ความมั่นคงทางจิตใจ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความมั่นคงทางจิตใจ1 (Spiritual Security)

ความมั่นคงทางจิตใจ อยู่ในชุดความมั่นคงพื้นฐาน

ความมั่นคงทางจิตใจนั้น เป็นความมั่นคงพื้นฐาน คืออยู่ในชุดความมั่นคงของชีวิต ซึ่งเริ่มด้วยความมั่นคงปลอดภัยทางด้านร่างกาย ที่จะเป็นฐานให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ แล้วก็มีความมั่นคงทางจิตใจ และอีกด้านหนึ่ง คือ ความมั่นคงทางสังคม สามอย่างนี้เป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ส่วนความมั่นคงด้านอื่นๆ มักจะเป็นของเพิ่มขึ้นมาทีหลัง ซึ่งขึ้นต่อกาละ เทศะ หรือยุคสมัย

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น environmental security ซึ่งเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมหรือยอมรับกันในช่วงที่คนตื่นเกี่ยวกับเรื่องความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมในยุคใหม่ใกล้ๆ นี้ ดังจะเห็นว่า ในอเมริกาเพิ่งจะเริ่มยุคสิ่งแวดล้อมเมื่อประมาณปี 1969 / พ.ศ. 2512 (ใน พ.ศ. 2512 เกิดองค์การ Green Peace ต่อมา พ.ศ. 2513 เริ่มมี Earth Day และรัฐบาลอเมริกันเริ่มตั้งหน่วยราชการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ EPA) ส่วนระดับโลกนั้น ก็ถือเอา Earth Summit ในปี 1972 หรือ พ.ศ. 2515 เป็นจุดกำหนด หลังจากนั้น จึงมีคำว่า environmental security ขึ้นมา แม้กระนั้น คำนี้ก็ยังไม่ได้ใช้กันทั่วไป ในสารานุกรมของฝรั่งที่สำคัญๆ ก็ยังไม่บรรจุคำนี้

อย่างที่มาแยกเป็น economic security กับ food security อะไรพวกนี้ สมัยก่อนก็รวมอยู่ในข้อเดียวกัน แต่ต่อมาบางยุคบางสมัยมีความจำเป็นเกิดขึ้น เช่น แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจด้านอื่นจะดี แต่เรื่องอาหารซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมด้วยนี้ ก็อาจจะมีปัญหา เช่น มีเงินแต่ไม่สามารถหาอาหาร หรืออาหารไม่ปลอดภัย ก็เลยต้องมีการเน้นขึ้นมา

รวมความว่า security หลายอย่างเป็นเรื่องที่ขึ้นต่อยุคสมัย ซึ่งมีการเน้นขึ้นมาทีละอย่าง แต่ security หลักคือ ความมั่นคงทางจิตใจ ทางชีวิตร่างกาย และทางสังคม เป็นพื้นฐานมาแต่เดิม

สำหรับความมั่นคงทางจิตใจนี้ คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในข่ายจะพิจารณามีอยู่ 3 คำ คือ spiritual security แล้วก็ psychological security และ mental security

mental security นั้น ตัดไปได้เลยเพราะว่าไม่ใช้กัน ส่วน psychological security มีใช้บ้าง อย่างในหนังสือจำพวกวารสารฉบับหนึ่ง เมื่อปี 1947 ก็มี แสดงว่าใช้มานานแล้ว แต่ก็ใช้กันไม่มาก

คำที่ใช้กันมากก็คือ spiritual security แปลว่าความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องจิตใจที่ลงลึก มักจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางศรัทธาโดยเฉพาะเรื่องทางศาสนา อย่างที่เดี๋ยวนี้มีคนไทยบางท่านแปลว่า จิตวิญญาณ ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันไปพลางก่อน เพราะหาคำที่ถึงใจไม่ได้ แต่ยังไม่ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับของราชบัณฑิตยสถาน พูดง่ายๆ ก็คือ ความมั่นคงทางจิตใจ นั่นเอง

ยกตัวอย่าง เด็กที่ถูกทุบตีทำร้ายหรือถูกรังแกอยู่เรื่อยๆ ก็จะขาดความมั่นคงทางจิตใจ คือไม่มี spiritual security นี้

นิตยสาร Time เมื่อปี 2534 (ฉบับ 30 ก.ย. 1991) ลงพิมพ์เรื่องที่เขาสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยายมีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อว่า Norman Mailer

นักเขียนผู้นี้ได้พูดวิจารณ์ประธานาธิบดีบุช (บิดาของประธานาธิบดี George W. Bush คนปัจจุบัน) เขาพูดถึงประเทศอเมริกาเวลานั้นว่า ขาดหรือเสื่อมเสีย spiritual security ลงไปเพราะมีเรื่องร้ายๆ ที่กระทบกระเทือนให้บอบช้ำหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสังหารบุคคลสำคัญของชาติ ตั้งแต่ประธานาธิบดีเคนเนดี สังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง สังหารโรเบิร์ต เคนเนดี เรื่องอัปยศจากสงครามเวียดนาม แล้วก็คดีวอเตอร์เกต จิตใจบอบช้ำเสีย spiritual security เหมือนดังภรรยาที่ถูกซ้อมอยู่เรื่อยๆ เขาว่าอย่างนั้น เป็นความมั่นคงทางจิตใจระดับชาติกันเลย

ยกตัวอย่างแค่นี้ก็คงพอเห็นชัดว่า ความมั่นคงทางจิตใจ หรือ spiritual security นี้เป็นอย่างไร

เป็นอันว่า ศัพท์ที่จะสื่อความหมายกับพวกฝรั่งได้ง่าย ก็คือ spiritual security ซึ่งเป็นเรื่องทางด้านจิตใจที่ลึกซึ้งลงไป อาจจะเกี่ยวกับศรัทธาในทางศาสนาด้วย แต่ถ้าพูดในทางพุทธศาสนาก็ต้องโยงมาหา “ปัญญา” เพราะจิตใจจะมั่นคงแท้จริงต้องอาศัยปัญญาด้วย

จิตใจมั่นคงอย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็นอิสระด้วยปัญญา

ศรัทธาทำให้มีหลักที่ยึดเหนี่ยวให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจในระดับหนึ่ง แต่จะมั่นจริงต้องมีปัญญา โดยเกิดความรู้เข้าใจด้วยตนเอง ศรัทธาเป็นความมั่นใจที่อาศัยหลักข้างนอกคือสิ่งภายนอกหรือสิ่งอื่นมาเป็นเครื่องยึด เหมือนมีคนมาพาคนหลับตาเดิน ถ้าเราเชื่อมั่นในคนที่จูงนำพาเราไป เราก็มี security ได้ แต่ถ้าเราลืมตามองเห็นทางด้วยตนเอง เราจะมีความมั่นใจโดยสมบูรณ์ คือมองเห็นทางนั้นชัดเจน รู้ว่าจะไปถึงจุดหมายนี้ได้ ต้องไปทางนี้

แม้แต่จะตาย คนที่จะตายก็ต้องการ spiritual security คือความมั่นคงทางจิตใจ หรือจิตลึกที่ว่านี้ คนที่ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาจะตายจิตใจก็มักฟุ้งซ่าน หวาดกลัว ไม่มีสติ แต่ถ้าเป็นคนมีศรัทธา มีความเชื่อมั่น อย่างชาวพุทธที่ศรัทธาเชื่อมั่น ในบุญ ในกุศล เมื่อเขาได้ทำบุญกุศลไว้ หรือมีจิตศรัทธายึดอยู่กับพระรัตนตรัย พอจิตมีหลักอย่างนี้ ก็สงบได้ใจ ก็มั่นคงดี

ทีนี้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ คนที่มีปัญญาเห็นแจ้ง รู้เข้าใจหลักพระไตรลักษณ์ เข้าถึงความจริงของชีวิต และกฎธรรมชาติ อันนี้จะไปเหนือยิ่งกว่าศรัทธาอีก คือคนที่รู้เข้าใจรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตแล้ว จิตยอมรับความจริงนั้น จิตใจของเขาจะสงบได้เลย แล้วก็เป็นอิสระด้วย ส่วนคนที่อาศัยศรัทธายังต้องมีหลักเป็นที่ยึด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ต้องเกาะจึงมั่น ต้องยึดจึงมั่น แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญารู้แจ้งแล้ว ไม่ต้องเกาะต้องยึดอะไรเลย เป็นอิสระ

เป็นอันว่า spiritual security นี้ ในความหมายของฝรั่งเป็นเรื่องของการที่จิตใจมีที่พึ่งพำนัก มีที่ยึดเหนี่ยว มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งมีคุณความดีที่ทำให้เกิดความภูมิใจ (อย่างในกรณีของชาติอเมริกันที่ว่าเมื่อกี้) ซึ่งบรรยายได้หลายด้าน แต่ถ้าว่าในทางพุทธศาสนา ก็ต้องโยงไปถึงปัญญา ดังที่กล่าวแล้ว

อันนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย ในระดับที่สำคัญเป็นแก่นหรือเป็นแกนทีเดียว ส่วนความมั่นคงอย่างอื่นเป็นเพียงภายนอก ถ้าไม่มี spiritual security แล้ว ก็จะมี security ที่แท้จริงไม่ได้

เพราะว่า security ที่แท้จริงนี้ ไม่ใช่มั่นคงข้างนอกอย่างเดียว ต้องมีความมั่นคง ที่ทำให้เกิดความมั่นใจอย่างแท้จริง และความมั่นใจนี่แหละจะเป็นตัวที่จะทำให้ตั้งหลักได้ และใจจึงจะสงบ หมายความว่า จะมั่นคงแท้ต้องถึงขั้นทำให้ใจสงบได้

มั่นคงนั้นดีแท้ แต่จะยั่งยืนต้องไม่ประมาทด้วย

ที่พูดมานั้น เป็นเรื่องของถ้อยคำและความหมาย ทีนี้มีข้อสังเกตที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แม้ว่า security จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็มีแง่ที่ต้องระวังไว้เหมือนกัน หมายความว่าแม้ว่า security หรือความมั่นคงนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์และสำหรับสังคม อย่างคนทั่วไปนี้ถ้าไม่มีความรู้สึกใน security ก็ไม่มีความหวังที่ชัดเจน ไม่มีความมั่นใจ จะสร้างสรรค์ จะทำงานอะไรก็จะทำให้ไม่มุ่ง ไม่แน่ว ไม่เข้มแข็ง ไม่มีสมาธิ แม้กระทั่งไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม นี่แง่หนึ่ง

แต่อีกแง่หนึ่ง ในทางตรงกันข้าม ซึ่งฝรั่งก็รู้ตัวเหมือนกัน คือ security หรือความมั่นคงนี้ ถ้าไม่ได้พัฒนามนุษย์เพียงพอ มนุษย์เหล่านี้พอมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ก็จะเฉื่อยชา อย่างที่ฝรั่งก็พูดถึงว่าจะเกิด indolence ขึ้นมา คือเกิดความเฉื่อยชา หรือความขี้เกียจ พูดตามภาษาของเราก็คือ เกิดความประมาท ผัดเพี้ยน ไม่กระตือรือร้น ไม่ขวนขวาย ซึ่งเป็นสภาพจิตสามัญของมนุษย์ปุถุชนที่ว่า พออยู่สบายก็ชักจะเฉื่อยชา

ฝรั่งที่เจริญมานี่ เขาก็เห็นคุณค่าของพวก stress, tension และ anxiety ซึ่งเวลานี้เป็นปัญหาของเขาเอง สังคมฝรั่งได้รับพิษภัยโทษของ stress, tension และ anxiety คือเรื่องของความเครียด ความกดดัน และความกระวนกระวายต่างๆ ในวิถีชีวิตของเขาที่เป็นมาตลอดยุคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้เขามีความทุกข์มาก แต่ก็เพราะ stress, tension และ anxiety นี่แหละ จึงทำให้ฝรั่งต้องดิ้นรน กระตือรือร้น ขวนขวาย และทำให้เขาเจริญมาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้

ฉะนั้นในเรื่องเดียวกัน จึงมีมุมมองได้หลายแง่ ซึ่งต้องระวังที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อพูดตามหลักในพุทธศาสนา การที่จะกระตือรือร้น ขวนขวาย ก็คือความไม่ประมาท ฉะนั้น ถ้ามี security คือมีความมั่นคงปลอดภัย ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดความประมาท ต้องระวังว่าสบายแล้วจะเฉื่อยชา อยากจะนอน อยากจะผัดเพี้ยน เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนาคนให้ไม่ประมาท

ถ้าพัฒนาคนให้ไม่ประมาทไม่สำเร็จ ก็อาจจะต้องยอมให้มี stress และ tension ไว้เป็นเครื่องบีบให้คนกระตือรือร้น ขวนขวาย

ต้องรู้ทันความจริงที่ว่า มนุษย์ปุถุชนที่ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงพอ ที่ต้องอยู่ในวงจรของความเสื่อม-ความเจริญอยู่อย่างนี้ ก็เพราะว่าในตอนที่มีทุกข์ภัยบีบคั้น มีความเครียด ก็กระตือรือร้น เร่งรัด ดิ้นรน ขวนขวาย ทำให้เจริญก้าวหน้า แต่พอพ้นภัยอันตราย มีความสุข สบาย ก็เฉื่อยชา ผัดเพี้ยน ประมาท เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงให้แก้ด้วยการพัฒนาคนให้ไม่ประมาท

จะต้องระลึกและคิดเตรียมไว้ให้ดีว่า คู่กับ security คือความมั่นคงปลอดภัยนั้น จะต้องพัฒนาคนให้ไม่ประมาทไปด้วย มิฉะนั้นแล้ว security เองที่เป็นหลักแสนดีอย่างยิ่งนี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อมได้เช่นเดียวกัน เพราะเหตุของความเสื่อมนั้นมาอยู่ที่ตัวคน เข้าหลักที่ท่านแสดงไว้ว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้ และอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้

อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ก็เช่นความเครียด เป็นต้นนั้น มาเป็นปัจจัยให้เกิดการดิ้นรน ทำให้ขยันหมั่นเพียร ในส่วนที่กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล ก็คือ ความสำเร็จ ความมั่นคงปลอดภัย สบาย กลับไปเป็นปัจจัยแก่ความเฉื่อยชา ประมาท

ตัวแก้ก็คือ ต้องให้การศึกษาพัฒนาคน ที่จะให้ไม่ประมาทได้ทั้งที่อยู่สบาย หรือทั้งที่สบายก็ไม่ประมาท ต้องควบคู่กัน นี่คือความสำเร็จ

หมายความว่า ต้องมีทั้ง security ด้วย และจะต้องไม่มี negligence ไม่มี indolence แต่ต้องมี earnestness ตลอดเวลา และทำให้คนมี diligence การพัฒนามนุษย์อย่างนี้ จึงจะทำให้การพัฒนาสังคมสำเร็จได้

รวมความว่า พื้นฐานและจุดยอดของ security ทั้งหมดนั้น ไปรวมอยู่ที่ spiritual security คือความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งโยงไปหาปัญญา และจะต้องโยงมาหาหลักความไม่ประมาท ดังได้กล่าวแล้ว

คำปรารภ

สำนักวิชาการชัยพฤกษ์ได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง ความมั่นคงของมนุษย์ : ความมั่นคงของคนไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร เวลา 10.00 น. ที่ประชุมสัมมนาได้ยกเอาความเห็นของ UNDP ซึ่งกำหนดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ไว้ 7 ประการ มาอ้างอิงด้วย คือ

Economic security

Food security

Health security

Environmental security

Personal security

Community security

Political security

ผลการอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอความมั่นคงของมนุษย์ประการที่ 8 ขึ้น โดยให้ชื่อว่าความมั่นคงทางใจของมนุษย์

เพื่อเป็นศิริมงคล ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ไปกราบขอคำแปลเป็นภาษาอังกฤษของคำว่า ความมั่นคง ทางใจ จากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม พระเพชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กรุณาให้คำไทยว่า “ความมั่นคงทางจิตใจ” และให้คำเป็นภาษาอังกฤษมา 3 คำ คือ

1. Spiritual Security - ใช้มาก

2. Psychological Security - มีใช้แต่น้อย

3. Mental Security - ไม่พบในหนังสือที่เป็นหลักเป็นฐาน

พร้อมกันนี้พระเพชพระคุณได้กรุณาแสดงความคิดเห็นไว้ในเทปซึ่งสำนักวิชาการชัยพฤกษ์ได้ถอดเทปเพื่อจะพิมพ์ไว้เป็นหลักฐาน และเผยแพร่ต่อไป ทั้งจะถือเอาความคิดของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นแนวทางในการพัฒนาความมั่นคง ทางจิตใจ ให้คนไทยถือเป็นแนวดำรงชีวิตไปพร้อมๆ กับความเห็นอีก 7 ประการ ของ UNDP

กราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ในความเมตตาครั้งนี้และจะน้อมนำความคิดเห็นของพระเดชพระคุณเป็นแนวทางของสำนักวิชาการชัยพฤกษ์ต่อไป

สำนักวิชาการชัยพฤกษ์
เมษายน 2546

1คำกล่าวของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) แห่งวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม อาราธนาโดยนายจำนงค์ สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อมอบแก่สำนักวิชาการชัยพฤกษ์ (จากเทปวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖)
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง