เท่าที่เป็นมา เมื่อการพัฒนาคนอ่อนลง และมีการทำความชั่วเช่นอาชญากรรมมากขึ้น แนวโน้มของสังคมก็หันไปสู่การปกครองแบบเน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น และด้านกฎหมายก็ออกข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการบังคับและลงโทษมากยิ่งขึ้น
แนวคิดแบบนี้ก็ได้เข้าไปสู่ระบบการปกครองคณะสงฆ์ด้วย หรืออาจจะเป็นว่าคณะสงฆ์ถูกหล่อหลอมจากอิทธิพลของกระแสสังคม ให้มีแนวคิดการปกครองแบบที่เน้นอำนาจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการหลงลืมละทิ้งหลักการแห่งวินัยที่แท้ ซึ่งเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา ที่มุ่งเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของมนุษย์
ตลอดกาลที่ล่วงไป พระราชบัญญัติคณะสงฆ์แทบทุกฉบับที่ออกมาเป็นกฎหมายประเภทที่เน้นอำนาจ คือการปกครองแบบบังคับควบคุม แล้วลืมหลักการของพระพุทธศาสนาที่ว่า ตั้งสังฆะขึ้นมาเพื่ออะไร
ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะต้องวางบทบัญญัติ เพื่อเอื้อต่อการสร้างชุมชนแห่งการศึกษาขึ้นมาให้ได้ จึงจะสอดคล้องกับจุดหมายที่แท้จริงแห่งการปกครองในพระธรรมวินัย
เวลานี้เน้นแต่การใช้อำนาจและการบังคับบัญชา เจ้าอาวาสเลิกเป็นอาจารย์ไปนานแล้ว ยังเหลือแต่การเรียกชื่อเท่านั้นว่าเป็น "อาจารย์" ชาวบ้านไปเจอเจ้าอาวาสก็ยังเรียกอาจารย์ แต่ตัวเจ้าอาวาสจำนวนมากไม่เคยทำหน้าที่ของอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่าวิปลาสไปแล้ว เจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ก็มุ่งใช้อำนาจบังคับบัญชา ถ้าอย่างนี้ก็ไปไม่ไหว อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องยกขึ้นมาพิจารณา
อาตมภาพได้พูดมาใช้เวลามากมายแล้ว ทีนี้ท่านอัยการสูงสุด ได้ฝากคำถามไว้ ๔ ข้อ สำหรับ ๓ ข้อต้นนั้น อาตมภาพคิดว่าจะไม่ตอบละ ขอถือว่าเนื้อความที่พูดมาเป็นเสมือนว่าครอบคลุมคำตอบไว้แล้ว
ส่วนข้อที่ ๔ คำถามดูเหมือนจะเป็นว่า “ฝ่ายนิติศาสตร์จะเกื้อกูลพุทธศาสนาได้หรือไม่ อย่างไร” อาตมภาพจะไม่พูดในแง่ตัวนิติศาสตร์โดยตรง แต่จะพูดในแง่นิติบัญญัติ
ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ในสังคมไทยเรามีความสัมพันธ์ระหว่างนิติบัญญัติของรัฐบาลไทย กับการปกครองของคณะสงฆ์ โดยรัฐเป็นผู้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ ได้แก่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ในเรื่องนี้ ถ้าทางนิติบัญญัติจะเกื้อกูล ก็คือ ช่วยให้กฎหมายคณะสงฆ์เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา หมายความว่า ทำอย่างไรจะให้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และข้อบัญญัติต่างๆ เป็นสิกขาบทตามหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นตัวเสริมสร้างสภาพแวดล้อม ระบบความสัมพันธ์ และระบบสถาบันที่เกื้อหนุนให้บุคคลที่เข้ามาบวชแล้วได้รับการศึกษา ที่เรียกว่าไตรสิกขา
ถ้ากฎหมายทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็แทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะมันไม่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา
เวลานี้ก็เป็นอย่างที่ย้ำแล้วว่า กฎหมายของเราได้ชักนำความโน้มเอียงเข้ามาสู่วงการสงฆ์ ในแบบที่ทำให้สถาบันสงฆ์กลายเป็นสถาบันที่ปกครองด้วยอำนาจไปด้วย ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าจะให้เป็นไปโดยชอบ จะต้องให้เป็นการปกครองด้วยการศึกษาและเพื่อการศึกษา
อย่างที่บอกแล้วว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครองและกฎหมายคือวินัย เป็นเรื่องของการศึกษา โดยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ที่จะเกื้อหนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นไปสู่ความมีชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น
ต่อไปขั้นที่ ๒ ก็คือ ให้ขยายหลักการนี้ออกไปสู่สังคมให้กว้างขวาง ถ้าเห็นด้วยกับหลักการของพระพุทธศาสนาตามนิติศาสตร์แนวพุทธ กฎหมายจะต้องมีแนวโน้มในการที่จะสร้างระบบสังคม จัดสรรสภาพแวดล้อม และวางรูประบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ในทางที่จะเกื้อหนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ให้มนุษย์เข้าถึงจุดหมายของชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป
พร้อมกันนี้ ยังมีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งที่จะมาเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา ที่พูดมาเมื่อกี้นั้นเป็นการเกื้อหนุนในแง่ของหลักการของพระพุทธศาสนา แต่ทีนี้การเกื้อหนุนอีกอย่างหนึ่งที่แคบเข้ามาเป็นด้านปฏิบัติการ ก็คือในหลักธรรมชุดหนึ่งที่พูดไปแล้ว ได้แก่ อปริหานิยธรรม ๗ ประการ
หลักนี้ข้อสุดท้ายที่บอกว่า หน้าที่ของรัฐอย่างหนึ่งคือจะต้องจัดอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ ซึ่งในที่นี้หมายถึงท่านผู้มีศีล มีความบริสุทธิ์ เป็นผู้ดำรงธรรม สั่งสอนธรรม เป็นหลักใจของประชาชน และเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมของสังคม กฎหมายและการปกครองจะต้องช่วยคุ้มครองและเกื้อหนุน ไม่ใช่ละเลย แล้วกลับไปหนุนในทางที่ผิด
เวลานี้คงต้องถามว่า สังคมของเราได้ใช้กฎหมายเกื้อหนุนในแนวทางนี้บ้างหรือไม่ คือเกื้อหนุนผู้ที่อยู่ในแนวทางของพระพุทธศาสนา อยู่ในธรรมในวินัย หรือเกื้อหนุนผู้ที่ออกไปนอกธรรมนอกวินัย
เรื่องนี้เป็นงานหนึ่งที่จะประสานกับธรรม เพราะว่าเมื่อมองในแง่ประโยชน์ส่วนรวม ในที่สุด สภาพของสถาบันสงฆ์ก็จะฟ้องถึงสภาพของสังคมไทยด้วย เนื่องจากสถาบันสงฆ์นั้นเป็นสถาบันสังคม โดยเฉพาะเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของจริยธรรม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องชี้วัดจริยธรรมของสังคมไปด้วย
ในแง่หนึ่งเรามองว่า เวลานี้สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนทางจริยธรรมของสังคมไทยตกต่ำเสื่อมโทรมมาก ถ้าตกต่ำจริงก็เป็นดัชนีชี้วัดว่า เวลานี้สังคมไทยได้มีความตกต่ำทางจริยธรรมอย่างยิ่ง จนแม้กระทั่งสถาบันที่เป็นตัวแทนหรือเป็นแกนกลางของจริยธรรมก็ยังตกต่ำถึงเพียงนี้
สภาวะเช่นนี้เป็นเครื่องเตือนใจผู้รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะนักปกครองและผู้บริหารทุกท่านว่า จะต้องตื่นขึ้นมารีบปรับปรุงพัฒนาสังคมของเรา รวมทั้งการพัฒนาสถาบันสงฆ์ด้วย เพราะว่าการที่สถาบันสงฆ์ตกต่ำนั้นไม่ได้หมายความว่าเฉพาะสถาบันสงฆ์เท่านั้นที่ตกต่ำ ดังที่เรามักมองกันอย่างคับแคบเหลือเกิน เช่นมองว่าพระไม่ดีๆ เวลานี้พระตกต่ำอะไรต่างๆ แล้วก็จบ
แต่ที่จริงนั้น สังคมนี้เป็นส่วนรวมขององค์ร่วมต่างๆ มากมาย แต่ละส่วนนั้นเป็นองค์ประกอบที่ทั้งเป็นปัจจัยส่งผลและทั้งเป็นตัวรับผลด้วย สถาบันสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อสถาบันสงฆ์ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่สามารถเป็นปัจจัยปรุงแต่งสร้างสรรค์สังคมในทางที่ดี แต่จะเป็นเพียงตัวรับผลจากปัจจัยทางสังคม และเป็นตัวสะท้อนปัญหาของสังคม
เพราะฉะนั้นจึงขอย้ำว่า เมื่อสถาบันสงฆ์ตกต่ำเสื่อมโทรม ในแง่หนึ่งจึงเป็นเครื่องวัดว่าเวลานี้สังคมไทยได้ตกต่ำทางจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่แม้แต่ส่วนแกนกลางทางจริยธรรมก็ยังแย่ขนาดนี้ ฉะนั้นอย่าได้ไปคิดมองแคบๆ ว่าสถาบันสงฆ์แย่ เพราะว่าที่แท้ก็คือสังคมไทยทั้งสังคมแย่ที่สุดแล้ว ถ้าเรามองเช่นนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เราตื่นขึ้นมาและรีบแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงสังคมไทยให้ขึ้นสู่สถานะที่ดีงามถูกต้อง ด้วยการพัฒนาสถาบันสงฆ์เองด้วย ให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง
อนึ่ง มองในแง่ปัจจัยอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ว่า นิติบัญญัติของสังคมไทยได้มีส่วนเอื้อที่ทำให้สถาบันสงฆ์ตกต่ำลง
การปกครองด้วยอำนาจนั้น แน่นอนว่าผิดหลักการของพระพุทธศาสนา เพราะการปกครองในพระพุทธศาสนาเป็นเพียงปัจจัยที่มาช่วยเสริม ซึ่งมีขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น คือเพื่อช่วยสนับสนุนให้มนุษย์พัฒนาตนขึ้นสู่ชีวิตที่ดีงาม ถ้าเราไม่ยอมรับหลักการนี้มาใช้ในสังคมส่วนใหญ่ ก็ต้องยอมรับในแง่ของสถาบันสงฆ์
ถ้ายอมรับทั้งหมด ก็หมายความว่าขยายหลักการนี้มาใช้ในสังคมไทยส่วนรวมด้วย ตลอดจนสังคมโลกทั้งหมด เพื่อให้นิติศาสตร์เกื้อหนุนระบบการจัดการสังคม ที่เอื้อต่อการพัฒนามนุษย์ ให้มีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่สันติสุข และ ช่วยทำโลกให้รื่นรมย์น่าอยู่อาศัยยิ่งขึ้น
ได้กล่าวแล้วว่า การพัฒนาคนเป็นทั้งจุดหมายและเป็นทั้งปัจจัยของวินัยอันรวมทั้งกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายมีไว้เพื่อสร้างสภาพเอื้อโอกาสแก่การที่คนจะพัฒนาชีวิตสู่ความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป และคนที่พัฒนาดีแล้วนั่นแหละจะปฏิบัติตามกฎหมายได้ดีที่สุด พร้อมทั้งช่วยให้กฎหมายบรรลุจุดหมายของมันอย่างดีที่สุด
โดยเฉพาะถ้าคนมีการพัฒนาตนอย่างดี จนเข้าถึงธรรมด้วยปัญญาและด้วยจิตใจแล้ว เขาก็จะมีพฤติกรรมที่เข้าถึงธรรม ซึ่งจะทำให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์แบบ กล่าวคือกฎหมายจะไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่เป็นเพียงข้อหมายรู้ หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ต้องมีกฎหมายแบบข้อบังคับ มีแต่เพียงกฎหมายแบบข้อหมายรู้ หรือมีวินัยโดยไม่ต้องมีสิกขาบท
ถ้าไม่มีพื้นฐานการพัฒนาทางจิตใจและปัญญา ไม่ว่ากฎหมายหรือวินัยจะกำหนดไว้อย่างไร ในที่สุดก็จะไปไม่รอด เพราะคนจะหาทางเลี่ยงกฎหมาย หรืออย่างน้อยก็ไม่มีความยินดีเต็มใจพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม และแม้จะมีการบังคับและการลงโทษกันอย่างไร ก็จะล้มเหลวในที่สุด เพราะตัวระบบเองจะกร่อนโทรมจนหมดประสิทธิภาพ เช่น มีการสมคบกันหลบเลี่ยงกฎหมายในทุกระดับ ต้องตั้งระบบบังคับควบคุมซับซ้อนขึ้นๆ และลงโทษรุนแรงขึ้นๆ จนไร้ผล ตลอดจนมีการนำเอากฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดเจตนารมณ์ เพื่อสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น
ฉะนั้น การพัฒนาคนในด้านพฤติกรรมต่อกฎหมาย พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาด้านจิตใจและด้านปัญญา จึงเป็นภารกิจสำคัญที่นิติศาสตร์จะต้องให้ความสนใจ
การพัฒนาคนอาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในประวัติศาสตร์ผลักดัน โดยไม่ได้เกิดจากการตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของคนและสังคมเป็นต้น เช่น การรักความเป็นธรรมอย่างแรงกล้า ที่พัฒนาขึ้นมาในหมู่ชนบางสังคม เนื่องจากประสบการณ์ในการถูกกดขี่ข่มเหงเบียดเบียนกันมาอย่างแพร่หลายและรุนแรง
จากประสบการณ์เช่นนั้น และด้วยความรักความเป็นธรรมที่พัฒนาขึ้นมาอย่างนั้นเป็นฐาน สังคมดังกล่าวก็จะจัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาความเป็นธรรมนั้นอย่างค่อนข้างได้ผล และคนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลายก็จะเคารพและรักษากฎหมายหรือกฎเกณฑ์กติกาเหล่านั้นได้อย่างหนักแน่นและจริงจังมั่นคง
อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความรักความเป็นธรรมเป็นต้นที่เป็นฐานอยู่ภายในจิตใจก็เลือนลางจางลงไป แม้ว่ากฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ที่วางไว้ยังคงอยู่ และความนิยมและความสามารถในการจัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกาและตรากฎหมายก็ยังสืบเนื่องต่อมา แต่ปรากฏว่าบางทีกฎหมายและกฎเกณฑ์กติกาทั้งหลายได้กลายเป็นเพียงรูปแบบที่ไม่สนองเจตนารมณ์ที่เป็นตัวหลักการ จึงไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายบ้าง ก่อผลข้างเคียงหรือผลพ่วงในทางลบที่บางครั้งร้ายแรงบ้าง ตลอดจนกลายเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของบุคคล และกลุ่มคน หรือกลายเป็นเครื่องทำร้ายสังคมนั้นเอง
สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักนิติศาสตร์และผู้รับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไปจะต้องรู้เท่าทันและระมัดระวังโดยไม่ประมาท เพราะการเป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว (ตามความหมายสมัยใหม่ที่เน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือด้านวัตถุ) ไม่เป็นหลักประกันว่าจะปลอดภัย และอาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมต้องหมุนไปในวงจรของความเจริญแล้วก็เสื่อม
สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของสังคมยุคปัจจุบัน ที่ภูมิใจตนว่าเป็นสังคมที่ถือหลัก rule of law แปลกันว่าหลักนิติธรรม คือปกครองกันด้วยกฎหมาย ถือกฎหมายเป็นใหญ่ (คือเป็นธรรมาธิปไตย ในระดับธรรมโดยบัญญัติ) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ทุกคน ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายและได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเสมอกัน
จะยกตัวอย่างปัญหากฎหมายกับสภาพการพัฒนาคนในสังคมอเมริกัน ซึ่งถือกันว่าเป็นสังคมที่พัฒนาก้าวไกลที่สุด มาเป็นข้อพิจารณาสัก ๓ กรณี
๑) ปัญหาการแบ่งแยกผิว เป็นตัวอย่างของการพยายามแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย ในขณะที่ทางด้านจิตใจไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการพยายามเอากฎหมายที่เป็นรูปธรรมมารวมคนเข้าด้วยกันโดยรูปแบบ แต่ไม่มีเครื่องมือทางนามธรรมที่จะมารวมใจคน ผลก็คือสภาพสังคมอเมริกันที่ปัญหาการแบ่งแยกผิวยิ่งรุนแรง และความหวังในการแก้ปัญหายิ่งเลือนลางลงไปทุกที ขอให้ดูตัวอย่างคำกล่าวในหนังสือใหม่ๆ บางเล่มของชาวอเมริกัน เช่น
“ในที่สุด เราก็เลิกคติเบ้าหลอม (melting pot) ไปแล้ว” (Naisbitt, 273)
“คนอเมริกันผิวดำ เป็นชาวอเมริกัน แต่กระนั้น เขาก็ยังมีชีวิตอยู่อย่างคนต่างด้าวในผืนแผ่นดินเดียวที่เขารู้จักนั้น . . . ดังนั้น อเมริกาจึงมองได้ว่าเป็นชน ๒ ชาติต่างหากจากกัน . . . การแบ่งแยกนั้นแผ่คลุมไปทั่วและชำแรกลึก” (Hacker, 4)
“สามสิบปีผ่านไปแล้ว หลังจากออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Civil Rights Act) เราควรจะได้เห็นยุคใหม่แห่งความร่วมมือและความเข้าใจกัน . . . แต่การขจัดความแบ่งแยกด้วยกฎหมาย ได้นำไปสู่การรวมจิตใจเข้าด้วยกันอย่างที่ ดร.คิง มุ่งหวังหรือเปล่า ความสมานสามัคคีมีมาให้เห็นเงาบ้างไหม . . . หรือว่าพวกเรายิ่งจมลึกลงไปในหลุมแห่งความโดดเดี่ยวและความไม่ไว้ใจกัน . . . ความรังเกียจผิวเป็นบาดแผลแห่งสังคมของเรา แต่แทนที่เราจะคอยดูแลให้แผลนั้นค่อยๆ หายไปอย่างช้าๆ เราก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆ ซึ่งอดไม่ได้ที่จะคอยกัดแผลนั้น แผลก็เลยยิ่งเปิดกว้างมากขึ้น” (Howard, 133-143)
๒) ปัญหาการทารุณเด็ก การทารุณเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่แพร่หลายมานานในสังคมอเมริกัน และสังคมยิ่งเจริญ ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น หนังสือ The Day America Told the Truth กล่าวว่า
“คนที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ทั่วอเมริกาทุก ๑ ใน ๖ คน เคยถูกทำการทารุณทางร่างกายในวัยเด็ก และเกือบเท่ากันนั้น คือ ทุก ๑ ใน ๗ คน สารภาพว่า เมื่อเป็นเด็กตนเคยถูกทำการทารุณทางเพศ” (Patterson, 125)
แม้ว่าตามสถิติที่เป็นทางการ จำนวนเด็กที่มีในรายงานจะน้อยกว่าที่กล่าวนี้ เช่น ในปี ๒๕๓๖/๑๙๙๓ มีรายงานเด็กถูกทำทารุณ ๒,๘๒๕,๕๙๔ คน (The American Almanac 1995-1996, Table No. 347) คนที่ทำการทารุณส่วนมากก็คือคนใกล้ชิด เริ่มแต่พ่อแม่ของเด็กเอง
เมื่อปัญหาการทารุณเด็กแพร่หลายมากอย่างที่ว่านี้ จึงเกิดความจำเป็นที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายมาป้องกันแก้ไขปัญหาและคุ้มครองเด็ก เช่น มีมาตรการในการลงโทษคนที่ทารุณเด็ก แต่กฎหมายที่ออกมาเป็นเหมือนดาบสองคม ในด้านดี ช่วยได้เพียงลงโทษคนที่ทำผิด และยับยั้งบางคนที่จะทำร้าย ช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการกั้นกระแสร้ายไม่ให้สังคมเสื่อมโทรมลงไปกว่านั้นอีก (ซึ่งก็ไม่ได้ผลจริง)
แต่ในด้านผลเสีย กลายเป็นการทำลายบรรยากาศทางจิตใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมทั้งเป็นการแทรกแซงกั้นขวางในกระบวนการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เช่น เมื่อพ่อหรือแม่ตีหรือดุว่าเด็ก ซึ่งอาจยังไม่แน่ว่าเป็นการรุนแรงหรือไม่ เด็กอาจมองว่ารุนแรงหรือโกรธแล้วโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ หรือเพื่อนบ้านได้ยินได้เห็นแล้วอาจโทรศัพท์ไปแจ้ง หรือเด็กไปโรงเรียนฟ้องครูแล้วครูโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาจับพ่อแม่ไป พ่อแม่ถูกขัง หรือดำเนินคดีอยู่ แม้จะยังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ผลเสียก็เกิดขึ้นแล้ว (เช่น เคยมีกรณีที่พ่อตรอมใจผูกคอตายในห้องขังบ้าง พ่อแม่หลบหนีคดีทำให้กิจการงานต้องล้มเลิกไปบ้าง)
แม้แต่เมื่อยังไม่มีกรณีเกิดขึ้น แต่บรรยากาศในบ้านที่ควรเป็นสภาพแห่งความรักความอบอุ่น ก็อาจจะกลายเป็นบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงกัน พ่อแม่จะสั่งสอนลูกก็ต้องหวาดว่าอาจถูกจับถูกฟ้อง ลูกก็อาจมีท่าทีแบบเพ่งจ้องหาความผิดของพ่อแม่ หรือมองพ่อแม่เป็นคนละฝ่ายกับตน และไม่เกรงพ่อแม่ เพราะนึกว่ามีกฎหมายและเจ้าหน้าที่เป็นพวกของตน ดังนี้เป็นต้น
๓) ปัญหาการฟ้องเรียกค่าเสียหาย วัฒนธรรมอเมริกันเน้นการพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคล จึงพัฒนามาตรการที่จะป้องกันการละเมิดสิทธิของกันและกัน มาตรการสำคัญคือทางด้านกฎหมาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิกัน ก็จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย (v.= to sue; n. = suit)
เมื่อคนรักความเป็นธรรม เขาจึงพัฒนามาตรการทางกฎหมาย คือการฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นธรรมนั้นให้มีผลเป็นจริงและดำรงอยู่อย่างมั่นคง แต่เมื่อการรักความเป็นธรรมซึ่งเป็นสาระที่แท้เลือนลางจางลงไป มาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปแบบภายนอกก็ค่อยๆ แปรความหมายไป คือแทนที่จะเป็นเครื่องมือของการคุ้มครองสิทธิเพื่อรักษาความเป็นธรรม ก็กลายเป็นว่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายได้กลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่น
เวลานี้ การใช้มาตรการทางกฎหมายในการฟ้องเรียกค่าเสียหายมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ ได้แพร่หลายมากขึ้นในสังคมอเมริกัน เช่น ทนายความบางคนโฆษณาว่ารับปรึกษาและให้บริการทางกฎหมายฟรี แต่มีความหมายว่า ใครมีเรื่องราวกระทบกระทั่งกับคนอื่น เช่น เพื่อนบ้าน พอจะเห็นทางฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ก็นำเรื่องมาปรึกษาทนายความๆ จะไม่คิดค่าบริการ ถ้าเห็นทางตั้งเป็นคดีได้ ก็ตั้งเป็นคดีฟ้องศาล และรับว่าความให้เปล่า แต่ถ้าชนะได้เงินชดใช้ค่าเสียหาย ก็แบ่งกับลูกความคนละครึ่ง ถ้าแพ้ก็แล้วไป
โดยวิธีนี้ ชาวบ้านที่เป็นลูกความก็เห็นว่าตนมีแต่ได้ไม่มีเสีย และเห็นเป็นวิธีหาเงินที่ได้ผลดี ก็ชอบใจ เลยจ้องหาเรื่องฟ้องเพื่อนบ้าน ทำให้คนอยู่กันด้วยความไม่จริงใจและหวาดระแวงกันมากขึ้น
เรื่องแบบนี้ที่เด่นมากอย่างหนึ่ง คือ คนไข้และญาติคนไข้คอยจ้องจับผิดแพทย์ที่รักษา เพื่อหาแง่ที่จะได้เงินด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ ทำให้แพทย์เดือดร้อนมากขึ้น กระแสของค่านิยมนี้กำลังก้าวไปไกลมากขึ้นในสังคมอเมริกัน
ในสังคมไทยที่ไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ แต่มีวัฒนธรรมน้ำใจ ที่ประชาชนและคนไข้มองแพทย์เป็นผู้มีพระคุณ กรณีแบบนี้ก็ไม่มี แต่เมื่อสังคมหลงสมมติมากขึ้น การแพทย์กลายเป็นธุรกิจอย่างตะวันตกมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็จะตามมา กรณีเช่นนี้ก็จะเริ่มมีขึ้น ตอนแรกก็จะเป็นเพียงการฟ้องเพื่อพิทักษ์สิทธิ แต่ต่อไปเมื่อคุมกระแสไม่ได้ การฟ้องเพื่อหาเงินหารายได้ก็จะเกิดขึ้นและจะเฟื่องฟูได้ด้วยเช่นกัน และก็จะไม่เฉพาะในวงการธุรกิจการแพทย์เท่านั้น แต่อาจจะแผ่ไปครอบงำกิจการทุกอย่างของสังคมเลยทีเดียว
จึงเป็นเรื่องที่เรียกร้องการพัฒนาคนอย่างยิ่ง และหมายถึงการที่ต้องพัฒนาคนนั้นให้ทันการณ์กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ด้วย
กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์เป็นคุณ เมื่อมันเป็นเครื่องมือสนองความต้องการธรรม
แต่เมื่อความต้องการธรรมเลือนลางจางหาย กฎหมายก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสนองความปรารถนาส่วนตัวของบุคคล ที่อาจจะตรงข้ามกับธรรม เช่น เป็นเครื่องมือของการแสวงหาผลประโยชน์ของตน หรือการกลั่นแกล้งทำร้ายผู้อื่น
กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์มีกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนธรรม หรือกฎแท้ของธรรมชาติ ให้ปรากฏผลเป็นจริงหนักแน่นในสังคมมนุษย์ แต่เมื่อคนแปลกแยกจากความจริงแท้แห่งธรรม หรือหลงลืมมองข้ามไปเข้าไม่ถึงธรรมแล้ว กฎหมายหรือกฎสมมติของมนุษย์นั้นก็เลื่อนลอยคลาดเคลื่อนจากคุณค่าที่แท้จริง และกลับกลายเป็นเครื่องทำลายสังคมมนุษย์เสียเอง
เมื่อมีการพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาภายในตัวคน ทำให้คนมีความสามารถภายในที่จะควบคุมและนำพฤติกรรมของตนไปในทางที่ถูกต้องดีงาม สังคมจะต้องการกฎหมายเพียงเพื่อมาช่วยจัดสรรสภาพแวดล้อม โอกาสและบรรยากาศ ที่จะอุดหนุนความมั่นคงแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามนั้น
แต่ถ้าจิตใจและปัญญาไม่ได้รับการพัฒนา คนไม่มีความสามารถภายในที่จะควบคุมและนำทางพฤติกรรมของตนให้ถูกต้อง ก็จะต้องเพิ่มมาตรการควบคุมจากภายนอกด้วยการบัญญัติกฎหมายมาบังคับควบคุมคนมากขึ้นๆ พร้อมทั้งลงโทษหนักหนารุนแรงขึ้นๆ จนในที่สุดกฎหมายก็จะหมดความหมาย สังคมก็จะเสื่อมสลาย และชีวิตก็จะไม่อาจบรรลุจุดหมายแห่งประโยชน์สุขและอิสรภาพที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญญาที่เชื่อมโยงกฎสมมติของมนุษย์เข้ากับกฎแท้ของธรรมชาติได้ และจัดวางกฎหมายที่เป็นกฎสมมติของมนุษย์ให้เป็นเครื่องเกื้อหนุนผลที่มุ่งหมายแท้จริงตามกฎธรรมชาติ ให้กฎหมายและการปกครองเป็นเครื่องรองรับและเชิดชูธรรม ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรมและมีจุดหมายเพื่อธรรม พร้อมทั้งจัดตั้งวางระบบแบบแผน ที่เอื้อโอกาสให้คนพัฒนาตนให้สามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากความจริงแท้คือธรรมนั้น ด้วยปรีชาญาณและปฏิบัติการเช่นนี้ นิติศาสตร์ก็จะช่วยชีวิตมนุษย์ ช่วยสังคม และช่วยโลกได้
อาตมภาพได้พูดมาในเรื่อง “นิติศาสตร์แนวพุทธ” แม้ว่าจะไม่ได้ตอบคำถามโดยตรง แต่ก็ได้กล่าวแล้วว่าขอฝากไว้ให้พิจารณาในหลักต่างๆ ที่พูดไปแล้ว และก็อาจจะให้ท่านผู้ฟังได้ตอบเองด้วย
ขออนุโมทนาท่านอัยการสูงสุด ที่ได้มีกุศลเจตนาดำรินิมนต์อาตมภาพมาพูด พร้อมทั้งท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และท่านผู้สนใจใฝ่ธรรมทุกท่านที่มาร่วมฟัง ขอกุศลเจตนาของท่านจงเป็นปัจจัยแห่งความสุขและความเจริญงอกงาม ขอทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะช่วยกันปฏิบัติกิจหน้าที่ในการสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมที่ดีงามนี้ยิ่งขึ้นไป โดยทั่วกันทุกท่าน
ก. คัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่อ้างอิงในคำบรรยายนี้ คือ
๑. พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ มหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ ชุด ๔๕ เล่ม
- ระบบอ้างอิง คือ เล่ม/ข้อ
๒. อรรถกถา และ ฎีกา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลาย พ.ศ.
- ระบบอ้างอิง คือ เล่ม/หน้า
ข. หนังสืออื่นๆ
ปยุตฺโต, พระธรรมปิฎก ป. อ. วินัย: เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๓๙.
Gore, Senator Albert A. Earth in the Balance. Boston: Houghton Miffin Co., 1992.
Hacker, Andrew. Two Nations. New York: Charles Scribner's Sons, 1992.
Howard, Philip K. The Death of Common Sense. New York: Random House, Inc., 1994.
Joshi, Lalmani. Studies in the Buddhistic Culture of India. Delhi: Motilal Banarsidass, 1987.
Naisbitt, John. Megatrends. New York: Warner Books, Inc., 1984.
Patterson, James, and Kim, Peter. The Day America Told the Truth. New York: Penguin Books USA Inc., 1992.
Rolston, Holmes. Environmental Ethics. Philadelphia: Temple University Press, 1988.
Walker, Benjamin. Hindu World. 2 vols. London: George Allen & Unwin Ltd., 1968.