ต่อไปข้อที่ ๕ เป็นเรื่องทางปัญญา นักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ปกครอง จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ การแสวงปัญญา ซึ่งต้องถือเป็นหน้าที่ทีเดียว ข้อนี้มักจะมองข้ามกันไป
อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่า นักการเมือง หรือผู้บริหารแผ่นดิน ดำเนินกิจการบ้านเมืองก็เพื่อสร้างสภาพเอื้อ ให้ประชาชนและสังคมเดินหน้าก้าวไปสู่จุดหมายแห่งชีวิตและจุดหมายแห่งสังคม เช่น สร้างสรรค์อารยธรรมเป็นต้น
การที่จะทำหน้าที่นี้ได้ จะต้องมีปัญญารู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริง อะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิต อะไรควรเป็นจุดหมายของสังคม เพราะเราไม่ได้ปกครองหรือบริหารกิจการบ้านเมืองเพียงให้บ้านเมืองสงบสุขอยู่เฉยๆ
การที่จะสร้างสภาพเอื้อนั้น ก็จะต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าจะให้เอื้อต่อจุดหมายอะไร อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรควรจะเป็นจุดหมาย อะไรเป็นอารยธรรมที่แท้จริง เพราะฉะนั้นนักการเมืองนักบริหารนักการปกครอง จึงต้องแสวงปัญญาอยู่เสมอ โดยถือเป็นหน้าที่
โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยนั้น นักการเมือง นอกจากจะต้องศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาของตนเองแล้ว ยังจะต้องเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษาด้วย ชีวิตและสังคมจะดีงามไม่ได้ จะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ถ้าคนไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะว่า มนุษย์ทั่วไปมีความอยากได้อยากเอา แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนควรจะได้ควรจะเอา อะไรเป็นประโยชน์แก่ตนหรือไม่ อาจจะเลือกเอาสิ่งที่เป็นโทษแก่ตน จึงเป็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตย
ทำไมประชาธิปไตยจึงจะต้องให้ประชาชนมีการศึกษา เพราะว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เราให้ประชาชนเป็นใหญ่ เรียกได้ว่าประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นการปกครองของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครอง ก็คือ ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด โดยถือเอาเสียงส่วนมากเป็นใหญ่
จะต้องเข้าใจกันให้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความจริง หรือแม้กระทั่งความดีงามไม่ได้ แต่เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความต้องการได้
ที่บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ เอาเสียงข้างมากตัดสินนั้น ก็คือตัดสินว่าประชาชนจะเอาอย่างไร แต่เสียงข้างมากนั้น ไม่เป็นเครื่องตัดสินว่า จริงหรือไม่จริง
คนแม้จะมาก แต่ถ้าหากว่าโง่ ก็บอกว่าอะไรจริงไม่ได้ ดังที่ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว คนร้อยล้าน พันล้านคน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่บอกว่าโลกแบน อาจจะมีคนคนเดียวที่รู้ว่าโลกกลม และปรากฏว่าคนเดียวนั้นถูก แต่คนแปดสิบล้าน ร้อยล้าน พันล้านนั้นผิด
เป็นอันว่า เสียงส่วนใหญ่ตัดสินความจริงไม่ได้ ไม่ว่าคนจะว่าอย่างไร ความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น เสียงส่วนใหญ่นั้นก็ตัดสินได้เฉพาะว่าจะเอาอย่างไร คือ บอกความต้องการของคน ที่ว่าสังคมประชาธิปไตยให้ใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ก็คือบอกความต้องการของประชาชนว่าจะเอาอย่างไร
แต่ความต้องการของประชาชนที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น จะเกิดประโยชน์ดีงามแท้จริง ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรู้ว่า อะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ อะไรกันแน่ที่ประชาชนควรต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่ชอบใจ เพราะอะไรที่ชอบใจอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรต้องการ และอะไรที่ควรต้องการอาจจะไม่เป็นที่ชอบใจ แล้วเลือกตัดสินใจเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์แท้จริง ที่พึงต้องการ
คนที่จะรู้ว่าอะไรดีงาม จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ก็จะต้องเรียนรู้ให้มีปัญญา คือต้องมีการศึกษา
เพราะฉะนั้น ในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องมีการพัฒนาคนด้วยการศึกษา ให้มีปัญญาเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้ถึงจุดบรรจบที่ว่า ประชาชนที่ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่นั้น จะได้ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์
เมื่อใดการตัดสินใจของประชาชนซึ่งเลือกเอาสิ่งที่ต้องการนั้น ไปตรงกับสิ่งที่จริงดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง เมื่อนั้นก็เป็นความสำเร็จของประชาธิปไตย
แต่ถ้าประชาธิปไตยได้แค่ให้เสียงส่วนใหญ่เลือกตัดสินใจเอาสิ่งที่ต้องการ โดยไม่พัฒนาปัญญาให้รู้ว่า อะไรเป็นสิ่งดีงามที่ควรต้องการ อันนั้นก็อาจจะเป็นหายนะของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่ง คือ คนเลือกเอาสิ่งที่ตัวเองอยากได้อยากเอาเฉยๆ ทั้งที่มันเป็นโทษ ไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง
ฉะนั้น ผู้นำของประเทศชาติบ้านเมือง ทั้งผู้ปกครอง ผู้บริหาร และนักการเมือง จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ
นี่คือหลักการข้อที่ ๕ ที่เรียกว่า ปริปุจฉา แปลว่า หมั่นปรึกษาสอบถาม ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้ทราบว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ถ้าขาดข้อนี้เสียแล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตยก็ไม่สัมฤทธิ์ผล