ถ้าอยากพ้นวิกฤต ต้องเลิกติดไสยศาสตร์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชาวพุทธจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

ทีนี้สำหรับคนทั่วไป ก่อนจะเข้าถึงหลักการของพระพุทธศาสนานั้น เราต้องยอมรับความจริงว่า คนก็ยังมีความอ่อนแอ คนจำนวนมากยังอ่อนแอมาก บางคนแม้ที่ว่ามีปัญญา นึกว่าตัวเองเป็นคนมีปัญญาแต่ไม่ใช่มีปัญญาจริง คือยังไม่ได้มีความรู้ความเห็นความเข้าใจจริง และจิตใจก็ไม่หนักแน่น ไม่มีสมาธิ เวลาเกิดเหตุร้ายภยันตรายชนิดเฉพาะหน้าปัจจุบันทันด่วน บางทีตั้งจิตตั้งใจไม่ทัน เป็นนักคิด ชอบคิดชอบใช้ปัญญา แต่บางทีไปแพ้คนที่เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ เชื่อไหม ทำไมจึงแพ้ ก็เพราะว่าจิตใจฟุ้งซ่านและยังมีความอ่อนแออยู่ในตัว พอประสบเหตุร้ายตั้งจิตตั้งใจไม่ทัน ตั้งสติไม่ทัน สมาธิไม่มา ถูกความหวาดกลัวครอบงำลงไปถึงจิตไร้สำนึก มันเลยขั้นที่จะนึกจะคิดแล้ว จิตใจเตลิดเปิดเปิง ขวัญหาย ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คิดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก กลับไปแพ้คนที่เขามีสติปัญญาน้อยกว่า ที่เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อันนี้แหละส่วนที่เป็นประโยชน์ของความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่บอกเมื่อกี้คือมันเกิดเป็นความมั่นใจ มั่นใจแล้วก็ทำให้จิตรวมตัว คนที่มีความเชื่อยึดในอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้แต่ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พอเกิดเหตุร้ายปัจจุบันทันด่วน ชนิดตั้งสติไม่ทันนี่ เพราะความที่เชื่อมั่นในสิ่งนั้นจิตก็รวมได้ จิตตั้งมั่นอยู่กับสิ่งนั้นมันก็เลยไม่เตลิดเปิดเปิง ไม่ขวัญหนี พอตั้งสติได้ ใจอยู่กับตัว จิตใจมันอยู่ ก็คิดอะไรได้ ก็เข้มแข็ง ก็ไม่เสียหลัก ทำให้ทำการต่าง ๆ ตั้งตัวอยู่ได้

แต่ส่วนคนที่ว่าไม่เชื่ออะไรเลย ทำเป็นว่าเป็นคนมีปัญญา แต่ใจก็ไม่มั่นคงแข็งแรง พอเจอเหตุร้ายอย่างนี้ตั้งสติไม่ทัน ใจไม่รวม ไม่มีสมาธิอย่างที่ว่าไปแล้ว เตลิดเปิดเปิง ใจไม่รู้ไปไหนเลย ทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง เสียหลักเลย เลยกลับแย่ เพราะฉะนั้นจึงต้องไม่ประมาทในเรื่องนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังอ่อนแออยู่นี้ ท่านก็เลยยอมให้ในขั้นเบื้องต้น แต่ต้องไม่ให้เสียหลัก คือเมื่ออาศัยความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นพอให้ใจอยู่กับตัวแล้ว จะต้องต่อด้วยความไม่ประมาท ต้องต่อด้วยการกระทำความเพียรพยายาม ไม่ใช่เชื่อแล้วก็ไปฝากความหวังไว้มัวรอพึ่งสิ่งเหล่านั้น ถ้าอย่างนั้นก็เสียหลัก เป็นการผิดหลักความไม่ประมาท แล้วก็ผิดหลักการเพียรพยายามกระทำการให้สำเร็จ นี้เป็นจุดสำคัญ

ตอนที่คนยังอ่อนแอ ยังมีจิตใจไม่มั่นคง มีปัญญาชนิดที่ไม่แท้ไม่จริง คือยังไม่รู้จริง ท่านก็ยอมให้อาศัยความศักดิ์สิทธิ์ได้บ้าง แต่ท่านให้เอาความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่พระรัตนตรัยเสีย จะได้เป็นทางเชื่อมให้เดินหน้าเข้าสู่ทางต่อไปได้ พอเชื่อพระรัตนตรัย มั่นใจแล้ว พระรัตนตรัยจะจูงเราขึ้นต่อไป

ศาสนานั้นมีความหมายอย่างหนึ่งที่ว่าไปแล้ว คือ คนทั่วไปจะมองว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเครื่องช่วยปลอบประโลมจิตใจ บำรุงขวัญ ทำให้สบายใจ แต่จุดนี้ เป็นจุดที่อันตรายด้วย ถ้าเราไปมองว่าศาสนาเป็นแค่นี้ล่ะก็ ใช้ไม่ได้ ผิด ศาสนาถ้าเป็นแค่นี้ละก็ จะมีคุณเพียงส่วนหนึ่ง แต่อาจจะมีโทษมากมาย

เพราะฉะนั้น ที่ว่าศาสนาเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ต้องแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ

แบบหนึ่ง เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชนิดที่เหนี่ยวแล้วดึงลง หมายความว่าดึงให้หมกให้จมอยู่กับการหวังพึ่งสิ่งเหล่านั้นเรื่อยไป เลยเกาะเพลินอยู่นั่นเอง ไม่ต้องคิดเพียรพยายามทำอะไร ก็วนเวียนอยู่แค่นั้น พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาก็ไม่เจริญ ไม่ได้ฝึกปรือพัฒนาตนเอง

อีกแบบหนึ่ง เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เหนี่ยวแล้วดึงขึ้น คือเหนี่ยวพอให้เป็นที่เกาะผ่านเท่านั้น ในเมื่อคนเขายังไม่เข้มแข็ง ไม่แข็งแรง เหมือนยังว่ายน้ำไม่เป็น พอได้ที่เกาะไว้ก่อน แต่ตัวศาสนาเองอยู่เลยจากนั้นไป ต่อจากนั้นจะต้องช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้นแล้วให้เขาเดินหน้าต่อไปสู่ตัวศาสนาที่แท้จริง ไม่ใช่จมวนอยู่แค่นั้น

พระพุทธศาสนายอมให้ในแง่ที่สอง ถ้าเราบอกว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาคือเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ พูดแค่นี้ไม่ได้ ไม่ถูก เพราะตัวพระพุทธศาสนาอยู่ที่การพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น ฉะนั้นการที่มายึดเหนี่ยวก็เป็นเพียงได้อาศัยเพื่อจะเหนี่ยวแล้วดึงขึ้นไป เพื่อจะเดินหน้าต่อไปในการที่จะพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรมกายวาจา ทั้งด้านจิตใจ และในด้านปัญญา

ยึดถือแล้ว → ปลอบใจ → สบายใจอุ่นใจ → นอนใจ → รอให้ท่านบันดาลให้ = ทางตัน มีโทษมาก

ยึดถือแล้ว → รวมใจได้ → เกิดกำลังใจ → มั่นใจ → ทำการอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นไป = มีทางเดินต่อ พอรับได้

อย่างไรก็ตาม แม้แต่การเชื่อหรือนับถือแบบหลังที่พอยังรับได้ ก็ยังไม่ปลอดภัย นอกจากง่อนแง่นแล้ว เพราะกำลังใจกำลังศรัทธาเกิดจากความเชื่อ ไม่ใช่เกิดจากปัญญารู้ความจริง จึงอาจจะถูกความเชื่อจูงให้มีกำลังเข้มแข็งในทางที่จะทำสิ่งที่ผิดให้รุนแรง กลับมีโทษมากยิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับคนที่ยังอ่อนแอ เมื่อยังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือยังต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านเอาความศักดิ์สิทธิ์มาไว้ที่พระรัตนตรัย

ก) เพื่อจะได้กั้นกรองจำกัดไว้ไม่ให้ผู้คนถูกจูงเขวออกนอกลู่นอกทางไปกันใหญ่ เพราะลัทธิศาสนาแบบไสยศาสตร์มากมายเป็นเรื่องสนองกิเลส ทั้งโลภะและโทสะของคน พาคนให้ยุ่งวุ่นวายอยู่กับกิเลสเหล่านั้น อย่างน้อยก็รั้งไว้ไม่ให้ถูกดึงลงไปหลงจมวนเวียนแช่อยู่ในโมหะ

ข) เพื่อทำความศักดิ์สิทธิ์นั้นเองให้ประณีต ให้สูง ให้ดีงามขึ้นไป ไม่ให้ความศักดิ์สิทธิ์อยู่กับอำนาจศักดานุภาพหรืออิทธิพลความยิ่งใหญ่ที่จะดลบันดาลแบบวูบวาบไม่ยั่งยืน แต่ให้ความศักดิ์สิทธิ์เกิดจากคุณานุภาพ คืออำนาจความบริสุทธิ์และคุณธรรม ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ที่เป็นของยั่งยืน

ค) เพื่อจะได้เป็นการสะดวกที่จะดึงคนทั้งหลายที่มาพึ่งนั้น ให้ก้าวต่อสูงขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จนลุถึงวิมุตติ ในที่สุด

เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจว่า การยึดเหนี่ยวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ใช่ยึดเหนี่ยวแล้วก็เลยจมเพลินวนเวียนอยู่แค่นั้น จุดสำคัญอยู่ที่เหนี่ยวแล้วดึงขึ้น แล้วให้เดินหน้าต่อไปด้วย ตรงนี้แหละที่เป็นลักษณะสำคัญ พระพุทธศาสนาเน้นตรงนั้น

ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นโบราณเขามีอยู่แล้วก่อนพุทธศาสนา ถ้าศาสนาเป็นได้แค่ที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดพุทธศาสนา เพราะคนอินเดียเขามีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีเทวดาให้นับถือเยอะแยะ มีแม้แต่พระพรหมที่ว่าดลบันดาลทุกอย่างได้ จนคนพากันเชื่อในพรหมลิขิต

การที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ก็เพราะศาสนาก่อนนั้นมัวเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชนิดเหนี่ยวแล้วดึงลง ให้หลง ให้จมให้หมกอยู่ในการพึ่งพาอำนาจภายนอก รอผลดลบันดาล พระพุทธศาสนาก็เลยเกิดขึ้นมาแก้ไข โดยมาเหนี่ยวแล้วดึงขึ้น เพื่อจะให้ประชาชนได้พัฒนาในเรื่องความประพฤติ ทั้งกาย วาจา แล้วก็พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ให้พึ่งตนเองได้ดีขึ้นจนเป็นอิสระต่อไป อันนี้จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา

ชาวพุทธเรานับถือพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เอาแค่ว่ายึดเหนี่ยวจิตใจ ให้สบายแล้วก็จบ แต่ต้องเอามาใช้ปฏิบัติ เอามาใช้พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม ทั้งกายวาจาและจิตใจพร้อมทั้งปัญญา ให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะในที่สุดเราต้องเป็นอิสระพึ่งตนเองได้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง