มหาวิทยาลัยกับงานวิจัยทางพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

จะรู้ดีในเรื่องไทย ก็ต้องเข้าใจพระพุทธศาสนา

ในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสังคมไทย หรือวัฒนธรรมไทยนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ เรื่องพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะไปอ่านหนังสือของ S. J. Tambiah ซึ่งเป็นโปรเฟสเซอร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในอังกฤษ ต่อมาย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐ แล้วไปประจำที่ฮาร์วาร์ดปัจจุบันนี้ เข้าใจว่ายังคงเป็นโปรเฟสเซอร์ในวิชามานุษยวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ท่านผู้นี้ ได้เข้ามาศึกษาวิจัยในเมืองไทยหลายหน มาบ่อยๆ ตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งแก่ บางทีอยู่ตั้งหลายปี ไปหาชาวบ้านในหมู่บ้าน มาทำวิจัยแบบ postdoctoral research คือ เป็นงานวิจัยของผู้ผ่านปริญญาเอกไปแล้ว ท่านผู้นี้ได้ทำมาแล้วหลายเรื่อง แต่ละเรื่องเป็นหนังสือเล่มใหญ่ๆ ทั้งนั้น เช่น Buddhism and the Spirit Cults in Northeast Thailand ตอนเข้ามาทำวิจัยเรื่องนี้ได้อยู่เมืองไทยถึง ๓ ปี ต่อมาก็ทำวิจัยเขียนเรื่องใหญ่ออกมาอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า World Conqueror and World Renouncer ซึ่งหมายถึง พระพุทธศาสนา

World Conqueror ผู้พิชิตโลก ก็คือ พระเจ้าจักรพรรดิ และ World Renouncer ผู้สละโลก ก็คือ พระพุทธเจ้า แต่ทั้งสองคำนั้นรวมกันแล้ว ก็หมายถึงพระพุทธเจ้านั่นเอง ในฐานะที่ทรงเคยได้รับพยากรณ์ตอนที่ประสูติว่า จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือไม่ก็เป็นพระพุทธเจ้า การที่เขาเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อหนังสือ แสดงถึงสาระสำคัญที่มีเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยแสดงถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย การเมืองไทย หรือวิวัฒนาการของระบบการปกครองของไทย เป็นหนังสือใหญ่ทีเดียว

ต่อจากนั้นก็ยังมีออกมาอีก คราวหลังนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Amulets คือเกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง หรือพวกวัตถุมงคล ก็เป็นเรื่องใหญ่ในหนังสือเล่มหนาทีเดียว เป็นการศึกษาเรื่องของสังคมไทย ในแง่ของมานุษยวิทยาอีกเล่มหนึ่ง

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง จากรายชื่อนักวิชาการข้างบนนั้น Professor Donald K. Swearer เป็นผู้ที่รักเมืองไทยมากคนหนึ่ง ชอบมาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้ดี มักหาโอกาสมาพัก และทำงานศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเมืองไทย ท่านผู้นี้เขียนหนังสือไว้เกี่ยวกับเมืองไทย และพุทธศาสนาหลายเล่ม แม้จะเป็นเล่มเล็กๆ เป็นส่วนมาก แต่ก็เป็นงานทางวิชาการที่ควรสนใจ จะไม่พูดอะไรมาก เพียงแต่ให้ดูรายชื่อหนังสือบางเล่มของท่าน แม้หนังสือของท่านผู้นี้จะเน้นแง่พุทธศาสนามากกว่าสังคมไทย แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า นักวิชาการชาวตะวันตกมองสังคมไทยโยงไปหาพระพุทธศาสนาอย่างไร หรือว่าเขาเห็นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนามีความสำคัญ หรือจำเป็นต่อการที่จะเข้าใจสังคมไทย และรากฐานของความเป็นไทยอย่างไร อาจเพียงดูรายชื่อหนังสือบางเล่มที่พอตามหาชื่อได้ใกล้มือ

- Buddhism in Transition, 1970

- Toward the Truth, 1970

- Secrets of the Lotus, 1971

- Wat Haripunjaya, 1976

- Buddhism, 1977

- Buddhism and Society in Southeast Asia, 1981

ยกตัวอย่างชื่อหนังสือบางเล่มของท่านอื่นๆ มาบ้างพอให้เห็นภาพทั่วๆ ไป เช่น

- Change and Persistence in Thai Society, edited by Skinner and Kirsch, 1975

- Religion and Legitimation of Power in Thailand, Laos, and Burma, edited by Bardwell L. Smith 1978

- Buddhist Monk, Buddhist Layman, Jane Bunnag, 1973

- Monks and Magic, B. J. Terwiel, 1975

การที่โปรเฟสเซอร์ Frank E. Reynolds กับภรรยา แปลไตรภูมิพระร่วงเป็นภาษาอังกฤษ (The Three Worlds of King Ruang, 1982) ก็ดี การที่ James B. Pruess แปลตำนานพระธาตุพนม (The That Phanom Chronicle, 1976) ก็ดี การที่โปรเฟสเซอร์ Swearer กำลังแปลคัมภีร์จามเทวีวงศ์ เป็นภาษาอังกฤษอยู่ก็ดี และกรณีอื่นๆ ทำนองเดียวกันนี้ก็ดี ย่อมมิใช่เพียงเพราะหนังสือหรือคัมภีร์เหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เพราะท่านเหล่านั้น และสถาบันของท่านเหล่านั้นมองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรากฐานของความคิดจิตใจของคนไทยและสังคมไทย ที่จะสืบสาวค้นหาได้ในหนังสือหรือคัมภีร์เหล่านั้น

สำหรับผลงาน และการวิจัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมล้วนๆ โดยตรง ก็มีมากมาย แต่จะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะควรจะแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

การที่เขาทำวิจัย และเขียนผลงานวิชาการเหล่านี้ ก็แน่นอนว่า เพื่อความรู้ความเข้าใจประเทศที่เขาเกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือสังคมไทยของเรา และกลุ่มประเทศที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ดีขึ้น บางกรณีก็เป็นผลงานอิสระ บางกรณีมุ่งความสนใจทางด้านศาสนา แต่บางกรณี หรือบางท่านโยงไปถึงนโยบายของประเทศชาติในทางการเมืองด้วย พูดง่ายๆ ก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาตินั่นเอง

ถ้าว่ากันไปแล้ว ก็ไม่ใช่ความรู้ที่บริสุทธิ์แท้เสมอไป ในแง่ของการวิจัยนั้น เราต้องการความรู้แท้ๆ ที่เป็นกลางๆ บริสุทธิ์ แต่ผลที่จะเอาไปใช้ อาจจะมีแง่ที่โยงไปทางการเมืองปนอยู่ด้วย ฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ การเมือง นโยบายและปฏิบัติการต่างๆ อยู่ด้วย แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะคงรักษาความเป็นอิสระทางวิชาการไว้ แต่เขาก็มีวิธีการที่จะใช้ผลงานและบุคคลผู้เชี่ยวชาญให้เป็นประโยชน์

ในระยะต่อมา พอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดความสำคัญในทางการเมืองลงไป บทบาทของอเมริกันน้อยลงไป ก็ปรากฏว่า บทบาทของนักวิชาการตะวันตก บทบาทของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในสังคมแถบนี้ก็รู้สึกจะเพลาลงไปด้วย อย่างน้อยในแง่ความกระตือรือร้นที่ปรากฏออกมาภายนอก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต (แต่ในความเป็นจริงที่ลึกลงไป ภูมิภาคแถบนี้ก็ยังคงมีความสำคัญมาก และกำลังทวีความสำคัญขึ้นในบางด้านด้วยซ้ำ เช่น ในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น พร้อมกันนั้นความสนใจทางวิชาการ และการวิจัย ก็ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา)

นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราได้เห็นว่า ในสังคมตะวันตกเขาได้หันมาสนใจเรื่องของไทยเรามากมาย จนกระทั่งจะกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้เขาอาจจะรู้มากกว่าเราในเรื่องของตัวเราเอง

การวิจัยสังคมไทย: ทำไมต้องรู้จักตัวเอง

ทีนี้ลองหันมาดูคนไทยเราเองบ้าง เราพูดถึงหลักการได้ว่า การที่จะพัฒนาประเทศชาติหรือสังคมเราให้ได้ผลดีนั้น ควรจะมีลักษณะการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของการมีสติสัมปชัญญะอยู่ในตัวของเรา

ประการแรก ก็คือ เราควรจะต้องรู้จักตัวเอง หรือสังคมของตนเองให้ดี

การที่เราจะต้องรู้จักตัวเองให้ดีนั้น จะเห็นได้จากเหตุผลในการตอบคำถามที่ว่าใครเล่าที่เราจะพัฒนา? ก็คือตัวเรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สังคมของเรา

เราศึกษาวิชาการต่างๆ เราทำกิจการอะไรต่างๆ ก็เพื่อพัฒนาตัวเรา เพื่อพัฒนาสังคมของเรา เมื่อเราจะพัฒนาตัวเรา หรือพัฒนาสังคมของเรา เราก็ต้องรู้จักตัวเรา รู้จักสังคมของเรา รู้สภาพ รู้ปัญหา และรู้เหตุปัจจัยที่เป็นมาในตัวเรา

ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง เราจะพัฒนาได้อย่างไร? อย่างน้อยเราจะต้องรู้จักฐานที่ตั้งของเรา สภาพที่เราเป็นอยู่ และจุดยืนของเราในบัดนี้ก่อนที่จะก้าวต่อไป ว่าขณะนี้เรายืนอยู่ที่ไหน เราก้าวมาได้แค่ไหน ถ้าเราไม่รู้จักตัวว่ายืนอยู่ที่ไหน แล้วเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นแง่ที่หนึ่ง คือในแง่รู้จุดรู้สภาพที่เป็นอยู่เพื่อจะก้าวต่อไปได้อย่างถูกต้อง และมั่นคง

แง่ที่สอง คือ ในแง่การรับความเจริญจากข้างนอกเอามาปรับให้เข้ากับตัวเรา

ในเมื่อเรายอมรับว่า ประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตะวันตก มีความเจริญก้าวหน้าในทางวิชาการ เราก็ต้องการเอาวิชาการของเขามาใช้ ในการที่จะเอามาใช้นี้ เราก็ต้องเอามาใช้กับตัวเรา ต้องปรับให้เข้ากับตัวเราให้ได้ และถ้าเราไม่รู้จักตัวเรา เราจะเอาของใหม่มาปรับให้เข้ากับตัวเราได้อย่างไร?

ถ้าปรับไม่เข้า มันก็ไม่เกิดผลเป็นความเจริญที่แท้จริง ความเจริญนั้นก็เป็นเพียงเปลือกหุ้มอยู่ข้างนอก ที่ไม่เข้าถึงเนื้อตัว เรียกง่ายๆ ว่ามันไม่ย่อยซึมเข้าไปในเนื้อตัว

เมื่อมันไม่ย่อยเข้าเป็นเนื้อตัว แล้วมันก็เข้ากันไม่ได้ เหมือนกับอาหาร ถ้าผ่านเข้าไปในท้องแล้วไม่ย่อยจะเป็นอย่างไร มันก็กลายเป็นอาหารที่เป็นพิษ หรืออาหารที่ทำให้ท้องเสีย ทำให้ท้องอืด ทำให้เสียสุขภาพ

ถ้าจะให้เกิดผลที่แท้จริงแก่สังคม แก่ประเทศชาติของเรา เราก็ต้องย่อยเข้ามาในตัวเราให้ได้ เหมือนอาหารที่จะบำรุงเลี้ยงตัวเรา ก็ต้องย่อยเข้ามาเป็นเนื้อตัวของเรา ฉะนั้น จะเอาของดิบๆ จากเมืองนอกมาใส่เมืองเรานี้ไม่ได้ผลแท้จริง

เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าทำไมจะต้องรู้จักตัวเราและสังคมของเรา พูดอย่างง่ายๆ ในแง่ที่สาม คือ ในแง่ที่เราจะนำวิชาการนั้นมาใช้ให้ได้ผล ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยเมื่อเราไปศึกษาวิชาการแต่ละอย่าง จะไปศึกษาเศรษฐศาสตร์ก็ตาม ศึกษารัฐศาสตร์ก็ตาม ศึกษาวิชาการอะไรก็ตาม เวลาเอามาใช้ เราเอามาใช้ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย

ฉะนั้น เราจะใช้ให้ได้ผล เราจะต้องรู้จักบริบทและสภาพแวดล้อมที่เราจะเอามาใช้ เราจึงจะใช้ได้ผลดี

นี้ก็เป็นประการที่หนึ่ง คือ ในการที่จะพัฒนาประเทศชาตินี้ จำเป็นที่เราจะต้องรู้จักตัวเอง

การวิจัยสังคมเทศ : รู้เขาจริง จึงจะเอาจากเขาได้

ต่อไป ประการที่สอง จะต้องรู้จักผู้ที่เรารับนับถือว่าเจริญ ที่เราจะไปเอาอย่างนั้นด้วย

เมื่อเราไปติดตาม ไปเอาอย่างเขา เพราะเราเห็นว่าเขาเจริญ ก็คิดว่าเรารู้จักเขาแล้ว คืออย่างน้อยเรารู้ว่าเขาเจริญ แต่การที่รู้ว่าเขาเจริญนั้น ไม่ใช่เป็นการรู้จักที่แท้จริง การรู้จักตัวเขาอย่างแท้จริง คือรู้ตัวเขาดี รู้ลึกเข้าไปทั้งกายและใจ รู้จนกระทั่งถึงว่าที่ว่าเขาเจริญนั้น เขาเจริญด้านไหน? แล้วมีไหมด้านที่เขาไม่เจริญ?

ถึงแม้ว่าเขาจะเจริญ แต่เราต้องดูให้รู้ทั้งด้านที่เขาเจริญและไม่เจริญ รู้ตัวเขาถ้วนทั่วรอบด้าน จนเห็นทั้งส่วนที่เขาเจริญ ส่วนที่เขาดี และส่วนที่เขาย่อหย่อน บกพร่อง ว่าแง่ไหนด้านไหนดี แง่ไหนด้านไหนบกพร่องอยู่ เห็นเข้าไปถึงหลังฉาก ในส่วนที่เขากำลังเสื่อมหรือมีแง่ที่จะเสื่อมต่อไป

ด้านไหนที่ว่าเขาเจริญ ก็ต้องดูต่อไปอีกว่า ที่เขาเจริญในส่วนนั้นเป็นเพราะเหตุปัจจัยอะไร อาจจะต้องศึกษาลึกลงไป ถอยหลังไป อาจจะถึง ๑๐, ๒๐, ๓๐, ๔๐, ๕๐, ๑๐๐ ปีก็ได้ ศึกษาเจาะลึกลงไป และทางด้านเสื่อมก็เช่นเดียวกันต้องดูว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง เขาเสื่อมเพราะอะไร

แล้วก็จับมาเชื่อมโยงจากอดีต จนถึงปัจจุบัน ในแง่ของเหตุปัจจัย พร้อมทั้งมองเห็นแนวโน้มในอนาคตด้วยว่า แนวโน้มที่จะเป็นต่อไป จะเจริญหรือเสื่อมด้านไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งของการรู้จักประเทศหรือสังคม ที่เราไปนับถือ หรือไปเอาอย่างเขา

ต้องรู้จักเขาจริง จึงจะเจริญอย่างเขาได้ จึงจะเอาจากเขาได้จริง คือ จึงจะรู้ว่าอะไรของเขาที่เราควรเอา และอะไรที่ไม่ควรเอา ไม่ใช่เห็นเขาเจริญ ยิ่งตามเขาไป ก็ได้แต่เงา หรือตัวเรายิ่งเสื่อม

นอกจากประเทศเจริญ ที่เราชอบเอาอย่างแล้ว การศึกษาวิจัยจะต้องเอาใจใส่ประเทศข้างเคียง ที่อยู่ใกล้ชิดด้วย เรียกว่าต้องให้อยู่ในสายตาอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ได้คติ บทเรียน และความรู้ประกอบเป็นอันมาก

การมองภาพรวมของสังคมโลก: เพื่อความเท่าทันที่แท้

ต่อไป ประการที่สาม ที่กล่าวมานั้นคิดว่ายังไม่พอ จะต้องมาถึงประการที่สาม คือ รู้เท่าทันความเจริญใหม่ๆ ทั้งหมด มองเห็นภาพรวมของสังคมโลก หรืออารยธรรมของโลก ว่ามีความโน้มเอียงอย่างไร มีปัญหาใหม่ๆ อะไร เกิดขึ้นบ้าง ทิศทางใหม่ๆ ของการพัฒนาเป็นอย่างไร

เดี๋ยวนี้มีการพูดกันว่า หมดยุคของการพัฒนาแล้ว เขาบอกว่าการพัฒนาที่ทำมานั้นมันเกิดโทษมาก ฉะนั้น จึงบอกว่าปิดเสียทียุคพัฒนา ต่อไปจะเปลี่ยนยุคใหม่ หรือเปลี่ยนวิธีการพัฒนากันใหม่ แต่ยุคใหม่นี้ยังไม่มีชื่อที่แน่นอน จึงมีการเรียกชื่อกันต่างๆ ซึ่งยังไม่ลงตัวเป็นอย่างเดียวกัน

โดยเฉพาะที่สำคัญ นอกจากรู้เท่าทันสถานการณ์ หรือความเป็นไปต่างๆ และรู้เข้าใจเหตุปัจจัยของมันแล้ว เราจะต้องทันต่อความรู้และความคิด ของคนชั้นนำทางความคิดของประเทศที่เจริญที่สุด

อันนี้สำคัญมาก จะต้องจับจุดให้ดี

ตอนนี้เราจะต้องจับจุดยอด บางทีเรามัวไปตามสิ่งที่ฝรั่งเขาวิจัยเขาพูดกันมาตั้ง ๒๐ ปีมาแล้ว เป็นความรู้เก่าๆ ฝรั่งเขาเดินไปถึงไหนแล้วเราต้องตามให้ทัน จับจุดยอดเลยว่า ตอนนี้ใครเป็นชั้นนำ ชั้นยอดของฝรั่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่มีความคิดชั้นยอดและนำที่สุด ขณะนี้มีความคิดอย่างไร เราจะต้องตามให้ทัน

อันนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ว่าเราต้องทันต่อความคิด ความรู้ของคนชั้นนำทางความคิด ทางปัญญา ของประเทศที่เจริญที่สุด

เอาละ! ในขั้นนี้ยังถือว่ายังอยู่ในขั้นรับและตาม แต่ก็ตามได้ทัน คือรับบ้าง ตามบ้าง ได้แค่อย่างดีก็ตามทัน

รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทันทั้งโลก
แล้วก้าวไปอยู่ในกลุ่มของผู้นำ

ทีนี้มันน่าจะมีอีกขั้นหนึ่ง คือ ถ้าจะให้ดีต้องถึงขั้นนำ หรือมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ร่วมแก้ปัญหาของโลกด้วย

เราควรจะก้าวออกไป คือไม่ใช่เป็นสังคมที่ตามเขา หรืออย่างที่ว่ามีความรู้สึกด้อยอยู่เรื่อยไป ทำอย่างไรเราจึงจะก้าวเข้าไปอยู่ในวงของกลุ่มชนผู้นำ ที่จะคิดแก้ปัญหาของโลก พูดง่ายๆ ว่า มีดีอะไรที่จะให้แก่เขาบ้าง ซึ่งอันนี้จะนำไปสู่การสำรวจตัวเอง และถ้าทำได้สำเร็จ เมื่อสำรวจตัวเองแล้ว เห็นว่ามีอะไรดีอยู่บ้าง ก็จะเกิดความภูมิใจ มั่นใจในตัวเอง แล้วจะพาไปสู่ความเป็นผู้นำได้

ขณะนี้เราไม่ค่อยรู้สึกต่อการที่ว่า เรามีดีอะไรบ้างหรือเปล่า เพราะเราไม่เคยคิด หรือไม่เคยที่จะมอง

จากนั้น ก็นำไปสู่ขั้นต่อไปที่ว่า เราจะต้องทำอะไร

จะเป็นผู้นำ ก็ต้องมีอะไรที่จะให้

ก่อนจะพูดต่อไป ขอทบทวนว่า เท่าที่พูดมานี้ ประการที่หนึ่ง ก็คือ จะต้องศึกษาสังคมวัฒนธรรมในระบบของตนเอง ให้รู้จักและเข้าใจตนเองให้ดี แต่แค่นี้ยังไม่พอ นอกจากจะศึกษาให้เข้าใจสังคม วัฒนธรรม มรดกของตนเองแล้ว จะต้องมีการเปลี่ยนจิตสำนึกจากความเป็นผู้รับ และผู้ตาม มาเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้

อันนี้จะต้องขอย้ำ

การศึกษาในยุคต่อไปของประเทศไทยนี้ น่าจะให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนจิตสำนึก เพราะคงจะต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้เรามีลักษณะจิตใจแบบผู้รับและผู้ตาม จนกระทั่งไม่ลืมหูลืมตา ฝังลึกจนกระทั่งทำไปโดยไม่รู้สึกตัวเลย

ฉะนั้น จะต้องตื่นขึ้น แล้วก็เตือนกัน แล้วก็พยายามฝึกฝนกันขึ้นมา พัฒนากันขึ้นมา ให้มีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ เริ่มจากการหันมาดูว่าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาได้บ้าง ในการที่จะทำอย่างนี้ ก็ต้องมีการศึกษาให้รู้เท่าทันเขาด้วย โดยเฉพาะรู้เหตุปัจจัยของเขา อย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อกี้นี้

ส่วนการศึกษาเขานี้ ไม่ใช่ศึกษาแต่เพียงว่าเขาเป็นอย่างไรเท่านั้น การศึกษาเหตุปัจจัยของเขานี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ว่าทำไมเขาจึงเป็นอย่างนี้ อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ดูฝรั่งไม่ใช่ดูแค่เดี๋ยวนี้ จะต้องถอยหลังไปดูนานๆ ดูให้ลึกซึ้ง ดูแม้แต่ส่วนที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ดู อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาก็ดูเราในส่วนที่เราเองก็ไม่ได้ดูตัวของเราด้วย

แล้วก็ศึกษาให้รู้เท่าทันประเทศอื่น โดยเฉพาะเน้นประเทศพัฒนาแล้ว ที่เราเอาเป็นตัวอย่าง และประเทศข้างเคียง พร้อมทั้งประเทศที่มีสภาพในระดับเดียวกับเรา รู้เท่าทันกระแส แนวโน้มของโลก และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาปัจจุบัน อย่างที่บอกมาแล้ว

ตอนนี้แหละจึงมาถึงการที่ว่าจะหันมาดูศิลปวัฒนธรรม และมรดกของตัวเอง ในขั้นที่สอง คือการศึกษาเรื่องที่ตนมีอยู่ ในแง่ที่จะเอาดีไปเผื่อแผ่แก่ผู้อื่นบ้าง หรือเอาไปใช้ประโยชน์

นี้เป็นการมองในแง่มุมต่างๆ ที่เราจะต้องทัน คือ ต้องรู้จักตัวเอง ต้องรู้เท่าทันเขา และต้องรู้เท่าทันโลก

ถึงแม้จะไม่พูดถึงเรื่องของตัวเราเอง ถ้าเราจะศึกษาวิชาการสมัยใหม่ และทำงานวิจัยในวิชาการสมัยใหม่นั้น เราก็จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า เมื่อจะทำการวิจัยวิชาการสมัยใหม่ เราจะต้องทำให้ได้ดีถึงขั้นที่มีอะไรใหม่ๆ ที่ดีกว่าที่ฝรั่งทำไว้ด้วยซ้ำ คือมีอะไรใหม่ๆ ให้แก่วิชาการนั้นๆ แม้แต่ที่ฝรั่งก็ยังไม่ได้ทำ อันนี้จึงจะเป็นส่วนร่วม ที่จะเสริมให้แก่อารยธรรมของโลกอย่างแท้จริง ไม่ใช่แต่เพียงว่าจะให้ได้อะไรใหม่ๆ แก่ตัวเราเอง ซึ่งมันอาจจะไม่ใหม่สำหรับวงวิชาการนั้นๆ ทั้งหมดในโลกก็ได้

การวิจัยที่มักถูกมองข้ามไป:
วิจัยเพื่อนำหลักวิชามาใช้ในสังคมไทย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การวิจัยวิชาการสมัยใหม่ที่มาจากตะวันตกนั้น น่าจะเน้นการวิจัยแง่หนึ่งคือ การวิจัยในแง่ของการนำวิชาการนั้นๆ แต่ละอย่างแต่ละสาขา เข้ามาใช้ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ซึ่งอันนี้ดูเหมือนว่า จะไม่ค่อยมีการวิจัย เพราะเวลาวิจัย เราก็คิดแต่ว่าจะวิจัยในเนื้อหาของวิชาการนั้นๆ ไป เรื่อยๆ ล้วนๆ โดยไม่ได้ฉุกคิดว่ามันอาจจะผิดถิ่นกัน เข้ากันไม่ได้กับสังคมไทย ยังเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้

ทีนี้ลองวิจัยในแง่จะเอาวิชาการนั้นๆ มาใช้ในบริบทของสังคมไทย อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์ได้จริง

คนไทยไปวิจัยเรื่องไทย ฝรั่งก็ชื่น ไทยก็ชอบ

ต่อไปนี้ก็เข้าสู่ข้อพิจารณาที่ว่า เราควรจะต้องทำอะไร ในระยะที่แล้วมา อาจจะถือว่าเราได้ประมาทไป ประมาทจนกระทั่งว่า ลักษณะที่เป็นผู้รับและผู้ตามนั้นปรากฏออกมา ถึงขนาดที่ว่า แม้แต่เรื่องของไทยเองนี้ คนไทยยังต้องไปเรียนที่เมืองนอก อย่างน้อยเราอยากจะต่อปริญญาโท ปริญญาเอก แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ไทย จะให้เป็นที่ยอมรับกันดี บางทีเราต้องไปเรียนที่อเมริกา เช่น อาจจะต้องไปต่อที่คอร์เนลยูนิเวอร์ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกา

แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอันนี้ ซึ่งเป็นอีกข้อหนึ่งที่แสดงว่าเขาได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยจริงจังในเรื่องของเรา

ทีนี้ เวลาคนไทยเราไปทำปริญญาที่ประเทศอเมริกา ทำปริญญาชั้นสูง มีการวิจัยเพื่อปริญญาเอก ฝรั่งมักชอบให้เราทำวิจัยเรื่องเมืองไทย และเราก็ชอบ

ทำไมเราจึงชอบ ทำไมเขาจึงชอบ

ฝรั่งชอบเพราะเราค้นข้อมูลอะไรต่างๆ ให้เขา ช่วยให้เขาได้ข้อมูลจากเราไปโดยเขาไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าส่งคนของเขามาเก็บข้อมูลนี้ค่าแรงมันแพงเหลือเกิน เพราะค่าครองชีพของเขาสูง

นอกจากนั้น เขายังได้ข้อคิดเห็นของคนไทยด้วย คนไทยเรามองตัวเอง มีความคิดเห็นต่อตัวเอง ต่อเรื่องราวของสังคมไทยอย่างไร อันนี้ฝรั่งเขาเป็นฝ่ายได้ คนไทยเราไปเรียนที่เมืองฝรั่ง เขียนเรื่องของเรา ก็คือทำงานและรายงานให้เขา เขาได้จากเรามากทีเดียว

ทีนี้ ตัวเราเองนั้นชอบเพราะอะไร เพราะว่ามันง่ายสำหรับเราเอง เพราะเรามาเก็บข้อมูลของเรามันก็ง่ายหน่อย และอีกอย่างก็ประหยัดด้วย เวลาวิจัยในเมืองไทย ใช้เงินน้อยหน่อย ถ้าขึ้นไปวิจัยที่เมืองฝรั่งต้องใช้เงินมาก อันนี้จุดของเรื่องก็คือว่า มันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งของคนไทย และของฝรั่ง

ก็เลยอยากจะมีข้อเสนอแนะ เคยเสนอไว้ว่า ในการที่คนไทยเรานิยมไปทำวิจัย ชอบไปทำปริญญาชั้นสูงที่เมืองนอก เราต้องยอมรับความจริง มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้น

จะไปเรียนกับเขา ต้องตั้งเป้าวางนโยบายของเราให้ชัด

แต่ทำอย่างไรจะให้ได้ประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติของเราให้มากที่สุด?

เราจำเป็นต้องมีแผนและนโยบาย คือการที่ว่าเราน่าจะแบ่งกันออกเป็น ๒ พวก คือ พวกหนึ่ง ทำเรื่องของไทยให้ลึกซึ้ง ตั้งเป้าเอาไว้ว่าให้รู้ดีกว่าฝรั่ง วิจัยเรื่องของไทย สังคมไทย ต้องการรู้จักและเข้าใจตัวเอง เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับตัว เป็นต้น และเราก็ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องตั้งเป้าไว้เลย เอาให้ดีที่สุด

อีกพวกหนึ่งนั้น ไปวิจัยสังคมฝรั่ง สังคมอเมริกัน เอาให้เต็มที่เลย ให้ลึกซึ้ง ให้รู้อย่างที่ว่ารู้ดีกว่าตัวเขา รู้ดีกว่าตัวเขาในทุกแง่นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก แต่บางแง่เรารู้ดีกว่าเขาได้ เพราะคนจากข้างนอกไปมองคนในที่นั้นแล้ว จะเห็นอะไรที่มันต่างออกไปได้ชัดเจน เหมือนกับว่าฝรั่งมองดูคนไทยแล้วก็เห็นอะไรที่ต่างจากเขาชัดเจนขึ้นมา

อันนี้ก็จึงเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ว่าฝรั่งจำนวนไม่น้อยรู้เรื่องของไทยดีกว่าคนไทยเราเอง แล้วเราก็ควรจะรู้เรื่องของฝรั่งดีกว่าที่ฝรั่งรู้ตัวเขาบ้าง หรืออย่างที่ว่าญี่ปุ่นไปเรียนรู้ฝรั่ง จนกระทั่งทำได้เกินครู ปัจจุบันนี้เราก็ต้องยอมรับว่า ญี่ปุ่นนี้ตอนแรกก็ไปเลียนแบบฝรั่ง แล้วก็เอาจากฝรั่งมา แต่เดี๋ยวนี้ก็ทำได้เกินฝรั่งแล้วในหลายเรื่องหลายอย่างด้วยกัน

ที่ว่านี้หมายถึง ทำได้หรือผลิตได้เหมือนอย่างฝรั่ง หรือดีกว่าฝรั่ง ไม่ใช่แค่ว่ารู้จักบริโภคได้อย่างฝรั่ง หรือบริโภคเก่งกว่าฝรั่ง การที่จะทำได้อย่างฝรั่งจึงจะทำให้พยายามรู้เรื่องของฝรั่ง ความอยากบริโภคอย่างฝรั่ง ไม่ทำให้อยากรู้และพยายามรู้เรื่องของฝรั่ง

เรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเพียงความคิด ของคนกลุ่มเดียวหรือเอกชน แต่ควรเป็นนโยบายของรัฐ หรือผู้ที่รับผิดชอบการศึกษาของชาติ การส่งคนของเราไปเรียนเมืองนอกนี้ น่าจะเป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน ทั้งจุดหมายทั่วไป และจุดหมายจำเพาะ เราจะต้องตั้งเป้าว่าจะเอาอย่างนี้นะ จะต้องรู้ต้องทำอันนี้ให้ได้นะ

รู้สึกว่าเราจะไม่ค่อยมีการวางนโยบายอะไรเลย ในการที่จะไปติดต่อกับทางเมืองนอก จะต้องมีเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจนว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง

อาตมาหวังว่า ในการส่งคนไปเรียน และในการวิจัยอย่างนี้ รัฐบาลไทยควรจะวางนโยบายและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าเราจะเอาอะไรอย่างไร

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง