เจอวิกฤต จะเลือกวิวัฒน์ หรือจะเอาวิบัติ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ถึงจะเป็นนักผลิตขึ้นมาได้ ก็ไม่พอจะสร้างชีวิตและโลกให้ดี

ที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างที่ฟ้องว่าสังคมของเรามีปัญหามากจากบริโภคนิยม แม้แต่ในชีวิตประจำวันก็เห็นชัดๆ ว่า เราหลงใหลกับค่านิยมบริโภค เช่นชอบสนุกสนานอวดโก้กัน เราจะหาซื้อของกินของใช้โดยมองไปในแง่ของความโก้เก๋อวดกันนี้มาก ในขณะที่สังคมอเมริกันที่เป็นต้นแหล่งแห่งความฟุ้งเฟ้อ เป็นสังคมที่ถือกันว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อม เขาก็ยังไม่มีค่านิยมถึงขนาดนี้ คนไทยจะซื้อเสื้อผ้าราคาแพงๆ มาใส่ ซื้อกระเป๋าต้องเอายี่ห้อฝรั่งเศส ราคาใบละหลายพันหรือเป็นหมื่น หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นสภาพที่ประเทศอเมริกาเขาแทบไม่มี

ขอเล่าตัวอย่างนิดหน่อย อาตมาเดินทางไปอเมริกา ได้พบกับครอบครัวคนไทยที่อยู่นั่นมานาน ลูกเขาเกิดที่โน่น เรียนหนังสือที่ประเทศอเมริกานั้น เขาปรารภให้ฟังว่า ญาติพี่น้องของเขามาจากเมืองไทย ได้ทำอะไรที่เขาเห็นว่าแปลก คือไปเที่ยวหาซื้อเสื้อผ้ากระเป๋าอะไรเป็นต้นที่แพงๆ ให้ลูก แต่ลูกของเขาเองอยู่เมืองโน้นไม่เห็นเอาใจใส่เรื่องเหล่านี้เลย เสื้อผ้าก็ใส่ของธรรมดา ให้มีใส่ก็แล้วกัน ว่าไปตามความหมายของเสื้อผ้าคือเป็นเครื่องนุ่งห่ม มีแต่งานที่อาจารย์เขามอบหมายว่าต้องทำนั่นทำนี่ เขามีความรู้สึกต่อการซื้อข้าวของของพี่น้องจากเมืองไทย ว่าเป็นพฤติกรรมที่แปลก นี้คือลักษณะบริโภคนิยมของคนไทยนี่หนักหนากว่าแม้แต่ประเทศที่เราว่ามั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นบริโภคนิยม และพร้อมกันนั้นก็อย่างที่ว่าแล้ว คือขาดฐานของการเป็นนักผลิต มีแต่ความเป็นนักบริโภคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ไขให้คนไทยมาเป็นนักผลิตให้ได้ อย่างน้อยให้มาถ่วงดุลกับความเป็นนักบริโภคไว้บ้าง

ความเป็นนักผลิตก็ยังไม่พอ เพราะการผลิตหมายถึงการสร้างหรือทำขึ้นใหม่ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายจำกัดมาก การมองการสร้างเชิงเศรษฐกิจคือการผลิตนี้เป็นการมองด้านเดียว และการผลิตในทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะเกิดผลในทางทำลายได้มาก

การผลิตในทางเศรษฐกิจทุกครั้ง โดยปกติจะต้องทำให้เกิดการทำลายพร้อมไปด้วย สมัยก่อนโน้นถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่ค่อยมีใครยอมรับ แต่เป็นความจริงว่าการผลิตนั้นในความหมายหนึ่งเป็นการทำลายด้วย คือในการผลิตแต่ละครั้งก็มีการทำลายไปด้วย เช่นทำลายทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้น หรือในกระบวนการผลิตนั้นเองมีการส่งของเสียขึ้นไปในอากาศ หรือลงไปในดินในน้ำ ซึ่งก็เป็นการทำลาย การผลิตในทางเศรษฐกิจจึงมากับการทำลาย หรือเป็นการทำลายในความหมายหนึ่ง

เพราะฉะนั้นจะต้องทำการผลิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาท รอบคอบ และจะต้องพยายามก้าวต่อไปให้เป็นการสร้างสรรค์ เพราะการสร้างสรรค์นั้นหมายถึงการก่อให้เกิดความดีงาม ความเจริญงอกงาม ทำให้เกิดประโยชน์สุข ที่มองอย่างครอบคลุมทั้งหมด ว่าจะทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นอย่างไร สังคมดีขึ้นอย่างไร โลกที่อยู่อาศัยทั้งหมดดีขึ้นอย่างไร นี้คือการสร้างสรรค์ แต่ถ้าเอาแค่การผลิตก็มองเพียงจะให้เกิดผลในทางเศรษฐกิจ และจบแค่นั้น ถ้าซ้ำร้ายก็จะเอาแต่ผลประโยชน์ตอบแทน อย่างที่เรียกว่าเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด มันจะทำให้เกิดผลเสียอะไรบ้างก็ไม่คำนึง

ในยุคที่ผ่านมานี้ การมองความหมายของการสร้างสรรค์จะมุ่งในทางเศรษฐกิจ และมีความหมายแคบอย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ประเทศไทยจึงมีปัญหา ๒ ชั้น คือ

  1. การผลิตทางเศรษฐกิจ เราก็ยังไปไม่ถึงไหน
  2. แม้เมื่อผลิตทางเศรษฐกิจ เราก็ไม่ได้คำนึงถึงการสร้างสรรค์ที่แท้จริง ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม และแก่โลกแห่งธรรมชาติแวดล้อมทั้งหมดด้วย

เราจะคิดชั้นเดียวไม่พอ แต่เอาเป็นว่าเฉพาะตอนนี้รวมความก็คือ สังคมของเรานี้เป็นบริโภคนิยมสุดโต่ง และขาดพื้นฐานทางการผลิต จะต้องรีบแก้ไข โดยต้องทำให้คนของเราเป็นนักผลิต ซึ่งก็ยังไม่พอ จะต้องก้าวต่อไปถึงขั้นพัฒนาคนให้เป็นนักสร้างสรรค์ให้ได้

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง