ก็สัมพันธ์ไปสู่ผลอย่างอื่นที่เราไม่ได้มองขณะนั้นด้วย ดังได้พูดแล้วข้างต้น

ได้บอกแล้วว่า ให้มุ่งผลดีตามสภาวะเป็นหลักหรือเป็นแกนไว้ก่อน ตอนนี้ก็มองดูว่ามีปัจจัยตัวไหนบ้างที่จะต้องทำให้ครบที่จะเกิดผลนี้ ต่อจากนั้น เมื่อยังต้องการผลดีด้านไหนอีก เช่นในทางสังคม เป็นต้น ก็พิจารณาให้ครบ แล้วทำกรรมดีให้ได้เหตุปัจจัยพรั่งพร้อมที่จะเกิดผลดีตามที่ต้องการนั้น

๔. ฝึกฝนปรับปรุงตนให้ทำกรรม (ได้ผล) ดียิ่งขึ้นไป ตามหลักความไม่ประมาท โดยเฉพาะความไม่ประมาทในการศึกษา เราจะต้องฝึกกาย วาจา จิตใจ และปัญญา (เรียกรวมว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ให้สามารถทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ เช่น จากกรรมชั่ว เปลี่ยนมาทำกรรมดี จากกรรมดี ก็ก้าวไปสู่กรรมดีที่ประณีตหรือสูงยิ่งขึ้นๆ ให้ชีวิตก้าวไปในมรรค คือในวิถีชีวิตประเสริฐ ที่เรียกว่า พรหมจริยะ/พรหมจรรย์

(ถ้าใช้คำศัพท์ ก็คือ ก้าวจากอกุศลมากกุศลน้อย ไปสู่อกุศลน้อยกุศลมาก จากกามาวจรกุศล ไปสู่รูปาวจรกุศล ไปสู่อรูปาวจรกุศล และไปสู่โลกุตตรกุศล )

ถ้าใช้สำนวนพูดให้เหมาะกับคนสมัยนี้ ก็คือ พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อทำกรรมดีตามหลักในข้อก่อนไปแล้ว ถ้าผลดีในความหมายหรือในแง่ที่เราต้องการไม่ออกมา ก็วิเคราะห์สืบสาวว่า ทำกรรมนั้นแล้ว แต่สำหรับผลดีแง่นี้ๆ ปัจจัยอะไรบ้างขาดไป หรือยังบกพร่องส่วนไหน จะได้แก้ไขปรับปรุง เพื่อว่าคราวต่อไปจะได้ทำให้ตรง ให้ถูกแง่ ให้ครบ นี่คือความไม่ประมาทในการศึกษา ที่จะใช้ปัญญาพิจารณาแก้ปัญหา และพัฒนากรรมให้ดีและให้ได้ผลยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น นายชูกิจได้ยินข่าวสารจากวิทยุ เป็นต้น พูดถึงปัญหาของบ้านเมือง ที่ว่าป่าลดน้อยลงจนน่ากลัว จะต้องช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากๆ และมีข่าวด้วยว่า บางแห่งคนมากมายช่วยกันปลูกต้นไม้ มีการนำมายกย่อง บางทีมีการให้รางวัลด้วย

นายชูกิจได้ยินได้ฟังข่าวแล้ว ก็เกิดศรัทธา เที่ยวดูสถานที่เหมาะๆ ใกล้หมู่บ้านของเขา แล้วหาต้นไม้เหมาะๆ มาปลูก ต้นไม้ก็ขึ้นงอกงามดี เขาปลูกไปได้หลายต้น

เวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขามานึกดูว่า เขาทำความดีนี้มาก็นานแล้ว ไม่เห็นมีใครสนใจ ก็เลยชักจะท้อ และน้อยใจว่า “เราอุตส่าห์ทำดี เหนื่อยไปมากมาย ไม่เห็นได้ดีอะไร”

พอมองลึกลงไปในใจของคุณชูกิจ ปรากฏว่าเขาอยากได้ความนิยมยกย่อง และหวังจะได้รางวัลด้วย

เมื่อวิเคราะห์ตามหลักความสัมพันธ์สืบทอดเหตุปัจจัยสู่ผลต่างๆ ที่ตรงกัน ก็เห็นได้ว่า

• ผลตามกฎธรรมชาติ หรือผลตามธรรม ก็เกิดขึ้นแล้ว คือ เขาปลูกต้นไม้ เมื่อทำเหตุปัจจัยของมันครบ ต้นไม้ก็ขึ้นมา

• ผลตามธรรมแก่ตัวเขาเอง ที่เป็นผู้ทำการนั้น เขาก็ได้แล้ว เช่น เกิดและเพิ่มความรู้ความเข้าใจความชำนาญที่เรียกกันว่าทักษะ ในเรื่องต้นไม้และการปลูกต้นไม้ ตลอดจนผลพ่วง เช่น ร่างกายแข็งแรง เสริมสุขภาพ

• ผลตามธรรมแก่สังคม คือ ท้องถิ่นของเขา ตลอดถึงโลกมนุษย์ทั้งหมด ได้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีงามเพิ่มขึ้น

แต่ผลที่ตัวเขาว่า “ดี” ที่เขาไม่ได้ คือผลทางสังคม (=ผลที่จะได้แก่ตัวเขา จากสังคม) ได้แก่ เสียงยกย่อง และรางวัล หรือเงินทองของตอบแทน ซึ่งมิใช่เป็นผลที่ตรงตามเหตุปัจจัยของการปลูกต้นไม้

ถ้าคุณชูกิจต้องการผลทางสังคมที่ว่านี้ ก็ต้องดูและทำปัจจัยเหล่านั้นด้วย เริ่มตั้งแต่ดูว่า การทำความดีด้วยการปลูกต้นไม้นี้ เข้ากับกระแสนิยมของท้องถิ่นของตนเองหรือไม่ (พิจารณาโดยกาล-เทศะ หรือโดยคติ และกาละ) ถ้าจะให้ได้รับคำยกย่องและรางวัล จะต้องทำปัจจัยอะไรประกอบเพิ่มเข้ามากับการทำความดีคือการปลูกต้นไม้นั้น แล้วทำให้ครบ

ที่จริง ถ้าคุณชูกิจมุ่งหวังผลดีที่แท้ คือผลตามธรรมที่ว่าข้างต้น ไม่มัวห่วงผลทางสังคม(แก่ตัวตน) เขาจะได้ผลตามธรรมเพิ่มอีกอย่างหนึ่งด้วย คือปีติความเอิบอิ่มใจและความสุข ในการทำความดี และในการที่ได้เห็นผลดีตามธรรมด้านต่างๆ เพิ่มขยายคลี่คลายขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา แต่ความหวังผล ‘ดี’ แก่ตัวตน ได้ปิดกั้นปีติสุขนี้เสีย และหนำซ้ำ ทำให้เขาได้รับความผิดหวังและความช้ำใจเข้ามาแทน

ยิ่งกว่านั้น ถ้าเขาฉลาดในความดีและฉลาดในการทำประโยชน์ เมื่อเขาจะเริ่มหรือกำลังทำการนั้นอยู่ เขาอาจจะชักชวนคนอื่นๆ ให้รู้เข้าใจมองเห็นประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ แล้วมาร่วมกับเขาบ้าง หรือต่างคนก็ไปทำของตนบ้าง แพร่ขยายการปลูกต้นไม้ให้กว้างออกไป นอกจากผลตามธรรมทุกด้านจะเพิ่มพูนแล้ว ผลทางสังคมแก่ตัวเขาก็อาจจะพลอยตามมาด้วย

จะต้องชัดกับตนเองว่า ผลดีตามธรรมของกรรมดีนั้นๆ คืออะไร และควรฝึกตนให้ต้องการผลตามธรรมนั้นก่อนผลอย่างอื่น แล้วนอกจากนั้นเราต้องการผลดีอย่างไหนอีก และเพื่อให้เกิดผลดีนั้นๆ จะต้องทำปัจจัยอะไรเพิ่มอีกบ้าง เมื่อจะทำก็ทำเหตุปัจจัยให้ครบ เมื่อทำไปแล้วก็ตรวจสอบให้รู้ปัจจัยที่ยิ่งและหย่อนสำหรับผลดีแต่ละด้านนั้นๆ เพื่อทำให้ครบและดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป

อนึ่ง ผลดีทางสังคม หรือผลดีจากสังคมแก่ตัวตนนั้น อาจจะไม่สอดคล้องกับผลดีตามธรรมก็ได้ บางครั้ง บางเรื่องอาจจะถึงกับตรงกันข้ามเลยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นต่อปัจจัยทางสังคมเป็นต้น ที่เนื่องด้วยกาลเทศะ เช่น ในกาละและเทศะที่ธรรมวาทีอ่อนกำลัง และอธรรมวาทีมีกำลัง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาด้วยว่าผลที่ว่าดีนั้น เป็นของสมควรหรือไม่ เราจะเอาธรรมไว้ หรือจะไปกับตัวตน

จะต้องไม่ประมาทในการศึกษาและพัฒนากรรมกันอย่างนี้ จึงจะถูกต้อง นี่ก็คือการพัฒนาตัวเราเอง และพัฒนาสังคมไปด้วย ไม่ใช่ทำอะไรไปแล้ว ก็มองแง่เดียวชั้นเดียว ว่าได้ผลที่ตนต้องการ หรือไม่ได้ พอไม่ได้ก็เอาแต่โวยวายโอดครวญว่าทำดีไม่ได้ดี เลยไม่ไปไหน

แต่ต้องขอเตือนไว้ด้วยว่า คนที่ต้องการผลดีต่อบุคคล (คือแค่ที่ถูกใจตนหรือตัวเองชอบใจ) และผลดีตามกระแสหรือค่านิยมของสังคมนั้น ถ้าไม่มองให้ถึงผลดีตามสภาวะ คือผลดีตามธรรม ซึ่งเป็นผลที่ดีอย่างแท้จริงต่อชีวิต ต่อหลักการ และต่อความดีงามที่แท้ของสังคมแล้ว แม้จะทำกรรมเพื่อผลดีที่ตนต้องการนั้นได้เก่ง แต่ก็คือทำกรรมไม่ดีหรืออกุศลซ่อนไว้ ซึ่งตัวเองอาจจะมีปัญญารู้ไม่ทันผลแง่อื่น เพราะมัวแต่มองเพียงผลดีแบบที่ตัวต้องการอย่างเดียวด้านเดียว แล้วในไม่ช้า หรือในที่สุด อกุศลที่แฝงไว้นั้นก็จะออกผลให้โทษต่อไป

จึงได้ย้ำไว้ข้างต้นว่า ไม่ว่าจะต้องการผลดีข้างเคียงอะไรก็ตาม ขอให้ทำกรรมดีเพื่อผลดีที่ตรงตามสภาวะหรือผลดีตามธรรมเป็นหลักเป็นแกนไว้ก่อน ถ้าปฏิบัติตามนี้ จะได้ผลดีที่แท้ และปลอดภัยในระยะยาว ดีทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม แก่ตน และแก่ผู้อื่น

เราคงจะมุ่งเอาผลดีต่อตัวตนของบุคคล ผลดีตามกระแสสังคม หรือผลดีเชิงค่านิยมกันมากไป จึงมองไม่เห็นผลดีที่ตรงไปตรงมาตามธรรม ถ้าอย่างนี้ก็จะต้องบ่นเรื่อง “ทำดีไม่เห็นได้ดี แต่ทำชั่วได้ดีมีถมไป” กันอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ และคงจะแก้ปัญหาของสังคมได้ยาก เพราะความคิดของเราเองก็เป็นกรรมไม่ดี ที่เป็นปัจจัยร่วมให้เกิดผลอย่างนั้นด้วย

ถ้ามองกันอยู่แค่นี้ ก็จะไม่มีคนอย่างพระโพธิสัตว์ที่ถึงแม้จะถูกเขาทำร้ายหรือฆ่า ก็ยังเข้มแข็งอยู่ในการทำความดี เพราะมุ่งผลดีที่ตรงไปตรงมาตามความจริงของมัน

ถ้าจะช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมนี้ แต่ยังห่วงผลดีต่อตัวตน ผลดีเชิงบุคคลและผลดีเชิงค่านิยมทางสังคมอยู่ ก็ขอแค่ว่า อย่าถึงกับละทิ้งหรือละเลยความต้องการผลดีที่ตรงตามธรรม ผลดีต่อชีวิต และผลดีที่แท้ต่อสังคม เอาพอประนีประนอมกัน

แค่นี้ก็จะประคับประคองโลกมนุษย์ ให้พออยู่กันไปได้ แต่จะเอาดีจริงคงยาก เพราะมนุษย์นี้เองไม่ได้ต้องการผลดีแท้จริงที่ตรงตามธรรมของกรรมดี

1 ในพระอภิธรรมปิฎก (อภิ.วิ. ๓๕/๘๔๐/๔๘-๙) แสดงหลักพิจารณาว่า กรรมดี กรรมชั่ว ที่ทำแล้ว จะให้ผลปรากฏออกมา ยังต้องขึ้นต่อองค์ประกอบอีก ๔ อย่าง คือ คติ (ภพ-ถิ่น ที่เกิด ที่อยู่ ทางชีวิต) อุปธิ (สภาพกาย, รูปร่าง) กาละ (เวลา, ยุคสมัย, จังหวะ) ปโยคะ (การที่ทำ ซึ่งเหมาะ ตรงเรื่อง ครบถ้วน เป็น ชำนาญ หรือไม่) ที่เอื้อต่อกรรมดีขวางกรรมชั่ว เรียกว่า สมบัติ และที่ขวางกรรมดีเอื้อต่อกรรมชั่ว เรียกว่า วิบัติ อีกฝ่ายละ ๔
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง