พรตลอดปี ชีวิตดีตลอดไป

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

บทที่ ๑
งบดุลชีวิต

เตรียมปิดงบดุล วางแผนหารายได้ต่อไป

ความจริงนั้น เรื่องพรก็เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระเหมือนกัน จะพูดในเชิงวิชาการก็ได้ แม้แต่เพียงจะถามว่าคำว่า “พร” มีความหมายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา พูดในแง่ภาษาอย่างเดียวก็คงต้องใช้เวลาเยอะแล้ว เพราะว่าคำว่าพรนี้ในภาษาของพระไม่ได้มีความหมายอย่างที่คนไทยใช้กัน อันนี้จะเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลาก็คงได้พูดกัน แต่เฉพาะในวันนี้ พรที่จะให้พูดเป็นเรื่องพรที่เกี่ยวกับปีใหม่

ปีใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกาลเวลา และเป็นกาลเวลาขนาดใหญ่ คือขนาดที่เรียกกันเป็นปีๆ เลย คือเราเปลี่ยนปี พ.ศ. จากปี พ.ศ. ๒๕๓๓ มาเป็น ๒๕๓๔

กาลเวลาที่ยาวนานอย่างนี้ มีความหมายมาก ถ้ามองในแง่ของพวกนักธุรกิจในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน เขาถือว่าสำหรับเวลาที่ผ่านไปหนึ่งปีนี้ จะต้องมีการทำบัญชี มีการตรวจสอบ มีการทำงบดุล

การทำงบดุลนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ทราบฐานะทางการเงิน เวลาที่ผ่านไป ๑ ปีนั้น อาจจะเป็นปีงบประมาณ หรือปีปฏิทินก็ได้ บางทีสองอย่างนี้บางครั้งก็มาลงในเวลาเดียวกัน ซึ่งในเรื่องทางบัญชีก็เป็นเวลาที่เขาทำงบดุล

ถ้าหันมามองดูชีวิตของเรา ก็เป็นเรื่องที่น่าจะทำงบดุลเหมือนกัน คือน่าจะมีการทำงบดุลของชีวิตว่าในเวลา ๑ ปีที่ผ่านไปนี้ ชีวิตของเราได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุน อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา

ไม่ใช่ทำงบดุลเฉพาะชีวิตเท่านั้น สังคมก็เช่นเดียวกัน อย่างสังคมไทยของเรานี้ เวลาผ่านไป ๑ ปี เราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง และที่ว่าเจริญหรือเสื่อมนั้น เจริญในด้านไหน เสื่อมในด้านไหน นี้เป็นเรื่องที่น่าจะได้มาพิจารณา

ถ้าเราเอาเวลาที่ผ่านไป และเวลาที่เปลี่ยนปีนี้ มาใช้สำหรับตรวจสอบอย่างนี้ คิดว่าจะมีประโยชน์กว่าการที่ปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ มิฉะนั้น วันเวลาก็จะผ่านไปๆ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ และไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ดังจะเห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไปและเรามีการสมมติกันว่า จะรับปีใหม่ส่งท้ายปีเก่า ก็มีการสนุกสนานรื่นเริง บางทีการสนุกสนานรื่นเริงนั้นก็เป็นเรื่องที่สักแต่ว่าผ่านๆ ไป เป็นเรื่องของการบันเทิงอย่างเดียว เป็นการมัวเมา แทนที่จะทำให้เจริญก้าวหน้างอกงามในทางชีวิต ก็กลายเป็นว่า เสื่อมทรามลงไป

จะเห็นว่า คนจำนวนมากเข้าคุกกันตอนปีใหม่ หรือทะเลาะวิวาท ยิงฟันกันตายตอนปีใหม่ คือแทนที่จะเจริญก้าวหน้า พอถึงปีใหม่กลายเป็นสนุกสนานผิดทาง หรือสนุกเกินขนาด เกิดทะเลาะเบาะแว้ง กินเหล้าเมายา ปีใหม่ฉลองจะให้เจริญรุ่งเรือง กลายเป็นว่าเสื่อมตกต่ำลงไปอย่างหนัก นี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติต่อเรื่องเวลาไม่ถูกต้อง

สำหรับกาลเวลาที่ผ่านไปนี้ คนที่จะดำเนินชีวิตให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ทางพระท่านว่าให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็จะต้องเริ่มด้วยการตรวจสอบ พอตรวจสอบแล้ว เราก็จะเห็นว่าปีที่ผ่านไปนี้เป็นอย่างไร ส่วนที่ผ่านไปแล้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้ งบดุลชีวิตดูซิ ว่ามันได้มากหรือเสียมาก กำไรหรือขาดทุน เสร็จแล้วก็จะได้มาวางแผนต่อไปข้างหน้าว่าจะเอาอย่างไร

ไม่ว่าอดีตหรืออนาคต ก็ต้องปัจจุบันเป็นหลัก

คนเราที่มองเรื่องของกาลเวลานี้เวลาพูดถึงปีเก่าและปีใหม่ ก็จะไปเน้นเรื่องอดีตและอนาคตมาก ปีเก่าก็มองเป็นเรื่องอดีต และปีใหม่ก็มองเป็นเรื่องอนาคต

ปีเก่าเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราก็นึก เราก็อยากจะให้เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นกันไปเสียที ก็หมดๆ ไป เราก็คิดแค่นั้น คิดว่าให้มันผ่านไป ส่วนปีใหม่เราก็มองไปข้างหน้าด้วยความหวังว่าจะมีความเจริญงอกงาม บางทีก็เป็นการฝันลมๆ แล้งๆ

แต่ความจริงสิ่งที่ปฏิบัติได้ คือปัจจุบันเท่านั้น เวลาอดีตเราก็ย้อนกลับไปทำอะไรมันไม่ได้ อนาคตเราก็ยังไปทำอะไรยังไม่ได้ มันไม่ได้อยู่กับเรา สิ่งที่อยู่กับเราแน่นอนก็คือปัจจุบัน

ในระยะที่ส่งท้ายปีเก่าและขึ้นปีใหม่นี้ เราจะเห็นพฤติกรรมของคนว่า คนส่วนมากจะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ เวลาที่ตัวมีอยู่ แต่จะพยายามมองถึงว่าทำอย่างไรจะให้ผ่านพ้นเก่าให้เป็นอดีตไปเสีย ทั้งๆ ที่มันยังไม่ได้เป็น แต่ไม่ปฏิบัติให้เป็นปัจจุบัน มันก็เลยเป็นอดีตไป แล้วพร้อมกันนั้นก็หวังไปในอนาคตโดยที่ไม่ยึดปัจจุบันให้แน่นไว้

ถ้าหากว่าเรายึดปัจจุบันให้แน่นไว้ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะปัจจุบันอยู่กับเราแน่นอน เมื่ออยู่กับเราแล้ว เราเอาปัจจุบันเป็นหลัก อดีตก็จะมีความหมาย

อดีตจะมีความหมายอย่างไร?

อดีตนั้น เมื่อเอาปัจจุบันเป็นหลัก ก็จะมีความหมายในแง่ที่ว่า มันโยงใยในทางเหตุปัจจัย กล่าวคือ ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรก็เพราะเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในอดีต หรือที่ทำมาในอดีต ทีนี้เหตุปัจจัยนี้ เราจะต้องสืบสาวหามัน เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่า เราทำไมมาเป็นอย่างนี้ ด้วยวิธีนี้เราก็จะได้ตรวจสอบว่า อะไรมันยิ่ง อะไรมันหย่อน อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ควรจะแก้ไขอะไร อะไรเป็นบทเรียน อดีตก็จะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

พร้อมกันนี้เราจะเตรียมวางแผนอนาคต ก็ต้องทำกับปัจจุบันนี้แหละ จึงจะมองเห็นว่าอนาคตเรามีแนวโน้มอย่างนี้ มีความพร้อมเท่านี้ มีทุนด้านนี้ แล้วควรจะเป็นไปอย่างไรต่อไป เสร็จแล้วจึงจะวางแผนได้ถูกต้อง

การที่อดีตกับอนาคตมาโยงกับปัจจุบัน โดยยึดปัจจุบันเป็นหลัก นี้แหละจึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องกาลเวลา

ถ้าหากว่าอดีตกับอนาคตไม่ยึดปัจจุบันเป็นหลัก อดีตนั้นก็จะเป็นเรื่องที่จม คือถ้าเราไปนึกถึงอดีตเมื่อใด เราจะจมหายไปเลย คือจมไปในอดีตนั้น ถ้าเป็นอนาคต ก็เป็นลอยไป เลื่อนลอยเคว้งคว้างหายไปเลย

คนจำนวนมากจะมีชีวิตอย่างที่ทางพระเรียกว่า หวนละห้อยความหลัง หวนละห้อยก็คือมองย้อนไปในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งที่ผ่านล่วงไปแล้ว ด้วยความเสียดายอะไรทำนองนั้น แล้วก็มองอนาคตด้วยความฝันเพ้อ อย่างที่เรียกว่าสร้างวิมานในอากาศอะไรทำนองนั้น ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่ท่านเรียกว่าไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นประโยชน์ก็อยู่ที่การรู้จักทำกับปัจจุบันนี้แหละ

เมื่อหวาดก็ยังมีหวัง เมื่อหวังก็ยังมีหวาด

คนที่มองอนาคตข้างหน้าก็จะเป็นไปในรูปของความหวัง แต่ความหวังนั้นก็จะมีสิ่งหนึ่งที่คู่มาคือความหวาด

ความหวาดก็คือความกลัวนั้นเอง เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีความหวังนั้นก็จะต้องมีความหวาด ในความหวังจะมีความหวาด คือหวาดว่าสิ่งที่หวังนั้นจะได้หรือไม่ได้ มันจะเป็นอย่างไร แล้วพร้อมกับการที่หวาดก็จะมีความหวังเหมือนกัน

คนเรานี้ก็จะมีความรู้สึกที่คู่กันคือเมื่อนึกถึงอนาคต ก็จะมีความหวังกับความหวาดนี้ เมื่อหวาดเราก็หวังว่า จะไม่เป็นไปอย่างที่กลัว จะไม่เป็นไปอย่างที่หวาด ก็ทำให้ชุ่มชื่นใจ ถ้าหวาดก็มีความเหี่ยวแห้ง ถ้าหวังก็มีความชุ่มชื่น แล้วแต่ว่าจะมีความหวังมากหรือหวาดมาก แต่ตราบใดที่มีความหวังก็มีความหวาด และตราบใดที่มีความหวาดก็มีความหวัง ถ้าหวาดอย่างเดียวก็แย่ ใจจะเหี่ยวแห้งมีความทุกข์ มีความบีบคั้นมาก และมีความเครียดมาก ถ้าหวังโดยไม่มีหวาดก็กลายเป็นหวังที่ลมๆ แล้งๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้มีความหวังชนิดที่โยงกับปัจจุบันซึ่งเป็นไปได้ คือจะต้องมีเหตุปัจจัยที่ให้เห็นได้ในปัจจุบันว่า ความหวังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นความหวังที่เลื่อนลอย ฉะนั้น คนเราที่อยู่กับอนาคตหรืออดีตที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ในระยะปีใหม่นี้ การที่จะมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องความหวังและความหวาดนี้ ก็เป็นอารมณ์ของคนทั่วไป สิ่งสำคัญก็คือปัจจุบัน ซึ่งทางพระท่านให้ปฏิบัติต่อสิ่งเฉพาะหน้านั้นให้ถูกต้อง ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็จะทำให้เราสามารถคุมอนาคตได้ เพราะว่าคนที่ใช้ปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ก็คือทำเหตุปัจจัยให้สำเร็จผลที่ต้องการ แล้วอนาคตที่ต้องการมันก็จะกลายเป็นเรื่องการวางแผนที่ถูกต้องขึ้นมา

คนก้าวหน้า หรืองานก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่อาตมาต้องการพูดในที่นี้ก็คือ การที่เราพูดถึงอดีตนั้น ความมุ่งหมายส่วนหนึ่งอยู่ที่ว่าเราจะทำงบดุลชีวิต ทำงบดุลสังคมขึ้นมาได้อย่างไร

อย่างชีวิตของเรานี้ แต่ละคนก็อาจจะมีวิธีการสำรวจกันต่างๆ บางคนก็จะสำรวจว่า ในด้านของหน้าที่การงานเป็นอย่างไร คนมักจะมองที่จุดนี้มาก คือมองว่า เราได้มีความก้าวหน้าในด้านการงานอย่างไร แต่ที่จริงอันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ที่ทำงานเท่านั้น

ที่ว่านี้หมายความว่าเวลาเราพูดถึงความก้าวหน้าในการทำงาน เรามักจะคิดถึงความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญซึ่งไม่ค่อยจะนึกถึงกันก็คือ ความก้าวหน้าของตัวงาน จึงต้องมองให้ครบทั้งสองอย่าง

คนมักจะคิดกันมากถึงความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน เช่นว่าจะได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งอะไรหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น แต่ตัวงานเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากออกไป ซึ่งบางทีก็ไม่ได้คิดถึง แต่ว่าที่จริงสิ่งสำคัญที่จะต้องคิดคือตัวงาน อย่างน้อยทั้งสองอย่างนี้จะต้องคู่กันไป แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงแก่สังคม แก่ประเทศชาติหรือตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการทำงานก็คือ ความก้าวหน้าของตัวงาน ว่างานนี้ก้าวหน้าไปไหม งานนี้ได้เกิดผลเป็นประโยชน์ตามความมุ่งหมายของมันหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพราะฉะนั้น เมื่อสำรวจเรื่องงาน หรือการทำงาน ก็จะต้องมองให้ทั่วถึง ไม่ใช่มองเฉพาะความก้าวหน้าของคนที่ทำงาน แต่ต้องมองที่ความก้าวหน้าของงานนั้น ที่เกิดผลประโยชน์

ความก้าวหน้าของชีวิต

นอกจากมองที่งานแล้ว คนจำนวนมากก็จะมองไปที่เรื่องทางเศรษฐกิจ หรือเรื่องการเงินว่าเราได้เงินเพิ่มขึ้น รวยขึ้นไหม มีเงินมีทองมากขึ้นไหม มีเงินฝากในธนาคารมากขึ้นหรือเปล่า

นอกจากนั้นก็อาจจะมองไปที่ด้านร่างกายว่า เราดีขึ้นไหมในทางสุขภาพร่างกาย หรือว่าเสื่อมลง ถ้าเป็นผู้ที่สูงอายุมากขึ้น ก็ย่อมมีโอกาสที่ว่าร่างกายจะทรุดโทรมลง ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุ การคิดในเรื่องของร่างกายอาจจะต้องมากขึ้น โดยพิจารณาในแง่ของความได้ความเสียในทางร่างกายว่าเป็นอย่างไร

นอกจากนั้นก็อาจจะมองในทางสังคมว่าความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือยอมรับในสังคม ตลอดจนชื่อเสียงของตนเป็นอย่างไร ในปีที่ผ่านมาได้เพิ่มมากขึ้นไหม เป็นชื่อเสียงที่ดีงามไหม อะไรต่างๆ ซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องของโลกธรรมอย่างหนึ่ง

ในแง่สังคมนี้ สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าที่ถูกต้องซึ่งควรสำรวจพิจารณาก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างมนุษย์ ซึ่งมิใช่มีความหมายเฉพาะการได้ชื่อเสียงสำหรับตน แต่หมายถึงความสัมพันธ์ที่เป็นเนื้อหาสาระในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์นี้ต่างหาก

ที่ว่านี้หมายความว่าจะต้องสำรวจพิจารณาว่าเราได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นดีขึ้นไหม ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้นหรือเปล่า อันนี้แหละเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา ซึ่งเป็นเนื้อหามากกว่าการได้เพิ่มขึ้นในเรื่องของชื่อเสียง

ต่อไปก็เป็นเรื่องของจิตใจ คือสำรวจในแง่จิตใจว่า จิตใจของเรานี้เจริญงอกงามขึ้น หรือเสื่อมลง เรามีความสุขมีจิตใจที่สบายเอิบอิ่มผ่องใสมากขึ้นหรือเปล่า มีจิตใจที่สงบเข้มแข็งมั่นคงไหม มีสิ่งที่เรียกว่าความปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบาน ผ่องใสมากน้อยแค่ไหน เราสามารถยิ้มแย้มแจ่มใสได้มาก หรือว่าเรามีจิตใจขุ่นมัว มีความเครียดมาก อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องสำรวจ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะใกล้ตัวหลักธรรมมากขึ้นๆ

อีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของปัญญา ปัญญาก็คือ ความรู้ความเข้าใจ นอกจากความรู้ความเข้าใจในวิชาการและเรื่องของการงานอาชีพแล้ว ก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิต ความรู้เท่าทันสังขาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะต้องสำรวจว่า ปัญญาหรือความรู้อย่างนี้ของเราดีขึ้นหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องสำรวจในด้านปัญญาเกี่ยวกับความเจริญหรือการพัฒนาของปัญญานั้น

ความเจริญก้าวหน้าของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันกับกาลเวลา กาลเวลาที่ผ่านไปจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้มีความเจริญพัฒนาหรือเจริญงอกงามมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ช่วงระยะของการส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการที่จะมาทำงบดุลชีวิตกันตามวิธีการอย่างที่กล่าวมานี้ ซึ่งได้พูดมาเพื่อให้ได้มองเห็นหลายๆ แง่

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง