มองอเมริกา มาแก้ปัญหาไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จุดแก้ปัญหา : มีภูมิปัญญาที่สามารถภูมิใจ

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เนื้อหาสาระและจุดเน้นอยู่ที่เรื่องวัฒนธรรม แต่ก็เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย และโยงมาถึงปัญหาของประเทศชาติ คือปัญหาที่กระทบกระเทือนพระพุทธศาสนาก็กระทบกระเทือนไปถึงวัฒนธรรมของประเทศชาติ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นส่วนรากฐานแห่งวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อพระพุทธศาสนาอ่อนแอ วัฒนธรรมของชาติไทยก็อ่อนแอด้วย ในทำนองกลับกัน เมื่อวัฒนธรรมของชาติถูกกระทบกระเทือน พระพุทธศาสนาก็ถูกกระทบกระเทือนไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เราจะต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเป็นจุดเชื่อมโยง หมายความว่า ทั้งพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมและประเทศชาตินี้ เป็นสถาบันที่พัวพันกัน โดยมีวัฒนธรรมเป็นพื้นให้สมานเข้าด้วยกัน

วัฒนธรรมนี้ก็เป็นเหมือนกับตัวบุคคล หรือเป็นเหมือนกับชีวิตหนึ่ง คือ ตัวบุคคลนั้นย่อมประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ มีแขน มีขา มีหู มีตา ปาก ฟัน เป็นต้น แต่มันจะมีส่วนที่เป็นแกนที่สำคัญมาก คือสมองและหัวใจ ถ้าหากว่าสมองและหัวใจไม่มีแล้ว ร่างกายก็จะทำงานไม่ได้หรืออาจจะไม่มีชีวิตอยู่ วัฒนธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีองค์ประกอบมากมาย เช่น มีศิลปกรรม มีวรรณคดี มีดนตรี มีวิถีความเป็นอยู่ของคน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรม แต่ถ้าวัฒนธรรมมีแค่เพียงองค์ประกอบเหล่านี้ บางทีมันก็มีสภาพเป็นเพียงมรดก มรดกก็คือของเหลือจากผู้ที่ตายไปแล้ว มันอาจทำให้เราหวนระลึกไปถึงอดีตด้วยความภูมิใจ แต่มันก็ไม่มั่นคง ในเมื่อไม่มีชีวิตดำรงอยู่ ส่วนที่เป็นแกนกลางของวัฒนธรรม ก็คือภูมิจิตภูมิปัญญาของวัฒนธรรมนั้น ซึ่งเป็นตัวจิตใจและเป็นสมอง ภูมิปัญญานั้นมีอยู่หรือไม่ ต้องดูที่ความมั่นใจหรือภูมิใจของคนในชาติ หมายความว่าคนในชาติต้องมีความมั่นใจในภูมิจิตและโดยเฉพาะภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตน แล้ววัฒนธรรมนั้นจึงจะดำรงชีวิตอยู่และสืบต่อไปได้

ถ้าหากว่าเราไม่มีความมั่นใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนแล้ว ชีวิตของวัฒนธรรมนั้นก็ไม่อยู่ คนของเราก็จะไปนิยมเลื่อมใสตามอย่างวัฒนธรรมข้างนอกได้ง่าย อย่างในปัจจุบันนี้ ทำไมคนของเราไปเลื่อมใสตามอย่างวัฒนธรรมข้างนอก ทั้งๆ ที่ประจักษ์พยานหลักฐาน ทั้งด้านวัตถุและแบบแผนแห่งวัฒนธรรมแห่งชาติเรานี้ก็ยังมีอยู่มากมายเหลือเกิน แวดล้อมตัวเราทั่วไปหมด ทั้งวัดวาอาราม ศิลปะ ดนตรี วรรณคดีของไทย ก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีภูมิปัญญาที่จะเป็นเครื่องดำรงชีวิตนั้นไว้ มันก็จะเหมือนสิ่งที่ตายแล้ว เราเห็นวัฒนธรรมต่างชาติแล้วเราภูมิใจที่จะรับ เพราะอะไร เพราะคนของเรานี้ (เอาใจออกห่าง!) ไปมีความภูมิใจในภูมิปัญญาของวัฒนธรรมต่างชาตินั้น เห็นว่าชาติอื่นนั้นเขามีสติปัญญาสูงกว่า สามารถสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองได้เฟื่องฟูกว่า ครั้นแล้วสิ่งที่ชาวต่างชาตินั้นทำหรือแสดง ไม่ว่าจะเป็นอะไร เช่น พอให้ได้ชื่อว่ามาจากเมืองฝรั่งเท่านั้น เราก็รับทันที โดยไม่ได้ใช้ความคิดด้วยซ้ำไป หรือพอให้ได้อ้างว่าเป็นฝรั่งอเมริกันพูดเท่านั้น เราก็ตั้งหูฟังทันที มีศรัทธาดังเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้เพราะไปปลงใจเชื่อในภูมิปัญญาของเขาเสียก่อนแล้ว ฉะนั้นก็ไม่ต้องคิดว่าสิ่งที่เขาพูดแสดงหรือนำเข้ามานั้น จะถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์มีสาระหรือไม่ เรากลายเป็นทำอะไรตามๆ เขาไปโดยไม่ใช้ภูมิปัญญา แสดงถึงการที่มิใช่เพียงขาดความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งชาติของตนเท่านั้น แต่กลายเป็นไม่มีภูมิปัญญาเอาเสียเลย

อะไรเล่าที่จะเป็นเครื่องดำรงไว้ซึ่งความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนเอง?

ขอพูดถึงปัญหาก่อน ขณะนี้คนในสังคมไทยเหมือนถูกแบ่งแยกออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งคือคนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งพูดได้ว่าได้รับการศึกษาในแนวอารยธรรมของตะวันตกเป็นหลัก อีกพวกหนึ่งคือคนในสังคมเดิมแบบสังคมประเพณี

พวกที่ ๑ คือคนที่ได้รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ ปรากฏว่ามีลักษณะสำคัญสองอย่างคือ ด้านหนึ่งเป็นผู้ที่ถือกันว่าเป็นคนมีการศึกษาสูง แม้จะไม่สู้มีความซาบซึ้งเข้าใจในวัฒนธรรมไทย และส่วนมากหรือจำนวนมากมาย ไม่มีความภูมิใจ ไม่สนใจในวัฒนธรรมของตนเอง แต่เป็นชนส่วนน้อยที่เป็นคนชั้นนำของสังคม อีกด้านหนึ่ง คือ พร้อมกันนั้นเขาก็ไม่ได้รับความยอมรับจากคนพวกที่สองของสังคม รวมทั้งประชาชนทั่วไปซึ่งมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมเดิม ในแง่ของความสนิทสนมไว้วางใจเข้าถึงชีวิตจิตใจของกันและกัน แต่มีความรู้สึกห่างเหินแปลกพวกกันอยู่ตลอดเวลา

อีกข้างหนึ่ง พวกที่ ๒ ก็คือบุคคลและสถาบันที่เราถือกันว่าเป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของวัฒนธรรมไทย กลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็นพวกล้าหลังด้อยการศึกษา ขาดภูมิปัญญา จึงไม่ได้รับความเคารพนับถือด้วยความซาบซึ้งจริงใจ เมื่อบุคคลหรือสถาบันที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมนั้นไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้รับความภูมิใจ วัฒนธรรมนั้นก็ไม่ได้รับความภูมิใจไปด้วย สิ่งที่เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือภูมิปัญญาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นพระสงฆ์หรือวัดวาอารามปัจจุบันนี้ คนสมัยใหม่จำนวนมากไม่มีความภูมิใจ ไม่มีความมั่นใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นผู้นำทางสติปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระสงฆ์กระทำหรือสิ่งที่ออกมาจากวัดก็ไม่ให้เกิดความหมายที่น่าจะเชื่อถือ สิ่งที่ประกอบแวดล้อมเกี่ยวข้องกับตัวพระสงฆ์ เป็นองค์ประกอบของวัฒนธรรมทางด้านวัตถุ ก็พลอยไม่ได้รับความเชื่อความเลื่อมใสไปด้วย แล้วจุดแก้ก็คือเรื่องการศึกษา ฉะนั้นในแง่นี้ พระสงฆ์และตัวแทนของวัฒนธรรมดั้งเดิมจะต้องได้รับการศึกษาที่ทำให้เป็นผู้นำในทางปัญญาได้ เมื่อคนมองเข้ามาที่วัฒนธรรมไทย เขาจึงจะรู้สึกมีความภาคภูมิใจและมองเห็นความสำคัญขึ้นได้

คนสมัยใหม่ของเรานี้ ไม่มีความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนเอง ยิ่งกว่านั้น มักไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนประกอบและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อวัฒนธรรมนั้น เหตุหนึ่งเพราะเขาได้รับการศึกษาในแนวอารยธรรมตะวันตก คิดอย่างฝรั่ง แล้วการคิดอย่างไทยก็กลายเป็นความคิดที่ไม่มีความหมาย หรือไม่อาจจะเข้าใจ การแก้ปัญหาในฝ่ายคนสมัยใหม่ ก็ต้องเน้นที่การศึกษาเช่นเดียวกัน และเป็นเรื่องที่สำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะคนสมัยใหม่เหล่านี้เป็นคนชั้นนำที่กำหนดชะตากรรมของสังคมไทย

ทีนี้ ในการที่จะให้การศึกษานั้น ได้เคยพูดตั้งแต่ต้นแล้วถึงเรื่องในระดับมหาวิทยาลัย มีการจัดการศึกษา เอาปรัชญาตะวันตกเข้ามาให้เรียน โดยบอกว่าจะหัดให้เด็กคิดเป็น แต่เสร็จแล้วกลายเป็นว่าเราหัดให้เด็กคิดอย่างฝรั่ง แล้วเด็กก็คิดอย่างไทยไม่เป็น ทีนี้พอคิดอย่างฝรั่ง เขาก็มาเข้าวัฒนธรรมไทยไม่ได้ คนสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่นี้ นอกจากว่าจะไม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองแล้ว เขาเองก็ไม่ได้รับความยอมรับจากคนที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ไปทำงานในท้องถิ่นต่างๆ ก็เข้ากับชาวบ้านไม่ได้ดี ไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึงชีวิตจิตใจเขา เข้ากันไม่ได้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า กลายเป็นมีสองวัฒนธรรมอยู่ด้วยกัน แล้วในส่วนลึกก็ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

ว่าในแง่หนึ่ง ชาวบ้านทั้งหลายซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมเดิมนั้น เขาก็ยอมรับคนสมัยใหม่ที่เป็นผู้นำ (หรืออาจจะเรียกว่าเจ้านาย) ของเขาเหมือนกัน แต่การยอมรับของเขานั้นเป็นไปในแง่ที่ยอมรับว่าเป็นคนเจริญกว่าเขา มีฐานะสูงกว่าเขา เก่งกว่าเขา อาจจะเข้าใจด้วยว่าเป็นผู้มาช่วยเขา เข้าข้างเขา แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความรู้สึกอยู่นั่นเองว่าเป็นคนต่างแบบต่างชนิดกับเขา ไม่กลมกลืนเข้าถึงจิตใจกันสนิทแนบเป็นอันเดียวกันอย่างมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันแท้จริง

ขอชี้ปัญหาให้ชัดอีกหน่อยว่า ปัจจุบันสังคมไทยเรามีปัญหาจากคนที่ถูกแบ่งแยกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งคือปัญญาชนคนสมัยใหม่ที่รับผิดชอบเป็นผู้นำของสังคม แต่ไม่สามารถเป็นแกนหรือเป็นผู้นำแสดงในด้านภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนได้ ส่วนอีกพวกหนึ่ง คือบุคคลและสถาบันที่ถือกันว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย ก็ไม่มีความสามารถที่จะสร้างความนิยมนับถือให้คนทั่วไปยอมรับในภูมิปัญญาแห่งวัฒนธรรมของตนได้

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็ว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นสังคมแตก มีคนอยู่สองพวก ก็ล้วนเป็นคนไม่สมประกอบ พวกหนึ่งเป็นคนแคระแกร็น พวกหนึ่งก็ง่อยเปลี้ย จะเอามาร่วมงานช่วยเสริมกันก็ไม่ได้ จะเอาพวกไหนไปใช้งานให้ได้ผลบริบูรณ์ก็ไม่ได้สักพวก การแก้ปัญหาของประเทศชาติถ้าอยู่ในสภาพนี้ก็เป็นไปได้ยาก และจะต้องแก้ไขให้เกิดความกลมกลืนซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือการศึกษานี่แหละที่จะเป็นจุดที่แก้ปัญหาได้

ทำไมเราจึงเอาปรัชญาตะวันตกเป็นแกนเป็นหลักในระดับมหาวิทยาลัย ให้ศึกษาปรัชญาตะวันตกนี้เป็นวิชาบังคับพื้นฐาน แต่เราจะพูดถึงปรัชญาศาสนาตะวันออก แม้แต่พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิชาเลือก เป็นวิชาที่ประกอบเข้ามาภายหลัง เราเริ่มจากแนวความคิดพื้นฐานของตะวันตกก่อน หัดให้เด็กของเราคิดอย่างตะวันตกเป็นฝรั่งเสียก่อน แล้วจึงกลับมาเรียนรู้เรื่องของความคิดแบบไทยหรือวัฒนธรรมไทยภายหลัง หรือไม่ก็ไม่ต้องเรียนรู้เลย อันนี้เป็นข้อเสนอที่น่าจะพิจารณาทบทวน ในการที่น่าจะต้องจัดการแก้ไขในเรื่องการศึกษาต่อไป

ปัจจุบันนี้ เราเห็นว่าคนสมัยใหม่บางทีก็เกิดความหลงไป จนกระทั่งเห็นว่า สิ่งที่เป็นตะวันตกคือสิ่งที่เป็นสากล เราเคยมีเสื้อผ้าชุดสากล ซึ่งเสื้อผ้าชุดสากลก็เป็นเพียงเสื้อผ้าของตะวันตกเท่านั้น เสร็จแล้วต่อมาเราก็อาจจะมีจริยธรรมสากล ซึ่งจริยธรรมสากลจับพลัดจับผลูก็อาจจะเป็นเพียง จริยธรรมตะวันตก หรือเป็นการประมวลความคิดของจริยธรรมตะวันตก โดยผู้มีความคิดอย่างตะวันตกเท่านั้น ฉะนั้น จริยธรรมสากลก็ไม่เป็นสากลขึ้นมาได้ แล้วดั่งนี้จะทำให้เป็นสากลขึ้นมาได้อย่างไร

ความเป็นสากลนั้นอยู่ที่ตัวความจริง อะไรที่เป็นความจริงแท้ อันนั้นคือเป็นสิ่งสากล ฉะนั้นถ้าหากว่าพระพุทธศาสนาสอนสิ่งที่เป็นความจริง พระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งสากล แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสิน คนกลุ่มไหนคณะไหนหรือประชาชน ถ้าหากมองในแง่คนไทย คนไทยเก้าสิบกว่าเปอร์เซนต์นับถือพระพุทธศาสนา ยอมรับสัจธรรมของพระพุทธศาสนา จริยธรรมที่เป็นสากลในประเทศไทย ก็ต้องถือไว้ก่อนว่า คือ จริยธรรมของพระพุทธศาสนานั่นเอง ใครควรเป็นผู้มีสิทธิตัดสิน หรือกำหนด หรือเลือกความเป็นจริงและความเป็นสากลนี้ อันนี้ก็เป็นข้อที่เราควรจะนำมาพิจารณากันในการที่จะดำเนินการศึกษาต่อไป แต่อย่างน้อยคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย ก็ควรได้ศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในฐานะเรื่องของตนเองและเป็นสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวก่อน จะได้คิดพิจารณาสิ่งที่ตนนับถืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเองนั้นว่าเป็นจริง มีความเป็นสากลหรือไม่เพียงไร จากนั้นจะเรียนระบบจริยธรรมอะไรอื่น ก็จะเสริมภูมิปัญญาขึ้นโดยถูกลำดับถูกวิธี ซึ่งเขาก็จะตัดสินเลือกสิ่งที่แท้จริงเป็นสากลได้ด้วยตนเอง ไม่น่าจะจับเอาสิ่งที่เราวินิจฉัยเอาเองว่าเป็นสากล จากที่ห่างไกลมากำหนดใส่ให้เด็กเรียน โดยทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้ซึ่งตนเกี่ยวข้องอยู่ ทำให้เด็กสูญเสียประโยชน์ที่พึงได้โดยไม่สมควร และทำให้เด็กสับสนในเรื่องจริยธรรมโดยไม่จำเป็น

ปัจจุบันนี้ เรามีความตระหนักในการที่จะแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ระบบการศึกษา กันขึ้นมาเป็นระลอก แต่การถือแนวความคิดแบบตะวันตกนี้ได้หยั่งรากลึกในประเทศไทยมานานและหนักแน่นพอสมควร เพราะฉะนั้นการแก้ไขปรับปรุงนี้คงจะไม่ใช่กระทำได้ภายในเวลาอันสั้น อาจจะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ระบบการศึกษากันหลายครั้งหลายคราว กว่าที่แนวความคิดซึ่งเข้าถึงวัฒนธรรมไทยจะเด่นชัดขึ้นมาเป็นรากฐานสานโยงสายความคิดให้ถึงกันได้ต่อไป

ที่กล่าวมานี้ อาตมภาพถือว่าเป็นจุดหนึ่งที่พระพุทธศาสนาจะช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้ในขั้นพื้นฐาน อาตมภาพอาจจะไม่พูดถึงปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเรื่องการลักขโมย ฆ่าฟันอะไรต่างๆ ซึ่งอาตมภาพถือว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยที่ไม่สามารถจะพูดได้ในที่นี้ ฉะนั้นเรื่องความสำคัญก็คือว่าในขณะนี้ เราจะต้องสร้างความภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งชาติวัฒนธรรมของตนให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับของความรู้และสติปัญญา เมื่อเรามั่นใจในสติปัญญาของตัวเองที่มีอยู่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ภูมิใจมั่นใจอย่างงมงาย1 ถ้าได้อย่างนี้แล้ว การแก้ปัญหาก็จะมีทางเป็นไปได้ดีขึ้น ข้อความที่พูดไว้ข้างต้นว่า “ดึงออกจากไทย ส่งไม่ถึงอเมริกา” ก็คงจะเปลี่ยนไปได้ อาจจะกลายเป็น “ดึงเอาออกจากอเมริกา มาเสริมพลังปัญญาไทย” ว่าที่จริงก็ไม่เฉพาะอเมริกาเท่านั้น ควรจะดึงเอามาจากฝรั่งทั้งหมด หรือว่าให้ถูกแท้ก็คือดึงเอาที่ดีๆ จากอารยธรรมของทั้งโลกทีเดียว

ได้พูดมายาวนาน ธรรมกถาก็สมควรแก่เวลา อาตมภาพขอยุติไว้เพียงแค่นี้ ขออนุโมทนาอำนวยพรแก่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน

1ลักษณะ ๒ อย่างที่มักแสดงถึงความไม่มั่นใจในตนเอง หรือขาดความภูมิใจในวัฒนธรรมของตน คือ

๑. ตามปกติก็ตามเขาเรื่อยไป แต่พอเขาว่ากล่าวติเตียนชาติของตนหรือวัฒนธรรมของตน ก็โกรธขึ้นหน้า ด่าว่าเขา ไม่ฟังเหตุผล เต้นเป็นฟืนเป็นไฟ กลายเป็นอาการคลั่งชาติ ไม่ใช่มั่นใจหรือภูมิใจในชาติ

๒. ชอบแสดงความใจกว้าง โดยไม่รู้จักสภาพความเป็นจริง และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แสดงใจกว้างอย่างไม่มีหลัก คอยแต่คล้อยตามหรือยอมตามเขาไป โดยไม่รู้หลักการที่จะเป็นจุดยืนของตน

ความภูมิใจมั่นใจ ต้องเป็นไปด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน ใจกว้าง ฟังเขารับเอามาใช้ประโยชน์ได้ พร้อมกับยืนอยู่ในหลักการของตน (ยืนหยัดมั่น เพื่อจะก้าวต่อเมื่อไปดีกว่าแน่ๆ ไม่ใช่ยืนแข็งตาย)

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง