ชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คำนำ

เมื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประธานกรรมการ ตลอดจนกรรมการอื่นๆ ของโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดพิมพ์ชุมนุมบทความทางวิชาการ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในโอกาสที่พระชนม์ครบ ๘๐ พรรษาบริบูรณ์ในปี ๒๕๑๔ นั้น ได้อาราธนาพระศรีวิสุทธิโมลี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป. ๙) เรียบเรียงเรื่องพุทธธรรม มารวมพิมพ์อยู่ในหนังสืออันขอประทานชื่อว่า วรรณไวทยากร นั้นด้วย ทั้งยังอาราธนาให้พระคุณท่านแสดงปาฐกถาธรรมในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันคล้ายวันประสูติในเดือนสิงหาคมนั้นอีกด้วย ปรากฏว่าธรรมกถาที่ท่านแสดง และถ้อยคำที่ท่านรจนาเป็นที่ประทับใจผู้ฟังผู้อ่านกันมากหน้า จนแม้เล่มที่นำมาแยกตีพิมพ์ก็จำหน่ายหมดลงแล้ว ดังพระคุณท่านได้กรุณาแก้ไขให้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นต่างหากออกไปอีกแล้ว

เรื่องพุทธธรรมนั้น พระคุณท่านได้แสดงถึงกฎธรรมชาติ และคุณค่าสำหรับชีวิต โดยแบ่งออกเป็นสองภาค คือ (๑) มัชเณนธรรมเทศนา ว่าด้วยหลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติ และ (๒) มัชฌิมาปฏิปทา ว่าด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือทางสายกลาง อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีมากเป็นประการใด จักไม่ขอเอ่ยถึงในที่นี้ เป็นแต่เพียงขอกล่าวว่าปาฐกถาโกมลคีมทองทุกเรื่อง ล้วนได้รับอิทธิพลจากหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น (ดู อุดมคติเพื่อสังคม รวมปาฐกถาโกมลคีมทองในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา)

อนึ่ง พระคุณท่านได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะเขียนต่อไปเป็นภาคที่ ๓ ว่าด้วยวิมุตติ หรือชีวิตเมื่อถึงจุดหมายแล้ว และต่อท้ายที่ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทาที่นำมาประยุกต์ใช้ เป็นการแสดงวิธีที่จะนำหลักที่กล่าวมาแล้วในสองภาคมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อความดำรงอยู่ของบุคคลและสังคม

เมื่อคณะกรรมการโครงการตำราฯ ได้ทราบเจตนารมณ์ของพระคุณท่านเช่นนี้แล้ว จึงอาราธนาให้ท่านเรียบเรียงเรื่องราวในภาคต่อๆ ไป โดยขอให้นำไปแสดงบรรยายในวันคล้ายวันเกิดของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ หากเวลานั้นพระคุณท่านดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งทางด้านการบริหารงานพระศาสนาและศาสนศึกษาตลอดจนการสอน จึงแสดงบรรยายได้เพียงตอนที่ว่าด้วย เกณฑ์วินิจฉัยความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม ที่มูลนิธิโกมลคีมทองนำมาตีพิมพ์เป็นจุลสารแล้ว (โดยที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาแห่งปีที่แสดงธรรมกถาคราวนี้เอง ที่พระคุณท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระราชวรมุนี) และได้นำไปตีพิมพ์ซ้ำในที่อื่นๆ อีกบ้าง เช่นในเล่มที่รวมบทความของพระคุณท่านทางด้าน ปรัชญาการศึกษาไทย ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยเคยจัดพิมพ์จำหน่ายแล้วเป็นต้น

ต่อมาเมื่อคณะกรรมการโครงการตำราฯ รับจัดพิมพ์รวมบทความวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในโอกาสอายุครบ ๖๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ได้อาราธนาพระคุณท่านเรียบเรียงเรื่อง พุทธธรรม ที่เหลือให้จบบริบูรณ์ แต่ก็ไม่เป็นโอกาสที่พระคุณท่านจะสนองเจตนารมณ์ของคณะกรรมการได้ เพราะงานประจำและงานจรอื่นๆ ดังกล่าวแล้ว แม้พระคุณท่านจะได้รับอาราธนาไปสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสวาทมัวรในสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ยังหาเวลาว่างได้ไม่เพียงพอ เพราะต้องช่วยบำรุงศรัทธาปสาทะของพุทธมามกชนคนไทย ทั้งในด้านธรรมโอสถและในด้านพิธีกรรม ตลอดจนต้องช่วยกิจการของวัดไทยต่างๆ ในสหรัฐอีกด้วย แต่พระคุณท่านก็ไม่ยอมเปลื้องปฏิญญา อยากจะเขียนเรื่องในทางวิชาการเพื่อนายป่วย อึ๊งภากรณ์ อยู่ตลอดมา

ภายหลังเมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว และสามารถลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ทางด้านบริหารได้หมดแล้ว จึงมีเวลาจับงานทางวิชาการด้านพระศาสนา ได้อย่างเต็มมือมากขึ้น และโดยที่พระคุณท่านปรารภอยากทำการเพื่อนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ให้สมเจตนารมณ์ คณะกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง จึงเห็นกันว่า ถ้าอาราธนาพระคุณท่านแสดงปาฐกถาประจำปีของมูลนิธิได้ ก็เท่ากับว่าใช้กระสุนดอกเดียวยิงนกได้หลายตัวคือ ๑) นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ย่อมยินดีที่รู้ว่าท่านมีส่วนช่วยมูลนิธิฯ ในฐานที่เป็นรองประธานฯ แม้อยู่ห่างและชราอาพาธ คุณธรรมของท่านก็ยังบันดาลให้มูลนิธิได้มีปาฐกถาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ ๒) พระราชวรมุนีก็ย่อมยินดีที่ท่านได้ทำการสมตามเจตนารมณ์แล้ว และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ๓) สาธุชนย่อมได้ฟังได้อ่าน งานนิพนธ์ล่าสุดที่เหมาะแก่กาลสมัยเป็นอย่างยิ่ง

แม้พระคุณท่านจะยังไม่อาจเรียบเรียงเรื่องพุทธธรรมภาค ๓ ได้ตามปรารถนา เรื่องชาวพุทธกับชะตากรรมของสังคม นี้ ชื่อได้ว่าเป็นภาคหนึ่งในบั้นปลายแห่งพุทธธรรม อันว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทาภาคประยุกต์นั้นเอง เพราะเป็นการแสดงวิธีที่จะนำหลักจากพุทธธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อความดำรงอยู่ของบุคคล และสังคมโดยแท้ โดยที่ต่างก็จะได้รับความสุขร่วมกัน ให้สอดคล้องต้องกับแนวทางแห่งชีวิตที่จะเข้าถึงจุดหมายปลายทางนั้นแล

ในนามคณะกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง ข้าพเจ้าขอขอบพระเดชพระคุณองค์ปาฐก ที่นอกจากจะแสดงธรรมกถาให้แล้ว ยังกรุณาตรวจแก้ต้นฉบับให้อย่างเสียสละเป็นอย่างมากอีกด้วย กับขอขอบพระคุณกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อนุญาตให้จัดงานปาฐกถาประจำปีขึ้น ณ สถานที่อันทรงเกียรติแห่งนั้น โดยที่มีผู้ฟังแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์สำหรับปาฐกถาภาคภาษาไทยในสถาบันแห่งนั้นเลยทีเดียว พร้อมกันนี้ก็ขอขอบใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนในการจัดปาฐกถา ในการถอดถ้อยคำจากเครื่องอัดเสียง ไปจนจัดพิมพ์เป็นเล่มให้แล้วเสร็จ กับขอจารึกไว้ด้วยว่ากลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ชุมนุมพุทธศาสตร์และประเพณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชมรมพุทธในอีกหลายสถาบัน ได้มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลในการนี้มาก

ที่สุดนี้ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทั้งหลาย ได้ร่วมใจกับพวกเราที่ใช้ความคิด ตลอดจนลงแรงและลงทุน ให้เกิดหนังสือนี้ ถ้าท่านเห็นว่าข้อเขียนนี้มีคุณค่า ขอได้ร่วมกับเรา แผ่ส่วนกุศลแด่นายโกมล คีมทอง เจ้าของนามมูลนิธินี้ จงทุกประการ หากเขามีญานวิถีจะหยั่งทราบได้อย่างหนึ่งอย่างใด ขอจงได้ร่วมอนุโมทนาด้วยเทอญ

ส. ศิวรักษ์
กรรมการผู้จัดการ
๙ มีนาคม ๒๕๒๓

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง