เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทพิเศษ

หลักการทั่วไปบางประการ
ของ
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
(เศรษฐศาสตร์มัชฌิมา)

๑. การบริโภคด้วยปัญญา

การบริโภคเป็นจุดเริ่มต้น (โดยเหตุผล) ของกระบวนการเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะการผลิตก็ดี การแลกเปลี่ยนและการแจกจ่ายหรือวิภาคกรรมก็ดี เกิดขึ้นเพราะมีการบริโภค

พร้อมนั้น การบริโภคก็เป็นจุดหมายปลายทาง (โดยสภาพความจริง) ของกระบวนการเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะการผลิตก็ดี การแลกเปลี่ยนและการจำหน่ายจ่ายแจกหรือวิภาคกรรมนั้นก็ดี บรรลุผลที่การบริโภค

ผู้บริโภค ในฐานะผู้รับผลดีและผลร้ายของกระบวนการเศรษฐกิจ ควรมีอิสรภาพ โดยเป็นตัวของตัวเองในการเลือกตัดสินใจ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการบริโภค ดังนั้นจึงต้องให้เป็นการบริโภคด้วยปัญญา ซึ่งจะเป็นการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริโภคด้วยปัญญา จะทำให้ผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดปัจจัยตัวอื่นในกระบวนการเศรษฐกิจ และทำให้ทั้งการบริโภคนั้นเอง และกระบวนการเศรษฐกิจทั้งหมด บังเกิดความพอดี และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ของการบริโภคด้วยปัญญา เช่น ในการกินอาหาร ผู้บริโภค ตระหนักรู้ความจริงที่ตน

๑. เป็นบุคคลที่เป็นส่วนในสังคม ผู้มีความต้องการที่ถูกกระตุ้นเร้าโดยอิทธิพลทางสังคม เช่น ค่านิยม เป็นต้น อาจบริโภคเพื่อแสดงสถานะทางสังคม ความโก้เก๋ ตลอดจนสนุกสนานบันเทิง

๒. เป็นชีวิตที่เป็นส่วนในธรรมชาติ ผู้มีความต้องการที่ถูกกำหนดโดยเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ที่จะต้องบริโภคเพื่อให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ ให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ปราศจากโรคเบียดเบียน เป็นอยู่ผาสุก มีร่างกายที่พร้อมจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตที่ดีงามและสร้างสรรค์

ถ้าผู้บริโภครู้ว่า ความต้องการที่แท้จริงในการกินอาหาร คือ ความต้องการของชีวิตในข้อ ๒ เขาจะต้องบริโภคเพื่อความมุ่งหมายที่จะให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพสมบูรณ์และสามารถดำเนินชีวิตที่ดี ที่พูดสั้นๆ ว่า คุณภาพชีวิต

ดังนั้น ผู้บริโภคนี้จะบริโภคอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตให้ได้คุณภาพชีวิตเป็นหลัก หรือเป็นส่วนจำเป็นที่จะต้องให้สัมฤทธิ์ก่อน ส่วนการที่จะสนองความต้องการเชิงสังคมหรือไม่แค่ใด ถือเป็นส่วนเสริม ซึ่งจะพิจารณาตามสมควร

การบริโภคอย่างนี้ เรียกว่าเป็นการบริโภคด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากสินค้าและบริการอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ถ้าพูดด้วยภาษาเศรษฐศาสตร์ตามแบบ การบริโภคก็มิใช่เป็นเพียงการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้เกิดความพอใจอย่างเลื่อนลอย แต่ การบริโภค คือการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการ เพื่อให้ได้รับความพึงพอใจโดยรู้ว่าจะได้คุณภาพชีวิต คือ จะเกิดผลดีแก่ชีวิตตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการบริโภคอาหารเป็นต้นนั้น

การบริโภคด้วยปัญญานี้ จึงเป็นหัวใจหรือเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจที่ชอบธรรม หรือที่เป็นสัมมา เพราะจะทำให้เกิดความพอดีของปริมาณและประเภทของสิ่งเสพบริโภค ที่จะสนองความต้องการเพื่อบรรลุจุดหมายที่ถูกต้องเป็นจริงของการบริโภคสินค้าและบริการแต่ละอย่าง

พร้อมนั้น การบริโภคด้วยปัญญาจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่คุมการผลิต และจัดปรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างอื่นๆ ให้พอดี ป้องกันแก้ไขค่านิยมที่ผิดในสังคม เช่น ความนิยมฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และลดการเบียดเบียนทั้งในสังคม และการเบียดเบียนธรรมชาติ ที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองสูญเปล่า และก่อมลภาวะเกินกำลังที่จะขจัด

ในทางตรงข้าม การบริโภคอย่างขาดปัญญา คือบริโภคโดยไม่ได้พิจารณา-ไม่ตระหนักรู้ถึงความมุ่งหมายที่แท้จริงของการเสพบริโภคสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น บริโภคเพียงเพื่อสนองความต้องการทางค่านิยมในสังคม ให้โก้หรูหรา อวดฐานะ เป็นต้น นอกจากจะไม่สัมฤทธิ์จุดหมายที่แท้จริงของการบริโภคแล้ว ยังก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง สูญเปล่า นำไปสู่การเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ และการทำลายสิ่งแวดล้อม

หนำซ้ำ การบริโภคอย่างขาดปัญญานั้น ทั้งที่สิ้นเปลืองมากมาย แต่กลับทำลายคุณภาพชีวิตที่เป็นจุดหมายอันแท้จริงของการบริโภคไปเสียอีก เช่น บริโภคอาหารโก้หรูหรา สิ้นเปลืองเงินหมื่นบาทไปแล้ว กลับทำลายสุขภาพ เกิดโรคภัย บั่นทอนร่างกายและชีวิตของตนเอง ในขณะที่ผู้บริโภคด้วยปัญญาจ่ายเงินเพียง ๕๐ บาท กลับบริโภคแล้วได้ประโยชน์ที่สัมฤทธิ์จุดหมายของการบริโภค

ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจแบบธุรกิจเพื่อกำไรสูงสุด แผ่ขยายเป็นโลกาภิวัตน์ กิจกรรมเศรษฐกิจด้านการผลิต ได้ก้าวรุดหน้าไปไกล

ตามปกตินั้น ผู้ผลิตทำหน้าที่เสมือนรับใช้ผู้บริโภค หรือเป็นผู้สนองความต้องการของผู้บริโภค และผู้บริโภคเป็นผู้กำหนดการผลิต

แต่เวลานี้ การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้ผลิตมีอิทธิพลเหนือผู้บริโภค จนกระทั่งผู้ผลิตสามารถกำหนดการบริโภค ทำให้การบริโภคเป็นการสนองความต้องการเชิงธุรกิจของผู้ผลิต ด้วยการปลุกเร้าความต้องการและปั่นกระแสค่านิยมใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแท้จริงแก่ผู้บริโภค และแก่โลก ทั้งโลกมนุษย์และโลกธรรมชาติ

นักผลิตที่ดี ผู้มีความคิดริเริ่ม จะประดิษฐ์สรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีขึ้นและเพิ่มขึ้นในการสนองความต้องการของตน เฉพาะอย่างยิ่งสิ่งใหม่ที่ขยายมิติทางปัญญา และเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคม

ถ้าทำอย่างนี้ ก็เข้าหลัก “เศรษฐกิจเป็นปัจจัย” คือ เศรษฐกิจเป็นตัวเอื้อและเกื้อหนุนในระบบปัจจยาการ (ความเป็นเหตุปัจจัยในระบบองค์รวมที่ทุกอย่างทุกด้านสัมพันธ์อิงอาศัยส่งผลต่อกัน) ที่ครอบคลุมทั้งชีวิตจิตใจ สังคม ตลอดถึงธรรมชาติทั้งหมด ที่จะให้อารยธรรมของมนุษย์ดำเนินไปด้วยดี

แต่ที่เป็นปัญหากันอยู่ ก็คือ การผลิตที่มองผู้บริโภคเป็นเหยื่อ ที่จะสนองความต้องการทางธุรกิจที่มุ่งผลประโยชน์ ด้วยการปลุกปั่นความต้องการเชิงเสพ เพื่อการบำรุงบำเรอปรนเปรอให้ลุ่มหลงมัวเมา จมอยู่ในวังวนของการบริโภค เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ของผู้ผลิต พร้อมไปกับการทำลายคุณภาพชีวิตของตนเองและบั่นรอนองค์รวมแห่งระบบการดำรงอยู่ด้วยดี

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะผู้บริโภคขาดการพัฒนาตนเอง หรือพัฒนาตัวไม่ทันกับอารยธรรม อย่างน้อยก็ไม่เป็นผู้บริโภคที่ฉลาด และขาดความสามารถในการแข่งขันเชิงปัญญากับผู้ผลิต

เฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่กำลังพัฒนา ถ้าไม่สามารถพัฒนาคนให้ผู้บริโภคด้วยปัญญามีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สมควร ประชาชนก็จะถูกระบบธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ผลิต ทำการมอมเมาล่อให้ตกอยู่ในกับดักแห่งค่านิยมที่เป็นทาสแห่งตัณหาของตนเอง ไม่มีพลังถอนตัวขึ้นมาจากภาวะด้อยหรือกำลังพัฒนา

ในภาวะเช่นนี้ ถ้าสังคมจะมีช่วงเวลาที่เรียกว่าเศรษฐกิจดี ก็จะเป็นเศรษฐกิจที่ดีแค่ตัวเลขที่ลวงตา ซึ่งคลุมบังความเสื่อมไว้ ให้ความอ่อนแอผุโทรมคงอยู่ได้นาน และแก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น

จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาผู้บริโภค เพื่อให้ทันกับผู้ผลิตและกระแสธุรกิจ โดยให้ผู้ผลิต เป็นเพียงผู้นำเสนอสินค้าและบริการตรงตามบทบาทที่ควรจะเป็น และผู้บริโภครู้จักใช้ปัญญาตัดสินใจด้วยวิจารณญาณ ที่จะให้การบริโภคสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่แท้จริง และผู้บริโภคยังดำรงความเป็นอิสระ อยู่ในฐานะเป็นผู้กำหนดกระบวนกิจกรรมเศรษฐกิจให้สนองจุดหมายที่แท้จริงของมนุษย์

ดังนั้น การบริโภคด้วยปัญญานี้ จึงเรียกว่าการบริโภคที่พอดี ซึ่งเป็นแกนของเศรษฐกิจแบบพอดี หรือเศรษฐกิจมัชฌิมา ซึ่งสมควรจะเป็นเศรษฐกิจของมนุษย์ที่มีการศึกษา ผู้ได้พัฒนาตนแล้ว มีอารยธรรม

พูดอีกสำนวนหนึ่งว่า การบริโภคด้วยปัญญา เป็นจุดเริ่มและเป็นแกนของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เพราะเป็นสาระของเศรษฐกิจและเป็นตัวกำหนด-ควบคุมกระบวนกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตจนถึงการโฆษณาให้คงความเป็นเศรษฐกิจที่ดีที่สร้างสรรค์

พูดอย่างรวบรัดว่า การบริโภคด้วยปัญญา เป็นตัวแท้ของสัมมาอาชีวะ ที่จะเป็นองค์ประกอบแห่งอริยมรรคาคือชีวิตที่เป็นอยู่ดี

ย้ำว่า เศรษฐกิจมัชฌิมา โดยเฉพาะในแง่บริโภคด้วยปัญญานี้ ต้องสัมพันธ์ไปด้วยกันกับการพัฒนามนุษย์ คือการศึกษา และโยงเป็นปัจจัยแก่กันกับหลักการข้ออื่นๆ ของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธนี้

๒. ไม่เบียดเบียนตน-ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

คำว่า “ตน” หรือตนเอง หมายถึงมนุษย์แต่ละคน

๑) ทั้งใน ด้านที่เป็นชีวิต ที่เป็นส่วนในธรรมชาติ

๒) ทั้งใน ด้านที่เป็นบุคคล ที่เป็นส่วนในสังคม

คำว่า “ผู้อื่น” หมายถึง

๑) หมู่มนุษย์ ที่ยกเอาตนเองเป็นส่วนพิเศษแยกออกไปต่างหาก คือนอกจากตัวเอง ได้แก่สังคมที่ตนเข้าไปอยู่ร่วมด้วย

๒) ระบบนิเวศ รวมถึงสิ่งแวดล้อม หรือโลกทั้งหมด

ความหมายในหัวข้อนี้ ชัดเจนในตัวพอสมควรแล้ว จึงไม่ต้องบรรยายมาก ควรพูดแต่เพียงว่า มนุษย์ในฐานะเป็นส่วนร่วมอยู่ในระบบสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จะอยู่ดีมีสุขได้ นอกจากไม่เบียดเบียนตนแล้ว ก็ต้องเป็นส่วนร่วมที่ดีที่เกื้อกูล ไม่ก่อความเสียหายเสื่อมโทรมแก่ระบบที่ตนอาศัยอยู่ด้วยนั้น เพราะความดำรงอยู่ด้วยดี หรือทุกข์ภัยความเดือดร้อนที่เกิดแก่ระบบนั้น ย่อมมีผลถึงตนเอง

ก่อนนี้ไม่นาน (ช่วงก่อน ค.ศ. ๑๙๗๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๑๓) เศรษฐศาสตร์เรียกได้ว่าไม่เอาใจใส่เรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เพราะถือว่าอยู่นอกขอบเขตความเกี่ยวข้องของตน

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เศรษฐศาสตร์ก็ถูกความจำเป็นบังคับให้เดินไปในทางตรงข้าม คือหันมาให้ความสำคัญอย่างมากแก่ความอยู่ดีของสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะกิจกรรมเศรษฐกิจในยุคที่ผ่านมา ได้เป็นปัจจัยตัวเอกที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ที่โลก (ทั้งโลกมนุษย์และโลกธรรมชาติ) ได้ประสบ

แต่เศรษฐศาสตร์ไม่ควรจะรอให้ถูกความจำเป็นบังคับ จึงค่อยสนใจปัญหาต่างๆ เพราะในความเป็นจริง ปัญหาต่างๆ โยงถึงกันหมด และเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในเรื่องที่เศรษฐศาสตร์ยังอาจจะไม่สนใจด้วย เช่น บทบาทของเศรษฐกิจต่อความอยู่ดีของชีวิต ที่ไม่ใช่แค่มีกินมีใช้ หรือ well-being ที่ไม่ใช่แค่ wealth หรือแค่ material well-being ในความหมายที่อาจจะมองแคบๆ

ดังเช่นปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่ให้สติขึ้นมาว่า เศรษฐศาสตร์จะต้องโยงและเชื่อมต่อตัวเองไปเกื้อหนุนระบบการดำรงอยู่ด้วยดีของมนุษย์ทั้งหมด ทั้งด้านชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม

ก่อนจะผ่านหัวข้อนี้ไป มีจุดที่ควรยกขึ้นมาพูดไว้เป็นที่สังเกตเล็กน้อยว่า คำว่า “ไม่เบียดเบียนตน” นั้น มิใช่หมายความเพียงแค่ว่า ไม่ปล่อยตัวให้อดอยากขาดแคลน แต่มีปัจจัย ๔ และเครื่องใช้สอยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เพียงพออยู่ผาสุกเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการละเว้นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นโทษต่อชีวิตของตนเอง แม้โดยไม่เจตนา และรู้ไม่เท่าถึงการณ์ เช่น การไม่รู้จักบริโภคด้วยปัญญา บริโภคไม่รู้จักประมาณ หรือไม่รู้พอดีด้วย

ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ บางคนอาจจะใช้จ่ายเงินมากมายบริโภคอาหารที่หรูหราฟุ่มเฟือยสนองความต้องการของตัวตนในทางเอร็ดอร่อย หรือค่านิยมโก้แสดงฐานะในสังคม แต่กินอาหารนั้นแล้ว ไม่สนองความต้องการของชีวิต กลับเป็นโทษ บั่นทอนสุขภาพ ทำร้ายร่างกายของตนเอง ในระยะสั้นบ้าง ระยะยาวบ้าง อย่างนี้ก็เรียกว่าเบียดเบียนตน

การไม่เบียดเบียนตนในแง่นี้ หมายถึง การบริโภคด้วยปัญญาที่สนองความต้องการของชีวิต ให้มีสุขภาพดีเป็นต้น ดังเคยกล่าวแล้ว

การเบียดเบียนตนอีกอย่างหนึ่งสำคัญมาก เพราะสัมพันธ์กับธรรมชาติของมนุษย์ และการที่จะมีชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้ของกิจกรรมเศรษฐกิจ กล่าวคือ มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกศึกษาได้ และจะมีชีวิตที่ดีงาม เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึกศึกษานั้น

มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นๆ ด้วยการฝึกศึกษาให้มีพฤติกรรม กาย วาจา ที่ประณีตงดงาม ชำนิชำนาญ ทำการได้ผลดียิ่งขึ้น จิตใจมีคุณธรรม มีสมรรถภาพเข้มแข็งมั่นคง มีความสุขสดชื่นมากขึ้น มีปัญญารู้เข้าใจความจริงของสิ่งต่างๆ สามารถสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมและผลงานรังสรรค์ทางปัญญา ตลอดจนนำชีวิตจิตใจเข้าถึงสันติสุขและอิสรภาพที่แท้จริงได้

การบริโภคปัจจัย ๔ เป็นต้น เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้มนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพที่กล่าวนี้

แต่ถ้ามนุษย์ปล่อยตัวให้ขาดแคลนสิ่งบริโภคนี้ก็ดี บริโภคด้วยโมหะ เกิดความลุ่มหลงมัวเมา จมอยู่กับการเสพบริโภคหาความสุขทางอามิส ตัดโอกาสของตนเองจากการฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพนั้น ก็ชื่อว่าเป็นการเบียดเบียนตน

ในยุคปัจจุบันนี้ สังคมมนุษย์บางส่วนมีวัตถุเสพบริโภคนับว่าพรั่งพร้อม แต่แทนที่จะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตนให้ชีวิตเข้าถึงสิ่งดีงามสุขประเสริฐสูงขึ้นไป มนุษย์จำนวนมากกลับหลงระเริงมัวเมา จมอยู่กับการเสพบริโภคอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ตกอยู่ในความประมาท ทิ้งศักยภาพแห่งชีวิตของตนให้สูญสิ้นไปเปล่าอย่างน่าเสียดาย

จึงจะต้องให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่บนฐานของเศรษฐกิจ ที่นอกจากไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ก็ไม่เบียดเบียนตนเองในความหมายที่กล่าวมานี้ด้วย

๓. เศรษฐกิจเป็นปัจจัย

การสร้างความเจริญสมัยใหม่ได้เน้นความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ มุ่งความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุหรือสิ่งเสพบริโภค ตลอดมา

จนกระทั่งถึงช่วงระยะ พ.ศ. ๒๕๓๐ จึงได้ยอมรับกันอย่างกว้างขวางชัดเจนและเป็นทางการทั่วโลก โดยประกาศขององค์การสหประชาชาติ ว่าการพัฒนาที่ได้ทำกันมานั้นเป็น การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

เป็นที่ยอมรับกันด้วยว่า การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนั้นมีสาเหตุหลักคือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาอย่างไม่สมดุล มิได้บูรณาการเข้ากับการพัฒนาคน

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ยอมรับความผิดพลาดแล้ว แต่การแก้ไขที่จริงจังตามที่ยอมรับนั้นก็ยังไม่มี การพัฒนาที่เน้นความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ อย่างขาดบูรณาการ โดยไม่สมดุล ก็ยังดำเนินต่อมา การพัฒนาที่ยั่งยืน และการพัฒนาที่สมดุลมีบูรณการ ยังเป็นเพียงคำพูดสำหรับไว้อ้างอิงหรืออวดอ้างกันต่อไป

สาเหตุที่ทำให้ยังแก้ปัญหาไม่ได้นั้น อาจพูดได้ว่า เพราะหลักการที่จะแก้ไขยังไม่ชัดเจน และไม่มีความมั่นใจในทางออก แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวเหตุที่แท้

สาเหตุใหญ่ที่แท้จริงก็คือ การแก้ไขปัญหานั้น ขัดต่อสภาพจิตใจ หรือฝืนความปรารถนาของคน

การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคที่ผ่านมา ได้สร้างความเคยชินทางจิตใจหรือจิตนิสัยขึ้นมา ให้คนมองความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือความเจริญทางเศรษฐกิจนั้น ว่าเป็นจุดหมายของชีวิตและของสังคม และฝากความหวังในความสุขไว้กับการมีสิ่งเสพบริโภคบำรุงบำเรอให้มากที่สุด

พูดง่ายๆ ว่า แนวคิดความเชื่อกระแสหลักของคนยุคนี้ คือการมองเศรษฐกิจ หรือความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นจุดหมาย

เราต้องยอมรับว่า เรื่องเศรษฐกิจหรือวัตถุเสพบริโภคนั้นมีความสำคัญและจำเป็นที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่ใช่เท่านั้น เศรษฐกิจหรือการมีวัตถุยังมีความสำคัญเหนือขึ้นไปกว่านั้นอีก

ถ้าเศรษฐกิจขัดข้อง เริ่มแต่ขาดแคลนปัจจัย ๔ มนุษย์จะไม่สามารถพัฒนาและทำการสร้างสรรค์ทางจิตใจและทางปัญญาที่สูงขึ้นไป ซึ่งเป็นสาระที่แท้จริงของวัฒนธรรมและอารยธรรม และเป็นคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์

ตรงนี้หมายความว่า เศรษฐกิจหรือความมีวัตถุเสพบริโภคพรั่งพร้อมนั้นมิใช่เป็นจุดหมายของมนุษย์ แต่เป็นปัจจัย ทั้งในแง่ที่จะให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ และที่จะให้สามารถสร้างสรรค์และเข้าถึงสิ่งดีงามประเสริฐที่สูงขึ้นไปเท่าที่มนุษย์มีศักยภาพซึ่งจะพัฒนาขึ้นไปได้

ทั้งนี้เหมือนในเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงให้จัดอาหารให้คนเลี้ยงโคผู้หิวรับประทานให้กายอิ่มก่อน เพื่อให้เขามีกำลังพร้อมที่จะฟังธรรม และก้าวสู่ความเจริญงอกงามทางจิตปัญญาสูงขึ้นไป

ถ้ามนุษย์มองเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย เขาก็จะฝากความหวังและความสุขไว้กับวัตถุเสพบริโภค พร้อมทั้งสาละวนวุ่นวายกับการแสวงหาวัตถุ ทำชีวิตและสังคมให้จมอยู่กับความลุ่มหลงหมกมุ่นในสิ่งเสพบริโภคเหล่านั้น และทวีการเบียดเบียนในโลก กลายเป็นว่าเงินสะพัดเพื่อให้ความชั่วสะพรั่ง

อย่างที่พูดแล้วในหัวข้อก่อนว่า น่าเสียดายที่คนเหล่านั้น เอาชีวิตไปติดจมอยู่เพียงแค่นั้น ไม่ได้พัฒนาศักยภาพที่เขามีอยู่ให้ก้าวขึ้นสู่คุณค่าดีงามประเสริฐที่สูงขึ้นไป ปล่อยศักยภาพที่ตนมีอยู่ให้สูญไปเสียเปล่า กลายเป็นความเจริญที่ไร้คุณภาพ

ภาวะอย่างนี้ ก็เหมือนกรณีพระเจ้ามันธาตุ ที่ว่า บุคคลโลภคนเดียวมีอายุยืนยาวออกไป วัตถุเสพบริโภคมากเท่าไรก็ไม่สามารถสนองความต้องการให้เพียงพอ

(ส่วนในกรณีของมัลธัส เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นไป วัตถุเสพบริโภคก็เพิ่มไม่ทันที่จะสนองความต้องการให้เพียงพอ)

ถ้าเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทช่วยสร้างสรรค์อารยธรรมมนุษย์ ก็จะต้องมองเศรษฐกิจหรือความเจริญทางวัตถุเป็นปัจจัย ที่จะเกื้อหนุนให้มนุษย์พร้อมหรือมีโอกาสดียิ่งขึ้นๆ ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน ให้สามารถทำการสร้างสรรค์และบรรลุถึงความเจริญงอกงามทางจิตใจและทางปัญญาที่สูงขึ้นไป อันสมกับคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตน และทำให้วัฒนธรรม-อารยธรรมงอกงามประณีตยิ่งขึ้น

เศรษฐศาสตร์อาจจะพูดตัดบทตามแบบของวิชาการในยุคแยกส่วนชำนาญพิเศษว่า การทำอย่างนั้นเกินหรืออยู่นอกขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องเพียงแค่พยายามทำให้มนุษย์มีวัตถุเสพบริโภคสนองความต้องการทางเศรษฐกิจเท่านั้น

แต่การตัดบทแยกตัวเช่นนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างจะเป็นอย่างไร ย่อมไม่พ้นอิทธิพลของชีวทัศน์และโลกทัศน์ในตัวคน และการแยกตัวเช่นนั้น ก็พ้นสมัยไปแล้ว ดังที่เศรษฐศาสตร์ได้ยอมรับเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในขอบเขตของตนด้วย

เมื่อยอมรับความสำคัญของระบบนิเวศทางฝ่ายธรรมชาติภายนอกแล้ว เศรษฐศาสตร์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องสนใจเรื่องของชีวิตต่อไป และจะต้องสัมพันธ์กับแดนส่วนอื่นของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย

การบริโภคเป็นจุดหมายปลายทางของกระบวนกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็มาเป็นจุดเริ่มของปัญหาในความสัมพันธ์กับธรรมชาติอีกฉันใด การบริโภคที่เป็นจุดจบของการสนองความต้องการให้เกิดความพอใจแก่บุคคลแล้ว ก็มาเป็นจุดเริ่มของการที่ชีวิตจะพัฒนาสู่ความงอกงามและการสร้างสรรค์ต่างๆ ฉันนั้น

เมื่อประมาณ ๖๐ ปีก่อนโน้น มีนักเศรษฐศาสตร์ไทยท่านหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือของท่านตอนหนึ่ง มีใจความว่า เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐศาสตร์ พระพุทธรูปองค์หนึ่ง กับปุ๋ยหนึ่งเข่ง ก็(มีค่า)ไม่ต่างกัน

ข้อความนี้ไม่ได้ยกมาพูดเพื่อว่ากล่าวกัน แต่ให้รู้ว่านั่นคือทัศนะในยุคที่แนวคิดแยกส่วนชำนาญพิเศษทางวิชาการกำลังเฟื่องเต็มที่ และเป็นตัวอย่างคำกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่ปลอดคุณค่า คือ value-free

ไม่ต้องพูดถึงแง่ที่ว่าในคำพูดนั้นเอง มีเรื่องของคุณค่าแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ แต่เวลานี้ต้องพูดเลยไปกว่านั้นแล้วว่า ยุคของวิทยาศาสตร์ตามแนวคิดแยกส่วนและวิทยาศาสตร์ที่มองธรรมชาติเฉพาะด้านวัตถุ กำลังจะหมดสิ้นหรือพ้นสมัย วิชาการก้าวหน้ามาถึงยุคที่มนุษย์สำนึกในการที่จะโยงความสัมพันธ์มองถึงบูรณาการ

ในการที่เศรษฐศาสตร์จะทำหน้าที่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ของเศรษฐศาสตร์เองก็ดี โดยความสอดคล้องของโอกาสแห่งยุคสมัยก็ดี สิ่งสำคัญที่จะทำเวลานี้ คงมิใช่การพยายามแสดงตนว่าปลอดคุณค่า/value-free แต่ ภารกิจสำคัญที่น่าจะทำก็คือ การแยกและโยงให้เห็นว่า สาระส่วนที่ปลอดคุณค่า จะไปโยงประสานกับส่วนที่เป็นเรื่องของคุณค่าได้อย่างไร

ที่ว่านี้มิใช่หมายความว่า เศรษฐศาสตร์จะต้องไปศึกษาทุกเรื่องทั่วไปหมดจนพร่า เศรษฐศาสตร์ก็ยังคงดำรงความเป็นศาสตร์เฉพาะสาขาหรือชำนาญพิเศษเฉพาะทางอยู่นั่นเอง

แต่หมายถึงการที่เศรษฐศาสตร์นั้นจะต้องจับจุดประสานสัมพันธ์ส่งต่อเป็นต้นให้ถูกต้อง เชื่อมโยงกับแดนด้านอื่นแห่งปัญญาของมนุษย์ โดยมีจุดหมายเพื่อร่วมกันหนุนนำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม อยู่ในสังคมที่สันติสุข และในโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย

ถ้ามนุษย์มีวัตถุพรั่งพร้อมด้วยภาวะฟูขึ้นของเศรษฐกิจแล้วลุ่มหลงมัวเมาจมอยู่แค่นั้น ปล่อยศักยภาพให้สูญไปเปล่า มีชีวิตและสังคมที่ต่ำทรามลงไป เป็นความเจริญที่ไร้คุณภาพ ซึ่งคนได้วัตถุเพื่อสูญเสียความเป็นมนุษย์ เศรษฐศาสตร์ก็จะไม่พ้นถูกเรียกอีกว่าเป็น dismal science ในความหมายซึ่งลึกกว่าที่ฝรั่งเคยเรียกแต่เดิม

แต่ถ้าเศรษฐศาสตร์ให้มนุษย์จัดการกับเศรษฐกิจอย่างเป็นปัจจัยตามนัยที่กล่าวมา เศรษฐศาสตร์ก็

- จะไม่ติดจมอยู่กับการพยายามทำให้ เศรษฐกิจพรั่งพร้อม สำหรับสนองการบำรุงบำเรอตนของบางคนบางกลุ่ม แต่

- จะมุ่งทำให้ เศรษฐกิจพอเพียง ที่จะให้ทุกคนพร้อมสำหรับการก้าวไปสร้างสรรค์ชีวิตสังคมและโลกที่ดีงามผาสุก

เศรษฐกิจที่ว่านี้ ไม่ใช่เสรีนิยมที่จมอยู่กับความลุ่มหลงมัวเมาเอาแต่ตัวจะเสพ และไม่ใช่สังคมนิยมเสมอภาคที่ฝืนใจจำยอมอยู่กับภาวะเข้มงวดกดดันอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นความพอเพียงที่จะสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่กำลังพัฒนาตนท่ามกลางความพรั่งพร้อมแห่งองค์ประกอบทุกส่วนของอารยธรรม

ถ้าเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจเป็นปัจจัยอย่างนี้ เศรษฐศาสตร์ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษย์ สมตามจุดหมายที่ควรจะเป็น และทั้งจะสมกับชื่อที่เรียกในภาษาไทยว่า เศรษฐศาสตร์ ซึ่งแปลว่า “ศาสตร์อันประเสริฐ”

๔. สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

สภาพจิตหรือแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากกับเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือความอยากได้ ที่เรียกว่า ความโลภ (greed)

นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถือว่า ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น จึงไม่เป็นความเสียหายอย่างใดที่จะให้คนทำกิจกรรมเศรษฐกิจด้วยความโลภ

ยิ่งกว่านั้น บางท่านก็เห็นว่า ควรสนับสนุนความโลภ เพราะจะเป็นเครื่องกระตุ้นเร้าให้คนขยันขันแข็ง มีการแข่งขันอย่างแรงเข้ม ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างมีพลัง เช่น เพิ่มผลผลิตได้มาก เป็นต้น

ที่ว่าความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น ก็ถูกต้อง แต่บกพร่อง คือขาดการจำแนกแยกแยะ และเป็นการมองด้านเดียว เป็นความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่เพียงพอ เป็นได้เพียงการทึกทักในทางการพูดและการคิดเห็น โดยมิได้มีการศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ยากที่จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

ข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับความบกพร่องของคำกล่าวว่า “ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์” นั้น คือ

ก) ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็จริง แต่เป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์นั้น มนุษย์ยังมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมาก รวมทั้งคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับความโลภนั้น เช่น ความมีเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตลอดจนเสียสละ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ข) บางคนมองความโลภที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เหมือนอย่างที่เห็นว่าความโลภเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายอื่นทั่วๆ ไป เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หนู หมู แมว เป็นต้น แต่ความจริงหาเหมือนกันไม่

ความอยากได้ของสัตว์อื่น (ดิรัจฉาน) เหล่านั้น เป็นไปตามสัญชาตญาณ เมื่อได้สนองความต้องการในการกิน อยู่ สืบพันธุ์ ขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จบ

แต่ความโลภของมนุษย์ มีการปรุงแต่งด้วยศักยภาพในการคิด ทำให้ขยายขอบเขต ทั้งด้านปริมาณ และขีดระดับ เช่นทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่จำกัด ดังที่ความโลภของคนคนเดียว อาจเป็นเหตุให้ฆ่าคนอื่นเป็นจำนวนล้าน อาจทำให้เกิดการทำลายล้าง ก่อความพินาศแก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติ หรือโลกนี้ อย่างคำนวณนับมิได้

ยิ่งกว่านั้น ในการที่จะสนองความโลภ มนุษย์อาจใช้ความพลิกแพลงยักเยื้องด้วยวิธีการต่างๆ ในทางทุจริตได้ซับซ้อนพิสดารอย่างที่ไม่มีในสัตว์อื่นทั้งหลาย ความโลภถ้าจัดการไม่ถูกต้อง จึงก่อปัญหาใหญ่ยิ่ง

ค) นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกับเข้าใจว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี โดยเข้าใจว่าทำให้ขยันขันแข็งอย่างที่กล่าวแล้ว เป็นต้น บางทีพาลไปนึกว่าวงการเศรษฐศาสตร์เห็นอย่างนั้น

แต่นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ ที่สำคัญ แม้แต่ในกระแสหลักเอง ก็รู้ว่าความโลภเป็นความชั่ว

ดังเช่น เคนส์ (John Maynard Keynes) มองว่าความโลภเป็นความชั่วอย่างหนึ่ง เพียงแต่มนุษย์ยังต้องอาศัยใช้ประโยชน์จากมันไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง (“อย่างน้อย อีก ๑๐๐ ปี”) โดยเขาเข้าใจว่า ความโลภ อยากได้เงินทองนี้ จะต้องมีต่อไปก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต สนองความต้องการของมนุษย์ได้เพียงพอ และทำให้มีศักยภาพที่จะกำจัดความยากไร้ให้หมดไป

[“For at least another hundred years we must pretend to ourselves and to every one that fair is foul and foul is fair; for foul is useful and fair is not. Avarice and usury and precaution must be our gods for a little longer still.” – Essays in Persuasion, ch.5, “The Future” (1931)]

(หลายคนคงบอกว่า สำหรับเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ถ้าจะรออย่างเคนส์ว่านี้ ให้เวลาอีก ๕๐๐ ปี หรือให้เศรษฐกิจโตอีก ๕๐๐ เท่า ก็ไม่มีทางขจัดความยากไร้ได้สำเร็จ)

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ๒ ข้อต่อไป ได้แก่

ง) นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น ไม่เข้าใจธรรมชาติของความโลภ ไม่รู้จักความหมายของมันจริง มองเห็นคลุมเครือและพร่ามัว เริ่มแต่ไม่รู้ว่าความต้องการ ที่เรียกว่าความอยาก มีความแตกต่างกัน แยกในระดับพื้นฐานก็มี ๒ ประเภท ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่าง

  • เด็กชาย ก. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากให้บ้านสะอาด
  • แต่เด็กชาย ข. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากได้ขนมเป็นรางวัล
  • คนในวงวิชาการคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากให้คนรู้เข้าใจเรื่องนั้น จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาหรือทำการสร้างสรรค์แก่สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • แต่คนในวงวิชาการอีกคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากได้คะแนนมาเลื่อนขั้น หรือได้ค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง

ในตัวอย่าง ๒ แบบ ๒ ข้อนี้

๑. ความอยากแบบแรก เป็นความต้องการทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการผลโดยตรงของการกระทำ

ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำโดยตรง ได้แก่ความอยากทำ (ในที่นี้หมายเอาการทำเพื่อผลที่ดี หรือทำให้ดี ที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ = ใฝ่สร้างสรรค์) ด้วยความต้องการผลของการกระทำนั้น

๒. ความอยากแบบที่สอง เป็นความต้องการได้สิ่งสำเร็จแล้วอย่างหนึ่งมาครอบครอง หรือเพื่อเสพบริโภค แต่ตนยังไม่มีสิทธิในสิ่งนั้น และมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำอะไร (อีกอย่างหนึ่งต่างหาก) จึงจะได้รับสิ่งที่ตนต้องการ

ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ (สร้างสรรค์) โดยตรง แต่ทำให้หาทางดิ้นรนขวนขวายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มา โดยเฉพาะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข ให้ต้องทำ (งานนี้) จึงจะได้ (สิ่งนั้น) เรียกว่า ความอยากได้ ซึ่งจะทำเพราะถูกกำหนดโดยเงื่อนไข เพราะไม่ต้องการผลของการกระทำนั้นโดยตรง (เช่น ไม่ต้องการความสะอาด) แต่ต้องการผลตามเงื่อนไข (เช่น อยากได้ขนมรางวัล)

ความอยากที่เรียกว่า ความโลภ หรือโลภะ นั้น ได้แก่ความอยากในข้อที่ ๒ คือ ความอยากได้

ส่วนความอยากในข้อที่ ๑ มีชื่อเรียกต่างหากว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ หมายถึงอยากทำให้เกิดผลดีอย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีจึงเรียกว่าอยากสร้างสรรค์ (รวมทั้งอยากทำให้รู้ด้วย)1

เนื่องจากความโลภเป็นเพียงความอยากได้ คนที่โลภนั้น เขามิได้อยากทำ และมิได้ต้องการผลของการกระทำนั้น เขาจะทำต่อเมื่อมี เงื่อนไข ว่า “ต้องทำจึงจะได้” ถ้าได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมจะตรงกับความต้องการมากที่สุด

ดังนั้น เมื่อต้องทำ เขาจึงทำด้วยความจำใจหรือไม่เต็มใจ คือทำด้วยความทุกข์ และไม่เต็มใจทำ ทำให้ต้องจัดตั้งระบบการบังคับควบคุม ซึ่งอาจจะซับซ้อนและฟอนเฟะ

นอกจากนั้น ถ้าหลีกเลี่ยงได้เขาจะไม่ทำ แต่จะหาทางได้โดยไม่ต้องทำ จึงเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต และการเบียดเบียนต่างๆ ในสังคมได้ทุกรูปแบบ

ในเมื่อความโลภ คือความอยากได้ (และความอยากทำที่เรียกว่า ฉันทะ) มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะเป็นตัวนำและขับดันกิจกรรมเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ถ้าเศรษฐศาสตร์จะให้เศรษฐกิจก่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ ก็จะต้องทำความรู้จักและจัดการกับมันให้ถูกต้อง ซึ่งในขั้นนี้จะสัมพันธ์กับข้อต่อไปด้วย

จ) แนวคิดตะวันตกมองธรรมชาติของมนุษย์แบบนิ่ง หรือตายตัว (static) เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันซึ่งเจริญมาตามแนวคิดตะวันตกนั้น จึงมองความโลภ และความต้องการต่างๆ เป็นแบบเดียว หรือเหมือนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป และมุ่งแต่จะสนองความต้องการในแบบหนึ่งแบบเดียวนั้นดิ่งไป

แต่ที่จริง ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ และตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด

ธรรมชาติของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และการฝึกศึกษานี้เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต พร้อมกับเป็นภารกิจของสังคม

การฝึกศึกษา เป็นหัวใจของการจัดการเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในการที่จะให้มีชีวิตที่ดี และให้สังคมมีสันติสุข เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐ และมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญงอกงามได้

โดยเฉพาะจุดที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มาก คือ เรื่องความต้องการ รวมทั้งความอยาก ๒ แบบข้างต้น ซึ่งปรับเปลี่ยนพัฒนาได้

ความต้องการนี้ เมื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนไป นอกจากทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งรวมทั้งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็เป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีกมากมาย รวมทั้งการพัฒนาความสุขด้วย

การพัฒนาคุณสมบัติเช่นว่านี้แหละ คือการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งสัมพันธ์สอดคล้องไปด้วยกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ชนิดที่เป็นปัจจัยแก่กันและกันกับการพัฒนามนุษย์ในความหมายที่ถูกต้อง

ขอยกตัวอย่างเล็กน้อย เช่นในเรื่องการทำงาน เมื่อเราพัฒนาความต้องการโดยมีฉันทะในการทำงาน หรือเปลี่ยนจากความอยากแบบโลภะ มาเป็นความอยากแบบฉันทะ ความหมายของงานและท่าทีต่องานก็เปลี่ยนไป

อยากได้ (โลภะ)

อยากทำ (ฉันทะ)

• การทำงานเป็นเงื่อนไข เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ • การทำงานเป็นการทำให้เกิดผลที่ต้องการ
• ทำงานด้วยจำใจทุกข์ รอเวลาไปหาความสุข • ทำงานเป็นความสุขเสร็จไปในตัว
• ทำงานด้วยทุกข์ เพื่อให้ได้เงินไปซื้อความสุข (วิธีอ้อม) • ทำงานเป็นความสุข ได้เงินมายิ่งเพิ่มความสุข (วิธีตรง)
• งานเป็นการตอบแทนกันในระบบผลประโยชน์ • งานเป็นการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาเพื่อชีวิตและสังคม

 

เรื่องนี้ขอพูดไว้เป็นหลักการทั่วไปก่อน ยังไม่ลงไปในรายละเอียด

แต่เพียงเท่าที่พูดมานี้ ก็บ่งชี้ถึงการปฏิบัติในการบริหารจัดการในทางเศรษฐกิจว่า ผู้บริหารเศรษฐกิจ และผู้ปกครองบ้านเมือง เริ่มต้นก็ต้องมอง และยอมรับความจริงว่า:

ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม มนุษย์ในสังคมนี้ อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง ไม่เท่ากัน มีพฤติกรรม มีสภาพจิตใจ มีปัญญาความรู้ความเข้าใจ มีความต้องการ และระดับความสามารถในการมีความสุขไม่เท่ากัน ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ปกครอง

๑. จะต้องจัดสรรเศรษฐกิจ เอื้ออำนวยบริการและสิ่งเกื้อหนุนต่างๆ ให้เหมาะกับระดับการพัฒนาที่ต่างกันของคนเหล่านั้น โดยสนองความต้องการของคนที่ต่างกันเหล่านั้น เท่าที่ไม่ก่อความเบียดเบียนเสียหาย ไม่เสียความชอบธรรม

๒. กับทั้งพร้อมกันนั้น ก็เกื้อหนุนให้ทุกคนก้าวขึ้นสู่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นไป ไม่ใช่ถอยหลังหรือย่ำอยู่กับที่

แน่นอนว่า ตามหลักการนี้ ผู้บริหารผู้ปกครองย่อมรู้เข้าใจด้วยว่า ในเวลาหนึ่งๆ นั้น คนที่พัฒนาในระดับสูงขึ้นไปมีจำนวนน้อยกว่า แต่คนที่พัฒนาในระดับต่ำมีจำนวนมากกว่า

ยกตัวอย่าง เช่นในเรื่องความโลภ ผู้บริหารย่อมรู้เข้าใจว่า ในสังคมนี้มีคนอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนน้อย ที่เป็นผู้มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ มีความอยากทำแบบฉันทะแรงเข้ม และมีความสุขอยู่กับการค้นคว้าหาความรู้แสวงปัญญา และการทำงานสร้างสรรค์

คนกลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นผู้สร้างความเจริญงอกงามแก่ชีวิตและสังคม เป็นผู้พัฒนาอารยธรรมที่แท้จริง

แต่คนส่วนมาก ซึ่งยังพัฒนาคุณภาพน้อย ยังขาดฉันทะ มีความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์น้อย มุ่งหาความสุขจากสิ่งเสพบริโภค มีโลภะคือความอยากได้เป็นแรงขับนำ ซึ่งทำให้โน้มเอียงไปในการที่จะหลีกเลี่ยงการทำ คืออยากได้โดยไม่ต้องทำ

เมื่อมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ ผู้บริหารที่ฉลาด ก็จะจัดสรรตั้งวางระบบและดำเนินการจัดการสังคม ให้สอดคล้องกับความจริงแห่งความแตกต่างกันนี้ ให้ได้ผลดี

๑. คนจำนวนมากหรือส่วนมาก อยู่ด้วยความโลภ ก็จะอยากได้ แต่ไม่อยากทำ และหาทางให้ได้โดยไม่ต้องทำ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น

ก. บนบานอ้อนวอน รอผลดลบันดาล

ข. หวังผลจากลาภลอยคอยโชค เช่นการพนัน

ค. เป็นนักขอ รอรับความช่วยเหลือหยิบยื่นให้จากผู้อื่น

ง. ทำการทุจริต หาทางให้ได้มาด้วยการหลอกลวงฉ้อฉล ตลอดจนลักขโมย

จ. ใช้อำนาจครอบงำ ข่มเหง เบียดเบียน บีบคั้นเอาจากผู้อื่น

ฉ. ดำเนินชีวิตแบบฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภค

สำหรับคนจำนวนมากที่เป็นอย่างนี้ ผู้บริหารจะดำเนินการ โดย

ก. จัดตั้งระบบเงื่อนไข เพื่อให้ทุกคนจะได้ต่อเมื่อทำ หรือต้องทำงานจึงจะได้เงิน

ข. วางมาตรการเสริมประกอบ เช่น

- จัดวางระบบตรวจสอบบังคับควบคุมลงโทษ ต่อผู้ละเมิดกติกาในระบบเงื่อนไขนั้น

- ป้องกันแก้ไขการทุจริตอย่างจริงจัง และมิให้มีการบังคับข่มเหงคุกคามกัน

- กำจัดแหล่งอบายมุข แหล่งการหลอกลวงและล่อเร้าให้คนหวังผลได้โดยไม่ต้องทำ

- ดำเนินกลวิธีต่างๆ ที่จะกระตุ้นเร้าปลุกคนให้ไม่เฉื่อยชา ไม่ตกอยู่ในความประมาท

กลไกสำคัญยิ่ง ที่จะให้ระบบเงื่อนไขนี้ดำเนินไปอย่างได้ผล คือ

๑) กฎกติกาหรือกฎหมายจะต้องศักดิ์สิทธิ์ มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ผลจริงจัง

๒) เงื่อนไขนั้นจะต้องจัดวางอย่างฉลาด เพื่อคุมและเบนความโลภ ให้เป็นเงื่อนไขให้เกิดผลงานในทางสร้างสรรค์มากที่สุด อย่างชนิดที่ว่า ถ้ายิ่งโลภ ก็ยิ่งต้องเกิดการทำงานที่เป็นเป้าหมายมากที่สุด

๒. คนที่มีฉันทะ ทำงานด้วยความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ มีความสุขด้วยการค้นคว้าหาความรู้แสวงปัญญา และทำงานสร้างสรรค์อย่างอุทิศตัว แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นกำลังสร้างสรรค์สังคมที่แท้จริง

ผู้บริหารจะต้องใส่ใจ สนใจ ค้นหาคนประเภทนี้ และส่งเสริมเกื้อหนุนอย่างจริงจัง

๓. ดังได้กล่าวแล้วว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และคนทั่วไปย่อมมีธรรมชาติแห่งศักยภาพทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้ายปะปนกันอยู่ในตัว โดยเฉพาะความอยาก หรือความต้องการ ๒ ประการนี้ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

ถ้าคนมีความอยากทำ คือฉันทะ ก็จะพัฒนาความรักงาน และนิสัยนักผลิต พร้อมทั้งความเข้มแข็ง และมีวินัย เป็นต้น

แต่ถ้าคนมีความอยากได้ คือโลภะ กันมาก สังคมก็จะประสบปัญหาจากค่านิยมเสพบริโภค ความฟุ้งเฟ้อ การทุจริต ความอ่อนแอ ความขาดระเบียบวินัย ความผิวเผินฉาบฉวย และความเสื่อมเสียทุกอย่าง

ถ้าคนขาดฉันทะ และมีโลภะกันมากแล้ว หากกฏหมายก็ยังไม่ศักดิสิทธิ์ มีระบบเงื่อนไขที่ขาดประสิทธิภาพอีกด้วย สังคมนั้นก็จะง่อนแง่นอย่างมาก

ดังนั้น รัฐหรือผู้บริหารจะต้องส่งเสริมเอื้ออำนวยโอกาสและจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษา ที่จะกระตุ้นโลภะให้เป็นปัจจัยแก่ฉันทะบ้าง ให้ลดละโลภะเพิ่มกำลังฉันทะบ้าง โดยเฉพาะส่งเสริมฉันทะ คือความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ให้แรงเข้ม และมีระบบเงื่อนไขอันรัดกุมศักดิ์สิทธิ์ ที่จะก่อเกิดผลในการพัฒนาชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

ลักษณะคืบเคลื่อนคลี่ขยาย (dynamic) ของธรรมชาติมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ผู้ศึกษาพัฒนาได้นี้ ยังมีที่ควรกล่าวถึงอีกมาก

ตัวอย่างเช่น เมื่อมนุษย์ยังหย่อนการพัฒนา ความสุขของเขาขึ้นต่อการเสพบริโภควัตถุมาก แต่มนุษย์ยิ่งมีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงขึ้นไป ความสุขของเขาก็พึ่งพาขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคน้อยลง เป็นอิสระมากขึ้น การบริหารจัดการสังคมจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์ที่เป็นเช่นนี้

ข้อที่ควรย้ำอีกอย่างหนึ่งคือ โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่มีทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ถ้าอยู่สุขสบาย มนุษย์จะมีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อยชา ลุ่มหลงระเริงมัวเมาประมาท

จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะจัดวางมาตรการกระตุ้นเร้าให้สังคมตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ซึ่งเป็นปัจจัยตัวเอกในการป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญ

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการในทางสังคม ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์

๕. บูรณาการในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ

หัวข้อนี้ มีความหมายกว้างขวางครอบคลุม แม้ยังมิใช่โอกาสที่จะอธิบายอย่างจริงจังในที่นี้ แต่เมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้องหรือโยงถึง ก็ได้พูดแทรกไว้ในหัวข้ออื่นๆ ที่ผ่านมาบ้างแล้วหลายแห่ง ในที่นี้จึงจะพูดไว้เพียงเป็นแนว

สาระสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ พุทธศาสนามองเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำรงอยู่และดำเนินไป ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ

แม้แต่เรื่องราวด้านภาวะทางจิตใจ ที่เป็นอัตวิสัย ความคิดคำนึงและจิตนาการของคน ก็ดี เรื่องราวและกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ ก็ดี ที่ปัจจุบันถือว่าไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ไม่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ และแยกออกมาศึกษาต่างหาก เป็นมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น พุทธศาสนาก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องในขอบเขตของธรรมชาตินั่นเอง เพียงแต่มีความซับซ้อนในอีกระดับหนึ่ง

ข้อสำคัญก็คือ เรื่องของคนและสังคมนั้น ในที่สุดเราจะต้องรู้เข้าใจมองเห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ที่โยงเป็นระบบอันเดียวกับธรรมชาติส่วนอื่นทั้งหมด

ถ้ารู้เข้าใจมองเห็นไม่ถึงขั้นนี้ ความรู้และวิทยาการทั้งหลายของมนุษย์ นอกจากจะเป็นศาสตร์ที่แยกส่วนจากกันแล้ว แต่ละอย่างก็จะบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ เช่นอย่างวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการศึกษาธรรมชาติด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว โดยพรากจากองค์ประกอบด้านอื่นที่อิงสัมพันธ์กับมันอยู่ ทำให้แม้แต่ความเข้าใจทางวัตถุเองก็พลอยไม่เพียงพอและไม่ชัดเจนจนบัดนี้

เมื่อพูดอย่างนี้ ก็เหมือนกับบอกให้รู้ด้วยว่า เศรษฐศาสตร์แนวพุทธมีลักษณะเป็นองค์รวม โดยบูรณาการกับสรรพวิทยาการและกิจกรรมด้านอื่นๆ ของมนุษย์ ตรงนี้จะถือเป็นคำสรุปก็ได้

จุดโยงที่ว่าเรื่องของคนและสังคมของมนุษย์รวมอยู่ในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาตินั้น ก็อยู่ที่ตัวคนนั่นเอง กล่าวคือ

มนุษย์เองนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง แต่เป็นธรรมชาติส่วนที่มีคุณสมบัติพิเศษ

คุณสมบัติพิเศษของมนุษย์นั้นมีมาก แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เจตจำนง (เจตนา) และปัญญา (บางทีบางขั้นถึงกับเรียกกันว่า ปรีชาญาณ และแม้กระทั่งเป็นโพธิญาณ แต่ก็คือปัญญานั่นแหละ) และคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ ก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้น

โลกมนุษย์หรือสังคมที่เป็นไปต่างๆ ก็มาจากคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ของมนุษย์ ที่สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยกับองค์ประกอบอย่างอื่นในระบบสัมพันธ์ทั้งหมดของธรรมชาติ

มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจธรรมชาติส่วนที่เป็นคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ของมนุษย์ และมองทะลุปัจจยาการของมันในระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติทั้งหมด แล้วศาสตร์ทั้งหลายก็จะบรรจบประสานกันได้ พร้อมกับที่การแก้ประดาปัญหาของมนุษย์จึงจะสำเร็จแท้จริง และการสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งอารยธรรมของมนุษย์จึงจะบรรลุจุดหมาย

เศรษฐกิจก็เป็นส่วนร่วมหรือเป็นองค์ร่วมอย่างหนึ่งในระบบสัมพันธ์แห่งปัจจยาการ อันเป็นองค์รวมที่ว่านั้น

ดังนั้น เศรษฐศาสตร์จะต้องหยั่งเห็นปัจจยาการของเศรษฐกิจในระบบสัมพันธ์นั้น อย่างน้อยใน ๒ ระดับ หรือ ๒ ขอบเขต คือ

๑. ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกัน ระหว่างเศรษฐกิจกับกิจกรรมและความเป็นไปด้านอื่นๆ ในสังคมมนุษย์ เช่น ค่านิยม วัฒนธรรม ศีลธรรม สุขภาวะ การเมือง การศึกษา (ที่ผ่านมา เอาใจใส่การเมืองมาก แต่มองข้ามเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่) ให้เศรษฐกิจกลมกลืนเข้าไปในวิถีชีวิตและเกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงามมีความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น

๒. ความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกันระหว่างเศรษฐกิจกับองค์ร่วมใหญ่ทั้ง ๓ แห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือ ชีวิตบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งก็คือ การที่เศรษฐกิจจะต้องเกื้อหนุนให้มนุษย์มี ชีวิตที่เป็นสุขดีงาม ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์ ในสังคมที่เกษมศานต์ อันจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้แท้จริง

เศรษฐศาสตร์จะต้องมองเห็นและสามารถช่วยเกื้อหนุนให้ระบบสัมพันธ์ในระดับต่างๆ ประสานปัจจัยทั้งหลายสู่ความพอดีที่จะบูรณาการให้เกิดภาวะแห่งจุดมุ่งหมายที่กล่าวมานั้น และนี่ก็คือหลักการสำคัญของเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นมัชฌิมา

หลักทั่วไปของเศรษฐศาสตร์มัชฌิมา ยังมีอีก เช่น การประสานให้เกื้อหนุนกัน ระหว่างความเจริญแบบปลายเปิดของสังคม กับความเจริญแบบปลายปิดของชีวิตบุคคล แต่เห็นว่าควรกล่าวไว้เท่านี้ก่อน

 

 

หมายเหตุ: บทพิเศษนี้ เป็นการเขียนสรุปรวบรัด จึงไม่ได้เน้นการแสดงหลักฐานอ้างอิง

 

1ในที่นี้ยังไม่ได้พูดถึงความต้องการ คือความจำเป็นที่พึงต้องมีต้องได้ ที่ฝรั่งเรียกว่า need
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง