กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร? (ฉบับตัดสั้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

คำชี้แจง
(ตัดตอน)

เรื่องที่พูดที่เขียน ซึ่งได้พิมพ์ในหนังสือนี้ ถือว่าเกิดขึ้นด้วยความจำเป็น โดยมิได้ปรารถนา

ที่ว่าจำเป็น เพราะบทความของพระเมตฺตานนฺโท เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร” ที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์และได้อ่านได้ฟังกันอย่างกว้างขวางนั้น มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความสับสน สงสัยเคลือบแคลงและความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์ทางจิตใจ และทางปัญญา ของพุทธศาสนิกชนและสังคมส่วนรวม จะละเลยทิ้งไว้มิได้ แม้ไม่ปรารถนาก็จำเป็นต้องชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งชัดเจนเท่าที่จะทำได้ …

ที่ว่ามิได้ปรารถนา เพราะเมื่อชี้แจงไขข้อข้องใจต่างๆ ก็ต้องอ้างอิงหรือพาดพิงถึงตัวบุคคล ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ประสงค์จะทำ … เพื่อความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา และเพื่อประโยชน์สุข โดยเฉพาะความเจริญปัญญาแก่ประชาชน ซึ่งทุกท่านควรยอมสละตนช่วยกันส่งเสริม

หากคำชี้แจงอธิบายนี้เป็นประโยชน์ ก็ขอให้เป็นกุศลร่วมกันของปวงพุทธศาสนิกชน ที่มีน้ำใจห่วงใยต่อพระพุทธศาสนา …

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)
๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๓

กรณีเงื่อนงำ: พระพุทธเจ้า
ปรินิพพานด้วยโรคอะไร?1

(ฉบับตัดสั้น)

ขออาราธนาพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้เมตตาให้ธรรมโอวาทแก่ชาวธรรมะร่วมสมัย

ในเบื้องต้นนี้ ขอนมัสการเรียนถามเรื่องพระมโน เมตฺตานนฺโท ได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้าลงใน นสพ.บางกอกโพสต์ และในวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ว่า พระเดชพระคุณมองเห็นการกระทำนี้เป็นอย่างไร

ขอเจริญพร ชาวธรรมะร่วมสมัยทุกท่าน

ขออนุโมทนาที่ชาวธรรมะร่วมสมัยจัดรายการเดินทางมาเยี่ยมเยียน-ทำบุญที่วัดนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นครั้งแรก

พ.อ.ทองขาว ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่เป็นปัญหากระทบต่อพระพุทธศาสนา และประโยชน์สุขของส่วนรวม โดยเฉพาะประโยชน์ทางธรรมทางปัญญาของประชาชน คือ เรื่องที่มีพระภิกษุ ได้แก่ท่านเมตตานันโท เขียนวิจารณ์การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตร

บทความที่ลงพิมพ์ครั้งแรก ตามที่ทราบ พระเมตฺตานนฺโท เขียนลงใน นสพ. Bangkok Post ฉบับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๐๐๐ เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องว่า “How the Buddha Died”

ต่อมา บทความของผู้เขียนรูปเดียวกันนั้น เป็นภาษาไทย ลงพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ ชื่อเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?2

คำสรุป-สันนิษฐาน-วินิจฉัย ของท่านเมตตาฯ ในบทความนี้มากแห่ง เป็นของแปลกแก่ชาวพุทธ แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่ามีความถูกต้อง รวมทั้ง "เป็นวิชาการ" หรือไม่ เช่น ท่านเมตตาฯ กล่าวว่า

ความทั้งหมดของปาฏิหาริย์ที่ต้นสาละคู่นี้อาจเป็นเรื่องราวที่ต่อเติมในภายหลัง แต่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว

ความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้สนับสนุนตรงกัน ว่าสถานที่ที่ปรินิพพานจริงนั้นน่าจะเป็นห้องพักเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองกุสินารามากกว่าที่จะเป็นป่าไม้สาละนอกเมืองนั้น

ความเป็นจริงที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ ทรงประคองพระองค์ไม่ไหว พระภิกษุผู้ติดตามต้องนำพระองค์ไปรักษาอาการประชวรซึ่งเกิดขึ้นแบบกะทันหัน โดยช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปหาแพทย์ ให้รักษาในเมืองที่ใกล้ที่สุด

ความจริง เรื่องนี้อาตมาก็ได้ยินมาตั้งแต่มีบทความลงใหม่ๆ เพราะมีผู้หวังดีเอาหนังสือพิมพ์มาถวายบ้าง ถ่ายเอกสารมาให้บ้าง พิมพ์จากอินเทอร์เน็ตมาก็มี ทั้งที่ลงใน ศิลปวัฒนธรรม และที่มีการกล่าวอ้างใน นสพ.มติชน อาตมาบอกตรงๆ ว่าไม่ค่อยได้เอาใจใส่ อ่านคร่าวๆ แต่ต่อมาก็ได้ยินว่าเป็นเรื่องที่เอาไปพูดกันมากทางวิทยุ และวงการต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องที่ว่า ถ้าไม่ทำให้กระจ่างแจ่มแจ้งก็จะเกิดผลเสีย ประชาชนโดยเฉพาะชาวพุทธก็จะเกิดความคลางแคลงสับสน จึงนับว่าเป็นปัญหาขึ้นมา

ว่าที่จริง เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์นี่ พระพุทธศาสนาของเราเปิดกว้างอยู่แล้ว เรียกว่าชาวพุทธน่ะใจกว้าง บางที่ใจกว้างจนกระทั่งไม่เอาเรื่องเลย ที่จริงใจกว้างนี่คนละอย่างกับไม่เอาเรื่อง ถ้าไม่เอาเรื่องราว คือปล่อยปละละเลย ก็กลายเป็นประมาท พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า เมื่อมีการเห็นผิดเข้าใจผิด กล่าววาทะที่ทำให้เข้าใจผิดพลาด ก็ต้องชี้แจงให้รู้เข้าใจตามเป็นจริง เมื่อมีเรื่องที่ว่านี้ ซึ่งกำลังแพร่ขยายไปในสังคม ก็ต้องทำความเข้าใจกัน

การพิจารณาเรื่องข้อเขียนนี้ เพื่อความสะดวกอาจจะพูดใน ๒ แง่ คือ ในแง่ที่ผู้เขียนเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท และในแง่ที่ผู้เขียนแสดงตนเป็นนักวิชาการ

เบื้องต้น ในแง่ที่เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท จะเว้นไว้ก่อน จะขอพูดเฉพาะในแง่ที่ท่านแสดงตนเป็นนักวิชาการ

ในแง่เป็นนักวิชาการ

ในแง่เป็นนักวิชาการนั้น เราถือว่านักวิชาการเป็นผู้ทำหน้าที่ให้ปัญญาแก่ผู้อื่น และแก่สังคม อย่างน้อยก็แสวงหาความรู้ความเข้าใจให้เจริญปัญญาแก่ตนเอง จึงจะต้องมีความรับผิดชอบ ยิ่งเป็นบุคคลในวงการพุทธศาสนาเอง ก็ต้องมีความรับผิดชอบอย่างมาก เช่น ในเรื่องของความถูกต้องและความจริง เพราะถ้าทำให้เกิดความหลงผิดเข้าใจผิด ก็กลายเป็นโทษเป็นบาป มีผลเป็นการทำลาย แต่ในแง่นี้จะยังไม่แจกแจงละ เอาเป็นว่าโยมรู้กันว่าต้องมีความรับผิดชอบก็แล้วกัน ทีนี้ลงไปถึงความเป็นนักวิชาการเลย

ถ้าข้อมูลผิด ก็ตีความ วิจารณ์ สันนิษฐานพลาดไปหมด

ในแง่ที่เป็นนักวิชาการนั้น พิจารณาง่ายๆ ได้ ๒ ขั้น คือ

  1. ในขั้นข้อมูล
  2. ในขั้นตีความ วิเคราะห์ วิจัย สันนิษฐาน วินิจฉัย เป็นต้น

ขั้นที่ ๒ คือการวิเคราะห์ ตีความ สันนิษฐานต่างๆ นั้น สืบเนื่องไปจากขั้นที่ ๑. คือเราต้องมีข้อมูลเป็นฐานก่อน ข้อมูลนั้นต้องถูกต้องแม่นยำชัดเจนพอ ถ้าข้อมูลผิดพลาดเสียแล้ว การวิเคราะห์ วิจารณ์ ตีความ สันนิษฐานก็เหลว ผิดหมด ไม่มีความหมาย

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราพูดขึ้นมาประโยคหนึ่ง หรือมีข่าวขึ้นมาว่า “มีคนต่างประเทศเดินทางมาซื้อเสื้อห้าร้อยตัว” ทีนี้เกิดตกไม้โทขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าคนต่างประเทศเดินทางมาซื้อเสือห้าร้อยตัว ลองคิดดูซิว่าความหมายจะผิดกันอย่างไร ถ้าได้ข้อมูลนี้ไปผิด การตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ สันนิษฐาน วินิจฉัย ที่สืบเนื่องต่อจากนั้นไปก็จะผิดหมด เช่น กลายเป็นว่าเมืองไทยนี้มีเสือมากมาย ป่าใหญ่เยอะแยะเหลือเกิน และคนนั้นจะซื้อเสือไปทำไมตั้งห้าร้อยตัว เกิดเป็นข่าวแปลกใหม่ คนคงวิจารณ์กันกว้างขวาง ยกใหญ่ แต่ในที่สุดก็ไม่มีอะไร ว่างเปล่า นี่ก็หมายความว่า การวิจารณ์บนฐานของข้อมูลที่ผิดพลาดจะเหลวไหลหมด

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าจะพูดขึ้นมาว่า ปีนี้ชาวนาไทยขายข้าวได้เกวียนละสี่พัน พูดอย่างนี้คนไทยก็รู้กันว่าสี่พันนี้ คือ สี่พันบาท เกิดฝรั่งมาฟังเข้าใจว่าสี่พันดอลลาร์ เอาไปเขียนว่า ปีนี้ ชาวนาไทยขายข้าวได้เกวียนละสี่พันเหรียญ อย่างนี้ความหมายเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อวิเคราะห์วิจารณ์ก็จะกลายเป็นว่า คราวนี้ชาวนาไทยคงจะรวยกันใหญ่ แต่ถ้าขายได้สี่พันบาทก็รวยยากแน่ ฉะนั้น การวิจัยวิจารณ์จึงต้องตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง นี่เป็นเรื่องใหญ่

ปัญหาเรื่องข้อมูลผิดพลาดนี้ ก็มีทางเกิดขึ้นได้หลายอย่าง

  1. อาจจะได้ข้อมูลที่ผิดพลาด
  2. ข้อมูลไม่ผิดพลาด แต่ตัวคนจับเอาไปผิด เช่น แปลภาษาไม่เป็น เข้าใจภาษาไม่ถูกต้อง หรือฟังผิดจับความผิด

เรื่องนี้ก็คล้ายๆ เมื่อกี้เหมือนกัน อย่างเมื่อ ๖-๗ วันก่อนนี้ อาตมาไปพักกันที่ภูเขา ก็พอดีถ่าน คือแบตเตอรี่ของเครื่องบันทึกเสียงที่เรียกง่ายๆ ว่าเทปหมด ไม่รู้จะไปเอาที่ไหน จึงเดินไปถามหลวงลุงว่า "หลวงลุงมีถ่านใส่เทปไหมครับ" หลวงลุงก็เงียบ ท่านหันไปเดี๋ยวก็ถือถาดมาให้ใบหนึ่ง ก็สงสัยว่าอะไรกัน ได้ความว่า ที่อาตมาพูดว่าถ่านใส่เทปมีไหมนั้น หลวงลุงอายุ ๘๗ แล้ว หูท่านชักจะหนัก ได้ยินเป็นว่า มีถาดใส่เทปไหม ท่านนึกว่าอาตมามีม้วนเทปมากแล้ว จะหาถาดไปใส่ ก็เลยหยิบถาดมาให้ นี่ก็เพราะได้ยินไม่ถนัด ท่านจึงเข้าใจเป็นถาด ถ่านกับถาดเสียงใกล้กัน แต่ความหมายไปคนละอย่าง นี้ก็เรียกว่าจับข้อมูลไปผิดพลาด

ขอยกตัวอย่างอีกหน่อย ในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะบทความนี้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่เมื่อตัวศัพท์เองถูกต้อง คนก็ยังเข้าใจผิดได้ เมื่อเข้าใจความหมายผิด ก็แปลผิด เลยกลายเป็นคนละเรื่องไป เช่นคำว่า fall เมื่อใช้เป็น noun ก็มีความหมายเยอะแยะ ความหมายพื้นที่สุดก็คือการตกหรือการหล่น แต่บางทีก็แปลว่าปริมาณของที่ตกลงมา เช่นปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา

อีกความหมายหนึ่ง fall ในเมืองอเมริกาเขาหมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ที่ในอังกฤษเรียกว่า autumn แต่แปลว่าน้ำตกก็มี ซึ่งนิยมใช้รูปพหูพจน์เป็น falls หรือในทางเทววิทยาของคริสต์ การที่อาดัมและอีวาถูกซาตานแปลงเป็นงูมาหลอกให้กินลูกแอปเปิ้ล ก็เลยสูญเสียความเป็นทิพย์ สูญเสียความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า และถูกขับออกไปจากสวนเอเดน อันนี้เขาเรียกว่า the Fall

การล่มสลายหรือสูญเสียอำนาจความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมต่างๆ อย่างเรื่องกรุงอยุธยาล่ม กรุงแตก ก็พูดว่า the fall of Ayudhya (หรือ Ayutthaya) กรุงเอเธนส์ล่ม ว่า the fall of Athens กรุงโรมล่มสลาย ว่า the fall of Rome อย่างนี้เป็นต้น

นี้เป็นตัวอย่างที่ศัพท์เดียวกัน แต่มีความหมายหลายอย่าง ที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ ก็เพราะเป็นปัญหาที่ตรงกับกรณีนี้ด้วย

เป็นอันว่า ปัญหาในขั้นข้อมูลมีได้หลายอย่าง เช่น

- ข้อมูลที่ได้ไปผิดพลาด

- จับข้อมูลผิดพลาดเอง

- เอาข้อมูลไปนำเสนอผิดพลาด

ทุกแง่นี้เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ในกรณีนี้ข้อมูลเขาถูกแล้วตัวเองสรุปผิดไป หรือฟังความที่ผู้อื่นกล่าวแล้วนำไปพูดด้วยสำนวนภาษาของตนเอง แล้วก็พูดให้คนสับสนเข้าใจผิดไป เวลานี้เป็นปัญหาทางวิชาการมากเหมือนกัน บทความทางวิชาการหลายเรื่องหลายกรณี นำเอาข้อมูลไปเสนอผิดพลาด เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน

บางคนเวลาเอาข้อความที่คนอื่นพูดไว้ จะบอกว่าเขาพูดอย่างนั้น ก็ใส่เครื่องหมาย อัญประกาศ ("…") หรือเครื่องหมายคำพูดเข้าไป อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า quote แต่ข้อความภายในเครื่องหมายนั้น กลายเป็นคำพูดที่ตัวเองสรุปเอา หรือพูดไปตามสำนวนของตัวเอง ซึ่งที่จริงจะทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าจะใส่เครื่องหมายนี้ ต้องเป็นข้อความเดิมแท้ๆ ที่เขาพูด คือเป็นคำพูดของเขาจริงๆ ไม่ใช่ตัวเองไปฟังเขาแล้วมาพูดเอาด้วยถ้อยคำสำนวนของตัวเอง แล้วบอกว่าเขาพูดอย่างนี้โดยใส่เครื่องหมายคำพูดเข้าไป เรื่องนี้ควรระวังกันให้มาก เป็นเรื่องวิชาการที่ไม่น่าจะพลาดกันเลย

เรื่องข้อมูลนี้ เป็นฐานของการที่จะไปตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์ สันนิษฐานทั้งหมด ถ้าข้อมูลเสียอย่างที่ว่ามา ก็เป็นอันว่าการวิเคราะห์วิจารณ์นั้นใช้ไม่ได้ หรือหมดความหมายไปเลย

ฝรั่งแม้จะเน้นข้อมูลที่แม่นยำ ก็ยังพลาดเยอะ

ตอนนี้มีการพูดกันถึงเรื่องที่ว่า ท่านผู้ที่เขียนเรื่องนี้เป็นผู้มีการศึกษา จบจากเมืองฝรั่ง ซึ่งบางทีคนไทยเราก็มองไปในแง่ว่า ถ้าจบการศึกษาจากเมืองฝรั่งละก็น่าเชื่อน่าฟัง จนกระทั่งกลายเป็นว่า เวลานี้ก็ชอบอวดดีกรีกัน ได้ดีกรีนั้นดีกรีนี้มา ถ้าได้ดีกรีจากเมืองฝรั่ง พูดแล้วน่าเชื่อเป็นหลักเป็นฐาน

ที่จริงเราก็ยอมรับอยู่ว่า ฝรั่งเขามีวัฒนธรรมทางวิชาการมา ค่อนข้างแน่นแฟ้น ซึ่งมองได้ทั้งสองขั้น คือทั้งขั้นข้อมูล และขั้นวิเคราะห์วิจารณ์

คนไทยเรามักจะมองข้ามขั้นข้อมูลไปเสีย แล้วตื่นนิยมในแง่การตีความ วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ว่าเขาเก่ง ก็เลยมักจะนึกว่า ถ้าเราทำการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ และตีความ เริ่มด้วยการมีเสรีภาพในการวิจารณ์และตีความนี่ เราจะเหมือนฝรั่ง ชักจะโก้

แต่ที่จริงฝรั่งเขาเน้นข้อมูลก่อน ต้องหาข้อมูลให้แม่นยำ และพร้อมที่สุดก่อน เราจะเห็นว่าฝรั่งนี่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเล เดินทางไปสุดขั้วโลกเพื่อจะหาข้อมูลนิดเดียวให้รู้จริงเกี่ยวกับนกชนิดหนึ่ง ว่ามันมีชีวิตอยู่อย่างไร เป็นพันธุ์ไหนกันแน่ ต้องเดินทาง บุกป่าฝ่าดงฝ่าอันตรายเพื่อไปหาข้อมูลนิดเดียว เกี่ยวกับพืช เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เมื่อได้ข้อมูลเรียบร้อยจนกระทั่งแน่ใจแล้ว เขาจึงจะลงข้อสรุปเพื่อการวิจารณ์ สันนิษฐาน หรือตีความ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่บอกว่า ถ้าข้อมูลผิดพลาดแล้วมันเสียหมด

แม้แต่ฝรั่ง ที่ว่ามีวัฒนธรรมทางวิชาการที่เอาจริงเอาจังตั้งแต่เรื่องข้อมูลอย่างนี้ ก็ยังพลาดเยอะ โดยเฉพาะฝรั่งเขียนเรื่องเกี่ยวกับตะวันออก เช่นเรื่องเมืองไทยนี่ ผิดพลาดเยอะ เรื่องพระพุทธศาสนาก็ผิดเยอะ ถ้าเราไปเชื่อฝรั่งเขียนเรื่องเมืองไทยและพุทธศาสนาโดยไม่ตรวจสอบให้ดี ก็จะยุ่ง จะยกตัวอย่างให้ฟัง

อย่าง World Book Encyclopedia ที่ลงใน CD-ROM ของฝรั่งขายไปทั่วโลก มีชื่อเสียงมาก เอาฉบับล่าสุดปี ๒๐๐๐ เลย เขียนเรื่องเมืองไทยในหัวข้อ Thailand แกก็พูดไปๆ จนถึงเรื่องเครื่องแต่งกาย ตอนหนึ่งลงภาพให้ดูเสียด้วย บอกว่าเป็น traditional Thai clothing คือเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวตามประเพณีของคนไทย หรือเป็น costume of Thailand เลยทีเดียว แต่ดูแล้วถ้าเป็นคนในเมืองไทย ก็คงเป็นชาวเขา

อีกรายหนึ่ง Infopedia ฉบับ ค.ศ. ๑๙๙๔ ตอนนี้อาจจะเลิกทำขายแล้ว เป็น CD-ROM จำพวก Encyclopedia เหมือนกัน เขียนเรื่องเมืองไทย และเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็ลงภาพประกอบภาพหนึ่ง บอกว่า Thailand Buddhist Temple ว่าเป็น วัดพุทธศาสนาของไทย แต่ดูแล้วเป็นศาลพระภูมิ นี่เป็นอย่างนี้

Encyclopedia อีกชุดหนึ่ง ตอนนี้นึกไม่ออกว่าชุดไหน ลงภาพวัดแจ้ง แต่บรรยายภาพว่า วัดโพธิ์ จะต้องขอเวลาตรวจสอบย้อนหลังหลายปี ว่าเป็นฉบับใด

ฝรั่งเขียนเรื่องเมืองไทย แกผิดพลาดเยอะ คนไทยควรแจ้งให้แกทราบ ขนาดคนที่พยายามหาข้อมูลให้ชัดเจน ก็ยังพลาด

ทีนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาดอย่างนี้ เวลาไปตีความสันนิษฐานจะเป็นอย่างไร พูดถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวคนไทยตามประเพณี แต่กลายเป็นรูปชาวเขาอย่างนั้น คนผู้ชายนอกจากใส่กางเกงแบบชาวเขาแล้วยังแถมสะพายย่ามอีกด้วย ทีนี้ถ้ามีการสันนิษฐานตีความวิจารณ์ว่าคนไทยมีวัฒนธรรมเป็นอย่างไร มีความเจริญระดับไหน เมื่อข้อมูลผิดอย่างนั้นแล้ว พอตีความสันนิษฐาน ก็ย่อมจะพลาดไปหมดใช่ไหม มันไม่เป็นความจริงไปได้เลย

ในการมองฝรั่ง น่าสังเกตว่า พวกเราจำนวนมาก แทนที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมทางวิชาการของเขา แล้วเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เพื่อความเจริญปัญญาแก่ตนเอง และร่วมสร้างเสริมภูมิปัญญาให้แก่โลก กลับจะคอยรอรับจากฝรั่ง และเชื่อตามฝรั่งไปง่ายๆ อะไรที่ฝรั่งพูด ก็ตื่นเต้นยอมรับยกย่องถือตาม ถ้าอย่างนี้ ในกรณีที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้ว่า เคยมี encyclopedia ฉบับหนึ่งลงรูปวัดแจ้ง แล้วเขียนบรรยายภาพว่าวัดโพธิ์ ถ้าวันหนึ่งคนไปกันที่วัดแจ้ง พอมีคนพูดว่า เรามาถึงวัดแจ้ง คนที่อ่าน encyclopedia นั้นมา ก็เถียงว่าไม่ใช่ ที่นี่ไม่ใช่วัดแจ้ง เอนไซโคลปีเดียของฝรั่งบอกว่าวัดโพธิ์ ถ้าขืนเชื่อฝรั่งกันง่ายๆ ต่อไปคงต้องเปลี่ยนชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโพธิ์

ฉะนั้น สองอย่างนี้ต้องสัมพันธ์กัน ข้อมูลต้องถูกต้องแม่นยำ ชัดเจนและเพียงพอ การวิจัย วิจารณ์ และสันนิษฐาน ตีความ ตลอดจนวินิจฉัย จึงจะฟังได้ ก็เลยจะขอนำเข้าสู่เรื่องนี้

จะขอยกตัวอย่างเรื่องข้อมูล การเข้าใจข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่ง

พอเริ่มเรื่อง ท่านเมตตาฯ ก็เขียนบอกแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานอย่างหนักแน่น เหมือนกับมีความมั่นใจเต็มที่ ดังคำของท่านเองว่า

รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นมาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือ มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งนอกจากจะมีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไปแล้ว ยังมี…ปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด

แต่ปรากฏว่าคำกล่าวของท่านเมตตาฯ ข้างบนนี้ ผิดพลาดตรงข้ามกับความเป็นจริงเลยทีเดียว เพราะที่แท้นั้น เหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับพุทธปรินิพพาน ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มอื่น ตอนอื่น แห่งอื่นด้วย เพียงแต่กระจายอยู่หลายแห่ง และหลายตอนก็มีซ้ำๆ กันหลายเล่มหลายที่

เรื่องที่พูดตรงนี้ ญาติโยมจะเข้าใจชัดเจนมากขึ้น เมื่อรู้เรื่องพระไตรปิฎกว่าท่านจัดแบ่งแยกประเภทอย่างไร ในที่นี้จึงจะพูดเพิ่มเติมเสริมความรู้เกี่ยวกับพระไตรปิฎกเล็กน้อย แต่จะเน้นเฉพาะพระสุตตันตปิฎก

พระไตรปิฎก (ปิฎก ๓) นั้น ชาวพุทธทราบกันดีว่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ประมวลพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเรื่องราวเกี่ยวข้อง ที่ถือเป็นหลักเป็นมาตรฐานของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ มีพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นฐานและเป็นมาตรฐาน

พระไตรปิฎกบาลี แบ่งเป็น ๔๕ เล่ม จัดเป็น ๓ ปิฎก คือ

  1. พระวินัยปิฎก (เล่ม ๑-๘ = ๘ เล่ม)
  2. พระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๙-๓๓ = ๒๕ เล่ม) และ
  3. พระอภิธรรมปิฎก (เล่ม ๓๔-๔๕ = ๑๒ เล่ม)

เรียกแบบรู้กันสั้นๆ ว่า พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม

มหาปรินิพพานสูตรที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ เป็นพระสูตรหนึ่ง (จึงอยู่ในพระสุตตันตปิฎก) อยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ มีความยาว ๑๑๑ หน้า (ในจำนวน ๓๙๖ หน้าของเล่ม ๑๐ และในจำนวน ๒๒,๓๗๙ หน้าของทั้งหมด ๔๕ เล่ม)

พระสูตร คือ พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า และพระมหาสาวกบางท่าน ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และคำสั่งสอนที่เป็นหลักฐานชั้นต้นของพระพุทธศาสนา

พูดอย่างง่ายว่า พระสูตรหนึ่งๆ ก็คือ พระธรรมเทศนาเรื่องหนึ่งๆ ของพระพุทธเจ้า ส่วนนี้ถือเป็นหลัก

เนื่องจากพระสูตรเป็นพระธรรมเทศนา แกนของเรื่องจึงได้แก่ พุทธพจน์ คือคำตรัสสอนของพระองค์

ด้วยเหตุนี้ การรวบรวมเก็บรักษาพระสูตรทั้งหลาย จึงมุ่งไปหาธรรมที่ทรงสอนว่า พระสูตรนั้นว่าด้วยหลักธรรมอะไร มีเนื้อหาสาระคำสอนว่าอย่างไร ส่วนเรื่องราวเกี่ยวข้องบอกเพียงว่า คำสอนนั้นตรัสแก่ใคร เมื่อประทับอยู่ที่ไหน เมื่อการตรัสสอนครั้งนั้นจบแล้ว ก็เป็นอันจบพระสูตร ส่วนเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นมาก่อนนั้น หรือที่เป็นไปหลังจากนั้น ท่านไม่เล่าไว้หรือไม่พูดถึง

ดังนั้น พระสูตรต่างๆ ที่เราเห็นเรียงอยู่ต่อๆ กันในพระสุตตันตปิฎกนั้น เราไปอ่านจะไม่อาจรู้ได้ว่า พระสูตรที่จัดเรียงไว้ต่อลำดับกันนั้น ตรัสในเวลาห่างกันเท่าไร มีเรื่องราวเหตุการณ์ในระหว่างอย่างไรบ้าง

ยิ่งกว่านั้น พระสูตรต่างๆ ทั้งหลายนั้น ท่านยังมีหลักเกณฑ์ในการจัดหมวดหมู่แยกประเภทไว้ด้วย คือ3

๑. พระสูตรที่มีขนาดยาว จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย (= พระไตรปิฎก เล่ม ๙-๑๐-๑๑)

๒. พระสูตรที่มีขนาดปานกลาง จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย (= เล่ม ๑๒-๑๓-๑๔)

๓. พระสูตรอย่างสั้น ที่จัดรวมกลุ่ม โดยยึดเอาหลักธรรม บุคคล สถานที่ เป็นต้น อันใดอันหนึ่งเป็นจุดร่วม เช่น เกี่ยวกับขันธ์ ๕ (เรียก ขันธสังยุตต์) เกี่ยวกับภิกษุณี (เรียก ภิกขุนีสังยุตต์) ฯลฯ ทั้งหมดนี้จัดไว้เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า สังยุตตนิกาย (= เล่ม ๑๕ ถึง ๑๙)

๔. พระสูตรอย่างสั้น ที่จัดรวมกลุ่มโดยยึดเอาตัวเลขจำนวนข้อธรรมเป็นจุดร่วม เช่น ธรรมข้อเดียว รวมไว้เป็นหมวด ๑ (เรียก เอกนิบาต) ธรรม ๒ ข้อ รวมไว้เป็นหมวด ๒ (เรียก ทุกนิบาต) ฯลฯ ทั้งหมดนี้จัดไว้เป็นหมวดหนึ่งเรียกว่า อังคุตตรนิกาย (= เล่ม ๒๐ ถึง ๒๔)

๕. พระสูตรปลีกย่อย หรือเรื่องราวเบ็ดเตล็ด นอกเหนือจาก ๔ นิกายแรกนั้น ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันหลากหลาย เช่น คาถาธรรมบท คาถาชาดก พระพุทธอุทาน ฯลฯ) มี ๑๕ คัมภีร์ย่อย จัดไว้เป็นหมวดหนึ่ง เรียกว่า ขุททกนิกาย (๙ เล่ม = เล่ม ๒๕ ถึง ๓๓)4

เท่าที่อธิบายมาตอนนี้ ได้ข้อสังเกตที่ควรทราบ ๓ อย่าง คือ

ก. พระสูตรหลายสูตรที่จัดเรียงไว้ในลำดับต่อกัน เหมือนติดกันนั้น อาจตรัสในเวลาห่างกันหลายเดือน หรือหลายปี

ข. พระสูตรหลายสูตร ซึ่งในเหตุการณ์จริง ตรัสในเวลาใกล้ๆ กัน หรือต่อกัน (เช่น ที่เกี่ยวกับการปรินิพพานนี้) อาจแยกกระจายกันไปอยู่ในพระไตรปิฎกต่างหมวดต่างเล่ม ห่างไกลกัน เช่น

- พระสูตรหนึ่งหรือเรื่องหนึ่งแสดงสติปัฏฐาน ๔ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ (ที่รวมพระสูตรเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม)

- อีกพระสูตรหนึ่ง ซึ่งก็ตรัสในเหตุการณ์ต่อกันนั้น แต่ทรงแสดงเรื่องบริษัท คือชุมชน ๘ ประเภท ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ (รวมพระสูตร หมวด ๗-๘)

- และอีกพระสูตรหนึ่ง ซึ่งก็ตรัสในเวลาใกล้กันหรือต่อกันนั้นแหละ แต่มีพระอุทานของพระพุทธเจ้า ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ (ตอนหนึ่งในเล่มนี้รวบรวมพุทธอุทานไว้) ฯลฯ

ค. พระสูตรหนึ่งสูตรเดียวกัน แต่มีเนื้อหาสาระเข้ากับเกณฑ์หลายอย่างในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก ก็เลยไปปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกต่างหมวดต่างเล่มหลายแห่ง กลายเป็นว่าพระสูตรเดียวกัน แต่ไปพบที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง เหมือนซ้ำกัน เช่น

เหตุการณ์เฉพาะตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพานแท้ๆ ตั้งแต่ตรัสปัจฉิมวาจา จนกระทั่งขณะที่ปรินิพพาน มีบุคคลสำคัญ ๔ ท่าน กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวช แน่นอนว่า เนื้อความตอนนี้ มีอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ที่เรากำลังพูดถึง

แต่พร้อมกันนี้ เหตุการณ์เฉพาะช่วงตรงนี้ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ด้วย เพราะอะไร เพราะในบุคคล ๔ ท่านที่กล่าวคาถาธรรมสังเวชนั้น มีสหัมบดีพรหมอยู่ด้วย ก็เลยเข้าเกณฑ์เป็นพระสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับพรหม จึงจัดเข้าในพรหมสังยุตต์ ในสังยุตตนิกาย

นอกจากนั้น บางพระสูตรที่สั้นอยู่แห่งหนึ่ง อาจจะไปเป็นส่วนหนึ่งของพระสูตรที่ยาวกว่าอีกแห่งหนึ่ง ดังเช่นเนื้อความหลายตอนในมหาปรินิพพานสูตรนี้ ที่ไปอยู่เป็นสูตรสั้นๆ ในที่อื่นๆ หลายแห่งตามลักษณะการจัดหมวดหมู่ที่อธิบายไปแล้ว5

ที่พูดนี้ ยังไม่รวมถึงพระสูตรอีกไม่น้อย ที่มีเนื้อความตรงกัน เป็นเรื่องเดียวกันกับหลายแห่งของพระวินัยปิฎก กล่าวไว้ซ้ำกัน

ถึงตอนนี้ขอตั้งเป็นประเด็นที่จะพิจารณาพร้อมไปด้วยกัน รวมเป็น ๓ ข้อ คือ

  1. รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้ามาในพระไตรปิฎกตอนเดียว คือ มหาปรินิพพานสูตรนี้เท่านั้น จริงหรือ?
  2. มหาปรินิพพานสูตรมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดรวมกัน จริงหรือ?
  3. มหาปรินิพพานสูตรมีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไป จริงหรือ?

ในการพิจารณาประเด็นทั้ง ๓ นี้ เมื่อญาติโยมมีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะของการจัดหมวดหมู่พระสูตรต่างๆ อย่างที่ว่าไปแล้ว ก็จะเข้าใจเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ได้ง่ายขึ้น

ตอนนี้ขอให้ทำความรู้จักกับมหาปรินิพพานสูตรให้ชัดมากขึ้น

มหาปรินิพพานสูตรไม่ใช่เป็นเพียงพระสูตรที่ยาวที่สุดสูตรหนึ่ง แต่เป็นพระสูตรที่ยาวที่สุดในบรรดาพระสูตรทั้งหมดเลยทีเดียว คือ (นับตามพระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ) ยาวถึง ๑๑๑ หน้า (ที.ม.๑๐/๖๗-๑๖๒/๘๕-๑๙๕)

เนื้อความและเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตร รวม ๑๑๑ หน้า ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ นี้ มิใช่มีอยู่เฉพาะในมหาปรินิพพานสูตรเท่านั้น แต่ปรากฏอยู่ในหลายที่หลายแห่งในพระไตรปิฎกเล่มต่างๆ โดยแยกเป็นพระสูตรย่อยๆ จำนวนมาก และหลายพระสูตรก็พบได้หลายแห่งหรือในหลายเล่ม ขอยกตัวอย่างให้ดู ดังนี้

๑. เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูส่งวัสสการพราหมณ์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลให้ทราบว่าจะกรีฑาทัพไปย่ำยีวัชชีให้พินาศขาดสูญ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ด้วย (องฺ.สตฺตก.๒๓/๒๐-๒๕/๑๗-๒๔)

๒. เรื่องทรงแวะประทับที่เมืองนาลันทา และพระสารีบุตรเข้าเฝ้า มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๗๒๖/๒๑๑)

๓. เรื่องทรงแวะปาฏลิคาม ตรัสแสดงโทษของสีลวิบัติและอานิสงส์ของสีลสัมปทา จนถึงทรงพบกับสุนีธะและวัสสการพราหมณ์ ซึ่งกำลังสร้างเมืองปาฏลีบุตร กระทั่งปาฏิหาริย์ข้ามแม่น้ำคงคา เข้าในเขตแคว้นวัชชี มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๕ และเล่ม ๒๕ ด้วย (วินย.๕/๖๗-๗๔/๘๖-๙๓; ขุ.อุ.๒๕/๑๖๙-๑๗๔/๒๑๕-๒๒๒)

๔. เรื่องทรงแวะประทับในเมืองนาติก ตรัสธัมมาทาสปริยาย คือแว่นส่องธรรม สำหรับสำรวจตนว่าได้บรรลุมรรคผลหรือไม่ มีในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๑๔๖๙-๑๔๗๗/๔๔๖-๔๕๐)

๕. เรื่องเสด็จเข้าจำพรรษาที่เวฬุวคาม และในพรรษานั้นประชวรหนัก มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๗๐๘/๒๐๓)

๖. เรื่องทรงปลงพระชนมายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ และเล่ม ๒๕ ด้วย (สํ.ม.๑๙/๑๑๒๓-๑๑๓๕/๓๓๒-๓๓๗; องฺ.อฎฺฐก.๒๓/๑๖๗/๓๑๘-๓๒๓; ขุ.อุ.๒๕/๑๒๗-๑๓๑/๑๖๙-๑๗๖)

๗. เรื่องทรงแสดงมหาปเทส ๔ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ ด้วย (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๘๐/๒๒๗-๒๓๑)

๘. เรื่องที่เมืองปาวา นายจุนทะ กัมมารบุตร ถวายสูกรมัททวะ เมื่อเสวยแล้วประชวรหนัก จนถึงลงสรงในแม่น้ำกกุธานที และทรงส่งพระอานนท์ไปปลอบใจนายจุนทะ มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วย (ขุ.อุ.๒๕/๑๖๖-๑๖๘/๒๑๒-๒๑๔)

๙. เรื่องประทับในสาลวัน ระหว่างสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา ตรัสปัจฉิมวาจา เสด็จดับขันธปรินิพพาน จนถึงบุคคลสำคัญ ๔ ท่านกล่าวคาถาธรรมสังเวช มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ด้วย (สํ.ส.๑๕/๖๒๐-๖๒๕/๒๓๑-๒๓๓)

๑๐. เรื่องพระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยสงฆ์ติดตาม ระหว่างเดินทาง ได้ข่าวพุทธปรินิพพานจากอาชีวกคนหนึ่ง และสุภัททะวุฒบรรพชิต กล่าวคำจ้วงจาบพระธรรมวินัย มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๗ ด้วย (วินย.๗/๖๑๔/๓๗๙)

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวและการตรัสแสดงธรรมในมหาปรินิพพานสูตรนี้อีกบางแห่ง ที่พบได้ในพระไตรปิฎกเล่มอื่น แต่ขอถือเป็นเรื่องปลีกย่อย ถ้านำมาระบุไว้ก็จะทำให้ฟั่นเฝือ จึงขอไม่กล่าวไว้ในที่นี้ แต่ถ้ามีโอกาสเหมาะควร ก็อาจจะทำบัญชีแสดงไว้

จากที่ยกมาให้ดูนี้ จะเห็นชัดว่า เหตุการณ์สำคัญทุกตอนเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่เล่าไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนี้ มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่นด้วย แต่แยกกระจายอยู่มากมายหลายแห่ง และบางเรื่องบางตอนก็พบได้หลายแห่งด้วย

ความผิดพลาดแค่จุดนี้ ก็ทำให้สิ่งที่ท่านเมตตาฯ เขียนหมดความหมาย ไปแทบทั้งหมดในทันที เพราะแสดงว่าสิ่งที่ท่านเขียนมานั้น เหมือนกับว่าท่านไม่ได้ศึกษาไม่ได้ตรวจสอบไม่ได้รู้จริงเลย หรือรู้ผิวเผินเกินไป ความบกพร่องนี้ ทำให้สิ่งที่ท่านเมตตาฯ เขียนต่อไปทั้งหมดไม่มีฐานที่จะทำให้น่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ว่าท่านไม่รู้จักหรือไม่มีความรู้ในมหาปรินิพพานสูตรที่ท่านจะวิเคราะห์วิจารณ์นั้นเพียงพอที่จะยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์

ปรินิพพานด้วยโรคอะไร หลักฐานลงกันยันกลับ ให้ต้องสันนิษฐานใหม่

ญาติโยมและผู้ศึกษาคงอยากถามแทรกว่า เมื่อเป็นเรื่องราวเดียวกัน ทำไมไม่รวมและเรียงไว้ด้วยกันเสียเลย คำถามนี้ที่จริงได้ตอบล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ขอทวนหน่อย เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า

• การจัดหมวดหมู่พระสูตรทั้งหลายนั้น ท่านวางเกณฑ์ไว้โดยถือหลักธรรมคำสอนหรือเนื้อหาสาระเป็นหลัก เมื่อพุทธพจน์หรือเรื่องราวตอนใด เข้ากับลักษณะของหมวดหมู่ไหน ก็จัดไปรวมไว้ในหมวดหมู่นั้น

ขอยกตัวอย่าง เรื่องวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้ากราบทูลว่ามคธจะไปตีวัชชี ทำไมจึงไปมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ด้วย ก็ตอบได้ง่ายๆ ว่า เพราะในเรื่องนั้น พระพุทธเจ้าตรัสแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ซึ่งเป็นธรรมหมวด ๗ ตรงกับเกณฑ์ของพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ซึ่งเป็นที่รวบรวมธรรมหมวด ๗-๘-๙

ที่อธิบายและยกตัวอย่างมานี้ เท่ากับตอบคำถามอีกข้อหนึ่งไปด้วยว่า ทำไมพุทธพจน์และเรื่องราวเดียวกัน เนื้อความเหมือนกัน จึงไปอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเล่ม หลายแห่ง เดี๋ยวพบที่โน่น เดี๋ยวพบที่นี่ ซ้ำๆ กัน ซึ่งตอบง่ายๆ ว่า เพราะพุทธพจน์เรื่องนั้นเข้าเกณฑ์ที่จะจัดเข้าได้ในหลายหมวด

ยกตัวอย่าง เช่น ข้อที่ ๖ ข้างบนนี้ คือเรื่องการปลงพระชนมายุสังขาร มีในพระไตรปิฎก ทั้งเล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ และเล่ม ๒๕

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ

๑. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น ตรัสแสดงอิทธิบาท ๔ ไว้ ก็จึงเข้าในเล่ม ๑๙ ซึ่งว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ที่มีอิทธิบาท ๔ อยู่ด้วย

๒. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น มีเรื่องเหตุปัจจัย ๘ ประการ ของการที่แผ่นดินไหว รวมอยู่ด้วย เข้าเกณฑ์ของธรรมหมวด ๘ คือ อัฏฐกนิบาต ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓

๓. ในเรื่องปลงพระชนมายุสังขารนั้น มีพระอุทานของพระพุทธเจ้า รวมอยู่ด้วย ก็เลยต้องจัดเข้าในหมวดอุทาน6 อันเป็นที่ประมวลพุทธอุทาน ๘๐ เรื่อง ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕

ส่วนในที่นี้ก็ชัดอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จึงอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร ทำไมอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ก็เพราะเป็นพระสูตรที่ยาว ดังนั้นรวมแล้ว เรื่องการปลงพระชนมายุสังขาร ก็มาในพระไตรปิฎก ซ้ำกันถึง ๔ แห่ง ๔ เล่ม

ตามที่ได้อธิบายมานี้ ทุกท่านก็คงมองเห็นได้ด้วยตนเองว่า คำวินิจฉัยหรือมติของท่านเมตตาฯ ที่ยกขึ้นตั้งไว้เป็นประเด็นให้พิจารณา ๔ ข้อนั้น ถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ เริ่มแต่ข้อว่า

๑. ท่านเมตตาฯ บอกว่า

รายละเอียดที่โลกได้รับทราบเกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น มาจากเอกสารในพระไตรปิฎกเพียงตอนเดียวเท่านั้น คือ มหาปรินิพพานสูตร...

จะเห็นว่าแท้ที่จริง เหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเกี่ยวกับพุทธปรินิพพาน ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มอื่น ตอนอื่น แห่งอื่นด้วย เพียงแต่ว่ากระจายอยู่หลายแห่ง ทั้งนี้เพราะท่านนำไปจัดเข้าหมวดหมู่ตามเกณฑ์ที่ชี้แจงแล้วข้างต้น

เราก็สันนิษฐานบ้างว่า พระเถระผู้รวบรวมพระธรรมวินัย คงพิจารณาเห็นว่า เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าเนื้อความทั้งหมดจะได้ถูกตัดแบ่งไปจัดเข้าหมวดหมู่ที่โน่นที่นี่ ตามเกณฑ์ทั่วไปตามปกติแล้ว แต่ก็ให้สำเร็จประโยชน์จริงจังเฉพาะในแง่สาระทางธรรม เหตุการณ์ปรินิพพานขององค์พระบรมศาสดาเป็นเรื่องสำคัญที่พุทธบริษัทควรจะมีแหล่งศึกษาให้สะดวก ท่านจึงเก็บรักษาเหตุการณ์ส่วนนี้ไว้ให้เป็นเรื่องราวต่อเนื่องอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังที่ปรากฏเป็นมหาปรินิพพานสูตรนี้

โดยเฉพาะสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า คือ สาลวัน ของเจ้ามัลละนั้น นอกจากมหาปรินิพพานสูตรแล้ว เรายังรู้ได้จากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ ที่กล่าวข้างต้นนี้ และมิใช่เท่านั้น ยังกล่าวถึงในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ และเล่ม ๓๒ อีกด้วย ฉะนั้น หลักฐานจึงแน่นแฟ้น แม้แต่ถ้าไม่มีมหาปรินิพพานสูตร ชาวพุทธก็ยังทราบได้ อีกทั้งหลักฐานที่ต่างแห่งกัน ก็ไม่ขัดแย้งกันเลย แต่ยืนยันกันด้วย

การที่ท่านเมตตาฯ ลงความเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานในป่าไม้สาละ แต่ปรินิพพานในเมืองกุสินารา และกล่าวย้ำถึง ๕ ครั้ง เช่นว่า “ปรินิพพานไปในห้องพักเล็ก ในอาคารแห่งหนึ่งในเมืองกุสินารา” ดังนี้นั้น ความจริงท่านน่าจะยกเอาหลักฐาน ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในสวนหลวงสาลวันนี้เป็นหลัก แล้ววินิจฉัยกลับในทางตรงข้ามว่า พระพุทธเจ้าไม่อาจจะปรินิพพานด้วยโรคที่ท่านสันนิษฐาน แต่เพราะปรินิพพานในสาลวัน จึงเป็นไปได้ที่จะปรินิพพานด้วยโรคอื่นชื่อนั้นๆ ดังที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นว่าตามข้อมูลที่ท่านเมตตาฯพิจารณา มีโรคที่จะเป็นได้หลายอย่าง คุณหมอสมพนธ์ บุณยคุปต์ ได้เขียนไว้ว่า

…ยังมีสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้อีกหลายโรค และพบได้บ่อยกว่า แต่ที่สำคัญคือแพทย์คงจะไม่กล้าวินิจฉัยโรคอย่างมั่นใจด้วยข้อมูลเท่าที่มี แพทย์จะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก…7

มหาปรินิพพานสูตรมีลักษณะพิเศษแท้อยู่ที่ไหน

ข้อต่อไปที่จะพิจารณา เนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๒. มหาปรินิพพานสูตร มีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดรวมกัน จริงหรือ?

ความที่ได้อธิบายมา เท่ากับได้ตอบชี้แจงคำกล่าวนี้ไปแล้ว เพราะเรื่องราวในมหาปรินิพพานสูตรส่วนมากก็แยกย้ายไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มต่างๆ ปาฏิหาริย์ที่กล่าวถึงในเรื่องราวนั้นๆ ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ด้วย เช่น

- การหายตัวข้ามแม่น้ำคงคาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ไปมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วย พร้อมกับพุทธอุทานครั้งนั้น (สาระที่ท่านมุ่งหมาย ไม่ใช่ให้ติดอยู่กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่อยู่ที่ธรรมในพุทธอุทานที่ว่า ขณะที่คนทั้งหลายสาละวนอยู่กับการผูกหาเรือแพเพื่อจะข้ามน้ำข้ามทะเล เมธีชนได้ข้ามไปแล้ว ซึ่งหมายถึงข้ามฝั่งสังสารสาคร เมื่อตรัสพุทธอุทานคือธรรมจบ เรื่องจึงจบ ไม่ใช่จบที่ฤทธิ์ปาฏิหาริย์)

- การเห็นเหล่าเทพยดาที่ลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองปาฏลีบุตร ก็ไปอยู่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพุทธอุทานข้อเดียวกันนั้นแหละ

- เรื่องสามารถมีอายุยืนได้ตลอดกัปป์ ก็ได้อธิบายแล้วว่า หมายถึงอายุกัปป์ ไม่ใช่มหากัปป์ที่จะอยู่ถึงสิ้นโลก และเป็นเรื่องที่มีในพระไตรปิฎกมากแห่ง ทั้งเล่ม ๑๙ เล่ม ๒๓ เล่ม ๒๕ และเล่ม ๑๐ นี้

เมื่อเรื่องทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตร มีอยู่ในที่อื่นๆ ในพระไตรปิฎก ปาฏิหาริย์ทั้งหลายในมหาปรินิพพานสูตรก็มีในที่อื่นๆ ของพระไตรปิฎกด้วย เพราะฉะนั้น มหาปรินิพพานสูตรจึงไม่อาจจะมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎก ทั้งหมดรวมกัน

หลักการก็คือ ปาฏิหาริย์เรื่องใด ในมหาปรินิพพานสูตร จะไปมีในพระไตรปิฎกเล่มอื่นหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าในพระไตรปิฎกเล่มอื่นนั้นๆ เก็บเรื่องราวตอนนั้นๆ ด้วยหรือไม่

อย่างเรื่องปาฏิหาริย์ตอนหลังปรินิพพาน ก็ย่อมไม่มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น เพราะ (อย่างที่บอกแล้วว่า โดยทั่วไปพระไตรปิฎก มุ่งเก็บพุทธพจน์ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เล่าเหตุการณ์ที่ไม่มีพุทธพจน์) ท่านจึงไม่ได้เก็บเรื่องราวตอนนั้นด้วย

แต่ในทำนองเดียวกัน ปาฏิหาริย์หลายเรื่องที่เนื่องอยู่กับเรื่องราวตอนอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับการปรินิพพาน ก็มีในพระไตรปิฎกเล่มอื่น แต่ไม่มีในมหาปรินิพพานสูตร เช่น ปาฏิหาริย์ตอนประสูติ และตอนทรมานชฎิล (คือฝึกให้ชฎิลเปลี่ยนใจ)

จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดว่า มหาปรินิพพานสูตรมีปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่าตอนใดๆ ในพระไตรปิฎกรวมกันทั้งหมด เดี๋ยวก็จะมีผู้อื่นมาเถียงว่า ปาฏิหาริย์ในพระสูตรอื่น เช่น มหาปทานสูตร น่าอัศจรรย์กว่าในมหาปรินิพพานสูตร

ที่จริง น่าจะมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับปาฏิหาริย์เด่นพิเศษในบางเรื่องบางเหตุการณ์ แต่รวมแล้วในที่สุด เป้าหมายก็อยู่ที่ธรรมเป็นสูงสุด ทุกอย่างไปจบที่ธรรม

อีกข้อหนึ่งที่จะพิจารณาเนื่องจากคำกล่าวของท่านเมตตาฯ คือ

๓. มหาปรินิพพานสูตร มีลีลาการพรรณนาแตกต่างไปจากพระสูตรอื่นๆ ทั่วไป จริงหรือ?

คำกล่าวนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างธรรมดา ที่ไม่น่าตื่นเต้นหรือแปลกใจ ที่จริงพระสูตรแต่ละสูตรก็มีลีลาของตน ตามเนื้อหาสาระ และขึ้นต่อวิธีแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าในคราวนั้นๆ แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า

  • พระสูตรทั่วๆ ไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจัดหมู่แยกประเภท ที่ถือธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องราวที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันหรือใกล้ๆ กัน จึงถูกจัดแยกไปรวมไว้ในพระไตรปิฎกต่างแห่งต่างที่กระจัดกระจายไกลกัน
  • ส่วนมหาปรินิพพานสูตรนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ายึดเอาการปรินิพพานเป็นหลัก คือยึดเอาเหตุการณ์เป็นหลัก จึงทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวกับการปรินิพพานมาเรียงรวมอยู่ด้วยกัน และที่ถือได้ว่าแปลกจากพระสูตรทั่วๆ ไป ก็คือในแง่นี้

พูดง่ายๆ ว่า พระสูตรทั่วๆ ไปมีหลักธรรมหรือเนื้อหาสาระเป็นแกนร้อยให้มารวมกัน แต่มหาปรินิพพานสูตรมีเหตุการณ์เป็นแกนร้อยเรื่องราวให้มารวมและเรียงกัน (ที่เรียกว่าพระสูตรก็เพราะเป็นเหมือนแกนหรือด้ายร้อยนี่แหละ)

แม้จะใช้แกนร้อยคนละอย่าง แต่เนื้อความเรื่องราวส่วนมากก็อันเดียวกัน คือเหมือนกัน เพียงแต่จับมาใส่คนละที่โดยเรียงลำดับคนละอย่าง เพราะฉะนั้น พอลงไปถึงตัวเนื้อความก็กลายเป็นลีลาเดียวกัน จึงว่าไม่ได้น่าแปลกใจหรือตื่นเต้นอะไร

รู้แล้วยิ่งมั่นใจและยิ่งเลื่อมใสว่า ท่านรักษาพระธรรมวินัย ไว้กับพระไตรปิฎกได้อย่างอัศจรรย์

ตามที่ได้อธิบายมาจะเห็นชัดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น พระสูตรต่างๆ นั้น เรื่องเดียวกัน ตอนเดียวกัน อาจปรากฏอยู่ในที่หลายแห่ง ในพระไตรปิฎกต่างเล่มกัน และอาจอยู่ไกลกันมากด้วย ซึ่งกลับเป็นการดีที่ช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการดำรงรักษา

แต่ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ พระสูตรเดียวกัน หรือคำสอนเรื่องเดียวกัน ที่รักษาไว้ต่างแห่งต่างเล่มกันนั้น ทั้งที่ในอดีตผ่านมาเป็นพันๆ ปี ท่านรักษาไว้ด้วยการทรงจำปากเปล่าโดยมุขปาฐะ และมีผู้รับผิดชอบต่างคณะกัน เมื่อตกมาถึงพวกเราก็ปรากฏว่า พระสูตรหรือคำสอนเรื่องเดียวกัน ที่อยู่ต่างเล่มต่างแห่งกัน แม้แต่ ๓-๔ แห่ง เมื่อนำมาเทียบเคียงกัน ก็มีเนื้อความและถ้อยคำตรงกันเรียบร้อยบริบูรณ์ แม้บางทีมีส่วนที่ต่างกันบ้าง เช่น อุกกเจลา กับอุกกเวลา ในมหาปรินิพพานสูตรของพระไตรปิฎกต่างฉบับ ก็น่าจะเกิดจากความผิดพลาดในยุคที่คัดลอกด้วยตัวหนังสือ

เมื่อมองเห็นเช่นนี้ จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ แสดงถึงการที่ชาวพุทธในอดีตได้ตระหนักยิ่งในความสำคัญของพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก และได้เพียรพยายามรักษาสืบทอดกันมา ด้วยความรอบคอบระมัดระวังอย่างดีที่สุด เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธา และทำให้เกิดความมั่นใจอย่างยิ่งในพระธรรมวินัย ที่จะนำมาศึกษา นำทางการปฏิบัติ และสั่งสอนแนะนำกันต่อๆ ไป

สรุปว่า เมื่อบทความของท่านเมตตาฯ เกิดจากความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลขั้นพื้นฐานและโดยรวมที่ผิดพลาดอย่างนี้แล้ว การตีความและสันนิษฐานต่างๆ บนฐานของข้อมูลนั้น ก็ไม่อาจถูกต้องได้

แม้แต่ประเด็นเฉพาะทั้งหลายในบทความของท่านเมตตาฯ ก็เป็นปัญหาที่ข้อมูลผิดพลาดไปทั่ว เหมือนนึกขึ้นมาก็เขียนเลย ไม่ได้ตรวจสอบ จะขอยกตัวอย่างสัก ๒-๓ เรื่อง (ดูรายละเอียดเพิ่ม พร้อมทั้งบทความของพระเมตตาฯ ในฉบับเต็ม ๒๐๒ หน้า)

๑. เรื่องว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานในเมือง ไม่ใช่ในสวนป่า

ตัวอย่างที่ ๑ ท่านเมตตาฯ เขียนว่า

เมื่อพระอานนท์ทราบว่าพระพุทธองค์จะปรินิพพานแน่แล้ว ได้เกิดความเสียใจจนกระทั่งจะเป็นลม ไม่อาจประคองตนไว้ได้ ต้องยืนเหนี่ยวกลอนประตูหัวสิงห์อยู่ กลอนประตูนี้อยู่ในป่าตามลำพังไม่ได้แน่นอน นอกจากเสียว่าพระพุทธองค์กำลังประทับอยู่ในห้องของอาคารที่อยู่ในเมืองกุสินารานั้นเอง

ท่านเมตตาฯ เห็นว่า ข้อความ “ยืนเหนี่ยวกลอนประตูหัวสิงห์อยู่” นี้ แสดงว่าสถานที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ต้องเป็นอาคารในเมือง ไม่ใช่ใต้ต้นสาละ เพราะที่สวนหลวงจะมีกลอนประตูอย่างนี้ไม่ได้ ท่านคงคิดว่า ไม้หัวสิงห์นี้เป็นวัตถุมีค่าหรือมีราคา อาจจะใช้ศิลปะ หรือทำอย่างดี จะต้องเป็นอาคารใหญ่ๆ ที่สำคัญ หรือเป็นที่อยู่ของคนมีเงิน อย่างน้อยท่านก็คงคิดว่า ในสวนหลวง เป็นป่า มีแต่หมู่ไม้ จะมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างไม่ได้ ท่านก็เลยสรุปว่า ต้องเป็นอาคารที่อยู่ในเมือง เรื่องนี้ท่านก็ผิดละ แล้วก็ผิดลิบเสียด้วย

เริ่มต้นก็ชัดๆ ว่าไม่มีหัวสิงห์ที่ไหนเลย ข้อมูลก็ชัดๆ อยู่แล้วว่า “หัวลิง” ดูศัพท์บาลียิ่งชัด เป็น "กปิสีสํ" = หัวลิง กปิ ก็คือ กระบี่ ที่แปลว่าลิง เช่น ในรามเกียรติ์แบบชาวบ้านพูดถึงหนุมานว่า กระบี่วานรผ่อนพักกายา กระบี่แปลมาจากบาลีว่า กปิ ซึ่งแปลว่าลิง สีสํ = หัว "กปิสีสํ" ก็ = ไม้หัวลิง

เรื่องไม้หัวสิงห์ หรือหัวลิงนี้ เมื่อเดือนก่อน คณะชาวธรรมะร่วมสมัยมาถามเรื่องท่านเมตตาฯ นี้ อาตมายังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานรายละเอียด ก็ยังพูดเผื่อให้ท่านเมตตาฯว่า บางทีอาจจะเกิดจากการพิมพ์ผิด คือ ท่านเมตตาฯ เขียนไปถูก เป็นหัวลิง แต่ นสพ. ไปพิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์ หรืออาจจะเป็นได้ว่า พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยพิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์ ตอนนั้นพูดเข้าข้างท่านเมตตาฯ ไว้ก่อน แต่ต่อมาไปอ่านข้อเขียนของท่านให้ละเอียดขึ้น จึงรู้ว่าท่านจงใจเขียนเป็นหัวสิงห์จริงๆ และไปตรวจดูในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ก็ไม่ได้พิมพ์ผิด คือไม่มีคำว่าไม้หัวสิงห์

เมื่อเป็นอย่างนี้ เรื่องไม้หัวสิงห์-หัวลิง ท่านเมตตาฯ ก็เลยพลาดหลายขั้น

  1. ข้อมูลเบื้องต้นที่สุด พระไตรปิฎกแปลไทยพิมพ์ไว้อย่างอื่น ท่านก็จับหรือจำเอาไปเป็นไม้หัวสิงห์ ทำให้ใครๆ ว่าได้ว่า ท่านอ่านลวกๆ แม้แต่เรื่องไม่ควรผิด ก็ผิดไปได้
  2. เมื่อจะจับเอาเป็นข้อมูลสำคัญ ถึงกับจะสันนิษฐาน ก็เอาเลย ไม่ตรวจสอบก่อน ที่จริง ถ้าจะถึงขั้นแสดงมติ ก็ต้องไปตรวจดูว่าไม้หัวสิงห์-หัวลิง ที่ว่านี้ คำบาลีเดิมว่าอะไร มีข้อความแวดล้อมว่าอย่างไรหรือไม่ ถ้าไปดูพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีต้นเดิม ก็จะเห็นว่า อ๋อ แปลมาจาก "กปิสีสํ" ก็จะชัดลงไปอีกว่าเป็นหัวลิง ตัดทางผิดพลาด และจะสันนิษฐานได้ด้วยความมั่นใจ
  3. โดยวิสัยของนักวิชาการ เมื่อเจอถ้อยคำเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้สำหรับชีวิตความเป็นอยู่สมัยโน้น ซึ่งไม่ใช่ยุคสมัยของเราเอง ไม้หัวสิงห์-หัวลิง อะไรนี้ พวกเราไม่เคยใช้ ไม่รู้จัก ก็ต้องไม่คิดเอาเองอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องตรวจสอบหาความรู้ก่อนว่า ไม้หัวลิง หรือกปิสีสํนี้ มีกล่าวถึงที่อื่นไหมในพระไตรปิฎก เผื่อจะได้เห็นชัดขึ้นว่า เป็นวัสดุที่มีลักษณะอย่างไร ใช้กันอย่างไร ค้นหาให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังไม่ชัด จึงค่อยสันนิษฐาน แต่นี่เจอและจับเอามาผิดเป็นไม้หัวสิงห์แล้ว ท่านก็ไม่ตรวจสอบ และไม่ค้นดูว่าสมัยนั้น เขาใช้กันอย่างไร

ทีนี้ไม้หัวลิง หรือกปิสีสํนี้ ก็มีกล่าวไว้ที่อื่นในพระไตรปิฎกด้วย เราจะเห็นได้ชัดว่าในพระวินัยมีกล่าวไว้

ในพระวินัยปิฎกมีบัญญัติไว้หลายแห่ง เกี่ยวกับเรื่องสิ่งก่อสร้าง เรือนพัก แม้แต่ “ถาน” คือส้วมของพระที่สร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตว่าให้มีอุปกรณ์ดังนี้ๆ ทีนี้ในบรรดาอุปกรณ์เหล่านั้นก็มี "กปิสีสํ" ไม้หัวลิงนี้ด้วย แต่ในบาลีวินัยปิฎก เขียน “กปิสีสกํ” คือไม้กลอนรูปหัวลิง แสดงว่าเป็นไม้สลักไม้กลอน ที่มีในสิ่งก่อสร้างง่ายๆ แม้แต่สิ่งก่อสร้างในวัด แม้กระทั่งส้วม (เช่น วินย.๗/๑๙๑/๗๔) เรื่องของวัด ที่อยู่ของพระ ก็ง่ายๆ อยู่แล้ว

แม้แต่ถานคือส้วมในวัด ก็ยังมีไม้หัวลิงได้ ในสวนหลวงย่อมมีสิ่งก่อสร้างหรืออาคารได้หลายอย่าง เริ่มแต่เรือนพักคนเฝ้าสวน ตลอดจนที่ประทับพักผ่อนของเจ้ามัลละ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องไปสันนิษฐานอะไรไกล นี่แหละ แค่ตัวศัพท์ก็ผิด ชัดๆ แล้ว ท่านว่าหัวสิงห์ ที่จริงเป็นหัวลิง ก็ไปแล้ว

ท่านเมตตาฯ อาจจะไปอ่านพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย หรือฟังคำแปลจากที่ไหนก็ตาม ที่บอกว่าหัวลิง ทีนี้ท่านอาจจะอ่านเผินๆ ใจก็ไปนึกเป็นหัวสิงห์ คือมีอะไรต่างๆ เยอะไปในเมืองไทยที่เป็นหัวสิงห์ แต่ไม่เคยได้ยินว่าหัวลิง พออ่านปั๊บ ใจไปนึกถึงหัวสิงห์ ก็จำไว้เป็นหัวสิงห์ไปเลย เป็นอันว่า

  1. ดูคำไทยไม่ชัด เพราะพระไตรปิฎกแปลไทย (เท่าที่ตรวจดู ๓ ชุด) ก็ไม่ได้พิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์
  2. ไม่ได้ตรวจสอบกับบาลี ซึ่งแน่นอนว่าเป็น "กปิสีสํ"
  3. ไม่ได้ตรวจสอบว่า ไม้กลอนอย่างนี้มีความเป็นมาอย่างไร มีการใช้อย่างไร ในยุคสมัยนั้น ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงที่อื่นหรือเปล่า

การตรวจสอบข้อมูลต้องให้ถ่องแท้ ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปสันนิษฐานทันที นี่อยู่ๆ ก็ปั๊บ คิดเอาเองเลย ว่าในป่าต้องไม่มีไม้หัวสิงห์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าต้องไปปรินิพพานในตัวเมือง โดยเหตุนี้ จากการที่จับข้อมูลผิดพลาด การสันนิษฐานก็ผิด กรณีนี้ก็คล้ายๆ กับว่า เขาพูดมะนาว เราจับเอาเป็นมะพร้าว พอเป็นอย่างนี้แล้วก็ตีความสันนิษฐานไปคนละเรื่องละราว ที่เรียกว่าเตลิดไป

๒. เรื่องว่าในกุสินาราฤดูหนาว ต้นสาละใบร่วงหมดแล้ว

ตัวอย่างที่ ๒ ขอยกตัวอย่างเรื่องปลีกย่อยที่ทำให้เห็นว่า ท่านเมตตาฯ นั้นเหมือนกับท่านพูดไปเรื่อยๆ และพูดเอาเองว่าอันนั้นเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างนั้น โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรเลย ซึ่งนอกจากทำให้ข้อเขียนของท่านขาดฐานที่จะทำให้น่าเชื่อถือหรือแม้แต่จะเป็นวิชาการแล้ว ก็เป็นอันตรายแก่ผู้ที่อ่านโดยไม่ได้พินิจพิจารณาหรือโดยสักว่าตื่นวิชาการอีกด้วย

ท่านเมตตาฯ กล่าวถึงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานว่า

ความทั้งหมดของปาฏิหาริย์ที่ต้นสาละคู่นี้อาจเป็นเรื่องราวที่ต่อเติมในภายหลัง แต่อาจยืนยันได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ นั้น ซาวพุทธยังจดจำได้ดีว่าเป็นฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ซึ่งต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว

คำกล่าวของท่านเมตตาฯ นี้ นอกจากสรุปว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานในวันเพ็ญวิสาขะแล้ว ก็เป็นเหตุให้ท่านลงความเห็นอื่นต่อไปด้วย เช่นว่า พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานในสวนป่าสาลวันไม่ได้ แต่ต้องไปปรินิพพานในห้องเล็กในอาคารในเมือง ตลอดจนกล่าวว่า คำบรรยายเหตุการณ์ในมหาปรินิพพานสูตร ตอนเสด็จมาสู่ที่ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานนั้น เป็นของแต่งเติมขึ้นภายหลัง

เริ่มต้น คำของท่านเมตตาฯ ที่ว่า “อาจยืนยันได้ว่า...ชาวพุทธยังจดจำได้ดีว่า ..ต้นสาละในป่าสลัดใบร่วงหล่นไปหมดแล้ว” ก็เป็นคำพูดลอยๆ ซึ่งไม่มีหลักฐานอะไรเลย = ขาดหลักฐาน

ต่อจากนั้น ในแง่ข้อเท็จจริง ก็พิจารณากันอีกชั้นหนึ่งว่า สิ่งที่ท่านพูดตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ กล่าวคือ

ที่กุสินารา ในฤดูหนาว และฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ต้นสาละสลัดใบร่วงไปหมดแล้ว จริงหรือ?

ที่ท่านเมตตาฯ พูดนั้น ท่านคงนึกว่า เมืองกุสินาราอยู่ถิ่นเหนือ สูงเลยระดับเมืองไทย จะต้องมีฤดูใบไม้ร่วง ที่ต้นสาละสลัดใบหมด แล้วท่านก็ตัดสินเลย ไม่ต้องหาข้อมูลความรู้หรือข้อเท็จจริง

บางท่านในวงวิชาการอาจพูดว่า ท่านเมตตาฯ ไม่ได้อยู่ที่กุสินาราท่านจึงมีสิทธิตีความอย่างนั้น แต่สำหรับชาวบ้าน การจะมาตีความ (คาดเดาในใจ) ในกรณีอย่างนี้ คงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้ (=มีข้อเท็จจริงให้ตรวจสอบได้ ไม่มีเหตุให้ต้องตีความ)

ถ้าไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสภาพฤดูกาลที่กุสินาราโดยตรงท่านเมตตาฯ ก็อาจใช้วิธีรองลงมาโดยตรวจสอบทางภูมิศาสตร์ ในเมื่อทานเคยไปพำนักในอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหนาว มีฤดูใบไม้ร่วง และอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ มีภูมิอากาศเกินกว่าหนึ่งแบบ ท่านจะเทียบกับอเมริกาก็ได้

อินเดียนั้นอยู่ในเอเชียใต้ (South Asia) ต่ำลงมาทางเส้นศูนย์สูตรเมืองกุสินาราอยู่ในระดับเส้นรุ้ง (latitude) 26 ํN ใกล้เคียงกับ ไมอามี (Miami) ในรัฐฟลอริดา (Florida) แถบใต้เกือบสุดปลายแหลม ซึ่งอยู่ในเขตที่นับว่าร้อนที่สุดของอเมริกา (ถ้าจะให้ตรงกันจริง ต้องเทียบกุสินารากับ West Palm Beach) แม้ว่าเมืองไมอามีจะอยู่ชายทะเล และกุสินาราอยู่บนแผ่นดินสูงขึ้นไปทางหิมาลัย เหนือระดับน้ำทะเลมาก แต่ก็พอจะเทียบภูมิอากาศกันได้

ไม่ต้องพูดถึงไมอามีหรอก แม้แต่เมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่อยู่ในระดับเหนือไมอามีขึ้นไปกว่า ๑,๓๐๐ กม. ถึงฤดูหนาว ใบไม้ก็ร่วงบ้าง ไม่ร่วงบ้าง

ท่านที่เคยไปอยู่ทางไมอามีมาหลายๆ ปี ยืนยันว่า ที่นั่นไม่มีฤดูกาลที่ใบไม้ร่วงสลัดใบหมดต้น อย่างในรัฐทางเหนือ เช่นนิวยอร์ค

ถามท่านที่เคยไปนมัสการสังเวชนียสถานในอินเดียช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม บางท่านไปแล้วหลายครั้ง ได้รับคำยืนยันว่า ที่กุสินารา ต้นไม้ โดยเฉพาะสาละ ไม่มีเวลาไหนที่จะสลัดใบหมดต้น อย่างในฤดูใบไม้ร่วงของเหมืองหนาว ดังเช่นฤดู fall ในอเมริกา แม้แต่ในเดือนธันวาคมและมกราคม ช่วงหนาวที่สุด ต้นสาละก็มีใบอยู่เต็มต้น

โดยเฉพาะข้อมูลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ (Forest Department Officer) ของอินเดีย ที่ดูแลเรื่องต้นสาละโดยตรง บอกว่า ต้นสาละไม่มีการสลัดผลัดใบร่วงหล่นหมดต้น

เมื่อถึงขั้นนี้ ก็คงไม่ต้องติดใจอะไรอีกกับคำกล่าวของท่านเมตตาฯ เกี่ยวกับเรื่องต้นสาละในอินเดียสลัดผลัดใบในฤดูหนาว ฤดูใบไม้ร่วง เพราะคำของท่าน ทั้งผิดพลาดล้มเหลวในขั้นข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงถึงงานเขียนที่หละหลวม ยังไม่ตรวจสอบก็ “ยืนยัน” ขึ้นมาลอยๆ ดังนั้น ข้อสรุป-สันนิษฐาน-วินิจฉัยของท่านในกรณีนี้ทั้งหมด จึงไม่อาจเป็นที่รับฟังได้

แท้จริงนั้น ในทางตรงข้าม ท่านเมตตาฯ ควรยกเอาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนจะปรินิพพาน ที่พระพุทธเจ้าประชวรแล้วยังเสด็จเดินทาง ทรงแวะพักประทับตามโคนไม้ ทรงลงสรงสนาน เสวยน้ำในกกุธานที และตรัสสอนธรรมมาตามลำดับจนวาระสุดท้าย ซึ่งกล่าวไว้ทั้งในมหาปรินิพพานสูตรและพระสูตรอื่นหลายแห่งในพระไตรปิฎก อย่างชัดเจนสอดคล้องกันทั้งหมดนั้น ขึ้นมาเป็นฐานที่จะวินิจฉัยว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานในฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย แต่จะต้องปรินิพพานในฤดูร้อนช่วงตอนวิสาขบูชา

๓. เรื่องว่าพระพุทธเจ้าลุกนั่งไม่ไหว ต้องถูกหามขึ้นแคร่ไป

ตัวอย่างที่ ๓ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินมายังที่ปรินิพพาน ก็มีตอนหนึ่งว่าพระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อน ๔ ชั้น ท่านเมตตาฯ ก็บอกว่า อ๋อนี่ พระพุทธเจ้า “ไม่อาจลุกนั่งได้เอง” พระพุทธเจ้าเสด็จไปไม่ไหวแล้วถึงได้ให้พระอานนท์ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น

ท่านเมตตาฯ จะสนับสนุนคำสันนิษฐานหรือวินิจฉัยของท่านว่า พระพุทธเจ้าลุกไม่ไหวแน่แล้ว และมีอาการหนาวจากการช็อก (shock) เพราะเสียพระโลหิตมาก ท่านก็จับเอาการปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น เป็นข้อมูลหลักฐานที่จะใช้ยืนยันอาการหนาวของพระพุทธเจ้า ดังคำของท่านเองว่า

… ความดันโลหิตน่าจะต่ำมากจนไม่อาจเสด็จไปด้วยพระองค์เองได้

ข้อที่สนับสนุนอีกประการหนึ่งว่าทรงเสียพระโลหิตไปมาก คืออาการหนาว ซึ่งเป็นผลพวงจากการเสียโลหิตไปมาก โดยดูได้จากการที่สั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิหนาถึง ๔ ชั้น

เรื่องนี้ท่านก็ใช้เสรีภาพสันนิษฐานเองเลย โดยไม่ตรวจดูว่า พระสมัยนั้นมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร ใช้บริขารกันอย่างไร พระไตรปิฎกกล่าวถึงการใช้สังฆาฏิปู ๔ ชั้นที่อื่นอีกไหม ในกรณีอย่างไร

การปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น “จตุคฺคุณํ” อย่างนี้ เป็นเรื่องทั่วไป เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปทั่วทุกแห่ง โดยเฉพาะบนหนทางในป่าเขาและระหว่างเมืองตำบลหมู่บ้าน เมื่อทรงแวะพักใต้ร่มไม้ระหว่างทาง พื้นที่เป็นดินหินกรวดทราย มีเศษกิ่งไม้ รากไม้ อาจจะขรุขระ กระด้าง อย่างน้อยก็ไม่เรียบ ไม่สบาย ก็ทรงให้ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น เพื่อประทับพักนั่งบ้าง บรรทมบ้าง มิใช่ใช้เฉพาะกันหนาว แต่ใช้ในกรณีทั่วไปที่เหมาะควร โดยไม่ได้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยหรือความหนาวความเย็นอะไรเลย

ไปดูในพระไตรปิฎกที่อื่น เล่มอื่นก็มี พระพุทธเจ้าเสด็จในที่ต่างๆ มีกล่าวไว้ บางเรื่องก็ปูประทับนั่ง บางเรื่องก็ปูประทับนอน สังฆาฏิปู ๔ ชั้น นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ระหว่างทรงเดินทางก็มี ในอาคารก็มี (เช่น ที.ปา.๑๑/๒๒๔/๒๒๔; สํ.นิ.๑๖/๕๒๔/๒๖๐)

ในกรณีเสด็จคราวนั้น พระองค์ทรงแวะที่ร่มไม้ข้างทาง รับสั่งให้พระอานนท์ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วประทับนั่ง แต่ท่านเมตตาฯ คะเนว่า โอ้ พระพุทธเจ้าไปไม่ไหวแล้ว ปูสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงหนาวมาก ลุกนั่งเองไม่ได้ (ต้องนอนแน่) ว่างั้น ก็กลายเป็นคิดเอาเอง

นอกจากนั้น พอสันนิษฐานว่าต้องเป็นโรคนี้ ไปไม่ไหวแล้ว ทั้งที่ข้อมูลที่เอามาสันนิษฐานวินิจฉัยว่าพระพุทธเจ้าประชวรด้วยโรคนี้ๆ ท่านก็เอาจากมหาปรินิพพานสูตรนั้นแหละ แต่พอท่านลงสันนิษฐานไปแล้ว ข้อมูลต่อจากนั้นที่ขัดกับการสันนิษฐานของท่าน ท่านก็บอกว่า "ต่อเติมขึ้นภายหลัง" อ้าว ก็ทำไมไม่ปฏิบัติต่อข้อมูลทั้งหลายซึ่งมาจากที่มาเดียวกันให้สม่ำเสมอ

ถ้าอย่างนั้น ลองมองกลับกัน ถ้าข้อมูลข้างหลังถูก ข้อมูลต้นที่ท่านเอามาสันนิษฐานก็แต่งใหม่ซิ ใช่ไหม กลายเป็นว่า อันไหนตัวเอาก็ถูก ตัวไม่เอาก็ผิด หรือแต่งเติมใหม่ ถ้าเราซื่อสัตย์ เราก็ต้องเอาข้อมูลตามนั้น ในฐานะที่เท่ากันก่อน แต่ท่านเมตตาฯ บอกว่า พระพุทธเจ้านี่ ตอนนั้นน่ะไม่ไหวแล้ว หนาวสั่น เดินไม่ได้แล้ว พระสาวกต้องช่วยกันทำแคร่หามมาหามพระองค์ไป ซึ่งมิใช่เป็นข้อมูลในพระสูตรนั้นเลย ท่านก็ว่าของท่านไป

แต่ในพระไตรปิฎกนั้นน่ะ พระพุทธเจ้า เมื่อประทับที่ว่าปูสังฆาฏิ ๔ ชั้นนั้น ก็ประทับนั่ง แล้วตอนนั้นนายปุกกุสะเดินทางมาพบ ก็เลยได้แวะนั่งสนทนา ทรงนั่งสนทนาธรรมด้วย แล้วต่อมา พระองค์เสด็จเดินทางต่อไปอีก ถึงแม่น้ำกกุธานที ก็ยังลงสรงในแม่น้ำด้วย จะไปแคร่หามนอนหนาวสั่นอย่างไร ก็ยังเดินทางอยู่

ในฉบับภาษาอังกฤษ ท่านเมตตาฯ เขียนว่า “He could no longer walk, and from then to his deathbed he was most likely carried on a stretcher.” (แปลว่า: พระพุทธเจ้าทรงเดินอีกไม่ได้เลย และต่อแต่นั้นไปจนถึงที่ปรินิพพาน น่าจะเป็นได้มากที่สุดว่า พระองค์ได้ถูกหามขึ้นแคร่ไป) ที่ท่านว่านี้ตรงข้ามกับข้อมูลในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงนั่งสนทนา และเสด็จพุทธดำเนินต่อไป

ท่านเมตตาฯ ยังเขียนต่อไปอีกว่า “If this was indeed the situation, the sutta remains silent about the Buddha's travelling to his deathbed, possibly because the author felt that it would be an embarrassment for the Buddha.” (แปลว่า: ถ้าสถานการณ์เป็นจริงอย่างนี้ พระสูตรไม่กล่าวถึงการเสด็จไปยังที่ปรินิพพานเลย คงเป็นเพราะผู้เรียบเรียงรู้สึกว่า (ถ้าเล่า) จะเป็นการอัปยศ/เสื่อมเสียเกียรติคุณแก่พระพุทธเจ้า)

ที่ท่านเมตตาฯ ว่านี้ ดูแล้วตรงข้ามกับความเป็นจริงไปเลย เพราะเหตุการณ์ตอนเสด็จสู่ที่ปรินิพพานนี้ กลับเป็นตอนที่พระสูตรเล่าไว้เป็นลำดับอย่างที่เรียกได้ว่าละเอียดกว่าตอนอื่นด้วยซ้ำ

ดูแล้วก็คือ ข้อมูลมันไม่เป็นไปตามที่ท่านว่า ถ้าตัวท่านไม่เชื่อ ก็ต้องให้เหตุผล ต้องบอกมาว่า เออ ข้อมูลในมหาปรินิพพานสูตร ตอนนี้ว่าอย่างนี้ๆ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเพราะอย่างนี้ๆ ต้องว่าไปให้จะแจ้ง ไม่ใช่ว่า อันไหนตัวไม่เอาไม่เห็นด้วยก็ข้ามไป แล้วบอกเฉยๆ ว่า ตอนนั้นแต่งมาใหม่

ส่วนข้อสงสัยที่ท่านยกขึ้นตั้งเหมือนเป็นตัวประเด็นหลัก (แต่ที่จริง น่าจะเป็นประเด็นซ่อนเงื่อน) ว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไรนั้น เป็นเรื่องทางแพทย์ที่พระและชาวบ้านทั่วไปคงมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะวิจารณ์ด้วย และคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องวิจารณ์ เพราะมีท่านผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเขียนไว้แล้ว

คุณหมอสมพนธ์ บุณยคุปต์ ซึ่ง “เป็นอายุรแพทย์ที่ดูแลรักษาคนไข้มากว่า ๔๕ ปี และยังเป็นแพทย์ระบบโรคทางเดินอาหารและโรคติดเชื้อ และเคยเป็นกรรมการสอบเพื่อความรู้ความชำนาญของอายุรแพทย์ของแพทยสภาอยู่นานพอสมควร” ได้เขียนบทความไว้ ชื่อเรื่องว่า “อันสืบเนื่องมาจากบทความเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร’ ธรรมรักษา และการรักษาพระปฏิบัติ” ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

ถ้ามีแพทย์ผู้เข้าสอบตอบอย่างที่ท่านผู้นิพนธ์เขียนไว้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะให้สอบผ่านหรือไม่ เพราะยังมีสาเหตุของโรค ที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้อีกหลายโรค และพบได้บ่อยกว่า แต่ที่สำคัญคือ แพทย์คงจะไม่กล้าวินิจฉัยโรคอย่างมั่นใจด้วยข้อมูลเท่าที่มี แพทย์จะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก คือ ถามผลการตรวจร่างกาย ต้องทดสอบเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ซึ่งไม่มีทางจะมีข้อมูลเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ที่จะพยายามหาคำตอบ เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการเดาตามหลักวิชาการที่ยึดถือไม่ได้…8

๔. เรื่องว่าพระพุทธเจ้าอวดว่าทรงอยู่ได้ถึงสิ้นโลก

ตัวอย่างที่ ๔ ก็คือเรื่องซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การสันนิษฐานเตลิดไปไกล คือ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เจริญอิทธิบาทแล้ว ถ้าทรงต้องการก็จะอยู่ได้ตลอดกัปป์ ที่ท่านเมตตาฯ ไปเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า

"..could live until the end of the world"

คือบอกว่าพระพุทธเจ้าจะทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ไปได้จนกระทั่งโลกแตกหรือสิ้นโลก

แท้จริงนั้น เรื่องนี้ในคัมภีร์ท่านอธิบายไว้ชัดเจนแล้ว คือท่านชี้แจงว่า “กัปป์” มีความหมายหลายอย่าง และกัปป์ในที่นี้หมายถึง อายุกัปป์ ไม่ใช่มหากัปป์ของศาสนาพราหมณ์ ที่เป็นอายุของโลก

อายุกัปป์ ก็คือ ช่วงอายุของคนที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในยุคนั้นๆ ซึ่งตามความหมายของยุคสมัยนั้นคนก็มีอายุอยู่ได้ประมาณร้อยปี หมายความว่า ถ้าพระพุทธเจ้าทรงต้องการจะอยู่ให้ตลอดร้อยปี เมื่อพระองค์เจริญอิทธิบาทดีแล้วก็อยู่ได้

แต่ท่านเมตตาฯคงไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อน ไม่ได้ศึกษาความหมายให้ชัด ก็จับเอาเป็น(มหา)กัปป์แบบของพราหมณ์

ในเมื่อไปเข้าใจอย่างนี้ ก็ทำให้มองพระพุทธเจ้าว่าทรงอวดอ้างพระองค์เป็นผู้วิเศษ มีฤทธิ์เก่งกาจเหลือเกิน จะแสดงปาฏิหาริย์อยู่เรื่อย พอคิดอย่างนี้แล้วก็ตีความไปกันใหญ่ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นว่า พอจับข้อมูลผิดแล้วก็เตลิดไปไกล

ยิ่งกว่านั้น ในตัวข้อมูลเองก็เหมือนกับอ่านผ่านๆ ลวกๆ ไม่ได้ดูให้ถ่องแท้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าพระองค์เองเท่านั้น แต่พระองค์ตรัสว่า "ยสฺส กสฺสจิ" คือตรัสว่า "ผู้ใดผู้หนึ่ง" หรือผู้ใดก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะพระองค์ หมายความว่าผู้ใดก็ตามเมื่อได้เจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว ถ้าประสงค์ก็จะอยู่ได้ตลอดกัปป์

เป็นอันว่า

หนึ่ง ความหมายของคำว่ากัปป์นี้ ท่านเข้าใจผิด เรียกว่าจับข้อมูลไปผิด

สอง ก็ข้อมูลเหมือนกัน คือไม่รอบคอบ ไม่ตรวจตราข้อมูลให้ดี พระพุทธเจ้าไม่ใช่อยู่ๆ ก็ตรัสว่า ฉันนี้เก่ง จะอยู่ตลอดกัปป์เลยก็ได้ แต่พระองค์ตรัสว่า ใครก็ตามที่บำเพ็ญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว ถ้าต้องการก็อยู่อย่างนั้นได้ คือเป็นหลักธรรมข้อปฏิบัติสำหรับทุกคน

นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการจับข้อมูลผิด ที่ทำให้พลาด

จริยธรรมของนักวิชาการไทย อยู่ที่ไหน

ถาม: ตามความเข้าใจของดิฉันนะคะ ที่เห็นพระก็ดี ผู้ที่ปฏิบัติธรรมขณะนี้ก็ดี มีความเห็นผิด หลงทางกันเยอะทีเดียว ทีนี้การหลงทางนี่ ดิฉันคิดว่าถ้าหากว่าท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎก คงจะช่วยให้การหลงทางนี้น้อยลง ดิฉันคิดว่าอย่างนั้นนะเดิม แต่พอมาอ่านชีตอันนี้ เรื่อง “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” ซึ่งท่านก็อ้างพระไตรปิฎกมาเยอะแยะเลย ก็หลงอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาพระไตรปิฎกนี่จะช่วยไม่ให้หลงทาง หรือถ้าหลงทางก็หลงไปอย่างแนบเนียนหรือเปล่าคะ

ตอบ: ไม่ว่าเรื่องอะไรละ ถ้าตั้งใจไว้ผิดละมันก็เขวได้หมด เช่น เรามีเจตนา มีความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปเที่ยวจับเอาอะไรๆ ในแง่ที่จะให้สนองความประสงค์ของเรา อย่างนี้เป็นต้น แสดงว่าเราไม่ได้ตั้งวางจิตใจเพื่อจะเข้าใจไปตามสิ่งนั้น แต่เรามีเป้าหมายของเรา แล้วเราไปเอาสิ่งนั้นมาสนอง ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเกิดปัญหา

อย่างในกรณีนี้ คือบทวิเคราะห์เรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ท่านเมตตานันโทเขียนนั้น เมื่อวานนี้พระท่านก็เอาหนังสือพิมพ์ข่าวสดมาอ่านให้ฟังว่า ท่านตอบโต้คนอื่นที่วิจารณ์ข้อเขียนของท่าน โดยตั้งชื่อเรื่องว่า “จริยธรรมของนักวิชาการไทยอยู่ที่ไหน9 ก็มานึกว่า เออ ! ที่จริงนี่ท่านไม่ควรจะไปถือสาคนที่ว่าท่านหรอก ความสำคัญอยู่ที่ท่านจะต้องจับประเด็นที่เขาว่า คือ อย่าไปถือในเรื่องถ้อยคำ เพราะบางคนเขาอาจจะพูดรุนแรง บางคนก็พูดตามเหตุตามผล ทีนี้ตัวประเด็นนี้มันอยู่ที่ไหน ในเมื่อคุณหมอยกเรื่องนี้ขึ้นมาถาม ไหนๆ พูดแล้วก็เลยขออธิบายสักหน่อย

เราจะรู้ว่าจริยธรรมของนักวิชาการไทยอยู่ที่ไหน ก็ต้องรู้ก่อนว่าจริยธรรมที่ว่านั้นคืออะไร เป็นอย่างไร เหมือนกับจะรู้ว่านาย ก. อยู่ที่ไหน ก็ต้องรู้ว่านาย ก. เป็นใคร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อพูดทั่วๆ ไปอย่างง่ายๆ “จริยธรรม” ก็คือ การประพฤติปฏิบัติถูกต้องที่จะให้เกิดผลดีสมความมุ่งหมาย จริยธรรมในเรื่องใด ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้น จริยธรรมทางวิชาการก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์ของวิชาการ

การประพฤติปฏิบัติในทางวิชาการ นอกจากมีจริยธรรมพื้นฐานคือการประพฤติตามหลักศีลธรรมทั่วไปแล้ว ก็ต้องมีการประพฤติปฏิบัติถูกต้องดีงาม ที่เป็นส่วนเน้นส่วนขยายเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายของวิชาการด้วย

งานวิชาการเป็นงานด้านเสริมสร้างปัญญา เพราะฉะนั้น จริยธรรมที่จะต้องเน้น ก็คือจริยธรรมในระดับปัญญา ซึ่งหมายความว่า นอกจากมีความสุจริตใจ ซื่อสัตย์ต่อเรื่องที่ทำ ไม่ลักไม่ขโมย เป็นต้นแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการทำงานวิชาการ เริ่มตั้งแต่เรื่องข้อมูล การจะตีความ วิเคราะห์ วินิจฉัยต่างๆ ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพื่อมุ่งจะนำผู้อ่าน ผู้ฟัง ฯลฯ ไปสู่ความจริง และนำเสนอความจริงให้ถ่องแท้ ไม่ทำแบบสุกเอาเผากิน หรือสื่อชนิดฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด หรือเขียนแบบจับแพะชนแกะ หรือนำเสนออย่างไม่ตรงไปตรงมา ถ้าทำโดยไม่รับผิดชอบอย่างที่ว่านี้แหละ คือการเสียจริยธรรมทางวิชาการแท้ๆ ไม่ต้องไปพูดถึงคำรุนแรงอะไรต่างๆ ซึ่งยังเป็นเรื่องเบา

ถ้าข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรวจสอบให้ถ่องแท้ หรือนำเสนอไม่ตรง ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดนี่ เป็นการเสียจริยธรรมทางวิชาการโดยตรง และถ้าจงใจทำให้ผิดก็ร้ายแรงที่สุด เพราะว่าถ้าเราทำงานอะไรขึ้นมาแล้ว ทำให้คนที่อ่านที่ฟังซึ่งยังไม่รู้ เกิดรู้ผิดจำผิดนี่ มันอันตราย ยิ่งกว่าให้เขายังไม่รู้อีก ใช่ไหม พอรู้ขึ้นมา ก็เป็นการรู้ผิดจำผิดไปเสียนี่ ข้อสำคัญจึงอยู่ที่นี่

จริงอยู่ แม้จะตั้งใจระวังอย่างดี แต่บางทีก็ยังมีความผิดพลาดไปบ้างด้วยพลั้งเผลอ หรือด้วยเหตุที่คาดไม่ถึงบางอย่าง ซึ่งจะต้องให้อภัยกันบ้าง แต่ความผิดพลาดแบบนั้นโดยมากจะเป็นเพียงเรื่องปลีกย่อย มีไม่บ่อย และไม่ใช่สาระสำคัญ

เคยแยกไว้แล้วว่า ในการทำงานวิชาการ ที่มีการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์อะไรต่างๆ นี้ มีอย่างน้อย ๒ ขั้นตอนที่ต้องระวัง คือ

  1. ขั้นข้อมูล
  2. ขั้นวิเคราะห์วิจารณ์สันนิษฐานวินิจฉัย รวมทั้งตีความ

เรามักจะมองข้ามขั้นไปเสีย แล้วมัวตื่นเต้นว่าวิจารณ์ได้เก่ง อะไรต่างๆ โดยไม่ได้ดูว่าข้อมูลนั้นถูกต้องถ่องแท้หรือไม่ ทีนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาด มันก็เสียหมด เหมือนอย่างว่าเขาพูดเรื่องแมวแล้วตัวเองไปจับเอาเป็นเรื่องเสืออย่างนี้ ข้อมูลที่จับเอาไปผิดแล้ว การสันนิษฐานวิจารณ์ก็คลาดเคลื่อนหมด หรือเขาพูดเรื่องมะนาวตัวเองไปฟังเป็นมะพร้าว แล้วจะเอาไปวิเคราะห์วิจารณ์สันนิษฐานอย่างไร มันก็ไปคนละเรื่อง

อีกอย่างหนึ่ง เวลานี้ชอบพูดกันในเรื่องเสรีภาพ จนกลายเป็นตื่นหลงไป แทนที่จะศึกษากันให้เข้าใจ เพื่อจะได้ใช้ให้ถูกต้อง บางทีพูดกันเหมือนกับว่าถ้ามีเสรีภาพหรือใช้เสรีภาพ ก็เป็นอันว่าถูกต้อง ดังจะเป็นจริยธรรมไปเลยในตัว

เสรีภาพเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้คนมีโอกาสและใช้โอกาส ประชาธิปไตยสร้างเสริมโอกาส และเสรีภาพก็ทำให้คนเข้าถึงและสามารถใช้โอกาสนั้น เสรีภาพที่สำคัญคือ เสรีภาพในการแสวงและแสดงความจริง กับเสรีภาพในการแสดงความต้องการ ทำสิ่งที่ต้องการ และได้รับผลตามควรแก่ความต้องการ

การใช้เสรีภาพไม่ใช่เป็นจริยธรรม แต่เป็นตัวบ่งบอกว่ามีจริยธรรมหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่า การใช้เสรีภาพอย่างถูกต้องนั้นแหละ เป็นจริยธรรม ถ้าใช้เสรีภาพไม่ถูกต้องก็เป็นการทำลายจริยธรรม

ถ้าใช้เสรีภาพในการแสดงความเท็จ เช่น เพื่อหลอกลวงผู้อื่น หรือแม้แต่เพื่อทำอะไรง่ายๆ ตามใจตัว หรือเพียงเพื่อสนองอารมณ์ หรือใช้เสรีภาพเพื่อทำการสนองความต้องการของตนในทางที่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพของชีวิตและโลก ก็ไม่เป็นจริยธรรม และก็ไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตยด้วย จึงพูดว่า เสรีภาพถูกจำกัดด้วยสิทธิ และถูกคุมโดยความรับผิดชอบ อีกทั้งมีกฎกติกาเป็นกรอบกั้น

ถ้าใช้เสรีภาพในการแสวงและแสดงความจริง โดยมีจริยธรรมทางวิชาการอย่างที่กล่าวข้างต้น ก็จะก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม เริ่มด้วยการพัฒนาปัญญา ที่เป็นผลดีทั้งแก่ชีวิตและสังคม แต่ถ้าใช้เสรีภาพนั้นโดยขาดจริยธรรมทางวิชาการ ผลงาน และการกระทำ แม้จะเรียกว่าเป็นวิชาการ ก็จะไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรเลย ตนเองก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เจริญปัญญา ไม่ก้าวหน้าไปในทางที่จะเข้าถึงความจริง ทั้งบั่นทอนประโยชน์สุขและความดีงามแห่งชีวิตและสังคม ตลอดจนก่อความเสียหายแปดเปื้อนเลือนรางแก่หลักการอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวหล่อเลี้ยงและเป็นตราชูแก่ชีวิตและสังคมนั้นด้วย

เสรีภาพทางวิชาการที่แท้ จึงหมายถึงเสรีภาพที่เป็นเครื่องมือของจริยธรรมทางวิชาการ

ใฝ่รู้จริง รักความจริง ชื่อตรงต่อความจริง
นักวิชาการไทยจะสร้างปัญญาให้แก่สังคมได้

จะด้วยเข้าใจผิดเอง หรือพยายามจะให้คนทั่วไปเข้าใจผิด ก็ตาม ได้มีการพูดและเขียนในทำนองที่จะทำให้คนไขว้เขวว่ากรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นการตีความทางวิชาการ และว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านหรือชี้แจงเป็นคนใจแคบ ทั้งที่แท้จริงนั้น กรณีของท่านเมตตาฯ นี้ เห็นอยู่ชัดๆ ว่าเป็นเพียงความผิดพลาดบกพร่องในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริงง่ายๆ พื้นๆ เท่านั้น

เปรียบเหมือนว่า มีชาวต่างประเทศนายหนึ่งมาทัศนาจรเมืองไทย ไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอนได้จังหวัดเดียว ก็กลับไปเขียนเล่าว่า ประเทศไทยมีแต่ภูเขาเต็มไปหมด

ชาวต่างประเทศอีกนายหนึ่ง มาเมืองไทย เที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วก็มาทัศนาจรในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงจนถึงอยุธยา กลับไปแล้ว ก็เขียนบอกว่า เมืองไทยมีภูเขาอยู่ที่เดียว คือในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกนั้นมีแต่ที่ราบ

ใครไปชี้แจงให้เขาฟังว่า ที่เขาพูดนั้นยังไม่ถูกต้อง ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเขาตอบกลับมาว่า เป็นการตีความทางวิชาการ เขามีสิทธิทำเช่นนั้น คำพูดของเขานี้คงต้องถือว่าแปลกประหลาด ไม่มีใครจะยอมรับได้

กรณีบทความของท่านเมตตาฯ นี้ ในส่วนที่ท่านยกขึ้นตั้งเป็นประเด็นใหญ่ให้เป็นชื่อเรื่องว่า “พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร?” นั้น แพทย์ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารเอง ก็พูดแล้วว่า การวินิจฉัยโรคที่ท่านเมตตาฯ ทำไปนั้น ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำไปโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ เป็นการเดาที่ยึดถือไม่ได้

ในส่วนของประเด็นที่ซ้อนหรือแฝงอยู่ (ซึ่งที่จริงท่านเมตตาฯ คงตั้งใจให้เป็นประเด็นหลักเลยทีเดียว) โดยเฉพาะข้อที่ว่า

  1. ผู้เรียบเรียงพระไตรปิฎกฟั่นเฟือนไปบ้าง แต่งเติมเข้ามาบ้าง
  2. พุทธปรินิพพานมีในฤดูหนาว-จวนหนาว ไม่ใช่เดือนวิสาขะ
  3. พุทธปรินิพพานเกิดขึ้นในเมือง ไม่ใช่ในสวนป่าสาลวัน

ทั้งหมดนี้ ท่านเมตตาฯ ยิ่งพลาดหนัก เหมือนพูดขึ้นมาลอยๆ

บทความของท่านเมตตาฯ เป็นอย่างไร ญาติโยมอาจมองเห็นง่ายขึ้นโดยเปรียบเทียบว่า บางส่วนก็คล้ายกับคนต่างประเทศที่สรุปสภาพภูมิศาสตร์ประเทศไทยจากการไปเที่ยวชมแม่ฮ่องสอน บางส่วนก็เหมือนหลวงลุงที่ฟังคำว่า “มีถ่านใส่เทปไหม?” แต่เข้าใจเป็น “มีถาดใส่เทปไหม?” บางส่วนก็เหมือนคนที่เจอคำฝรั่งว่า “fall” ในข้อความที่หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแตก แต่เข้าใจผิดเป็นว่า กรุงศรีอยุธยามีฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มีเกณฑ์วินิจฉัยความถูกผิดได้ ต้องตัดสินด้วยข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น เมื่อท่านเข้าใจหรือจับข้อมูลผิด หรือได้ข้อมูลพลาดๆ พร่องๆ ไปแล้ว เรื่องที่ไม่มีเหตุให้ต้องตีความหรือสันนิษฐาน ท่านก็เลยต้องไปพยายามตีความหรือสันนิษฐานโดยไม่จำเป็น และถึงแม้จะตีความหรือสันนิษฐาน การตีความหรือสันนิษฐานนั้นก็กลายเป็นเรื่องเหลวไหลไร้ความหมาย อย่างที่ได้กล่าวแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาเฟื่องไปกับการตีความแต่อย่างใด

ความไขว้เขวสับสนเพียงด้วยการฟังตามๆ พูดตามๆ กันไป หรือเพียงตื่นป้ายว่าเป็นเรื่องวิชาการอย่างนี้ กำลังเกิดบ่อยขึ้นในสังคมไทย กรณีซึ่งที่จริงเป็นเพียงปัญหาในเรื่องความผิดพลาดสับสน(ตลอดจนบิดเบือน) ในเรื่องข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงธรรมดา ก็มีการพยายามเลี่ยงหลบบิดเบนความเข้าใจของคนทั่วไปให้มองเป็นเรื่องการตีความ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ไขว้เขวไปตามเสียงล่อหลอก แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งที่ไม่ทันได้พิจารณาเรื่องให้ชัด ก็ได้พาซื่อพลอยพูดไปตามกลวิธีที่ชักจูง ให้ติดอยู่แค่ว่าเป็นเรื่องของการตีความทางวิชาการ

ถ้าจะให้วิชาการเจริญงอกงาม เป็นทางสร้างปัญญาแก่สังคมไทย คนในวงวิชาการจะต้องมีความใฝ่รู้ แสวงความจริง ศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นความหวังว่าวิชาการแท้จริงที่สร้างสรรค์ปัญญาจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

สรุปว่า บทความของท่านเมตตาฯ นี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่ความผิดพลาดเพียงแค่ในขั้นหลักฐานข้อมูลง่ายๆ พื้นๆ ได้ถูกยกชูให้ดูเหมือนเป็นเรื่องมีเนื้อหาสาระ โดยอาศัยความตื่นป้ายวิชาการ ซึ่งเป็นการอำพราง ที่ทำให้เรื่องซึ่งไม่เป็นปัญหา กลายเป็นปัญหาต่อพระพุทธศาสนา และก่อความสับสนโดยใช่เหตุ เป็นกรณีใหม่คล้ายกับเรื่องก่อนนี้ที่ค้างคาอยู่ คือกรณีธรรมกาย ซึ่งปัญหาเพียงในขั้นหลักฐานข้อมูล ได้ถูกอำพรางให้ดูเหมือนยากและซับซ้อน เนื่องจาก

• จับข้อมูลผิดพลาดสับสน รวมทั้งเข้าใจผิดในความหมายของถ้อยคำ เพราะไม่ศึกษาให้แม่นยำชัดเจน

• นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อน หรือ(จงใจ)ให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

• แยกไม่ได้ระหว่างข้อมูลกับการตีความ หรือทำให้สับสนกัน หรือนำเอาข้อมูลที่ผิดพลาดสับสนมาเป็นฐานของการตีความ

• เกิดความเข้าใจผิด หรือการพยายามทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

แท้จริงนั้น ทั้งกรณีท่านเมตตาฯ นี้ และกรณีธรรมกาย มีประเด็นซึ่งเห็นได้ไม่ยาก ถ้าตั้งใจพินิจ ก็จะไม่ไขว้เขวไปไกล

อย่างไรก็ตาม กรณีท่านเมตตาฯ ก็ยังเบา เพราะไม่ได้เกิดเป็นการกระทำรุนแรงขึ้นมา ต่างจากในเหตุการณ์กรณีธรรมกาย ที่ถึงกับเกิดมีขบวนการขึ้นมาดำเนินการใช้กลวิธีต่างๆ ที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจไขว้เขวสับสน ตลอดจนมีการทำร้ายผู้อื่น เช่น

• หลีกหลบการตรวจสอบ โดยปั่นข่าว หรือปั้นแต่งเรื่องให้คนเข้าใจไขว้เขวสับสนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการตีความ

• ปั้นแต่งเรื่องป้ายสีใส่ความ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ที่ออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน หรือเพื่อเบนประเด็น

สิ่งที่พุทธศาสนิกชนต้องการ คือ ความซื่อตรงต่อข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และการพูดจาถกเถียงกันตามเหตุผลโดยสุจริต

ปัญหาที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และขัดขวางพัฒนาการทางปัญญาของสังคมไทยนั้น ไม่ใช่เพราะคนไทยมีใจคับแคบ หรือผูกขาดความคิด ซึ่งที่จริงนั้นตรงข้ามเลยทีเดียว คนไทยเป็นคนใจกว้าง เราจึงไม่มีประวัติการรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่อง ความคิดความเชื่ออย่างชาติตะวันตก

โดยวิสัยปุถุชน ไม่ว่าคนฝรั่ง หรือคนไทย หรือคนชาติไหน ก็มีทิฐิ มีการยึดถือความเห็นของตัวตนด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อมองในขั้นการสั่งสมทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นความโน้มหนักหรือวิถีของสังคม ไทยกับฝรั่งมีลักษณะเด่นและปัญหาในเรื่องนี้ต่างกันไกล:

• ฝรั่งหรือพวกตะวันตก มีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่มีการยึดถือรุนแรง เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการบีบบังคับข่มเหงทำสงครามรบราฆ่าฟันกันด้วยเรื่องความคิดความเชื่อ ปัญหาของเขา คือการที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มากมายกว่าจะได้เสรีภาพทางศาสนา แต่ในแง่ดีก็เกิดเป็นมรดกแห่งลักษณะนิสัยใฝ่รู้แสวงปัญญา

• ส่วนคนไทยนั้นตรงข้าม เรามีภูมิหลังด้านลัทธิศาสนาที่เสรีสบายๆ จนกลายเป็นภาพที่แปลกแก่ฝรั่ง อย่างที่นายพลฝรั่งเศสยุคกรุงศรีอยุธยา ชื่อ เชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง เล่าแก่บาทหลวงใหญ่ในประเทศของเขา (ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๕๐ ภาคที่ ๘๐) ว่า “เมื่อผู้สั่งสอนศาสนาของเราแสดงคริสต์ธรรม คนไทยซึ่งเป็นคนว่านอนสอนง่าย นั่งฟังธรรมปริยายนั้นเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง ความพอใจของเขานั้น ไม่ว่าจะสอนศาสนาใดก็ชอบฟังทั้งนั้น” ปัญหาของเราคือ ปล่อยเสรีไปเสรีมาจนจะกลายเป็นเลยเถิด ชักเรื่อยเปื่อย ถึงกับจะละเลย ไม่ใส่ใจในเรื่องทางด้านความคิดและการแสวงปัญญา

สาเหตุที่แท้ของปัญหานี้ น่าจะสืบค้นดูในวงวิชาการไทยเรานี้ให้มาก บางทีเราจะขาดความใฝ่รู้และความเพียรที่จะสืบค้นความจริงให้ถ่องแท้ถึงที่สุด (เช่นที่ตีความอะไรง่ายๆ โดยไม่ศึกษาเรื่องให้ชัดเจน และไม่หาข้อมูลให้เพียงพอ พูดสั้นๆ ว่า ชอบแสดงความเห็น แต่ไม่ชอบหาความรู้) ถ้าแก้จุดอ่อนนี้ได้ นักวิชาการไทยจะเป็นที่หวังว่าจะมาเป็นผู้นำทางปัญญา ช่วยพาสังคมไทยให้มีวัฒนธรรมแห่งปัญญา และเดินหน้าไปในวิถีแห่งการสร้างสรรค์

1ธรรมกถา ตามคำอาราธนาของชาวธรรมะร่วมสมัย ที่วัดญาณเวศกวัน ๒๐ ก.ค. ๒๕๔๓
2ด้านหลังปกใน ใช้คำแนะนำเรื่องว่า “เงื่อนงำปรินิพพาน พระพุทธเจ้าดับขันธ์ด้วยโรคอะไร?”
3การนับเล่มในฉบับพิมพ์เป็นหนังสือ ในที่นี้ถือตามแบบของไทย
4๑. พระวินัยปิฎก คือ คัมภีร์รวบรวมพุทธบัญญัติ ที่เป็นพระวินัย คือ ระเบียบแบบแผนสำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ มี ๘ เล่ม (พระไตรปิฎก เล่ม ๑-๘)
๒. พระสุตตันตปิฎก คือ คัมภีร์รวบรวมพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสตามความเหมาะกับบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ มี ๒๕ เล่ม (พระไตรปิฎก เล่ม ๙-๓๓)
๓. พระอภิธรรมปิฎก คือ คัมภีร์ประมวลคำอธิบายธรรมตามเนื้อหาสาระหรือหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ มี ๑๒ เล่ม (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๔-๔๕)
5ที่พูดนี้ เฉพาะที่เนื้อความทั้งหมดตรงเป็นเรื่องเดียวกัน ยังไม่ได้พูดถึงในแง่ที่หลักธรรมเดียวกัน แต่ตรัสต่างโอกาส ซึ่งท่านจัดไว้ในพระไตรปิฎก ต่างแห่งต่างที่กัน เช่น นิวรณ์ ๕ มีอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ตามปกติ เพราะเป็นธรรมหมวด ๕ แต่ไปปรากฏในเล่ม ๒๔ (ประมวลธรรมหมวด ๑๐-๑๑) ด้วย เพราะตรัสในเรื่องการเป็นอาหารแก่กันของอกุศลธรรมต่างๆ ๑๐ ขั้น พร้อมกันนั้นก็มีในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ (ที่รวมโพธิปักขิยธรรม) ด้วย เพราะในที่นั้น พระพุทธเจ้าตรัสนิวรณ์ ๕ ไว้คู่กับโพชฌงค์ ๗ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายตรงข้ามกันแล้วในพระไตรปิฎกเล่ม ๙ ก็ตรัสเพราะทรงสนทนากับวาเสฏฐภารัทวาช ซึ่งตอนหนึ่งเรื่องโยงมาถึงการที่พราหมณ์ทรงไตรเพท อยากจะไปรวมกับพรหมก็ไปไม่ได้ เพราะถูกนิวรณ์ ๕ กั้นขวางรั้งไว้ และยังไปมีปรากฏในที่อื่นๆ เล่มอื่นๆ อีก ด้วยเหตุผลเกี่ยวเนื่องที่ต่างกัน ขอยกมาให้เห็นตัวอย่างเท่านี้ก่อน
6อุทาน คือ คติธรรมที่ตรัสเป็นคาถา โดยทรงปรารภเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเปล่งพระวาจาออกมาด้วยพระทัยเบิกบาน โดยไม่ต้องมีผู้ใดทูลถาม
7“อันสืบเนื่องมาจากบทความเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร’ ธรรมรักษา และการรักษาพระปฏิบัติ” โดย น.พ.สมพนธ์ บุณยคุปต์ ในวิชัยยุทธจุลสาร ของโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๔๓ หน้า ๖๔
8วิชัยยุทธจุลสาร วารสารของ รพ.วิชัยยุทธ ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค. ๒๕๔๓ หน้า ๖๔-๖๘
9นสพ.ข่าวสดรายวัน ฉบับวันอังคารที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๓
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง