การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิต หรือ การศึกษาเพื่อเพิ่มผลผลิต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับความพร่าสับสนในทางวิชาการและความคิดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาคนมากด้วย คือ ในการพัฒนาคนนี้มีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ได้แก่ จริยธรรม ระยะนี้ก็มีการประชุมสัมมนาอะไรต่างๆ เพื่อพิจารณาเรื่องจริยธรรมกันมาก และในยุคปัจจุบันนี้ ปัญหาจริยธรรมก็มีทั้งทางสังคมและธรรมชาติแวดล้อม

แต่ก่อนนี้เราถือว่าปัญหาสังคมสำคัญ และปัญหาสังคมก็มาก เราบอกว่ามนุษย์ขาดจริยธรรม เวลานี้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอีก ก็บอกว่า มนุษย์ขาดจริยธรรมเช่นเดียวกัน

การพัฒนาจริยธรรมจึงขยายกว้างออกไป เดี๋ยวนี้ฝรั่งมีคำว่า environmental ethics คือจริยธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เราควรรู้ทันว่าจริยธรรมที่ผ่านมานี้เป็นอย่างไร

แนวความคิดจริยธรรมนี้ เป็นแนวความคิดของตะวันตก เพราะคำว่าจริยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติในประเทศไทย เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ ๓๐ ปี ก่อนนั้นเมืองไทยไม่มีคำว่า “จริยธรรม”

ในเมืองไทย กระแสความคิดเรื่องนี้ออกจากคำว่า ศีลธรรม มาสู่คำว่าจริยธรรม แต่คำว่าจริยธรรมเป็นเพียงศัพท์บัญญัติ เพื่อจะให้ตรงกับคำว่า ethics ของฝรั่ง นี่ก็คือแนวความคิดมาจากเมืองฝรั่ง

แนวความคิดของฝรั่งนั้น มีความแคบและสับสนในเรื่องจริยธรรมตลอดมา และเวลานี้ก็ยังสับสนอยู่ เพราะว่าเดิมนั้น จริยธรรมของฝรั่งมาในระบบศาสนาของตะวันตก ซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อในพระผู้เป็นเจ้า จริยธรรมแบบนั้นเรียกว่าจริยธรรมเทวบัญชา คือเป็นคำสั่งหรือพระโองการของพระเจ้า ซึ่งสั่งมาว่าต้องทำอย่างนี้ ต้องไม่ทำอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติตามก็ได้รับรางวัล แต่ถ้าฝ่าฝืนละเมิดก็จะถูกลงโทษ

เมื่อวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า จริยธรรมนั้นไม่เป็นความจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ จริยธรรมอะไรเป็นเรื่องพระเจ้าสั่ง มีที่ไหน จริยธรรมก็มีสถานะตกต่ำลงทันที เพราะเวลานั้นวิทยาศาสตร์กำลังได้รับกระแสความนิยมสูงมาก และถือเป็นมาตรฐานวัดความจริง จริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นความจริง

พอจริยธรรมลดสถานะลงไป คนก็ไม่ค่อยสนใจจริยธรรม แล้ววิทยาศาสตร์ก็ทำให้คนมองจริยธรรมไปอีกแบบหนึ่ง คือให้มองไปว่า ในเมื่อไม่ใช่เป็นบัญชาพระเจ้า ไม่ใช่เป็นเทวโองการ แล้วจริยธรรมเป็นอะไร

ในสังคมตะวันตกก็มองจริยธรรมว่าเป็นเพียงบัญญัติของมนุษย์ในสังคม หมายความว่า หมู่มนุษย์มาตกลงกันว่า นี่เป็นหลักความประพฤติที่ดี นี่ควรประพฤติ นั่นไม่ควรประพฤติ ดังจะเห็นได้ว่า สิ่งที่บัญญัติในสังคมนี้ว่าดีสังคมอื่นว่าไม่ดี ที่ว่าดีในสังคมอื่นสังคมนี้กลับว่าไม่ดี เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงเอาแน่ไม่ได้ เป็นเพียงบัญญัติของสังคมมนุษย์แล้วแต่จะตกลงกันว่าอย่างไร

ก็เลยเกิดกระแสของการมองจริยธรรมเป็นเพียงคุณค่า ซึ่งไม่มีความจริงในธรรมชาติ แต่เป็นเพียงค่านิยมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ในเมื่อจริยธรรมไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คนที่นิยมวิทยาศาสตร์เขาก็ไม่เอาใจใส่จริยธรรม

ต่อมา เมื่อเรื่องจริยธรรมกลับมีความจำเป็นขึ้นมาเพราะสังคมมีความเสื่อมในเรื่องความประพฤติ ศีลธรรมของมนุษย์ตกต่ำลงไป นักวิชาการก็มาคิดกันในเรื่องจริยธรรมสากลว่า หลักความประพฤติอะไรที่สังคมต่างๆ ทั้งที่โน่นและที่นี่ยอมรับ เช่น สังคมจีนก็ยอมรับ สังคมฝรั่งก็ยอมรับ อังกฤษก็ยอมรับ อเมริกันก็ยอมรับ ควรจะเอาจริยธรรมอย่างนั้น แล้วก็มาเรียกกันว่า จริยธรรมสากล

นี่แหละ ฝรั่งมีแนวความคิดจะหาจริยธรรมขึ้นมาใหม่ ก็เพราะถือว่าจริยธรรมเป็นเรื่องบัญญัติของสังคมมนุษย์ ดีหรือชั่วก็แล้วแต่จะตกลงกัน ถ้าจะเอาบัญญัติในสังคมใดสังคมหนึ่งก็ไม่แน่นอน จึงต้องหาทางคัดเอาสิ่งที่ยึดกันเป็นกลางๆ เหมือนๆ กันมาใช้ เรียกว่าเป็นจริยธรรมสากล คือ สากลจากการที่ว่า ที่นี่ก็ยอมรับ ที่โน่นก็ยอมรับ เมืองไทยเราก็เข้าสู่กระแสความคิดนี้ด้วย นี้ก็เป็นแนวโน้มของเรื่องของจริยธรรม

ทีนี้ ต่อมาเวลานี้ โลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มองเห็นความสำคัญของจริยธรรมมากขึ้นอย่างที่บอกเมื่อครู่นี้ จึงมีการฟื้นฟูจริยธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะได้เกิดจริยธรรมสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ พากันเอาวิชาจริยธรรมเข้าไปศึกษา ได้เกิดมีวิชาจริยธรรมต่างๆ อาทิ Business Ethics คือ จริยธรรมธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำพากันนำเข้าไปศึกษา

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัญหาในสังคมตะวันตก เพราะภูมิหลังที่สับสนนั้น จึงวุ่นวายกันไปหมดว่าจะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้หรือมาศึกษา จริยธรรมศาสนา(ของเขา) ก็เป็นเทวบัญชา หรือจะว่าจริยธรรมเป็นบัญญัติของสังคมมนุษย์ ก็เอาแน่ไม่ได้ว่าของสังคมไหนจะถูกต้อง จะต้องหาจริยธรรมสากล

เออ… หรือว่าจริยธรรมที่มีอยู่ทั้งหมดอาจจะไม่ถูกต้อง นักคิดในทางการศึกษาอย่างโกลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) และ ซิมมอน (Sidney Simon) ก็มาคิดกันอีกว่า จะเอาจริยธรรมอะไรดี ก็เกิดการชักเย่อ ยังเถียงกันวุ่นว่าจะเอาจริยธรรมแบบไหน

แม้แต่ในประเด็นปลีกย่อย การฟื้นฟูจริยธรรมก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่นับถือศาสนาต่างลัทธินิกาย ซึ่งโยงไปถึงปัญหาการเมืองการปกครอง

อย่างประเทศอเมริกาเวลานี้อยากจะฟื้นฟูจริยธรรม บางพวกคิดจะให้เด็กนักเรียนได้สวดมนต์หรือสวดอ้อนวอน ก็เกิดปัญหา ยังเถียงกันว่าการจัดสวดมนต์ในโรงเรียนผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีกรณีขึ้นศาลให้ต้องพิจารณาวินิจฉัยกันมาเรื่อยเป็นระยะ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่จบ

จะเอาจริยธรรมในศาสนาหรือไม่ อีกพวกหนึ่งบอกไม่ได้ ไม่ถูก ต้องเอาจริยธรรมใหม่ จึงมีบทความต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นสภาพความสับสนในทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งก็ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วปฏิบัติการจะเป็นไปด้วยดีได้อย่างไร

ดังที่ได้มีผู้เขียนบทความเรื่อง “Ethics Without Virtue”1 (จริยธรรมโดยไม่ต้องมีคุณธรรม) ซึ่งมุ่งจะแสดงสภาพของ “Moral Education in America” (ชื่อรองของบทความนั้นเอง) คือ สภาพความสับสนของจริยศึกษาในประเทศที่ถือกันว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาของโลกปัจจุบัน

ไทยเราก็พลอยวุ่นไปด้วย ดังที่กระแสความคิดได้เบนจากศีลธรรมมาเป็นจริยธรรมราวๆ ๓๐ ปีมาแล้ว

ทีนี้ในเมืองไทยเวลานี้ เราเองก็เห็นความสำคัญของจริยธรรม จึงมีการจัดประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมกันขึ้นบ่อยๆ

ต่อมาเราเห็นว่า จริยธรรมเป็นเรื่องของความประพฤติภายนอก เกี่ยวกับการแสดงออกในสังคม และการอยู่ร่วมกัน จริยธรรม(อย่างที่ว่า)นี้ จะดีไม่ได้ถ้าสภาพจิตใจไม่ดี จึงจะต้องมีจิตใจที่มีคุณธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จะพัฒนาจริยธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย

ฉะนั้น ต่อมาตอนหลังๆ นี้ จะเห็นว่า เวลามีการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม จะต้องเติมคำว่า “คุณธรรม” เข้าไปด้วย เป็นการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม แม้จะไม่เอาชื่อเข้ามาเป็นหัวข้อ แต่เวลาบรรยายก็ต้องพูดถึงคุณธรรม

นี่แสดงว่า เราเห็นว่าจริยธรรมนี้เป็นอย่างหนึ่ง และคุณธรรมเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ จริยธรรม เป็นพฤติกรรมภายนอก โดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ส่วน คุณธรรม เป็นสภาพความดีในจิตใจ หรือเป็นคุณสมบัติภายในจิตใจ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเห็นว่าคุณธรรมนี้สำคัญ จะต้องมีในจิตใจเป็นพื้นฐาน ถ้าจิตใจไม่มีคุณธรรมแล้วจริยธรรมก็จะดีไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นฐาน และจะไม่มีความมั่นคง

แต่หารู้ไม่ว่า ความคิดความเข้าใจนี้แสดงว่า เราไม่มีความชัดเจนในเรื่องการพัฒนามนุษย์ เราได้ตกลงไปในหลุมแห่งความคิดแยกส่วนของตะวันตก และพลอยมีความคับแคบสับสนในเชิงจริยธรรมไปกับฝรั่งด้วย จริยธรรมของเราก็เลยพลอยไม่ชัดเจน

เมื่อพูดว่า พัฒนาจริยธรรม เราบอกว่าไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย แต่ถามอีกว่า “พัฒนาคุณธรรมพอหรือไม่?”

ต่อไปก็จะรู้ว่า พัฒนาคุณธรรมก็ยังไม่พอ เพราะว่า จริยธรรมที่จะเกิดขึ้นในคนนั้น ต้องมีปัญญาด้วย คือต้องมีความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้เหตุรู้ผลว่าทำไมเราจึงต้องมีความประพฤติอย่างนี้ ความประพฤติดีงาม หรือหลักความประพฤติจริยธรรมนี้ มีประโยชน์ มีคุณค่า เป็นผลดีต่อชีวิตและสังคมอย่างไร เมื่อรู้เข้าใจเหตุผล รู้คุณค่าแล้ว เราจึงจะมีความเต็มใจที่จะประพฤติปฏิบัติ และปฏิบัติได้ถูกต้อง เมื่อเต็มใจจะประพฤติปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกต้อง จริยธรรมจึงจะมีความมั่นคงได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีองค์ประกอบด้านปัญญาด้วย

นอกจากนั้น ถ้าคนมีจิตใจไม่เป็นสุข มีความทุกข์ มีความฝืนใจ จริยธรรมก็ไม่มั่นคง ก็ต้องใส่ความสุขด้วย

แล้วทีนี้ เมื่อจริยธรรมก็ไม่พอ เติมคุณธรรมก็ไม่พอ ต้องเติมปัญญาด้วย ต้องให้มีความสุขด้วย ต่อไปคงต้องตั้งชื่อการสัมมนาจริยธรรมใหม่ว่า “การประชุมสัมมนาเรื่องการพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม ความสุข และปัญญา” อะไรทำนองนี้

รวมความก็คือว่า เราไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น จะต้องยอมรับว่า เวลานี้เรามีความสับสน แม้ในตะวันตกเอง เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ขณะนี้เขามาถึงจุดที่สับสนมากในทางวิชาการ แม้แต่การแบ่งวิชาเป็น ๓ หมวดที่เราเอามาใช้เป็นแบบนี้ แม้เราจำเป็นต้องใช้เพื่อเข้ากับโลกได้ จะเรียกว่าเพื่อความเป็นสากลหรืออย่างไรก็ตาม แต่เราจะต้องรู้ตระหนักด้วยว่า ระบบนี้ก็ยังไม่ถึงจุดที่มีความชัดเจนลงตัว และวงวิชาการเองก็มีปัญหาอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ความเป็นสากลก็ไม่พอ เวลานี้เราต้องพ้นเลยขึ้นไปเหนือความเป็นสากลด้วยซ้ำ โดยเฉพาะจริยธรรมจะต้องเหนือความเป็นสากลจากการยอมรับตรงกัน ขึ้นไปสู่ความเป็นจริงที่ตรงกับธรรมชาติของมัน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นว่า การศึกษาของเรานี้ ได้มีปัญหาจากความสับสนของพัฒนาการในวงวิชาการ

1ตีพิมพ์ใน The American Scholar, Volume 53, Number 3, Summer, 1984.
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง