เพื่อความเข้าใจปัญหาโพธิรักษ์ (รวมทั้งบทความพิเศษและบทพิสูจน์)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

แง่ที่ ๑ เข้าใจผิดในถ้อยคำ ไม่ถึงขั้นตีความ

ก. ลักษณะการกระทำของท่านโพธิรักษ์

ในแง่ที่ ๑ ที่ว่าการกระทำของโพธิรักษ์ เป็นเรื่องของความไม่รู้ไม่เข้าใจความหมายของถ้อยคำ แล้วก็คิดอธิบายแสดงความหมายเอาเอง กลายเป็นความผิดความเท็จเกี่ยวกับความหมายของถ้อยคำ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการตีความนั้น ในแง่นี้ ท่านโพธิรักษ์ดูจะชอบอธิบายคำศัพท์ธรรมที่มาจากภาษาบาลี ทั้งๆ ที่ท่านไม่มีความรู้ในเรื่องภาษาบาลี โดยเฉพาะในระยะออกสั่งสอนใหม่ๆ พอพูดถึงคำศัพท์อะไรที่ดูน่าจะสำคัญ ก็จะเอาศัพท์นั้นมาแยกแยะวิเคราะห์ แสดงรากศัพท์ แล้วอธิบายเป็นเรื่องเป็นราว แต่ทั้งการแยกแยะวิเคราะห์รากศัพท์ในทางไวยากรณ์ก็ผิด ความหมายที่อธิบายก็ผิด

คำศัพท์บางคำ เป็นคำเดียวกันแต่มีรูปแตกต่างกันไปเพียงเพราะการแปลงรูปตามหลักภาษา เมื่อเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค (เช่น รูปที่เป็นนาม กับรูปที่เป็นคุณศัพท์ หรือรูปกริยาที่เป็นอดีต กับรูปกริยาที่เป็นปัจจุบัน ฯลฯ) ไม่ใช่เรื่องของการที่จะต้องค้นหารากศัพท์ ท่านก็เข้าใจว่าเป็นคนละคำซึ่งทำหน้าที่ในประโยคอย่างเดียวกัน แล้วแสดงรากศัพท์ไปคนละอย่าง ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่น่ากระทำเลย เพราะผู้ทำย่อมรู้ตัวว่าตนไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น คือทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่าตนไม่รู้ เรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ เพราะจะทำให้ชาวบ้านที่ไม่รู้ในเรื่องภาษา เมื่อเชื่อถือแล้วก็หลงจำผิดเข้าใจผิดถือตามไป ต่อไปคนเหล่านั้นก็อาจจะนำความรู้ที่ผิดนั้นไปสอน ไปบอกคนรุ่นหลังบ้าง เอาไปเถียงกับคนอื่นบ้าง ทำให้เกิดความยุ่งยากสับสน แก้ไขยาก

ถ้าท่านโพธิรักษ์ เป็นพระหลวงตาบ้านนอกองค์หนึ่ง การกระทำอย่างนี้ก็เป็นเพียงเรื่องน่าขำ ที่พบเห็นแล้วก็ผ่านเลยไป แต่ในเมื่อท่านเป็นหัวหน้าหมู่คณะ มีคนเชื่อถือตามกลุ่มใหญ่ และมีการเผยแพร่คำสอนของตนอย่างมากมาย ความสับสนไขว้เขว ย่อมก่อให้เกิดผลเสียแก่พระศาสนาส่วนรวมได้มาก ความหมายของข้อธรรมต่างๆ จะวิปริตผิดเพี้ยน จึงต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกัน และชี้แจงให้ประชาชนรู้ความจริง

ต่อมา มีผู้รู้ภาษาบาลีบางท่านทักท้วงขึ้น ดูเหมือนว่าบางครั้งท่านก็รับฟังดี และแสดงท่าทีว่ายอมรับผิด แต่แล้ว ซ้อนๆ กันนั้น ท่านก็อ้างว่า ความหมายของคำบาลีเหล่านั้น ท่านรู้ด้วยญาณ โดยที่ท่านเป็นอริยะ เมื่อเป็นการรู้ด้วยญาณ ก็เป็นอันผิดไม่ได้ ความหมายที่ท่านอธิบายก็กลายเป็นว่า จะต้องถูกต้องยิ่งกว่าความรู้ของผู้รู้ภาษาบาลีขึ้นไปอีก ท่าทีในเรื่องนี้ของท่านดูย้อนไปย้อนมา ขัดกันอยู่ในตัว แต่ทีนี้ คำศัพท์ที่ท่านนำมาแยกแยะแสดงรากศัพท์อธิบาย โดยบอกว่ารู้ด้วยญาณนั้น หลายคำก็เป็นคำธรรมดาสามัญในภาษาเดิมของเขา ซึ่งคนธรรมดาสามัญที่ใช้ภาษานั้นเขารู้อยู่ตามปกติธรรมดาโดยไม่ต้องใช้ญาณ แล้วก็ปรากฏว่า ความหมายที่ท่านว่าท่านรู้ด้วยญาณนั้น เป็นความหมายที่ผิด ซึ่งคนธรรมดาก็รู้ว่าผิดโดยไม่ต้องใช้ญาณ ท่านก็จะต้องเกณฑ์ให้ความรู้สามัญของเขานั้นผิด เพื่อรักษาญาณของท่านให้ถูกให้ได้ (บางครั้งก็รับว่าผิด แต่แล้วก็ไม่ยอมรับ)

กรณีของท่านโพธิรักษ์ในเรื่องนี้ ไม่ควรให้เป็นอย่างเรื่องเปรียบเทียบที่ว่า มีฝรั่งคนหนึ่ง เที่ยวพูดว่ารู้ภาษาไทยดี พบเห็นคำไทยคำไหนก็อธิบายแสดงความหมายเรื่อยไป มาเจอคำว่า ปาท่องโก๋ ก็อธิบายเสียมากมาย แต่ความหมายที่เขาอธิบายนั้น กลายเป็นเรื่องของปลาท้องโต พอมีคนไทยทักท้วงขึ้น ชี้ให้ดูปาท่องโก๋อย่างที่คนไทยเรียกกัน ฝรั่งนั้นก็บอกว่า นี่แหละๆ มันถูกน้ำมันร้อนเข้าก็พองเหมือนปลาท้องโต

ข. ตัวอย่างความเข้าใจผิดในถ้อยคำ

ท่านโพธิรักษ์แยกแยะวิเคราะห์รากศัพท์ และแสดงความหมายของคำศัพท์ทางธรรมไว้มากมาย โดยเฉพาะใน "ทางเอก" ซึ่งเป็นตำราขนาดใหญ่ ๓ เล่มจบ จะยกตัวอย่างมาพอให้เห็นลักษณะการกระทำของท่าน

- ท่านโพธิรักษ์ว่า "พหุสุต นั้นมันรู้มาก แบบฟังมามากเท่านั้น จำได้มาก ท่องได้มาก" ส่วน "พหุสัจจะหรือพาหุสัจจะ นี้ จึงมีความหมายว่า ผู้รู้ในสัจจะมากขึ้น แทงทะลุในสัจธรรม ทั้งหลายมากยิ่งขึ้นไป ให้ได้เรื่อยๆ" (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๓)

การวิเคราะห์และให้ความหมายอย่างนี้ บ่งอยู่ในตัวว่าท่านโพธิรักษ์ได้รู้เห็นอยู่อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า พหุ หรือ พหู แปลว่า มาก เช่น ในคำว่า พหุพจน์ หรือ พหูพจน์ เมื่อท่านมาเห็น พหุสุต กับ พหุสัจจะ หรือ พาหุสัจจะ (ความจริงพหุสัจจะไม่มี เป็นคำคลาดเคลื่อนเขียนไม่ถูกต้อง รูปที่ถูกเป็นพาหุสัจจะ ท่านโพธิรักษ์พูดไว้ปนกันทั้งสองคำ ทำนองว่าใช้คำไหนก็ได้) ท่านเข้าใจว่าเป็นคำคนละคำต่างกัน คือเข้าใจว่า พหุสุต เป็น พหุ(มาก) กับ สุต(ได้ยิน, ได้ฟัง) จึงให้ความหมายว่า ได้ยินได้ฟังมาก และ พหุสัจจะ เป็น พหุ(มาก) กับ สัจจะ (สัจจะ, ความจริง, สัจธรรม) จึงให้ความหมายว่า รู้ในสัจจะมากขึ้น

ความเข้าใจผิดของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ มีประเด็นสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑) ท่านเข้าใจว่า คำว่า "สัจจะ" ในที่นี้ ก็คือคำว่า สัจจะ ที่แปลว่า ความจริง หรือ สัจธรรม เหมือนอย่างที่ท่านเคยเห็นบ่อยๆ

๒) เมื่อเข้าใจผิดอย่างนั้นแล้ว ท่านก็เลยเข้าใจผิด ต่อไปอีกว่า พหุสุต กับ พหุสัจจะ หรือ พาหุสัจจะ เป็นคำแสดงคุณสมบัติต่างกัน เหมือนกับว่าพูดถึงคุณสมบัติของคนสองคน เอามาเปรียบเทียบกัน (ว่าคนที่เป็นพหุสุต แค่ฟังมามาก แต่คนที่เป็นพหุสัจจะนั้น รู้ในสัจจะมากขึ้น)

แต่ตามที่ถูกที่จริงนั้น "สัจจะ" ในที่นี้ เป็นคนละคำต่างกับ สัจจะ ที่แปลว่า ความจริง เป็นแต่เพียงมีรูปร่างพ้องกัน เท่านั้น "สัจจะ" ในที่นี้ เกิดจากการแปลงรูปของ "สุต" เมื่อเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค คือ พาหุสัจจะ เป็นการแปลงรูปของพหุสุตนั่นเอง เมื่อเปลี่ยนจากคำคุณศัพท์มาเป็นคำนาม หมายความว่า พหุสุต (ไทยเขียนพหูสูต) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมาก พาหุสัจจะ (พหุสัจจะ) เป็นคำนาม แปลว่า ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก พูดง่ายๆ ว่า พาหุสัจจะ ก็คือ ความเป็นพหุสุตนั่นเอง

พหุสุต กับ พหุสัจจะ (พาหุสัจจะ) ไม่ใช่คำแสดงคุณสมบัติที่แตกต่างกันของคนสองคน ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกัน แต่เป็นคำสองคำที่กล่าวถึงคุณสมบัติของบุคคลเดียวกัน เมื่อพูดว่าเขาเก่ง เขาได้เล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก ก็ใช้คำว่า พหุสุต เมื่อพูดถึงความเก่งของเขา พูดถึงภาวะที่เขาเป็นคนที่ได้เล่าเรียนได้ยินได้ฟังมาก ก็ใช้คำว่า พาหุสัจจะ คนเป็นพหุสุตได้ แต่คนเป็นพาหุสัจจะไม่ได้ มีแต่คนที่เป็นพหุสุต (พหูสูต) แต่คนที่เป็นพาหุสัจจะไม่มี เพราะพาหุสัจจะก็คือความเป็นพหุสุตนั่นเอง

พหุสุต กับ พาหุสัจจะ เป็นคำศัพท์เดียวกันแต่ต่างรูป เพราะแปลงรูปไปตามการเปลี่ยนหน้าที่ในประโยค ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปแยกแยะวิเคราะห์ค้นหารากศัพท์ ว่าต่างกันอย่างไร เพราะรากศัพท์เป็นคำเดียวกันอยู่แล้ว

เหมือนกับคนไทยที่พอจะรู้จักคำภาษาอังกฤษ "city" ว่าแปลว่า เมือง พอไปเห็น city อยู่ที่ไหนก็จะแปลว่า เมืองไปทั้งหมด เห็น city ไปต่ออยู่ท้ายคำอะไร ก็แยกศัพท์ออกมาอธิบายให้เป็นเมืองอย่างนั้น เมืองอย่างนี้ เช่น ไปเห็น veracious กับ veracity แทนที่จะรู้ว่าทั้งสองคำมาจากรากศัพท์เดียวกัน คำหนึ่งเป็นคุณศัพท์ อีกคำหนึ่งเป็นคำนาม และ city ในที่นี้ไม่มี แต่เป็น ity ไปต่อคำที่ลงท้าย c ทำให้เห็นเป็น city เมื่อไม่รู้อย่างนี้ ก็เลยไปแยกวิเคราะห์ว่าสองคำนั้นมาจากรากศัพท์ต่างกัน เป็น vera+cious กับ vera+city แล้วหาทางแปลให้มีคำว่าเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง จนเกิดความสับสน พาคนที่ไม่รู้พลอยเข้าใจผิดไปตาม ถ้าเป็นความผิดพลาดสับสนเกี่ยวกับถ้อยคำสามัญก็จะไม่มีความสำคัญมากนัก แต่ในกรณีนี้เป็นถ้อยคำทางธรรมที่โยงไปถึงหลักการของพระศาสนา ความเข้าใจผิดพลาดสับสน จึงก่อโทษเกิดความเสียหายได้มาก

เมื่อเห็นคำศัพท์ธรรมที่มาจากภาษาบาลีคำหนึ่ง จู่ๆ ก็จะตัดแยกออกเป็นตัวๆ ตามที่คิดเอาเอง แล้วไปเปิดดูความหมายในพจนานุกรมบาลีทีละตัวๆ เอามารวมกันเข้าเป็นความหมายของคำนั้น การทำอย่างนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดความผิดพลาดสับสนได้มาก เรื่องของภาษามิใช่มีเพียงเท่านั้น จะต้องรู้เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง เช่น การแปลงรูปคำตามหน้าที่ในประโยคดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น ผู้ที่เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่พระศาสนา และเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน จึงควรกระทำด้วยความรับผิดชอบและระมัดระวัง

- "ดังนั้น คำว่า นิรุทฺธา อันมาจากคำว่า นิร+อุทธ ซึ่ง นิร ก็แปลว่า ไม่ อุทธ ก็แปลว่า อยู่เหนือ หรือเบื้องบน . . . นิรุทธ จึงได้ความชัดเจนว่า ไม่มีอะไรจะอยู่เหนือ คือไม่ถูกครอบงำ . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๕๖๔)

ความจริง นิรุทฺธา ไม่ใช่คำที่จะไปแยกหารากศัพท์อย่างนั้น นิรุทฺธา เป็นคำศัพท์คำเดียวกับ นิโรธ และ นิรุชฺฌติ เป็นต้น เป็นแต่เพียงแปลงรูปต่างกันออกไปตามหน้าที่ในประโยค คือ นิโรธ เป็นคำนาม นิรุชฺฌติ เป็น รูปกริยาในปัจจุบันกาล และนิรุทฺธา เป็นรูปกริยาในอดีตกาล หรือกริยาช่องสาม นิโรธ แปลว่า ความดับ นิรุชฺฌติ แปลว่า ย่อมดับ นิรุทฺธา แปลว่า ดับแล้ว คือเป็นเรื่องของการแปลงรูป เมื่อเปลี่ยนการทำหน้าที่ในประโยคเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาวิเคราะห์หารากศัพท์แต่อย่างใด (กรณีของ นิโรธ นิรุชฺฌติ และ นิรุทฺธา นี้ เทียบกับในภาษาอังกฤษ ก็เหมือนกับความแตกต่างระหว่าง choice, choose และ chosen; flight, fly, และ flown; หรือ loss, lose และ lost)

ในกรณีที่จะค้นหารากศัพท์สำหรับคำอย่างนี้ ก็ต้องมีหลักอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงว่า พอเห็น นิรุทธา ก็แยกเอาเลยตามที่คิดเอาง่ายๆ ว่า นิร+อุทธ ซึ่งจะไปขัดกับหลักภาษาในแง่อื่นๆ อีกมากมายจนเป็นไปไม่ได้ เช่นว่า นิร+อุทธ ก็เป็น นิรุทธ แล้ว สระอา มาจากไหน จึงเป็น นิรุทธา; และ นิโรธ กับ นิรุชฺฌติ ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ นิรุทธา จะมาจาก นิร+อุทธ ได้อย่างไร; นิร เป็นศัพท์ประเภทอุปสรรค ส่วนอุทธที่แปลว่าเบื้องบนนั้นจะมาเป็น อุทธา ไม่ได้ เป็นได้แต่ อุทฺธํ และเป็นศัพท์ประเภทนิบาต อุปสรรคกับนิบาตในกรณีนี้จะมารวมกันอย่างนี้ก็ไม่ได้อีก; ฯลฯ)

- "และมุทิตา นั้น รากศัพท์มาจาก มุท อันแปลว่า ความยินดี หรือมาจากคำว่า มท อีกที อันแปลว่า ความมัวเมา หรือความหลง ที่เหลืออยู่ หรือความติด . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๑๔๔)

มุทิตา มาจาก มุท ก็พอแล้ว การที่ว่ามาจาก มท อีกทีนั้น เป็นการคิดเอาเอง ซึ่งขัดทั้งหลักภาษา และขัดหลักธรรม ในแง่หลักภาษา มุท กับ มท ต่างก็เป็นรากศัพท์ที่เรียกว่าธาตุด้วยกัน มีฐานะเท่ากัน มุท+ต เป็น มุทิต อิตถีลิงค์เป็นมุทิตา ส่วน มท+ต เป็น มตฺต อิตถีลิงค์เป็น มตฺตา ไปกันไม่ได้ ส่วนแง่หลักธรรม พระพุทธเจ้าก็ทรงมีมุทิตาธรรม แต่ไม่ได้ทรงมัวเมา หรือหลงอย่างแน่นอน

- "มันเป็นเรื่องรู้ อย่างเก่งจริงๆ แท้ๆ ของคนผู้ที่ยังไม่ตายเน่าเข้าโลงไป จึงเรียกว่า เป็นผู้มีวิชชา บ้าง . . . วิมุติ บ้าง (มุติ=รู้, วิ=ยิ่ง) . . ." (ทางเอก ภาค ๑ หน้า ๖)

วิมุติ นี้ท่านโพธิรักษ์ แปลว่ารู้ยิ่ง โดยแยกศัพท์ออกไปตามที่ท่านมองเห็นว่าเป็น วิ กับ มุติ และคงแน่ใจได้ว่า ท่านไปเปิดดูความหมายของ วิ กับ มุติ ในพจนานุกรมบาลี ทีละตัว (ไม่ควรจะอ้างเลยว่ารู้ด้วยญาณ) ซึ่งก็ให้ความหมายตรงกับที่ท่านยกมาเขียนแสดงไว้ แต่แล้วก็ไม่ถูกต้อง จุดผิดพลาด ก็คือ วิมุติ นี้เป็นคำที่นำมาใช้เขียนในภาษาไทยแล้ว ในภาษาบาลีเป็น วิมุตฺติ มี ต สองตัว ในเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย บางท่านก็ใช้วิธีลด ต เสียตัวหนึ่ง เป็นวิมุติ เช่นเดียวกับ วิชชา ที่เรามาใช้ในภาษาไทยเป็น วิชา, ปฏิปตฺติ เราใช้เป็น ปฏิบัติ, หรือแม้แต่ จิตฺต ที่ไทยปัจจุบันเขียนเป็นจิต เมื่อท่านเห็น มุติ โดยไม่ทราบว่าตัวแท้ในบาลีเป็น มุตติ ท่านก็เลยจับผิด และได้ความหมายที่ผิดมา (ที่ถูกนั้น วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น หรือพ้นวิเศษ)

(เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีไวยากรณ์ ซึ่งคล้ายกับภาษาอังกฤษในหลายๆ อย่าง และคนไทยปัจจุบันจำนวนมาก ก็รู้ภาษาอังกฤษพอเข้าใจความได้ จึงได้ยกเรื่องนี้ไปเขียนขยายเป็นบทความต่างหากอีกเรื่องหนึ่ง ชื่อว่า "โพธิรักษ์กับการตีความพระธรรมวินัย")

นอกจากวิเคราะห์แยกแยะ แสดงรากศัพท์ภาษาบาลีอย่างมากมาย ทั้งอรหัตต์ อรหันต์ อุเบกขา สันโดษ สันติ อริยะ ฯลฯ ตามวิธีอย่างที่ยกมาให้ดูแล้ว แม้คำในภาษาอังกฤษบางคำท่านก็สืบรากศัพท์เช่นเดียวกัน บางทีก็โยงจากภาษาอังกฤษมาถึงภาษาบาลีด้วย แม้ว่าท่านจะไม่ได้บ่งชัดไปทุกแห่งว่าท่านรู้อย่างนั้นด้วยญาณ แต่อาการวิธีที่ท่านทำก็อย่างเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาให้ดูนั้นแล้ว เช่น

". . . ลัทธิ trance จึงเห็นดีเห็นชอบที่จะเป็น sense ยิ่งกว่าจะได้ชื่อว่า trance อยู่เท่านั้น ดังนั้น แม้จะสะกดจิต หลับตาทำมาอย่างไร ถ้าไม่มิจฉาทิฏฐิ หลงติดกับจิตเสีย ก็จะมามุ่งสู่ความเป็น sense กันทั้งสิ้นหมด หนักเข้าก็เลยเอาแต่ความฉลาด เอาแต่ 'ความรู้สึกนึกคิดจัด' ลัทธินี้จึงจะมาจบอยู่ที่ sense แล้วก็เพี้ยนเขียนกันเป็น Zen ในทุกวันนี้ . . ." (ทางเอก ภาค ๓ หน้า ๖๘)

"อาการอย่างนี้ หรือสิ่งที่ทำให้แสดงอาการอย่างนี้ บาลีว่า นิโคตะ ที่ไปเป็นภาษาฝรั่งที่ว่า นิโคติน หรือ นิโคติก นั่นแหละ แปลว่า ไม่ไปกับโลกแล้ว หรือไม่เอากับโลกแล้ว . . ." (ทางเอก ภาค ๒ หน้า ๓๓๕) (คำบาลี ว่า นิโคตะ ก็ไม่มี และก็ไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับคำอังกฤษว่า นิโคติน หรือ nicotine; คำฝรั่งว่า นิโคติน ก็ไม่ได้แปล อย่างที่ท่านว่าไว้ เข้าใจว่าที่แท้จริงท่านคงต้องการพูดถึงคำว่า นาร์โคติน หรือ narcotine และ นาร์โคติก หรือ narcotic มากกว่า แต่ท่านจำคำผิดไป ซึ่งความผิดพลาดอย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่เจตนาโดยรวม เฉพาะอย่างยิ่งความซื่อตรงและความรับผิดชอบต่อความจริง ซึ่งเมื่อเห็นลักษณะการกระทำทั่วๆ ไปแล้วก็คงสังเกตได้)

ค. ปฏิกิริยาจากสันติอโศก

เมื่อมีการทักท้วงและชี้แจงอย่างนี้ขึ้น ก็ปรากฏว่า ทางสันติอโศกพยายามพูดสร้างภาพให้เป็นว่า ผู้ชี้แจงความจริงนั้นกล่าวหาว่าโพธิรักษ์แปลบาลีผิด ตลอดไปจนถึงว่า ผู้ชี้แจงความจริงนั้นเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จับโพธิรักษ์ เพราะแปลบาลีผิด การพูดจาสร้างภาพเช่นนั้นไม่เป็นการแสดงถึงการมีความซื่อตรงต่อความจริงเลย การแปลบาลีผิดไม่ใช่ประเด็นของเรื่อง ประเด็นอยู่ที่ว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์นั้น ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่รู้ ความเข้าใจผิด หรือเกิดจากเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เมื่อคนเชื่อตามก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อความหมายของหลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าการทำให้เกิดความเข้าใจผิดนั้น จะเกิดจากการแปลบาลีผิดหรือการสร้างความหมายเอาเองก็ตาม ก็เป็นเรื่องเสียหายทั้งสิ้น ซึ่งชาวสันติอโศกไม่ควรจะเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นย่อยอื่นอีก โดยเฉพาะคนเราไม่จำเป็นต้องรู้อะไรไปเสียทั้งหมด เมื่อเราไม่รู้อะไร ก็ไม่จำเป็นต้องอวดรู้ไปเสียทุกอย่าง การพูดเรื่อยเปื่อยไปในสิ่งที่เราไม่รู้จริง หรือพูดไปทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่รู้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการกระทำอย่างขาดความรับผิดชอบ และเป็นการไม่ซื่อตรงต่อความจริง ซึ่งไม่ใช่เป็นความดีอย่างแน่นอน และคนทั่วไปย่อมมีสิทธิสงสัย ถ้าไม่ถึงกับวินิจฉัยว่า ท่านที่พูดแสดงว่าตนรู้ ในสิ่งที่รู้ตัวอยู่ว่าตนไม่รู้นั้น จะเป็นพระอริยะจริงหรือไม่

อนึ่ง การกระทำของท่านโพธิรักษ์ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เป็นเพียงความพลาดพลั้งเผอเรอ แต่เป็นการกระทำเป็นอาจิณ ถ้าเป็นเพียงการพลาดพลั้งเผอเรอ ย่อมเป็นเรื่องที่ควรจะต้องให้อภัย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะทำผิดด้วยเจตนาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่อภัยกันได้อยู่ดี ข้อสำคัญ คือจะต้องยอมรับความจริง และการให้อภัยนั้นก็เป็นการให้อภัยแก่บุคคล แต่พร้อมกันนั้น ก็จะต้องรักษาประโยชน์ของประชาชนด้วยการให้เขารู้เข้าใจความจริง

บางครั้ง ชาวสันติอโศกบางคนจะพูดทำนองว่า ผู้เขียนชี้แจงความจริงอย่างนี้ เป็นคนคับแคบยึดติดในเรื่องภาษา การพูดอย่างนี้ก็มองได้ว่าเป็นวิธีเบี่ยงเบนประเด็นอีกวิธีหนึ่ง ผู้ที่ชี้แจงความจริงในเรื่องภาษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ยึดติดในภาษา แต่ประเด็นของเขาคือการรักษาความจริง ความจริงไม่ว่าในเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่โต ก็เป็นสิ่งสำคัญทั้งนั้น เมื่อเจตนาใช้ภาษาพูดเท็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ก็เป็นมุสาวาท สิ่งทั้งหลายมีความสำคัญในตัวของมัน เราควรให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้นเรื่องนั้นตามความสำคัญของมัน เฉพาะอย่างยิ่งก่อนจะก้าวขึ้นไปสู่ความเข้าใจระดับที่เหนือการสื่อของภาษาได้นั้น ความเข้าใจในความหมายของหลักธรรม ที่แสดงออกมาทางภาษาด้วยถ้อยคำ เป็นจุดเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การศึกษาและปฏิบัติ และสู่ความหยั่งรู้ที่สูงขึ้นไป เราจึงเรียกมันว่าเป็นสื่อ และความเข้าใจความหมายเบื้องต้นนี้แหละ ก็เป็นเครื่องตัดสินว่า สิ่งที่เขาพูดหรือสอนนั้น เป็นความจริง ตรงตามสัจธรรมหรือไม่ หรือจำกัดแคบเข้ามาว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาหรือไม่ จะเห็นได้ว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์ที่ได้ยกขึ้นมาพูดกันนี้ เป็นเรื่องสำหรับการพิจารณาในระดับเบื้องต้นนี้เท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องในระดับเหนือการสื่อของภาษาแต่อย่างใดไม่

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีอย่างหนึ่งว่า เวลานี้ศิษย์ชาวอโศกบางท่านได้พูดทำนองว่า ท่านโพธิรักษ์หยุด เลิก ไม่แยกแยะวิเคราะห์แสดงรากศัพท์คำบาลีต่อไปแล้ว หนังสือทางเอกก็ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่อีก การหยุดเลิกนี้คงจะหมายรวมไปถึงการไม่แสดงความหมายของคำศัพท์ธรรมไปตามที่คิดเองจากรูปศัพท์ที่เข้าใจผิดต่อไปด้วย และที่สำคัญคือ ควรจะให้ผู้ศึกษาทั้งหลายเข้าใจและมีท่าทีที่ถูกต้องต่อผลงาน เช่นทางเอกนั้น ที่เผยแพร่ไปแล้วด้วย ว่ามีการผิดพลาดไปอย่างไร เพราะตำราชุดใหญ่นั้น ท่านโพธิรักษ์ได้เขียนขึ้น ภายหลังจากที่ท่านได้อ้างตนว่าท่านเป็นอริยะแล้ว ท่านรู้มาด้วยญาณ คนทั่วไปย่อมถือเอาว่า เมื่อเป็นพระอริยะแล้ว สิ่งที่สอนก็ต้องถูกต้อง หรือต้องไม่พูดว่ารู้เองในสิ่งที่รู้อยู่ว่าตนไม่รู้ จึงควรจะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้

ขอย้อนกลับเข้าสู่วัตถุประสงค์เดิม ในการเขียนชี้แจงหัวข้อนี้ว่า ที่จริงนั้น มุ่งเพียงเพื่อให้เข้าใจกันให้ถูกต้องว่า การกระทำของท่านโพธิรักษ์ ที่ว่าเป็นความผิดต่อพระธรรมวินัยนั้น ว่าโดยทั่วไปหรือส่วนสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องในขั้นตีความพระธรรมวินัยอย่างที่บางท่านพยายามกล่าวอ้าง ด้วยความไม่รู้ หรือเพื่อบิดเบนประเด็น และในหัวข้อนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพียงการไม่รู้ความหมายของถ้อยคำ หรือ การเข้าใจผิดและสร้างความเข้าใจผิด ต่อความหมายของถ้อยคำที่แสดงหลักธรรมเท่านั้น การกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่านี้ คือการทำลายหลักการของพระพุทธศาสนาที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไป

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง