การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ฉันทะทำให้ขยัน ตัณหาทำให้ขี้เกียจ

ทีนี้ จะขอพูดเรื่องฉันทะอย่างเดียว ฉันทะนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาอีก ที่พูดมาเมื่อกี้นี้ว่า ฉันทะ แปลว่า ความชอบ ความพอใจ ความรัก หรือความมีใจรัก แต่ความจริงฉันทะนั้นมันมี ๒ แบบ

ฉันทะแบบที่เราว่ากันมาเมื่อกี้นี้ ในบางโอกาสจะต้องเรียกชื่อให้เต็มว่า “ธรรมฉันทะ” แปลว่า ฉันทะในธรรม ธรรมคืออะไร? ธรรมะนี่ให้ความหมายกันได้เยอะแยะ แต่ในที่นี้เอาเพียง ๒ อย่าง ธรรมะแง่หนึ่งแปลว่า ความจริง แง่ที่สองแปลว่าความดีงาม พอแปลได้ ๒ ความหมาย นี่ก็จะโยงกับเรื่องเกี่ยวข้องในที่นี้ สำหรับธรรมะที่แปลว่าความจริงนั้น ความจริงคือสิ่งที่พึงรู้ แล้วทีนี้ความดีงาม ความดีงามคืออะไร ความดีงามคือสิ่งที่พึงกระทำหรือพึงทำให้เกิดให้มีเป็นจริงขึ้นมา

พอบอกว่า ธรรมฉันทะ ฉันทะในธรรม ความหมายที่ ๑ คือฉันทะในความจริง ฉันทะในสิ่งที่พึงรู้ ฉันทะในแง่นี้ก็แปลว่า อยากในความรู้ คือใฝ่รู้ เพราะฉะนั้น ฉันทะแง่ที่ ๑ ก็ใฝ่รู้ คนมีฉันทะแง่ที่ ๑ คือมีความใฝ่รู้ อยากจะรู้ อยากจะศึกษาให้เข้าใจความจริง ว่าอันนี้นั้นเป็นอย่างไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ก็เพราะมีธรรมฉันทะนี้ ต้องการรู้ต้องการเข้าถึงความจริง เพราะฉะนั้นจึงต้องขวนขวายให้เกิดความรู้ให้ได้

ในแง่ที่ ๒ ที่ว่า ฉันทะในความดีงามที่พึงทำให้เกิดให้มีเป็นจริงขึ้น ก็คือ ฉันทะในการกระทำ ความอยากทำ หรือใฝ่ทำ อันนี้คือตัวที่ท่านเรียกว่า “กัตตุกัมยตาฉันทะ” เป็นฉันทะสำคัญ เป็นรากฐานของความก้าวหน้า

เป็นอันว่า ฉันทะชื่อเต็มว่า ธรรมฉันทะ คือใฝ่รู้และใฝ่ทำ หรืออยากรู้ และอยากทำ หรืออยากศึกษา และอยากสร้างสรรค์ อันนี้แหละเป็นตัวหลักสำคัญ พระพุทธเจ้าเรียกธรรมฉันทะนี้เต็มที่ว่า “กุศลธรรมฉันทะ” แต่บางทีเราจะเรียกศัพท์ให้เต็มที่ มันยืดยาวเกินไป ก็เลยตัดกันว่า ธรรมฉันทะ หรือบางท่านก็ตัดเอาตัวหน้า “ธรรม” เอาออก เรียกว่า “กุศลฉันทะ” แต่เรียกอย่างไรก็ตาม ก็ให้รู้ว่ามันเป็นความหมายนี้ แต่บางทีเราเรียกกันสั้นๆ ว่า ฉันทะเท่านั้น โดยหมายถึงฉันทะที่ต้องการที่พูดมาแล้ว เป็นอันว่าเป็นเรื่องของความ “ใฝ่รู้” และ “ใฝ่ทำ”

ยังมีฉันทะอีกอย่างหนึ่ง ได้ยินกันบ่อยในนิวรณ์ ๕ ข้อ ๑ ว่า “กามฉันทะ ฉันทะในกาม” ในสิ่งที่อยากได้ คือใจคิดคำนึงแต่ว่าอยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่น่าพอใจทั้งหลาย ใจไปอยู่กับสิ่งที่ต้องการ อยากโน่นอยากนี่ และไม่เป็นสมาธิ เรียกง่ายๆ ก็คือ อยากได้อามิส นี่เรียกว่ากามฉันทะ ตกลงว่าฉันทะมี ๒ อย่าง กามฉันทะ กับธรรมฉันทะ ถ้าเป็นกามฉันทะ แล้วก็เป็นเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องของตัณหา ที่จริงมันเป็นไวพจน์ของตัณหานั่นเองแหละ ตัณหาที่เป็นกามฉันทะนี่คือตัวปฏิปักษ์ของธรรมฉันทะ หรือฉันทะที่เราต้องการ

ตอนนี้ก็มาถึงการแยกระหว่างฉันทะที่เป็นธรรมฉันทะ กับฉันทะที่เป็นกามฉันทะ หรือเป็นตัณหา ซึ่งเราจะต้องแยกให้ถูก ถ้ามีกามฉันทะก็มุ่งไปในทางของตัณหา มุ่งหาสิ่งบำรุงบำเรอวัตถุอำนวยความสะดวกต่างๆ ตัณหานี้นำไปสู่ความเกียจคร้าน ไม่ได้ทำให้เกิดความสำเร็จ หลายท่านบอกว่า เราจะต้องไม่สันโดษ สันโดษแล้วทำให้งอมืองอเท้า บ้านเมืองพัฒนาไม่ได้ ต้องส่งเสริมให้คนเกิดตัณหา อยากได้โน่นได้นี่แล้วจะได้มีความพยายามสร้างโน่นสร้างนี่ จะได้พัฒนา ในที่นี้ขอบอกว่า ถ้าทำให้คนมีตัณหาแล้วคนจะขี้เกียจ มันตรงข้าม

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น? ตัณหาทำให้ขี้เกียจ เพราะเขาไม่ได้อยากได้งาน ไม่ได้อยากได้ผลสำเร็จของงาน เมื่อเราจะให้คนทำงาน เราต้องทำให้เขารักงาน รักความมุ่งหมายของงาน รักวัตถุประสงค์ของงาน ถ้าคนรักงาน รักความมุ่งหมายของงาน เราเรียกว่า มีฉันทะ

แต่ทีนี้ เราบอกว่าให้เขาอยากได้วัตถุ ได้เงินอะไรอย่างนี้ เราเรียกว่าเร้าตัณหา ถ้าหากให้เขาอยากได้เงิน ได้วัตถุปรนเปรอนี่ เขาไม่ได้อยากได้ผลสำเร็จของงาน ไม่ได้รักงาน ถ้าเป็นไปได้เขาจะไม่ทำงาน เพราะเขาอยากจะได้เงิน อยากจะได้วัตถุเท่านั้น เพราะฉะนั้นพวกนี้จะหาทางลัดว่าทำอย่างไรจะได้วัตถุ ได้เงินโดยไม่ต้องทำงาน แล้วเราก็จะสร้างเครื่องบีบบังคับ สร้างระบบการควบคุมเพื่อเป็นเงื่อนไขให้เขาต้องทำงานจึงจะได้วัตถุ ได้ผลประโยชน์ ได้เงินที่เขาต้องการ ใช่ไหม? อันนี้คือระบบของความยุ่งยาก จะต้องป้องกันความทุจริตกันเต็มที่

ถ้าหากว่าเขาหลีกเลี่ยงได้ไม่ต้องทำงาน พวกมีตัณหานี่จะหาทางเอาวิธีลัด ถ้าทุจริตได้ก็ทุจริต พวกนี้ถ้าหากว่าไม่ต้องทำงานได้ก็ดี ก็เลยขี้เกียจ เพราะฉะนั้นตัณหาก็ส่งเสริมให้คนขี้เกียจ ถ้าตัณหามากขึ้นอีกก็ขี้เกียจ บวกสุรายาเสพติดการพนัน ดังนั้นจึงบอกได้ว่า ตัณหาเป็นธรรมที่ส่งเสริมความขี้เกียจ และส่งเสริมความทุจริต ไม่ได้ช่วยให้เกิดความดีงาม ความขยันหมั่นเพียร หรือการพัฒนาอะไรเลย

แต่มีอยู่บ้างที่พระอานนท์เคยกล่าวว่า บางทีต้องใช้เทคนิคเหมือนกัน บอกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา หมายความว่า บางครั้งเราต้องเอาตัณหาเป็นเครื่องมือ เพราะว่าคนบางคนทำให้เกิดฉันทะนี่ยากเหลือเกิน ต้องไปกระตุ้นตัณหาก่อน ให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้วัตถุ เสร็จแล้วจึงเอาตัณหาความอยากได้วัตถุ หรือความโลภนั่นมาเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดฉันทะความรักงานอีกทีหนึ่ง ในกรณีที่ใช้เป็นเทคนิคนี่ท่านยอม แต่ว่าต้องระวังที่สุด เพราะจะไม่ค่อยสำเร็จตามนั้น เพราะไปยั่วยุให้เกิดความโลภตัณหาในวัตถุแล้ว ใจมันแล่นไปทางนั้น ก็อยากได้วัตถุ ไม่รักงาน ความสำเร็จของงานก็จะไม่ได้ ก็จะได้แต่ในทางเกียจคร้านทุจริต ความอยากได้ทางลัดก็เป็นปัญหาในการพัฒนาปัจจุบันนี้

ฉะนั้น เห็นว่าเราจะต้องทำให้คนมีฉันทะให้ได้ ต้องทำฉันทะให้นำไปสู่ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ต้องให้รักสิ่งที่ดีงาม เช่นว่า ในชุมชนของเรา อะไรเป็นเป้าหมาย ได้แก่ ความสงบ ความอยู่ดี ความเรียบร้อย ความสามัคคี ความสะอาด สุขภาพ ความปลอดภัย อะไรต่างๆ ที่เป็นสิ่งดีงาม สร้างความเร้าใจให้คนเกิดฉันทะขึ้นมาแล้วการพัฒนาก็จะสำเร็จได้ แต่ถ้าไปเร้าตัณหาในทางที่ว่า เรามาพัฒนากัน เราจะได้มีของนั่นของนี่ มีวัตถุปรนเปรอ มีโทรทัศน์ มีมอเตอร์ไซค์ มีอะไรต่ออะไร เอาแต่เรื่องที่เป็นวัตถุบำรุงบำเรอสำหรับแต่ละคนซึ่งเป็นเรื่องส่งเสริมความเห็นแก่ตัวนี่ เห็นว่าพัฒนาอย่างนี้ล้มเหลวจะเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

เพราะฉะนั้น จุดเร้าของสองอันนี้ต่างกัน คือ จุดเร้าของฉันทะกับตัณหา ในการพัฒนาจะต้องเลือกเป้าหมายหนึ่ง คือเป้าหมายสำหรับฉันทะ ได้แก่ สิ่งดีงามทั้งหลายที่คนในชุมชนนั้นจะพึงตั้งเป็นวัตถุประสงค์ แล้วเอาอันนั้นแหละยั่วยุเร้าฉันทะให้เกิดขึ้น

เป้าหมายแบบที่สองคือ ตัณหาซึ่งเป็นเรื่องของความอยากได้ส่วนตัวของแต่ละคนที่อยากจะได้วัตถุมาปรนเปรอตัวเอง ซึ่งจะไม่มีทางสำเร็จผลได้ดี จะเกิดปัญหาการเบียดเบียนกัน เกิดการเอาเปรียบกันอะไรต่างๆ นี่ ปัญหาทั้งหลายจะตามมา ดังนั้น ถ้าหากว่าจะเร้าตัณหาต้องเร้าในทางที่เป็นตัวกระตุ้นฉันทะอีกทีหนึ่ง แต่ว่าผู้ดำเนินการกระตุ้นเร้าจะต้องวางวัตถุประสงค์ของตนเองไว้ให้ดีทีเดียว แล้วก็ดำเนินการโดยเข้าใจกลวิธีเทคนิคต่างๆ

ที่ผ่านมานี่ขอบอกว่าเรามองกันแต่เพียงตัณหากับละตัณหา เราไม่ได้มองเรื่องฉันทะเลย คือ ไปมองตัวบวกแต่ตัณหา แล้วว่าถ้าไม่เอาตัณหาก็ลบเท่านั้น แทนที่ว่ามันมีตัวบวก ๒ ด้าน บวกฝ่ายอกุศล กับ บวกฝ่ายกุศล บวกฝ่ายอกุศลก็ตัณหา บวกฝ่ายดีก็ฉันทะ แทนที่เราจะบอกว่าไม่เอาตัณหาเอาฉันทะ เรากลับบอกว่า ไม่ได้หรอกถ้าละตัณหาเสียแล้ว คนจะไม่มีกำลังทำงาน ต้องเร้าตัณหาเอาไว้ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า ตัณหาทำให้ยุ่ง ต้องให้ละตัณหาไม่ให้อยากได้ เลยเถียงกันอยู่นั่น ไม่ไปไหนเลย

เพราะฉะนั้น ขอตั้งเป็นข้อสังเกตสำหรับแยกอย่างง่ายๆ อย่างที่พูดแล้วว่า ฉันทะมีความรักงานแล้วก็รักสิ่งดีงามที่เป็นวัตถุประสงค์ของงานนั้น ส่วนตัณหารักอามิส รักผลประโยชน์ตอบแทน

อันนี้จะแสดงออก เช่น เวลาประสบพบเห็นอะไร คนที่เห็นอะไรที่แปลกตา ที่สวยงามดี นี่อยากจะได้อยากจะเอามา อันนั้นเป็นความอยากแบบตัณหา แต่คนที่เห็นด้วยฉันทะนี่ เวลาเห็นอะไรที่แปลกที่ดีงามที่ใหม่ที่น่าทึ่งจะเกิดความรู้สึกแปลกใจว่า เอ๊ะ…ของนั่นมาได้อย่างไร สำเร็จได้อย่างไร แล้วอาจมีความรู้สึกว่า ทำอย่างไรเราถึงจะทำได้อย่างนั้น ความรู้สึกนี้จะเกิดตั้งแต่เด็กๆ ทีเดียว แล้วก็อยู่ที่การปลูกฝังของผู้ใหญ่ด้วย เด็กไปเห็นอะไรที่สวยงามแปลกตานี่ เพียงแต่ว่าอยากจะได้ เอาสิ่งนั้นมา ถ้าเราปลูกฝังในแนวนี้มันจะเป็นการเสริมตัณหา เรียกว่า เสริมกามฉันทะ แต่เด็กบางคนเราจะเห็นได้ว่า พอเห็นอะไรแปลกที่น่าทึ่งนี่ แกนึกในแง่ความเป็นมาเป็นไป สงสัยในทางเหตุปัจจัยเลย ว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร มันทำได้อย่างไร บางคนจะนึกว่าทำอย่างไรเราถึงจะทำได้อย่างนี้ ความรู้สึกอย่างนี้ช่วยลดความรู้สึกอยากได้อยากเอาลงไป เป็นฉันทะ ทำให้คิดสร้างสรรค์

ธรรมดาปุถุชนแล้ว มันก็ต้องมีความอยากได้อยากเอาบ้าง แต่สำหรับปุถุชนที่เป็นกัลยาณะ ก็ควรจะมีฉันทะด้วย คือนอกจากอยากได้อยากเอานี่ มันจะมีความทึ่ง อยากจะรู้ว่า นี่มันสำเร็จมาได้อย่างไร ทำได้อย่างไร

แต่สำหรับเด็กนี่ สำคัญมากที่จะปลูกฝังนิสัยที่จะพัฒนาอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นนิสัยสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่อไปด้วย คือว่า ผู้ใหญ่จะต้องกระตุ้นตัวฉันทะขึ้นมา ไม่ใช่กระตุ้นตัณหา ถ้าเราเข้าใจเทคนิคนี้ตามแนวพุทธศาสนาแล้ว การปลูกฝังอบรมเด็กก็อาจจะเปลี่ยนไป แทนที่จะคอยส่งเสริมว่า ถ้าเด็กเห็นอะไรอยากได้ ผู้ใหญ่ก็จะคอยเอาให้ตามที่แกต้องการ ทีนี้ควรจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว อาจจะชี้แนะแกให้เกิดความสงสัย เกิดความใฝ่รู้ ว่าสิ่งนี้คืออะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ทำให้แกอยากจะเข้าใจเรื่องนั้น อยากทำได้ แล้วนิสัยแบบฉันทะจะตามมา

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง