การศึกษา เป็นสาระของการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ดังที่ท่านเรียกการปฏิบัตินั้นว่า สิกขา อันได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา หลักการนี้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ผู้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และจะต้องฝึก มนุษย์นั้นเมื่อศึกษาคือฝึกฝนพัฒนาแล้ว ก็จะเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศได้จนสูงสุด แม้แต่จะเป็นพุทธะ และมนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาศึกษาดีแล้วก็จะช่วยกันพัฒนาสังคมประเทศชาติ ตลอดจนโลกมนุษย์ทั้งหมด ให้เจริญมั่นคง มีสันติสุข การศึกษาของมนุษย์ คือการพัฒนาคน จึงเป็นรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง และการส่งเสริมการศึกษาตามหลักไตรสิกขา ก็เป็นกิจประการแรกที่จะต้องทำนำหน้ากิจการทุกอย่างในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลประชาชน
การที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นผู้นำพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั้งประเทศ จัดงานเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ นับว่าเป็นการแสดงออกให้ประจักษ์ถึงกุศลเจตนาที่จะบูชาพระคุณแห่งองค์พระประมุขของสังฆมณฑล ผู้ทรงเป็นประธานแห่งสถาบันพระพุทธศาสนาและปวงพุทธศาสนิกชน ด้วยกุศลวิธีอันยิ่งใหญ่ คือด้วยการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ขออนุโมทนากระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการและได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางประสานงานการจัดกิจกรรม ที่ได้ให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา โดยถือเป็นกิจกรรมหลักที่จะปฏิบัติอย่างเป็นงานระยะยาว ดังที่ได้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งได้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเป็นแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา เท่ากับได้ถือเอาการศึกษาเป็นหัวใจของงานทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นการบูชาองค์พระประมุขแห่งพุทธศาสนิกชน ด้วยปฏิบัติบูชาอันสูงสุด
หากการเฉลิมฉลองที่ได้จัดทำด้วยการศึกษาเป็นกิจนำหน้านี้ จะได้ช่วยให้ธรรมเจริญงอกงามขึ้นในชีวิตจิตใจของประชาชน และช่วยให้พุทธศาสนิกชนเจริญงอกงามขึ้นในไตรสิกขา ก็จะเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งงานสมโภช อันมีค่าคุ้มควรแก่การน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะแด่องค์พระสังฆปริณายก ในมงคลวโรกาสแห่งการเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษานี้ อย่างแท้จริง
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษาและบำรุงพระพุทธศาสนา
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐