การศึกษาฉบับง่าย-Education Made Easy

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สอนเด็กให้ได้ครบไตรสิกขา

ฉะนั้นในเวลาที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายนั้น จึงมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ครบหมด คือ

๑) มีด้านพฤติกรรม ซึ่งถ้าจะพูดให้เต็มความหมายยังไม่รู้จะใช้ศัพท์อะไรดี เคยลองใช้คำหนึ่งไปพลางก่อนว่า “พฤติสัมพันธ์” ซึ่งไม่ใช่แค่พฤติกรรม แต่กว้างกว่านั้น ซึ่งจะต้องหาดูว่าใช้ศัพท์อะไรจึงจะดี ด้านนี้เรียกเป็นภาษาพระว่า “ศีล” คือสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งหมด

๒) เบื้องหลังศีลก็มี “จิตใจ” คือมีสภาพจิตใจ ซึ่งมีเจตนาหรือเจตจำนงเป็นตัวนำที่จะกำหนดให้เราสัมพันธ์อย่างไร

๓) แล้วอีกด้านหนึ่งเหนือขึ้นไป เราจะสัมพันธ์ได้แค่ไหน อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตาม “ปัญญา” เริ่มจากความคิดเห็น ความรู้ความเข้าใจเท่าที่มีและยึดถือไว้

สามอย่างนี้มีตลอดเวลาแยกกันไม่ได้ การพูดแยกกันเป็นการพูดในขั้นหยาบๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า เมื่อเราทำกิจกรรมอะไรก็ตามสักอย่างหนึ่ง แต่ละคนสามารถพิจารณา หรือถ้าทำกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มก็สามารถพิจารณาก่อนทำก็ได้ หรือตรวจสอบหลังทำก็ได้ ว่าการศึกษา ๓ ด้านของเราเป็นอย่างไร

ก่อนทำ ก็คิดดู หรือตรวจดู ว่ากิจกรรมที่เรากำลังจะทำอยู่นี้

• ด้านที่ ๑ คือ ด้านความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ได้แก่ด้านศีล ดูว่ากิจกรรมการกระทำหรือพฤติกรรมของเรานี้จะเป็นการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร ทำอะไรให้เสียหายหรือเปล่า หรือเป็นไปในทางส่งเสริมเกื้อกูล ช่วยเหลือกัน อย่างน้อยก็ไม่ก่อให้เกิดโทษ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน หรือทำอะไรให้เสียหาย

• ด้านที่ ๒ คือ ด้านจิตใจ ก็ดูว่า สภาพจิตของเรา ที่กำลังทำอยู่หรือกำลังจะทำกิจกรรมอันนี้ เราทำด้วยเจตนาอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร มีแรงจูงใจอะไร มีความหวังดี ปรารถนาดี อยากจะช่วยเหลือเกื้อกูลหรือคิดร้าย มีจิตใจที่ชื่นบานแจ่มใสหรือขุ่นมัว มีความสุขหรือความทุกข์ เป็นต้น

• ด้านที่ ๓ คือ ด้านปัญญา หรือด้านความรู้ความเข้าใจ ก็ตรวจดูว่า เรารู้เข้าใจสิ่งที่เรากระทำนี้ชัดเจนดีหรือไม่ เป็นการกระทำที่ตรงตามเหตุปัจจัย จะก่อให้เกิดผลที่เราต้องการได้ครบถ้วนกระบวนการหรือไม่ ทำไปแล้วจะเกิดผลดี – ผลเสียอะไรบ้าง เป็นต้น

ทุกกิจกรรมเราสามารถพิจารณาทั้ง ๓ ด้านครบเลย อย่างนักเรียนจะทำอะไรสักอย่าง คุณครูหรือหัวหน้าก็บอกว่า เออ ! เรายอมเสียเวลานิดหนึ่ง มาช่วยกันคิดว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี่ เอามาตรวจดูกับชีวิตของเรา ๓ ด้าน ว่าเป็นไปด้วยดีไหม ว่าในด้านความสัมพันธ์ก็ดีนะ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่เป็นโทษ แต่ก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล ด้านจิตใจของเราก็ดี ด้านปัญญาเราก็ทำด้วยความรู้ความเข้าใจและคิดพิจารณา พอตรวจสอบชัดเจนแล้ว สิกขาครบสามด้าน…ก็ทำด้วยความมั่นใจเลย

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง