คำว่า วิสาขบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในพระพุทธศาสนา ที่ปรารภ วันประสูติ วันตรัสรู้ และ วันปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า
คำว่า วิสาขบูชา เป็นคำเรียกสั้นที่ตัดมาจากคำภาษาบาลีว่า วิสาขปุณณมีปูชา บางทีก็เขียนเป็น วิศาขบูชา ซึ่งเป็นรูปที่ตัดมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า วิศาขปูรณมีปูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๖
วันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เหตุการณ์ทั้งสามร่วมกันในวันนี้เป็นมหัศจรรย์
บรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประเภทรำลึกถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในอดีต วันวิสาขบูชา นับว่าเป็นวันสำคัญที่สุด ทั้งในแง่ที่เป็นวันเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ และในแง่ที่เป็นสากล คือเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีการจัดงานฉลองกันทั่วไปในประเทศทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนา
ว่าถึงเฉพาะในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชา คงจะได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยอาจจะสืบมาจากการติดต่อกับลังกาทวีป ที่มีงานวิสาขบูชามานานแล้ว และหนังสือเรื่องนางนพมาศ ก็เล่าเรื่องพิธีวันวิสาขบูชาในกรุงสุโขทัยไว้ด้วย ในสมัยอยุธยาก็เข้าใจว่ามีการฉลองใหญ่ ทั้งงานหลวงงานราษฎร์ ตลอด ๓ วัน ๓ คืน ครั้นกรุงแตกแล้ว ประเพณีจึงเสื่อมทรามไป จนมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระราชโองการ เมื่อ จ.ศ. ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) กำหนดให้มีงานสมโภชประจำปีเป็นการใหญ่ยิ่งกว่างานใดๆ อื่น1
ความในพระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา จ.ศ. ๑๑๗๙ ว่าทรงมีพระทัยปรารถนาจะบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษยิ่งกว่าที่ได้ทรงกระทำมา จึงมีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธาน ซึ่งได้ถวายพระพรถึงโบราณราชประเพณีงานวิสาขบูชาดังสมัยพระเจ้าภาติกราช แห่งลังกาทวีป2 เป็นเหตุให้ทรงมีพระราชโองการกำหนดวันพิธีวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ ครั้งละ ๓ วัน สืบมา
อย่างไรก็ตาม ครั้นกาลล่วงนานมา สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานวันวิสาขบูชาก็ค่อยซบเซาลงอีกโดยลำดับ
ในรัชกาลที่ ๔ คือประมาณ ๑๐๐ ปีเศษล่วงแล้ว เมื่อประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีดีอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริถึงความสำคัญของการประชุมใหญ่แห่งพระมหาสาวกของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต จึงได้ทรงจัดงาน วันมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง
เวลาล่วงมาอีกนานจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ หลังเสร็จงานแล้ว คณะสงฆ์ไทยครั้งนั้น ได้ประชุมกันมีมติว่า วันเพ็ญเดือน ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระเบญจวัคคีย์ เป็นวันที่สำคัญมาก เพราะเป็นการประดิษฐานพระพุทธศาสนา สมควรจัดขึ้นเป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองเป็นพุทธบูชาอีกวันหนึ่ง วันอาสาฬหบูชา จึงได้เกิดมีขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ยังมีวันสำคัญประเภทบูชาอีกวันหนึ่ง คือ วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่ระลึกงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า วันอัฏฐมีบูชานี้ แม้ว่าคงจะได้มีมาแต่โบราณใกล้เคียงกับวันวิสาขบูชา แต่ไม่มีประวัติเด่นชัด ทั้งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันก็ไม่จัดเข้าเป็นวันสำคัญในทางราชการ จึงไม่จำต้องนำมาเปรียบเทียบด้วย
ส่วนในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ วันสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปมีเพียงวันเดียว คือ วันวิสาขบูชา แม้ว่าการคำนวณวันเวลา และการเรียกชื่อวันจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ประเทศพุทธศาสนาในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานตามปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือน ๖ แต่ชาวพุทธญี่ปุ่นจัดงานฉลองวันประสูติพระพุทธเจ้าตามปฏิทินสุริยคติในวันที่ ๘ เมษายน คนไทยเรียก วิสาขบูชา คนลังกาเรียกเพี้ยนไปว่า วีสัค หรือ วีซัค (Vesak หรือ Wesak) ดังนี้ เป็นต้น แต่สาระสำคัญของงานก็คงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ปัจจุบันในวงการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ได้มีการพยายามชักชวนให้ชาวพุทธทุกประเทศจัดงานวันวิสาขบูชา พร้อมตรงในวันเดียวกัน คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเรียกชื่อวันนั้นว่า “The Buddha Day”
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดา ผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยตรง เมื่อมีวันวิสาขบูชาแล้ว จึงมีวันอาสาฬหบูชา และมาฆบูชา เป็นต้นได้ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้ว มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เหตุการณ์อื่นๆ เช่นการแสดงธรรม และการประชุมพระสาวกจึงติดตามมา แม้พิจารณาในแง่นี้ ก็ต้องนับว่าวันวิสาขบูชาสำคัญที่สุด
การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ปรากฏขึ้นตรงในวันเดียวกัน คือวันเพ็ญเดือน ๖ เป็นความประจวบพอดีที่หาได้ยากยิ่งนัก หรืออาจจะหาไม่ได้อีกเลย นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ทำให้วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดทั้ง ๓ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระพุทธเจ้า ทั้งวันที่พระองค์อุบัติเป็นมนุษย์ ทั้งวันที่อุบัติเป็นพระพุทธเจ้า และวันที่สิ้นสุดพระชนมชีพ วันวิสาขบูชาจึงมิใช่แต่เพียงเป็นวันที่สำคัญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่น่าอัศจรรย์อีกด้วย และความมหัศจรรย์ข้อนี้จัดได้ว่าเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งแห่งความเป็นอัจฉริยบุรุษของพระพุทธองค์
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในวันวิสาขบูชานี้ แม้ว่าจะสำคัญและน่าอัศจรรย์เพียงใด ก็เป็นคุณวิเศษจำเพาะของพระพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว คุณค่าที่พุทธศาสนิกชนจะรับมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ก็เพียงแต่ให้บังเกิดความภาคภูมิใจในองค์พระบรมศาสดา และเป็นเครื่องเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธาให้แน่นแฟ้น แต่ก็คงสุดวิสัยที่จะนำมาเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติตาม
ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่เป็นสิ่งซึ่งนำมาปฏิบัติได้ ให้ผลสมจริง เหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ในทางปฏิบัติเช่นนี้ด้วย จึงนับได้ว่า เป็นความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ที่แท้จริง ยิ่งใหญ่กว่าความสำคัญและความน่าอัศจรรย์อย่างที่กล่าวมาในตอนแรกเสียอีก ความสำคัญและความน่าอัศจรรย์เช่นว่านี้ ก็คือความสำคัญและความน่าอัศจรรย์แห่งความหมาย ซึ่งเราทั้งหลายสามารถถือเป็นแบบอย่าง นำไปประพฤติปฏิบัติตามได้
ความประจวบพอดีกันของเหตุการณ์ทั้ง ๓ ในวันวิสาขบูชา มีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ และความเลื่อมใสศรัทธา แล้วกระทำอามิสบูชาต่อพระรัตนตรัย แต่ความหมายอันลึกซึ้งที่ประสานกันของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นมีความสำคัญและความน่าอัศจรรย์ โดยเป็นอนุสติเตือนใจให้เราระลึกถึงหลักธรรมแล้วกระทำปฏิบัติบูชา
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และอาหาร แม้จะสำคัญก็ยังเป็นรอง ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมจึงจะสูงสุดและสำคัญอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ทั้งแก่สันติสุขของพหูชน และเป็นเครื่องสืบต่ออายุพระศาสนาที่มั่นคงแน่นอน เมื่อปฏิบัติบูชามีอยู่ อามิสบูชาก็เป็นกำลังสนับสนุนและพลอยมีความสำคัญ แต่ถ้าไร้ปฏิบัติบูชา อามิสบูชาก็หมดความหมาย
การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นตรงกันในวันเดียว ความหมายของเหตุการณ์ทั้งสามนั้นก็เกี่ยวพันประสานกันเป็นอันเดียว
การประสูติ ของพระองค์ มีความหมายเตือนให้เราระลึกว่า คนทุกคนแม้จะเริ่มต้นชีวิตโดยความเป็นมนุษย์มีกำเนิดไม่แตกต่างกัน แต่ต่อจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว มนุษย์ก็แสดงความเป็นสัตว์ประเสริฐออกมา ด้วยความเป็นผู้สามารถที่จะฝึกฝนอบรม บุคคลผู้มีจุดหมายอันสูงส่ง มุ่งบำเพ็ญความดีงามปรับปรุงตนอยู่ตลอดเวลา อาศัยความเพียรและสติปัญญาฝึกฝนตนให้บรรลุความเป็นมนุษย์ผู้เยี่ยมยอดได้ กลายเป็นศาสดาที่เคารพบูชาของปวงเทพและหมู่มนุษย์ นำประโยชน์สุขมาให้ไม่เฉพาะแต่ตนเองผู้เดียว แต่เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งหมดด้วย พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างแสดงประจักษ์พยานของภาวะเช่นนี้ ทุกคนจึงควรมีกำลังใจเพียรพยายามใช้สติปัญญาพิจารณา บำเพ็ญความดีงาม ฝึกฝนปรับปรุงตนให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นอยู่เสมอ
การตรัสรู้ เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า สิ่งสำคัญที่เป็นผลสำเร็จ และเป็นจุดมุ่งหมายแห่งความเพียรพยายามและการใช้สติปัญญาของพระพุทธเจ้า ซึ่งทำให้พระชนมชีพของพระองค์กลายเป็นสิ่งมีคุณค่าอย่างสูงสุดนั้น หาใช่การได้มาซึ่งสิ่งสำหรับปรนเปรอบำรุงบำเรอความสุขส่วนตนไม่ แต่เป็นการเข้าถึงความดีงามอย่างสูงสุดที่ทำให้พระชนมชีพของพระองค์เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ พร้อมทั้งเผื่อแผ่ขยายความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้นออกไปให้แก่ชีวิตอื่นๆ ด้วย เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่โลก การเข้าถึงความดีงามนี้เอง ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะผู้เป็นมนุษย์ กลายเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ความดีงามที่ว่านี้ คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือ “พระธรรม”
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทำให้ธรรมปรากฏขึ้นในโลก ธรรมปรากฏขึ้นแล้ว ก็กระจายความดีงามออกไป ด้วยคำสอนที่สาดแสงสว่างส่องทางแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงาม นำไปสู่ประโยชน์สุขและความอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น
นอกจากนี้ การตรัสรู้ยังสอนเราด้วยว่า การบรรลุผลสำเร็จที่ดีงามนั้น มิใช่จะกระทำได้ง่าย พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ต้องทรงบำเพ็ญเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาแสวงหาค้นคว้าทดลองด้วยความเด็ดเดี่ยวและอดทน จนบางคราวแทบจะสิ้นพระชนมชีพตลอดเวลายาวนานถึง ๖ ปี ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อทรงนำธรรมอันเป็นหลักแห่งความจริงความดีงามนั้น ไปสั่งสอนผู้อื่น ก็ต้องทรงเสียสละลำบากพระกาย เสด็จเที่ยวไปทุกถิ่น แม้ที่แสนจะกันดารและฝ่าภยันตราย บุคคลที่จะทำความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่หมู่ชน ก็ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทา โดยการเพียรพยายามด้วยความเสียสละ อดทน ไม่ยอมท้อถอย
การปรินิพพาน มีความหมายที่เป็นอนุสติ ให้ระลึกว่า พระชนมชีพของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นชีวิตมนุษย์ เมื่อถึงคราวสิ้นสุด ก็ดับสิ้นไปตามกาลเวลา แต่พระธรรมที่ได้ทรงค้นพบ เปิดเผยไว้ ทำให้ปรากฏในโลกแล้ว เป็นหลักแห่งความจริงและความดีงามอันอมตะ ไม่เคลื่อนคลาดแตกดับ เป็นสิ่งไม่ตาย ยังคงส่องทางแห่งปัญญาเพื่อบรรลุประโยชน์สุขแก่หมู่มนุษย์สืบต่อไป และทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ไว้ทำหน้าที่รักษาสืบทอดส่งต่อประทีปแห่งธรรมแทนพระองค์ต่อๆ มาอีกด้วย แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงหยุดเลิกพุทธกิจ ก็ได้ทรงหยุดเลิกในเมื่อมีอมตธรรมสำหรับอำนวยอมตประโยชน์สืบต่อมา การปรินิพพานเป็นการดับสนิทในเมื่อกิจสำเร็จ การดำเนินให้เข้าถึงอมตธรรมและบรรลุอมตประโยชน์เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลาย ทั้งที่จะต่างคนต่างทำ และร่วมกันช่วยกันทำต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากจะมองความหมายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก ย่อมเห็นได้ว่า บรรดาเหตุการณ์สำคัญ ๓ อย่าง ในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้านั้น การตรัสรู้ ต้องนับว่ามีความสำคัญสุดยอด การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของชีวิตที่เรียกว่าการเกิด การตายนั้น มนุษย์ทุกคนมีเสมอเหมือนกัน แต่ข้อพิเศษอยู่ที่ชีวิต ซึ่งเป็นไปในระหว่างจุดต้นและสุดทั้งสองนี้
สิ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า และทำให้เราเคารพบูชาพระองค์ ก็คือการตรัสรู้อันพ่วงพร้อมมาด้วยการกระทำต่างๆ เพื่อการตรัสรู้ และพุทธกิจต่างๆ ที่ได้ทรงบำเพ็ญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรัสรู้ แต่เพราะพระชนมชีพของพระองค์ เป็นฐานที่ตั้งที่อาศัยแห่งการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจเหล่านั้น วันประสูติ และวันปรินิพพานของพระองค์จึงย่อมพลอยมีความสำคัญตามไปด้วย
ความเป็นพระพุทธเจ้าอันเกิดจากการตรัสรู้ และการทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มนุษยชาติ ที่เรียกว่า “พุทธกิจ” นี้โดยแท้ ที่เป็นฐานรองรับความสำคัญ และความน่าอัศจรรย์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระองค์ เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเคารพบูชาพระองค์ และเป็นส่วนสาระสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะพึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระองค์ ดังคำพรรณนาแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่คนหลายราย หลายพวก หลายหมู่ ได้กล่าว และบันทึกเอาไว้เป็นประจักษ์หลักฐาน
ความหมายของวันวิสาขบูชาที่ได้กล่าวมานั้น แม้จะลึกซึ้งและสำคัญ ก็ยังจำกัดแคบ เป็นเชิงคติเกี่ยวกับชีวิตบุคคล คือพระชนมชีพของพระบรมศาสดา วันวิสาขบูชายังมีความหมายที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้น ซึ่งเป็นความหมายในขั้นหลักการของพระพุทธศาสนา ตรงกับความจริงที่ว่า การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และในแง่นี้ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษ ถือได้ว่าเป็นการขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยที่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีความหมายเชิงหลักการ ดังนี้
๑. การประสูติของพระพุทธเจ้า คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์
การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นความหมายที่โยงถึงกันอยู่ในตัว
การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะมีสัญลักษณ์อยู่ที่การทรงประกาศการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ด้วยพระดำรัสที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโหมสฺมิ โลกสฺส”3 แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก”
พระวาจานี้ทรงประกาศท่ามกลางสังคมมนุษย์ที่มีอิทธิพลของการนับถือเทพเจ้าครอบคลุมและครอบงำไปทั่วทั้งหมด คำว่า “เชฏฐ” เป็นต้นนั้น เป็นคำแสดงฐานะของพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด มนุษย์ยุคนั้นเชื่อว่าชีวิตและสังคมของตนจะดีร้ายเป็นไปอย่างไร ย่อมขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้าที่จะลงโทษหรือโปรดปรานดลบันดาลให้เป็นอย่างไร สิ่งที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อนำผลดีมาสู่ชีวิต ครอบครัว และสังคมของตน ก็คือการยอมสยบต่อเทวบัญชา และการอ้อนวอนบูชาขอผลที่ปรารถนา ด้วยการเซ่นสรวงสังเวย และการบูชายัญ
เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ประกาศหลักการที่เป็นการปฏิวัติความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีคุณความดีและมีปัญญาญาณสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นบุคคลผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด ที่เรียกว่า “พุทธะ” ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลายตลอดแม้กระทั่งพระพรหมก็จะน้อมนบบูชา ฉะนั้น มนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนสูงสุด คือ พุทธะนี้ต่างหาก ที่เป็น “อัคคะ” (ผู้เลิศ) เป็น “เชฏฐะ” (ผู้เป็นใหญ่) เป็น “เสฏฐะ” (ผู้ประเสริฐ) หาใช่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมผู้เป็นเจ้าไม่
ด้วยหลักการนี้ พระพุทธศาสนาได้กระตุ้นและกระตุกมนุษย์ให้หันมาใส่ใจในศักยภาพแห่งมนุษย์ที่มีอยู่ในตนเอง และเกิดความสำนึกในการที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ พฤติกรรม ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สันติ สุข และอิสรภาพ แห่งชีวิตและสังคมของตนจะสัมฤทธิ์หรือไม่ และแค่ไหนเพียงใด อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตัวของมนุษย์เอง หาใช่อยู่ที่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่ มนุษย์ไม่ควรจะมัวคิดหาทางพะเน้าพะนออ้อนวอนเอาอกเอาใจเทพเจ้า แต่ควรหันมาเพียรพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จด้วยสติปัญญาของตน
การประสูติของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิวัติในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ด้วยการประกาศว่า อำนาจสูงสุดที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน และการกระทำด้วยปัญญาที่พัฒนาขึ้นมาให้รู้ความจริงของธรรมชาติ หาใช่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่
๒. การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการปรากฏแห่งธรรมขึ้นมาเป็นใหญ่สูงสุด
อิสรภาพของมนุษย์ ที่ทรงประกาศในการประสูตินั้น จะบรรลุผลเป็นจริงก็เพราะมีการตรัสรู้ กล่าวคือเมื่อมนุษย์รู้เข้าใจมองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วปฏิบัติการทั้งหลายได้ถูกต้องตามธรรม โดยฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญาญาณจนตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้ว มนุษย์จึงเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด
การตรัสรู้ คือการบรรจบประสานระหว่างปัญญาของมนุษย์ กับธรรม คือความจริงของธรรมชาติ เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า “ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น4 มีใจความว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐ ผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัย ย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน . . . เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย . . . ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ ฉะนั้น”
ธรรมคือความจริงของธรรมชาตินั่นแหละยิ่งใหญ่สูงสุด หาใช่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลอันใดไม่ แม้แต่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจของธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นในธรรมชาตินั่นเอง ธรรมย่อมเหนือเทพ เทพจะเหนือธรรมไปไม่ได้ เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะได้เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตนให้รู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรม เพราะมนุษย์มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้ลุถึงธรรมได้
เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ก็มีความเป็นอิสระที่จะเป็นอยู่และทำการอย่างประสานกับธรรม ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้น ซึ่งมีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจคอยรอคำสั่งบัญชาของเทพยดาพรหมเจ้า ที่ไม่รู้ว่าจะต้องประสงค์อย่างใด และจะขัดเคืองหรือโปรดปรานอย่างไหน เมื่อใด
๓. การปรินิพพาน คือการเตือนจิตสำนึกในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท
ด้านหนึ่งของธรรมหรือความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ก็คือความไม่เที่ยงแท้คงทน และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ของสิ่งทั้งหลาย ธรรมคือความจริงนี้มีอยู่ หรือกำกับอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะการที่ชีวิตนั้นจะต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย
ในขณะที่ความเป็นจริงของธรรมบอกเราว่า เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติ มีความสามารถ และมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจและปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรมคือกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐ บรรลุสันติสุขและอิสรภาพแท้จริง ก็ต่อเมื่อมีปัญญาเข้าถึงธรรมและสามารถทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดำเนินตามธรรม แต่พร้อมกันนั้นธรรมนั่นเองก็กำกับความจริงไว้ว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราทุกอย่างไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะนิ่งนอนใจประมาทอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ามัวประมาทผัดเพี้ยนละเลย ชีวิตของเราอาจหมดโอกาสที่จะพัฒนาให้เข้าถึงคุณค่าและประโยชน์ที่พึงได้จากธรรม
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และประกาศแก่โลกแล้วนั้น มาปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเรา และเพื่อให้ชีวิตและสังคมของเราดำเนินไปสู่ความดีงาม ความมีสันติสุขและอิสรภาพ อันพึงได้จากธรรมนั้น เราจึงจะต้องเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท หรือดำเนินไปในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท
เพราะฉะนั้น เมื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระวาจาสุดท้ายที่เรียกว่า “ปัจฉิมวาจา” อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายและความหมายแห่งการปรินิพพานว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”5 แปลว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไป เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”
ถ้าวันวิสาขบูชาจะช่วยให้เราระลึกถึงความหมายของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อย่างเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนาตามที่ได้กล่าวมาแล้ว และเตือนใจให้เรานำหลักการนั้นมาใช้ประโยชน์กันอย่างจริงจัง การบูชาของเราก็จะเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม อย่างสมคุณค่าของวันวิสาขบูชาโดยแท้จริง และจะช่วยให้มนุษยชาติก้าวขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งการพัฒนามนุษย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศนำไว้นานแล้ว ได้จริงจังเสียที แต่ถ้าจะคิดเอาง่ายๆ อย่างน้อยก็ควรจะระลึกพิจารณาดังที่จะกล่าวต่อไป
ในวันเกิดบ้าง ในวันตายบ้าง ของบรรพบุรุษ บุรพการีชน คนที่เราเคารพนับถือ ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย คนทั้งหลายนิยมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงความเคารพนับถือและความมีน้ำใจต่อบุคคลผู้นั้น ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชา อันเป็นวันที่ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจะไม่พึงทำการแสดงออกอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นการแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดาของตน
ในวันที่ระลึกถึงบุคคลผู้มีความสำคัญของวงศ์ตระกูล ของกลุ่มชน หรือท้องถิ่นหนึ่ง ก็ยังมีการจัดพิธีที่ระลึกหรืองานเฉลิมฉลองกัน ไฉนเล่าในวันวิสาขบูชาที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ประชาชนจะไม่พึงจัดพิธีสมโภชหรืองานมหาบูชา
พุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะแสดงน้ำใจต่อพระบรมศาสดา อย่างน้อย หากจะสงบจิต ระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าสักข้อหนึ่ง ก็คงจะพอชื่อว่าได้ทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นพุทธบูชา
ถ้าสามารถพิจารณาตั้งจิตคิดไปตามให้เห็นความหมายด้วย ก็จะชื่อว่าได้กระทำพุทธบูชาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก
หากมองเห็นความหมายที่จะพึงปฏิบัติได้แล้วนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับประพฤติตาม ก็ย่อมจะได้ชื่อว่า เป็นผู้กระทำปฏิบัติบูชา อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุด ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงแสดงออกได้ต่อพระบรมศาสดาของตน นับว่าเป็นอานิสงส์อย่างสูงสุดของวันวิสาขบูชา
แท้จริง การที่เราบูชาพระพุทธเจ้านั้น มิใช่เป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงต้องการได้รับผลประโยชน์อะไรจากเรา แต่เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ผลดีหรือประโยชน์ก็เกิดแก่ตัวเราผู้บูชานั้นเอง ทั้งแก่ชีวิตของเรา และแก่สังคมของเราทั้งหมด
เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า จิตใจของเราก็โน้มน้อมไปในทางแห่งความดีงาม ทำให้จิตใจเจริญงอกงาม เอิบอิ่ม เป็นสุข
เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า เราก็น้อมนำเอาพระคุณความดีของพระพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในจิตใจของเรา ทำให้เรามั่นใจที่จะดำเนินต่อไปในวิถีทางแห่งความดีงาม และประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระพุทธจริยาของพระองค์
เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเตือนใจตัวเราเองให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลายที่พระองค์ทรงสั่งสอน ซึ่งเราจะต้องเพียรพยายามปฏิบัติบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะจบสิ้นสมบูรณ์
เมื่อเราทั้งหลายพากันบูชาพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นสัญญาณของการที่เราเคารพยกย่องนิยมบุคคลที่ดีมีธรรม และการเคารพเชิดชูธรรมที่เป็นความดีและความจริง ซึ่งหากสังคมยังยึดถือในการบูชาอย่างนี้ สังคมก็จะดำรงรักษาธรรมไว้ได้ และธรรมก็จะคุ้มครองรักษาสังคมให้มีสันติสุขอย่างยั่งยืน
หากระลึกถึงพุทธภาษิตหรือคำสอนใดๆ ไม่ได้เลย และไม่สามารถทำอะไรอื่นอีกได้ ก็พึงสละเวลาทำใจให้สงบ แล้วอ่านหรือฟังคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าสักท่อนหนึ่งตอนหนึ่ง ถ้าในขณะที่อ่านหรือฟัง จิตใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น หรือมีใจปลอดโปร่งโล่งเบาเบิกบานผ่องใส ก็นับว่าได้มีส่วนร่วมฉลองวันวิสาขบูชา และกระทำพุทธบูชาในวันสำคัญนี้ด้วย