จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

- ๑ –
จุดบรรจบที่แฝงความแตกต่าง

ความสนใจพระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตก

ว่าที่จริงนั้น เวลานี้ในโลกตะวันตกมีความสนใจพระพุทธศาสนากันมาก พูดได้ว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ๒-๓ วันนี้ อาตมาฟังวิทยุ VOA คือ วิทยุเสียงอเมริกา ก็พูดถึงความเจริญ และขยายตัวอย่างรวดเร็วของพระพุทธศาสนาในประเทศอเมริกา1

เขาบอกว่า เมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น ศูนย์หรือสำนักต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนามีสักหยิบมือเดียว แต่ในปัจจุบันนี้มีถึง ๔๒๕ แห่ง ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มาก และมีสถิติที่ยังไม่ถึงกับยืนยันว่าจำนวนชาวพุทธได้เพิ่มขึ้นจากจำนวนแสนเป็นสองหรือสามล้านคน นอกจากนั้นเขายังเอาจำนวนชาวพุทธที่เพิ่มขึ้นนี้ไปเทียบกับจำนวนชาวยิวซึ่งยังคงมีแค่ประมาณ ๔ ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนาในช่วงเวลาที่นับว่ารวดเร็วมาก

ความจริงนั้น พระพุทธศาสนาได้รับความสนใจจากตะวันตกมานาน เรียกได้ว่าถึงศตวรรษแล้ว ก่อนที่จะมาเจริญอย่างรวดเร็วในช่วง ๒๐ ปีนี้

ในช่วงก่อนโน้นคือในยุคอาณานิคมเมื่อฝรั่งเข้ามายึดครองดินแดนหลายแห่งในอาเซีย ในการปกครองเขาก็ต้องการให้คนของเขาเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย

การเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องศาสนาด้วย ดังนั้นฝรั่งจำนวนหนึ่งจึงได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา ผู้ที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาบางคนก็ได้มีความสนใจอย่างจริงจัง จนถึงกับได้อุทิศตัวให้แก่การศึกษาค้นคว้าเรื่องพระพุทธศาสนาอย่างเดียว โดยถือเป็นงานของชีวิตไป บางท่านก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา

ในช่วงก่อนโน้น ความสนใจในพระพุทธศาสนานั้นจะเป็นไปในรูปแบบของความสนใจเชิงปัญญาหรือเชิงวิชาการ โดยเฉพาะระยะนั้น เป็นยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเจริญใหม่ๆ คนกำลังฝากความหวังไว้กับอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซึ่งเน้นหนักในการใช้เทคโนโลยีก็เจริญขึ้นมาด้วยอาศัยวิทยาศาสตร์ คนจึงกำลังอยู่ในระยะที่ตื่นวิทยาศาสตร์มาก และมีความภูมิใจในความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์

จุดที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมาสนใจพระพุทธศาสนามาก ก็คือการที่เห็นว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนที่สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ดังที่เราจะเห็นว่าสมัยก่อนโน้นฝรั่งอ้างเรื่องกาลามสูตร2กันมาก

พวกฝรั่งพากันแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจที่พระพุทธศาสนาไม่เหมือนกับศาสนาอื่นใดเลย ทั้งนี้ เพราะว่าศาสนาส่วนใหญ่นั้นจะเน้นเรื่องศรัทธา กล่าวคือต้องเชื่อตามที่ศาสนาสอน แต่เมื่อมาเจอพระพุทธศาสนา กลับได้พบคำสอนแบบกาลามสูตรที่บอกว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา ตลอดกระทั่งว่า อย่าเชื่อแม้แต่ด้วยถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา คำสอนแบบนี้ทำให้ฝรั่งตื่นเต้น เห็นว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ นี้ก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่ได้เป็นมาแต่ก่อน

1“…The religion (Buddhism) … was introduced to the United States from Japan about 100 years ago. But even as lateas the 1960s, there were only a few thousand practicing Buddhists, mostly in California, New York and Washington. While figures vary, the recently created American Buddhist Congress estimates there are 3 to 5 million followers. In comparison, there are just under 6 million Jews in the U.S. today and about 2.5 million Episcopaleans.
In the past 20 years, Buddhist centers have increased from a handful, mostly in the most cosmopolitan cities of the United States, to more than 425 in the United States and Canada… They say that in the Western State of Colorado alone, there were no Buddhist centers two decades ago. Now there are twenty. The impact and increasing influence of Buddhism in the United States can be seen in many ways. …”
(“Newsline”, Voice of America, Monday morning, August 19, 1991.)
2กาลามสูตร หรือ เกสปุตติยสูตร, องฺ.ติก. 20/505/241 (A.I. 188) มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา – Be not led by report.
๒. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา – Be not led by tradition
๓. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ – Be not led by hearsay.
๔. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ – Be not led by the authority
๕. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก – Be not led by mere logic
๖. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน – Be not led by inference.
๗. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตผล – Be not led by considering appearances.
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว – Be not led by the agreement with a considered and approved theory.
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ – Be not led by seeming possibilities.
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือ ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา – Be not led by the idea, ‘This is our teacher’.

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้น แล้ว จึงควรถือวัตรปฏิบัติตามนั้น

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง