พุทธวิธีในการสอน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

นิเทศอาทิตตปริยายสูตร1

ในการพิจารณาพระสูตรนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นประโยชน์ในการสอน เห็นควรแยกพิจารณาเป็น ๒ ตอน คือ ว่าด้วยเนื้อเรื่องตอนหนึ่ง และคำอธิบายเชิงวิจารณ์ตอนหนึ่ง ดังนี้:-

ตอน ๑ เนื้อเรื่อง

ที่มา:

อาทิตตปริยายสูตร เป็นพระธรรมเทศนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังจากตรัสรู้แล้ว เป็นพระสูตรที่ ๓ ในพระไตรปิฎกบาลี มีที่มา ๒ แห่ง คือ:-

๑. พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ (วินย. ๔/๕๕/๖๒; ตรงกับฉบับภาษาไทย ๖/๕๕/๗๘)

๒. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (สํ.สฬ. ๑๘/๓๑/๒๓; ตรงกับฉบับภาษาไทย ๒๗/๓๑/๒๔)

ความย่อ:

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ณ ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ ในปีมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลนั้น เป็นเวลา ๗ สัปดาห์

จากนั้นจึงได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในเขตแคว้นกาสี ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดภิกษุเบญจวัคคีย์บรรลุอรหัตตผล

ระหว่างที่ประทับจำพรรษาแรกอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะนี้ พระองค์ได้โปรดพระยสะ บิดา มารดา ภรรยาเก่า และสหายของพระยสะ ที่เป็นชาวเมืองพาราณสี ๔ คน ชาวชนบท ๕๐ คน ตามลำดับ จนมีภิกษุสาวกจำนวน ๖๐ รูป

จากนั้น ได้ทรงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ รูป ออกประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เอง ได้เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ในระหว่างทางได้โปรดคณะสหายภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ รูป

ครั้นเสด็จถึงตำบลอุรุเวลาแล้ว ได้เสด็จไปยังอาศรมของท่านอุรุเวลกัสสป ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิลผู้บูชาไฟ จำนวน ๕๐๐ คน แล้วได้ทรงขอพักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น

ในคราวนั้น ได้ทรงโปรดอุรุเวลกัสสป ผู้ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ และเข้าใจว่าพระพุทธองค์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ โดยทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นอันมาก จนในที่สุด อุรุเวลกัสสปชฎิลคลายทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นสาวก ละทิ้งการบูชาไฟของตน ขอบรรพชาอุปสมบท กับทั้งชฎิลผู้น้องชื่อนทีกัสสปะพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ คน และคยากัสสปะ พร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ คน ก็ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทด้วย

หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์คณะใหม่ทั้งพันรูป เสด็จไปยังตำบลคยาสีสะ และ ณ ตำบลนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่พระภิกษุปุราณชฎิลทั้ง ๑ พันรูป และด้วยพระสูตรนี้ พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้บรรลุอรหัตตผล

ในเรื่องนี้ มีความที่ควรทราบเป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ การบูชาไฟ อันเป็นลัทธิที่นับถืออยู่เดิมของชฎิล อย่างหนึ่ง และใจความใน อาทิตตปริยายสูตร ที่ทำให้ชฎิลผู้ยอมละทิ้งลัทธิเดิมของตนมาสมัครเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุอรหัตตผล อย่างหนึ่ง

การบูชาไฟ

การบูชาไฟ เป็นพิธีกรรมสำคัญ มีมาแต่โบราณ ซึ่งจะเห็นได้ในลัทธิศาสนายุคแรกๆ ทั้งหลาย เช่น การบูชายัญของคนป่าในถิ่นต่างๆ และในศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นต้น

แม้ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาของชมพูทวีปสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ก็ถือว่าการบูชาไฟ และการบูชายัญ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง

ศาสนาพราหมณ์ถือว่า ประชาบดี เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสัตว์โลกทั้งหลาย แรกทีเดียวนั้น มีเทพประชาบดีอยู่แต่พระองค์เดียว พระองค์ได้ทรงพระดำริที่จะก่อกำเนิดสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ทรงบำเพ็ญตบะ และได้ทรงประทานกำเนิดแก่เทพอัคนีออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์

เพราะเหตุที่เทพอัคนีเกิดจากพระโอษฐ์ของพระองค์ อัคนีจึงเป็นเทพผู้เสวยอาหาร และเพราะเหตุที่เป็นเทพองค์แรกที่ประชาบดีทรงสร้างขึ้น จึงได้นามว่า อัคนี (อัคร ➜ อัคริม = เกิดก่อน มีก่อน ➜ อัคนี)2

บทบัญญัติในศาสนาพราหมณ์กำหนดให้ศาสนิกชน โดยเฉพาะพราหมณ์ ต้องประกอบยัญพิธี และการเซ่นสรวงสังเวยอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการบูชาไฟ คือ อัคคิหุตตะ ในภาษาบาลี หรือ อัคนิโหตระ ในภาษาสันสกฤต จะต้องบูชาทุกวัน เมื่อเริ่มต้นหรือสิ้นสุดวันและคืนหนึ่งๆ และในวันเดือนเพ็ญเดือนดับ เป็นต้น3

ไฟ หรือ อัคนี มีบทบาทสำคัญยิ่งในยัญพิธีทั้งปวง ในพิธีกรรมต่างๆ เมื่อถึงตอนสำคัญทุกตอน จะต้องมีการถวายเครื่องสังเวย หรือสวดอ้อนวอนแก่อัคนีเทพ เพราะถือว่าอัคนี เป็นทูตของเทพทั้งหลาย หรือเป็นสื่อกลางนำประดาเครื่องเซ่นสรวงสังเวยขึ้นไปถึงเทพทั้งหลาย

เมื่อใส่เครื่องสังเวยเข้าในไฟนั้น ถือว่าได้ใส่ลงในโอษฐ์ของอัคนีเทพ เมื่อเปลวและควันไฟพลุ่งขึ้น ก็หมายความว่าองค์อัคนีเทพ ทรงนำเอาเครื่องเซ่นสรวงสังเวยขึ้นไปบนสวรรค์ที่ตามนุษย์มองไม่เห็น

เมื่อขึ้นไปถึงสวรรค์แล้ว องค์อัคนีเทพก็ทรงป้อนเครื่องเซ่นสรวงสังเวยนั้นแก่ทวยเทพผู้เป็นภราดรทั้งหลาย ด้วยโอษฐ์ของพระองค์ ดุจดังแม่นกป้อนเหยื่อแก่ลูกนก ฉะนั้น4

ไฟมีบทบาทสำคัญอย่างนี้ จึงมีคำสรรเสริญไว้ในคัมภีร์พราหมณ์ว่า

“อัคนิโหตร (การบูชาไฟ) เป็นประมุขแห่งยัญทั้งหลาย”5

และว่า

“การเซ่นสรวง (แด่อัคนี) เป็นกรรมประเสริฐสุดในบรรดายัญทั้งหลาย”6

ผู้บูชาไฟย่อมได้ผลานิสงส์เป็นอันมาก เช่น จะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ฝูงปศุสัตว์ และเพียบพร้อมด้วยบุตรหลาน เผ่าพันธุ์ จนถึงอย่างที่คัมภีร์พราหมณ์ว่า

“ผู้ใดบูชาอัคนิโหตร ด้วยความเข้าใจความหมายโดยถ่องแท้ บาปทั้งปวงของผู้นั้นย่อมถูกเผาผลาญหมดไป”7

ชฎิลทั้งพันรูป มีอุรุเวลกัสสปเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ถือลัทธิบูชาไฟ ก็คงมุ่งหวังผลเหล่านี้ ดังนั้น หลังจากที่ท่านมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามในที่ประชุม อันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ในเขตพระนครราชคฤห์ ว่า

“ท่านผู้อยู่ในอุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอมเพราะกำลังพรต ท่านเห็นเหตุอันใดจึงละเลิกไฟที่เคยบูชาเสียเล่า”

ท่านจึงตอบว่า

“ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวขวัญ ให้ฝันใฝ่ถึงแต่เรื่อง รูป รส เสียง กามสุข และอิสตรีทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทราบแล้วว่า สิ่งเหล่านี้เป็นมลทินในอุปธิทั้งหลาย จึงมิได้ติดใจในการเซ่นสรวงบูชา”8

ใจความของพระสูตร

ความในพระสูตรนี้ อาจสรุปได้เป็น ๔ ตอน ดังนี้:-

๑. สภาพที่เป็นปัญหา พระพุทธองค์ทรงเริ่มพระสูตรด้วยพระดำรัสว่า “สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงลุกเป็นไฟหมดแล้ว”

จากนั้น ตรัสขยายความต่อไปว่า สิ่งทั้งปวงที่ว่าลุกเป็นไฟไปหมดแล้วนั้น คืออะไรบ้าง ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว สิ่งที่พระองค์ตรัสว่าลุกเป็นไฟ มีดังต่อไปนี้:-

๑) จักษุ รูป จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา

๒) โสตะ (หู) เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส โสตสัมผัสสชาเวทนา

๓) ฆานะ (จมูก) กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส ฆานสัมผัสสชาเวทนา

๔) ชิวหา (ลิ้น) รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา

๕) กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัส กายสัมผัสสชาเวทนา

๖) มนะ (ใจ) ธรรมะ (ความคิดคำนึงต่างๆ) มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มโนสัมผัสสชาเวทนา9

พูดให้สั้นลงไปอีกก็ว่า อายตนะทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตลอดถึงการรับรู้ ความเกี่ยวข้อง และความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดจากอายตนะเหล่านั้น ได้ถูกไฟไหม้หมดแล้ว หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้และความคิดคำนึงทั้งหมดนั่นเอง ถูกไฟลามติดไปทั่วแล้ว

๒. สาเหตุ เมื่อกำหนดตัวปัญหาได้ และเข้าใจสภาพของปัญหาแล้ว ก็ค้นหาสาเหตุให้เกิดไฟหรือตัวไฟที่เผาผลาญนั้นต่อไป ได้ความว่า สิ่งที่กล่าวมานั้น ลุกไหม้ด้วยไฟกิเลส ๓ อย่าง คือ

๑) ราคะ ความอยากได้ ความใคร่ ความติดใจ ความกำหนัดยินดี

๒) โทสะ ความโกรธ ความขัดใจ ความเดือดแค้นชิงชังไม่พอใจต่างๆ

๓) โมหะ ความหลง ความไม่รู้ ไม่เข้าใจสภาพของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

และยังถูกเผาลนโหมด้วยไฟความทุกข์อีกมากมายหลายอย่าง เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจต่างๆ

๓. ข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไข พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายในอายตนะภายใน ภายนอก ตลอดถึงเวทนาทั้งหมดเหล่านั้น เมื่อหน่ายก็ย่อมไม่ยึดติด

๔. ผล เมื่อไม่ยึดติด ก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เป็นอันสิ้นชาติภพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำสิ่งที่จะต้องทำเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออีกเลย.

1บรรยายในการประชุมทางวิชาการเรื่อง ธรรมะที่อธิบายยาก ในหลักสูตรวิชาศีลธรรม ชั้น มศ.ปลาย ณ ห้องศรีคุรุ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๓
2ศตปถพราหมณะ, S.B.E. XLL.322
3ดู มนูธรรมศาสตร์, S.B.E. XXV.132 เป็นต้น
4ดู Heinrich Zimmer, Philosophies of India, Meridian Books, New York, 1956,p.71 เป็นต้น
5ศตปถพราหมณะ, S.B.E. XLIV.502
6ภควัทคีตา, S.B.E. VIII.353
7ฉานโทคยอุปนิษัท, S.B.E. I.91
8วินย. ๔/๕๗/๖๖
9คำที่อาจเข้าใจความหมายไม่ชัดแจ้ง คือ วิญญาณ หมายถึงความรู้อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางประสาททั้ง ๕ หรือที่เกิดขึ้นในใจ เช่น จักขุวิญญาณ = การเห็น โสตวิญญาณ = การได้ยิน เป็นต้น; สัมผัส หมายถึงการมาบรรจบกันของอายตนะและวิญญาณ เช่น จักขุสัมผัส = การบรรจบกันของตา รูป และจักขุวิญญาณ; เวทนา หมายถึงความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ที่เกิดจากสัมผัสนั้นๆ
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง