ปัญหาวัดพระธรรมกาย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เรื่องสิ่งก่อสร้างใหญ่โต

เรื่องการก่อสร้างสิ่งใหญ่โต ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้มาก ต้องจับหลักให้ได้ก่อนว่าอะไรเป็นตัวงานพระศาสนาที่แท้ เมื่อจับตัวงานหลักได้แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็เอามาสนองงานหลักนั้น

งานหลักของพระพุทธศาสนา ก็คือ ไตรสิกขา หรือการศึกษาฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาให้เจริญงอกงามดียิ่งขึ้น ไตรสิกขาเป็นงานของชีวิต เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนเอง และช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนพัฒนาตัวเขาขึ้นไป จึงมีงานการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรมเป็นศาสนกิจ

ส่วนการสร้างอาคารเป็นต้น ก็เพราะความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อมาสนองงานศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่สั่งสอนธรรมนี้ จึงมีหลักปฏิบัติว่า นอกจากดูกำลังทรัพย์เป็นต้นแล้ว ควรสร้างตามความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อสนองงาน ให้คุณค่ามาอยู่ที่ตัวงานแห่งไตรสิกขานั้น ไม่ใช่ให้คุณค่าเขวไปอยู่ที่สิ่งก่อสร้าง แม้คุณค่าทางศิลปะ เป็นต้น ก็ต้องมาเป็นเครื่องหนุนตัวงานหลักนั้น ถ้าจับตัวหลักนี้ไม่ได้ ไม่นานก็จะเพี้ยนกันไปหมด

ส่วนการก่อสร้างสิ่งใหญ่โตสวยงามในความหมายทำนองเป็นอนุสรณ์สถาน ก็มีคติไว้ช่วยตรวจสอบดังนี้

๑. ควรจะเกิดจากการรวมใจ และพร้อมใจกันของชาวพุทธ ทั่วกันหมดทั้งโลก หรือทั้งประเทศ แล้วเลือกสร้างไว้ในที่เดียว จะได้เป็นศูนย์กลางจริงๆ ถ้าไม่อย่างนั้น ใครมีกำลังก็สร้างขึ้นมา ต่อไปก็จะมีการสร้างแข่งกันที่โน่น ที่นี่ แล้วก็เป็นของพวกนั้น ของพวกนี้ ฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้ แทนที่จะเป็นศูนย์รวมให้เกิดความสามัคคี ก็กลับก่อความแตกแยก แทนที่จะมาหนุนความสำคัญของพระศาสนาเป็นส่วนรวม ก็จะเป็นการเสริมความยิ่งใหญ่ของบุคคลหรือของหมู่พวกไป

๒. การสร้างวัตถุ ไม่ต้องพูดถึงที่ใหญ่โต แม้แต่ที่ใช้งานสนองหลักไตรสิกขาทั่วๆ ไป คติชาวพุทธแต่เดิม ถือเป็นเรื่องของคฤหัสถ์ คือญาติโยมชาวบ้านที่จะเป็นธุระจัดทำ เพราะจัดเป็นปัจจัย ๔ ข้อที่ ๓ (เสนาสนะ) เพื่อมาหนุนให้พระมีกำลังทำงานศึกษา-ปฏิบัติ-เผยแผ่ธรรม ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยไม่ต้องห่วงกังวลด้านวัตถุ ยิ่งของใหญ่โตด้วยแล้ว ก็ควรจะเป็นเครื่องแสดงศรัทธา โดยให้เป็นความดำริริเริ่มและเป็นภาระของพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ที่จะทำขึ้น เพราะเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและสังคมของเขา ส่วนพระสงฆ์ก็ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ดำรงธรรม เผยแผ่ธรรมไปให้ผลเกิดขึ้นที่ชีวิตของคน

ยกตัวอย่างในอินเดียยุคพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก พระเจ้าอโศกมหาราชเลื่อมใสธรรมแล้ว ก็สร้างมหาวิหารมากมายถวายแก่พระศาสนา มหาวิหารก็คือวัดใหญ่ๆ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของพระสงฆ์และประชาชนนั่นเอง ถ้าเป็นยุคประชาธิปไตย ประชาชนก็ต้องรู้จักสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทำ

๓. ทุนที่ใช้สร้างเหมือนกับมาจากส่วนเหลือใช้ คือ ยุคสมัยนั้น สังคมมั่งคั่งมีเงินทองมาก และบุคคลที่สร้างอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชก็มั่งคั่งล้นเหลือ การใช้เงินทองในการก่อสร้างนี้ ต้องไม่เป็นเหตุตัดรอนหรือเบียดแบ่งแย่งยุบการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขด้านอื่น แต่กลับไปหนุนกัน และเน้นที่คุณค่าทางจิตใจ ไม่ใช่เน้นที่ราคาของวัตถุ

๔. การสร้างสิ่งใหญ่โต ที่จะเป็นอนุสรณ์สถาน มีไว้ที่เดียว หรือน้อยแห่ง นอกจากสิ้นเปลืองทีเดียว และยิ่งทำให้มีความสำคัญมาก ก่อความสามัคคีได้จริงแล้ว ตามปกติในพระศาสนา ก็จะสร้างไว้ในที่เกี่ยวกับองค์พระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า เกี่ยวกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ หรือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างมหาสถูป และประดิษฐานหลักศิลาจารึกไว้ ณ ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ทรงสร้างอุทิศถวายพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง จึงมีคุณค่าแห่งศรัทธาและน้ำใจบริสุทธ์ที่มุ่งเพื่อธรรมอย่างแท้จริง

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง