ภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เพียงแค่รับก็ยังไม่ทัน
จะผันตัวขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างไร

สุดท้ายและสูงสุดก็คือด้านปัญญา ขอให้ดูว่าวิทยาการต่างๆ เป็นอย่างไร มาจากไหน และวิทยาการเหล่านั้นก็สื่อผ่านมาทางภาษาซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันนี้ เราเน้นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมตะวันตกในแง่ที่เราตกเป็นผู้รับ เมื่อเป็นผู้รับ เราก็มีข้อเสียเปรียบหลายชั้น เริ่มแต่ความเสียเปรียบโดยสภาพที่เป็นธรรมชาติ เช่น การที่ต้องรับผ่านสื่อภาษาที่ทำให้ช้า ล้าหลัง จำกัด และสูญเสียความชัดเจน

การที่เราตามเขาในเรื่องต่างๆ ทางวัฒนธรรมนั้น ความหมายอย่างหนึ่งก็คือ การตามในทางความคิดนั้นเอง และเมื่อตามในทางความคิดก็คือตามทางปัญญา หมายความว่าเรายอมรับให้เขามีปัญญาเหนือกว่า เมื่อเราตามความคิดของเขา ความคิดของเราก็ตามเขา แล้วภาษาของเราก็ตามด้วย เพราะภาษาเป็นสื่อความคิด เราจึงต้องไปตามภาษาถ้อยคำต่างๆ ที่สื่อความคิดนั้นว่าเขาพูดอะไรออกมา เขามีคำอะไรต่างๆ ที่ใช้กัน เราก็ต้องตามเก็บเอามา แล้วก็เอามาพูดกันในสังคมของเรา และต้องตามความเข้าใจในถ้อยคำที่เขาพูดด้วย

ขอยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเขามีความคิดใหม่เพิ่มขยายจากของเดิม เขาก็อาจจะยังใช้คำง่ายๆ ที่เป็นคำสามัญอันเก่านั้นแหละ เพียงแต่ขยายแง่มุม หรือเพิ่มนัยใหม่เข้าไป แต่เวลาเราจะสื่อความหมายนั้นในสังคมไทยเรากลับต้องบัญญัติคำใหม่ ซึ่งทำให้คนของเรามีสิ่งขวางกั้นทำให้ลำบากในการเข้าถึงปัญญาอันนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นความลำบากของเราหลายชั้นหลายเชิง ในแง่นี้อาจมีข้อเสนอแนะว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะพยายามทำให้คนของเราเข้าถึงภูมิปัญญาที่เราจะรับได้ไวขึ้น เช่น เราอาจจะหาคำง่ายๆ มาใช้ หรือเอาคำง่ายๆ ธรรมดามาเสริมเพิ่มนัย ทำนองเดียวกับภาษาของเขา

เวลานี้คำศัพท์ต่างๆ ของตะวันตก เมื่อนำมาใช้ในสังคมของเรา หลายศัพท์ก็เกิดความไม่ชัดเจน มีการถกเถียงกันจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ยุติ ยกตัวอย่างคำที่เรานำมาใช้นานแล้ว เป็นคำบัญญัติจากภาษาอังกฤษ คือคำว่า จริยธรรม ซึ่งได้บัญญัติขึ้นให้เป็นคำแปลของคำภาษาอังกฤษว่า ethic โดยไปนำเอาคำบาลีและคำสันสกฤตที่มีอยู่ในพื้นฐานวัฒนธรรมของเรามาบัญญัติ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ปรากฏว่าเรายังไม่ยุติในความหมายของคำว่าจริยธรรม เวลาจัดประชุมแต่ละครั้งเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมคุณธรรม ต้องมาถกเถียงกัน หรือไม่ก็มีความคลุมเครือไม่แน่ใจเกี่ยวกับความหมายของจริยธรรม ไม่ลงตัวกันสักที เป็นเวลาตั้งร่วม ๒๐ ปีแล้ว จนกระทั่งในระยะหลังๆ นี้ นิยมเอาคำว่าคุณธรรมมาใช้ด้วย กลายเป็น “คุณธรรมและจริยธรรม” เราไม่มีคำศัพท์คำเดียวที่ได้ความหมายเพียงพอหรืออย่างไร เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งว่า ในเมื่อภาษาไม่ชัด ความคิดก็ไม่ชัด แล้วทุกอย่างก็ไม่ชัดหมด ปัญญาเราไม่ชัด อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญ

คำว่า จริยธรรม นี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ ศัพท์นั้นใหม่ แต่ตัวสภาวะไม่ใช่ใหม่ ศัพท์ใหม่นั้นต้องการสื่อสาร สื่อสารอะไร ตอบว่าสื่อถึงสภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งที่จริงก็มีอยู่แล้วในสังคมไทย เมื่อเราใช้ศัพท์ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งมาสื่อสภาวะที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของเรา เมื่อใช้ศัพท์ใหม่นั้นมาใช้เรียกสภาวะนั้น ก็จะมีคำอื่นๆ ที่ใช้เรียกอยู่แล้ว และคำศัพท์นั้นก็มีความหมายที่อาจจะเกยกันกับคำใหม่ คาบเกี่ยวกันไม่ลงตัว อันนี้ก็จะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้น เป็นความขัดแย้งสับสนเมื่อ ๒ วัฒนธรรมเข้ามาสัมพันธ์กันทางศัพท์ที่ต่างกัน สภาวะนั้นถูกเข้าใจในขอบเขตของศัพท์ไม่ตรงกัน วิธีหนึ่งที่จะแก้ปัญหาก็คือ เราจะต้องทำให้คนของเราเกิดความชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่าศัพท์นี้เรื่องนี้ ในความหมายของวัฒนธรรมของเขาคืออย่างไร และในวัฒนธรรมของเราคืออย่างไร เมื่อเราชัดในความหมายของทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็จะพูดกันรู้เรื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้สับสนคลุมเครือโดยก้าวก่ายเกยกันอยู่อย่างนี้ อันนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา หรือพัฒนาวัฒนธรรมในทางปัญญาของเราเอง

ตัวอย่างอีกคำหนึ่งที่เรามาบัญญัติกันในระยะหลัง คือคำว่าทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งใช้กันมาในยุคที่เรายึดการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ จนมองเห็นมนุษย์เป็นทุนอย่างหนึ่งที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม เราก็เลยมองว่ามนุษย์เป็นทรัพยากร แต่มาถึงบัดนี้เราเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงจุดเน้น เราบอกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ถ้าทำไปในทิศทางดิ่งอย่างที่ทำมาแล้ว ก็จะเกิดผลเสีย เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็จะหันมาพัฒนาคน หรือพัฒนามนุษย์ แต่ก็เกิดมีความสับสนขึ้น ซึ่งเป็นการเตือนว่าการใช้ศัพท์ต่างๆ เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจให้ชัดเจน ในขณะที่เราพูดถึงการพัฒนาคน หรือพัฒนามนุษย์ หลายคนก็อาจจะใช้คำว่าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่นิยมพูดกันมาไม่นานนี้ โดยผู้พูดนั้นเข้าใจคำว่าทรัพยากรมนุษย์ในความหมายว่าเป็นการพัฒนามนุษย์นั้นเอง ซึ่งที่จริงต้องมีความชัดเจนว่า เมื่อพูดว่าทรัพยากรมนุษย์ มีความหมายอย่างไร เมื่อพูดว่าพัฒนามนุษย์ มีความหมายอย่างไร เป็นต้น มิฉะนั้นแล้ว เรื่องภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาก็ไม่ชัดไปหมด เมื่อปัญญาไม่ชัด การแก้ปัญหาก็ไม่สำเร็จ

ถ้าไม่ทำให้ดี ในที่สุดสังคมของเรานี้ ภาษาอาจทำให้เกิดชนชั้นทางปัญญาขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คนทั้งหลายเข้าใจไม่ทันกัน ไม่ทั่วถึงกัน ไม่เข้าใจร่วมกัน ภาษาก็เลยทำให้คนแบ่งแยกกัน เข้าใจว่าปัจจุบันนี้เริ่มมีแล้ว ความแบ่งแยกกันระหว่างคนในวัฒนธรรมเนื่องจากเรื่องของภาษา แล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้ามาสู่ภูมิปัญญาที่เราต้องการ การที่จะรู้เท่าทันสังคมตะวันตกก็จะอยู่ในวงจำกัด คนส่วนใหญ่ไม่เข้ามา เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่เข้ามา มันก็ไม่เข้าสู่ความเป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง ความรู้ความเข้าใจก็จะจำกัดอยู่ในหมู่ชนแคบๆ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าถึง หรือเข้าถึงช้าเกินไป กว่าจะรู้เข้าใจกันทั้งสังคมก็ไม่ทันการณ์แล้ว วัฒนธรรมทางปัญญาก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จประโยชน์อย่างที่ต้องการได้

ในหลายกรณี เรื่องภาษานี้มีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมโยงความคิดที่รับเอามาเข้ากับถ้อยคำและระบบความคิดในวัฒนธรรมของตน เลยเกิดเป็นข้อจำกัดในตัวเอง นี้เป็นการพูดย้ำในส่วนที่พูดไปแล้ว คือทำอย่างไรเราจะโยงสิ่งที่รับเข้ามา เข้ากับถ้อยคำที่สื่อระบบความคิดในสังคมวัฒนธรรมของเราได้และโยงให้ดี เพราะถ้าโยงไม่ได้ เราจะไม่เกิดความชัดเจนเป็นอันขาด ถ้าเราโยงเข้ามาได้แล้ว เราสามารถดูดย่อยได้ ถ้อยคำที่สื่อความคิดใหม่นั้นก็จะมาเป็นส่วนที่เสริมให้เกิดการพัฒนาในวัฒนธรรมโดยเฉพาะในทางปัญญาของเรา แต่ถ้าเราไม่สามารถรับเข้ามาผสานโยงกันได้ ไปๆ มาๆ สิ่งที่เข้ามาเป็นข้อมูลความคิดในรูปของภาษาที่ไม่ชัดเจน ก็จะเป็นเหมือนเศษชิ้นส่วนอะไรต่างๆ ที่ลอยเกะกะอยู่ในกระแสวัฒนธรรม โดยไม่สามารถกลืนเข้าไปในพื้นฐานของวัฒนธรรมของตนเอง แล้วแทนที่จะเป็นประโยชน์ก็จะกลับเป็นโทษไป

อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าเรื่องภาษานี้เราจะต้องพยายามกันให้มาก เพราะว่ามันมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเชิงภูมิปัญญา ว่าเราจะเอาอย่างไร ในเมื่อเราจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมตะวันตก เราจะถ่ายทอดความคิดกันอย่างไร ถ้าสามารถใช้คำสามัญได้ ก็คงจะดีที่สุด บางทีเราใช้คำง่ายๆ แล้วก็เพิ่มนัยความหมายเข้าไป ไม่จำเป็นจะต้องเอาคำใหม่ก็ได้ แต่ถ้าทำคำใหม่ก็ให้เป็นคำที่ง่าย ชัดเจนและสื่อกันได้ฉับไวที่สุด

ภาษาที่สื่อความคิดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวย่อมปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นภาษาจึงโยงไปหาวรรณกรรม ปัจจุบันนี้อาจจะพูดง่ายๆ ว่า วรรณกรรมนั้นมีวิธีแยกได้หลายอย่าง แต่วันนี้พูดในเชิงเน้นทางปัญญา จึงขอแยกว่าเป็นวรรณกรรมที่สื่ออารมณ์หรือสื่อความรู้สึกอย่างหนึ่ง และวรรณกรรมที่สื่อปัญญาอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนี้อาจพูดได้ว่า วรรณกรรมที่สื่อความรู้สึกของเรานั้น มีมากพอ แต่วรรณกรรมที่สื่อทางปัญญาอาจจะต้องการเพิ่มขึ้น หรืออาจมีน้อยเกินไป

ความจริง การใช้คำว่าอารมณ์ ในกรณีนี้ว่าตามภาษาพระถือว่าไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความสับสน คือคำว่าอารมณ์นั้น ในภาษาพระแปลว่า สิ่งที่จิตรับรู้หรือเอามาคิดนึกพิจารณา หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในความรับรู้หรือคิดนึก มันต่างไปเป็นคนละเรื่องกันเลย แต่ทีนี้ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะในภาษาไทยนี้ เราใช้คำว่าอารมณ์ในความหมายที่เป็นเรื่องของความรู้สึกมานานแล้ว

ทีนี้ แม้แต่วรรณกรรมที่สื่ออารมณ์หรือความรู้สึกก็มีแง่พิจารณาต่อไปอีกว่า มันสื่อความรู้สึกแบบไหน สื่อความรู้สึกแบบหนึ่ง คือสื่อความรู้สึกที่ส่งเสริมคุณธรรม และสื่อความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คือสื่อความรู้สึกที่ทำให้เกิดการทำลายหรือสูญเสียศีลธรรม เพราะฉะนั้นสื่อทางอารมณ์ หรือสื่อทางความรู้สึก จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณา เวลานี้เรามีวรรณกรรมที่สื่อความรู้สึกประเภทไหนมาก สื่อความรู้สึกในเชิงกิเลส ปลุกเร้าให้คนเกิดโลภะ โทสะ โมหะ มากขึ้น หรือว่าสื่อความรู้สึกในเชิงคุณธรรมที่ทำให้เกิดความซาบซึ้งในความดีงาม ในมนุษยธรรม ในความมีน้ำใจระหว่างกัน เป็นต้น ถ้าเราจะพัฒนาวัฒนธรรม สื่อทางความรู้สึกก็ต้องแยกออกไปให้ชัด และการพัฒนาวัฒนธรรมทางจิตใจกับทางปัญญาก็เสริมซึ่งกันและกัน

ในแง่ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมจากภายนอก เราบอกว่าเพื่อที่จะได้ทันกับภูมิปัญญาของเขา เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเข้าถึงวรรณกรรมสำคัญๆ โดยเฉพาะในทางภูมิปัญญาของตะวันตกด้วย เริ่มตั้งแต่วรรณกรรมทางวิชาการ โดยเฉพาะที่จะให้การเข้าถึงนั้นเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่จะทำอย่างไร เพราะวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องของสังคม จะต้องให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงด้วย ทำอย่างไรจะให้คนของเราเข้าถึงวรรณกรรมทางปัญญาของฝรั่งได้อย่างรวดเร็ว วิธีหนึ่งคือให้คนไทยหรือประชาชนชาวไทยรู้ภาษาของฝรั่งอย่างดีทั่วกัน แต่วิธีนี้คงไม่มีใครยอมรับและคงยังเป็นไปไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งคือให้มีคนจำนวนหนึ่งทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งหมด คอยจับรวมวรรณกรรมทางปัญญาและวัฒนธรรมอื่นมาถ่ายทอดให้แก่สังคมไทยอย่างรวดเร็วทันควัน โดยอาจจะจัดกลุ่มชนขึ้นมาสำหรับทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีงานอะไรใหม่ๆ ในทางภูมิปัญญาของตะวันตก จะต้องให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว ต้องให้แปลออกมาอย่างฉับพลันทันที และรัฐจะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะอุดหนุนให้เกิดให้มีและให้แพร่หลายทั่วถึง เช่นโดยทำให้ราคาถูกที่สุด เราจึงจะทันเขา มิฉะนั้น ก็จะอยู่ในสภาพที่ล้าหลังกันอยู่อย่างนี้ เป็นเรื่องของบ้านเมือง ซึ่งฝ่ายบริหารจะต้องเอาให้จริงจัง เพราะถ้าตามไม่ทันในทางภูมิปัญญาแล้ว มันก็ต้องตามเขาเรื่อยไป เวลานี้มองในแง่ดีก็เห็นว่าวรรณกรรมเชิงวิชาการในทางภูมิปัญญา ก็มีนักแปลที่เก่งๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยเกินไป ถ้าพูดถึงส่วนรวมทั่วประเทศของเราอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ว่า วรรณกรรมที่แปลมาจากต่างประเทศนั้น เมื่อมองในแง่สื่อปัญญากับสื่อความรู้สึก อาจจะมีการแปลเรื่องที่สื่อความรู้สึกมากกว่าหรือเปล่า

นอกจากนั้น ในเรื่องการแปลนี้ไม่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่างๆ ก็ต้องเอาใจใส่เหมือนกัน วรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนี้ ไม่ควรจะมองข้าม เราควรจะรู้ความเคลื่อนไหวความเป็นไปและความรู้สึกนึกคิดของประเทศที่ใกล้เคียงติดกันด้วย และในสายวัฒนธรรมเดิมที่มีความสัมพันธ์กันมา ก็ยังมีเรื่องของการสืบต่อซึ่งยังมีอยู่บ้างขาดตอนบ้าง ลบเลือนไปบ้าง อย่างเช่น ในด้านวรรณกรรมจีนก็ยังพอมีบ้าง แต่ในทางอินเดีย บาลี สันสกฤตนี้แทบขาดตอนเลย เวลานี้หาแทบไม่ได้ ในด้านภาษาบาลี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ได้มีการจัดทำโปรแกรมค้น พร้อมทั้งบรรจุข้อมูลพระไตรปิฎกลงในคอมพิวเตอร์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ เมื่อทำสำเร็จแล้ว เราก็ถือว่าเป็นวรรณกรรมเหมือนกัน

พอวรรณกรรมพระไตรปิฎกบาลีในคอมพิวเตอร์ออกไป ปรากฏว่าเมืองไทยนี้ซื้อน้อยมาก ไม่ใช่เฉพาะญาติโยมเท่านั้น แม้แต่วัดก็ซื้อน้อย แสดงว่าการศึกษาในเชิงบาลีของพระนี้อ่อน ซึ่งต้องยอมรับความจริง การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นเสื่อมโทรมไม่เฉพาะในสังคมไทยทั่วไปในฝ่ายคฤหัสถ์เท่านั้น ในฝ่ายสังคมพระก็เสื่อมโทรมเป็นอย่างยิ่ง พระรู้บาลีมีน้อย ถึงรู้บาลีก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า ปรากฏว่าพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ภาษาบาลีที่ออกมานี้ ประเทศที่ซื้อมากที่สุดคือญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสังเกต เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะพิจารณากันให้จริงจัง

การที่จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ก้าวหน้าจะต้องมองรอบด้าน ดูว่าองค์ประกอบและปัจจัยทางสังคมในประเทศของตัวเองมีอะไรบ้าง ประเทศที่เขาต้องการความเป็นผู้นำนั้นเขามองทั่วหมด เขามองเข้ามาในเมืองไทยว่าเขาจะนำวัฒนธรรมของเขาเข้ามาได้อย่างไร หรือจะมานำวัฒนธรรมไทยอย่างไร แต่เรามองในแง่ที่จะนำเอาวรรณกรรมของเขาที่สื่อปัญญาเข้าสู่เมืองไทย ถ้ามองกลับกันก็ต้องคิดบ้างว่า วรรณกรรมที่จะสื่อภูมิปัญญาของไทยออกสู่สังคมอื่นเป็นอย่างไร และจะเห็นว่าในยุคสมัยนี้ วรรณกรรมที่สื่อภูมิปัญญาไทยออกสู่ภาษาต่างประเทศ นับว่าหายากอย่างยิ่ง เวลานี้มีเครือข่ายอะไรต่างๆ ในการศึกษาหาความรู้ เช่น internet เป็นต้น เมืองไทยเราจึงมีโอกาสแล้ว เพราะสื่อสารเปิดทางให้ แต่เราจะสามารถสร้างความเป็นผู้นำทางปัญญาขึ้นมาได้เพียงใด นี้ก็เป็นข้อพิจารณาอย่างหนึ่ง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง