เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรม และเพื่อให้ธรรมคือความจริงตามกฎธรรมชาตินั้น อำนวยผลเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ จึงทรงวางวินัยขึ้นมาเป็นกฎเกณฑ์ในหมู่มนุษย์ วินัยนั้นมีความหมายเป็นการจัดระเบียบชีวิตและการจัดระบบสังคมทั้งหมด เช่น การจัดระบบเศรษฐกิจ ในเรื่องความเป็นอยู่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ เป็นต้น จัดระบบสังคมว่าเราจะอยู่กันอย่างไร จัดระบบการบริหารการปกครอง การพิจารณาตัดสินคดี ฯลฯ นี้คือความหมายเดิมแท้ของวินัย ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางมาก
แต่ถ้ามองวินัยในความหมายของความเป็นระเบียบ เช่นว่าจะต้องเคร่งครัดในการเดินทาง ในการจราจร หรือวินัยในการอยู่ร่วมกันในหมู่คณะ ในสถาบัน ในโรงเรียน และในชั้นเรียน เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันส่วนมากในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของวินัย ซึ่งขอเรียกว่าเป็นวินัยในความหมายที่แคบ
วินัยที่แท้ ในความหมายที่กว้าง คือระบบระเบียบทั้งหมดของชีวิตและสังคมมนุษย์นั้น จะตั้งอยู่ได้ดีเป็นผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเข้าใจพื้นฐานที่กล่าวแล้ว คือต้องมองวินัยโยงลงไปถึงธรรม หรือโยงวินัยกับธรรมเข้าด้วยกันได้เป็นเบื้องแรกก่อน
การที่เราสามารถจัดวินัย (ระเบียบชีวิตและระบบสังคม) ได้สำเร็จ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มีความสามารถนี้ แต่การที่จะตั้งวินัยได้สำเร็จก็ต้องเข้าถึงธรรมก่อน คือเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วจึงสามารถมาตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่เรียกว่าวินัยได้สำเร็จและได้ผล
พระพุทธเจ้าทรงเข้าถึงความจริงของธรรมชาติคือธรรมแล้ว ทรงสามารถนำความรู้ในธรรมนั้นมาจัดตั้งวางระบบในหมู่มนุษย์ให้สำเร็จผลตามธรรมนั้น คือจัดตั้งวินัยได้ด้วย จึงได้รับพระนามว่าเป็น สัมมาสัมพุทธ ส่วนท่านที่เข้าถึงความจริง แต่ไม่สามารถจัดระบบระเบียบสังคมมนุษย์ให้คนจำนวนมากได้รับประโยชน์จากธรรมนั้นได้ ก็เป็นเพียงพระปัจเจกพุทธ เพราะฉะนั้นการจัดตั้งวินัยจึงเป็นความสามารถพิเศษอีกชั้นหนึ่ง
ตามปกติ ธรรม ท่านใช้คำว่า แสดง เพราะเป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา หน้าที่ของเราก็เป็นเพียงการแสดงไปตามที่มันเป็นจริง ถ้าบัญญัติก็หมายความว่าเอามาจัดระบบหรือวางเป็นหลักในการที่จะปฏิบัติอีกทีหนึ่ง ส่วน วินัย เป็นเรื่องของการบัญญัติ คือเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่เป็นความสามารถที่เอาความจริงตามธรรมชาตินั้นมาจัดวางให้เป็นระเบียบระบบแบบแผน เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยดีตามธรรมนั้น
การที่มนุษย์จัดวางวินัยได้ จึงเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง
ในหมู่มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว การปฏิบัติตามวินัยก็คือการเอาประโยชน์จากธรรมมาใช้ได้นั่นเอง เมื่อเราปฏิบัติตามวินัยได้อย่างดี บนพื้นฐานแห่งธรรมแล้ว ก็จะทำให้สังคมมนุษย์เป็นไปด้วยดี หลักการนี้จึงแสดงถึงความหมายหลายอย่าง ในความสัมพันธ์ระหว่างธรรมกับวินัย เช่น
๑. วินัยที่ถูกต้อง จะต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงในธรรมชาติ ถ้ามิฉะนั้นวินัย (ระบบการจัดตั้งในสังคมมนุษย์) ก็จะไม่จริงจัง ไม่ได้ผล ไม่มั่นคง
๒. วินัยต้องมีความมุ่งหมายเพื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความชอบธรรม ความเป็นธรรม ความดีงามของสังคม
ถ้าคนที่บัญญัติจัดวางสิ่งที่เรียกว่าวินัย เช่น กฎหมาย เป็นต้น ในสังคมมนุษย์ มีเจตนาไม่ดี มีน้ำใจไม่เป็นธรรม เช่น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น ก็อาจจะจัดวางกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม ไม่สอดคล้องกับธรรม คือ ไม่เป็นไปตามและไม่เป็นไปเพื่อความดีงามที่เป็นหลักความจริง หรือมีความรู้เข้าใจไม่เพียงพอ ขาดปัญญา รู้ไม่เท่าถึงหลักความจริงคือตัวธรรมในธรรมชาติ การวางกฎหมายหรือบัญญัติวินัยนั้นก็จะบกพร่อง แล้วผลที่ต้องการก็จะไม่เกิด เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร เราต้องการออกกฎหมาย เราก็ต้องเข้าถึงความจริงก่อน ต้องรู้หลักการ เข้าใจชัดว่าความถูกต้องความดีงามเป็นอย่างไร อะไรเป็นความมุ่งหมายของการออกกฎหมายนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็มีเจตนาดี มีใจเป็นธรรม ถ้ามีเจตนาจะเอาผลประโยชน์ส่วนตนขึ้นมา กฎหมายก็ยุ่งไม่เป็นธรรม คือไม่สอดคล้องกับธรรม เสียความสัมพันธ์ระหว่างวินัยกับธรรม วินัยคือการตรากฎหมายก็ไม่สัมฤทธิ์ผล
เพราะฉะนั้น การบัญญัติวินัย คือการจัดตั้งรูปแบบ วางระบบระเบียบต่างๆ ของสังคม เช่น ออกกฎหมาย จึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ
๑. มีปัญญา คือ เข้าถึงตัวธรรม รู้ความจริงในเรื่องนั้นๆ รู้ความถูกต้องดีงามที่พึงต้องการ
๒. เจตนาดี คือ เจตนาบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม มุ่งผลที่สอดคล้องตามธรรมที่รู้นั้น