ในยุคปัจจุบัน ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนากันมากขึ้น มีทั้งการศึกษาวิจัยและนิพนธ์เกี่ยวกับหลักธรรมต่างๆ โดยตรง การบำเพ็ญสมาธิหรือเจริญจิตภาวนา และการนำแนวความคิดทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ในวิชาการอื่นๆ ตลอดจนการศึกษาภาษาบาลีในฐานะที่เป็นกุญแจไขสู่พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นแหล่งต้นเดิมแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา มีทั้งการศึกษาวิจัยอย่างอิสระ การศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ และงานของสถาบันหรือองค์กรทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือทางภาษาในบางประเทศ พระไตรปิฎกบาลีที่ชาวตะวันตกใช้เป็นหลักในการศึกษานั้น จัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน (Romanized Pali) แหล่งใหญ่ที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมันนี้ ได้แก่ สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกเกือบครบทั้งหมดมานานแล้ว พจนานุกรมภาษาบาลี และหนังสือค้นพระไตรปิฎกที่ใช้กันเป็นหลักอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่โดยนักปราชญ์ในประเทศไทย ก็เป็นงานที่จัดทำและจัดพิมพ์โดยสมาคมบาลีปกรณ์นี้ ปัจจุบันนี้ได้มีบางบุคคลและบางสถาบัน คิดถึงการที่จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกด้วยคอมพิวเตอร์กันบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระยะดำริหรือ ตระเตรียมการ ยังไม่มีประเทศอื่นใดทำงานก้าวนี้ได้สำเร็จ
พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์นี้ สามารถแปลงบาลีอักษรไทย เป็นบาลีอักษรโรมันได้ทุกแห่งทุกตอนตามปรารถนา ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงด้วยการกดปุ่มอันเดียวเท่านั้น จึงนับว่าเป็นพระไตรปิฎกนานาชาติในคอมพิวเตอร์ฉบับแรก โครงการนี้จึงเกื้อกูลแก่การศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลีในระดับสากล ซึ่งวงการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ศรีลังกา พม่า อินเดีย และในประเทศตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน จะได้รับประโยชน์โดยทั่วไป การที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ขึ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกนี้ เท่ากับเป็นการประกาศและรักษาเกียรติคุณของประเทศไทยเอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง สมกับฐานะที่ได้รับการเพ่งมองว่าเป็นดินแดนที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดและเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ข้อสำคัญก็คือ ได้เป็นผู้อำนวยประโยชน์แก่วงการศึกษาพระพุทธศาสนา และความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑