วัฒนธรรมกับการพัฒนา: ปาฐกถาพิเศษ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

พระยาอนุมานราชธนกับงานทางด้านวัฒนธรรม

เป็นอันว่า ในการที่จะข้ามพ้นยุคพัฒนาที่ผิดพลาดมีปัญหาและทำการพัฒนาในแนวทางใหม่ เราจะต้องทั้งพัฒนาวัฒนธรรมและพัฒนาด้วยวัฒนธรรม เมื่อเราพัฒนาวัฒนธรรมและพัฒนาด้วยวัฒนธรรมนั้น เราก็จะมีวัฒนธรรมในการพัฒนาเกิดขึ้นด้วย แต่ก่อนที่เราจะพัฒนาวัฒนธรรมและใช้วัฒนธรรมในการพัฒนา เราก็จะต้องรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของเราให้เพียงพอ

ท่านพระยาอนุมานราชธน ได้สร้างผลงานทางด้านวัฒนธรรมไว้มากมาย มีความโดดเด่น จนกระทั่งองค์การ UNESCO ได้ประกาศยกย่องแล้ว และเราก็กำลังจัดฉลองอยู่ในบัดนี้ ผลงานของท่านนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรม แม้ว่าผลงานของท่านจะเป็นแหล่งข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ไม่ใช่ตัววัฒนธรรมเอง เพราะว่าตัววัฒนธรรมที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ชีวิตของประชาชน แต่เราก็สามารถเอาข้อมูลความรู้ความเข้าใจ จากผลงานของท่านพระยาอนุมานราชธนนี้ไปเป็นฐาน หรือจุดตั้งต้นในการศึกษาตรวจสอบ ตัววัฒนธรรมที่ชีวิตของประชาชน แล้วจากนั้นเราก็จึงเอามาปฏิบัติการในการพัฒนาต่อไป ให้สำเร็จผลตามวัตถุประสงค์

ท่านพระยาอนุมานราชธนนั้น นอกจากได้สะสมรวบรวมข้อมูล สร้างผลงานทางวัฒนธรรมไว้แล้ว ก็ยังมีข้อที่น่าสังเกต เกี่ยวกับทัศนะและลักษณะการทำงานของท่านด้วยว่า ในการทำงานทางด้านวัฒนธรรมของท่านนั้น ท่านเป็นผู้ที่ได้พยายามเชื่อมต่อสายธารแห่งวัฒนธรรม มิให้หยุดนิ่งอยู่ แต่ให้สืบต่อไปโดยไม่ขาดตอน น่าสังเกตว่า แม้ท่านจะศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอดีต แต่ท่านก็เป็นผู้ที่ไม่หลงติดอยู่ในอดีต ไม่จมอยู่ในอดีต ท่านศึกษาอดีตโดยเรียนรู้อดีตเพื่อนำอดีตมาใช้ประโยชน์ มิใช่เพื่อหลงจมอยู่ในอดีตนั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง ท่านถือและยอมรับว่าจะต้องมีสิ่งใหม่ จะต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงกันเรื่อยไป ท่านไม่คับแคบอยู่แต่เฉพาะด้านของตน แต่ยอมรับความสำคัญขององค์ความรู้และวิทยาการด้านอื่นๆ ที่จะต้องมาเชื่อมโยงประสานกันในการที่จะทำความเจริญของสังคมมนุษย์ให้สำเร็จ

พระยาอนุมานราชธนสนใจศิลปวัฒนธรรมทุกระดับ โดยเฉพาะท่านเน้นวัฒนธรรมระดับล่าง ที่เรียกว่าวัฒนธรรมชาวบ้าน หรือเรื่องพื้นบ้าน การที่ท่านทำเช่นนี้ก็คงจะเป็นเพราะว่า ท่านมุ่งจะช่วยรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้มิให้สูญหาย เพราะวัฒนธรรมระดับล่างนั้นมีโอกาสที่จะสูญหายไปได้ง่าย พูดอย่างง่ายๆ ก็ว่า พระยาอนุมานราชธนได้ช่วยรักษาสิ่งดีๆ ของเราไว้ ทำให้เมืองไทยมีของดีๆ หลายอย่างเหลือไว้อวดชาวต่างประเทศ

ในด้านชีวิตส่วนตัว ท่านก็มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างได้ ท่านมีคุณธรรมสำคัญที่พึงเน้นไว้ในที่นี้ คือความเป็นครู ได้ทราบตามประวัติว่า ท่านรักความเป็นครู ตั้งใจทำหน้าที่ของครู โดยที่มิใช่ตั้งใจเฉพาะทำงานในการสอนเท่านั้น แต่เอาใจใส่ต่อความเจริญงอกงามของศิษย์ที่มารับประโยชน์จากความเป็นครูของท่านด้วย และท่านก็ทำตัวเองให้เป็นครูที่น่าเคารพรัก ซึ่งศิษย์ก็เคารพรักท่านจริง เพราะฉะนั้น จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติของความเป็นครูที่แท้จริง และในส่วนทั่วไปก็มีชีวิตส่วนตัวที่เป็นแบบอย่างโดยอาศัยความขยันหมั่นเพียร สุจริตและไมตรีธรรม ส่วนในแง่ผลงาน สิ่งที่ท่านสั่งสมสร้างสรรค์ไว้ก็เป็นสมบัติของสังคมต่อไป ถ้าจะพูดอย่างรวบรัดที่สุดก็อาจกล่าวว่า พระยาอนุมานราชธนนั้น ชีวิตก็เป็นแบบอย่างได้ ผลงานก็กลายเป็นสมบัติของสังคม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ในการสร้างผลงานทางวัฒนธรรมนั้น ตัวท่านเองก็ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมหรือมีวัฒนธรรมด้วย

โดยเฉพาะในยุคที่ผ่านมา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ละเลย ทอดทิ้งวัฒนธรรมของตน เป็นช่วงที่มรดกที่ดีงามล้ำค่ามีโอกาสสูญหายไปได้มาก พระยาอนุมานราชธนได้ช่วยเก็บรักษา รวบรวมข้อมูลความรู้นี้ไว้ให้เรา แม้สมมติว่าท่านทำไว้เพียงเท่านี้ ก็ยังเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่งยวดอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณธรรมและงานอื่นที่ท่านได้กระทำ

อย่างน้อย พระยาอนุมานราชธนก็ได้ช่วยรักษาวัฒนธรรมส่วนหนึ่งไว้ให้แล้ว ต่อนี้ไปก็อยู่ที่เราจะเอาไปใช้อย่างไร โดยเฉพาะในการเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา ที่จะมีการพัฒนาด้วยจิตสำนึกแบบใหม่ ซึ่งจะใช้วัฒนธรรมเป็นองค์ร่วม หรือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น อันสหประชาชาติได้ตกลงประกาศไว้ว่าจะเริ่มจากปีนี้เป็นต้นไป ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนั้น นั่นแหละคือการฉลอง ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธนที่แท้จริง คือการทำให้ชีวิตและงานของท่านยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ยืนนาน ด้วยการทำให้ชีวิตและผลงานของ ท่านมีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป และการกระทำเช่นนี้แล ก็คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติบูชา ที่พระพุทธศาสนานิยมสรรเสริญว่าเป็นการบูชาอันสูงสุด ก็ขอให้ความมุ่งหวังดังที่กล่าวมานี้จงสัมฤทธิ์ผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชาวโลกสืบไป ตลอดกาลนาน

ขอถวายพระพร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง