จัดระเบียบสังคม ตามคตินิยมแห่งสังฆะ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

เมื่อรู้เข้าใจทำบุญให้ก้าวไปในหลักพระพุทธศาสนา
ก็จะพัฒนาวัฒนธรรมให้ยิ่งเจริญงอกงาม

เหมือนอย่างวันนี้ ท่านรัฐมนตรีได้นำสังฆทานมาถวาย ก็ได้ปรารภทานเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นทานที่ดีที่สุดคือทานเพื่อสงฆ์ เพื่อส่วนรวม จากนั้น ด้วยอาศัยทานนี้ ก็ได้รักษาศีลด้วย โดยการกระทำที่เป็นนิมิตหมายคือได้สมาทาน-รับศีล แต่ที่จริงก็ดำรงในศีลอยู่แล้ว เพราะเมื่อมาในที่ประชุมนี้ก็ไม่เบียดเบียนใคร ได้สำรวมกิริยาวาจา และยังได้รักษาวัฒนธรรมประเพณี มีวินัย นี้ก็คือศีล

การมาทำบุญอย่างนี้ ช่วยให้วัฒนธรรมของสังคมดำเนินต่อไป ให้สังคมมีระเบียบเรียบร้อยงดงาม ซึ่งเป็นส่วนของศีล จึงได้บำเพ็ญศีลไปด้วย

พร้อมกันนั้น เมื่อถวายทานนี้ จิตใจก็มีความสงบ ด้วยบรรยากาศแวดล้อมก็ตาม ด้วยจิตใจที่มีศรัทธาในพระศาสนาก็ตาม คือในพระรัตนตรัย และในบุญกุศล จิตใจเบิกบานผ่องใส พร้อมทั้งมีความปรารถนาดี มีเมตตาธรรม จิตใจดีงาม พร้อมกับที่มีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ จึงได้ครบหมด

บุญเริ่มจากการถวายทานอย่างเดียว แต่ได้พร้อมหมด ทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญที่สมบูรณ์

คนไทยก้าวไปในการทำบุญด้วยปัญญามากเท่าใด ก็สื่อออกมาสู่ความเจริญงอกงามของวัฒนธรรมไทยมากเท่านั้น

วันนี้ อาตมภาพขออนุโมทนา ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งท่านอธิบดีกรมวิชาการ ท่านรองอธิบดีกรมการศาสนา ข้าราชการผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ที่ได้มาเยี่ยมวัด และมาทำบุญถวายสังฆทาน ซึ่งถือว่าถวายแก่พระสงฆ์วัดนี้ในฐานะตัวแทนของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่จะทำหน้าที่ดำรงพระธรรมวินัย และเผยแพร่ธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป

ขอคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศล ที่ได้บำเพ็ญแล้ว จงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้ท่านรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกท่าน พร้อมทั้งประชาชนชาวไทยและชาวโลกทั้งหมด เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา และกำลังความสามัคคีพรั่งพร้อม ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย ยังประโยชน์สุขให้เกิดขึ้น แก่ชีวิต แก่ครอบครัว แก่สังคมประเทศชาติ และแก่ชาวโลกทั้งหมด ร่มเย็นงอกงามในธรรม ตลอดกาลทุกเมื่อ

เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง