หลักกรรมนี้มีอะไรที่เป็นความสับสนคลาดเคลื่อนเข้ามาปิดบังคลุมอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายลองมาช่วยกันพิจารณาดู อาตมภาพว่ามีหลายอย่างทีเดียว
ในความเข้าใจของคนไทยทั่วๆ ไป หรือแม้แต่จำกัดเฉพาะในหมู่พุทธศาสนิกชน พอพูดถึงคำว่า “กรรม” ก็จะเกิดความเข้าใจในความคิดของแต่ละท่านไม่เหมือนกันแล้ว
กรรมในแง่ของคนทั่วๆ ไป อาจจะมีความหมายอย่างหนึ่ง และกรรมในความหมายของนักศึกษาชั้นสูงก็อาจจะเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกันแท้ทีเดียว
ตัวอย่างเช่น ในสำนวนภาษาไทยเราพูดกันบ่อยๆ ว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “เราทำมาไม่ดีก็ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” หรือว่า “อะไรๆ ก็สุดแต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน” อย่างนี้เป็นต้น
สำนวนภาษาเหล่านี้แสดงถึงความเข้าใจคำว่ากรรมในความคิดของคนทั่วไป และขอให้ท่านทั้งหลายมาช่วยกันพิจารณาดูว่า ในคำพูดซึ่งส่อถึงความเข้าใจอันนี้ มันมีอะไรถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง
จากคำที่อาตมภาพได้ยกมาอ้างนั้น ก็พอมองเห็นความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับกรรมว่า
ประการแรก คนโดยมากมองกรรมไปในแง่ผล คือมองว่าเป็นผลของการกระทำ เพราะฉะนั้น จึงพูดกันว่าก้มหน้ารับกรรม คำว่ากรรมในที่นี้เป็นผล หรืออย่างเราไปเห็นคนได้รับภัยพิบัติหรือเหตุร้ายประสบทุกข์ยากต่างๆ เราบอกว่านั่นกรรมของสัตว์ ก็เท่ากับบอกว่า กรรม คือความทุกข์ยากอะไรต่ออะไรที่เป็นผลซึ่งเขาได้รับอยู่นั้น
ประการต่อไป เราพูดถึงกรรมโดยมุ่งเอาแง่ชั่วแง่ไม่ดีหรือเรื่องร้ายๆ อย่างที่ว่าก้มหน้ารับกรรม หรือว่ากรรมของสัตว์ ก็หมายถึงแง่ไม่ดีทั้งนั้น คือเป็นเรื่องทุกข์ เรื่องโศก เรื่องภัยอันตราย ความวิบัติ เหตุร้ายนานา
นอกจากนั้น ก็มุ่งไปในอดีต โดยเฉพาะมุ่งเอาชาติก่อนเป็นสำคัญ
ตัวอย่างที่ว่ามาโดยมากก็มีความหมายส่องไปทีเดียวหมดทั้ง ๓ แง่ คือมุ่งเอาในแง่เป็นเรื่องร้ายๆ และเป็นผลของการกระทำในอดีตชาติ ไม่ว่า “ก้มหน้ารับกรรม” “ชาตินี้มีกรรม” “กรรมของสัตว์” “สุดแต่บุญแต่กรรม” ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องร้ายๆ เป็นเรื่องผล และเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติก่อนทั้งนั้น
พูดง่ายๆ ว่า คนทั่วไปมองความหมายของ “กรรม” ในแง่ของผลร้ายของการกระทำชั่วในอดีตชาติ
ทีนี้ลองมาพิจารณาว่าความหมายที่เข้าใจกันนั้นถูกหรือไม่ อาจจะถูก แต่ถูกไม่หมด ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ตามหลักคำสอนที่แท้จริง เพียงหลักต้นๆ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า กรรมก็คือการกระทำนั่นเอง ง่ายที่สุด การกระทำนี้ไม่ได้หมายถึงผล แต่เป็นตัวการกระทำ ซึ่งเป็นเหตุมากกว่าเป็นผล
ต่อไปในแง่เวลา จะมุ่งถึงกาลเป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ไม่เฉพาะต้องเป็นอดีตอย่างเดียว คือปัจจุบันที่ทำอยู่นี้ก็เป็นกรรม
แล้วจะมองในแง่ลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ทั้งสองข้าง คือกรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี แล้วแสดงออกได้ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจ
นอกจากนี้ ที่พูดถึงกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องรุนแรง ความจริงนั้น กรรมก็มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในความคิดแต่ละขณะ ทุกๆ ท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ก็กำลังกระทำกรรมด้วยกันทั้งนั้น อย่างน้อยก็กำลังคิด เพราะอยู่ในที่ประชุมนี้ ไม่สามารถแสดงออกทางอื่นได้มาก ไม่มีโอกาสจะพูดหรือจะทำอย่างอื่น ก็คิด การคิดนี้ก็เป็นกรรม
รวมความว่า ในความหมายที่ถูกต้องนั้น กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จะแสดงออกทางกายก็ตาม วาจาก็ตาม หรืออยู่ในใจก็ตาม เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม อนาคตก็ตาม ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น
ฉะนั้น กรรมตามความหมายที่พูดกันทั่วไปนั้นจึงมักทำให้เกิดความสับสนคลาดเคลื่อนขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกตั้งแต่ต้น
เป็นอันว่าภาษาสามัญที่คนทั่วไปใช้พูดกันนั้น มีข้อคลาดเคลื่อนอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
แง่ที่ ๒ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่มาก ก็คือ ทัศนคติต่อกรรม พอพูดถึงกรรม ทัศนคติของคนทั่วไปก็มักจะเป็นไปในแง่ของการทอดธุระ หรือไม่มีความรับผิดชอบ
ทอดธุระอย่างไร? อันนี้อาจจะแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ มองในแง่ตัวเองอย่างหนึ่ง กับมองในแง่ผู้อื่นอย่างหนึ่ง
มองในแง่ตัวเอง ความรู้สึกทอดธุระ คือรู้สึกว่าย่อท้อ ยอมแพ้ ถดถอย และไม่คิดปรับปรุงตัวเอง เช่นในประโยคว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “เราทำมาไม่ดี ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด”
ความจริง คำที่พูดอย่างนี้มีแง่ที่พิจารณาได้ทั้งดีและไม่ดี คือเวลาพูดอย่างนี้ เดิมก็คงมุ่งหมายว่า ในเมื่อเป็นการกระทำของเราเอง ทำไว้ไม่ดี เราก็ต้องยอมรับผลของการกระทำนั้น นี่คือความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง ยอมรับความผิดที่ตนเองก่อขึ้น
แต่การที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าท่านต้องการให้เราหยุดชะงักแค่นั้น ท่านไม่ได้ต้องการให้เราหยุดเพียงว่า งอมืองอเท้า แล้วไม่คิดปรับปรุงตนเอง แต่ท่านต้องการต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อเรายอมรับผิดจากการกระทำของเราแล้ว ในแง่ตัวเราเอง เมื่อเราสำนึกความผิดแล้ว เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีต่อไปด้วย
แต่ในตอนที่เป็นการปรับปรุงนี้ คนมักไม่ค่อยคิด ก็เลยทำให้ความรู้สึกต่อกรรมนั้นหยุดชะงักแค่การยอมรับ แล้วก็เป็นคล้ายกับยอมแพ้ แล้วก็ท้อถอย ไม่คิดปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักแยกให้ครบ ๒ ตอน คือ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองตอนหนึ่ง และการที่จะคิดแก้ไขปรับปรุงตนต่อไปตอนหนึ่ง
รวมความว่า ความรู้สึกต่อกรรม ควรจะมีต่อตนเองให้ครบทั้ง ๒ ด้าน คือ
๑. เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และ
๒. เมื่อยอมรับส่วนที่ผิดแล้ว จะต้องคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อให้ถูกต้องดีงามขึ้นต่อไปด้วย
ไม่ใช่หยุดเพียงยอมรับผิดแล้วก็เสร็จกันไป ถ้าเรามองความหมายของกรรมเพียงในแง่ของการยอมรับและเสร็จสิ้นไปเท่านั้น ก็แสดงว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักคำสอนเกี่ยวกับกรรมอย่างถูกต้องสมบูรณ์ และอาจจะให้เกิดผลเสียได้
ในแง่ความคลาดเคลื่อนของทัศนคติต่อผู้อื่น ก็เช่นเดียวกัน เวลาเราไปเห็นคนได้รับทุกข์ภัยพิบัติอันตรายต่างๆ บางทีเราก็พูดกันว่า นั่นเป็น “กรรมของสัตว์” พอว่าเป็นกรรมของสัตว์ เราก็ปลงเลย แล้วก็ช่างเขา
บางท่านเลยไปกว่านี้อีก บอกว่าพุทธศาสนาสอนให้วางอุเบกขา ก็เลยทำเฉย หมายความว่า ใครจะได้ทุกข์ได้ร้อน เราก็ปลงเสียว่ากรรมของสัตว์ เขาทำมาเองไม่ดีเขาจึงได้รับผลอย่างนั้น เราก็วางอุเบกขา อันนี้เป็นแง่ที่ไม่ถูก ต้องระวังเหมือนกัน
ในแง่ต่อผู้อื่น ทัศนคติก็ต้องมี ๒ ด้านเหมือนกัน จริงอยู่ เมื่อคนอื่นได้รับภัยพิบัติเหตุร้ายอะไรขึ้นมา ขั้นต้นเราควรพิจารณาว่า อันนั้นเป็นผลของการกระทำของเขา เช่นคนที่ไปประพฤติชั่วถูกจับมาลงโทษ อันนั้นอาจจะพิจารณาได้ว่าเป็นกรรมของสัตว์จริง แต่การมองอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการพูดในแง่ผลเท่านั้น
คำว่า “กรรมของสัตว์” นั้น เป็นการพูดเลยไปถึงอดีตว่า เพราะการกระทำของเขาที่ไม่ดีแต่ก่อน เขาจึงมาได้รับผลที่ไม่ดีในบัดนี้ ถ้าจะพูดให้เต็ม น่าจะบอกว่า อันนี้เป็นผลของกรรมของสัตว์ ไม่ใช่กรรมของสัตว์ แต่พูดย่อๆ ก็เลยบอกว่ากรรมของสัตว์
ในแง่นี้ก็ถูกอยู่ชั้นหนึ่ง ว่าเราเป็นคนรู้จักพิจารณาเหตุผล คือชาวพุทธเป็นคนมีเหตุมีผล เมื่อเห็นผลหรือสิ่งใดปรากฏขึ้นมา เราก็คิดว่านี่ต้องมีเหตุ เมื่อเขาได้ประสบผลร้าย ถูกลงโทษอะไรอย่างนี้ มันก็ต้องมีเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำไม่ดีของเขาเอง
อันนี้แสดงถึงความมีเหตุมีผลในเบื้องต้น คือวางใจเป็นกลางพิจารณาให้เห็นเหตุผลตามความเป็นจริงเสียก่อน ขั้นนี้เป็นการแสดงอุเบกขาที่ถูกต้อง
อุเบกขาที่ถูกต้องนั้นก็เพื่อดำรงธรรมไว้ ดำรงธรรมอย่างไร การวางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรได้รับทุกข์โทษนั้นตามสมควรแก่การกระทำของตน เราต้องวางอุเบกขา เพราะว่าจะได้เป็นการรักษาธรรมไว้ อันนี้เป็นการถูกในท่อนที่หนึ่ง คืออุเบกขาเพื่อดำรงความเป็นธรรมหรือรักษาความยุติธรรมไว้
แต่อีกตอนหนึ่งที่หยุดไม่ได้ก็คือ นอกจากมีอุเบกขาแล้ว ในแง่ของกรุณาก็ต้องคิดด้วยว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์ภัยพิบัติแล้ว เราควรจะช่วยเหลืออะไรบ้าง บางทีในพุทธบริษัทบางคนก็พิจารณาปล่อยทิ้งไปเสียหมด ไปเห็นคนยากคนจนอะไรต่ออะไรก็กรรมของสัตว์หมด เลยไม่ได้คิดแก้ไขปรับปรุงหรือช่วยเหลือกัน ทำให้ขาดความกรุณาไป แทนที่จะเน้นเรื่องความกรุณากันบ้าง ก็เลยไปมัวเน้นเรื่องอุเบกขาเสีย1
ที่จริงธรรมเหล่านี้ต้องใช้ให้ตรงเรื่อง เหมาะเจาะ แม้แต่ในกรณีที่คนได้รับโทษ เราวางอุเบกขากับคนที่เขาได้รับโทษนั้น เราก็ต้องมีกรุณาอยู่ในตัวเหมือนกัน เราอุเบกขากับคนที่เขาได้รับโทษ เพราะเรามีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่น บุคคลผู้นี้ได้รับโทษเพื่อให้คนอื่นจำนวนมากอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย หรือแม้แต่เป็นความกรุณาและเมตตาต่อตัวผู้ได้รับโทษเองว่า ผู้นี้เมื่อเขาได้รับโทษอย่างนี้แล้ว เขาจะได้สำนึกตน ประพฤติตัวเป็นคนดีต่อไป
จากนั้นก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์โทษตามควรแก่กรรมของเขาแล้ว เราจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์นั้น และพบความสุขความเจริญต่อไปได้อย่างไร เป็นความเมตตากรุณาแฝงอยู่ในนั้น ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าอุเบกขาอย่างเดียว
ที่พูดมานี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ท่าทีความรู้สึกต่อเรื่องกรรมที่ไม่ครบถ้วน บางทีก็ทำให้เกิดผลเสียได้ ถ้าอย่างไรก็ควรจะมีให้ครบทุกด้าน
เป็นอันว่า ทัศนคตินี้ บางทีก็คลาดเคลื่อนทั้งในแง่ต่อตนเองและต่อคนอื่น
ต่อตนเองนั้น หนึ่ง ต้องมีความรับผิดชอบ สอง ต้องมีความคิดแก้ไขปรับปรุงอยู่ด้วยพร้อมกัน
ส่วนในแง่ต่อผู้อื่นก็ไม่ใช่เอาแต่อุเบกขาอย่างเดียว จะต้องมีเมตตากรุณาด้วย ในส่วนใดที่ควรวางอุเบกขาก็วางด้วยเหตุผล เพื่อรักษาความเป็นธรรม หรือดำรงธรรมของสังคมไว้ และในแง่ของเมตตากรุณาก็เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นเองด้วย และเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ด้วย ต้องมีและมีไปได้พร้อมกัน อันนี้เป็นแง่ทัศนคติ ซึ่งบางทีก็ลืมย้ำลืมเน้นกันไป
ประการที่ ๓ เป็นความคลาดเคลื่อนและสับสนในตัวหลักธรรมทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่
ในใจของพุทธศาสนิกชนนั้น เวลานึกถึงกรรม ก็คล้ายกับความหมายที่อาตมภาพได้พูดมาข้างต้น คือมักจะนึกถึงเรื่องเก่า โดยมากเอาอดีตชาติเป็นเกณฑ์ ไม่ค่อยนึกถึงกรรมที่ทำในปัจจุบัน
หลักกรรมในพุทธศาสนานั้น มีแง่หนึ่งที่เราควรพยายามศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจน คือแง่ที่จะต้องแยกจากหลักคำสอนในศาสนาอื่น
พุทธศาสนานั้นเกิดในชมพูทวีป คือประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยนั้นศาสนาต่างๆ ในอินเดียมีคำสอนเรื่องกรรมกันแทบทั้งนั้น เมื่อเราพบคำว่ากรรมในต่างศาสนา ก็ต้องนึกไว้ก่อนเลยว่าจะต้องมีความหมายต่างกัน เหมือนเจอพระพรหมของพราหมณ์กับพระพรหมของพุทธก็ต้องคนละอย่าง ถ้าแยกบอกความแตกต่างไม่ได้ ก็แสดงว่าเรากำลังเสี่ยงต่อความหลงเข้าใจผิด
ศาสนาฮินดูก็มีคำสอนเรื่องกรรม ศาสนานิครนถ์ หรือที่เราเรียกว่า ศาสนาเชน หรือมหาวีระ ก็มีคำสอนเรื่องกรรมเหมือนกัน และก็เน้นคำสอนเรื่องกรรมนี้ไว้เป็นหลักสำคัญมาก เมื่อพุทธศาสนาอุบัติขึ้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงทราบคำสอนของศาสนาเหล่านี้แล้ว และได้ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ พระองค์จึงได้ทรงสอนหลักกรรมของพุทธศาสนาขึ้นใหม่
เมื่อ “กรรม” ในพุทธศาสนาเป็นหลักกรรมซึ่งเกิดจากการที่พระพุทธองค์ต้องการแก้ไขความเชื่อที่ผิดในหลักกรรมเดิม ก็แสดงว่าหลักกรรมอย่างใหม่นี้จะต้องผิดกับหลักกรรมอย่างเก่า ที่สอนกันแต่เดิมในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และนิครนถ์ เป็นต้น
หลักกรรมในศาสนาของเรา ถ้าแยกแยะออกไปโดยศึกษาเปรียบเทียบกับคำสอนในศาสนาเดิม เราจะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
หลักกรรมในศาสนาฮินดูก็ตาม ในศาสนานิครนถ์ก็ตาม ในพระพุทธศาสนาก็ตาม ในสายตาของคนต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกฝรั่งที่มาศึกษา มักเข้าใจว่าเหมือนๆ กัน คือ คนเหล่านั้นพอมองเห็นว่าพุทธศาสนาก็สอนเรื่องกรรม ฮินดู และนิครนถ์ ก็สอนเรื่องกรรมทั้งนั้น ก็เข้าใจว่าคำสอนในศาสนาเหล่านี้เหมือนกัน แต่ที่จริงไม่เหมือน
ในศาสนาฮินดูเขามีหลักกรรมเหมือนกัน เขาสอนว่าในตัวคนแต่ละคนมีอาตมัน เมื่อบุคคลแต่ละคนกระทำกรรม กรรมก็เป็นเครื่องปิดบังอาตมัน ด้วยอำนาจกรรมนี้ บุคคลจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดไปจนกว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้น อันนี้ดูเผินๆ ก็คล้ายของพุทธศาสนา แต่ศาสนาฮินดูสอนหลักกรรมเพื่อเป็นฐานรองรับการแบ่งแยกวรรณะ ส่วนพระพุทธศาสนาสอนหลักกรรมเพื่อหักล้างเรื่องวรรณะ หลักกรรมของศาสนาทั้งสองจะเหมือนกันได้อย่างไร ตรงกันแต่ชื่อเท่านั้น
ส่วนในศาสนานิครนถ์ ก็มีความเชื่อในสาระสำคัญของกรรมตามแบบของเขา พระพุทธเจ้าเคยตรัสเล่าความเชื่อเรื่องกรรมของนิครนถ์เอาไว้ อาตมภาพจะลองอ่านพุทธพจน์ให้ฟัง ในขณะที่ฟัง ขอให้ท่านสาธุชนลองเทียบในใจกับหลักกรรมของเราว่า มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้เสวย ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะกรรมที่ตัวทำไว้ในปางก่อน โดยนัยดังนี้ เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับอีกต่อไป เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ก็สิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์ก็สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนาก็เป็นอันสลัดทุกข์ได้หมดสิ้น ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้”
อันนี้มาในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พุทธพจน์ที่ยกมาอ้างนี้ แสดงลัทธินิครนถ์ หรือ ศาสดามหาวีระ นิครนถนาฏบุตร ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ศาสนาเชน ศาสนาเชนนี้นับถือคำสอนเรื่องกรรมเก่า เรียกเต็มว่า ปุพเพกตเหตุวาท เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เลยอยากจะพูดถึงลัทธิที่จะต้องแยกออกจากหลักกรรมให้ครบทั้งหมด ขอให้กำหนดไว้ในใจทีเดียวว่า เราจะต้องแยกหลักกรรมของเราออกจากลัทธิที่เกี่ยวกับการได้รับสุขทุกข์ของมนุษย์ ๓ ลัทธิ
ในสมัยพุทธกาลมีคำสอนสำคัญอยู่ ๓ ลัทธิ ที่กล่าวถึงทุกข์สุขที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ แม้กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ลัทธิศาสนาทั้งหมดเท่าที่มีก็สรุปลงได้เท่านี้ ไม่มีพ้นออกไป พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงลัทธิเหล่านี้และทรงแยกว่าคำสอนของพระองค์ไม่ใช่คำสอนอย่างลัทธิเหล่านี้ ลัทธิเหล่านั้นเป็นคำสอนประเภทอกิริยา คือหลักคำสอนหรือทัศนะแบบที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างร้ายแรง
อาตมภาพจะอ่านลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ๓ ลัทธินี้ตามนัยพุทธพจน์ที่มาใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลี เล่ม ๒๐ และในคัมภีร์วิภังค์ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ในพระไตรปิฎกบาลี เล่ม ๓๕
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ ๓ ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซร้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบๆ กันมา ดำรงอยู่ในอกิริยา (การไม่กระทำ) คือ
๑ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่กระทำในปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ, เรียกว่า ปุพเพกตวาท)
๒ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า (อิสสรนิมมานเหตุ, เรียกว่า อิศวรนิรมิตวาท)
๓ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คนเราได้เสวย ทั้งหมดนั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปัจจยะ, เรียกว่า อเหตุวาท)
ลัทธิทั้งสามนี้ พุทธศาสนิกชนฟังแล้ว อาจจะข้องใจขึ้นมาว่า เอ ลัทธิที่หนึ่งดูคล้ายกับหลักกรรมในพุทธศาสนาของเรา บอกว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน เอ ดูเหมือนกันเหลือเกิน
นี่เหละเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าได้ศึกษาเปรียบเทียบเสียบ้าง บางทีจะทำให้เราเข้าใจหลักกรรมของเราชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าไม่ระวัง เราอาจจะนำเอาหลักกรรมของเรานี้ไปปรับปรุงเป็นหลักกรรมของศาสนาเดิมที่พระพุทธเจ้าต้องการแก้ไข โดยเฉพาะคือลัทธิของท่านนิครนถนาฏบุตรเข้าก็ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้บอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ทีนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตำหนิลัทธิทั้ง ๓ นี้เล่า พระองค์ได้ทรงแสดงโทษของการนับถือลัทธิทั้ง ๓ นี้ไว้ อันนี้ก็จะขออ่านตามนัยพุทธพจน์เหมือนกัน
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี”
ส่วนเรื่องของอีก ๒ ลัทธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อนับถือพระผู้เป็นเจ้า หรือความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยแล้ว ฉันทะก็ดี ความเพียรพยายามก็ดี ว่าอันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี
เมื่อถือว่า เราจะได้รับผลอะไร ก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน มันจะสุขจะทุกข์อย่างไรก็แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เราก็ไม่เกิดฉันทะและความเพียรพยายามว่าเราควรจะทำอะไร ก็ได้แต่รอผลกรรมต่อไป
ถึงเรื่องพระผู้เป็นเจ้าก็เหมือนกัน อ้อนวอนเอาก็แล้วกัน หรือว่าแล้วแต่พระองค์จะโปรดปราน ที่จะมาคิดเพียรพยายามทำด้วยตนเองก็ไม่มี ผลที่สุดก็ต้องสอนสำทับเพิ่มเข้าไปอีกว่าพระเจ้าจะช่วยเฉพาะคนที่ช่วยตนเองก่อนเท่านั้น ไปๆ มาๆ ก็ต้องหันมาหาหลักกรรม
ความบังเอิญไม่มีเหตุปัจจัยก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องไปทำอะไรทำไม ถึงจะทำไปก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย มันบังเอิญเป็นอย่างนั้นเอง ก็ไม่ต้องทำอะไร ผลจะเกิดก็เกิดเอง แล้วแต่โชค
รวมความว่า ๓ ลัทธินี้ ข้อเสียหรือจุดอ่อนคือ ทำให้ไม่เกิดความเพียรพยายามในทางความประพฤติปฏิบัติ ไม่เกิดฉันทะในการกระทำ ส่วนหลักกรรมในพระพุทธศาสนา มองเทียบแล้วข้อแตกต่างก็อยู่ที่ว่า จะต้องให้เกิดฉันทะ เกิดความเพียรที่จะทำ ไม่หมดฉันทะ ไม่หมดความเพียร อันนี้เป็นหลักตัดสินในทางปฏิบัติ