ทางออกของสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ศาสนากับสังคม

ส่วนทางด้านศาสนา ก็อย่างที่พูดมาแล้วว่าเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่เดิมนั้นเราแล่นตามตะวันตก ต่อมาตะวันตกเขาชะงัก เราก็พลอยชะงักไปกับเขาด้วย แล้วก็หันมาคิดทบทวนหาคุณค่าในตัวเอง เป็นเหตุให้พวกเราส่วนหนึ่งหันมาสนใจศาสนา ความสนใจศาสนาก็อาจเป็นไปได้สองระดับ ระดับหนึ่งคือผู้ที่เป็นปัญญาชน ระดับของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องการที่จะหาแนวทางใหม่ หาทางออกใหม่ หาสิ่งที่จะใช้แก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ปัจจุบัน ก็หันมาสนใจพุทธศาสนาว่าจะมีหลักคำสอนมีหลักปรัชญาอะไรต่างๆ ที่จะมาช่วยให้พบทางออกใหม่แก่วิชาการต่างๆ และปัญหาต่างๆ อย่างนักการศึกษาที่หันมาสนใจศาสนา ก็แสวงหาปรัชญา ความคิด หรือหลักธรรม เพื่อจะให้ปรัชญาแก่วงการศึกษา รองลงมาก็คือระดับประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมทั้งคนทั่วไปตลอดจนนักศึกษาและปัญญาชนด้วย แต่เป็นการมองในอีกแง่หนึ่งคือในแง่สภาพชีวิตจิตใจทั่วไป ในแง่นี้จะเห็นว่า เมื่อสังคมตะวันตกมีความผิดหวังในตัวเอง ก็ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยรู้สึกผิดหวังไปด้วย คือ เมื่อมองไม่เห็นความปลอดโปร่งในความเจริญทางวัตถุแล้ว ก็ทำให้หันมาสนใจความเจริญทางด้านจิตใจมากขึ้น พอดีความเจริญด้านวัตถุนั้นไปได้ไกลแล้ว ก็พอพิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่สามารถให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์แก่มนุษย์ได้ ยิ่งกว่านั้น มนุษย์ยังมีปัญหาใหม่ๆ มีความทุกข์ใหม่ๆ จากความเจริญใหม่ๆ อีกด้วย ความเจริญใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ทำไมคนเรากลับมีปัญหามากขึ้นมีความทุกข์มากขึ้น เมื่อจะหาทางออก คนพวกนี้ก็เลยหันมาหาคำตอบจากศาสนามากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในระยะ ๕-๑๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่มีความสับสนในเรื่องนี้ คนก็เลยหันมาสนใจทางศาสนามากขึ้น ซึ่งถ้าย้อนหลังไปสักยี่สิบปีก่อนจะต่างจากนี้มาก ช่วงสิบปีมานี้คนสนใจศาสนามากขึ้น หนังสือหรือตำราทางศาสนาแพร่หลายขายดีขึ้น แต่สมัยยี่สิบ สามสิบปีก่อนโน้น คนยังอยู่ในกระแสแรงที่จะหันไปมองตะวันตก ชื่นชมตะวันตก ชื่นชมความคิดของตะวันตก ไม่ค่อยสนใจหนังสือทางศาสนาเลย หนำซ้ำกลับมองว่าเป็นคร่ำครึไป แต่สิบปีมานี้คนได้หันมาสนใจศาสนามากขึ้น อ่านหนังสือศาสนา หันหน้าเข้าวัด คำว่าสมาธิ วิปัสสนา กลายเป็นคำที่ทันสมัยขึ้นมา เป็นคำที่มีความหมายสูงขึ้น เมื่อก่อนนั้นใครไปเกี่ยวข้องด้วย พวกคนสมัยใหม่จะมองอย่างเหยียดๆ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจของคนในสังคมนี้ มีการหาที่ยึดหนี่ยวทางจิตใจมากขึ้น มีการหาทางออกใหม่กันมากขึ้น

ในสภาพอย่างนี้ เมื่อมีคนแสวงหามากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ว่าคนจะเอาใจใส่ต่อเรื่องศาสนามากขึ้น ในบรรดาคนที่แสวงหาเหล่านั้น บางคนก็พบอะไรที่เป็นคำตอบให้แก่ตัวเอง หรือแก่พรรคพวก ก็เลยนำมาสอนนำมาเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งก็มีคนที่รออยู่แล้ว เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเกิดความพึงพอใจ ก็เข้ามาเป็นพวกเป็นหมู่ ก็เลยกลายเป็นคณะขึ้นมา ถ้ามีกำลังมีความเข้มแข็งขึ้นมา ก็กลายเป็นสำนักอะไรต่อมิอะไรไปได้ง่าย สำหรับปัญหาที่ว่าทำไมจึงเกิดสภาพอย่างนี้ขึ้น นอกจากเป็นเพราะการสนใจแสวงหาอย่างนั้นแล้ว ก็เป็นเพราะว่า เราไม่มีหลักเดิมที่คนเขาจะหันไปพึ่งพาหรือยอมรับ หลักเดิมที่ว่านั้นก็คือ พอคนหันมาสนใจศาสนาก็มีแหล่งคำตอบให้เขาอยู่แล้ว สมมติว่ามีหลักอยู่ที่นี่ มีองค์กรหรือสถาบันที่เป็นหลักสามารถให้คำตอบนี้ พอคนมาสนใจเรื่องนี้ มีปัญหาอะไรขึ้นมา มีคำถามขึ้นมา เมื่อไปหาหลักแหล่งนี้ เขาก็ให้คำตอบเป็นที่พอใจ ก็หมดปัญหา พวกนี้ก็ไม่ต้องไปแสวงหาเอง และไม่ต้องไปเชื่อฟังคนอื่น

แต่ทีนี้พอคนเกิดสนใจแสวงหาขึ้นมา สถาบันหลักที่มีอยู่ไม่สามารถให้คำตอบแก่เขาได้ คนพวกนี้ก็จึงไปแสวงหากันเอง และก็มองหาในหมู่พวกคนอื่นๆ ที่จะให้คำตอบได้ เกิดมีใครคนหนึ่งให้คำตอบ จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ละ แต่เป็นที่น่าพอใจ เขาก็รับเอามา เข้าไปหา มันก็เกิดเป็นกลุ่มเป็นสำนักอะไรใหม่ขึ้นมาได้ อันนี้ก็แสดงถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่คนในสังคมนี้มีความต้องการ แต่สถาบันที่ทำหน้าที่นี้แต่เดิมมา ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของเขาได้

ทั้งนี้ก็เพราะว่า สถาบันนี้ห่างเหินไปนาน สถาบันที่ว่านี้ก็คือ "สถาบันคณะสงฆ์" นั่นเอง สถาบันคณะสงฆ์นี้ห่างเหินกับสังคมของฝ่ายบ้านเมือง ฝ่ายคนทั่วไป โดยเฉพาะคนสมัยใหม่นี้ห่างกันมานานแล้ว ห่างจนพูดกันไม่รู้เรื่อง ภาษาก็พูดคนละอย่าง ในระยะที่แล้วมานั้นห่างกันไปเพราะสนใจคนละอย่างด้วย พวกคนสมัยใหม่จะสนใจเรื่องฝรั่งเรื่องอะไรก็ช่าง ทางสถาบันสงฆ์ไม่ยุ่งด้วย ฉันก็ทำแต่เรื่องของฉันไป ถ้าคุณต้องการให้ไปทำพิธีกรรมอะไรก็ไป พยายามรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตัวไว้ อยู่ในวัด ฝ่ายคนสมัยใหม่นั้นก็ไม่ได้สนใจทางสถาบันศาสนาเท่าไรอยู่แล้ว บอกว่าท่านรักษาประเพณีเอาไว้นะ แต่ฉันต้องการความเจริญแบบตะวันตก เพราะฉะนั้น ก็เลยต่างคนต่างอยู่ ก็อยู่กันมาเรื่อยๆ อยู่คู่กันมาในสังคม โดยที่ว่าแทบไม่ได้สัมพันธ์กันเลย ไม่ได้ช่วยเหลือตอบสนองความต้องการกัน เพียงว่าสืบมาตามประเพณีและรักษาประเพณีไว้ให้อยู่ในสภาพอย่างนั้น

ในสภาพที่เหินห่างกันมานี้ พวกหนึ่งรักษาของเก่าเอาไว้ พวกหนึ่งก็หันไปรับจากตะวันตกเต็มที่ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ก็ห่างกันทั้งทางความเข้าใจ และห่างกันทางภาษา ต่อมาเกิดเหตุการณ์ที่คนในยุคสมัยใหม่นี้ เขาหันกลับมาสนใจศาสนา ต้องการหาคำตอบทางจิตใจ พอถึงขั้นนี้ก็เลยเกิดความเคว้งคว้าง ตอนนี้ใครจะให้คำตอบ ซึ่งตามที่ควรก็คือสถาบันสงฆ์นี่เอง เมื่อเขาต้องการหาทางออกทางจิตใจทางธรรมที่ไม่ใช่แบบตะวันตก ตัวเองต้องพร้อม พอเขาต้องการคำตอบ พอหันมาแล้วได้รับคำตอบทันที เขาก็สบายไป เขาก็เห็นทางออก แต่ทีนี้พอเขาหันกลับมา การที่ห่างกันไปนาน เลยทำให้พูดกันไม่รู้เรื่อง หันไปหาท่านก็ให้คำตอบไม่ได้ หรือพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็เลยทำให้คนไม่มองหาไม่หวังพึ่งสถาบันสงฆ์ในแง่ที่จะหาคำตอบทางด้านจิตใจ มีบ้างก็ไปวัดป่าหรือสำนักกรรมฐาน นี่ก็ได้ไปส่วนหนึ่ง บ้างก็เข้าไสยศาสตร์ทรงเจ้าเข้าผี ค้นคว้าจิตศาสตร์และเรื่องลึกลับไปเลย แต่บางพวกไม่รู้ที่ที่จะเจาะไป ก็เลยเคว้งคว้าง แล้วก็แสวงหาคำตอบกันเอาเอง ค้นคว้ากันเอาเอง แล้วก็มองในหมู่พวกเขาเอง บางคนก็เด่นขึ้นมาให้คำตอบบางอย่างที่เขาพอใจ ก็รวมจับกลุ่มกันเข้าไป เกิดเป็นสำนักต่างๆ ขึ้นมา

โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนเอง ที่แสวงหาคำตอบนั้น จุดผิดพลาดอยู่ที่ว่า คนเรานั้นมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ ไปสุดโต่งได้ง่าย เมื่อไปสุดโต่งทางวัตถุแล้วผิดหวัง ก็มีความโน้มเอียงที่จะมาสุดโต่งทางจิต อย่างในสังคมอเมริกันคนบางพวกปฏิเสธวัตถุโดยสิ้นเชิงเลย อยู่ในสังคมที่เจริญทางวัตถุเต็มที่ แต่ไม่เอาเลย ทิ้งหมด เอาจิตอย่างเดียว ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วตั้งแต่ยุค "ฮิปปี้" เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน บางพวกก็ยังเป็นอยู่ คนในสังคมไทยเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อผิดหวังทางวัตถุแล้วก็หันมาทางจิตเต็มที่ มุ่งหวังไปทางจิตว่า เขาจะได้รับความสำเร็จ ได้รับความสุขความสมหมายในชีวิตจากทางจิตนี้ ก็หันไปบำเพ็ญสมาธิเป็นต้น หรือถือข้อวัตรปฏิบัติแปลกๆ มุ่งเอาให้เต็มที่เลย โดยหวังว่าทางจิตนี้จะให้คำตอบ คนพวกนี้ ถ้าไม่มีความรู้พื้นฐานพอก็จะไปสุดโต่งทางจิตได้ง่าย แล้วก็จะมีอาการติดทางจิต ไม่ว่าเขาจะเป็นปัญญาชนหรือไม่เป็น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง