คณบดีคณะอักษรศาสตร์: นมัสการพระเดชพระคุณพระเทพเวที คณะอักษรศาสตร์รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พระเดชพระคุณพระเทพเวที อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาศาสตร์ ได้มีเมตตานุเคราะห์รับอาราธนามาแสดงปาฐกถาธรรมในวันนี้ พระเดชพระคุณพระเทพเวที เป็นพระเถระที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ผู้ได้นำความเข้าใจในแก่นแท้ของภาษา และเทคโนโลยีทางภาษาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ในการเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่พุทธศาสนิกชน คณะอักษรศาสตร์จึงได้กราบอาราธนาพระเดชพระคุณมาแสดงปาฐกถาเรื่อง “สัจจธรรมกับจริยธรรม” บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว จึงใคร่ขออาราธนา พระเดชพระคุณ ได้โปรดแสดงปาฐกถาธรรมเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณาจารย์และท่านผู้มีเกียรติสืบไป
ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิต และท่านผู้สนใจทั้งหลาย
วันนี้ อาตมภาพได้ตั้งหัวข้อให้แก่ตัวเอง ว่าจะพูดเรื่อง “สัจจธรรมกับจริยธรรม” เมื่อตั้งเสร็จไปแล้ว ก็มารู้สึกตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก จึงขอออกตัวว่า ได้ตั้งชื่อเรื่องนี้ไปในตอนนั้น ก็เพราะว่ากำลังมีงานเร่งมาก ไม่รู้จะตั้งหัวข้อว่าอย่างไรดี ก็ตั้งไปก่อน ตั้งเสร็จแล้วจึงมาคิดทีหลังว่าจะพูดอย่างไร หัวข้อเรื่องนี้ความจริงก็เป็นเรื่องใหญ่ สัจจธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ จริยธรรมก็เป็นเรื่องใหญ่ จึงคล้ายๆ กับว่ามีเรื่องใหญ่ ๒ เรื่อง แล้วยังเอา ๒ เรื่องใหญ่นั้นที่ต่างก็หนักด้วยกันมาบรรจบประสานกันอีก ในแง่หนึ่ง จึงมีความรู้สึกว่า เพราะเหตุที่เป็นเรื่องหนัก ก็ยากแก่การที่จะพูด และผู้ฟังก็อาจจะเบื่อได้ง่าย นอกจากนั้น ในแง่ของผู้พูด ก็จะพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นผู้ที่เรียนมาในด้านนี้ จึงเหมือนกับมาพูดในแง่เดียว คือในแง่ของพระพุทธศาสนาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง ไม่ว่าจะพูดในแง่ไหนก็ตาม มันก็จะครอบคลุมไปหมด เพราะว่าความจริงนั้นเป็นสากล หรือสากลนั้นอยู่ที่ความจริง ถ้าเป็นจริงเมื่อไรก็เป็นสากลเมื่อนั้น คือเป็นเรื่องที่ไม่แคบ ฉะนั้น แม้ว่าจะพูดในแง่ของพระพุทธศาสนา แต่ถ้าสิ่งที่พูดเป็นความจริงแล้ว ก็ย่อมเป็นสากลอยู่ในตัวเอง คือเป็นของที่ใช้ได้ทั่วไปทั้งหมด
เวลาเราพูดถึงสัจจธรรมก็ดี จริยธรรมก็ดีนั้น โดยทั่วไปเรามักจะมองแบบแยกกัน คือ เวลาพูดถึงสัจจธรรม ก็พูดเรื่อง สัจจธรรมไป ถกเถียงอภิปรายกันว่าความจริงเป็นอย่างไรๆ เวลาพูดถึงจริยธรรมก็พูดเรื่องจริยธรรมไปว่า จริยธรรมเป็นอย่างนี้ๆ ทำให้ดูเหมือนกับว่า ๒ อย่างนี้เป็นคนละด้านคนละทาง แต่ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนาแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่เนื่องอยู่ด้วยกัน โยงเข้าหากันเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จึงมีข้อพิจารณาว่า มันมีจุดรวมและจุดแยกอย่างไร นี่คือเรื่องที่เราจะพูดกันต่อไป