ชีวิตที่เป็นอยู่ดี: ด้วยมีการศึกษาทั้ง ๓ ที่ทำให้พัฒนาครบทั้ง ๔

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ชีวิตทั้ง ๓ ด้าน การศึกษาทั้ง ๓ ขั้น ประสานพร้อมไปด้วยกัน

๒. อินทรียสังวร แปลตามแบบว่า การสำรวมอินทรีย์ หมายถึง การใช้อินทรีย์ เช่น ตาดู หูฟัง อย่างมีสติ มิให้ถูกความโลภ ความโกรธ ความแค้นเคือง ความหลง ความริษยา เป็นต้น เข้ามาครอบงำ แต่ใช้ให้เป็น ให้ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะให้เกิดปัญญา รู้ความจริง และได้ข้อมูลข่าวสารที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ต่อไป

ควรทราบว่า โดยสรุป อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

๑) หน้าที่รู้ คือรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ตาดู รู้ว่าเป็นอะไร ว่าเป็นนาฬิกา เป็นกล้องถ่ายรูป เป็นดอกไม้ ใบไม้สีเขียว สีแดง สีเหลือง รูปร่างยาวสั้นใหญ่เล็ก หูได้ยินเสียงว่า ดัง เบา เป็นถ้อยคำสื่อสารว่าอย่างไร เป็นต้น

๒) หน้าที่รู้สึก หรือรับความรู้สึก พร้อมกับรับรู้ข้อมูลเราก็มีความรู้สึกด้วย บางทีตัวเด่นกลับเป็นความรู้สึก เช่น เห็นแล้วรู้สึกสบายหรือไม่สบาย ถูกตาไม่ถูกตา สวยหรือน่าเกลียด ถูกหูไม่ถูกหู เสียงนุ่มนวลไพเราะหรือดังแสบแก้วหูรำคาญ เป็นต้น

  • หน้าที่ด้านรู้ เรียกง่ายๆ ว่า ด้านเรียนรู้ หรือศึกษา
  • หน้าที่ด้านรู้สึก เรียกง่ายๆ ว่า ด้านเสพ

พูดสั้นๆ ว่า อินทรีย์ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ ศึกษา กับ เสพ

ถ้าจะให้ชีวิตของเราพัฒนา จะต้องใช้อินทรีย์เพื่อรู้หรือศึกษาให้มาก

มนุษย์ที่ไม่พัฒนา จะใช้อินทรีย์เพื่อเสพความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ บางทีแทบไม่ใช้เพื่อการศึกษาเลย เมื่อมุ่งแต่จะหาเสพความรู้สึกที่ถูกหู ถูกตา สวยงาม สนุนสนานบันเทิง เป็นต้น ชีวิตก็วุ่นวายอยู่กับการวิ่งไล่หาสิ่งที่ชอบใจ และดิ้นรนหลีกหนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ วนเวียนอยู่แค่ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ รัก-ชัง ติดใจ-เกลียดกลัว หลงไหล-เบื่อหน่าย แล้วก็ฝากความสุขความทุกข์ของตนไว้ให้ขึ้นกับสิ่งเสพบริโภค ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตที่ไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ก็ตกต่ำด้อยค่า และไม่มีอะไรที่จะให้แก่โลกนี้ หรือแก่สังคม

ถ้าไม่มัวหลงติดอยู่กับการหาเสพความรู้สึก ที่เป็นได้แค่นักบริโภค แต่รู้จักใช้อินทรีย์เพื่อศึกษา สนองความต้องการรู้หรือความใฝ่รู้ ก็จะใช้ตา หู เป็นต้น ไปในทางการเรียนรู้ และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ปัญญาจะเจริญงอกงาม ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์จะเกิดขึ้น กลายเป็นนักผลิตนักสร้างสรรค์ และจะได้พบกับความสุขอย่างใหม่ๆ ที่พัฒนาขยายขอบเขตและประณีตยิ่งขึ้น พร้อมกับความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ที่ก้าวหน้าไป เป็นผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีคุณค่าแก่สังคม

๓. ปัจจัยปฏิเสวนา คือการเสพบริโภคปัจจัย ๔ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย ตลอดจนเทคโนโลยี

ศีลในเรื่องนี้ คือการฝึกศึกษาให้รู้จักใช้สอยเสพบริโภคสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจคุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ เริ่มตั้งแต่อาหาร ก็พิจารณารู้เข้าใจความจริงว่า รับประทานเพื่อเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม อย่างที่ตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพ(นุ่งห่ม) จีวร เท่าที่ว่า เพื่อป้องกันความหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เท่าที่ว่า เพื่อปกปิดอวัยวะที่ควรละอาย

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงเสพ(ฉัน) อาหารบิณฑบาต มิใช่เพื่อสนุก มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อสวยงาม มิใช่เพื่อเด่นโก้ แต่เสพ(ฉัน) เท่าที่ว่า เพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อระงับความหิว เพื่อเกื้อหนุนชีวิตที่ประเสริฐ ด้วยการปฏิบัติดังนี้ เราจะกำจัดเวทนาเก่า (ความไม่สบายเพราะความหิว) เสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่ (เช่นความ อึดอัด แน่น จุกเสียด) เกิดขึ้นด้วย เราก็จะมีชีวิตดำเนินไป พร้อมทั้งความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุก1

การบริโภคด้วยปัญญาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นการรู้จักประมาณในการบริโภค หรือการบริโภคพอดี หรือกินพอดี เป็นการบริโภคที่คุ้มค่า ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่สิ้นเปลือง ไม่สูญเปล่า และไม่เกิดโทษ อย่างที่บางคนกินมาก จ่ายแพง แต่กลับเป็นโทษแก่ร่างกาย

เมื่อจะซื้อหาหรือเสพบริโภคอะไรก็ตาม ควรฝึกถามตัวเองว่า เราจะใช้มันเพื่ออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนี้คืออะไร แล้วซื้อหามาใช้ให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงนั้น ไม่บริโภคเพียงด้วยตัณหาและโมหะ เพียงแค่ตื่นเต้น เห็นแก่ความโก้เก๋ เหิมเห่อไปตามกระแสค่านิยมเป็นต้น โดยไม่ได้ใช้ปัญญาเลย

พึงระลึกไว้ว่า การเสพบริโภค และเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่เป็นจุดหมายของชีวิต ชีวิตมิใช่จบที่นี่ ชีวิตไม่ใช่อยู่แค่นี้

เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหลักนี้ ก็จะเป็นคนที่กินอยู่เป็น เป็นผู้มีศีลอีกข้อหนึ่ง

๔. สัมมาอาชีวะ คือการหาเลี้ยงชีพโดยทางชอบธรรม ซึ่งเป็นศีลข้อสำคัญอย่างหนึ่ง เมื่อนำมาจัดเข้าชุดศีล ๔ ข้อนี้ และเน้นสำหรับพระภิกษุ ท่านเรียกว่า “อาชีวปาริสุทธิ” (ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ) เป็นเรื่องของความสุจริตเกี่ยวกับ ปัจจัยปริเยสนา คือการแสวงหาปัจจัย (ต่อเนื่องกับข้อ ๓ ปัจจัยปฏิเสวนา คือการใช้สอยเสพบริโภคปัจจัย)

ศีลข้อนี้ในขั้นพื้นฐาน หมายถึงการเว้นจากมิจฉาชีพ ไม่ประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่หาเลี้ยงชีพโดยทางสุจริต

ว่าโดยสาระ คือ ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิตอื่น และแก่สังคม หรือที่จะทำชีวิต จิตใจ และสังคมให้เสื่อมโทรมตกต่ำ ดังนั้นสำหรับคฤหัสถ์ จึงมีพุทธพจน์แสดงอกรณียวณิชชา คือการค้าขายที่อุบาสกไม่พึงประกอบ ๕ อย่าง2 ได้แก่ การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ขายเพื่อฆ่าเอาเนื้อ การค้าของเมา (รวมทั้งสิ่งเสพติดทั้งหลาย) และการค้ายาพิษ

เมื่อเว้นมิจฉาชีพ ก็ประกอบสัมมาชีพ ซึ่งเป็นการงานที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาและช่วยสร้างสรรค์เกื้อกูลแก่ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะทำให้เกิดปีติและความสุขได้ทุกเวลา ไม่ว่าระลึกนึกขึ้นมาคราวใด ก็อิ่มใจภูมิใจว่าเราได้ทำชีวิตให้มีคุณค่าไม่ว่างเปล่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในมรรค โดยเฉพาะระดับจิตใจหรือสมาธิ

สัมมาชีพ นอกจากเป็นอาชีพการงานที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาพัฒนาชีวิตของตนเองด้วย ซึ่งผู้ทำงานควรตั้งใจใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาตน เช่น เป็นแดนฝึกฝนพัฒนาทักษะต่างๆ ฝึกกายวาจากิริยามารยาท พัฒนาความสามารถในการสื่อสารสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ฝึกความเข้มแข็งขยันอดทน ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความมีฉันทะ มีสติ และสมาธิ พัฒนาความสุขในการทำงาน และพัฒนาด้านปัญญา เรียนรู้จากทุกสิ่งทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องเข้ามา คิดค้นแก้ไขปรับปรุงการงาน และการแก้ปัญหาต่างๆ

ทั้งนี้ ในความหมายที่ลึกลงไป การเลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาชีพ ท่านรวมถึงความขยันหมั่นเพียร และการปฏิบัติให้ได้ผลดีในการประกอบอาชีพที่สุจริต เช่น ทำงานไม่ให้คั่งค้างอากูล เป็นต้น ด้วย

อาชีพการงานนั้น เป็นกิจกรรมที่ครองเวลาส่วนใหญ่แห่งชีวิตของเรา ถ้าผู้ใดมีโยนิโสมนสิการ คิดถูก ปฏิบัติถูก ต่ออาชีพการงานของตน นอกจากได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นอันมากแล้ว ก็จะได้ประโยชน์จากการงานนั้นๆ มากมาย ทำให้งานนั้นเป็นส่วนแห่งสิกขา เป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนให้ก้าวไปในมรรคได้ด้วยดี

การฝึกศึกษาในด้านและในขั้นศีล ๔ ประเภท ที่กล่าวมานี้ จะต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญกันให้มาก เพราะเป็นที่ทรงตัวปรากฏตัวของวิถีชีวิตดีงาม ที่เรียกว่ามรรค และเป็นพื้นฐานของการก้าวไปสู่สิกขาคือการศึกษาที่สูงขึ้นไป ถ้าขาดพื้นฐานนี้แล้ว การศึกษาขั้นต่อไปก็จะง่อนแง่นรวนเร เอาดีได้ยาก

ส่วนสิกขาด้านจิตหรือสมาธิ และด้านปัญญา ที่เป็นเรื่องลึกละเอียด กว้างขวางมาก จะยังไม่กล่าวเพิ่มจากที่พูดไปแล้ว

ก่อนจะผ่านไป มีข้อควรทำความเข้าใจที่สำคัญในตอนนี้ ๒ ประการ คือ

๑. ในแง่ไตรสิกขา หรือในแง่ความประสานกันของสิกขาทั้ง ๓ ได้กล่าวแล้วว่า ชีวิตคนทั้ง ๓ ด้าน คือ การสัมพันธ์กับโลก จิตใจ และความรู้ ความคิด ทำงานประสานเป็นปัจจัยแก่กัน ดังนั้น การฝึกศึกษาทั้ง ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ก็จึงดำเนินไปด้วยกัน

ที่พูดว่า สิกขา/ฝึกศึกษาขั้นศีลนี้ มิใช่หมายความว่าเป็นเรื่องของศีลอย่างเดียว แต่หมายความว่า ศีลเป็นแดนหรือด้านที่เรากำลังเข้ามาปฏิบัติจัดการหรือทำการฝึกอยู่ในตอนนี้ขณะนี้ แต่ตัวทำงานหรือองค์ธรรมที่ทำงานในการฝึก ก็มีครบทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้ามองดูให้ดี จะเห็นชัดว่า ตัวทำงานสำคัญๆ ในการฝึกศีลนี้ ก็คือ องค์ธรรมฝ่ายจิตหรือสมาธิ และองค์ธรรมฝ่ายปัญญา

ดูง่ายๆ ก็ที่ศีลข้ออินทรียสังวรนั้น ตัวทำงานหลักก็คือสติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมฝ่ายจิตหรือหมวดสมาธิ และถ้าการฝึกศึกษาตรงนี้ถูกต้อง ก็ปัญญานั่นแหละที่ทำงานมาก มาใช้ประโยชน์และเดินหน้า

พูดด้วยภาษาง่ายๆ ว่า ในขั้นศีลนี้ ธรรมฝ่ายจิต/ สมาธิ และปัญญา มาทำงานกับเรื่องรูปธรรม ในแดนของศีล เพื่อช่วยกันฝึกฝนพัฒนาศีล และในการทำงานนี้ ทั้งสมาธิและปัญญาก็ฝึกศึกษาพัฒนาตัวมันเองไปด้วย

ในขั้นหรือด้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ต่างก็ช่วยกันร่วมกันทำงานประสานกันตามบทบาทของตนๆ

๒. ในแง่มรรค หรือในแง่คุณสมบัติภายในของชีวิต ขณะที่มีการฝึกศึกษาด้วยไตรสิกขานั้น ถ้ามองเข้าไปในชีวิตที่ดำเนินอยู่คือมรรคที่รับผลจากการฝึกศึกษาของสิกขา ก็จะเห็นว่า กระบวนธรรมของการดำเนินชีวิตก็ก้าวไปตามปกติของมัน โดยมีปัญญาในชื่อว่าสัมมาทิฏฐิเป็นผู้นำกระบวน ของชีวิตนั้นทั้ง ๓ ด้าน สัมมาทิฏฐินี้มองเห็นรู้เข้าใจอย่างไรเท่าไร ก็คิดพูดทำดำเนินชีวิตไปในแนวทางนั้นอย่างนั้นและได้แค่นั้น

แต่เมื่อการฝึกศึกษาของไตรสิกขาดำเนินไป ปัญญาชื่อสัมมาทิฏฐินั้น ก็พัฒนาตัวมันเองด้วยประสบการณ์ทั้งหลายจากการฝึกศึกษานั้น เฉพาะอย่างยิ่งด้วยการทำงานคิดวิจัยสืบค้นไตร่ตรองของสัมมาสังกัปปะ ทำให้มองเห็นรู้เข้าใจกว้างลึกชัดเจนทั่วตลอดถึงความจริงยิ่งขึ้นๆ แล้วก็จัดปรับนำกระบวนธรรมก้าวหน้าเป็นมรรคที่สมบูรณ์ใกล้จุดหมายยิ่งขึ้นๆ ไป

1ม.มู. ๑๒/๑๔/๑๗
2องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๗๗/๒๓๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง