การศึกษา: พัฒนาการหรือบูรณาการ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บูรณาการในการศึกษา

ทีนี้ ลองหันมาดูระบบบูรณาการส่วนย่อยลงมา ขอย้อนมองเฉพาะให้แคบลงคือเรื่องการศึกษา ในการศึกษาที่ผ่านมานี้ เราได้เน้นพัฒนาการกันมาก เช่นว่า ในพัฒนาการของคนคนหนึ่งก็อาจจะมีนักการศึกษาที่แยกพัฒนาการออกไปเป็น ๔ ด้าน คือ พัฒนาการทางด้านกาย พัฒนาการทางด้านสังคม พัฒนาการทางด้านอารมณ์ พัฒนาการทางด้านปัญญา ๔ อย่างนี้เอามาจากฝรั่ง ฝรั่งบอกว่า ต้องมี

  1. Physical Development คือ พัฒนาการทางกาย
  2. Social Development คือ พัฒนาการทางสังคม
  3. Emotional Development คือ พัฒนาการทางอารมณ์
  4. Intellectual Development คือ พัฒนาการทางปัญญา

อันนี้เราใช้แบบฝรั่งมานาน เพิ่งมาพบเมื่อไม่นานนี้เอง ไปๆ มาๆ ปรากฏว่ามีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ตรงกันเลย คือมีคำอธิบายอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นภาวิตัตตะ แปลว่า ผู้มีตนที่ได้พัฒนาแล้ว แล้วท่านก็อธิบายว่า พัฒนาแล้วอย่างไร มีตนพัฒนาแล้ว คือ

  1. ภาวิตกาโย มี กายภาวนา คือ มีการพัฒนากาย
  2. ภาวิตสีโล มี ศีลภาวนา คือ มีการพัฒนาศีล ศีล คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เป็นพัฒนาการในการสัมพันธ์ ทางสังคม
  3. ภาวิตจิตโต มี จิตภาวนา คือ มีพัฒนาการทางจิตใจ พัฒนาการทางจิตใจในด้านของ heart ฝรั่งเขาเรียกว่า Emotional เป็นด้านอารมณ์ ที่แท้ก็คือเรื่องของจิตใจ
  4. ภาวิตปัญโญ มี ปัญญาภาวนา คือมีพัฒนาการทางด้านปัญญา แต่ของเราไม่ใช้ว่า Intellectual Development เราใช้ว่า Wisdom Development

ตกลงว่า ไปๆ มาๆ เพิ่งมาพบว่า ที่เราเอามาจากฝรั่งเรียกว่า พัฒนาการ ๔ อย่างนั้น ที่แท้ก็มีอยู่แล้วในคัมภีร์พุทธศาสนาที่เก่าแก่ แต่ไม่ได้เอาออกมาใช้ เป็น ๔ อย่างเหมือนกัน ความหมายก็มีความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อย เช่น กายภาวนา หรือพัฒนากายของพุทธศาสนา ท่านบอกว่าหมายถึงการพัฒนา ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ไม่เฉพาะการพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดีหรือพัฒนาทักษะเท่านั้น แต่หมายถึงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้สัมพันธ์อย่างถูกต้อง ส่วนสามข้อต่อจากนี้ไปคล้ายกันมาก แต่มีขอบเขตความกว้างแคบกว่ากันบ้าง อันนี้ก็เป็นการพูดนอกเรื่องไปหน่อย แต่รวมความแล้วก็คือ ในระยะที่ผ่านมา เราไปเน้นด้านพัฒนาการกันมาก

อย่างไรก็ตาม นักปราชญ์ที่พูดถึงพัฒนาการหลายท่าน ในหลายกรณี ก็มีความสำนึกในบูรณาการอยู่ด้วยพร้อมกัน เช่นจะมองเห็นว่า พัฒนาการทั้ง ๔ ด้าน อิงอาศัยซึ่งกันและกัน และต้องไปด้วยกัน ซึ่งในพระพุทธศาสนานั้นแน่นอนที่จะต้องเน้นว่า พัฒนาการทั้ง ๔ นี้มีความเชื่อมโยงอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเสริมซึ่งกันและกัน แต่ในเมื่อเราไม่ได้นำออกมาพูดให้ชัด ไม่เน้น ไม่ย้ำ ก็ปรากฏว่า ในหลายกรณีอีกเหมือนกัน เรามองข้ามบูรณาการไปเลย บูรณาการนี้ไม่ได้เอามาใช้ หรืออย่างน้อยไม่ได้เอามาเน้นให้ปรากฏชัดขึ้นในวงการศึกษา เพราะฉะนั้น ในวงการศึกษาเท่าที่เป็นมา ก็เลยปรากฏสภาพของการขาดบูรณาการทั่วไปหมด ซึ่งก็เป็นลักษณะที่สอดคล้องกับยุคอุตสาหกรรม

เริ่มต้นทีเดียว ในระดับองค์รวมใหญ่ หรือในระบบบูรณาการที่กว้างขวางที่สุดก็คือ การศึกษาเป็นภาระของใคร การสอนเป็นภาระของใคร ถ้าพูดโดยองค์รวมแล้วมีหลายส่วน คือสถาบันในสังคมหลายสถาบันจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวหรือบ้านกับวัด และชุมชน

ในวงกว้าง สื่อมวลชน จนกระทั่งถึงโรงเรียน มีหน้าที่ร่วมกันในการที่จะให้การศึกษาให้การสอนแก่เด็ก ซึ่งถ้าทำงานร่วมกันครบทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะเกิดบูรณาการกันขึ้น แต่ในสังคมที่ผ่านมานี้ โรงเรียนได้เป็นผู้ชำนาญพิเศษในการให้การศึกษา ส่วนสถาบันอื่นก็มีความโน้มเอียงที่จะโยนภาระในการให้การศึกษาแก่โรงเรียน จนกระทั่งกลายเป็นว่า โรงเรียนแทบจะผูกขาดการศึกษาไป ซึ่งที่จริงโรงเรียนก็อาจจะไม่ได้ต้องการที่จะผูกขาดเสียทีเดียว ครูอาจารย์ไม่ได้ต้องการที่จะผูกขาด แต่มันจะเป็นไปเอง เพราะว่าสังคมนี้โยนภาระให้ หรือแนวทางการบริหารประเทศชักนำให้เป็นไป ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมอุตสาหกรรมเองที่ว่า สังคมจะแยกเป็นหน่วยย่อยที่แต่ละหน่วยชำนาญพิเศษในด้านของตนๆ ตัวอย่างหนึ่งที่จะมองเห็นไม่ยาก คือสื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลมากในการศึกษา แต่เมื่อสื่อมวลชนไม่เอาใจใส่รับผิดชอบต่อบทบาทของตนในการศึกษานั้น ผลจะเป็นอย่างไร นี่เป็นการขาดบูรณาการเริ่มแรกทีเดียวในระบบที่กว้างขวางที่สุด เพราะว่าผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาไม่ได้เข้ามาร่วมให้การศึกษาด้วย

ทีนี้ต่อไป ในระดับการเรียน วิชาการต่างๆ ที่เล่าเรียนก็แตกแยกออกไปเป็นเฉพาะด้านอย่างที่พูดข้างต้นแล้ว แต่ละสาขาเจริญในแนวทางที่ตรงออกไป ตรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ละวิชา ผู้ที่อยู่ในสาขาวิชาของตัวก็ต้องพยายามค้นคว้า คิดค้น พัฒนาวิชาการของตนให้เจริญออกเรื่อยๆ ไป ถือว่าการเจริญแบบนั้นคือความสมบูรณ์ ซึ่งที่จริงไม่มีความสมบูรณ์เกิดขึ้น ในแง่หนึ่ง ก็เป็นการดีที่ก้าวหน้า แต่ที่ผิดพลาดก็อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ วิชาการเหล่านั้นแต่ละฝ่าย แต่ละสาขา ต่างก็พัฒนากันไปโดยไม่มาโยง ไม่มาประสานเข้าด้วยกัน จึงเกิดผลร้ายอย่างที่กล่าวมา นี่ก็คือการขาดบูรณาการในระดับที่ซอยลงไป

ทีนี้ต่อไปอีก ขอยกวิชาหนึ่งเป็นตัวอย่าง วิชาจริยศึกษา ซึ่งโดยสภาพของมันเองเป็นวิชาที่จะต้องบูรณาการมากที่สุด เพราะเป็นวิชาที่ต้องเรียนด้วยชีวิต ก็พลอยถูกจัดให้เป็นวิชาเฉพาะไปด้วย ครูจะต้องมีความชำนาญพิเศษ กลายเป็นว่า เราต้องมีครูจริยศึกษาต่างหากจากครูอื่น เป็นครูที่ชำนาญพิเศษในเรื่องจริยธรรม นี่ก็กลายเป็นปัญหา คือว่า แม้แต่วิชาจริยศึกษาก็ถูกแยกเป็นวิชาเฉพาะ

วิชาจริยศึกษาไม่เหมือนวิชาการอื่นๆ ทำไมจึงบอกว่าเป็นวิชาที่ต้องการบูรณาการมากที่สุด วิชาการอื่นๆ นั้นมีอยู่หลายสาขาที่เราสามารถแยกได้ เพราะคนแต่ละคนจะเอาวิชานั้นไปหาเลี้ยงชีพเฉพาะอย่าง เช่น คนเรียนวิศวกรรมจะไปเป็นวิศวกร เขาก็เรียนเฉพาะวิศวกรรมได้ คนเรียนสถาปัตยกรรมจะไปเป็นสถาปนิก ก็เรียนเฉพาะสถาปัตยกรรมได้ เขาอาจจะเรียนเศรษฐศาสตร์ไปเป็นนักเศรษฐกิจ เขาอาจจะเรียนการเมืองไปเป็นนักปกครอง วิชาเหล่านี้ไม่ต้องการความสัมพันธ์ระหว่างกันมากนัก โดยเฉพาะวิชาที่เป็นพวกวิทยาศาสตร์ในยุคอุตสาหกรรมจะมีความชำนาญพิเศษเฉพาะได้มาก เพราะฉะนั้น คนก็อาจจะไปประกอบอาชีพเฉพาะวิชานั้นๆ โดยไม่ต้องการความรู้ด้านอื่น แต่ทุกคนจะต้องมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ความต้องการที่เหมือนกันก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ทำอย่างไรจึงจะนำวิชาการนั้นๆ ไปใช้ประโยชน์ให้ดี นี้คือจริยศึกษา

ถ้าจะเป็นวิศวกรก็ควรเป็นวิศวกรที่ดีมีความรับผิดชอบ ก็ต้องการจริยศึกษา เป็นสถาปนิกก็ควรเป็นสถาปนิกที่มีคุณธรรม ก็ต้องการจริยศึกษา ทางการแพทย์ก็ต้องการแพทย์ที่มีคุณธรรม ก็ต้องมีจริยศึกษาเหมือนกัน ฉะนั้น จริยศึกษาจึงเป็นวิชาที่ต้องบูรณาการเข้าในทุกวิชา แต่ก็พลอยถูกจัดเป็นวิชาชำนาญพิเศษเฉพาะไปด้วย ก็เลยเป็นวิชาต่างหากไปในที่สุด เมื่อแยกเป็นวิชาชำนาญพิเศษอย่างนี้ มันก็เสี่ยงต่อการที่จะกลายเป็นวิชาท่อง วิชานกแก้วไป ไม่เข้ากับชีวิตที่แท้จริง นี่ก็เป็นปัญหา

ทีนี้มาในปัจจุบัน เราได้เริ่มเน้นเรื่องบูรณาการกันมากขึ้น อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เราได้เริ่มมีการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ แต่เท่าที่ทราบ การบูรณาการซึ่งมีในหลักสูตร และการสอนนี้ ก็เพิ่งมีในระดับประถมศึกษาเท่านั้น นี่ก็เป็นการเริ่มต้นและก็เพิ่งได้นิดเดียว ทีนี้ปัญหาว่าต่อไปเราจะทำอย่างไร ถ้าเรายอมรับความจริงในเรื่องบูรณาการว่ามีความสำคัญแล้ว ในโลกยุคต่อไปนี้ ถ้าสังคมเขามีความต้องการอย่างนี้ สังคมมีแนวโน้มแล้วว่าจะต้องให้สิ่งทั้งหลายมีบูรณาการ วงการศึกษาจะมองในแง่ทำงานให้สัมพันธ์กับความเป็นจริงก็ตาม หรือจะสนองความต้องการของสังคมที่มีทรรศนะแบบบูรณาการก็ตาม นักการศึกษาก็จะต้องทำอันนี้ให้ได้ คือจะทำอย่างไรให้เกิดบูรณาการขึ้น นี่ก็เป็นปัญหา

ทีนี้ในชั้นประถมศึกษา หลักสูตรและการสอนแบบบูรณาการก็ยังง่ายอยู่ แต่ยิ่งชั้นสูงขึ้นไป ภาวะที่เป็นเรื่องของความชำนาญพิเศษ หรือ specialization ก็ยิ่งมากขึ้น แล้วความชำนาญพิเศษนี้ ในระดับสูงอย่างอุดมศึกษา ก็ยิ่งมีความจำเป็นที่จะสนองความเจริญก้าวหน้าของยุคอุตสาหกรรม หรือยุคเทคโนโลยีนี้ด้วย การบูรณาการก็เลยรู้สึกเป็นปัญหาที่ว่าจะทำได้ยาก ทีนี้จะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของปัญหาที่จะต้องฝากไว้ว่า ต่อไปเราจะบูรณาการกันอย่างไร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง