ข้อ ๑ อะไรคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา ให้นึกว่า คำว่า หัวใจในที่นี้ ไม่ได้มุ่งให้แปลตามพยัญชนะหรือตามตัวอักษร
พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า หัวใจนี้ในภาษาไทยนั้นก็อย่างที่กล่าวในตอนต้น หมายถึงส่วนที่สำคัญที่สุดหรือส่วนที่เป็นแก่นแท้ ก็ทำให้นึกว่าในที่นี้เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คำแปลที่ตรงตัว หรือเอาหลักในพระพุทธศาสนาที่มีความหมายเท่ากันโดยพยัญชนะตามตัวอักษร แต่จะเอาโดยสาระสำคัญเอาที่ใจความ ถ้าอย่างนี้แล้ว เราก็ตอบไปอีกแบบหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ถึงสิ่งที่เป็นแกนสำคัญ เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือจะเรียกว่าสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา จะขอยกเป็นพุทธพจน์ว่า พระพุทธเจ้าเองก็เคยตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “เธอทั้งหลายถ้าถูกสอบถาม พึงตอบแก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายว่าดังนี้” พระพุทธเจ้าตรัสแจกแจงออกไปว่า ถ้าเขาถามว่าอย่างนี้ให้ตอบว่าอย่างนี้ ถามอย่างนั้นให้ตอบว่าอย่างนั้นหลายข้อ แล้วมาถึงข้อท้ายๆ ข้อหนึ่ง “ถ้าเขาถามว่าอะไรเป็นสาระของธรรมทั้งหลาย หรือธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีอะไรเป็นสาระ เธอทั้งหลายพึงตอบว่า “ธรรมทั้งปวงมีวิมุตติเป็นสาระ หรือว่าธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นมีวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นนี้เป็นแก่นสารเป็นเนื้อแท้” อันนี้เป็นพุทธพจน์ ก็เหมือนอย่างที่พระเดชพระคุณพระธรรมมหาวีรานุวัตรได้กล่าวมาแต่ต้น ท่านได้กล่าวไว้ทั่วๆ ไป หรือจะอ้างพุทธพจน์อีกแห่งหนึ่งก็ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือดำเนินชีวิตประเสริฐ อันมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่นสาร และมีสติเป็นอธิปไตย” ในที่นี้ก็คือมีวิมุตติเป็นสาระเป็นแก่นสาร แม้แต่ในคำอุปมาอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมวินัยนี้หรือพระพุทธศาสนานี้ โดยเทียบกับ มหาสมุทรว่า “มหาสมุทรมีรสรสเดียว คือ รสเค็มฉันใด “อยํ ธมฺมวินโย เอกรโส วิมุตฺติรโส” ธรรมวินัยนี้ก็มีรสเดียว คือ วิมุตติรส รสคือความหลุดพ้น ฉันนั้น” อาจจะถือได้ว่า นี้เป็นคำตอบว่า อะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่วิมุตติ คำว่าสาระ แก่นสาร และรส ในที่นี้มีความหมายอย่างเดียวกัน
วิมุตตินั้นเป็นศัพท์ที่รู้กันดีในวงการธรรมะ แต่ว่าไม่รู้แพร่หลายมาก ชาวพุทธที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้อ่านหนังสือในทางธรรมมากนัก อาจจะไม่คุ้น แต่ว่าศัพท์ประเภทนี้มีใช้ในรูปที่เป็นไวพจน์อย่างอื่นอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น เราได้ยินคำว่าวิโมกข์หรือโมกขธรรม แม้แต่เรามาในที่นี้ เราก็มานั่งในสวนโมกข์ สวนโมกข์ก็เป็นสวนแห่งโมกข คือความหลุดพ้นหรือวิมุตตินั่นเอง และชื่อเต็มดูเหมือนจะเป็นทางการก็เรียกว่า สวนโมกขพลาราม อารามที่เป็นกำลังแห่งโมกษะ คือ ความหลุดพ้น นี้ก็เท่ากับว่า ที่ท่านตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่าสวนโมกข์นั้น ท่านก็มุ่งเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ โมกษะ หรือวิมุตตินี้นั่นเอง โมกษะหรือวิมุตตินี้ ถ้าเราจะเอาความหมายตามพยัญชนะก็เพียงว่า เป็นความหลุดพ้น แต่ก็ต้องดูว่าท่านต้องการเนื้อหาสาระว่าอย่างไร ความหลุดพ้นนั้นหมายถึงความปลอดพ้นจากภาวะบีบคั้น บังคับ ครอบงำ จำกัด ขัดขวาง บกพร่อง ขาดแคลนทั้งหลาย แล้วก็ไม่ต้องขึ้นต่ออะไรๆ ต่อใครๆ มีความพร้อมที่จะทำอะไรๆ ก็ได้ตามต้องการหรือตามที่รู้ว่าควรจะทำ อันนี้คือภาวะที่เราเรียกว่า วิมุตติ
เรามาดูในภาษาไทยอีกทีจะเห็นว่า สภาวะตามความหมายที่อาตมภาพได้กล่าวมานั้น เรามักจะใช้ภาษาไทยว่า อิสรภาพ อิสรภาพนี้เป็นคำไทยที่ใช้ในความหมายเดียวกับวิมุตติที่ได้กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดในภาษาไทยแล้ว อาจจะบอกว่า อิสรภาพนั่นเองเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่ทีนี้มันมีปัญหาอยู่ว่า คำว่าอิสรภาพนั้น มันก็มาจากภาษาบาลี อิสร+ภาวะ เป็นอิสรภาพ แปลว่าความเป็นอิสระ มีข้อที่จะต้องแทรกเข้ามาหน่อยว่า คำศัพท์บาลีที่มาใช้ในภาษาไทยแล้ว ความหมายมักเคลื่อนคลาดบ่อยๆ คำว่าอิสรภาพนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำที่ได้มีความหมายคลาดเคลื่อนไป คำว่าอิสรภาพนั้น เดิมในภาษาบาลี ไม่ได้แปลว่า หลุดพ้นปลอดพ้นจากสภาวะบังคับบีบคั้น แต่แปลว่า ความเป็นใหญ่ อิสระแปลว่า เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรก็แปลว่าผู้เป็นใหญ่ เป็นเจ้า อิสรภาพ แปลว่า ภาวะที่เป็นใหญ่ แต่ถ้าเราจะตีความหมายให้คล้ายๆ ก็คือ ความเป็นใหญ่ในตัว ไม่ต้องขึ้นกับผู้อื่น แต่อิสระนั้นบางทีหมายความว่า เป็นใหญ่เหนือผู้อื่นหรือครอบงำผู้อื่นไปด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม คำว่าอิสรภาพนั้น ภาษาไทยเราใช้กันติดแล้ว กลายเป็นว่าเราจะต้องแปลวิมุตติว่า “อิสรภาพ” ในที่นี้จะต้องใช้คำว่า “อิสรภาพ” ต่อไป ก็ขอให้รู้ว่า ในทางพระศาสนานั้นต้องการให้หมายถึง วิมุตติ ในที่นี้จะพูดว่า แกนกลางหรือหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ อิสรภาพก็ได้ จะเป็นวิมุตติก็ได้ ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน
เรื่องอิสรภาพหรือวิมุตติ ความปลอดพ้นจากสิ่งบีบคั้นบังคับ เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาจะกล่าวถึงว่าเป็นแก่นสารสำคัญในทุกขั้นตอนของธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมชั่วคราวหรือถาวร เป็นการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาในระดับต้น กลางหรือปลายก็ตาม อันนี้เป็นเรื่องที่จะกล่าวต่อไป ในตอนแรกนี้จะพูดถึงว่าพระพุทธศาสนานั้น มีวิมุตติหรือความเป็นอิสระหรืออิสรภาพเป็นหัวใจ และเราก็จะต้องมาแยกแยะออกไปว่า อิสรภาพที่ว่านี้ มันเป็นอย่างไรบ้าง มีกี่รูปแบบ กี่ด้าน และการศึกษานี้ ถ้าหากว่าเป็นไปตามแนวทางพระพุทธศาสนา จะต้องเข้าถึงหรือทำให้มนุษย์เข้าถึงซึ่งอิสรภาพ อิสรภาพนั้นเป็นอย่างไรจะได้พูดกันต่อไป ในตอนต้นนี้จะขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน (จบอภิปรายรอบแรก)