ทีนี้ เรามานึกดูถึงความสำเร็จของคนทั้งหลายในโลก เป็นธรรมดาว่า ความสำเร็จในการสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์สังคม และทำสิ่งดีงามต่างๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บรรลุผลได้ง่ายดาย คนจะต้องมีความเพียรพยายาม ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องมีความอดทน ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ มากมาย และต้องดิ้นรนฝึกฝนตัวเอง รวมแล้วก็คือต้องพัฒนาคน
เมื่อพูดถึงความสำเร็จของแต่ละคน คนนั้นก็คือตัวเอง หมายความว่าต้องพัฒนาตน ถ้าเป็นสังคม ก็ต้องช่วยกันพัฒนาคนทั้งหลาย ที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมนั้น ให้เป็นคนที่เข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ใจสู้ เป็นต้น จึงจะสร้างความสำเร็จได้
ถ้าใช้หลักธรรมง่ายๆ เราก็บอกว่า อิทธิบาท ๔ ไงล่ะ ต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันนี้ก็ยิ่งชัด ไม่ว่าจะพูดสำนวนไหนอย่างไร ก็คือต้องมีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น แน่วแน่ จริงจัง ซึ่งหมายถึงว่าต้องมีปัญญาเข้มด้วย
ในเมื่อผลที่หมาย ความเจริญงอกงาม ความดี ความเลิศประเสริฐสุดของมนุษย์ก็ตาม ความดีงามของสังคมก็ตาม สันติสุขของโลกก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ ล้วนเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยความเพียรพยายาม การสร้างสรรค์ด้วยเรี่ยวแรงความเข้มแข็งอย่างนี้ เราจึงต้องพยายามชักชวนกัน ในการที่จะพัฒนาตัวเอง ให้มีคุณธรรมความดี ความเข้มแข็ง ความขยันอดทน
ตั้งต้นแต่ในครอบครัว พ่อแม่ก็จะต้องอบรมเลี้ยงดูลูกของตนให้เป็นคนมีจิตใจใฝ่ในความดีงาม รักความรู้ รักการสร้างสรรค์ มีจิตใจเข้มแข็ง ขยันหมั่นเพียร ไม่ใจเสาะเปราะบาง ไม่เหยาะแหยะหยิบโหย่ง เป็นต้น
กว้างออกไปในสังคม เราจึงต้องมีการจัดการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาตน ตลอดจนผู้คนทั่วไป คือประชาชนทั้งหมด ก็ต้องให้มีคุณสมบัติและให้มีคุณธรรมเหล่านี้
ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องนี้จะต้องพัฒนากันขึ้นไปถึงระดับผู้นำประเทศ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองเลยทีเดียว เพราะผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น จะต้องมานำประชาชนให้เกิดเรี่ยวแรงกำลังกาย-ใจ-ปัญญา-สามัคคี ในการสร้างสรรค์
ตัวผู้ปกครองที่จะนับได้ว่าเป็นผู้นำมีความสามารถ ก็คือผู้ที่มาเป็นศูนย์รวมประสานใจ ช่วยชักชวน ชักจูง กระตุ้นเร้าจิตใจของคนร่วมชาติ ให้ใฝ่ในการสร้างสรรค์ความดีงาม ให้มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรพยายามไม่ระย่อท้อถอย ให้มุ่งมั่นที่จะช่วยกันพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม มีปัญญาหยั่งรู้มองกว้างคิดไกล สามารถชี้แนะนำทางว่ามีอะไรดีงามที่ชีวิตและสังคมควรจะได้ควรจะถึง ให้ตระหนักว่าสังคมของเรามีอะไรเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข มีอะไรที่จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ แล้วพากันบุกฝ่าไป
ถ้าผู้นำท่านใดมีความสามารถนี้ มาช่วยกระตุ้นเร้าให้คนในชาติมีแนวคิด มีทิศทาง มีกำลังใจ และมีเรี่ยวแรงที่จะสร้างสรรค์ทำความดี รวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ประเทศชาตินั้นก็จะเจริญงอกงามเข้มแข็ง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดให้สั้น หน้าที่ของผู้นำก็คือ ต้องคอยกระตุ้นเร้าชักจูงประชาชนให้ไม่ประมาท
ไม่ประมาท ก็คือ ไม่หลงระเริง ไม่อ่อนแอ ไม่มัวเมา ไม่ปล่อยปละทิ้งโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ ไม่มองข้ามละเลยที่จะแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม ไม่มัวขลุกขลุ่ยจมอยู่กับสิ่งเสพบำเรอบันเทิงต่างๆ ที่จะยั่วยวนล่อเร้าให้ไหลลงไปในทางเสื่อม หรือทำให้ล่าช้า รวมแล้วก็คือที่จะทำให้ประมาท
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นพระราชา สิ่งสำคัญก็คือ
๑. พระองค์ต้องมีกัลยาณมิตร และ
๒. (พระองค์ผู้มีกัลยาณมิตรนั้น) จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท
การอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยมีกัลยาณมิตรนั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องมีข้าราชบริพาร มนตรี คนที่มารับใช้ร่วมงาน ผู้สนองงานต่างๆ ตลอดจนที่ปรึกษา ที่เป็นคนดี มีความรู้ มีความดีงาม มีคุณธรรม มีความสามารถ ใฝ่ดี ต้องการจะสร้างสรรค์ประเทศชาติสังคมให้ดี ไม่ละโมบทุจริต ไม่คิดหลอกลวงมุ่งหาแต่ลาภ แล้วก็ให้คำแนะนำอะไรต่างๆ ที่ดีงามแยบคาย
ถ้าผู้นำทำได้อย่างนี้ ก็จะมีประชาชนเป็นกัลยาณมิตรด้วย ประชาชนก็จะมีจิตใจใฝ่ดี มีความรักความสามัคคี มีจิตใจร่วมกัน และมีไมตรีจิตต่อผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน แต่ผู้นำนี่แหละต้องทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตรก่อน เพราะเป็นผู้นำที่จะชักจูงเขาไปในทางที่ถูกต้องดีงาม
ถ้านำถูกทางอย่างนี้ สังคมก็จะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางที่ดีงาม มีเอกภาพของผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ก็จะรวมกำลังกันได้เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรค แก้ไขปัญหา และนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญงอกงามได้แน่ หลักการนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์ประเทศชาติ
คุณธรรมของผู้ปกครองนั้นมีเยอะแยะ มีภาวะผู้นำด้านต่างๆ มากมาย แต่ในที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสย้ำว่า ผู้นำต้องมีกัลยาณมิตร ถ้าเพื่อนพ้องบริวารผู้บริหารบ้านเมืองด้วยกัน ตลอดจนผู้ทำงานรับราชการทั้งหลาย ไม่เป็นกัลยาณมิตร เป็นคนทุจริต ไม่ซื่อตรง ประมาท มัวเมา หลงอามิส ไม่มีคุณธรรม ก็เป็นจุดอ่อนร้ายแรงที่สุด
เมื่อมีคนเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ก็ต้องไม่ประมาทในทุกภารกิจและเหตุการณ์ด้วย
เมื่อผู้นำไม่ประมาท ก็จะรักษาและขยายวงกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าผู้นำประมาทเสีย นอกจากตัวเองประมาทแล้วก็จะพาให้ผู้อื่นประมาทด้วย กัลยาณมิตรที่ไม่มั่นก็จะผันแปรไปกลายเป็นปาปมิตร เลยไปกันใหญ่ จะหายนะกันทั่วทั้งสังคม เพราะฉะนั้นจะต้องพยายามถือหลักนี้ให้มั่น
พระพุทธเจ้าทรงให้หลักนี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ในที่สุดแล้ว คุณสมบัติของผู้นำจะมีอะไรก็ตาม ต้องมี ๒ ข้อนี้ด้วย เป็นตัวคุมและเป็นหลักประกันไว้ คือ ต้องมีกัลยาณมิตร และต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา
แล้วก็อย่างที่ว่า ไม่ใช่ไม่ประมาทเฉพาะตนเองเท่านั้น ต้องชักชวนกระตุ้นเร้าคนข้างเคียงและประชาชนให้ไม่ประมาทด้วย แต่เมื่อตนเองไม่ประมาทแล้ว ก็ง่ายที่จะทำให้ประชาชนไม่ประมาทด้วย มักไปด้วยกัน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องย้ำไว้
ผู้นำที่มีความสามารถจริงอย่างนี้ จะน่าชื่นชมมาก ทำอย่างไรเราจึงจะมีผู้นำที่คอยกระตุ้นเตือนชักนำประชาชนให้ไม่ประมาท ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาหมกจมอยู่กับความมักง่ายใต้กองเหยื่อล่อ แต่คอยปลุกเร้าให้สังคมเข้มแข็งที่จะก้าวไปในทางของการสร้างสรรค์ ไม่ระย่อในการสู้หน้าแก้ปัญหา และมุ่งมั่นในการทำสิ่งดีงามให้เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไป
เรื่องของสังคมประเทศชาติทั้งหลาย ที่มีความเป็นไปต่างๆ นั้น มีเหตุปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ซับซ้อนหลายชั้น เช่น ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกสังคมนั้น ก็มีทั้งปัจจัยข้างในและปัจจัยข้างนอกจิตใจของบุคคลเป็นตัวบีบคั้นขับดัน
กรณีตรงข้ามกับที่พูดข้างต้น มีมาแต่สมัยโบราณนานนักหนาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เป็นธรรมดาว่า ในการปกครองก็มีประเทศของเราและประเทศของเขา มีประเทศที่เป็นฝ่ายของตัวและประเทศที่เป็นฝ่ายศัตรู มีรัฐอื่นภายนอกทั้งใกล้และไกล แล้วก็มีปัญหาในการขัดแย้งกระทบกระทั่งกัน มีการแข่งขันแย่งชิงอำนาจ รบราฆ่าฟันทำสงครามกันบ่อยๆ
เพราะฉะนั้น ความคิดทางรัฐศาสตร์แต่ไหนแต่ไรมาจึงมุ่งให้เราได้ ให้เราเหนือเขา ให้เราชนะ และหาทางว่า ถ้าเป็นฝ่ายอื่นพวกอื่น เราไม่ต้องการให้เจริญงอกงาม เราก็ไปทำให้ประมาทเสีย
อย่างเรื่องสงครามภารตะ ในกาพย์มหาภารตะ ที่เล่าเรื่องราวเหตุการณ์สมัยประมาณ ๘๐๐ ปีก่อนพุทธกาล (แต่วรรณกรรมที่แต่งเป็นมหากาพย์ ซึ่งเล่าเรื่องนี้ เกิดหลังพุทธกาลราว ๒๐๐–๙๐๐ ปี) แม้จะมีความคิดคำนึงทางธรรมที่เรียกว่าเป็นปรัชญาไม่น้อย แต่พูดรวมๆ ว่า พวกวรรณคดีในยุคที่ถือว่าเป็นเรื่องราวก่อนพุทธกาลนี้ แสดงหลักรัฐศาสตร์การปกครองแบบที่ว่า ต่างฝ่ายก็จะแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน ต่างก็มุ่งหมายความยิ่งใหญ่ของตน
เพราะฉะนั้น หลักการทั่วไปก็คือ รัฐทั้งหลายจะสร้างความยิ่งใหญ่ของตน บนความย่อยยับของรัฐอื่น เป็นอย่างนั้นเรื่อยตลอดมา ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองจะต้องพยายามให้รัฐอื่นอ่อนแอ
อย่างตำราการปกครองสมัยโบราณยุคปู่พระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งมีพราหมณ์จาณักยะเป็นมหาเสนาบดีหรือปุโรหิต จาณักยะที่เรียกได้ว่าเป็นผู้สร้างพระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นมานี้ ได้แต่งตำรารัฐศาสตร์สำคัญเรียกว่า อรรถศาสตร์ ว่าด้วยหลักการปกครองซึ่งใช้กันมาในอินเดียโดยตลอด
อรรถศาสตร์สอนวิธีการให้กษัตริย์แสวงหาความยิ่งใหญ่ บอกกลวิธีว่าจะขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่มีอำนาจสูงสุดได้อย่างไร จะสร้างรัฐของตนให้ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร
ความคิดในทางรัฐศาสตร์โดยทั่วไปก็จะเป็นอย่างนี้ คือว่าพระราชาซึ่งเป็นผู้ปกครองที่ดีนั้น มีความปรารถนาดีต่อประชาชนในรัฐของตน แต่ว่าแค่ของตัวนะ สำหรับรัฐอื่นฉันพร้อมที่จะห้ำหั่นเต็มที่
เพราะฉะนั้น ก็จะมีวิธีการที่ว่าทำอย่างไรจะให้รัฐอื่นจมอยู่ในความอ่อนแอ เช่นว่า รัฐทั้งหลายที่อยู่ใกล้เคียง ถ้าเก่งขึ้นมา อาจเป็นอันตรายต่อเรา เราก็หาทางให้เขาขัดแย้งกันไว้ เมื่อเขาขัดแย้งกัน เราก็สบาย นอกจากว่าเมื่อเขามัวยุ่งกันอยู่ จะไม่มายุ่งกับเราแล้ว เขายังมาพึ่งหรือหวังพึ่งเราด้วย เพราะว่าทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อขัดแย้งกันแล้ว ก็ต้องหาพวก เราก็ยิ่งสบาย เข้าทางโน้นที เข้าทางนี้ที
ถ้าไม่อย่างนั้น ก็อาจจะใช้วิธีการต่างๆ ในการปลุกปั่นยุแหย่หรือล่อหลอกมอมเมา ที่จะทำให้ประชาชนของรัฐอื่นอ่อนแอ จมอยู่ในความวุ่นวายกันเองหรือมัวเมาประมาทเสีย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็อาจจะยังมีการใช้กันอยู่ก็ได้
ดังที่ได้รู้เห็นกันว่า ถอยหลังไปสมัยอาณานิคม ญาติโยมเก่าๆ ก็คงจำได้อยู่ว่า อังกฤษก็ปกครองอาณานิคม ฝรั่งเศสก็ปกครองอาณานิคม ซึ่งก็อยู่แถวๆ นี้ ใกล้ๆ รอบๆ เมืองไทยนี่เอง
เราจะได้ยินว่า อังกฤษนั้นเน้นวิธีปกครองอาณานิคมแบบที่ฝรั่งเรียกว่า “divide and rule” คือ แบ่งแยกแล้วปกครอง หมายความว่า ประเทศอาณานิคมหรือเมืองขึ้นทั้งหลายนี้ เขาจะต้องทำให้ประชาชนหรือคนภายใน ตั้งแต่ผู้บริหารประเทศที่เป็นเมืองขึ้นแตกแยกกัน เมื่อแตกแยกกันแล้ว พวกนี้ก็จะยุ่งนัวเนียกันอยู่ข้างใน ไม่มาคิดกู้เอกราช หรือจะไม่มาคิดแข็งขืนต่อผู้ปกครอง
เป็นอันว่า อังกฤษใช้วิธีปกครองแบบนี้จนเป็นที่รู้กัน เรียกว่า “divide and rule” ให้คนข้างในประเทศแตกกันเสีย แล้วเขาก็ปกครองได้สะดวก
ทีนี้ฝรั่งเศส เราก็ว่าไปตามที่รู้กันมาว่า ฝรั่งเศสนั้นใช้วิธีทำให้ประชาชนมัวเมา เพลิดเพลิน เช่น ปล่อยตามใจหรือมอมเมา ให้ชาวเมืองขึ้นได้เล่นการพนัน ได้ดื่มสุรากันให้สบาย พอสนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา ก็ติดจม ปวกเปียกป้อแป้ ไม่ใส่ใจที่จะมาแข็งขืนหรือคิดการอะไร
ที่จริง เรื่องแบบนี้เป็นวิธีการปกครองที่มีมาแต่โบราณ อย่างในมหาภารตะที่พูดถึงเมื่อกี้ ก็แสดงวิธีการอย่างนี้ เช่นว่า เมื่อไปรบชนะประเทศอื่นแล้ว พวกประชาราษฎรของเขาย่อมมีความเคียดแค้นต่อประเทศที่ไปตีไปฆ่าเขา เพราะพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรของเขาต้องตายกันไปมากมาย เขาก็มีวิธีการอย่างหนึ่งว่า ไปสนับสนุนส่งเสริมมหรสพและการละเล่นบันเทิงต่างๆ ให้แพร่หลายทั่วไป ไปเอาอกเอาใจแบบนี้ให้เขาชอบ
พวกราษฎรเหล่านั้นก็ไปลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมากับการสนุกสนานกินเหล้าเมายากัน เลยลืมความแค้น หรือสนุกจนหายแค้นไปเลย บางทียังกลับมานิยมชมชอบฝ่ายประเทศผู้ปกครองที่มาเอาใจด้วยซ้ำ
แม้แต่ในประเทศของตนเอง ถ้าผู้ปกครองใช้วิธีที่จะทำให้ประชาชนเพลิดเพลินหลงระเริงมัวเมาประมาท ก็ไม่สามารถจะพ้นจากการถูกระแวง เพราะว่าคนที่รู้หลักรัฐศาสตร์มาแต่โบราณ เขาก็จะคิดสงสัยได้ว่า ท่านผู้นี้มีเจตนาอะไร มุ่งอะไรกันแน่ คิดจะเอาอย่างไรกับราษฎร จะเอาราษฎรมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของตัวหรือเปล่า หรือจะทำให้จมอยู่กับเรื่องเหล่านี้จนลืมคิดอะไรสักอย่าง
แต่รวมแล้ว ในที่สุด ผลร้ายก็มาตกที่ส่วนรวมทั้งสังคม คือ ประชาชนจะประมาท ไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ ไม่มีกำลังและไม่ใส่ใจที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศชาติ แม้แต่ชีวิตของแต่ละคน ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นทั้งหลาย ก็จะกะปลกกะเปลี้ยไปหมด
แม้แต่อุดมการณ์ใหญ่ๆ และลัทธิศาสนาเป็นอันมาก ที่มองอะไรกว้างออกไป ก็เข้ามากำกับการเมืองการปกครองและเรื่องของสังคม ในลักษณะที่เป็นการแบ่งแยกพวกฝ่าย แล้วก็กลายเป็นต้นเหตุของการบีบคั้นห้ำหั่นเบียดเบียนไปเสียเอง แต่เรื่องนี้ยาวมาก ต้องข้ามไปก่อน
เป็นอันว่า เรื่องสำคัญในการที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ก็คือข้อที่ว่า ทำอย่างไรเราจะช่วยกันทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ในการสร้างสรรค์ โดยไม่ประมาท ถ้าทำได้อย่างนี้ นั่นคือความสำเร็จของผู้นำ ที่ควรแก่การยกย่องอย่างแท้จริง
ผู้นำต้องมีความสามารถแบบนี้ คือ สามารถกระตุ้นเร้าให้คนร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจที่จะทำการอะไรต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความสามัคคี และก็จะมีความนิยมต่อผู้ปกครองไปด้วย
แต่ทีนี้จะกระตุ้นด้วยอะไร อาจจะกระตุ้นด้วยโลภะ คือความอยากได้ ให้ยุ่งกับเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอามิสสิ่งเสพบำเรอ อาจจะกระตุ้นด้วยโมหะ ให้ติดเพลินหลงระเริงมัวเมา หรือบางทีกระตุ้นด้วยโทสะ
ในการกระตุ้นด้วยโทสะ เขาเอาประเทศอื่นหรือศัตรูเป็นเป้า แล้วก็ปลุกระดม ทำให้เคียดแค้นเกลียดชังต่อพวกนั้น ยิ่งแค้นเขา ก็ยิ่งมารักเรา แล้วก็เกิดกำลัง ทำให้มาร่วมด้วย
เหมือนอย่างฮิตเลอร์ ท่านผู้นี้ก็ใช้วิธีเอาความแค้นของชาวเยอรมันมาเป็นจุดปลุกระดม คือว่า ชาวเยอรมันหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว มีความโกรธแค้นต่อพวกประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามแล้วทำสัญญาที่กดขี่พวกเขา จุดนี้เป็นปมแห่งความเคียดแค้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พอฮิตเลอร์หยิบเอาจุดเหล่านี้ขึ้นมาปลุกระดม ชาวเยอรมันก็ยิ่งเคียดแค้นและมีกำลังร่วมสามัคคีอย่างเต็มที่ เลยเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นมา นั่นก็คือ กระตุ้นด้วยโทสะ
มนุษย์ทั่วไปก็กระตุ้นกันด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ด้วยตัณหาบ้าง ด้วยมานะ ความต้องการยิ่งใหญ่บ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้
พระพุทธศาสนาต้องการให้กระตุ้นเร้าชักชวนกันด้วยปัญญา ด้วยคุณธรรมความใฝ่ปรารถนาดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากอยู่ หลักรัฐศาสตร์ของพระพุทธศาสนาจึงขยายพ้นขอบเขตผลประโยชน์และอำนาจของรัฐ ออกไปถึงประโยชน์สุขของทั้งโลก
รัฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นอย่างที่ว่าข้างต้นนั้นมาโดยตลอด พราหมณ์จาณักยะที่พูดถึงเมื่อกี้นี้ มีอีกชื่อหนึ่ง เรียกว่า เกาฏิลยะ ซึ่งแปลว่า คนเจ้าเล่ห์นั่นเอง เพราะว่าท่านใช้วิธีที่ว่านี้
สำหรับบ้านเมืองของท่าน ท่านตั้งระบบการบริหารอย่างดี หมายความว่า มุ่งหมายให้ราษฎรของตัวเองอยู่ดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ในรัฐที่เข้มแข็ง แต่สำหรับประเทศอื่น ก็ไปทำให้เขาอ่อนแออย่างที่พูดเมื่อกี้ คือ สร้างความยิ่งใหญ่แห่งรัฐของตน บนความย่อยยับของรัฐอื่น
ทางตะวันตกก็เหมือนกัน อย่างรัฐบุรุษอิตาลีที่เป็นนักคิดนักทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากของฝรั่ง ชื่อแมคคีอาเวลลี่ (Niccolò Machiavelli) ก็สอนระบบที่เรียกว่าเจ้าเล่ห์เจ้ากล ในการแสวงความยิ่งใหญ่ ด้วยการกำจัดฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะกำจัดได้อย่างไร เอาทั้งนั้น ไม่ถือเป็นการเสียคุณธรรม
มีคนเทียบว่า จาณักยะเป็นแมคคีอาเวลลี่แห่งชมพูทวีป แต่ที่จริงไม่น่าจะเรียกอย่างนั้น เพราะว่าจาณักยะเก่ากว่าเยอะ จาณักยะนี่ นับตั้งแต่พระเจ้าจันทรคุปต์ขึ้นครองราชย์ ก็ พ.ศ. ๑๖๓ แต่แมคคีอาเวลลี่เพิ่งตายเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๐ (ค.ศ. 1527) หมายความว่า แมคคีอาเวลลี่หลังจาณักยะเกือบ ๒๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้น จะเรียกจาณักยะเป็นแมคคีอาเวลลี่แห่งชมพูทวีป คงไม่ถูก ต้องเรียกแมคคีอาเวลลี่เป็นจาณักยะแห่งตะวันตก หรือแห่งยุโรปจึงจะได้
แต่รวมความว่า ทั้งจาณักยะและแมคคีอาเวลลี่มีความคิดทำนองเดียวกันนี้ คือต้องทำลายศัตรู ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดถือกันมา จนกระทั่งเกิดพระพุทธศาสนา แล้วก็เกิดพระเจ้าอโศก ที่นำหลักพระพุทธศาสนามาใช้ ว่าทำอย่างไร เราจะไม่ใช่มีรัฐศาสตร์เพียงเพื่อชาติ แต่มีรัฐศาสตร์เพื่อโลก
การเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามองได้กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงในแง่ของธรรมะที่เราเอามาใช้ปฏิบัติในวัดเท่านั้น แต่กินความกว้างทั่วไปหมด ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่ควรจะเป็นและต้องเป็นอย่างนั้น เพราะคุณธรรมความดี และสติปัญญาอะไรทุกอย่าง เป็นคุณสมบัติที่ต้องใช้ทุกที่ทุกกาล ปรับขยายไปใช้ได้ทุกระดับ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตใจและปัญญาพัฒนาต่อมา รัฐศาสตร์เพื่อชาติก็กลายเป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก
หลักความคิดนี้จะเห็นได้แม้แต่ในชาดก ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงนิทานสำหรับสอนเด็ก ถ้าพูดอย่างภาษาคนสมัยนี้ ก็เรียกว่า มีปรัชญาการปกครอง มีปรัชญาในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น อยู่ในชาดกนั้นเยอะไปหมด
ชาดกแทนที่จะสอนว่า ทำอย่างไรจะทำลายศัตรูได้ จะแก้แค้นเขาให้สำเร็จได้อย่างไร กลับสอนเรื่องเหล่านี้ว่า ทำอย่างไร ประเทศต่างๆ รัฐต่างๆ จะอยู่กันด้วยดีโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นี่คือก้าวใหม่ ซึ่งแปลกมากจากระบบความคิดทางการปกครองในสมัยโบราณ
ที่จริง ความคิดทางการปกครองเดี๋ยวนี้ก็ยังโบราณอยู่ ยังไม่ค่อยไปไหน ก็ยังคิดแต่ว่า จะเอาอย่างไรให้ฉันรักษาผลประโยชน์ของฉันได้ จะทำลายฝ่ายศัตรูได้ คิดกันแต่อย่างนี้เท่านั้น แล้วอย่างนี้จะไปสร้างสันติสุขให้แก่โลกได้อย่างไร
มนุษย์ต้องมีความคิดที่จะก้าวต่อไป ต้องข้ามพ้นความคับแคบ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักขึ้นมา ให้ไม่คิดแค่ว่าจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่รัฐของตน แล้วก็ทำให้รัฐอื่นต้องแตกสลายย่อยยับไป แต่ทำอย่างไรจะอยู่ดีด้วยกัน ให้ประโยชน์ของเราเป็นส่วนร่วมที่แผ่กระจายไปยังโลก ที่มีรัฐต่างๆ และมีมนุษย์เหมือนอย่างเราพวกอื่นๆ มากมายอยู่ร่วมกัน
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้นำหลักธรรมนี้มาใช้จริงจัง ในหลักแห่งนโยบายที่เรียกว่า ธรรมวิชัย คือแทนที่จะชนะด้วยศาสตราวุธ ก็ชนะด้วยธรรม
หลักนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในจักกวัตติสูตร (เรียกเป็นไทยว่า จักรวรรดิสูตร ก็ได้) เป็นต้น คือมีในพระสูตรหลายสูตร ซึ่งมีพุทธดำรัสว่า “อสตฺเถน อทณฺเฑน ธมฺเมน อภิวิชย” นี่คือที่มาในพระไตรปิฎกของคำว่า ธรรมวิชัย ซึ่งเป็นหลักการปกครองของพระราชาผู้เป็นจักรพรรดิ
“จักรพรรดิ” ในที่นี้ หมายถึง จักรพรรดิในความหมายเดิมทางธรรม ไม่ใช่จักรพรรดิแบบ emperor
ในเวลาที่แปลเป็นภาษาอังกฤษนั้น จกฺกวตฺติ/จักรพรรดิ นี่ นักปราชญ์ในวงการภาษาบาลี แม้แต่ฝรั่ง เขาไม่แปลเป็น emperor หรอก แต่คนไทยเราเอา “จักรพรรดิ” มาเป็นคำแปลสำหรับ emperor กันเอง แต่ที่จริงคำว่าจักรพรรดิไม่ได้แปลว่า emperor ต้องบอกว่าเป็น emperor ในความหมายของไทย แต่ในวงวิชาการ จกฺกวตฺติ/จักรพรรดิ เขาแปลกันว่า Universal Monarch หรือ Universal Ruler คือพระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองที่เป็น universal (ไม่ใช่เจ้าผู้ปกครอง empire)
พระมหากษัตริย์ที่เป็นจักรพรรดิแบบนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีชัยชนะโดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้ทัณฑ์ ไม่ต้องใช้การลงโทษ หรือเครื่องมือทำร้ายกัน แต่ชนะโดยธรรม คือชนะใจด้วยความดี และพระเจ้าอโศกก็นำหลักนี้มาใช้ จึงเรียกนโยบายของพระองค์ว่า ธรรมวิชัย แล้วพระองค์ก็ทำสำเร็จด้วย จึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ฝรั่งบางคนถือว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์ผู้เดียวในประวัติศาสตร์ที่เขานับถือ เป็นผู้เดียวที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ท่านผู้นี้คือ H. G. Wells ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Outline of History
รวมความว่า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นที่ชื่นชมนิยมนับถือ เพราะนำหลักธรรมวิชัยมาใช้ ซึ่งก็หมายความต่อไปด้วยว่าพระองค์ได้เลิกแนวคิดของพระเจ้าปู่ ที่พราหมณ์จาณักยะได้ปลูกฝังตั้งไว้
จาณักยะนี้เป็นผู้สร้างอาณาจักรมคธที่พระเจ้าจันทรคุปต์เป็นผู้เริ่มวงศ์ปกครองและยิ่งใหญ่มาก สมัยเดียวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) คือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตดินแดนมากมายมาจนจดถึงชายแดนประเทศอินเดีย ตีได้แคว้นโยนก (ฝรั่งเรียก Bactria) ลงมาถึงตักศิลาราวปี ๓๒๖ ก่อนคริสต์ศักราช (ถ้านับเป็นพุทธศักราชแบบเราก็ ๑๕๗) ตั้งทัพเตรียมจะบุกอินเดีย
ที่นั่น อเล็กซานเดอร์มหาราชได้พบกับจันทรคุปต์ที่เป็นปู่ของพระเจ้าอโศก ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้อำนาจ ตอนแรกก็จะร่วมมือกัน แต่แล้วเกิดขัดใจกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็จับจันทรคุปต์ขัง แต่หนีออกมาได้
เรื่องนี้ยืดยาว รวบรัดว่า ในฝ่ายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนั้น เสนาข้าทหารเบื่อหน่ายการรบเต็มที เพราะได้รบราฆ่าฟันมาตลอด ก็เลยยกทัพกลับไปในปี ๓๒๕ ก่อนคริสต์ศักราช และจากนั้นอีก ๔ ปี (บางตำราว่าในปี 325 B.C. นั่นเอง) จันทรคุปต์ก็โค่นราชวงศ์นันทะลงได้ และตั้งราชวงศ์โมริยะ (เรียกอย่างสันสกฤตว่า เมารยะ)
นี่คือพระอัยกาหรือปู่ของพระเจ้าอโศกมหาราช อโศกที่เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของชมพูทวีป หรือพูดคร่าวๆ คืออินเดีย
เป็นอันว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ล้มเลิกนโยบายแบบของพระเจ้าจันทรคุปต์ ที่พราหมณ์จาณักยะวางไว้ ที่มุ่งให้สร้างความยิ่งใหญ่แห่งรัฐของตนบนความย่อยยับของรัฐอื่นๆ เปลี่ยนมาใช้นโยบายธรรมวิชัย ที่ว่าทำอย่างไรจะให้รัฐทั้งหลายและมวลมนุษย์อยู่ดีด้วยกันด้วยความสงบสุข เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ไม่ใช่รัฐศาสตร์เพื่อชาติ แต่เป็นรัฐศาสตร์เพื่อโลก
ที่พูดกันว่าอารยธรรมปัจจุบันเจริญนักหนานั้น แม้กระทั่งบัดนี้ มนุษย์ก็ยังไม่สามารถก้าวขึ้นไปถึงหรือแม้แต่เฉียดใกล้รัฐศาสตร์เพื่อโลกอันนี้เลย
คนไทยเรา ในเมื่อมีหลักธรรมอันนี้ ที่พระพุทธศาสนาได้มอบให้ไว้ เราก็ควรจะก้าวออกหน้าไปได้ ด้วยจิตสำนึกว่าเราควรจะมีอะไรให้แก่โลกนี้บ้าง เราไม่ควรมาติดอยู่แค่จะแข่งขันในระบบแห่งรัฐศาสตร์เพื่อชาตินี้เท่านั้น
แม้แต่จะแข่งขันสู้กันให้ชนะเขาได้ในยุคโลกาภิวัตน์แห่งการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นต้นนี้ เราก็ต้องมีความเข้มแข็งให้มากพอ จึงจะเดินหน้าไหว แล้วเราจะมาอ่อนแอปวกเปียกมัวเมาลุ่มหลงอยู่ได้อย่างไร เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง สร้างกำลังงานพัฒนาคนของเราให้มีพลังความสามารถขึ้นมา
โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางปัญญา ต้องมีให้มาก ถ้าไม่มีปัญญา ก็มืดบอด ไปไหนไม่รอด ถึงจะมีกำลังกาย และกำลังอาวุธอย่างเยี่ยมยอด ก็ได้แค่คอยพึ่งพา แม้แต่มีกำลังจิตใจเข้มแข็ง ก็ติดตันไปไม่ตลอด ต้องมีปัญญาที่เยี่ยมยอด จึงจะชนะเขาได้ เราจึงต้องมาเน้นการสร้างคนของเราให้มีกำลังปัญญา แล้วเราจึงจะสามารถมีชัยชนะที่แท้จริงในโลกาภิวัตน์ ในโลกแห่งการแข่งขันนี้ได้
แต่เราไม่ควรมีเป้าหมายเพียงแค่นั้น เราจะต้องมองต่อไปให้ถึงจุดหมายที่แท้ของอารยธรรมที่ว่า เราจะต้องแก้ปัญหาของโลกที่ติดจมอยู่ในการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การแย่งชิงอำนาจ และการทำลายผู้อื่นรัฐอื่นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐของตน ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาในขั้นนี้ได้ ชาวพุทธที่ว่ามีศาสนาแห่งโพธิปัญญา จะต้องคิดให้ได้ในระดับนี้
ในชาดกมีคำสอนประเภทนี้ ขอให้ไปศึกษาดู ทำไมจึงเรียกพระมโหสถว่าเป็นผู้สูงสุดในด้านปัญญาบารมี ก็เพราะมโหสถสามารถใช้ปัญญาสยบศัตรูที่จะมาทำร้ายประเทศชาติของท่าน โดยไม่ต้องทำร้ายเขา และทำให้เป็นไมตรีกันได้ คือเอาชนะโดยธรรม เอาชนะโดยไม่ต้องทำร้ายเขา
เคยพูดบ่อยๆว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวรนั้น ไม่ใช่ว่า เขามาทำร้ายเราแล้ว เราไม่ต้องจองเวรคือเราอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เขาฆ่า ไม่ใช่อย่างนั้น คนไทยมักไปติดหรือตันอยู่แค่นั้น คือคิดแค่ว่า เขามาทำร้ายเรา อ๋อ เวรระงับด้วยการไม่จองเวร เราก็นอนให้เขาฆ่าเสียดีๆ หรือเขาทำร้ายเสร็จแล้ว เราไม่ตาย ก็แล้วไป จบแค่นั้น ไม่ใช่อย่างนั้น
พระพุทธเจ้าสอนไว้ อย่างในชาดกเช่นมโหสถชาดกนี่ชัดเจนมาก ฝ่ายศัตรูเขามุ่งร้าย เราไม่ได้คิดมุ่งร้ายเขา เขายกทัพมาเลย จะมาทำสงครามฆ่าฟันเอาเราเป็นเมืองขึ้น แล้วมโหสถคิดและทำอย่างไร ที่แน่ๆ ก็คือ มโหสถไม่ต้องการทำร้ายเขา แต่ก็ต้องรักษาบ้านเมืองและประชาชนให้อยู่ดีด้วย
เมื่อไม่ต้องการทำร้ายเขา ก็ต้องเอาชนะเขาด้วยวิธีที่ไม่ต้องทำร้ายตอบ มโหสถต้องคิดหนัก แต่ที่สำคัญคือต้องมีปัญญาที่จะคิด ขยายความว่า ต้องมีปัญญาที่รู้ได้แจ้งจริงและที่คิดได้ชัดเจน
ยกตัวอย่าง มโหสถนอกจากรู้เชี่ยวชาญในหลักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และยุทธศาสตร์แล้ว ก็รู้ข้อมูลและแสวงหาข้อมูลของฝ่ายที่ทำตัวเป็นศัตรูจนรู้เขาละเอียดลออทั่วตลอดทุกจุดทุกด้าน แล้วจากความรู้นั้น ก็คิดจัดคิดวางแผนดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนที่จะทำให้ปฏิบัติการของฝ่ายที่คิดร้ายนั้นเป็นหมัน หรือไม่ก็กลายเป็นการก้าวเข้าไปในกับดักที่แม้ไม่ถูกทำร้ายแต่ก็ดิ้นไม่ได้ จนในที่สุดฝ่ายที่คิดร้ายนั้นต้องหยุดยอมแต่โดยดี
คนที่จะชนะเขาโดยไม่ต้องทำร้ายเขา ที่เรียกว่าไม่ชนะด้วยเวรนั้น ต้องเก่งกว่าคนที่คิดจะมาทำร้ายเป็น ๑๐ เท่า เพราะฉะนั้น คนที่จะสร้างโลกให้มีสันติสุขที่แท้จริง จะต้องเป็นคนที่พัฒนาอย่างสูง ถ้าเรามัวมาเพลิดเพลินมัวเมากันอยู่ อ่อนแอปวกเปียก โดยเฉพาะอ่อนปัญญา (หรือเบาปัญญา) ก็ไปไม่รอด
เราจะต้องสร้างคนของเราให้มีคุณภาพเหนือกว่าประเทศที่ก้าวหน้าพัฒนาแล้วในการแข่งขันนี้เสียอีก เราต้องเหนือเขาจริงๆ โดยเฉพาะเหนือทางปัญญา เพราะฉะนั้น เราจะมัวมานิ่ง มานอน มาเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ได้อย่างไร เราต้องเร่งรัดกัน
ขั้นที่ ๑ เราต้องสามารถชนะในการแข่งขันนี้ อย่างน้อยไม่ให้เขามาครอบงำเราได้
ขั้นที่ ๒ เหนือกว่านั้นก็คือ เราจะต้องก้าวขึ้นไปสู่การแก้ปัญหาของโลกที่เบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่นี้ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้เป็นโลกที่มีสันติสุข นำเอารัฐศาสตร์เพื่อโลกไปสถาปนาในโลกยุคปัจจุบันหรือโลกาภิวัตน์ให้ได้
ชาวพุทธควรจะมาปลุกใจกันในเรื่องเหล่านี้ มาสร้างความเข้มแข็งในตัว แล้วเราจะก้าวไปได้จริงๆ เพราะเรามีหลักการแล้ว เรื่องมโหสถชาดกขอให้ไปศึกษาให้ดี ว่าปัญญาของพระมโหสถเป็นอย่างไร
ปัญญาอย่างมโหสถนั้น สาระสำคัญก็คือ ท่านสามารถใช้ปัญญาเอาชนะศัตรูที่มุ่งร้ายต่อเราด้วยการไม่ทำร้ายตอบเขา และนอกจากไม่ทำร้ายตอบเขาแล้ว ยังสามารถทำให้เขายอมสยบ ยอมเป็นไมตรี เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างดีมีสันติสุขสืบไป
เห็นได้เลยว่า การใช้ปัญญาขั้นนี้ยากที่สุดในโลก เอาชนะด้วยศาสตราวุธยังจะง่ายกว่า แต่ทั้งโลกก็ต้องยอมรับว่า ถ้าไม่ก้าวไปถึงรัฐศาสตร์เพื่อโลกแบบนี้ โลกก็ไม่มีทางมีสันติสุข จะทำอย่างไรได้ ถึงจะยากก็ต้องทำ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วโลกนี้จะไม่มีความหวัง
ตามสภาพเวลานี้พูดได้ว่า ความหวังในสันติภาพไม่มีเลยในโลก มีแต่ความคิดที่จะเบียดเบียนห้ำหั่นทำลายกัน มนุษย์อยู่กันด้วยความหวาดกลัว อยู่กันด้วยความใฝ่อำนาจ ทั้งใฝ่อำนาจแล้วก็กลัวด้วย
อย่างประเทศใหญ่ๆ ที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ว่ามุ่งอำนาจยิ่งใหญ่อย่างเดียว แต่ในการรักษาอำนาจความยิ่งใหญ่นั้น เขาก็มีความหวาดกลัวมาก ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งกลัว โดยเฉพาะกลัวสูญเสียอำนาจ และความกลัวนั้นทำให้หวาดระแวง เมื่อหวาดระแวงก็ทำให้ต้องกำจัดคนอื่น ต้องทำร้ายเขาก่อน เพื่อป้องกันไว้ เพื่อไม่ให้เขามีกำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งหรือเป็นอันตรายแก่ตัว
ความกลัวนี่แหละเป็นตัวร้าย อย่ามองแค่ความโลภอยากได้ผลประโยชน์หรือความอยากได้อำนาจเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ความกลัวนี่ร้ายยิ่งนัก
คนไม่มีอำนาจก็กลัว คนมีอำนาจก็กลัว ทั้งสองฝ่ายกลัว แต่คนกลัวที่ไม่มีอำนาจ ทำอะไรเขาไม่ได้ ได้แต่หนี แบกทุกข์ไว้ที่ตัว ส่วนคนกลัวที่มีอำนาจนี่ร้ายที่สุดเลย เพราะว่า เพียงแค่หวาดระแวงขึ้นมา เขาอาจจะทำร้ายผู้อื่นให้พังพินาศยับเยินไปหมด เพื่อให้ตัวอยู่ได้ ตัวเองทุกข์แล้วทำให้คนอื่นยิ่งทุกข์อย่างหนัก เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่าความกลัวเป็นเรื่องสำคัญ ความหวาดระแวงเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง
เราอย่าไปมองเฉพาะความโลภอยากได้ผลประโยชน์ และความอยากใหญ่มีอำนาจเท่านั้น แต่ความโลภและห่วงอำนาจนั้นจะพ่วงเอาความระแวงหวาดกลัวมาด้วย หลักการหลายอย่างทางรัฐศาสตร์ที่สร้างกันขึ้นมาก็สืบเนื่องจากความหวาดระแวง และความหวาดกลัวว่า ชาติอื่นรัฐอื่นใหญ่ขึ้นมาจะเป็นภัยแก่ตน หรือแม้เพียงแข่งกับตน เป็นต้น ก็เป็นกันมาอย่างนี้
เพราะเหตุดังว่ามา รัฐศาสตร์เพื่อชาติจึงไม่อาจสร้างสันติภาพที่แท้จริงได้ และเราจึงต้องก้าวต่อขึ้นไปให้ถึงรัฐศาสตร์เพื่อโลก
ได้พูดมานานมากแล้ว วันนี้ได้พูดถึงธรรมะในแง่ของการสร้างสรรค์ชาติประเทศและสังคมของโลก ให้มีสันติสุข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ ที่เราจะต้องก้าวต่อไป แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ไปเน้นที่ผู้ปกครอง ท่านผู้นำ ผู้บริหารประเทศชาติ จึงขอย้ำว่าอย่าลืม ต้องมองดูพระด้วย พระนี่แหละสำคัญมาก
เราบอกว่าท่านผู้นำผู้บริหารประเทศชาติจะต้องเป็นกัลยาณมิตร มาชักจูงประชาชนให้มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม ไม่ประมาท ไม่ลุ่มหลงมัวเมา ไม่อ่อนแอ ไม่ระย่อท้อถอย แล้วร่วมใจกันสร้างสรรค์ต่างๆ อันนี้จะเป็นความสำเร็จที่แท้
ผู้นำที่ยิ่งใหญ่จริงๆ คือ ผู้นำที่สามารถเอาหลักความจริง หลักความถูกต้อง เอาประโยชน์ที่แท้ มาเป็นที่อ้างอิงที่จะให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม โดยไม่ต้องอาศัยความโลภหรือความโกรธมาเป็นเครื่องกระตุ้นเร้า เราก็หวังอย่างนี้ จึงขอท่านผู้นำอย่าได้มานำให้ประชาชนลุ่มหลงมัวเมาอะไรเลย
ทีนี้อีกฝ่ายก็พระนี่แหละ อย่าได้ไปมองเฉพาะท่านผู้นำ หรือผู้บริหารบ้านเมืองเท่านั้น พระนี่บางทีก็ทำหนักเหมือนกัน คือไม่เอาหลักพระพุทธศาสนาไปสอน ไม่ไปกระตุ้นปลุกเร้าประชาชนให้ไม่ประมาท แต่กลับไปทำในทางที่ตรงข้าม
พระต้องตั้งมั่นในหลักที่พระพุทธเจ้าสอน และนำประชาชนไปตามหลักนั้น หลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนย้ำนักก็คือ ให้ไม่ประมาท แม้กระทั่งจะปรินิพพานก็ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทว่าให้ไม่ประมาท พระก็ต้องเป็นผู้นำในความไม่ประมาท และพระก็จะต้องไปชักจูงสั่งสอนญาติโยมประชาชนให้ไม่ประมาท
ให้ไม่ประมาทในอะไร ก็คือ ให้ไม่ประมาทในการนำหลักและข้อปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิตสังคม มาใช้มาดำเนินการสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์ครอบครัว เช่นทำการงานอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น แต่ถ้าพระไปชักจูงในทางตรงข้าม ก็กลายเป็นชักจูงให้ประมาท
ชักจูงให้ประมาท ก็คือ ให้เขาลุ่มหลงมัวเมา ให้หวังผลจากการอ้อนวอน จากการดลบันดาล จากการรวยทางลัด จากการหวังโน่นหวังนี่ที่เลื่อนลอย เช่นไปขูดเลขขูดหวยอะไรต่างๆ พูดรวมสั้นๆ ว่า รวยลัด-ลาภลอย-คอยผลดลบันดาล นี่คือพระไปนำคนในทางที่ประมาท ซึ่งเวลานี้กลายเป็นว่าพระได้มีส่วนสำคัญในการชักนำ
ถึงเวลาแล้ว ที่พระเราจะต้องเข้าสู่ทางปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน และเป็นกัลยาณมิตรของประชาชนชาวบ้าน ที่จะนำเขาไปในทางที่ถูกต้องนั้น ไม่ใช่กลายเป็นผู้ทำลายหลักนั้นเสียเอง
พระนั้น ถ้าทำไม่ดี ก็กลายเป็นผู้ทำลาย และทำลายได้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ทำลายคำสอนของพระองค์ แม้แต่ทำลายพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า อย่างพระที่ไปชักจูงประชาชนให้ประมาท คือให้ปฏิบัติตรงข้ามกับคำสอนของพระองค์ ก็เท่ากับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่ชาวพุทธจะต้องชัดเจน ว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา เราปล่อยปละละเลยกันมานานแล้ว อยู่กันแบบเรื่อยเปื่อย หลักอะไรก็ไม่รู้ ความเป็นพุทธหรือไม่ใช่พุทธอยู่ตรงไหนก็ไม่สนใจ ที่ว่าเป็นพุทธเป็นอย่างไรก็ได้ นี่คือสังคมแห่งความประมาท ถ้าขืนอยู่กันอย่างนี้ เราจะสร้างประเทศชาติขึ้นไปได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น จะต้องมาปลุกเร้ากระตุ้นเตือนกัน ให้เข้มแข็งขึ้นมา ให้ไม่ประมาท ให้มีความเพียรในทางที่ดี นี่ไม่ใช่ปลุกให้ไปโกรธไปเกลียดเคียดแค้นอะไรกัน แต่ให้มาคิด ให้มาทำ ให้มาช่วยกันสร้างสรรค์ อย่างน้อยให้ฉุกใจคิดบ้างว่า อะไรนะเป็นพระพุทธศาสนา หลักการของพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร ที่เรียกว่าเป็นชาวพุทธนั้นเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง
ถ้าจะมาปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ก็ต้องรู้แล้วว่า การเป็นพุทธมามกะนี้คือเป็นอย่างไร จะต้องเชื่ออย่างไร ต้องรู้อะไร และต้องทำอะไรบ้าง แต่นี่ พอถามว่าเป็นพุทธมามกะคือเป็นอย่างไร จะต้องรู้อะไร จะต้องทำอะไร จะต้องเป็นอยู่อย่างไร พุทธศาสนาสอนว่าอย่างไร ไม่รู้สักอย่าง
วันนี้ได้ทราบว่ามีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ญาติโยมจะต้องไปถามแล้วว่า ท่านที่ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะวันนี้ รู้ไหมว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ลองบอกมาสัก ๒ ข้อ แล้วตัวท่านจะต้องทำอะไรบ้าง ไม่อย่างนั้นท่านจะเป็นพุทธมามกะได้อย่างไร
นี่เราก็ปรารถนาดีต่อกัน ไม่ได้แกล้งว่าอะไร แต่ต้องพูดไว้บ้าง เป็นการเสริมสติ รวมความก็คือ มาชวนกันให้ไม่ประมาทนั่นเอง
เวลานี้ สังคมนี้ถึงจุดวิกฤตแล้ว ย่ำแย่แล้ว คนไทยต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์ชีวิต สร้างสรรค์ครอบครัว สร้างสรรค์สังคมของตัวเองขึ้นมา ให้เป็นชีวิต เป็นครอบครัว เป็นสังคม ที่ไม่ประมาท โดยเฉพาะไม่ประมาทในการศึกษา คือไม่ประมาทในการสำรวจตรวจตราและฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตน ในการพัฒนากาย วาจา จิตใจ และปัญญาของตน พร้อมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม กับเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคมต่างๆ ให้ดี ร่วมกันทำให้ประเทศชาติสังคมและโลกนี้ร่มเย็นงอกงามอยู่ในสันติสุขต่อไป
เมื่อรู้จุดของปัญหาและรู้แนวทางในการสร้างสรรค์อย่างนี้แล้ว ถ้าเราตื่นขึ้นจากความประมาท ก็จะเกิดมีพลังที่จะทำการต่างๆ อย่างมีจุดหมาย
ตอนนี้แหละ พวกเสรีภาพและหลักการอะไรต่างๆ ที่ประชาธิปไตยให้ไว้ ก็จะมีความหมายขึ้นมา เราก็จะใช้เสรีภาพเป็นต้นนั้นอย่างมีจุดหมายด้วย โดยถูกต้องตามหลักการ ในการที่จะพัฒนาชีวิต ในการแสวงปัญญา ในการทำสิ่งดีงาม ในการนำเอาศักยภาพที่มีอยู่ ที่ได้พัฒนาออกมาเป็นความรู้ความสามารถสติปัญญาที่สุกงอมแล้ว เอามาเผื่อแผ่แก่กัน และเอามาร่วมกันในการสร้างสรรค์ชีวิตสังคมประเทศชาติ
ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแนวคิด ไม่เห็นทิศเห็นทาง มีแต่ความประมาท เสรีภาพที่ประชาธิปไตยให้ไว้ ก็จะกลายเป็นเสรีภาพที่ไม่สนองจุดหมายของประชาธิปไตย แต่จะเป็นเสรีภาพที่ทำลายประชาธิปไตยเสียเอง
เวลานี้ก็น่ากลัวเหมือนกันว่า เสรีภาพที่พูดๆ กันอยู่กำลังเป็นเสรีภาพที่ทำลายประชาธิปไตย ทำลายอย่างไร
ดูง่ายๆ เสรีภาพของคนจำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อสนองโลภะ เขาใช้เสรีภาพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เป็นเสรีภาพในการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น และระบบแก่งแย่งแข่งขันก็เอื้อเสียด้วยที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้
เพราะฉะนั้น ในการใช้เสรีภาพ คนจึงไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองนั้น กำลังใช้เสรีภาพเพื่อสนองราคะ สนองโลภะ สนองโทสะ สนองตัณหา สนองมานะ ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวเท่านั้น แล้วเสรีภาพแบบนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไร ประชาธิปไตยจะเกิดมีหรือจะพัฒนาได้อย่างไร
ประชาธิปไตยนั้นมีเสรีภาพไว้เพื่ออะไร ว่ากันในขั้นพื้นฐานที่สุด ก็เพื่อให้มีช่องทางที่แต่ละคนจะได้พัฒนาชีวิตของตัวเองให้ดีให้สมบูรณ์ เพราะชีวิตของคนเราเกิดมายังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะอยู่ได้อย่างดี ยังไม่ดีงาม ยังไม่เลิศไม่ประเสริฐขึ้นมาในทันที ยังต้องการโอกาสในการที่จะฝึกหัดพัฒนาศึกษาสืบไป
พูดง่ายๆ ว่า ชีวิตต้องการเสรีภาพ เพื่อให้โอกาสแก่การศึกษาที่เป็นสิทธิและหน้าที่พื้นฐานที่สุดของมัน นี่คือความต้องการเสรีภาพในระดับของชีวิต
เพราะฉะนั้น เราจะต้องพัฒนาชีวิตของเราให้เป็นดีอยู่ดีมีความเจริญงอกงามขึ้นมา เราต้องมีเสรีภาพในการที่จะได้จะถึงสิ่งและสภาวะเกื้อกูลต่างๆ ที่จะใช้จะช่วยพัฒนาชีวิตของตนให้เป็นดีอยู่ดีขึ้นไปสู่ความสมบูรณ์
เมื่อคนพัฒนาชีวิตของเขาให้ดีให้พร้อมขึ้นมา เขาก็มาพัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน และพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นด้วย เขาพัฒนาตัวเองยิ่งพร้อมยิ่งดีเท่าใด เขาก็ยิ่งช่วยพัฒนาครอบครัวตลอดถึงสังคมได้พร้อมได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
ทีนี้ก็มาถึงความต้องการเสรีภาพในระดับของสังคม ตามที่ถามว่า ประชาธิปไตยมีเสรีภาพไว้เพื่ออะไร ว่ากันในขั้นพื้นฐานระดับสังคม ก็เพื่อให้มีช่องทางที่แต่ละคน จะมีจะให้ความเป็นส่วนร่วม โดยนำเอาสติปัญญาความรู้ความสามารถของตน มาบอกมาแจ้งมาถ่ายทอดแก่กัน มาร่วมและมารวมกันในการสร้างสรรค์สังคมประเทศชาติ
เช่นอย่างที่ว่า เมื่อเรามีเสรีภาพที่จะแสดงออก เรามีสติปัญญาความรู้ความสามารถอะไรอย่างไร เราก็เอาสติปัญญาความรู้ความสามารถนั้นมาบอกแจ้งแสดงถ่ายทอดเผื่อแผ่ขยายประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่สังคมได้
แต่ถ้าเราไม่มีเสรีภาพ สติปัญญาความรู้ความสามารถของเราที่มีอยู่ ก็เท่ากับถูกปิดกั้น ความสามารถของบุคคลก็ไม่เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม ตัวเองก็พัฒนาชีวิตไม่ได้ พัฒนาสังคมไม่ได้
เพราะฉะนั้น เขาจึงให้มีหลักการแห่งเสรีภาพในสังคมประชาธิไตย เพื่อว่าคนที่เป็นสมาชิกอยู่ร่วมสังคม จะได้ใช้เสรีภาพเพื่อพัฒนาชีวิตของตนเอง และเมื่อพัฒนาชีวิตของตนให้ดีงามมีความสามารถขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะนำเอาความรู้ความสามารถสติปัญญานั้นมาเผยแพร่ให้ผู้อื่นในสังคมร่วมได้ประโยชน์ไปด้วย
ความมุ่งหมายของเสรีภาพในขั้นพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสรีภาพมีไว้เพื่อให้คนมีโอกาสที่จะบอกแจ้งและสนองความต้องการต่างๆ ซึ่งโดยหลักใหญ่ก็พ่วงมากับโอกาสในการที่จะพัฒนาชีวิตและเป็นส่วนร่วมของสังคมนั่นเอง กล่าวคือ ในการพัฒนาชีวิตก็ตาม ร่วมสร้างสรรค์สังคมก็ตาม ย่อมต้องการปัจจัยเอื้อต่างๆ ซึ่งอาจจะยังขาดยังพร่องและควรจะต้องหาทางจัดอำนวยให้ จึงต้องมีโอกาสบอกแจ้งแสดงความต้องการนั้น
น่าสังเกตว่า เวลานี้ คนมักมุ่งจะเอาเสรีภาพเฉพาะในแง่ของการได้รับโอกาสที่จะสนองความต้องการของตน และความต้องการนั้นก็มักเป็นเรื่องเปะปะ เช่นเพียงเพื่อจะสนองตัณหา สนองราคะ สนองโทสะ สนองโมหะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตและการสร้างสรรค์สังคม ไม่สนองจุดหมายของประชาธิปไตย
รวมความว่า เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตยนั้น มีจุดหมาย อยู่ในระบบแห่งความสัมพันธ์ ไม่ใช่เสรีภาพที่เลื่อนลอย หรือจบในตัวของมันเอง
ถ้ามองความหมายของเสรีภาพผิด ก็มองความหมายของประชาธิปไตยผิดด้วย ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แค่ว่าคนส่วนมากหรือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ไม่ใช่แค่เอาความต้องการของคนส่วนมากเป็นใหญ่
ถ้าเอาแบบนี้ ก็เหมือนนักเรียนกับครู เข้าโรงเรียนวันนี้ พอระฆังแก๊ง เข้าแถวเรียบร้อยแล้ว เข้าชั้นเรียน พอเข้าชั้นปุ๊บพร้อมกันแล้ว ครูก็ปรึกษานักเรียน
“นักเรียนทั้งหลาย เรามาลงคะแนนเสียงกันซิว่า วันนี้เราจะเรียนหรือจะเล่น”
ปรากฏว่านักเรียนส่วนใหญ่บอกว่า “เล่น” นี่ประชาธิปไตยสำเร็จแล้ว ประชาธิปไตยแบบนี้ดีไหม ก็ลองคิดดูเถิด ประชาธิปไตยที่ใช้เสรีภาพเพื่อสนองความต้องการแบบเปะปะเลื่อนลอย สนองตัณหา สนองโลภะ สนองราคะ สนองโทสะ สนองมานะ อะไรพวกนี้ เป็นประชาธิปไตยจริงหรือ
ตัวอย่างที่ยกมานี้ ไม่ใช่จบแค่นั้น แต่มันเป็นบทพิสูจน์ที่ท้าทายระบบประชาธิปไตยด้วย
ท้าทายอย่างไร คือ มันท้าทายว่า การพัฒนาประชาธิปไตยจะสำเร็จหรือไม่ ประชาธิปไตยที่แท้จะมีได้จริงไหม
เมื่อนักเรียนส่วนมากลงคะแนนเสียงว่าให้เล่น-ไม่เรียน นั่นคงเป็นการแสดงความต้องการแบบเปะปะ หรือความต้องการดิบ
คุณครูที่ดีย่อมไม่ติดตันแค่นั้น แต่จะช่วยเด็กให้พัฒนาขึ้นสู่ประชาธิปไตย โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ เช่น ชี้แจงอธิบายถกเถียงสนทนา
เมื่อนักเรียนรู้เข้าใจความจริง คุณค่า ประโยชน์ เหตุผล เป็นต้นแล้ว ถ้ารู้ตระหนักจริง ความต้องการของเขาจะเปลี่ยนไป คือกลายเป็นความต้องการที่พัฒนาแล้ว หรือเป็นความต้องการของคนที่มีการศึกษา คะแนนเสียงส่วนมากอาจจะบอกว่า “เรียน” ยังไม่เล่น
คุณครูและโรงเรียนจะทำการนี้สำเร็จหรือไม่ นี่เป็นบททดสอบที่ท้าทาย ซึ่งบอกในตัวว่าประชาธิปไตยมีทางที่จะงอกงามในสังคมนี้หรือไม่ และยืนยันหลักการที่ว่า ประชาธิปไตยสัมฤทธิ์ได้ด้วยการศึกษา ประชาธิปไตยด้วยการศึกษา และประชาธิปไตยเพื่อการศึกษา
จากที่ได้พูดมา ลองดูว่าเดี๋ยวนี้เขาใช้เสรีภาพกันเพื่ออะไร เสรีภาพมีประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยหรือเปล่า เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยหรือเปล่า
เดี๋ยวนี้เขาไม่ถามกันว่าประชาธิปไตยมีเสรีภาพไว้เพื่ออะไร ตามหลักการจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เมื่อมีประชาธิปไตย ก็ต้องมีเสรีภาพ แล้วทำไมต้องมีเสรีภาพ คนในสังคมนี้ต้องมีคำตอบ
แต่เดี๋ยวนี้คนสักว่ามีเสรีภาพ มองแค่รูปแบบถ้อยคำ แล้วความหมายก็คลาดเคลื่อนเพี้ยนไปหมด เสร็จแล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ เสรีภาพก็ไม่สนองจุดหมายของประชาธิปไตย แล้วในที่สุดเสรีภาพก็จะทำลายประชาธิปไตยนั้นเสียเอง สังคมจะเป็นประชาธิปไตยได้ต้องมีความดีงาม ต้องเป็นสังคมแห่งสติปัญญา เป็นสังคมของผู้มีการศึกษาพัฒนาแล้ว ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด ถ้าจะสร้างสังคมประชาธิปไตย อย่างน้อยก็ต้องรู้จักใช้เสรีภาพให้ถูกต้อง
วันนี้ก็เลยพูดกับญาติโยมเสียยาวนาน รวมแล้วก็คือ เป็นภาระของพุทธบริษัททั้ง ๔ ทั้งที่เป็นพระสงฆ์ ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์ ทั้งที่เป็นชาวบ้านราษฎร จนถึงผู้นำผู้บริหารประเทศชาติแผ่นดินตลอดจนถึงโลก ต้องไม่มองแค่ประโยชน์และความยิ่งใหญ่ที่จำกัดผูกพันอยู่กับตัว
ขอบเขตความคิดของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อยู่แค่ชาติหรือรัฐของตน แต่อยู่ที่การสร้างสรรค์สันติสุขของโลกทั้งหมด เรามีความคิดที่ชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งพูดได้โดยมั่นใจว่า พระพุทธศาสนามีแนวคิดรัฐศาสตร์เพื่อโลก ซึ่งยังไม่เห็นที่ไหนอื่น เพราะมีกันแต่รัฐศาสตร์เพื่อชาติ คือรัฐศาสตร์เพื่อผลประโยชน์และอำนาจแห่งรัฐของตนเอง
พระพุทธศาสนาให้หลักนี้ไว้แล้ว และมีพระราชามหากษัตริย์ที่ทำไว้เป็นแบบอย่าง คือ พระเจ้าอโศกมหาราช แต่พอสิ้นสมัยของพระองค์ไป ไม่ช้าก็เลิกหมด กลับไปสู่ยุคเก่า
พระเจ้าอโศกนั้นห้ามนักหนาในเรื่องการแสวงแสดงอำนาจเบียดเบียน ถึงกับทำศิลาจารึกไว้ ห้ามมิให้มีการบูชายัญ เป็นหลักการใหญ่อันหนึ่ง แต่ราชวงศ์ศุงคะที่ล้มราชวงศ์ของพระเจ้าอโศก พอขึ้นครองราชย์ปั๊บ ก็ทันทีเลย ประกาศความยิ่งใหญ่ ด้วยการประกอบพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า อัศวเมธ
การบูชายัญที่เงียบหายไปเป็นศตวรรษ ก็เลยฟื้นมา ลัทธิแสวงอำนาจยิ่งใหญ่ก็ฟูขึ้นอีก แล้วเขาก็พยายามเสริมระบบวรรณะให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น กระแสโลกก็เลยไปกันอีกทางหนึ่ง การสร้างสรรค์โลกด้วยธรรมวิชัยก็หยุดชะงักและเลือนหายไป
คนไทยจะสามารถช่วยกันฟื้นหลักการสำคัญระดับนี้ให้คืนมาได้หรือไม่ ก็ขอให้มาช่วยกันคิดต่อไป บนพื้นฐานแห่งความรักความปรารถนาดีต่อกัน
ราษฎรก็ต้องมีความรักความปรารถนาดีเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้บริหารประเทศชาติ รัฐบาลก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ประชาราษฎรทั้งหลาย ต่างก็มีน้ำใจปรารถนาดีต่อกันด้วยมุ่งจุดหมายอันเดียวกัน คือเพื่อให้ประเทศชาติสังคมร่มเย็นเป็นสุขเจริญงอกงาม และให้ประเทศชาติของเรามีกำลังมีความสามารถที่จะไปร่วมแก้ไขปัญหาของโลก เพื่อนำโลกสู่สันติสุขสืบต่อไป
หวังว่าพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้ ซึ่งเริ่มที่วันวิสาขบูชานี้ จะมีความหมายเป็นประโยชน์ต่อชาวโลก ถ้าหากได้นำไปประพฤติปฏิบัติในแง่ต่างๆ ซึ่งวันนี้ก็ได้เน้นในแง่ของการเมืองการปกครอง ตลอดจนในเรื่องของสังคมโดยทั่วไป
ทั้งนี้ก็อาศัยพื้นฐานตั้งแต่การพัฒนาชีวิตของตน คือการที่ทุกคนต้องศึกษานั่นเอง เพราะว่าตามหลักธรรมที่แท้นั้น การศึกษาก็คือฝึกตนเองให้พัฒนาขึ้นไป ทั้งในศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งทางกาย วาจา ใจ ปัญญา ทั้งด้านพฤติกรรมความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม ทั้งด้านพัฒนาการทางจิตใจ ทั้งด้านพัฒนาการทางปัญญา
ถ้าทำได้อย่างนี้ โดยมีจุดหมายที่ชัดเจนว่าจะทำเพื่อชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และโลกที่ดีน่าอยู่อาศัย ก็จะเดินหน้าไปอย่างมั่นคงและมีความมั่นใจ
เวลานี้จุดหมายของมนุษย์ต้องวาง ๓ อย่าง คือ หนึ่ง ชีวิตดี สอง สังคมดี สาม โลกที่น่าอยู่อาศัย จึงจะได้ครบหมด โดยมีองค์ประกอบ ทั้งด้านมนุษย์ที่เป็นชีวิตและบุคคล ทั้งสังคม และทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เราต้องมาช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป โดยมองอย่างถูกต้อง ให้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ เหล่านี้ว่ามันโยงถึงกันหมด
เมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็จะได้ผลสำเร็จด้วยกันหมดทุกด้าน ครบทั้ง ๓ แดน ทั้งชีวิตดี สังคมดี โลกนี้น่าอยู่อาศัย หรือชีวิตดีงาม โลกน่ารื่นรมย์ สังคมมีสันติสุข
ขอให้พุทธศาสนิกชนมีกำลังใจที่จะช่วยกันนำธรรมของพระพุทธเจ้าไปศึกษาเพิ่มเติม ทำความเข้าใจให้ชัดเจน แล้วนำไปบอกเล่าแนะนำสั่งสอนกัน ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป และปฏิบัติให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสังคมและชาวโลก
วันนี้เป็นวันดี ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่มีน้ำใจเป็นบุญเป็นกุศล เป็นวาระอันเป็นมงคลแท้ที่เกิดจากกุศล ซึ่งเราได้ทำทั้งกาย วาจา ใจ ขอน้อมนำบุญกุศลนี้ประกอบเข้ากับคุณพระรัตนตรัย เป็นปัจจัยอภิบาลรักษา ให้ทุกท่านเจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเกษมศานต์ มีกำลังในการที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ชีวิต ครอบครัว สังคมประเทศชาติ และโลกนี้ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อไป อย่างยั่งยืนนาน