สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

การรักษาฐานะของสถาบันพุทธศาสนา

ได้รับการแยกตีพิมพ์เป็นหัวข้อชื่อเดียวกัน ในหนังสือ "สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย" อ่านได้ที่ th/book-reading/424/1

th/book-reading/424/1

ปัญหา ฐานะ และภารกิจของพระสงฆ์ ในสังคมปัจจุบัน

ได้รับการแยกตีพิมพ์เป็นหัวข้อชื่อเดียวกัน ในหนังสือ "สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย" อ่านได้ที่ th/book-reading/424/2

ปัญหาสังคมไทยปัจจุบัน และแนวทางแก้ไข

ได้รับการตีพิมพ์เป็นเรื่องเดี่ยวชื่อ "บทเรียน ๒๕ ปี คนไทยเรียนรู้หรือยัง?" อ่านได้ที่ th/book-reading/240/1

บันทึกประกอบคำบรรยาย

บันทึกประกอบคำบรรยายนี้ ได้รับการจัดพิมพ์ใหม่ เป็นเรื่องเดี่ยว ในชื่อว่า "สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน" อ่านได้ที่ th/book-reading/423/1

บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน1

ชื่อเรื่องนี้ กำหนดให้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภารกิจต่างๆ ที่พระสงฆ์ปฏิบัติอยู่ พร้อมทั้งความมีส่วนร่วมและฐานะของพระสงฆ์ อันเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยสมัยปัจจุบัน คำว่าพระสงฆ์ในที่นี้ จำกัดเฉพาะพระสงฆ์ไทยในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท อันเป็นที่นับถือของประชาชนไทยส่วนใหญ่เท่านั้น การบรรยายตามแนวนี้ ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง และประสบการณ์ในภาวการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่เป็นสำคัญ และก็มีผลเป็นเพียงการรวบรวมผลงานขึ้นไว้เป็นหลักฐานและเผยแพร่ต่อไปเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ตั้งชื่อเรื่อง เห็นว่า ได้เพ่งเล็งในแง่ของคุณค่าด้วยว่า บทบาทของพระสงฆ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ มีคุณโทษอย่างไร ทั้งแก่ตัวพระสงฆ์เอง แก่คณะสงฆ์ แก่พระพุทธศาสนา แก่สังคมไทยส่วนรวม มีความควรและไม่ควรอย่างใด ตลอดถึงว่าควรจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วย การอภิปรายตามแนวนี้ จะรวบรวมเพียงข้อเท็จจริง และประเมินผลงานในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เพียงพอ ต้องกล่าวถึงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่เป็นรากฐานแห่งบทบาทนั้น สภาพของสถาบันคณะสงฆ์อันเป็นแหล่งของบทบาทนั้น และพื้นภาพทางประวัติศาสตร์ด้วย จึงจะช่วยให้ความเข้าใจในภาวการณ์ที่เป็นอยู่ชัดเจนยิ่งขึ้น และช่วยเสริมสร้างทัศนคติให้ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

บทความนี้ จึงจะได้บรรยายและแสดงทัศนะ โดยแยกเป็นหัวข้อย่อยตามลำดับ เริ่มแต่บทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์เป็นต้นไป

หน้าที่และความผูกพันโดยหลักธรรม

คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายวินัย ได้กำหนดให้ชีวิตของพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องและผูกพันอยู่กับสังคมโดยพื้นฐานทีเดียว ชีวิตสังคมของพระสงฆ์นี้ อาจแยกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ความสัมพันธ์ภายในสังคมสงฆ์ ระหว่างพระสงฆ์ด้วยกันเอง และความสัมพันธ์ในสังคมส่วนรวม ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน ชีวิตสังคมเป็นข้อผูกพันและสำคัญเพียงไร จะเห็นได้ชัดเจนจากบทบัญญัติต่างๆ ในวินัยของสงฆ์ มีการอยู่ร่วมกันเป็นวัด การกำหนดเขตสีมาอุโบสถ การปวารณา การกราลกฐิน พุทธบัญญัติที่ให้สงฆ์เป็นใหญ่ในกิจการต่างๆ ซึ่งเรียกว่าสังฆกรรม มีการอุปสมบท การระงับอธิกรณ์ เป็นต้น ตลอดถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีการเคารพกันตามอาวุโสเป็นต้น ซึ่งในที่นี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องชี้แจงแต่อย่างใด

ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับคฤหัสถ์นั้น พระสงฆ์ถูกกำหนดให้ต้องฝากชีวิตความเป็นอยู่ไว้กับคฤหัสถ์ เริ่มแต่อาหารซึ่งพระสงฆ์เป็นอยู่ด้วยบิณฑบาต คืออาหารที่คฤหัสถ์ถวาย ตลอดถึงปัจจัย ๔ อย่างอื่นๆ และความเป็นอยู่ที่ต้องอาศัยคฤหัสถ์เป็นประจำ เป็นข้อบังคับอยู่ในตัวให้ชีวิตของพระสงฆ์ผูกพันอยู่กับสังคมของคฤหัสถ์ ความผูกพันนี้ มิได้มีกำหนดแต่ในฝ่ายวินัยอย่างเดียวเท่านั้น แม้ในทางธรรม ก็มีพุทธพจน์ตรัสสอนและเตือนพระสงฆ์ให้ระลึกเสมอในภาวะนี้ เพื่อให้เกิดความสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ และความรู้สึกรับผิดชอบของตน เช่น

“บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ความเป็นอยู่ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น............ วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่”2

“ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่เหมาะสมสำหรับบำเพ็ญเพียร มี ๕ อย่างดังนี้ คือ................

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีทุพภิกขภัย ข้าวเสียหาย หาบิณฑบาตได้ยาก ไม่สะดวกที่จะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ไม่เหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรข้อที่สาม

อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย มีการก่อความกำเริบในป่าดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานอพยพหนีไป นี้เป็นสมัยที่ไม่เหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรข้อที่สี่”3

หน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์ เกิดขึ้นเพราะความผูกพันในด้านความเป็นอยู่นี้เป็นสำคัญส่วนหนึ่ง นอกจากนั้น เมื่อกล่าวในแง่คุณธรรม พระสงฆ์ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ด้วยอาศัยเมตตาและกรุณาธรรมของตน พุทธพจน์ที่ตรัสสอนเกี่ยวกับหน้าที่ทางสังคมของพระสงฆ์ มีอยู่มาก พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหน้าที่นี้ ตั้งแต่ทรงเริ่มประกาศพระศาสนาทีเดียว ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ ในการส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนา เป็นต้น เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”4

“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เป็นผู้มีอุปการะมากแก่เธอทั้งหลาย บำรุงเธอทั้งหลายด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

แม้เธอทั้งหลาย ก็จงเป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย จงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศแบบการครองชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นเถิด

ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย ต่างอาศัยกันและกัน ด้วยอามิสทาน และธรรมทาน อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อต้องการสลัดโอฆะ เพื่อทำความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยอาการอย่างนี้”5

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด (เราจักทำให้) ปัจจัยของชนเหล่านั้น เป็นของมีผลมาก มีอานิสงส์มาก และการบรรพชาของเราจักไม่เป็นหมัน จักมีผล มีกำไร เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล

อนึ่ง เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน ควรแท้ทีเดียว ที่จะทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของผู้อื่น ก็ควรแท้ทีเดียว ที่จะทำประโยชน์นั้น ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท หรือเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายก็ควรแท้ทีเดียวที่จะทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้นให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท”6

“ดูก่อนคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน พึงได้รับการบำรุงจากกุลบุตร โดยฐานะ ๕ คือ

๑) ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา

๒) ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา

๓) ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา

๔) ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู (คือเต็มใจต้อนรับ)

๕) ด้วยจัดหาอามิสทานถวาย

สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน เมื่อได้รับการบำรุงจากกุลบุตรโดยฐานะ ๕ อย่างแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตร โดยฐานะ ๖ คือ

๑) สอนให้ละเว้นจากความชั่ว

๒) แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี

๓) อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม

๔) สอนสิ่งที่ยังไม่เคยได้สดับเล่าเรียน

๕) ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน ในสิ่งที่ได้สดับเล่าเรียนแล้ว

๖) บอกทางสวรรค์ให้ (แนะนำวิธีครองชีวิต ให้ได้รับผลดีและความสุข)”7

นอกจากนี้ ในวินัยยังมีบทบัญญัติสำหรับรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องและมั่นคง ให้สถาบันคณะสงฆ์อยู่ในฐานะมีเกียรติ เป็นที่เคารพเทิดทูน ทำการอนุเคราะห์ประชาชนด้วยคุณธรรม หวังประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เพ่งอามิสหรือกลายเป็นการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เช่น ไม่ให้ภิกษุประจบคฤหัสถ์ ด้วยการยอมตัวลงรับใช้เขาในกิจการต่างๆ8 ไม่ให้เป็นคนมักขอ9 ซึ่งทำให้คนเสื่อมศรัทธาและความเคารพจากสถาบันสงฆ์และพระศาสนา ให้มีการลงโทษผู้ทำลายความสัมพันธ์อันดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภิกษุหรือคฤหัสถ์ เช่นบัญญัติให้สงฆ์พิจารณาลงปฏิสาราณียกรรมแก่ภิกษุผู้ทำความผิดต่อคฤหัสถ์ หาทางกำจัดผลประโยชน์ของเขา ทำให้เขาเดือดร้อน ยุแหย่ให้คฤหัสถ์แตกแยกกัน หรือรับคำกับเขาแล้วไม่ทำจริง เป็นต้น โดยลงโทษให้ไปขอขมาต่อคฤหัสถ์นั้น10 และในทำนองเดียวกัน สำหรับคฤหัสถ์ที่ทำผิดต่อสงฆ์ ในความผิดที่คล้ายคลึงกันนั้น ก็มีบทบัญญัติให้สงฆ์ลงโทษคว่ำบาตร11 ได้เช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป หน้าที่และความผูกพันทางสังคมของพระสงฆ์ เกิดจากองค์ประกอบ ๓ ประการคือ

๑. การดำรงชีวิตของพระสงฆ์ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ที่ชาวบ้านถวาย

๒. สภาวะและเหตุการณ์ในสังคม ย่อมมีผลเกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญสมณธรรม

๓. โดยคุณธรรมคือ เมตตา กรุณา จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์

ยังมีพุทธพจน์อีกเป็นอันมากที่ตรัสสอนเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมของพระสงฆ์ ขอยกมาแสดงเป็นตัวอย่างอีกจำนวนหนึ่ง ดังนี้

“ความเป็นผู้มีมิตรดี (กัลยาณมิตร) มีสหายดี มีเพื่อนดี เท่ากับชีวิตพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”12

“ประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรจัดควรทำทั้งหลาย ทั้งงานสูง งานต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาสำหรับพิจารณา ร้อุบายในกิจนั้นๆ สามารถจัด สามารถทำได้........นี้ก็เป็นนาถกรณธรรมข้อหนึ่ง”13

“ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ เพราะความประพฤติในปฏิสันถาร และความเป็นผู้ฉลาดในอาจาระนั้น จักทำความสิ้นทุกข์ได้”14

“ปฏิปทาที่อิงอาศัยลาภเป็นอย่างหนึ่ง ปฏิปทาที่ให้ถึงนิพพาน เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทราบดังนี้แล้ว ไม่พึงเพลิดเพลินในสักการะ พึงพอกพูนวิเวกเนืองๆ”15

“ภิกษุพึ่งเสพการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไปผู้เดียว ซึ่งเป็นผู้ยินดีในเขตป่า”16

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอทั้งหลาย จะไม่เข้ามาเกยติดฝั่งโน้นฝั่งนี้ ไม่จมเสียในระหว่างทาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์ฉุดเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดไว้ ไม่เน่าภายใน เธอทั้งหลายก็จักโน้มเอียงมุ่งดิ่งไปสู่นิพพาน

ก็มนุษย์ผู้ฉุดเอาไว้นั้นคืออะไร กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมนำตนเข้าไปวุ่นในกิจการที่เกิดขึ้นของเขา นี้แล เรียกว่ามนุษย์ฉุดเอาไว้”17

พุทธพจน์เหล่านี้ หลายข้อดูคล้ายขัดกับชีวิตสังคม และแย้งกันอยู่ในตัว ลักษณะที่ดูเผินๆ ว่าขัดกันนี้ มีทั่วไปในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นคำสอนที่เพ่งความคนละแง่ แล้วกลับมาเสริมกันให้สมบูรณ์ ในกรณีนี้ พุทธพจน์ที่ยกมาแสดงทั้งหมดนั้น เป็นกรอบสำหรับกำหนดขอบเขตชีวิตทางสังคมของพระสงฆ์ ให้อยู่ในสภาพที่พอเหมาะพอดีและถูกต้อง ช่วยรักษาผลประโยชน์ที่จะเกิดจากการปฏิบัติธรรมให้คงอยู่ ช่วยรักษาสถาบันสงฆ์ให้มั่นคง และรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนให้พอเหมาะพอดี และจะเป็นเกณฑ์สำหรับกำหนดขีดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างพุทธบริษัททั้งสองฝ่ายนี้ต่อไป

บทบาทในอดีต

ประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนี้ ยังไม่ปรากฏละเอียดชัดเจน พอที่จะให้ทราบถึงบทบาทของพระสงฆ์ในยุคเริ่มแรกทีเดียวว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะถือตามอย่างประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ของพระพุทธเจ้า และพระสาวกรุ่นแรกๆ แล้ว ก็จะต้องอนุมานว่า พระเถระผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในครั้งแรก ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก ในการใช้วิธีการเผยแผ่แบบต่างๆ จาริกสั่งสอน เพื่อนำธรรมให้เข้าถึงประชาชน หรือนำประชาชนให้เข้าถึงพระศาสนา อาจเรียกระยะแรกนี้ว่า ระยะออกไปหาประชาชน

ต่อมา เมื่อการเผยแผ่เป็นผลสำเร็จกว้างขวาง พระพุทธศาสนาประดิษฐานลงมั่นคงแล้ว เกิดมีสถาบันวัดและพระสงฆ์ขึ้นเป็นหลักฐาน วัดและพระสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทุกอย่าง และในทุกระยะแห่งชีวิตของประชาชน วัดก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นส่วนศูนย์กลางของสังคมทีเดียว คนไทยทุกคนเกิดมาเป็นชาวพุทธโดยไม่รู้ตัว โดยไม่ต้องประกาศ รู้จักวัดในฐานะเป็นศูนย์กลางของสังคม รู้จักพระสงฆ์ในฐานะเป็นบุคคลที่ตนต้องเคารพเชื่อถือ ภาวะนี้ เป็นสิ่งที่กลมกลืน แทรกอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยไม่รู้ตัว ในระยะนี้ บทบาทของพระสงฆ์ก็เปลี่ยนไป แทนที่จะต้องออกไปเผยแพร่ธรรมให้เข้าถึงประชาชน ก็เพียงคอยรออยู่ที่วัด คอยอนุเคราะห์ประชาชนซึ่งเป็นชาวพุทธอยู่แล้ว และมาวัดเพื่อขอรับบริการในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางบริการต่างๆ ของสังคมของตน ท่าทีของพระสงฆ์เปลี่ยนมาเป็นการคอยรอรับพิจารณาปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่เขาจะนำมาถามและปรึกษาที่วัด คอยรอรับอาราธนาจากชาวบ้านผู้ศรัทธาอยู่แล้วที่จะมาหา กระบวนการที่จะให้เกิดภาวะนี้ได้ คงต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควร แต่ภาวะเช่นนี้ก็ได้มีในสังคมไทยมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว อาจเรียกระยะนี้ว่า ระยะรอรับอาราธนา ระบบความเชื่อถือ และวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามความเชื่อถือนั้น ถูกทำสืบต่อกันมาจนวางเป็นแบบฉบับ กลายเป็นพิธีกรรมที่ต้องยึดถือตายตัว เพื่อคุณค่าในทางความศักดิ์สิทธิ์และความงามเป็นต้น เช่น พิธีการเทศน์ ที่ต้องขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ถือคัมภีร์ มีคนอาราธนา และติดกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น โดยที่ภาวะเช่นนี้ดำเนินสืบเนื่องมาไม่ขาดสาย โดยไม่มีอะไรมากระทบหรือขัดขวาง จึงกลายเป็นระยะแห่งความเฉื่อยนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ตลอดระยะนี้ สังคมไทยทุกหน่วยย่อย เช่น แต่ละหมู่บ้าน ต่างมีวัดประจำหมู่บ้านของตนเป็นศูนย์กลาง และต่างก็มีความยึดถือในวัดนั้นว่าเป็นวัดของตน เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งหมู่บ้านนั้น วัดแต่ละวัดจึงเป็นเครื่องรวมสังคมย่อยหนึ่งๆ เข้าให้เป็นหน่วยเดียวกัน บทบาทของวัดในฐานะศูนย์กลางของสังคมในระยะนี้ นอกจากอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนแล้ว พอสรุปได้ดังนี้

๑. เป็นสถานศึกษา สำหรับชาวบ้านส่งกุลบุตรมาอยู่รับใช้พระ รับการฝึกอบรมทางศีลธรรม และเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ตามที่มีสอนในสมัยนั้น

๒. เป็นสถานสงเคราะห์ ที่บุตรหลานชาวบ้านที่ยากจนได้มาอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่และศึกษาเล่าเรียนด้วย ตลอดถึงผู้ใหญ่ที่ขัดสนมาอาศัยเลี้ยงชีพ

๓. เป็นสถานพยาบาล ที่แจกจ่ายบอกยาและรักษาผู้เจ็บป่วยตามภูมิรู้ของคนสมัยนั้น

๔. เป็นที่พักคนเดินทาง

๕. เป็นสโมสร ที่ชาวบ้านมาพบปะสังสรรค์ หย่อนใจ หาความรู้เพิ่มเติม

๖. เป็นสถานบันเทิง ที่จัดงานเทศกาล และมหรสพต่างๆ สำหรับชาวบ้านทั้งหมด

๗. เป็นที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นที่ปรึกษา แก้ปัญหาชีวิตครอบครัวและความทุกข์ต่างๆ

๘. เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปกรรมต่าง ๆ ของชาติ ตลอดจนเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์

๙. เป็นคลังพัสดุ สำหรับเก็บของใช้ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะได้ใช้ร่วมกันเมื่อมีงานที่วัด หรือยืมไปใช้เมื่อตนมีงาน

๑๐. เป็นศูนย์กลางการบริหารหรือปกครอง ที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะเรียกลูกบ้านมาประชุมกันบอกแจ้งกิจการต่างๆ (ในยามสงคราม อาจใช้เป็นที่ชุมนุมทหารด้วย)

๑๑. เป็นที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการด้านพิธีกรรม อันเป็นเรื่องผูกพันกับชีวิตของทุกคนในระยะเวลาต่างๆ ของชีวิต18

กล่าวได้ว่า วัดเป็นทุกอย่างของสังคม เป็นศูนย์กลางที่รวมจิตใจของประชาชน ส่วนพระสงฆ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของวัดในบทบาทเหล่านี้ ก็กลายเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์รวมแห่งความเคารพเชื่อถือและการร่วมมือ โดยนัยนี้ วัดก็กลายเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติ ในฐานะเป็นที่ยึดเหนี่ยวประชาชนให้มีความสามัคคี และให้รวมตัวกันเข้าเป็นหน่วยหนึ่งๆ ได้

นอกจากการช่วยให้เกิดความสามัคคี ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการประพฤติศีลธรรมในสังคมหมู่บ้านแล้ว ฐานะของพระสงฆ์ที่ได้รับความเคารพนับถือ น่าจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมทางสังคมระดับประเทศด้วย เพราะความเป็นที่เคารพนับถือของพระสงฆ์นั้น เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั่วทุกส่วนทุกชั้นของสังคม นับแต่พระมหากษัตริย์ลงมา

ในสังคมที่ผู้ปกครองมีอำนาจสิทธิขาดผู้เดียว ถ้าผู้ปกครองขาดคุณธรรมแล้ว ความยุ่งยากเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง และโดยสามัญวิสัยของมนุษย์ แม้คนดีมีเหตุผล เมื่อขาดเครื่องยับยั้งและมีโอกาสเต็มที่ที่จะทำอะไรตามใจตน ถ้าไม่หนักแน่นจริง ก็อาจละเมิดความยับยั้งชั่งใจของตน ละเมิดเหตุผล ลุอำนาจกิเลสสามัญ ทำการเพื่อสนองความต้องการส่วนตัวได้ จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องยับยั้งหรือควบคุมในรูปใดรูปหนึ่ง ในสังคมไทยสมัยโบราณ แม้ว่าพระมหากษตริย์จะทรงอำนาจสมบูรณ์สิทธิขาดพระองค์เดียว แต่พระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ก็เป็นที่เคารพนับถือขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย บางท่านอาจเป็นครูอาจารย์ของพระมหากษัตริย์มาแต่เดิม พระสงฆ์เหล่านี้จึงมีบทบาทเป็นพระอาจารย์ หรือเป็นที่ปรึกษา หรืออย่างน้อยเป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ตั้งแห่งความละอาย ช่วยยับยั้งการกระทำบางอย่างขององค์พระมหากษัตริย์และผู้มีอำนาจ และเป็นผู้นำเสียงประชาชนเข้าถึงผู้บริหารประเทศ ในเวลาเดียวกันฐานะของพระสงฆ์ ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยความเคารพนับถือของประชาชน ซึ่งอาศัยความบริสุทธิ์และการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง เสียงและศรัทธาของประชาชน จึงเป็นกรอบความประพฤติของพระสงฆ์ได้อีกต่อหนึ่ง ส่วนประชาชนเอง ก็มีสถาบันการปกครองของประเทศ และสถาบันศาสนาเป็นเครื่องควบคุมความประพฤติอีกชั้นหนึ่ง นับว่าเป็นระบบการควบคุมทางสังคมที่รัดกุมแบบหนึ่ง

ในสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ สิ่งที่ควบคุมความประพฤติของชนชั้นปกครอง ก็คือเสียงของประชาชน ซึ่งหมายถึงประชาชนที่ได้รับการศึกษาดีแล้ว แต่ถ้าประชาชนยังด้อยการศึกษาอยู่ และสถาบันอื่นที่เคยช่วยทำหน้าที่นี้หมดความหมายไป ระบบการควบคุมก็เกิดช่องโหว่ จึงอาจเป็นสภาพที่เสี่ยงภัยก็ได้

การที่วัดกลายเป็นศูนย์กลางของสังคม ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นผู้นำทางจิตใจ และเป็นศูนย์รวมความร่วมมือนั้น อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเป็นที่ประกอบพิธีกรรม หรือให้บริการในด้านนี้เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ข้อสำคัญ ปัจจัยสำคัญนั้นอยู่ที่ความรู้สึกว่าพระสงฆ์เป็นผู้ประพฤติธรรม มีความบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง เป็นผู้เสียสละบำเพ็ญตนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยบริสุทธิ์ใจอย่างหนึ่ง และที่น่าจะสำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกว่าพระสงฆ์เป็นผู้มีสติปัญญารอบรู้วิชาการต่างๆ ทุกอย่าง เหนือกว่าพวกตน สามารถเป็นที่ปรึกษาแนะนำชาวบ้านในปัญหาต่างๆ ได้ทั่วไป อันเป็นความรู้สึกในฐานะศิษย์กับอาจารย์ เป็นเครื่องรักษาความเคารพเชื่อถือได้ยังยืนมั่นคงยิ่ง รวมปัจจัยสำคัญ ๓ อย่าง ที่เชิดชูฐานะของพระสงฆ์ในสังคม คือ ความบริสุทธิ์ ความเสียสละบำเพ็ญประโยชน์ และความเป็นผู้นำทางสติปัญญา

๑. บริสุทธิ์

๒. เสียสละ

๓. นำทางสติปัญญา

บทบาทที่สูญเสียไป

บทบาทของวัดและพระสงฆ์ดังกล่าวข้างต้น มีความเป็นมาอันมั่นคงเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อความเจริญแบบตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ ๗๐-๘๐ ปีมานี้ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ถึงอาจให้บทบาทที่กล่าวมานั้นสูญสลายไปทั้งหมดก็ได้

ความเปลี่ยนแปลง และสูญสลายแห่งบทบาทนี้ เริ่มจากเมืองหลวงก่อนแล้วขยายเข้าสู่สังคมแบบตัวเมือง ที่เจริญตามกันขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ และโดยที่สังคมชนบททั้งหลายก็กำลังขยายตัว ไปในทางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสังคมแบบตัวเมืองด้วยกันทั้งนั้น จึงเป็นที่น่าวิตกว่า บทบาทของพระสงฆ์จะค่อยสูญสลายไปจนหมดสิ้น

มูลเหตุของความเปลี่ยนแปลงและสูญสลายของบทบาทเหล่านี้ เท่าที่มองเห็น คือ

๑. ความเจริญแบบตะวันตก นำสถาบันต่างๆ แบบใหม่ เข้ามารับเอาบทบาทเดิมของวัดไปดำเนินการเสียหมด เช่น มีโรงเรียนตามระบบการศึกษาของชาติมาแทนบทบาทที่ ๑ มีกิจการสงเคราะห์ของรัฐบาลแทนบทบาทที่ ๒ มีโรงพยาบาล โรงแรม สโมสร โรงมหรสพ สถานเริงรมย์ อย่างบาร์ ไนท์คลับ ระบบการศาล ฯลฯ มารับบทบาทข้ออื่นๆ ต่อไป แยกกระจายบทบาททางสังคมของวัดเดิมออกไปทั้งหมด แต่ข้อนี้เป็นสาเหตุเพียงเผินๆ ไม่ลู้สำคัญ เพราะการดำรงฐานะของวัดและพระสงฆ์ ไม่ขึ้นอยู่กับบทบาทเหล่านี้ทั้งหมด บทบาทบางอย่างเป็นเพียงส่วนประกอบหรือฝากไว้ และบางอย่างถึงคงไว้ก็ควรเปลี่ยนรูปได้

๒. การไม่เข้าไปพิจารณาต้อนรับความเจริญอย่างใหม่ร่วมกัน กล่าวคือ เมื่ออารยธรรมแบบตะวันตกเข้ามานั้น พระสงฆ์กับประชาชนซึ่งสัมพันธ์กันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาผละออกจากกันเสีย พระสงฆ์ไม่ยอมรับรู้และเกี่ยวข้องกับผู้มาใหม่ พยายามยึดถือและฝืนเอาสภาพเดิมให้คงอยู่ในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงนั้นให้จงได้ ปล่อยให้ประชาชนออกไปสัมพันธ์กับผู้มาใหม่โดยลำพัง ปรับตัวเข้าหาและรับความเจริญแบบใหม่นั้นโดยลำพัง ขาดการเหนี่ยวรั้งจากพระสงฆ์ซึ่งเคยเป็นผู้แนะแนวทางมาแต่เดิม

๓. การสูญเสียภาวะผู้นำทางปัญญาของพระสงฆ์ สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งซึ่งความเจริญแบบใหม่นำเข้ามา คือวิชาการสาขาต่างๆ อันเป็นที่มาของความเจริญแบบใหม่นั้น สังคมคฤหัสถ์ตื่นเต้นที่จะเข้ารับศึกษาวิชาการเหล่านี้ ส่วนสังคมพระสงฆ์นั้นตรงข้าม มิได้มองดูวิชาการเหล่านั้นในฐานะความรู้ต่างๆ ที่สร้างเสริมสติปัญญามนุษย์ให้รู้จักสิ่งที่อยู่แวดล้อมตนดีขึ้น หรือในฐานะอุปกรณ์สำหรับช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก และมีความสัมพันธ์ต่อกันได้สะดวกยิ่งขึ้น มิได้เห็นวิชาการเหล่านั้นในฐานะสิ่งที่จะนำเอามารองรับเสริมส่งหลักธรรมในพระศาสนา กลับเห็นเป็นของประหลาดอันพึงรังเกียจ ทั้งที่วิชาการเหล่านี้ ก็เป็นวิชาการพวกเดียวกับความรู้เดิมที่ท่านเคยรู้ เคยใช้ทำประโยชน์ และแนะนำชาวบ้านมาแล้วนั่นเอง เป็นแต่มีระเบียบแบบแผน และกว้างขวางแปลกรูปออกไปอีกเท่านั้น และต่อมาพระสงฆ์เองก็ยอมรับและยินดีบริโภคใช้สอยวัสดุอุปกรณ์และบริการต่างๆ อันเป็นผลิตผลของวิชาการเหล่านั้น และยังได้พอใจที่จะอาศัยความรู้อันเป็นชิ้นส่วนเล็กน้อยเกี่ยวกับวิชาการเหล่านั้น มาเป็นเครื่องมือประกอบในการบริโภคใช้สอยอุปกรณ์และบริการเหล่านั้นด้วย

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ความเชื่อถือของประชาชนต่อพระสงฆ์นั้นเกิดจากความเป็นผู้นำทางปัญญา เพราะแต่ก่อนพระสงฆ์รู้วิชาการต่างๆ กว้างขวางยิ่งกว่าชาวบ้าน เป็นผู้สอนวิชาการเหล่านั้นแก่ชาวบ้าน และพระสงฆ์รู้สภาพความเป็นไปต่างๆ ในสังคม เข้าใจความรู้สึกนึกคิดจิตใจของชาวบ้านทั้งหมด มองเห็นภาพสังคมของชาวบ้านทั่วถึงชัดเจน เหมือนคนยืนบนที่สูง มองเห็นภาพความเป็นไปภายล่างทั้งหมด คำพูดชี้แจงแนะนำต่างๆ ของพระสงฆ์จึงมีค่าสูง ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ซึ่งชาวบ้านเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีคุณธรรม พูดด้วยหวังประโยชน์อย่างเดียวแล้ว ความเชื่อถือก็ยิ่งมั่นคงกลายเป็นความเคารพเชื่อฟัง วางใจสนิททีเดียว

การที่พระสงฆ์ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมเกี่ยวข้องกับวิชาการที่มากับความเจริญแบบใหม่ทั้งที่ความจริงก็เกี่ยวอยู่นั้น ทำให้เกิดการฝืนแบบทื่อๆ ต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ไม่มีการปรับปรุงระบบการศึกษาหรือแม้แต่ส่วนประกอบภายในระบบการศึกษาของตน ไม่เข้าใจสภาพปัจจุบันของสังคม และมองไม่เห็นภาพของตนเองภายในวงล้อมของสังคมว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ มีผลตามมาอีกอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

๑. เมื่อเวลาผ่านไป สังคมคฤหัสถ์ที่ไปสัมพันธ์กับผู้มาใหม่และเรียนรู้วิชาการใหม่ๆ นั้น ยิ่งเหินห่างกันออกไป หันมาดูสังคมสงฆ์ที่อยู่ในวงล้อมของตน เห็นเป็นของแปลกประหลาด คร่ำครึ ไม่สามารถเข้าใจ เหมือนผู้ที่เกิดอยู่คนละยุคคนละสมัย หรือใช้ภาษาพูดคนละภาษา พระสงฆ์ขาดความรู้อันเป็นสื่อกลางที่รู้ร่วมกัน สำหรับชักนำคนเหล่านั้นเข้าหาหลักธรรมทางศาสนาที่เขายังไม่รู้ จึงหาทางเข้าสัมพันธ์กันไม่ได้ ยิ่งห่างเหินจากกัน และไม่เข้าใจกันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเข้าใจผิด กล่าวร้ายต่อกันอีกด้วย เสียงที่ว่าพระสงฆ์ไม่ทำงาน เอาเปรียบชาวบ้าน ฯลฯ ก็เกิดขึ้นโดยนัยนี้

๒. สังคมทั่วไปเห็นว่า วิชาการแผนใหม่เป็นความรู้ของผู้เจริญแล้ว ผู้ใดไม่รู้ก็เป็นคนคร่ำครึ เมื่อพระสงฆ์ไม่รู้วิชาการเหล่านี้ ฐานะของพระสงฆ์ในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ก็ลดต่ำลง เห็นไปว่า พระสงฆ์เป็นผู้ด้อยทางสติปัญญา ไม่เกิดความระลึกถึงด้วยความรู้สึกศรัทธานิยมนับถือ ไม่เห็นเหตุชักจูงให้อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังเห็นว่าวิชาการที่พระสงฆ์เล่าเรียนกันอยู่ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและช่วยเหลือสังคมได้ เกียรติ ฐานะ และคุณค่าของการศึกษาพระปริยัติธรรมก็ลดต่ำลง ผู้สำเร็จการศึกษาออกไปไม่ได้รับการยกย่อง กลับถูกเหยียดหยาม ไม่กล้าประกาศตน เห็นสถาบันสงฆ์กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย

 

ข้อคิดบางประการที่ควรพิจารณาก่อน

เกี่ยวกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจการต่างๆ ในยุคที่บ้านเมืองก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ รับกับความเจริญแบบตะวันตกนั้น ความจริงก็มิใช่ว่าพระสงฆ์จะไม่มีการเคลื่อนไหวบทบาทเสียเลย แรกทีเดียวคณะสงฆ์ก็มีเค้าว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนกัน ที่เห็นชัดคือ พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว ที่จะให้พระสงฆ์เป็นกำลังสำคัญในการจัดการศึกษาแบบใหม่ของชาติ กิจการสำคัญที่ทรงริเริ่มขึ้นในด้านการคณะสงฆ์ ขอกล่าวถึงในที่นี้ ๓ อย่าง คือ

๑. การเริ่มการศึกษาแผนใหม่ โดยการตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด อาราธนาพระเป็นผู้สอนและเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มแต่มูลศึกษาและประถมศึกษา และทรงฝากความหวังไว้เป็นอันมาก ที่จะให้พระสงฆ์เอาธุระและเป็นกำลังสำคัญในการนี้19

๒. การออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งนอกจากมีจุดมุ่งหมายที่จะจัดการปกครองสังฆมณฑลให้เป็นแบบแผนเรียบร้อย คู่กันกับการปกครองฝ่ายพระราชอาณาจักรที่ได้แก้ไขจัดไว้ก่อนแล้ว หลักการที่สำคัญยิ่งก็คือ จะให้พระสงฆ์ได้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้การศึกษาที่ทรงริเริ่มจัดไว้แล้ว สอดคล้องและได้กำลังจากสายการปกครอง เป็นแบบแผนยิ่งขึ้น ข้อนี้เห็นได้ชัดจากบทบัญญัติมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ. นั้น ไม่ว่ามาตราใดที่ว่าด้วยเรื่องหน้าที่เจ้าคณะระดับต่างๆ จะต้องกำหนดหน้าที่ในการดูแลจัดการศึกษาไว้ด้วย20 กรณีเช่นนี้นับเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของ พ.ร.บ. นี้ ที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับต่อๆ มา

๓. การทรงสถาปนาสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ขึ้น ๒ แห่ง คือ ทรงสถาปนามหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชบิดา และทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นที่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์เอง21

การที่ทรงตั้งสถาบันทั้ง ๒ นี้ขึ้น มีหลักฐานแน่ชัดว่า ทรงมุ่งหมายจะปรับปรุงระบบการศึกษาปริยัติธรรมให้พระสงฆ์ได้เล่าเรียนวิชาการแผนใหม่ด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อความในประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ฯ ว่า “เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม และวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า” คำว่าวิชาชั้นสูงในที่นี้ ตามที่ปรากฏในหลักฐานการใช้ในสมัยนั้น ตรงกับคำว่าอุดมศึกษา22 และที่ชัดยิ่งกว่านั้นคือ มีระบุไว้ในโครงการศึกษา พ.ศ. ๒๔๔๑ ด้วยว่า จะให้สถาบันทั้ง ๒ นี้ เป็นวิทยาลัยหนึ่งๆ อยู่ในรัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย23

อย่างไรก็ตาม บทบาทของพระสงฆ์ในการจัดการศึกษาตามข้อที่ ๑ และ ๒ นั้น ไม่ปรากฏว่าได้เจริญก้าวหน้าเป็นหลักฐานมั่นคงยั่งยืน กลับปรากฏว่าบทบาทนี้ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเกือบจะไม่เหลือเลย24

ส่วนบทบาทในข้อ ๓ ก็เป็นเพียงโครงการ ไม่ได้จัดดำเนินการขึ้นเป็นรูปแท้จริง ตลอดเวลา ๕๐ ปี นับแต่เริ่มตั้งขึ้นมา ความเป็นเช่นนี้ อาจเกิดจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ หรือทุกข้อประกอบกัน คือ

๑. ไม่สามารถแก้ทัศนคติเดิมของพระสงฆ์ต่อวิชาการสมัยใหม่ได้ พระสงฆ์จึงไม่สนใจ ไม่เอาธุระจริงจังในงานนี้ เป็นเหตุให้งานไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

๒. นโยบายการศึกษาในรัชกาลต่อมา คือสมัย ร.๖ เป็นไปในทางแยกการศึกษาออกจากวัด ซึ่งจะเห็นได้จากการแยกการศึกษาฝ่ายปริยัติธรรม และการศึกษาฝ่ายบ้านเมืองออกจากกัน ย้ายกรมธรรมการไปสังกัดกระทรวงวัง เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเดิมเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อได้แยกการศึกษาสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะออกไปต่างหากแล้ว นโยบายการศึกษาของชาติที่ปรากฏในโครงการและแผนการศึกษาชาติต่อมาทุกฉบับ ก็ได้กำหนดไว้เฉพาะการศึกษาสำหรับราษฎรอย่างเดียว ไม่กำหนดการศึกษาฝ่ายสงฆ์เข้าไว้ด้วย ปล่อยให้แยกออกไปอยู่ในความรับผิดชอบของคณะสงฆ์ดำเนินการเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ในแผนการศึกษารวมของชาติ และแม้ในด้านการศึกษาสำหรับราษฎรที่เคยให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเข้าเรียน สอนและดำเนินการได้ ถึงคราวนี้ ก็ไม่กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์ไว้ในแผนการศึกษาชาติอีกเลย

๓. นโยบายการศึกษาใหม่ มุ่งจัดการศึกษาในทางแผนเส้นราบ ตามคติว่า “ไม่ต้องปั้นเทวดาก็ได้ เมื่อยกมนุษย์ขึ้นทั้งกระบิ ก็ได้เทวดาเอง”25 นโยบายนี้ อาจทำให้แรงมุ่งหมายในการจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาหย่อนกำลังลงก็ได้

การไม่ยอมรับรู้ในวิชาการสมัยใหม่ ทำให้ระบบการศึกษาของพระสงฆ์ด้อยความสำคัญลง และเกียรติของสถาบันสงฆ์ต่ำต้อยลงอย่างไรนั้น จะเห็นได้ชัดโดยการเทียบเกียรติและฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม เมื่อเริ่มจะมีการศึกษาแผนใหม่กับสมัยปัจจุบัน เมื่อระยะ ๕๐-๗๐ ปีมาแล้ว พระสงฆ์ที่ได้เป็นเปรียญแม้เพียงชั้นต้น ก็จะเป็นที่สนใจ เป็นที่รู้จัก และนิยมนับถือของประชาชนทั่วไป หากลาเพศไป ก็จะเป็นผู้มีเกียรติในสังคม ได้รับการยกย่องเชื้อเชิญให้ดำรงฐานะ หรือตำแหน่งงานอันสูง (ขอให้ดูสถิติเปรียญรัชกาลที่ ๕ ข้างล่าง) แต่พร้อมกับที่สังคมภายนอกก้าวไปข้างหน้า และสังคมสงฆ์หยุดนิ่งอยู่กับที่ ฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมก็ถูกลดต่ำลงๆ จนเห็นได้ชัดในขณะนี้ว่า แม้แต่ผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงสุดในปัจจุบัน ก็ไม่มีเกียรติเท่าผู้สอบได้ชั้นต่ำสุดในสมัยก่อนโน้น ถึงยังดำรงเพศอยู่ก็ไม่เป็นที่รู้จักสนใจ ยิ่งถ้าละเพศไป ก็ยิ่งไม่ปรากฏ กลับจะเป็นที่เพ่งมองไปในทางหยามด้วย ถึงกับมักหาทางปิดบังประวัติเดิมของตน กลัวคนอื่นจะรู้ว่าไปจากสถาบันสงฆ์ ฐานะของบุคคลที่ไปจากสถาบันสงฆ์ ย่อมเป็นเครื่องหมายฐานะของตัวสถาบันเองด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เกียรติและฐานะของสถาบันสงฆ์ จึงไม่มีความหมายสำคัญอะไรต่อสังคม แม้แต่ชื่อตัวระบบการศึกษาเอง ก็หาคนเข้าใจได้ยาก

ความรู้สึกอย่างหนึ่ง ที่คอยต้านทานการเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิชาการสมัยใหม่ ก็คือความรู้สึกว่า พระสงฆ์ที่เรียนรู้วิชาการแบบใหม่แล้วจะสึก หรือกำลังเรียนเพื่อเตรียมตัวหาทางออกไปประกอบอาชีพในเพศคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นความรู้สึกของผู้ชอบเป็นอยู่ด้วยสักแต่ว่าความรู้สึก ไม่ยอมรับผิดชอบในการคิดหาเหตุผล และมองสภาพความจริงในสิ่งใดๆ ความจริงการเล่าเรียนวิชาการ ไม่ว่าแบบเก่า แบบใหม่ หรือแบบใดก็ตาม จะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ก็อยู่ที่การตั้งเจตนาของผู้นั้น หากมุ่งหน้าเอาเพศบัง แอบหาประโยชน์ตนถ่ายเดียว ก็ไม่เหมาะสม ควรตำหนิทั้งสิ้น แต่หากเล่าเรียนด้วยจิต เป็นกลางตามเหตุผล ถึงจะสึกจะอยู่ในภายหลัง ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับสังคมไทยที่ได้สร้างประเพณีบวชเรียนขึ้นมาเพื่อเตรียมคนให้แก่สังคมของตน และยังไม่ได้ยกเลิกประเพณีนั้น

ความจริงเรื่องการบวชสึกของผู้มีความรู้ หรือไม่มีความรู้ เป็นเรื่องสามัญเสมอกันมาโดยตลอด ผู้พูดส่วนมากมักพูดตามความรู้สึก มากกว่าที่จะได้พิจารณาหลักฐานข้อเท็จจริง ในแง่หนึ่ง ผู้มีความรู้ลาเพศไป คนก็รู้สึก ในเวลาเดียวกัน ผู้ไม่มีความรู้ หรือรู้ไม่ถึงขั้นที่คนสนใจ สึกไปมากมาย แต่ไม่สะกิดความรู้สึกของคน อีกแง่หนึ่ง ในการศึกษาปริยัติธรรมระบบเก่าด้วยกันเอง สมัยก่อนนี้ลาสิกขามากมายอย่างไร คนก็ลืมนึกถึง แต่เพ่งปัจจุบันนี้ถ่ายเดียว และอีกแง่หนึ่ง เมื่อในปัจจุบันนี้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาในระบบใหม่แล้ว คนก็เพ่งอีกว่าผู้เรียนแบบใหม่ เรียนจบแล้วสึก โดยไม่ได้พิจารณาว่าผู้ศึกษาจบระบบเก่าเป็นอย่างไร

ในที่นี้ จะแสดงสถิติการลาสิกขา เทียบระหว่างผู้ศึกษาตามแบบเก่าด้วยกัน แต่ต่างสมัย คือครั้งโบราณ กับปัจจุบันนี้อย่างหนึ่ง และเทียบระหว่างผู้ศึกษาตามแบบเก่ากับแบบใหม่ในสมัยปัจจุบันนี้ด้วยกันอีกอย่างหนึ่ง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๓ ถึง ๒๔๓๓ รวม ๒๐ ปี มีการสอบพระปริยัติธรรมรวม ๕ ครั้ง จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓26 คือ ๓๐ ปีต่อมา ได้สถิติเกี่ยวกับการลาสิกขา ดังนี้

พระภิกษุสามเณรสอบได้เป็นเปรียญทั้งหมด ๒๔๖ รูป27

ลาสิกขา ๑๔๗ รูป

คงอยู่ ๙๙ รูป28

ผู้ลาสิกขาคิดเป็น ๕๙.๗ %

สถิติผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง ๒๔๙๗ ดังนี้

ผู้สอบได้ ป.ธ. ๙ ทั้งหมด ๗๗ รูป

ลาสิกขา ๔๖ รูป

คงอยู่ ๓๑ รูป

ผู้ลาสิกขาประมาณ ๕๙.๘ %

สถิติผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ตามระบบการศึกษาปริยัติธรรมแบบเดิม และผู้จบการศึกษาพุทธศาสตร์บัณฑิต ตามระบบการศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง ๒๕๑๒ มีตัวเลขเทียบกันดังนี้

ป.ธ. ๙ สำเร็จ ๘๘ รูป ลาสิกขา ๔๔ รูป

คงอยู่ ๔๓ รูป = ลาสิกขา ๕๐.๖ %

พธ.บ. สำเร็จ ๒๘๘ รูป ลาสิกขา ๑๓๗ รูป

คงอยู่ ๑๕๑ รูป = ลาสิกขา ๔๗.๖ %

ในด้านเกียรติของผู้สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมในสมัยก่อนสูงเพียงไร พึงดูจากสถิติเปรียญ ๒๔๖ ท่าน ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๓๓ ซึ่งสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓29 ดังนี้

ฝ่ายพระสงฆ์

เป็นสมเด็จพระสังฆราช ๑ ท่าน

สมเด็จพระราชาคณะ ๓ ท่าน

พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๕ ท่าน

พระราชาคณะชั้นธรรม ๗ ท่าน

พระราชาคณะชั้นเทพ ๔ ท่าน

พระราชาคณะชั้นราช ๑ ท่าน

พระราชาคณะชั้นสามัญ ๑๕ ท่าน

พระครู ๖ ท่าน

ฝ่ายคฤหัสถ์

เป็นเจ้าพระยา ๑ ท่าน

พระยา ๘ ท่าน

พระ ๖ ท่าน

หลวง ๑๐ ท่าน

ขุน ๑๓ ท่าน

อธิบดี (มจ.) ๑ ท่าน

ดร. ๑ ท่าน

กำนัน ๑ ท่าน

ผู้ใหญ่บ้าน ๑ ท่าน

เกี่ยวกับเรื่องการลาสิกขาของพระสงฆ์นี้ ควรได้รับการพิจารณามากว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร และสภาพที่เป็นไปอยู่ มีมูลเหตุมาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ในความสนใจของคนมาก และเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของสถาบันสงฆ์และพระศาสนา ในการพิจารณาเรื่องนี้ จะถือเอาความพอใจหรือความอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในใจของตนเองมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงและพิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ และหากจะคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการนี้อย่างไร ก็จะต้องกระทำด้วยความเข้าใจในเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุด

เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติที่ผ่านมา เห็นว่าประเพณีการสึกได้ตามพอใจ มีผลดีเหลือคุ้มผลเสียเป็นอันมาก ซึ่งจะได้พิจารณาต่อไป แต่เบื้องแรกนี้ พึงทราบทัศนคติในทางพระพุทธศาสนาที่มีต่อการสึกเสียก่อน

ตามหลักพระพุทธศาสนา ชาวพุทธมี ๔ ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือรวมเข้าเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ บรรพชิต กับ คฤหัสถ์ การเป็นชาวพุทธไม่จำต้องเป็นภิกษุ ผู้ที่บวชเป็นภิกษุนั้นหมายถึงผู้ที่ต้องการปฏิบัติข้อบัญญัติต่างๆ อย่างมุ่งมั่นแข็งขันจริงจังโดยเต็มที่ เพื่อเข้าถึงจุดหมายของศาสนาให้ทันใจตน ข้อปฏิบัตินี้ย่อมเป็นของยากสำหรับคนทั่วไป ถ้าผู้เข้าบวชแล้วเห็นเหลือกำลังตน ไม่สามารถทำได้ ก็ย่อมต้องถอยคือ ละเพศออกมาเป็นคฤหัสถ์ตามเดิม ซึ่งก็ยังเป็นชาวพุทธอยู่ตามเดิม การบวชและสึก ไม่ใช่การเข้าสู่ศาสนาหรือออกจากศาสนา และไม่ใช่การแสดงออกว่าศาสนาดีหรือไม่ดี แต่เป็นการแสดงความสามารถของบุคคลนั้นเองว่า ทำได้หรือไม่ได้ ยังสู้ต่อไปหรือยอมแพ้ เหมือนการปีนต้นไม้ขึ้นเก็บผลไม้ที่ต้องการ ซึ่งรู้ว่าดีอยู่แล้ว การปีนขึ้นเก็บผลไม้ได้หรือไม่ได้ ไม่แสดงว่าผลไม้นั้นดีหรือไม่ดี แต่แสดงถึงความสามารถของบุคคลนั้นเอง

ทัศนคตินี้ มีพุทธพจน์ยืนยันตามเสียงสรรเสริญของคนนอกศาสนาว่า

“สาวกของพระสมณโคดมเหล่าใด แม้บาดหมางกับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว ลาสิกขาสึกไป สาวกเหล่านั้นก็ยังคงกล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ เป็นแต่ติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่นว่า เรานี้ถึงจะได้มาบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ แต่ก็ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิตได้ เป็นคนไม่มีบุญ มีบุญน้อยเสียแล้ว สาวกของพระสมณโคดมเหล่านั้น ถึงจะ (สึกไป) เป็นอารามิกก็ดี เป็นอุบาสกก็ดี ก็ยังคงประพฤติมั่นอยู่ในเบญจศีล”30

ในด้านผลดีของประเพณีนี้ พอยกตัวอย่างได้ดังนี้

๑. ข้อที่ปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว ก็คือ เป็นการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา ที่ให้เสรีภาพในการปฏิบัติธรรมโดยสมัครใจ การสึกของบางคนอาจช่วยให้เขาบรรลุธรรมได้ง่ายขึ้น เพราะให้เกิดประสบการณ์ที่ชักนำเข้าสู่การเข้าใจธรรมได้ดีขึ้น ถ้าไม่สึกอาจเป็นผลเสีย กลายเป็นเสื่อมจากผลที่ต้องการก็ได้ ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่าง ผู้บวชๆ สึกๆ ถึง ๗ ครั้ง และบรรลุอรหัตตผลในที่สุด

๒. การบวชแล้วสึกได้ตามสมัครใจ โดยที่ยังคงได้รับความนับถือยกย่องตามควรนั้น เป็นเครื่องรักษาความบริสุทธิ์ และเสถียรภาพของสถาบันสงฆ์ในประเทศไทยให้คงอยู่ได้ถึงบัดนี้ เพราะการบวชอยู่ได้นั้น ต้องขึ้นกับกำลังศรัทธา และความสามารถของผู้บวชเองดังกล่าวแล้ว การสึกมิได้หมายความว่า บุคคลผู้สึกเป็นคนไม่ดี แต่หมายถึงการคลายความเพียร หมดกำลังความสามารถที่จะทำความดีทางสมณเพศให้ยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วยอมรับและประกาศความไม่สามารถของตนโดยเปิดเผย หยุดยั้งการทำความดีทางสมณเพศไว้เพียงนั้น มีโอกาสออกมาทำความดีทางฆราวาสวิสัยต่อไป แต่ถ้าหมดกำลังความสามารถในทางสมณปฏิบัติแล้ว ยังจำใจ หรือถูกบีบบังคับให้ฝืนครองเพศอยู่อีก ทั้งที่ใจน้อมไปในฆราวาสวิสัยแล้ว ตนเองก็จะไม่ก้าวหน้าในสมณปฏิบัติต่อไป ทั้งจะคอยหาโอกาสทำการต่างๆ ที่ตนปรารถนาในฆราวาสวิสัย ชักนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันสงฆ์ส่วนรวมด้วย

ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ให้โอกาสแห่งเสรีภาพเช่นนี้แก่ผู้บวชตลอดมา พระสงฆ์ที่มีความสามารถในกิจของฆราวาส เช่น การรบเป็นต้น ก็ได้รับโอกาสให้ออกมารับใช้บ้านเมืองในกิจการที่ตนสามารถนั้น และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แม้มีความสามารถ ปรารถนาบริหารประเทศชาติให้ก้าวหน้า ก็อาจลาสิกขา ออกมาดำเนินงานนั้นในเพศฆราวาสได้ โดยนัยตรงข้าม ถ้าท่านเหล่านั้น ต้องฝืนทนครองเพศอยู่ ก็จะต้องหาทางดึงบทบัญญัติต่างๆ ทางธรรมวินัยลงมา หรือตีความให้เข้ากับความปรารถนาของตน และในเมื่อมีอำนาจก็จะทำได้ง่าย ด้วยอาศัยกาลเวลายาวนาน การพระศาสนาก็จะเสื่อมทรุดลงโดยลำดับ เหมือนอย่างสภาพที่เกิดขึ้นแล้วแก่พระพุทธศาสนาในหลายประเทศ ซึ่งถึงกับเข้าไปครอบงำกิจการของบ้านเมือง และพระสงฆ์มีชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงชาวบ้านก็มี นับว่าประเพณีนี้ ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทย คงความบริสุทธิ์อยู่ได้ โดยการไม่เข้าไปก้าวก่ายในการเมืองเป็นต้น

อย่างไรก็ดี ถ้ามีความจำเป็น หรือมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะแก้ไขสภาพนี้ ให้พระสงฆ์บวชแล้ว ต้องครองเพศไปโดยตลอดให้ได้ ข้อที่จะพึงแก้ไขนั้นจะต้องไม่ใช่แก้ที่การสึก แต่จะต้องแก้ไขที่การบวช โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีการบวช หรือถ้าเป็นไปได้ ต้องห้ามผู้ที่คิดจะสึก หรืออาจจะสึกไม่ให้บวช

๓. ประเพณีการบวชเรียนแล้วสึกได้ เป็นเครื่องรักษาดุลย์แห่งปริมาณของพระสงฆ์ และช่วยให้มีพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถคอยรับช่วงครองวัด และช่วยเหลือกิจการพระศาสนาอยู่สืบต่อกันมาได้ โดยที่สังคมไทยมีประเพณีส่งเสริมการบวช โดยถือว่าเป็นบุญทั้งผู้บวช และผู้จัดการให้บวช ในกรณีนี้ ถ้าสึกไม่ได้ นอกจากจะเกิดผลเสียดังกล่าวในข้อ ๒ แล้ว จำนวนผู้บวชจะต้องล้นประเทศแน่ แต่เพราะมีการสึกได้เช่นกัน จำนวนพระสงฆ์จึงเป็นไปโดยสมดุลย์ แต่ในกรณีนี้ ระยะการอยู่ในสมณเพศของผู้บวชแต่ละคนอาจสั้นมาก จนไม่สามารถรู้จักเข้าใจพุทธศาสนา ไม่สามารถช่วยตนเอง ไม่สามารถทำกิจศาสนา รักษาศาสนา และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้ การบวชเรียน คือ บวชแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งวิชาการทางศาสนาและทางโลก ได้ช่วยกระตุ้นให้มีการบวชมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน ก็ช่วยยืดเวลาอยู่ในสมณเพศออกไป ซึ่งอาจจะช่วยหน่วงเหนี่ยวให้บวชอยู่ตลอดไป หรืออย่างน้อยก็ให้มีผู้อื่นได้ศึกษาเล่าเรียนพอสมควร แล้วมาสืบต่อหน้าที่ต่อไป ทำให้มีพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถอยู่ครองวัด ปฏิบัติศาสนกิจ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมได้

หลักการนี้สำคัญมากเพียงไร จะเห็นได้ชัดจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับจำนวนวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ และคุณวุฒิของพระสงฆ์ที่อยู่ประจำวัดเหล่านั้น ขณะนี้ มีวัดทั่วประเทศกว่า ๒๐,๐๐๐ วัด แต่วัดจำนวนมากขาดพระสงฆ์อยู่ประจำ หรือมีจำนวนน้อยไม่พอแก่ประโยชน์ และที่มีอยู่ก็มักเป็นผู้บวชใหม่ มีพรรษาน้อยยิ่งนัก ทั้งมีวุฒิทางการศึกษาต่ำ หรือไม่มีวุฒิเลย สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในขณะที่ฐานะแห่งระบบการศึกษาของพระสงฆ์ ซึ่งไม่ได้รับการปรับปรุงนั้น ด้อยเกียรติลง จึงหมดหรืออ่อนแรงกระตุ้นให้ประชาชนนิยมการบวชเรียน และซ้ำร้ายระบบการศึกษาที่มีอยู่นั้นยังจำกัดวงแคบ ไม่แพร่หลายทั่วถึง ทั้งไม่ช่วยผู้ศึกษาในการอยู่ด้วยดี หรือเพียงอยู่รอดในสังคมอีกด้วย สภาพจึงยิ่งเสื่อมทรามลงอีกตามกัน

การบวชสึกตามข้อ ๒ นั้น มีลักษณะแง่หนึ่ง เหมือนการร่อนสิ่งที่มีค่า ส่วนการบวชสึกตามข้อ ๓ นี้ มีลักษณะคล้ายการปลูกต้นไม้ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่จะคงไว้ใช้ทำพืชพันธุ์ ส่วนอื่นๆ ก็นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ ต่อไป ตามควรแก่กรณี เหมือนผู้บวชส่วนหนึ่งที่จะเหลือคงอยู่ตลอด สำหรับทำหน้าที่สืบศาสนาโดยสมบูรณ์ ส่วนอื่นๆ ก็นำไปเป็นกำลังของประเทศชาติในเพศคฤหัสถ์ตามความเหมาะสมต่อไป หากมีความจำเป็นหรือปรารถนาจะแก้ไขให้ผู้บวชแล้วต้องคงอยู่ในเพศตลอดไปให้จงได้แล้ว ในกรณีนี้ จะต้องหาวิธีการอย่างอื่นที่ดีกว่ามาทดแทน เพื่อจะให้ได้พระสงฆ์ที่มีคุณภาพจำนวนพอเพียงมาอยู่ประจำ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วนจำนวนวัดทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ หรือมิฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของสถาบันคณะสงฆ์ใหม่ทั้งหมด31

ในเรื่องนี้ มีข้อควรกล่าวถึงไว้เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาอีก ๒ ประการ คือ

๑. ผู้บวชตามประเพณีบวชเรียนนั้น มักบวชแต่อายุยังน้อย โดยที่ตนเองยังไม่เข้าใจเรื่องการบวชและจุดมุ่งหมายในการบวช มิได้ตัดสินใจด้วยตนเอง แต่มีผู้ใหญ่ เช่น บิดามารดา เป็นผู้กำหนดหรือเลือกทางให้เดิน นับว่าผู้บวชเหล่านี้เป็นผลิตผลแห่งประเพณีของสังคม การถูกบีบบังคับให้ต้องบวชอยู่ก็ดี ไม่ให้ได้รับการศึกษาที่ควรได้รับตามสิทธิแห่งสมาชิกในสังคม เพื่อการดำเนินชีวิตด้วยดีในสังคมก็ดี ต้องถือว่าเป็นการบีบคั้น กลั่นแกล้งของสังคม อันไม่เป็นการยุติธรรม

๒. การศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ควรศึกษาตามระบบการศึกษาของรัฐ เป็นสิทธิทางสังคมที่ผู้บวชตามประเพณีนี้พึงได้รับหรือไม่ รัฐควรรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ควรกำหนดไว้ในแผนการศึกษารวมของชาติ หรือตัดแยกขาดออกเป็นเอกเทศ ข้อนี้อาจเป็นปัญหาที่ควรได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวยืนยันได้แน่นอน ก็คือ การศึกษาวิชาการสมัยใหม่ ย่อมเป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์นั้นเอง ในการที่จะเข้าใจโลกและชีวิต แล้วสะท้อนไปสู่การเข้าใจธรรม ช่วยให้การศึกษาธรรมได้ผลดียิ่งขึ้น ในเมื่อมีวิธีการศึกษาที่ถูกต้อง ประการหนึ่ง เป็นเครื่องช่วยพระสงฆ์นั้น ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยดี และมีเกียรติในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสมณเพศหรือลาสิกขาไปก็ตาม ประการหนึ่ง เป็นประโยชน์แก่สังคมในเมื่อพระสงฆ์นั้นสามารถช่วยทำงานให้แก่สังคมนั้นได้ในรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เป็นประโยชน์แก่รัฐในฐานะเป็นผู้เพิ่มกำลังในการผลิตได้ ไม่ไปเป็นภาระของสังคมในฐานะผู้ด้อยการศึกษา หรือเพิ่มปัญหาสังคมในฐานะผู้ว่างงาน เป็นต้น และเป็นประโยชน์แก่ตัวศาสนาเอง ในฐานะเป็นพระสงฆ์ที่มีความสามารถน่าเคารพนับถือ หรือเมื่อลาสิกขาไปแล้วก็อยู่ในฐานะผู้ได้รับการศึกษาอบรมดีแล้ว ทั้งในด้านวิชาการและความประพฤติ เป็นตัวแทนเชิดชูสถาบันสงฆ์ได้

ส่วนในด้านผลเสีย ก็ย่อมมีด้วยอย่างแน่นอน เช่น ถ้าระบบการบริหารควบคุมและการศึกษาไม่ดีพอ สถาบันสงฆ์ก็จะมีภิกษุสามเณรที่มากโดยปริมาณแต่ด้อยในคุณภาพ วัดจะกลายเป็นแหล่งแอบอิงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เช่นที่คนของสังคมภายนอกจะเข้ามาอาศัยรับบริการ (ทั้งจากสงฆ์และจากสังคม) โดยไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการแก่สังคมอย่างได้ผล ความประพฤติย่อหย่อนและความเสื่อมโทรมต่างๆ จะเป็นไปอย่างแพร่หลาย พูดง่ายๆ ว่าจะมีแต่การบวชแต่ไม่มีการเรียน สถาบันสงฆ์จะอ่อนแอ แม้ว่าจะมีจำนวนภิกษุสามเณรมากมายก็ตาม นอกจากนั้น ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัติเพื่อมุ่งตรงที่จุดหมายสูงสุดของพระศาสนาเลือนลางไปได้โดยง่าย ภิกษุสามเณรจะเหินห่างจากอุดมคติและอุดมการณ์ของพระธรรมวินัย อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสรุป สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องระลึกไว้คือ การบวชเรียนหรือการบวชเข้ามารับการศึกษาในวัด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะกลับเข้าไปอยู่และเข้าไปเป็นผู้นำในสังคม หรืออาจเรียกว่าการบวชและการเรียนแล้วมีเรือนนี้ เป็นประเพณีที่สังคมไทยได้สร้างขึ้นและได้ใช้ประโยชน์สืบต่อมาหลายศตวรรษ เมื่อเวลาผ่านไป ประเพณีนี้อาจไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอาจต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือถึงกับล้มเลิกเสียก็ได้ ถ้าหากเวลาที่จะต้องแก้ไขหรือล้มเลิกเช่นนั้นมาถึงแล้ว คนในสังคมไทยควรทำการนี้ด้วยสติสัมปชัญญะ โดยมีความเข้าใจทั้งอุดมคติของพระศาสนาและสภาพความเป็นจริงของสังคม อย่างน้อยต้องรู้ว่า ประเพณีการบวชเรียนนี้ยังกุมชะตากรรมของคนจำนวนมากมายผู้ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกับตน และคนเหล่านั้นแทบทั้งหมดล้วนเป็นผู้อยู่ในฐานะด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบ ซึ่งเข้าอาศัยประเพณีนี้โดยไม่ได้รับแจ้งไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า จะมีการแก้ไขเพื่อล้มเลิกประเพณีลงไป การปฏิบัติในเรื่องนี้จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างใดก็ตาม จะต้องคำนึงเสมอ ถึงการช่วยปลดเปลื้องความต่ำต้อยอับจนและไม่ทับถมคนเหล่านั้น แม้แต่การติเตียนหรือประณามคนเหล่านั้น เช่นว่า เข้ามาอาศัยวัดเรียนวิชาออกไปประกอบอาชีพ ถ้ากล่าวว่าคลุมไปโดยมิได้ศึกษาความเป็นมาของบุคคล ก็เป็นการกระทำที่ควรถูกติเตียน เพราะเป็นการกล่าวว่าของคนที่มองเหตุผลด้านเดียว และเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ แม้ถ้าเขาจะยกหลักการทางธรรมมาอ้างยืนยันคำกล่าวของตนอย่างถูกต้อง ก็ควรถูกตำหนิว่า เป็นการอ้างหลักการอันชอบธรรมโดยบุคคลที่ไม่มีน้ำใจเป็นธรรม หากคิดว่าจะแก้ปัญหาสังคม การทำเช่นนี้ก็เป็นการขัดขวางการแก้ปัญหาหรือทำปัญหาสังคมให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า ไม่เป็นทางแก้ปัญหาสังคมได้แต่อย่างใดเลย หนำซ้ำจะเป็นตัวอย่างที่คอยฟ้องถึงการขาดความลึกซึ้ง ขาดความจริงจัง และขาดความรู้จักตนเอง ที่ทำให้การพัฒนาและการแก้ปัญหาของสังคมเท่าที่เป็นมา ไม่อาจสำเร็จผลสมความมุ่งหมาย

 

ฐานะและสภาพปัจจุบันของสถาบันสงฆ์

การที่จะเข้าใจบทบาทในปัจจุบันได้ชัดเจน และกำหนดบทบาทที่ควรจะเป็นไปในอนาคตได้เหมาะสมนั้น จะต้องทราบสภาพและสถานการณ์ของสถาบันสงฆ์ในปัจจุบันก่อน โดยเฉพาะในการกำหนดบทบาทที่ควรจะมีต่อไปนั้น ความรู้ตัวในเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ทราบกำลังของตนว่าพร้อมที่จะทำอะไรได้แค่ไหนเพียงไร และควรปรับปรุงแก้ไข เพิ่มกำลังในส่วนใด

ตามสถิติจำนวนวัดและพระสงฆ์ทั่วประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีตัวเลขดังนี้

วัด ๒๓,๕๓๙ วัด

พระภิกษสามเณร ๒๓๗,๗๗๐ รูป

ตามสถิตินี้ เฉลี่ยจำนวนพระภิกษุสามเณรได้วัดละ ๑๐ รูป และเฉลี่ยจำนวนพระภิกษุสามเณร ๑ รูปต่อประชากรไทย ๑๐๐ คน

แต่ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขลวงตา ไม่อาจให้ภาพที่แท้จริงได้ เพราะฐานะของพระสงฆ์เมื่อพิจารณาในทางสังคม จะต้องแยกโดยหน้าที่และบทบาททางสังคมด้วย ในประเทศไทย มีประเพณีให้ชายหนุ่มบวชชั่วคราวประมาณ ๓ เดือน เพื่อรับการศึกษาอบรมระยะสั้นจากสถาบันสงฆ์ ผู้บวชสามเดือนนี้ไม่ใช่ผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่และบทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคม ต้องจัดเป็นบทบาทของประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ และแยกตัวเลขออกไป แต่น่าเสียดายว่า ยังไม่สามารถหาตัวเลขแน่นอนของจำนวนพระบวชใหม่ชั่วคราวเหล่านี้ได้ แต่โดยประมาณอย่างต่ำน่าจะไม่น้อยกว่า ๖๐% ของตัวเลขภิกษุสามเณรทั้งหมด เมื่อถือประมาณนี้ จะได้ตัวเลขพระบวชใหม่ประมาณ ๙๑,๑๓๘ รูป เมื่อหักตัวเลขนี้ออกจากจำนวนพระภิกษุสามเณรทั้งหมดแล้ว จะได้ตัวเลข ดังนี้

พระภิกษุ ๖๑,๓๗๒ รูป

สามเณร ๘๕,๒๖๐ รูป

รวม ๑๔๖,๖๓๒ รูป

อีกประการหนึ่ง การกระจายของตัวเลขนี้ ไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากจำนวนมารวมแออัดอยู่ในเมืองหลวงและตัวเมือง เมื่อว่าโดยบทบาท จำนวนสามเณรทั้งหมด และพระภิกษุส่วนมาก โดยเฉพาะพระพรรรษาน้อยในเมืองหลวงและตัวเมือง เป็นนักศึกษาและนักเรียน พระภิกษุอีกจำนวนหนึ่งในเมืองหลวงและตัวเมือง และพระภิกษุนอกตัวเมือง เป็นผู้มีบทบาททางสังคมโดยการสัมพันธ์กับประชาชน และในจำนวนหลังนี้ มีผู้ที่มีตำแหน่งบริหารการคณะสงฆ์และผู้เป็นครูอาจารย์ซึ่งบริหารหรือให้การศึกษารวมอยู่ด้วย เป็นการยากที่จะแยกจำนวนพระสงฆ์เหล่านี้ให้เห็นชัดเจน เพราะงานสถิติเกี่ยวกับสถาบันสงฆ์ยังมีน้อย และบทบาทของพระสงฆ์มักจะหลวมๆ และปะปนแยกไม่ออก เช่นการเป็นนักศึกษา อาจมีความหมายเพียงการเข้าสอบปีหนึ่งๆ และอาจมีบทบาทอีกหลายอย่าง เช่น เป็นนักศึกษา นักเทศน์ นักเผยแผ่ เป็นพระสังฆาธิการ และเป็นครูสอนปริยัติธรรมด้วยในขณะเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะไม่มีระบบการแบ่งงานเป็นแบบแผน

ตามที่ได้เคยศึกษาและทดลองแยกประเภทพระภิกษุสามเณรตามจำนวนที่ประมาณไว้ ๑๔๖,๖๒๓ รูปนั้น ได้ดังนี้

พระสังฆาธิการ (ชั้นอื่นจากเจ้าอาวาส) ๕,๕๓๐ รูป

เจ้าอาวาส ๒๓,๓๒๒ รูป

ครูปริยัติธรรมฝ่ายบาลี ๑,๙๓๔ รูป

ครูปริยัติธรรมฝ่ายนักธรรม ๑๔,๑๘๔ รูป

นักศึกษาบาลี ๑๗,๗๔๘ รูป

นักศึกษาธรรม ๖๗,๙๑๑ รูป

นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ ๑,๖๕๗ รูป

อื่นๆ ๑๔,๓๓๗ รูป

ประเภทอื่นๆ ตามรายการนี้ รวมถึงรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส นักเทศน์ นักเผยแผ่ พระนักปฏิบัติสมถะวิปัสสนา ตลอดจนพระบวชในวัยชราเป็นต้นด้วย และดังได้กล่าวแล้ว ตัวเลขเหล่านี้มีไม่น้อยที่ซ้ำบุคคลกัน เพราะบุคคลผู้เดียวทำหน้าที่หลายอย่าง

ข้อที่ควรพิจารณานอกจากนี้ยังมีอีกหลายประการ เช่น วุฒิ และอายุพรรษาของพระภิกษุสามเณร จำนวนพระสงฆ์แยกตามสภาพสังคม และสถิติพระสงฆ์ในวัดนอกเมือง เป็นต้น เพราะข้อมูลเหล่านี้จะฉายให้เห็นภาพ และกำลังที่แท้จริงของสถาบันสงฆ์ ขณะนี้ ยังไม่สามารถรวบรวมตัวเลขมาไว้ได้เต็มตามต้องการ จึงขอแสดงพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น

จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเขตที่มีจำนวนพระภิกษุสามเณรมากที่สุด และมีการศึกษาพระปริยัติธรรมเจริญมากที่สุดเขตหนึ่ง มีสถิติที่น่าศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑ ดังนี้32

ในหลายจังหวัด สภาพการณ์อยู่ในรูปน่าวิตกกว่านี้ แต่ยังไม่สามารถสำรวจเก็บสถิติได้ทั่วถึง และสถิติที่เก็บได้ บางครั้งก็เป็นคนละแง่กัน ลงตารางเดียวกันไม่ได้ แต่อาจช่วยประกอบกันให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกมุมหนึ่ง เช่น สถิติที่ได้จากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ได้ตัวเลขบางอย่าง คือ จำนวนวัด ๑๒๙ วัด เป็นวัดที่ไม่มีพระอยู่กว่า ๑๐ วัด มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาทั้งจังหวัด ๑,๑๕๔ รูป มีพระเปรียญทั้งจังหวัด ๙ รูป มีสำนักเรียนบาลีทั้งหมด ๒ แห่ง นักเรียน ๒๕๐ รูป33 ถ้ามีโอกาสจะได้จัดทำสถิติให้สมบูรณ์ต่อไป

สถาบันต่างๆ ของคณะสงฆ์ที่พึงทราบ คือ

๑. การปกครอง คณะสงฆ์ไทยได้รับมอบอำนาจปกครองตนเองเป็นอิสระภายในความอุปถัมภ์ของบ้านเมือง โดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ตาม พ.ร.บ. นี้ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางเป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอีกจำนวน ๔-๘ รูป เป็นกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี ปัจจุบันกรรมการมหาเถรสมาคมประกอบด้วยพระเถระกรรมการจำนวน ๑๑ ได้แยกเขตการปกครองอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะใหญ่ ๕ คือ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และแบ่งเขตการปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาคออกเป็น ภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล อยู่ในความรับผิดชอบของ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบวัดแต่ละวัดในขั้นสุดท้าย

ตามสถิติ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีวัดมหานิกาย ๒๒,๙๘๒ วัด วัดธรรมยุต ๑,๐๒๓ วัด รวม ๒๔,๑๐๕ วัด มีพระสมณศักดิ์ทั้งหมด ๒,๗๖๙ รูป และมีพระสังฆาธิการ คือ

เจ้าคณะภาค ๒๑ รูป

เจ้าคณะจังหวัด ๑๐๙ รูป

เจ้าคณะอำเภอ ๕๕๙ รูป

เจ้าคณะตำบล ๓,๖๓๖ รูป

เจ้าอาวาส ๒๔,๑๐๕ รูป

รวมทั้งสิ้น ๒๘,๔๓๐ รูป

๒. การศึกษา การศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ที่ดำเนินการมาตามประเพณี แบ่งเป็น ๒ สาย คือ

(๑) พระปริยัติธรรมแผนกธรรม (น.ธ. สำหรับภิกษุสามเณร และ ธ.ศ. สำหรับคฤหัสถ์)

(๒) พระปริยัติธรรมแผนกบาลี (คือเปรียญธรรมสำหรับภิกษุสามเณรโดยเฉพาะ)

การศึกษาพระปริยัติธรรม ๒ แผนกนี้ มีโครงรูปดังนี้
ประถมปีที่ ๔ < น.ธ. ตรี -> น.ธ. โท -> น.ธ. เอก
ประโยค ๑ - ๒34 -> ป.ธ. ๓ -> ป.ธ. ๔ -> ป.ธ. ๕ -> ป.ธ. ๖ -> ป.ธ. ๗ -> ป.ธ. ๘ -> ป.ธ. ๙

พระปริยัติธรรมสายที่ ๑ อาจศึกษาเป็นอิสระได้ แต่สายที่ ๒ ต้องมีสายที่ ๑ เป็นพื้นฐาน หลักสูตรที่ใช้ ได้คงรูปอยู่ตามประเพณีตลอดมา (หลักสูตรนักธรรมมีอายุ ๑ ศตวรรษ หลักสูตรเปรียญธรรมมีอายุ ๒ ศตวรรษ) การเปลี่ยนแปลงมีเพียงข้อปลีกย่อย เช่นสับแบบเรียนจากชั้นหนึ่ง ไปชั้นหนึ่ง เป็นต้น แสดงให้เห็นชัด ดังนี้

ก. นักธรรม มีชั้นละ ๔ วิชา

(๑) เรียงความแก้กระทู้ธรรม

(๒) ธรรม

(๓) พุทธประวัติ (รวมทั้งศาสนพิธี)

(๔) วินัย (รวมทั้ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ใน น.ธ. เอก ด้วย)

ข. บาลี มีชั้นละไม่เกิน ๔ วิชา แยกประเภทได้ดังนี้

(๑) บุรพภาค (ความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย) เฉพาะ ป.ธ. ๓

(๒) ไวยากรณ์บาลี เฉพาะ ประโยค ๑-๒ และ ป.ธ. ๓

(๓) วากยสัมพันธ์ เฉพาะ ป.ธ. ๓

(๔) แปลบาลีเป็นไทย มีทุกชั้น ต่างโดยกำหนดคัมภีร์สำหรับแปลตามชั้น

(๕) แปลไทยเป็นบาลี ตั้งแต่ ป.ธ.๔ ถึง ป.ธ. ๙ กำหนดคัมภีร์ต่างไปตามชั้น

(๖) แต่งฉันท์บาลี เฉพาะ ป.ธ. ๘

(๗) แต่งไทยเป็นบาลี เฉพาะ ป.ธ. ๙

นับแต่มีการสอบบาลีด้วยข้อเขียน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ มีสถิติผู้สอบได้เปรียญธรรมดังนี้

ป.ธ. ๓ = ๒๐,๒๙๑ รูป ป.ธ. ๔ = ๑๓,๕๑๖ รูป

ป.ธ. ๕ = ๗,๔๖๐ รูป ป.ธ. ๖ = ๓,๑๔๔ รูป

ป.ธ. ๗ = ๗๖๙ รูป ป.ธ. ๘ = ๓๕๐ รูป

ป.ธ. ๙ = ๑๖๔ รูป

ฐานะของผู้สอบ ป.ธ. ๙ ได้ ถือว่าเป็นการจบการศึกษาชั้นสูงสุดของพระสงฆ์ไทย และไม่อาจเทียบได้กับการศึกษาทางโลก เพราะเป็นวิชาการคนละสาย แต่กระนั้นในทางบ้านเมืองก็มีการเทียบสำหรับผู้ลาสิกขาไปแล้วที่จะเข้ารับราชการ เดิมฐานะที่ยอมรับนั้นสูงมาก และได้ลดต่ำลงตามลำดับกาลเวลา ถึงปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับชั้นอนุปริญญา35 มีตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับ ป.ธ. ๙ นี้ ดังนี้

๑) จำนวนผู้สมัครสอบทั้งหมดตั้งแต่ต้นมี ๑,๐๘๑ สอบได้ ๑๖๔ รูป36

๒) ในจำนวน ๑๖๔ รูป ผู้สอบได้อายุต่ำสุด ๒๑ ปี สูงสุด ๕๐ ปี อายุเฉลี่ย ๒๖-๓๑ ปี

๓) กำหนดเวลาเรียนตามหลักสูตร ๙ ปี เวลาเรียนจริงเฉลี่ยรูปละ ๑๕ ปี

๔) ในจำนวนผู้เริ่มศึกษาภาษาบาลี ๔,๐๐๐ รูป จะมีผู้สามารถศึกษาจนจบได้ ป.ธ. ๙ = ๕ รูป หรือประมาณ ๐.๑๒%

๕) เงินลงทุนผลิตผู้สำเร็จ ป.ธ. ๙ รูปละประมาณ ๒๒๐,๐๐๐.๐๐ บาท37

สำหรับสถิติจำนวนครูปริยัติธรรมและนักศึกษา ได้แสดงไว้แล้วในหน้า ๒๓๘

ต่อมาเมื่อ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ มหาเถรสมาคมได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีตามที่ได้ปรับปรุงใหม่ขึ้น เรียกกันเป็นสามัญว่าบาลีแผนใหม่ แบ่งการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีเป็น ๓ ขั้น คือ

๑) เปรียญตรี ๓ ปี

๒) เปรียญโท ๓ ปี

๓) เปรียญเอก ๔ ปี

รวม ๑๐ ปี

การศึกษาบาลีแผนใหม่นี้ มีหลักการให้มีการศึกษาภาษาบาลีควบคู่กันกับวิชาการสมัยใหม่ และการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติขยายขอบเขตหลักสูตรให้กว้างขวางขึ้น เรียกว่า บาลีศึกษา สามัญศึกษา และปริทัศนศึกษา ในฝ่ายบาลีศึกษา โดยส่วนใหญ่คงหลักสูตรตามรูปเดิมอย่างสายเปรียญธรรมถึง ป.ธ. ๙ แต่ในปีที่ ๑๐ เพิ่มการค้นคว้าพระไตรปิฎก ฝ่ายสามัญศึกษา เทียบเท่าชั้นประโยคประถมศึกษาตอนปลาย ชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น - ปลาย และชั้นอุดมศึกษา (สายอักษรศาสตร์ สาขาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์ ขั้นปริญญาตรี) ส่วนปริทัศนศึกษา มีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและวิชาประกอบทางศาสนา โบราณคดี จิตวิทยา และปรัชญา

การศึกษาบาลีแผนใหม่นี้ มิได้ล้มเลิกการศึกษาบาลีตามระบบเดิม แต่ใช้เรียนควบคู่กันไปได้ ตามสถิติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ มีสำนักเรียน ที่ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้เปิดการศึกษาบาลีแผนใหม่แล้ว ๓๐ สำนักเรียน เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๑๒ มีผู้สอบได้ถึงชั้นปีที่ ๒ ของเปรียญตรีแล้ว ๗ รูป จัดเป็นการศึกษาขั้นแรกเริ่มดำเนินการ38

การศึกษาอีกประเภทหนึ่ง ที่พระสงฆ์ได้ดำเนินงานมาแล้วเป็นเวลานาน คือการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งมี ๒ แห่ง คือ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาบันทั้ง ๒ นี้ ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และ พ.ศ. ๒๔๓๙39 ตามลำดับ แต่เพิ่งเริ่มดำเนินการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ และ พ.ศ. ๒๔๙๐ และได้รับคำสั่งมหาเถรสมาคม รับเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาเป็น ๓ ระดับ คือ

๑. ชั้นบุรพศึกษา ๑ ปี

๒. ชั้นเตรียมศาสนศาสตร์ ๓ ปี

๓. ขั้นอุดมศึกษา ๓ สาขาๆ ละ ๔ ปี

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แบ่งการศึกษาออกเป็นแผนกต่างๆ คือ

๑. กิจการอุดมศึกษา ๓ คณะๆ ละ ๔ ปี

๒. วิทยาลัยครูศาสนศึกษา ๒ ปี

๓. โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา ๒ ปี

๔. โรงเรียนบาลีอบรมศึกษา ๒ ปี

๕. โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา ๖ ปี

ผู้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ตามปกติต้องได้ ป.ธ. ๔ มาแล้ว และใช้เวลาศึกษาต่อ ๗-๘ ปี จึงจบการศึกษาขั้นปริญญาตรี ถึงปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ ได้ผลิตพระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีแล้ว ๕๑๖ รูป คือ

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ๒๒๘ รูป

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๘๘ รูป

ในปีการศึกษา ๒๕๑๒ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ มีสถิตินิสิตนักศึกษา ดังนี้

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยทุกชั้นประมาณ ๔๐๐ รูป

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกชั้น ทุกแผนก ๑,๐๙๑ รูป

นอกจากการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้ดำเนินงานอบรมจริยศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในรูป โรงเรียน หรือศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา รับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัย มีสถิตินักศึกษานักเรียน พ.ศ. ๒๕๑๑ รวมทุกชั้น คือ

ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ตั้ง ๑๓ ก.ค. ๒๕๐๑) ๑,๓๒๑ คน

ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (ตั้ง ๓๑ ธ.ค. ๒๕๐๔) ๑,๑๖๙ คน

ในช่วงเวลา ๑๒ ปี แต่เริ่มมีกิจการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นนี้ ได้มีผู้นิยมจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ทั้งในพระนคร ธนบุรี และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ ๖๐ แห่ง มีจำนวนนักเรียน รวมทั้งสิ้น ขณะนี้ประมาณ ๒o,๐๐๐ คน

นอกจากงานด้านการศึกษาโดยตรงแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ดำเนินงานโครงการพิเศษอื่นๆ เช่น พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญา นอกจากจะให้ช่วยสอนในมหาวิทยาลัยบางส่วน หรือให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศบางส่วนแล้ว ก็ได้ส่งไปช่วยปฏิบัติศาสนกิจสนองงานของคณะสงฆ์จังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค มีการสอนนักธรรม บาลี บาลีแผนใหม่ โรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ งานเผยแผ่ งานพัฒนา เป็นต้น เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา ถึงขณะนี้เป็นเวลา ๗ ปี ส่งพระพุทธศาสตร์บัณฑิต และศาสนศาสตร์บัณฑิตไปปฏิบัติงานแล้วเป็นจำนวนมาก เฉพาะพระพุทธศาสตร์บัณฑิต ๑๑๐ รูป

นอกจากจะส่งพระภิกษุจากส่วนกลางออกไปแล้ว มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองได้ร่วมกัน รับพระภิกษุ เจ้าอาวาส เจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระสงฆ์ที่ปรารถนาจะบำเพ็ญประโยชน์ เข้ามารับการอบรมตามโครงการอบรมพระภิกษุ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้ท่านกลับไปดำรงฐานะเป็นผู้นำทางจิตใจในท้องถิ่นเดิมของตนอย่างมีผลดียิ่งขึ้น ได้เริ่มงานมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ มีพระสงฆ์ท้องถิ่นผู้จบการอบรมไปแล้ว ๑๐๐ รูป

งานอื่นนอกจากนี้ เป็นงานเผยแผ่ภายใน เช่น ธรรมวิจัย การศึกษาบาลีภาคพิเศษสำหรับคฤหัสถ์ เป็นต้น ซึ่งเกินที่ควรจะกล่าวถึงในที่นี้ทั้งหมด

การดำเนินงานในด้านการศึกษานอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผู้ริเริ่มจัดขึ้นอีกหลายแห่ง แต่เป็นส่วนเอกชน ไม่ได้รับการยอมรับแน่นอน หรืออยู่ในระยะแรกดำเนินงาน ยังไม่เป็นหลักฐานมั่นคง จึงงดกล่าวถึง

๓. การเผยแผ่และสงเคราะห์ ในระยะ ๔-๕ ปีมานี้ มีส่วนราชการและเอกชนต่างๆ ริเริ่มงานด้านนี้กันขึ้นมาก เป็นการเคลื่อนไหวตื่นตัวที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง เช่น

๑) งานพระธรรมทูต จัดเป็นกองงานหนึ่งของคณะสงฆ์ เริ่มแรกกรมการศาสนาได้ริเริ่มเสนอขึ้น ดำเนินงานจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ ปัจจุบันแบ่งงานออกเป็น ๙ สาย ส่งพระธรรมทูตไปจาริกเผยแผ่ และสงเคราะห์ประชาชนชั่วคราว ประมาณ ๑-๓ เดือนในระยะฤดูแล้ง ซึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

๒) งานพระธรรมจาริก ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้อุปถัมภ์ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยส่งพระธรรมจาริก ซึ่งมีพระนิสิต นักศึกษา นักเรียน ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นกำลังหนุนแก่พระภิกษุวัดเบญจมบพิตร และพระภิกษุสามเณรในท้องถิ่นภาคเหนือ ออกไปอบรมสั่งสอนและสงเคราะห์ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีชั่วคราวประมาณ ๒-๓ เดือนในฤดูแล้ง40

๓) อบรมจริยธรรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่ง ศนธ. กรมการศาสนาได้เป็นศูนย์กลางประสานงาน ระหว่างโรงเรียนต่างๆ กับสถาบันเผยแผ่เช่น พุทธสมาคม มหาวิทยาลัยสงฆ์ นำวิทยากรไปอบรมนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เริ่มประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙

๔) การเผยแผ่ทางวิทยุและโทรทัศน์ นอกจากการจัดให้มีพระธรรมเทศนาในวันพระโดยทางราชการแล้ว ในระยะ ๒-๓ ปีนี้ ได้มีสถาบันและเอกชนต่างๆ จัดรายการเผยแผ่ทางวิทยุกระจายเสียงมากขึ้น ในกรณีของเอกชน ปรากฏในขณะนี้ว่า เริ่มเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เพราะขาดการควบคุม ปัจจุบันมีรายการวิทยุสัปดาห์ละประมาณ ๒๙๐ ครั้ง รายการโทรทัศน์ประมาณ ๕ ครั้ง ที่ถึงจัดเป็นสถานีประจำก็มี คือ ยานเกราะ ๗๘๕ ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย

๕) วารสารและนิตยสารเผยแผ่ธรรม มีสถาบันและหน่วยงานต่างๆ จัดทำออกเผยแผ่เป็นจำนวนมากหลายฉบับ แต่ส่วนมากเป็นที่สนใจอยู่ในหมู่ผู้ศึกษาธรรมอยู่แล้ว ไม่แพร่หลายเข้าถึงประชาชนแท้จริง แต่ระยะใกล้ๆ นี้ อาจกำลังเริ่มมีนิตยสาร หรือวารสารบางฉบับจัดได้ดีเป็นที่สนใจกว้างขวางขึ้น

๖) งานเผยแผ่นอกประเทศ ความเคลื่อนไหวและตื่นตัวในงานด้านนี้มีเพิ่มขึ้นโดยลำดับ และเป็นงานที่รัฐเคยเข้าไปมีส่วนส่งเสริมอุปถัมภ์ด้วยเป็นอันมาก เริ่มแต่การตั้งวัดไทยพุทธคยาในอินเดีย วัดเชตวัน ในกัวลาลัมเปอร์ วัดพุทธประทีป ในกรุงลอนดอน จนถึงมีการตั้งโครงการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ และการเคลื่อนไหวในระยะใกล้ๆ นี้ เช่น การรับนิมนต์ไปก่อสร้างวัดไทย ในสหรัฐอเมริกา41 และการส่งพระธรรมทูตไปอินโดนีเซีย เป็นต้น งานเหล่านี้ส่วนมากเป็นกิจการริเริ่มของเอกชนก่อน แล้วจึงขยายออกถึงขั้นการรับทราบและการอุปถัมภ์ของทางราชการ ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ งานนี้ส่วนมากเป็นการริเริ่มจากฝ่ายผู้อยู่ในประเทศเจ้าถิ่นก่อน ซึ่งอาจเป็นลักษณะที่ดีประการหนึ่งของงานนี้

๗) งานพัฒนาและสงเคราะห์ นอกจากโครงการอบรมพระภิกษุ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการอบรมพระภิกษุของโครงการพัฒนาทางจิต ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งได้เริ่มมาแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ และแสดงตัวเลขว่าได้อบรมพระภิกษุไปแล้ว ๔ รุ่น จำนวน ๑,๑๔๒ รูป แต่โครงการนี้มุ่งหนักไปทางด้านเผยแผ่ และเจ้าของงานก็ได้จัดไว้เช่นนั้น

อนึ่ง ในด้านงานพัฒนานี้ ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ได้เห็นความสำคัญของพระสงฆ์ในท้องถิ่น และได้พยายามประสานงานกับทางฝ่ายพระสงฆ์อยู่ด้วยหลายส่วน

งานสังคมสงเคราะห์ทั่วไป ยังไม่ปรากฏเป็นรูปชัดเจน มีแต่กิจกรรมสงเคราะห์เป็นคราวๆ เช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ทางจังหวัดหนองคายเป็นต้น ซึ่งเป็นแต่เรื่องเฉพาะราย และงานสงเคราะห์เล็กน้อยที่พ่วงไปกับงานเผยแผ่ เช่น การแจกยาของพระธรรมทูต ซึ่งยังไม่จัดเรียกสมแก่ชื่อแท้ และการสงเคราะห์ชาวเขา ของพระธรรมจาริก ซึ่งพอจัดเข้าได้ส่วนหนึ่ง ต่อไปภาวะของสังคมอาจทำให้เกิดความจำเป็นที่คณะสงฆ์จะต้องสนใจงานด้านนี้มากขึ้นก็ได้

ในระยะ ๔-๕ ปีที่ผ่านมานี้ ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะบางจังหวัดในภาคเหนือ และหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสงฆ์ได้ริเริ่มฟื้นฟูและขยายบทบาทในทางการศึกษา เผยแผ่ การพัฒนาและการสงเคราะห์มากขึ้นเป็นที่น่าสังเกต การริเริ่มนี้ เป็นไปในรูปการจัดประชุมฝึกอบรมพระสงฆ์ ที่เป็นครูสอนปริยัติธรรมบ้าง ที่เป็นพระเจ้าอาวาสและพระสังฆาธิการระดับอื่นๆ บ้าง ในจังหวัดนั้นๆ โดยจัดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นๆ ๗ วัน ๑๕ วัน หรืออย่างมาก ๑ เดือน มุ่งให้พระสงฆ์ได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งในทางพระศาสนา และความรู้ที่จำเป็นสำหรับชนบทที่กำลังอยู่ในยุคพัฒนา เป็นการช่วยให้พระสงฆ์เตรียมปรับตัว และนำชาวชนบทปรับตัวเข้ากับรูปสังคมแบบใหม่ ข้อที่น่าสังเกตก็คือ งานนี้แม้จะเป็นงานระดับคณะสงฆ์จังหวัด แต่ก็มิใช่งานสายคณะสงฆ์โดยตรง พร้อมกันนั้น หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พยายามตั้งศูนย์งานเหล่านี้ขึ้น ให้เป็นแหล่งประสานงานในเขตจังหวัดเหล่านั้นรวมกัน และในการริเริ่มงานเหล่านี้ พระสงฆ์ผู้ใหญ่หัวแรงในจังหวัดนั้นๆ โดยมากได้พระภิกษุผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปเป็นกำลังสำคัญ อนึ่ง ในระยะหลังๆ นี้ คณะสงฆ์ระดับภาคก็ได้เริ่มจัดการประชุมสงฆ์ในเขตต่างๆ ในรูปที่คล้ายกัน ซึ่งมีในภาคกลางด้วย แต่มุ่งในงานปกครองเป็นสำคัญ

๘) งานเกี่ยวกับเยาวชน ในขณะที่ปัญหาเยาวชนกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน องค์การทางศาสนาก็หันมาดำเนินงานด้านนี้กันมากขึ้น นอกจากงานโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์42 และงานอบรมจริยธรรมนักเรียนที่กล่าวแล้ว ก็ยังมีงาน นพก. ของกรมการศาสนา งานของยุวพุทธิกสมาคมอีก เป็นต้น นอกจากปัญหาเยาวชนแล้ว ความตระหนักในความสำคัญของเยาวชน ที่นอกจากจะเป็นอนาคตของชาติแล้ว ยังเป็นอนาคตของศาสนาด้วย ข้อนี้มีทางที่จะให้องค์การและสถาบันต่างๆ ทางศาสนา เพิ่มความสนใจในงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

๔. งานค้นคว้าวิจัย เมื่อเทียบกับงานด้านอื่นๆ แล้ว งานค้นคว้าวิจัยอาจเป็นงานที่ถูกลืมบ่อยกว่างานอื่น และมีการจัดทำน้อย การผลิตสิ่งตีพิมพ์ทางศาสนาส่วนใหญ่ เป็นเพียงหนังสือเผยแพร่ศีลธรรมทั่วๆ ไปเป็นส่วนมาก ตำรับตำราทางศาสนาใหม่ๆ น้อยนักที่จะมีใครทำเพิ่มขึ้น แม้จะมีการริเริ่มบางอย่าง เช่น หน่วยวิจัยทางพุทธศาสนา ที่เป็นของกรมการศาสนาเดิม แล้วมาสังกัดในกองบาลีในปัจจุบัน และการริเริ่มของสถาบันอื่นๆ บ้าง ก็ยังไม่แข็งขัน และอยู่ในวงจำกัด แต่เมื่อการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศเพิ่มขึ้นก็ดี การสนใจค้นคว้าของชาวต่างประเทศปรากฏชัดยิ่งขึ้นก็ดี ก็คงจะเป็นแรงผลักดันความสนใจในด้านนี้ให้จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น

 

ข้อควรพิจารณาบางประการสำหรับกำหนดแนวทางของบทบาท

๑. ความขาดแคลนพระสงฆ์ในท้องถิ่นห่างไกล ในชนบท ถึงขนาดชาวบ้านต้องใช้วิธีการคล้ายจ้างพระไปอยู่ นี้เป็นสภาพที่ปรากฏแล้ว บางถิ่นพระที่อยู่ต้องละถิ่นไป เพราะชาวบ้านแร้นแค้น ไม่มีกำลังอุปถัมภ์พระ ความขาดแคลนพระสงฆ์บางแห่งเกิดจากมีผู้บวชน้อย และผู้บวชไม่อยากอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งมีเหตุสืบเนื่องมาจากความไม่มีโอกาสศึกษาและหรือก้าวหน้าในชีวิต

๒. สภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันสงฆ์ยิ่งขึ้น เช่น

ก. คนบวชเรียนอยู่จำพรรษาน้อยลง เปลี่ยนเป็นบวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๕ วัน หรือ ๑ เดือน เหตุเพราะการหาเลี้ยงชีพ เช่น ชาวบ้านจะทำแต่นาอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องทำงานอย่างอื่นด้วย ผู้ทำการค้าก็เร่งรีบหาโอกาสในธุรกิจเพิ่มขึ้น

ข. ในสังคมหมู่บ้านต่างๆ แม้แต่คนเฒ่าชราก็ไปทำบุญ ไปรักษาศีลอยู่วัดน้อยลง เพราะจะต้องเฝ้าบ้าน ในขณะลูกหลานไปทำงานในนาในไร่ ฤดูหยุดพักงานอย่างเดิมไม่มี นาก็อาจต้องทำปีละ ๒ หน หรือต้องเฝ้าบ้านเพราะมีโจรขโมยมาก เป็นต้น

ฉะนั้น สถาบันสงฆ์จะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตนเองหรือไม่ก็ตาม สภาพการเปลี่ยนแปลงในสังคมก็จะต้องมีผลต่อสถาบันสงฆ์อยู่นั่นเอง

๓. ความสนใจที่พุ่งไปด้านหนึ่งมาก เช่น การเพ่งมองถึงความสนใจของชาวต่างชาติ การเผยแผ่ในต่างประเทศ ฯลฯ อาจทำให้เผลอลืม หรือกลบความสนใจต่อสภาวการณ์ภายในอันเป็นพื้นฐานสำคัญ เช่นสภาพการศึกษาต่ำ ความเป็นอยู่ยากแค้นของพระในชนบท ความขาดแคลนพระสงฆ์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมองปัญหารอบด้าน และไม่ประมาทเสมอ

๔. ความรู้สึกและความเข้าใจที่ว่า พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองที่สุด และเลยไปถึงว่า การศึกษาทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะต้องเจริญที่สุดด้วยนั้น ยังมีแพร่หลายทั่วไปในชาวต่างประเทศ ทั้งชาวประเทศพระพุทธศาสนาด้วยกัน และชาวยุโรปอเมริกัน ข้อนี้ทำให้เกิดผลความเคลื่อนไหวหลายประการ คือชาวต่างประเทศเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนากันมากขึ้น ทั้งชนิดที่เข้ามาสอบถาม ในเมื่อแวะเยือนเมืองไทย ที่ศึกษาระยะยาว และที่เลื่อมใสหรืออ้างว่าเลื่อมใสบวชเป็นพระก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแง่นี้ ผลอย่างหนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว คือความเปลี่ยนแปลงในทัศนคติที่ว่า พระไม่ควรเรียนวิชาการสมัยใหม่ กลายเป็นส่งเสริมเพราะเห็นประโยชน์ที่จะชี้แจงชาวต่างประเทศได้

อีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ต้องการมาศึกษาวิจัย ทำปริญญาต่อในขั้นโทและเอก ในสาขาพระพุทธศาสนามีเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องผิดหวังเพราะการศึกษาพระพุทธศาสนาตามระบบสากลในประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นขั้นปริญญาโท-เอก ได้ยังไม่มี แม้แต่ขั้นปริญญาตรี ก็ยังไม่เข้มแข็งแพร่หลายดี43 อาจให้เกิดผลเป็นความด้อยเกียรติลงแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในด้านหนึ่ง และการที่ฝ่ายไทยต้องเร่งรัดจัดการศึกษาอย่างนี้ให้มีขึ้นจงได้อีกด้านหนึ่ง

อีกแง่หนึ่ง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพื้นฐานของสังคมไทย อันกำลังเป็นที่สนใจของนักสังคมวิทยาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่ดินแดนแถบนี้มีความสำคัญทางด้านการเมืองมากขึ้นนั้น ขณะนี้นักวิจัยชาวฝรั่งหันมาสนใจทางด้านสถาบันศาสนามากขึ้น เพราะตระหนักว่า พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย จึงปรากฏว่าในระยะ ๑-๒ ปีนี้44 มีฝรั่งเข้ามาทำการศึกษาวิจัยด้านนี้กันมาก และอาจเป็นไปโดยคนส่วนมากไม่ได้สังเกต ขณะนี้มีผู้ที่กำลังศึกษาฐานะและสภาพของสถาบันสงฆ์อยู่อย่างจริงจัง ในไม่ช้าการศึกษาสภาพและฐานะของสถาบันสงฆ์ไทย เช่นตัวเลขและสถิติต่างๆ จะต้องอาศัยฝรั่งท่านเหล่านี้ เหมือนเรื่องของไทยหลายเรื่องที่ต้องอาศัยฝรั่งมาแล้วอีกกระมัง

๕. ในยุคนี้ พระสงฆ์รุ่นใหม่สนใจในการศึกษามาก ความสนใจใคร่ศึกษาเล่าเรียนมีแพร่หลายเช่นเดียวกับในสังคมไทยส่วนรวม พระที่ไปศึกษาต่างประเทศก็มีจำนวนเพิ่มอย่างน่าสังเกต ปัญหาการศึกษาของพระจึงไม่อยู่ที่ ทำอย่างไรจะให้พระรุ่นใหม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน แต่อยู่ที่ทำอย่างไรจะจัดบริการการศึกษาให้เพียงพอ และทำความต้องการศึกษากับสิ่งที่ต้องการให้ศึกษามาบรรจบกันได้

๖. เสียงตำหนิว่าพระสงฆ์ประพฤติไม่ดีมีมากขึ้น อาจเกิดจากการกระทำของคนไม่ดีส่วนน้อย แต่การสื่อสารที่ทั่วถึงในสมัยปัจจุบันช่วยกระพือความไม่ดีไปได้ง่าย แม้ว่าสภาพทั่วไปที่แท้จริงอาจไม่เสื่อมทรามไปกว่าสมัยก่อนๆ แต่ก็ควรได้รับการพิจารณาเอาใจใส่ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบการปกครองสงฆ์ระดับต่างๆ และการแก้ไขปรับปรุงเพื่อรักษาความดีงามไว้ให้ดีที่สุด

๗. ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระศาสนาและพระสงฆ์ ในความเห็นของบางฝ่ายว่ายังดีอยู่ บางฝ่ายว่าเสื่อมทรามลงน่าวิตก น่าจะเป็นที่สนใจพิจารณาให้รู้ชัดว่า ชนพวกไหนยังศรัทธาดีอยู่ พวกไหนเสื่อมถอย และศรัทธาเป็นไปในแง่ใด ควรพอใจหรือไม่ ปรับปรุงอย่างไร ถ้าศรัทธามีอยู่ในคนรุ่นเก่าที่จะหมดไปๆ อย่างเดียวแล้ว ก็เป็นสภาพที่น่าวิตก ตามที่สังเกต ศรัทธาที่ดีอยู่เป็นของคนรุ่นเก่า ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ห่างเหินไปมีมาก อย่างไรก็ดี การห่างเหินไปนี้ อยู่ในขั้นของความไม่แน่ใจมากกว่าจะเป็นขั้นความคิดเป็นปฏิปักษ์ การดึงคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับเข้ามาจึงยังมีทางทำได้ไม่ยากนัก ถ้าจะทำ45

๘. น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันทั้งที่วิทยาการก้าวหน้า แต่ประชาชนส่วนมากกลับศรัทธาเชื่อถือในเรื่องของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นและดูจะมีกิจกรรมด้านนี้เพิ่มขึ้น สนองความต้องการของคนเหล่านั้นมากขึ้นตามกัน ภาวะเช่นนี้น่าจะได้รับการพิจารณาว่า ควรส่งเสริมสนับสนุนหรือไม่เพียงใด เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ที่จะฝากศาสนาไว้ในความอุปถัมภ์ของความเชื่อถือแบบนี้ มองในแง่หนึ่ง ภาวะความเชื่อถือเช่นนี้ มักเกิดขึ้นในระยะที่บ้านเมืองเกิดความเดือดร้อนเพราะการรุกราน รบพุ่ง แย่งชิง และเบียดเบียนกัน ประชาชนไม่มีโอกาสใช้ความคิดในเรื่องลึกซึ้ง จึงแสวงหาที่พึ่งที่พอจะเข้ายึดเกี่ยวเกาะไว้ได้ ภาวะนี้จะแสดงความเป็นไปดังกล่าวนั้นหรือไม่

๙. ลักษณะความสนใจและการแสดงบทบาทในพระพุทธศาสนาของคนสมัยปัจจุบันมีหลายแบบ เช่น แบบชอบศึกษาหลักธรรมชั้นสูงในแง่ปรัชญา สำหรับเป็นอาหารของปัญญา นำมาถกเถียงกัน ปลีกตนออกไม่เอาธุระกับสังคมบ้าง แบบบำเพ็ญศีลบำเพ็ญทาน สั่งสมบุญเพื่อชีวิตมีความสุขในชาติหน้าบ้าง แบบศีลธรรมแบบแผนประเพณีบ้าง แบบหาทางนำหลักธรรมชั้นสูงเข้าสู่ชีวิตประจำวันของสังคมบ้าง เป็นต้น ควรพิจารณาว่าแบบใดจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ช่วยสังคมมนุษย์ได้แท้จริง พระพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ ควรจะดำรงอยู่ด้วยท่าทีแบบใด ทุนและกำลังงานที่ได้ใช้ไปแล้ว ได้ทุ่มเทไปในแบบใดมาก และจะเป็นประโยชน์เพียงใด

๑๐. มีข้อสังเกตว่า กิจการทางพระศาสนาที่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนนั้น ส่วนมากได้แก่การก่อสร้างถาวรวัตถุ และปูชนียสถานต่างๆ และที่น่าจะได้รับความสนใจน้อยที่สุดคือการศึกษา สภาพความนิยมนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากคติโบราณโดยไม่เจตนา กล่าวคือ ในสมัยโบราณการก่อสร้างเป็นความจำเป็นของถิ่น ซึ่งต้องการทุนและการร่วมกำลังกันมาก ส่วนการศึกษา สมัยโบราณยังไม่มีในรูปองค์การ หรือสถาบัน เป็นภารกิจของพระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์ จะพึงสั่งสอนอบรมศิษย์ที่มาอยู่วัดกับตนตามความเหมาะสม เป็นกิจกรรมที่แฝงในวัดทุกวัด โดยไม่ต้องการทุนและการรวมกำลังอะไรเป็นพิเศษ ประชาชนจึงรู้จักการทำบุญ บำรุงศาสนาแต่ในรูปการก่อสร้าง อีกประการหนึ่ง สิ่งก่อสร้างเป็นวัตถุมองเห็นผลปรากฏได้ง่าย และอาจเกี่ยวกับแรงจูงใจด้านอื่น เช่น ชื่อเสียงที่จะได้เป็นต้นด้วย กิจการอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความใส่ใจบำรุงมากในปัจจุบัน คือ ลัทธิลึกลับต่างๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของผู้อุปถัมภ์นั้นโดยตรง เช่น การรักษาทางเวทมนต์ เครื่องราง เป็นต้น กิจการ ๒ ประเภทนี้ ได้รับความสนใจและอุปถัมภ์ ไม่แต่จากประชาชนเท่านั้น ยังได้จากนักการเมือง และบุคคลชั้นสูง เศรษฐคหบดีด้วย ซึ่งรู้จักพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับที่ศาสนิกของศาสนาอื่นรู้จักศาสนาของเขา และให้ความอุปถัมภ์บำรุง เพราะเพ่งเล็งผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะเห็นแก่กิจการพระศาสนา หรือประโยชน์ส่วนรวม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ที่ถนัดทางด้านทั้งสองนี้ จึงง่ายที่จะปรากฏและมีกำลังสนับสนุน ตรงข้ามกับพระสงฆ์ที่มุ่งการศึกษา มุ่งปริยัติและปฏิบัติธรรม ซึ่งต้องอาศัยความคุ้มครองและกำลังจากพระสงฆ์ประเภทที่กล่าวข้างต้น กลายเป็นเพียงผู้อาศัย แต่ข้อนี้ก็เป็นความจริงสมตามพุทธดำรัส และมีส่วนที่ดีอยู่ คือ ผู้ที่จะทำงานเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริงจะต้องเป็นผู้มีความเสียสละอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นที่จะรักษาคุณค่าของงานนี้ไว้ได้

๑๑. ข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ความดำรงอยู่ในด้านวัตถุ อันได้แก่การอุปถัมภ์บำรุงต่างๆ นั้น ส่วนมากพระสงฆ์ได้รับจากประชาชนทั่วๆ ไป ที่มีความนับถือพุทธศาสนาอย่างศาสนาอื่นๆ ในฐานะเป็นสิ่งสนองความต้องการทางพิธีกรรม เครื่องนำบุญมาให้แก่ตน หรือเป็นทางไปสวรรค์ เป็นต้น มักไม่ได้รับจากปัญญาชน ซึ่งคอยเรียกร้องความบริสุทธิ์แห่งการปฏิบัติของพระสงฆ์ และเรียกร้องคำสอนที่ถูกต้องจากศาสนา อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนเหล่านี้ ก็ควรอยู่ในความสนใจของนักการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ในเมื่อคำนึงถึงความมั่นคงของศาสนาในระยะยาว

๑๒. มีข้อควรระวังมากอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อความรู้สึกนิยมของประชาชนในการบำรุงศาสนาตามแบบเดิมยังคงอยู่ พร้อมกับที่การมองเห็นความสำคัญของการศาสนศึกษากำลังเกิด และเพิ่มขึ้นนั้น หากผู้ชำนาญในการแสวงหาการอุปถัมภ์บำรุงแบบเดิม หันมาสนใจและเข้ามาเกี่ยวข้องในการศาสนศึกษาขึ้น ถ้าผู้นั้นทำด้วยกุศลเจตนาแท้จริง โดยวิธีสนับสนุนผู้อื่น ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาจริงๆ หรือนำบุคคลประเภทนั้นมาร่วมให้รับผิดชอบในงานของตน ก็จะเป็นประโยชน์มาก แต่ตรงข้าม ถ้าการศึกษาเพียงถูกยกขึ้นไว้ในเบื้องหน้า สำหรับการกระทำที่มุ่งผลประโยชน์อย่างอื่น โดยไม่คำนึงถึงความหมายที่แท้จริง และปราศจากความรับผิดชอบพร้อมทั้งความรู้แท้จริงในการศึกษานั้น การกระทำนั้นก็คงจะได้รับความสนับสนุนอย่างดี แต่จะกลับเป็นการทำลายคุณค่าและความมั่นคงของการศาสนศึกษา ลงในภายหลัง

๑๓. ปัจจุบัน มักปรากฏข่าวว่า มีชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งมาสนใจพุทธศาสนาบ้าง เลื่อมใสขอบวชบ้าง มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตกหลายๆ แห่งบ้าง ทำให้ผู้หนักในศรัทธาจริตตื่นเต้นยินดีกันมาก ซึ่งความจริงก็ควรแก่การยินดี เพราะสิ่งที่เราเคารพนับถือ มีผู้รู้จักและมองเห็นคุณค่ามากขึ้น มีคนรู้จักของดีมากขึ้น และอาจใช้เป็นเครื่องประกอบ สำหรับยืนยันคุณลักษณะของพระพุทธศาสนาได้อย่างหนึ่ง แต่กระนั้นก็ควรมีการเหนี่ยวรั้งความคิดเพื่อป้องกันความเพลินหลงตัวเอง และความประมาทไว้บ้าง โดยพิจารณาจำนวนของผู้มาสนใจเลื่อมใส เทียบกับจำนวนประชาชนทั่วไป ลักษณะของความสนใจตลอดถึงฐานะและประเภทของผู้ที่มาสนใจเลื่อมใส และข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกชาวต่างประเทศด้วยกันนั่นเอง ฝ่ายที่ตำหนิติเตียนพระพุทธศาสนา ก็น่าจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษว่ามีที่ใดบ้าง เขาตำหนิติเตียนเข้าใจผิดว่าอย่างไร เพื่อจะได้หาทางป้องกันแก้ไข เพราะความจริงคนพวกนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพวกที่เข้าใจผิด นำไปเขียนในตำราและเอกสารต่างๆ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจผิดกว้างขวางออกไปนั้น มีอยู่จำนวนมาก ที่ถึงปรากฏอื้อฉาวในเมืองไทยดังที่เคยทราบกันก็มี แต่ส่วนที่ไม่เกิดกรณีอื้อฉาวอย่างนั้น จึงไม่รู้และไม่สนใจกันยังมีอีกมาก โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์เองแทบจะไม่ได้มีส่วนรับรู้เอาเลย นอกจากนั้น วิธีที่เราปฏิบัติต่อรายที่อื้อฉาวนั้น ยังเป็นไปในแบบการปัดออกไปจากความรับรู้เสียเลย มากกว่าจะเป็นวิธีแก้ไขชี้แจงให้ความจริงความถูกต้องปรากฏ หากเป็นอยู่ในรูปนี้นานไป จะกลายเป็นทำนองการปิดตาตัวเอง ทั้งที่ผู้อื่นเขาหาช่องทำลายเราไว้ได้เป็นอันมาก จะมีทางสูญเสียไม่พอที่ได้หรือได้ไม่ถึงที่ควร ในกรณีนี้การคอยติคอยเตือนคอยบอกกันเองไว้บ้าง จะดีกว่านอนรอคอยภัยที่ไม่รู้สึกตัวจากภายนอก อย่างไรก็ดี อาจเป็นด้วยหลักธรรมในศาสนาของเราเป็นของจริงแท้ เหมือนทองแท้ถึงฝังจมดินอยู่ไม่มีประโยชน์แก่คนใช้ ก็ยังคงเป็นทองอยู่ จึงทำให้เราพอใจที่จะรักษาความประมาทกันไว้ได้นานๆ

 

ข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า การสูญเสียบทบาทของพระสงฆ์ เริ่มจากสังคมเมืองหลวงไปก่อน และค่อยๆ ขยายสู่สังคมเมือง และสังคมชนบทต่อๆ ไป โดยนัยนี้ การที่บทบาททั้งหมดสูญสิ้นไปนั้น จะต้องกินเวลานานมาก และปัจจุบันรูปสังคมแผนเก่าก็ยังเหลืออยู่อีกมาก ในสังคมชนบทเช่นนั้น บทบาทของพระสงฆ์แบบเดิมจึงยังคงเหลืออยู่ มากบ้างน้อยบ้าง สุดแต่ว่าสังคมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเพียงใด ในท้องถิ่นห่างไกลมากๆ พระสงฆ์ยังมีบทบาทหลายอย่างเหมือนเดิม บทบาทที่เพี้ยนไป เช่น เมื่อเลิกเป็นครูสอนและดำเนินงานของโรงเรียนแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน เป็นผู้นำในการชักชวนชาวบ้านสร้างโรงเรียน เป็นผู้แนะแนวทางการศึกษา นำเด็กบ้านนอกมาเข้าเรียนในกรุง ส่วนวัดในกรุงก็ทำหน้าที่เป็นอย่างหอพักที่มีการควบคุมและฝึกหัดอบรมความประพฤติไปด้วย เมื่องานพัฒนาเข้าไปถึงหมู่บ้าน พระสงฆ์จำนวนมากก็เข้าร่วมงาน เป็นผู้นำในการเสนอความคิด ริเริ่ม เป็นที่ปรึกษา และเป็นศูนย์รวมเรียกความร่วมมือ ในการสร้างสาธารณสมบัติและสิ่งสาธารณูปโภค เช่น บ่อน้ำ สะพาน เขื่อน ทำนบ ถนน ศาลา โรงประชุม เป็นต้น และเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดงานต่างๆ ในขณะเดียวกัน ในสังคมเมือง บทบาทของวัดก็เพ่งมาในด้านเป็นที่รักษาศิลปกรรมของชาติ เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นพิพิธภัณฑ์ บทบาทส่วนใหญ่ของพระสงฆ์ในวัดในเมือง ก็เป็นไปในด้านการประกอบพิธีกรรมตามประเพณี การทำบุญต่างๆ งานศพ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการปกครอง เพราะตำแหน่งบริหารส่วนใหญ่อยู่ในเมือง การเป็นนักเรียนนักศึกษา และการสงเคราะห์คนรุ่นเก่าที่มาถือศีลฟังธรรมในวัด

การที่สังคมได้ก้าวเข้าสู่ความเจริญแบบใหม่ โดยที่พระสงฆ์ไม่มีส่วนร่วมในการเหนี่ยวรั้ง และช่วยแนะแนวทาง ดังกล่าวในหัวข้อก่อนแล้วนั้น เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมอย่างมากมาย พระสงฆ์ซึ่งอาศัยสังคมอยู่ ก็รู้สึกถึงปัญหาข้อนี้ด้วย และอาศัยความสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานเดิม จึงเกิดความสำนึกในความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือสังคมขึ้นอีก46 การเริ่มบทบาทใหม่ๆ ของพระสงฆ์จึงตั้งต้นขึ้นอีกครั้ง บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมเมือง เช่น การตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น ก็จัดเข้าในประเภทบทบาทใหม่แบบนี้ เมื่อพระสงฆ์ในสังคมเมืองเริ่มบทบาทนี้ขึ้นแล้ว สังคมนอกออกไปก็ถือแบบอย่างตาม จัดได้ว่าเป็นบทบาทในยุคใหม่และมีข้อสังเกตควรพิจารณาในเรื่องนี้บางประการ คือ

๑. สำหรับบทบาทแบบเก่า ท่าทีของพระสงฆ์ในสังคมเมืองกับสังคมหมู่บ้านอาจต่างกัน กล่าวคือ ในเมืองเป็นรูปดึงบทบาทที่หมดไปแล้วหรือกำลังจะหมดไปกลับเข้ามา แต่ในชนบทเป็นแบบรักษาไว้ ส่วนบทบาทใหม่สังคมเมืองเป็นผู้ริเริ่ม และสังคมชนบทปรับตัวตาม

๒. ทัศนคติที่ถูกต้องในปัจจุบัน มิใช่การที่จะฝืนคงบทบาทเดิมไว้ทุกอย่างในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นแต่คงหลักการไว้ และพิจารณาปรับปรุงว่าจะดำเนินต่อไปในรูปใด

๓. ทัศนคติเดิมที่เป็นมานาน เนื่องจากบทบาทของพระสงฆ์ที่คงอยู่ในรูปการรอรับปัญหา และเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่วัดติดต่อกันมาเป็นระยะนานดังกล่าวในข้อบทบาทในอดีต ความเคยชินต่อท่าทีนี้ อาจเป็นอุปสรรคหรือถ่วงการเริ่มบทบาทใหม่บ้าง เพราะไม่คุ้นกับการที่จะใช้ความคิดออกสำรวจสภาพและความเป็นไปในสังคมข้างนอก ตลอดจนไม่ถนัดในการทำงานนอกกำแพงวัด

๔. การรู้สึกตัวนี้เป็นไปอย่างไม่พร้อมกัน เป็นจุดๆ หย่อมๆ การดำเนินไปของบทบาทจึงอาจเปะปะไม่ประสานกัน มีสิ่งผิดแปลก ตลอดถึงข้อเสียหายเกิดขึ้นได้ไม่น้อย เพราะเป็นการต่างคนต่างทำ ไม่มีการวางแผนรวมเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง ขาดระบบกลาง

 

บทบาทต่อไปควรเป็นอย่างไร

เบื้องต้นพึงกำหนดก่อนว่า ศาสนาต่างๆ ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนาจะยังคงมีความหมายต่อไปในสังคม แม้จะถูกกระทบกระเทือนหรืออ่อนกำลังลงบ้าง ในเมื่อยังมีสภาพต่อไปนี้ในสังคม คือ

๑. ชีวิตมนุษย์ไม่อาจเป็นอยู่ได้และมีความหมายด้วยวัตถุอย่างเดียว แม้จะสามารถสร้างวัตถุสนองความต้องการได้ทุกสิ่ง แต่ก็จะต้องเหนื่อยหน่ายเพราะความไม่รู้จักจบสิ้น และไม่สามารถสนองความต้องการได้เต็มจริง คุณค่าทางจิตใจจะต้องยังคงมีความหมายอยู่ต่อไป

๒. มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างระบบการควบคุมทางสังคมในด้านความประพฤติให้ได้ผลแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องยึดเหนี่ยวควบคุมจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระบบการศาล ตำรวจ หรือคุกตะราง เป็นต้น ก็ตาม

๓. มนุษย์ยังไม่มีความรู้จริงถึงที่สุดเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะชีวิตของตน แม้ว่าจะเจริญด้วยวิทยาศาสตร์มากมาย

สำหรับพระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบที่ช่วยการดำรงอยู่ได้ข้ออื่นๆ อีก เช่น

๑. เมื่อสังคมขยายกว้างขึ้น ต้องการการรวมตัวกันในขอบเขตกว้างขวาง พระพุทธศาสนาไม่เป็นเหตุขัดขวางสภาวการณ์นี้ ด้วยเรื่องความรังเกียจกันทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกเพราะความเชื่อถือ หรือการขัดขวางทัศนะแบบเสรี เป็นต้น กลับเป็นเครื่องสนับสนุนอีกด้วย

๒. เมื่อพระสงฆ์ดำรงตนในขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับฆราวาส พอเหมาะพอดีตามหลักธรรม ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายกิจการของรัฐ ไม่ขัดกับการปกครองประเทศ

๓. การค้นพบต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ไม่กระทบกระเทือนหลักพระพุทธศาสนา ในเมื่อสังคมถูกครองด้วยเหตุผล และมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น กลับเข้ากับหลักพุทธศาสนาได้ดี

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีหลักการเพื่อความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหน้าที่ เป็นไปเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ด้วยดีของผู้ปฏิบัติตามสภาพชีวิตนั้นๆ มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น การที่มีเสียงว่า หลักธรรมบางอย่างขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้น ย่อมต้องเกิดจากความเคลื่อนคลาดบางประการ ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจเคลื่อนคลาดของผู้กล่าวนั้นเอง หรือความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติของบุคคล หรืออาจถึงกับเป็นความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติของสังคมที่เชื่อถือสืบต่อกันมาก็ได้ เพราะความเคลื่อนคลาดในการประพฤติปฏิบัติ อาจเกิดจากการตีความหมายธรรมผิด ซึ่งสืบเนื่องมาจากเหตุหลายอย่าง เช่น

๑. ความไม่รู้จริงเพราะขาดการศึกษา หรือศึกษาไม่พอ

๒. สภาพความเป็นอยู่ ผลักดันให้นำมาเป็นเหตุผลอ้างให้ประพฤติเช่นนั้น

๓. ผู้สอนหรือผู้เผยแผ่สอนให้เคลื่อนคลาดเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

๔. การยึดติดแต่เพียงแง่ใดแง่หนึ่งของหลักธรรม

๕. การเห็นแก่ความง่าย ตีความให้เข้ากับความต้องการของประชาชน

๖. สนองความต้องการของผู้มีอำนาจ

๗. ยอมผ่อนตามอิทธิพล ความเชื่อถือเดิม หรือตามหลักลัทธิศาสนาอื่นๆ

จึงจำเป็นจะต้องพยายามช่วยกันศึกษาความหมายของหลักธรรม ให้ถูกต้องชัดเจน ควรศึกษาว่า เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องกรรม ซึ่งมีหลักการให้มีความรู้สึกรับผิดชอบ กลับกลายเป็นเหตุอ้างสำหรับปัดความรับผิดชอบ เพราะเหตุใดสันโดษซึ่งมีหลักการให้รวมกำลังงานทุ่มเทลงในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ จึงกลับกลายเป็นข้ออ้างสำหรับความเกียจคร้านเฉื่อยชา ไม่เอาธุระในกิจของส่วนรวม ดังนี้เป็นต้น

ข้อที่ว่า พระสงฆ์ควรมีบทบาทอย่างไรต่อไปนั้น คงอยู่ที่หลักการอันมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คือในฝ่ายตนเองก็มีหน้าที่ในการศึกษาและปฏิบัติ คือศึกษาเพื่อให้ตนปฏิบัติได้ถูกต้อง พร้อมทั้งสามารถแนะนำแก่ผู้อื่นต่อไปได้ด้วย และปฏิบัติคือประพฤติตามหลักธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ของตนเอง และของสถาบันสงฆ์ ในฝ่ายความสัมพันธ์กับสังคมคฤหัสถ์ ก็มีหน้าที่ในการให้การศึกษา การเผยแผ่ และ การสงเคราะห์ การให้การศึกษาย่อมหมายถึงการอบรมสั่งสอนแนะนำผู้อื่นให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี ซึ่งอาจต้องอาศัยความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม การเผยแผ่ ย่อมหมายถึงการช่วยให้มีการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์แผ่ออกไปในสังคมอย่างกว้างขวาง และการสงเคราะห์ย่อมอยู่ในขอบเขตแห่งคุณธรรมที่หวังประโยชน์ อนุเคราะห์แก่ประชาชนโดยบริสุทธิ์ใจ พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ทางสมณเพศของตน รักษาเกียรติและความบริสุทธิ์ของสถาบันสงฆ์ไว้ด้วย47

เท่าที่ได้พิจารณามา บทบาทของพระสงฆ์ในสังคมเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมี ๒ แบบ คือ

๑. บทบาทที่สืบเนื่องมาจากสังคมแบบเดิม

๒. บทบาทที่เกิดจากความรู้สึกตัวของพระสงฆ์ แล้วเริ่มต้นขึ้นใหม่

ในสังคมเมืองนั้น บทบาทอย่างเดิมกล่าวได้ว่าหมดสิ้นไปแล้ว แต่เมื่อพระสงฆ์รู้ตัวแล้วจะทำอย่างไร ควรดึงบทบาทเดิมกลับมาหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการจะกลับไปดึงบทบาทเดิมคืนมานั้นไม่เป็นการสมควร เพราะบทบาทบางอย่าง เช่น การแพทย์ การพยาบาล การมหรสพเริงรมย์ ไม่เป็นของจำเป็น หรือสมควรจะดึงกลับมา การที่ว่าจะเริ่มมีบทบาทช่วยเหลือสังคมอีก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปดึงเอาบทบาทเดิมคืนมา

แม้แต่ในสังคมชนบทที่พระสงฆ์ยังมีบทบาทเดิม เมื่อสังคมยังคงสภาพเดิมก็ต้องพยายามรักษาบทบาทเดิมไว้นั้นแง่หนึ่ง แต่เมื่อหมู่บ้านนั้นกำลังเจริญขึ้นเป็นสังคมแบบตัวเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องผืนรักษาบทบาทเดิมไว้ทั้งหมด เพราะเมื่อมีความเจริญแบบใหม่เข้าไปแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำบทบาทบางอย่าง เช่น การแพทย์ เป็นต้น ผู้อื่นมีหน้าที่มีความชำนาญโดยตรง ทำหน้าที่ได้ ก็ให้รับไปได้ เพราะเดิมก็ไม่ใช่บทบาทโดยหน้าที่อยู่แล้ว เป็นทำนองช่วยไว้ก่อนในเมื่อเขายังทำเองไม่ได้เท่านั้น ควรจะคิดในแนวทางที่จะเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทที่มีอยู่แล้วให้เข้ากับสภาพใหม่อย่างไร

อันที่จริง การที่มีสถาบันอื่นๆ มารับภาระเอาบทบาทที่พระสงฆ์เคยทำอยู่เดิมไปนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบทบาทที่พระสงฆ์จะไปช่วยประชาชนได้มีเพียงเท่านั้นหรือ ถ้าหากมีเพียงเท่านั้น ถ้าอย่างนั้น ความเจริญแบบใหม่เข้ามาช่วยได้แล้ว พระสงฆ์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ต้องเอาไว้ก็ได้ หากไม่มีเพียงเท่านั้น ถึงเสียบทบาทเดิมไปก็ยังทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกประโยชน์อย่างนั้นมีหรือไม่ ก็เห็นว่ามี การสงเคราะห์ยังมีมากกว่านั้น

จึงยุติได้ว่า พระสงฆ์ควรตระหนักมั่นอยู่เสมอในหน้าที่เดิมแท้ของตนตามธรรมวินัย และจากฐานนี้จึงเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทเก่าขึ้นในรูปใหม่ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะดึงหรือหวงแหนหน่วงเหนี่ยวบทบาทเดิมไว้ และเท่าที่มองเห็นในปัจจุบัน พระสงฆ์ก็โน้มเอียงไปในทางที่จะทำเช่นนั้น ส่วนการที่ว่าจะเริ่มบทบาทใหม่ หรือปรับปรุงบทบาทเก่าขึ้นในรูปใหม่อย่างไรบ้างนั้น ก็รวมอยู่ในหลักการเดิม ๓ อย่างที่กล่าวแล้ว คือ การศึกษา การเผยแผ่ และการสงเคราะห์ สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ จะนำหลักการเหล่านี้ไปทำบทบาทอะไรบ้าง มีวิธีการอย่างไร และมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งคงไม่มีโอกาสพิจารณาในที่นี้ได้ทั้งหมด จะพูดถึงเฉพาะส่วนที่ควรสังเกตเป็นพิเศษตามที่พอนึกได้เท่านั้น

ในด้านการศึกษานั้น การศึกษาสำหรับพระสงฆ์เอง ไม่ขอพูดถึง แต่เฉพาะในด้านการศึกษาสำหรับประชาชน ซึ่งหมายเอาเยาวชนเป็นสำคัญนั้น น่าจะพิจารณาถึงความควรหรือไม่ควรก่อน ในกรณีนี้ ก็มองเห็นแง่ดีบางอย่าง เช่น

๑. พระสงฆ์มีหน้าที่ในการให้การศึกษาอยู่แล้ว อย่างน้อย เมื่อไม่พูดถึงวิชาการอย่างอื่น ก็ต้องทำการสอน ทำการอบรมในด้านศีลธรรม และสัจธรรมอยู่เป็นประจำ หากให้พระร่วมในการศึกษา ก็เท่ากับสนับสนุนให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น หากไม่ให้พระมีส่วนในการศึกษาเลย ก็เท่ากับว่าตัดพระออกจากหน้าที่ส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

๒. แง่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระมีเวลาทำงานเต็มที่ เพราะนอกจากการบำเพ็ญปฏิบัติสมณธรรมต่างๆ โดยหน้าที่ของท่านในทางประโยชน์ส่วนตนแล้ว พระก็มีหน้าที่โดยข้อผูกมัดทางสังคมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า จะต้องอนุเคราะห์ประชาชนด้วยการให้ธรรมทานแก่เขาด้วย เวลาที่เหลือจากการปฏิบัติสมณกิจ ก็เป็นเวลาว่างที่จะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ไม่มีภาระเรื่องอื่นๆ ที่เป็นส่วนตัวมากมาย สละเวลาได้เต็มที่ แม้แต่การที่พระเป็นผู้ไม่มีครอบครัว ปราศจากกังวล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระจะทำงานในเรื่องที่จะช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้นด้วย หมายความว่าเป็นบุคคลที่เป็นสมบัติของส่วนรวม เป็นของกลาง ไม่เป็นของผู้ใด ซึ่งประชาชนก็รู้สึกกันอย่างนั้น

๓. แง่ดีอย่างต่อไปก็คือ พระนั้นมีความจำเป็นจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ดีกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว การให้การศึกษาอบรมนั้น ไม่ใช่ให้แต่ความรู้อย่างเดียว นี้เป็นหลักการศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะใช้ศัพท์แสงต่างไปอย่างไร ก็มีความหมายว่าต้องให้มีความประพฤติดีงามด้วย พระซึ่งมีความประพฤติปฏิบัติโดยหน้าที่ที่จะต้องดีงามอยู่แล้ว ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กแก่เยาวชน เพราะเหตุนั้น ความรู้สึกในฐานครูกับศิษย์ก็จะเกิดขึ้นได้ คือมีความรู้สึกมีทัศนคติในฐานเคารพนับถืออย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่จะให้การศึกษาได้ผลสมความมุ่งหมายอีกแง่หนึ่ง

๔. อีกแง่หนึ่ง การศึกษาที่พระสงฆ์จัดทำนั้นลงทุนน้อย ที่ว่าลงทุนน้อยเพราะพระอยู่ตัวคนเดียว ชาวบ้านเลี้ยงอยู่แล้ว และไม่ต้องเลี้ยงใครด้วย อาหารก็สองมื้อเท่านั้น ผ้านุ่งห่มก็ใช้เพียงจีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืน อาจจะมีผ้าประกอบเล็กๆ น้อยๆ การที่จะแสวงหาความเริงรมย์อะไรก็ไม่ต้องมี ถ้าปฏิบัติจริงๆ ตามสมณวิสัยก็ไม่มีรายจ่ายอะไรมากมาย เรียกว่าความเป็นอยู่ถูกมาก เดือนหนึ่งๆ พระก็ใช้ปัจจัยไม่กี่บาท เมื่อพระไม่มีความจำเป็นในด้านความเป็นอยู่ ในด้านการหาเลี้ยงชีพบีบบังคับ ในแง่หนึ่ง ก็สามารถทำงานได้เต็มที่ ในแง่หนึ่งก็ไม่ต้องมาคอยคิดที่จะหาสิ่งที่จะมาปรนเปรอตนเอง แล้วก็รู้สึกสำนึกในหน้าที่ว่าประชาชนเลี้ยงตนอยู่ จะต้องช่วยเหลืออนุเคราะห์ประชาชนเหล่านั้น เมื่อพระไม่ต้องมีรายจ่ายมากมาย ก็เป็นการลงทุนน้อย เป็นแง่ดีอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์จะช่วยประเทศชาติได้

อาจมีข้อแย้งว่า ถ้าพระไม่มีข้อผูกพันในทางเงินเดือน ที่จะเป็นเครื่องผูกมัดให้ปฏิบัติหน้าที่ พระก็จะไม่ตั้งใจปฏิบัติการงาน เพราะไม่มีเครื่องบังคับ ไม่มีอำนาจผลักดันให้ต้องทำงาน แต่เท่าที่ได้ทำงานมาแล้วในทางสงฆ์ เห็นว่าการทำงานด้วยศรัทธานั้น ได้ผลดีกว่าทำด้วยเหตุบีบบังคับโดยอำนาจหรืออะไรก็ตาม ถ้าหากมีอุดมคติของตนเอง หากเปิดโอกาสให้พระได้ทำงานด้วยจิตใจมุ่งเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามที่ท่านมีอุดมคติดีแล้ว ก็จะทำงานได้ดียิ่งกว่า ไม่ต้องไปติดอยู่กับอามิส หรืออย่างที่ว่า เอ อันนั้นยังไม่มาเราจะทำงานไปทำไม ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถึงจะมีหรือไม่มีก็ทำงานกันไปได้ ขอให้อยู่ในอุดมคติก็แล้วกัน การทำงานแบบนี้ได้ผลดีกว่า ส่วนการที่ว่าจะให้ทำงานได้จริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าเราจะต้องวางระบบการบริหารให้ดี ให้รัดกุม

เพื่อให้เห็นตัวอย่าง จะกล่าวถึงการศึกษาที่จัดอยู่แล้ว หากจะเห็นว่าเป็นการยกย่องตนเอง ก็ขอประทานอภัย กล่าวคือ เรื่องการจัดการศึกษาของพระสงฆ์อย่างที่เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ การศึกษาแบบนี้ เท่าที่จัดทำมาตามประสบการณ์ ก็เห็นว่าได้ผลพอสมควร แต่การลงทุนนั้นเห็นว่าน้อยมาก มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือมหาจุฬาฯ และมหามกุฏฯ ได้รับงบประมาณแผ่นดินประจำปี แห่งละ ๑๕๐,๐๐๐ บาทเท่ากัน มหาจุฬาฯ มีพระสงฆ์เล่าเรียนอยู่ ๑,๐๙๑ รูป แบ่งเป็นคณะเป็นโรงเรียนเป็นแผนกต่างๆ เฉพาะขั้นอุดมศึกษาอย่างเดียว ก็มีประมาณ ๒๐๐ รูป มีผู้สำเร็จปริญญาปีละประมาณ ๓๕-๔๐ รูป แม้จะไม่อยู่ด้วยงบประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทอย่างเดียว จะมีศาสนสมบัติกลางช่วยทางหนึ่ง และมูลนิธิอาเซียอุปถัมภ์อีกทางหนึ่ง รวมเงินก็ราว ๕๕๐,๐๐๐ บาท กิจการที่มหาจุฬาฯ จัดทำ นอกจากให้การศึกษาแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังมีงานเผยแผ่ต่างๆ พระธรรมทูต พระธรรมจาริก การส่งพระที่จบการศึกษาไปอยู่ต่างจังหวัด โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น รายจ่าย ๕๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนมากก็ใช้เป็นค่าสมนาคุณอาจารย์ฆราวาส เพราะอาจารย์ฆราวาสก็ต้องมาช่วยสอนในวิชาการบางอย่าง มาช่วยอนุเคราะห์ แต่ความเป็นอยู่ของฆราวาสจะทำอย่างพระไม่ได้ ก็ต้องมีสมนาคุณ แต่ว่าท่านอาจารย์ฆราวาสเหล่านั้น ก็มักจะมีศรัทธา คือรับปัจจัยในราคาที่ต่ำกว่าปกติ ไม่เท่าทั่วๆ ไป อย่างเช่นอัตรา ๕๐ บาท ก็รับเพียง ๓๐-๔๐ บาท เป็นต้น หรือบางท่านก็สละให้ทั้งหมด ส่วนพระสงฆ์เองที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ครูอาจารย์ ชั้นไหนก็แล้วแต่ อยู่ด้วยปัจจัย ๒๕๐-๔๐๐ บาท ก็พอเป็นค่าอาหารบ้าง ค่าพาหนะไปสอนบ้าง ถึงจะเป็นชั้นผู้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม เรียกว่าอยู่แถวๆ ๔๐๐-๕๐๐-๖๐๐ บาทเดือนหนึ่งๆ มีอาหาร ๒ มื้อ บางทีก็ไปบิณฑบาตได้ แต่เดี๋ยวนี้บิณฑบาตไม่ค่อยได้ ก็อาจอาศัยโดยวิธีอื่นบ้างตามสมควร ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ถึงแม้ได้รับปัจจัยน้อย ก็ดำเนินงานไปได้ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ มิใช่ว่าพระสงฆ์ไม่มีข้อบังคับทางเงินเดือนแล้ว จะไม่อยู่ในระเบียบ จะไม่ทำงานอะไรอย่างนั้นเป็นอันตัดไปได้ ทำได้โดยต้องมีอุดมคติของตนเอง คือหวังว่าจะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมแท้จริง48

ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง ก็จะเห็นชัดอีกอย่างว่า การดำเนินงานมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะเล็ก-ใหญ่แค่ไหนก็ตามอย่างที่เป็นอยู่นี้ โดยใช้ทุนดำเนินงานเท่านี้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย หากใช้วิธีการและผู้ดำเนินงานอย่างที่ทำกันทั่วๆ ไป เพราะทุนนั้นน้อยเพียงไร หากจะให้เห็นเป็นรูปชัด ลองเทียบดู อย่างเช่นกับงบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งบประมาณที่ใช้ในมหาวิทยาลัยนี้ ๑ วัน ก็มากกว่าที่ใช้ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ๑ ปี หรือถ้าเอางบประมาณของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มหาจุฬาฯ ฝ่ายสงฆ์ ก็ใช้ไปได้ ๑,๐๐๐ กว่าปี เป็นตัวเลขความจริงที่มีอยู่

๕. แง่สุดท้ายที่นึกได้ขณะนี้ เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทของไทย คือ การที่ว่า เมื่อพระสงฆ์มีส่วนในการจัดการศึกษาแล้ว จะไม่ข้ามเลยไปถึงการเข้าไปก้าวก่ายหรือครอบงำกิจการของรัฐ อย่างที่เคยเป็นมาแล้วในหลายประเทศอื่น ทั้งนี้ เพราะมีบทบัญญัติทางวินัยและคำสอนทางธรรม ให้พระสงฆ์ต้องพึ่งอาศัยฆราวาสในการเลี้ยงชีพ เป็นอยู่ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ให้สละ ไม่สะสมโลกียสมบัติ ไม่แสวงอำนาจ ถึงอยู่ท่ามกลางสังคมก็ให้ดำรงตนเป็นอิสระ ไม่เข้าไปคลุกคลี และเหตุผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของไทย คือ ประเพณีการรักษาความบริสุทธิ์ของสถาบันสงฆ์ไว้ โดยยอมให้มีการถ่ายเทระบายสมาชิกอย่างเสรีและเปิดเผย เป็นเครื่องประกันไม่ให้บทบัญญัติและคำสอนถูกดึงลงมาหาผลประโยชน์จนเสียหลัก

บทบาทหลักต่อไป คือ การเผยแผ่ บทบาทนี้ หากเปรียบเทียบกับบทบาทด้านอื่น ก็นับว่าเป็นบทบาทที่คณะสงฆ์จัดทำมากที่สุด มากกว่าอย่างอื่น แต่ถ้าจะพิจารณากันว่าเป็นอย่างไร ได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็จะต้องพูดถึงรายละเอียดเป็นอันมาก และก็ไม่ค่อยเกิดปัญหาในการที่จะริเริ่มดำเนินงานเหมือนอย่างบทบาทอื่น จึงจะขอข้ามไปก่อน ไม่พิจารณา

ในด้านการสงเคราะห์ งานส่วนที่พระสงฆ์จะทำได้โดยตรงก็คือการสงเคราะห์ทางจิตใจเป็นหลัก ส่วนการสงเคราะห์ทางวัตถุก็มีได้โดยอ้อม ด้วยการแนะนำชักจูงผู้อื่นให้กระทำหรือนำสิ่งหรือบริการที่ได้รับจากผู้อื่นมาเฉลี่ยแบ่งปันให้เป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป ส่วนที่ว่าการสงเคราะห์ควรมีอะไรบ้าง อย่างไรนั้น ย่อมสุดแต่ความเหมาะสมกับกาลเทศะ เช่นสภาพและระดับความเจริญของสังคมนั้นๆ เป็นต้น บทบาทที่ควรนำมากล่าวมีตัวอย่าง เช่น

๑. การให้คำแนะนำทางจิตใจ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่างๆ

๒. การเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นทางจิตใจ ด้วยความประพฤติเป็นตัวอย่าง ตลอดจนสถานที่ของวัดวาอารามที่สงบร่มรื่น เป็นองค์ประกอบสำหรับหล่อเลี้ยงจิตใจของสังคมอย่างหนึ่ง

๓. การให้คำแนะนำปรึกษาด้านอื่นๆ เท่าที่ทำได้ เช่น ในทางวิชาการเป็นต้น ที่ผู้ปรึกษาสะดวกใจและสนิทใจ

๔. ในสังคมชนบทที่กำลังพัฒนา เมื่อชาวบ้านยังไม่พร้อมที่จะช่วยตนเอง ในการพัฒนานั้นได้ พระซึ่งเป็นผู้นำในท้องถิ่นอยู่แต่เดิมแล้ว หากได้ท่านเป็นศูนย์กลาง และท่านได้มีโอกาสเตรียมตัวพร้อม ก็อาจจะเป็นผู้ปิดช่องว่างที่มีอยู่ในงานพัฒนา และจะเป็นผู้นำชี้ช่องทางในการที่ท้องถิ่นจะรับความเจริญใหม่ๆ ได้ บทบาทนี้อาจประกอบด้วยการเสนอแนะ ให้ความคิดริเริ่มว่า ในถิ่นนั้นมีอะไรที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แล้วเป็นศูนย์รวมชักชวนประชาชนมาทำงานนั้น หรืออาจเป็นที่ปรึกษาที่ชาวบ้านมาขอความเห็นว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นในถิ่น จะควรหรือไม่ควร ถ้าพระมีความรู้ก็แนะนำได้ เป็นการให้ความอุ่นใจแก่ประชาชน

๕. การสงเคราะห์ทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสามัญในศาสนาทั้งหลาย และยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่สำหรับประชาชนทั่วไปแม้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ในฐานะเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ สืบเนื่องมาจากความเร้นลับของชีวิต อย่างที่บางท่านเรียกว่าการบำรุงขวัญ ข้อนี้ได้แก่บทบาทประเภทพิธีกรรมต่างๆ

การที่พระสงฆ์จะปฏิบัติงานต่างๆ มีบทบาทในทางสังคมใดประการใดนั้นก็ยึดเอาหลัก ๓ ประการ คือ การศึกษา การเผยแผ่ และการสงเคราะห์ แล้วตั้งตนอยู่ในคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ความบริสุทธิ์ ความเสียสละ และความมีความรู้มีสติปัญญา เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชนได้ เมื่อประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนี้แล้ว ก็ดำเนินงานได้ และความจริงพระสงฆ์ในปัจจุบัน ท่านก็ได้เริ่มและกำลังทำงานในบทบาททั้ง ๓ อย่างนั้นอยู่แล้วมากบ้างน้อยบ้าง ตามประเภทงาน ตามกาลเทศะ และตามคุณสมบัติของตัวท่าน ในการนี้มีคุณธรรมอยู่ข้อหนึ่ง ที่จะช่วยให้พระสงฆ์สร้าง และรักษาคุณสมบัติ ๓ ประการที่กล่าวแล้วไว้ และปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทของตนได้ คือความสันโดษ ความสันโดษนั้นเป็นธรรมสำคัญที่จะช่วยให้ทำงานได้ เพราะความสันโดษ หมายถึง การไม่คอยใฝ่แสวงหาสิ่งต่างๆ มาปรนเปรอความสุขของตน มีความเป็นอยู่ทางด้านวัตถุแต่พอควร เท่าที่ชีวิตจะดำเนินไปโดยผาสุก แล้วสงวนกำลังงานที่จะพึงสูญเสียไปเพราะการแส่หาความสุขสำราญนั้นไว้ เอาแรงงานทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตน มาทุ่มเทลงในการปฏิบัติหน้าที่ของตนและบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมโดยเต็มที่ สันโดษมีหลักการอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงต้องการอย่างนี้ คือสันโดษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่สันโดษเพื่ออยู่นิ่งๆ หรือเฉื่อยชา เป็นหลักที่คิดว่าจะทำให้พระสงฆ์ทำงานได้เต็มที่ เท่าที่พูดมาก็มากพอสมควร ขอโอกาสยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

 

พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน49

พระมหาเถรานุเถระที่เคารพนับถือ ท่านสหธรรมิกผู้เป็นนักศึกษา เจริญพรท่านสาธุชนผู้มาร่วมประชุมในที่นี้

การอภิปรายในวันนี้ ในฐานะที่ผู้พูดในขณะนี้เป็นพระ และมีญาติโยมฝ่ายอุบาสกมาอภิปรายอยู่ด้วย ๒ ท่าน ก็นึกว่าอยากจะให้ญาติโยมได้พูดมากๆ และตนเองเป็นฝ่ายฟัง โดยเฉพาะในที่นี้เป็นที่ประชุมของพระสงฆ์ การที่พระสงฆ์จะได้ฟังอุบาสก ผู้เป็นญาติโยมอุปถัมภ์มาพูดให้ฟัง แสดงทัศนะของท่านนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะฉะนั้น น่าจะได้รับฟังฝ่ายญาติโยมมากกว่า ในฝ่ายกระผมผู้เป็นพระสงฆ์ด้วยกัน ว่าจะสงวนตัวพูดให้น้อยสักหน่อย นอกจากนั้นก็มีข้อที่ควรขอประทานอภัยในที่นี้ด้วยคือ ได้เข้าใจชื่อเรื่องอภิปรายผิดไป เป็นความผิดของตนเอง แต่ก็ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยคือ จนกระทั่งก่อนที่จะเริ่มอภิปรายนี้เอง จำชื่อเรื่องที่จะอภิปรายเป็นว่า “พระสงฆ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน” หมายความว่าจำชื่อเรื่องแคบเกินไป ซึ่งความจริงนั้นชื่อเรื่องที่จะอภิปรายบอกว่า “พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน” เป็นอันว่าในที่นี้จะต้องขยายขอบเขตการพูดให้กว้างขวางออกไป ทีนี้ตามหัวข้อเรื่องที่พูดนั้น เราเอาพระพุทธศาสนามาสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ทำให้หัวข้อเรื่องนี้เป็นที่ควรแก่การสนใจ และเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสภาวการณ์เป็นอย่างยิ่ง อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรพูดไปแล้ว เพราะว่า

ประการที่ ๑ คำว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ง่าย มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับตัวเราทุกๆ คน เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นเรื่องที่เราเผชิญอยู่และต้องเผชิญ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ในตัว

ประการที่ ๒ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ในยุคในสมัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความระส่ำระสาย มีความไม่สงบ มีความเดือดร้อน การดำรงชีวิตโดยทั่วไปรู้สึกว่าไม่สู้ปลอดภัย และสถาบันต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสังคมนี้ ก็รู้สึกว่ามีความไม่มั่นคงด้วย สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ควรตื่นเต้น และความตื่นเต้นนั้นก็จะก่อให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการที่นำเอาพระพุทธศาสนามาสัมพันธ์เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะที่ควร ทำให้เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก

ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศาสนากับศาสนธรรม

ทีนี้หันมาพูดถึงพระพุทธศาสนาบ้าง พระพุทธศาสนานั้น เราอาจจะพูดได้เป็น ๒ แง่ด้วยกัน คือ

ในแง่ที่ ๑ ศาสนธรรม หรือเนื้อหาคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในแง่ที่ ๒ สถาบัน ในที่นี้ขอรวมเอาพระสงฆ์ ศาสนวัตถุ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ เข้าอยู่ในประเภทสถาบัน

แง่ทั้ง ๒ นี้มีความสัมพันธ์กัน ศาสนธรรมนั้นเป็นเนื้อหาสาระหรือตัวแท้ตัวจริง เป็นสิ่งที่จะทำให้สถาบันมีความหมาย และมีความสำคัญขึ้นมา หมายความว่า หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานี้แหละเป็นตัวแกนกลางหรือเป็นตัวสาระ ทำให้สถาบันคือพระสงฆ์ วัดวาอาราม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ที่พ่วงมากับพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่เกิดมีความสำคัญขึ้น ถ้าหากว่าศาสนธรรมหมดความหมายไปเสียแล้ว พระสงฆ์ วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ก็จะหมดความหมายหมดความสำคัญไปด้วย อย่างไรก็ตาม ศาสนธรรมก็ต้องอาศัยสถาบันคือพระสงฆ์และวัดวาอารามในการที่จะดำรงคงอยู่ สืบต่อ และแสดงตัวออกมาให้ปรากฏแก่หมู่มนุษย์ เพราะฉะนั้นสถาบันก็เป็นสิ่งสำคัญในแง่ที่เป็นสื่อ สำหรับนำเอาศาสนธรรมมาแสดงให้เห็นความหมาย และความสำคัญเป็นที่ปรากฏและให้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่พหูชน อันเป็นจุดมุ่งหมายในการประกาศพระศาสนา

เมื่อเราพูดถึงพระศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ย่อมหมายความว่า เรากำลังนำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ทีนี้การที่เข้ามาอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเข้าไปเกี่ยวข้องมีบทบาทแสดงออกและทำภารกิจต่างๆ นั้น ก็จะทำให้เกิดสภาวะอย่างหนึ่งที่ปัจจุบันเขาเรียกว่าภาพพจน์ แต่คำว่าภาพพจน์นี้ สำหรับกระผมเองไม่เห็นด้วยที่จะใช้ เพราะตามความจริงนั้น คำว่า ภาพพจน์ นี้ แต่เดิมมาเป็นคำในทางวรรณกรรม เป็นวิธีใช้ถ้อยคำแสดงความหมายให้เด่นชัดหรือกินใจอย่างหนึ่ง มันมีความหมายไปอีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เรามาใช้ภาพพจน์ในความหมายใหม่ที่คลาดเคลื่อนออกไป และใช้กันจนกระทั่งว่าเป็นธรรมดาไปเสียแล้ว ถ้าจะให้ตรงความหมายน่าจะใช้ว่าภาพพิมพ์ใจหรืออะไรทำนองนั้น แต่ในที่นี้จะขอใช้เป็นแต่ภาพธรรมดาก็แล้วกัน คือว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาก็แสดงตัวให้ปรากฏ หรือมีอาการปรากฏรูปขึ้นในจิตใจของคนที่เพ่งมองว่าเป็นภาพ ทีนี้ภาพที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในสภาวการณ์ปัจจุบันนั้น เราอาจจะพิจารณาหรือวิเคราะห์ได้หลายแง่ด้วยกัน

ภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมอง

แง่ที่ ๑ คือภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมอง หมายความว่า พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ถูกคนในสังคมมองอย่างไรบ้าง เขาเห็นพระสงฆ์เป็นอย่างไร มองเห็นธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรได้พูดมาเมื่อกี้นี้ จะเห็นได้ว่าศาสนธรรมคือคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้ถูกคนจำนวนมากมองไปในแง่ที่ว่า เป็นคำสอนที่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือสังคมนี้ให้พ้นจากภาวะที่เขาเรียกว่า การกดขี่ไปสู่ความรอดพ้น อันนี้ก็หมายความว่าภาพของพระพุทธศาสนาในแง่ศาสนธรรมนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นภาพที่ไม่สู้ดี เป็นภาพที่ไม่ทำให้เกิดความหมายและความสำคัญขึ้นมา เช่น การที่มีผู้อ้างถึงหลักกรรมว่าเป็นคำสอนในทางที่ทำให้คนยอมรับสถานะที่เป็นอยู่ ทำให้ไม่คิดปรับปรุงตนให้ก้าวหน้า ไม่แก้ไขสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ถ้ามองไปในแง่สถาบันคือพระภิกษุสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน พระภิกษุสงฆ์จะถูกเพ่งมองในแง่ความสัมพันธ์กับสังคมในด้านต่างๆ จนเกิดมีภาพในจิตใจของคนในสมัยปัจจุบัน ปรากฏออกมาในรูปของข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นอันมาก ท่านทั้งหลายโดยเฉพาะที่เป็นพระภิกษุสามเณร คงจะเคยได้ยินคำกล่าวเหล่านี้อยู่บ่อยๆ คำกล่าวเหล่านี้อาจจะสรุปได้ประมาณ ๔ ข้อ

ข้อที่ ๑ เขาจะบอกว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่เอาเปรียบสังคม หรือเป็นกาฝากสังคม เช่น มาเล่าเรียนหนังสืออยู่ในที่นี้ โดยไม่ต้องไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ลำบาก บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ มาเล่าเรียนโดยไม่ต้องลงทุนอะไร อย่างนี้เป็นต้น

ข้อที่ ๒ เขาบอกว่า พระภิกษุหรือสถาบันพระพุทธศาสนานี้ เป็นสถาบันที่ทำลายเศรษฐกิจ ทำลายอย่างไร เช่นว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้ชอบก่อสร้าง และสิ่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า สร้างโบสถ์แพงๆ ชนิดที่ปีหนึ่งใช้ไม่กี่ครั้ง และพระที่ใช้ก็มีจำนวนนิดหน่อย เปลืองเงินทองที่สร้างมากมาย ถ้านำเงินจำนวนนั้นไปใช้ในกิจการอื่น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เช่น นำไปลงทุนในกิจการอุตสาหกรรม เป็นต้น มีผู้พยายามคำนวณโดยทางเศรษฐกิจว่า เงินที่ใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาปีหนึ่งๆ จะประมาณสักเท่าไร เขาบอกว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของรายได้ของชาวบ้าน ถูกนำมาใช้ทำบุญคือใช้ในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา เงินจำนวนนี้ถ้าเรานำมาใช้ในการลงทุนอุตสาหกรรม เรียกว่าผันเงินจากการที่จะนำไปทำบุญทำกุศล เอามาใช้ในการที่จะก่อให้เกิดความฟื้นฟูในทางเศรษฐกิจ มันจะได้ผลประโยชน์เป็นอันมาก เราจะได้กิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย อย่างรวดเร็วทีเดียว อันนี้ก็เป็นในแง่ของเศรษฐกิจ

ทีนี้ข้อที่ ๓ ต่อไป เขาบอกว่าพระสงฆ์นี้มอมเมาประชาชน มอมเมาอย่างไร คือหลอกประชาชนให้วุ่นวายอยู่กับเรื่องของนรกสวรรค์บ้าง ให้วุ่นวายอยู่กับเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง แล้วก็ทำให้จิตใจเขวออกไป ไม่คิดถึงสถานะความเป็นอยู่ของตนเองและปัญหาของสังคม และข้อนี้จะมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจที่กล่าวมาแล้วด้วย เช่นว่าเมื่อมีความเชื่อถือตามที่พระบอกว่า ทำบุญแล้วจะได้ไปสวรรค์โดยง่าย ก็จะนำเงินมาใช้ในทางพระพุทธศาสนา นำมาก่อสร้างศาสนวัตถุต่างๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ครั้นแล้วเงินเป็นจำนวนมากก็จะต้องสิ้นเปลืองหมดไป อันนี้เป็นการมอมเมาประชาชนทำให้จิตใจวุ่นวายอยู่กับสิ่งเหลวไหลไร้สาระต่างๆ และทำให้เกิดผลเสียแก่เศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย อันนี้เป็นเรื่องในแง่ที่ว่ามอมเมาประชาชน

ข้อที่ ๔ ต่อไป เขาบอกว่า พระสงฆ์ประพฤติไม่ดีไม่งาม มีความเสื่อมเสียเป็นอันมาก ซึ่งชักตัวอย่างสาธยายได้มากมายเหลือเกิน

อันนี้ก็เป็นข้อสรุปซึ่งจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาพของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในจิตใจของคนในสมัยปัจจุบัน ที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมดก็เพราะเป็นการมองเฉพาะในฝ่ายของผู้เพ่งร้าย แต่ถ้าเรามองในแง่ของฝ่ายที่สนับสนุน หรือฝ่ายที่อาจเรียกว่าเข้าข้างพระพุทธศาสนาบ้าง ก็จะได้ภาพในแง่ที่ว่าพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นผู้ช่วยให้ประชาชนมีอาหารทางจิตใจ ให้มีจิตใจเยือกเย็นผ่องใสเป็นสุข ศาสนธรรมก็เป็นเครื่องช่วยให้สังคมมีความสงบสุขอะไรต่างๆ เหล่านี้ ภาพทั้ง ๒ ฝ่ายนี้เป็นสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ทีนี้ภาพทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่โจมตีและฝ่ายที่สนับสนุน อย่างไหนรุนแรงกว่ากัน และอย่างไหนพูดออกมาแล้วควรแก่การรับฟังมากกว่ากัน คนฟังน่าจะเชื่อฝ่ายไหนมากกว่า อันนี้เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา ถ้าแม้ว่าเราทั้งหลายอยู่ในฝ่ายของพระพุทธศาสนา เราจะต้องพิจารณาโดยไม่เข้าข้างตัวว่า การที่เราพูดว่า พระพุทธศาสนาอยู่ในสภาพดีมีประโยชน์ เป็นภาพในทางที่งดงามนั้น มันเป็นสิ่งที่งดงามจริงหรือไม่ และถ้างดงามจริงอย่างนั้น การแสดง (ภาพ) นี้ออกไป มันเด่นชัด หรือทำให้น่าเชื่อถืออย่างไรหรือไม่ และในทางตรงข้าม ภาพที่เป็นฝ่ายของผู้โจมตีนั้น เป็นภาพที่ควรแก่การรับฟังหรือไม่ จะต้องเป็นข้อที่ควรนำมาพิจารณา อันนี้เราเรียกว่าเป็นภาพที่พระพุทธศาสนาถูกมองในสถานการณ์ปัจจุบัน

ภาพที่พระพุทธศาสนามองตนเอง

ทีนี้ในแง่ที่ ๒ ก็คือภาพที่พระพุทธศาสนามองตัวเอง โดยเฉพาะก็คือ สถาบันหรือพระสงฆ์นั่นเอง พระสงฆ์มองตัวเองอย่างไร มองโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ และมองเห็นตัวเองว่าเป็นสิ่งที่มีค่าเป็นคุณประโยชน์อย่างไรหรือไม่ หรือว่าได้แต่คอยหวั่นไหวไปตามคำที่เขากล่าวโจมตี พระสงฆ์เรานี้ย่อมได้รับฟังคำที่เขากล่าวมาทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่โจมตี ทีนี้พระสงฆ์นั้นมองตัวเองอย่างไร ภาพที่อยู่ในใจของตนเองนั้น อยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์ออกไป จะเห็นว่าพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยทีเดียว ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มองไม่เห็นคุณค่าและความหมายของตนเองเท่าที่ควร ถ้าหากเป็นอย่างนี้แล้วก็จะเป็นผลร้ายแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จะทำให้เกิดความหวั่นไหวไปตามคำที่กล่าวโจมตีนั้น การหวั่นไหวนั้นมีได้ ๒ ประการ

ประการที่ ๑ ถ้าหากว่าเราเข้าข้างตนเองอย่างมีอคติ เราก็เกิดความโกรธโมโหเกลียดชังผู้ที่มากล่าวร้ายโจมตีนั้น และก็จะตอบโต้เพียงด้วยโทสะอย่างเดียว การตอบด้วยโทสะนั้นไม่ใช่ด้วยเหตุผล มุ่งแต่จะปกป้องตัว มุ่งแต่จะแสดงปฏิกิริยา อาจว่าร้ายตอบโต้ใส่เขา กล่าวหากลับไปแบบแก้แค้น ไม่ได้ความจริง ไม่ได้ความชัดเจน ไม่สามารถแสดงภาพของตนเองให้เขามองเห็นอย่างถูกต้อง และอาจให้เกิดความเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้น

ประการที่ ๒ อาจเป็นไปในทางตรงข้าม คือ เห็นคล้อยไปตามคำกล่าวหานั้น เพราะไม่มีความเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐาน ไม่มีเหตุผลของตนเป็นหลัก พอเขาชี้ส่วนบกพร่องที่โผล่ล้ำออกมา ก็เห็นจริงเห็นจังไปหมด หันมาเป็นปฏิปักษ์เคียดแค้นตนเอง และจับจุดแก้ปัญหาไม่ถูก มักพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบทำลายอย่างเดียว

ความมั่นใจในตนเอง เกิดจากการเข้าใจตนเองอย่างถูกต้อง เรียกง่ายๆ ว่ารู้จักตัวเองทั้งแง่ดีแง่ร้าย แต่จับจุดหรือจับหลักถูก มองเห็นคุณค่าของตนเอง มองเห็นประโยชน์และความสำคัญของสถาบันของตน ส่วนที่ผิดพลาดบกพร่องก็ยอมรับและคิดแก้ไขปรับปรุง มองเห็นเหตุปัจจัยของความผิดพลาดบกพร่องนั้น รับฟังผู้อื่นได้ ชี้แจงเหตุปัจจัยแห่งความผิดพลาดบกพร่องให้เขาเข้าใจตนเองอย่างถูกต้องได้ และสามารถใช้สิทธิป้องกันตนเองโดยชอบธรรม

กรณีบางอย่างมีส่วนดีและส่วนเสียอยู่ด้วยกัน เมื่อแยกได้แล้วก็สามารถรับฟังคิดแก้ไขปรับปรุงด้วย สามารถชี้แจงส่วนที่ดี และเหตุปัจจัยของส่วนเสียได้ด้วย ขอยกตัวอย่างการป้องกันตนโดยชอบธรรม โดยหยิบเอาเรื่องแรกที่มีผู้กล่าวโจมตีขึ้นมาพิจารณา คือ ที่เขาว่าพระเณรเอาเปรียบสังคม เล่าเรียนหนังสือโดยไม่ต้องดิ้นรนขวนขวาย ในเรื่องนี้ควรพิจารณาดังนี้

ปัจจุบันนี้ เรื่องความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของสังคม เป็นปัญหายิ่งใหญ่ของบ้านเมืองก็ว่าได้ และความเสมอภาคทางการศึกษานี้ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ว่า รัฐจะต้องพยายามเข้าให้ถึง จะต้องลงทุน พยายามดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างได้ผลดีที่สุด แต่ว่าความมุ่งหวังนั้นยังมีทางสำเร็จได้น้อย การณ์ปรากฏว่าปัจจุบันเป้าหมายอันนี้เราได้อาศัยคณะสงฆ์นั่นเองช่วยเหลืออยู่ ความจริงคณะสงฆ์เป็นสถาบันการศึกษาสมัยโบราณ ที่สังคมไทยเรายกเลิกไปแล้ว บอกให้พระสงฆ์วางมือ หมดภารกิจในการศึกษา แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว หาได้หมดไม่ กลับกลายเป็นว่าคณะสงฆ์ปัจจุบันนี้เป็นสถาบันสำคัญในการศึกษา

ท่านเคยได้ยินไหมว่า พระสงฆ์ในเมืองไทยเรานี้มีจำนวน ๓ แสนรูป จำนวน ๓ แสนรูปนี้ คิดเฉลี่ยต่ออัตราประชากรทั้งหมดประมาณ ๔๐ ล้านคน ได้อัตราส่วนระหว่างพระสงฆ์กับประชากร พระภิกษุสามเณร ๑ รูป ต่อพลเมืองประมาณ ๑๓๐ คน อัตราส่วนนี้เมื่อพิจารณาในแง่การศึกษา จะเห็นความแตกต่างเป็นอันมาก เมื่อปี ๒๕๑๒ ตัวเลขในทางการศึกษาของรัฐ ตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป มีนักเรียน นิสิตนักศึกษาประมาณ ๔๗๐,๐๐๐ คน นี้เป็นสถิติการศึกษาฝ่ายรัฐ ส่วนในฝ่ายพระสงฆ์ที่มีประมาณ ๓ แสนรูป มีพระภิกษุสามเณรเป็นนักเรียน ตามสถิติเข้าสอบประมาณ ๒๓๐,๐๐๐ รูป หมายความว่า ในสถิติการศึกษาของประเทศไทย สถิติของคฤหัสถ์หรือการศึกษาของรัฐทั้งหมดมี ๔๗๐,๐๐๐ คน ของพระ ๒๓๐,๐๐๐ รูป ของพระนี้ประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเลขการศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อพูดในแง่การศึกษาจึงได้อัตราส่วนพระ ๑ ต่อคฤหัสถ์ ๒ แต่ตัวเลขรวม พระ ๑ ต่อคฤหัสถ์ ๑๓๐ กว่า ก็หมายความว่า ของพระนั้น ตัวเลขส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางการศึกษา และส่วนใหญ่ถ้าพิจารณาในแง่พลเมืองก็คือ พลเมืองที่อยู่ในวัยการศึกษา แล้วในบรรดาผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนระดับมัธยมขึ้นไป (เราถือว่าผู้ที่จะเข้ามาบวชนั้น เป็นผู้สำเร็จประถมศึกษาไปแล้ว) เมื่อจัดเป็น ๓ ส่วน จะเป็นพระเณรเสีย ๑ ส่วน คฤหัสถ์ ๒ ส่วน นี้การศึกษาของประเทศไทยมาอยู่ในวัดเสียเท่านี้ และการศึกษาของพระสงฆ์นั้น รัฐให้เงินทุนประมาณ ๑ ล้าน ๕ แสนบาทต่อปี ในขณะเดียวกับการศึกษาฝ่ายคฤหัสถ์ตั้งแต่มัธยมศึกษาถึงมหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๒ นั้น ใช้เงินทั้งหมด ๑,๕๖๔ ล้านบาท สรุปแล้วเงินงบประมาณที่ให้แก่พระสงฆ์นั้น ถ้าคูณด้วย ๒ เพื่อให้จำนวนพระสงฆ์ที่เป็นนักเรียน มีจำนวนเท่ากับนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ ตัวเลขงบประมาณจะได้ ๓ ล้านบาท หมายความว่ายังน้อยกว่าตัวเลขหลักหน่วยตัวสุดท้ายสำหรับงบประมาณของรัฐเพื่อการศึกษา ในระบบการศึกษาของรัฐบาลประมาณ ๑,๕๖๔ ล้านบาท สำหรับนักเรียน ๔๗๐,๐๐๐ คน ทบทวนอีกครั้งว่า พระสงฆ์ ๒๓๐,๐๐๐ รูป ได้งบประมาณ ๑.๕ ล้านบาท คูณด้วย ๒ เป็น ๔๖๐,๐๐๐ รูป ตัวเลขนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์ ๔๗๐,๐๐๐ คน ก็พอๆ กัน แล้วของพระนั้นจะได้งบประมาณ ๓ ล้านบาท ในขณะที่งบของนักเรียนในระบบการศึกษาของรัฐจะได้ถึง ๑,๕๖๔ ล้านบาท นี่คือสภาพการศึกษาในประเทศไทย แล้วก็ในเมื่อการศึกษาของรัฐนี้ ยังไม่สามารถจะให้ความเสมอภาคได้ คือเราไม่สามารถจะจัดโรงเรียนให้แก่ชนบทอย่างทั่วถึง ไม่สามารถให้ผู้มีฐานะเศรษฐกิจต่ำต้อยมาเข้าถึงการศึกษาได้ ผู้ที่ไม่สามารถเข้ามาสู่ระบบการศึกษาของรัฐ ก็เข้าสู่ระบบการศึกษาของวัดต่อไป เอาประเพณีดั้งเดิมเป็นที่พึ่ง คนที่ไม่ชอบก็ได้แต่ด่าว่า ไม่เคยศึกษาเหตุผล จึงแก้ปัญหาไม่ได้

ฉะนั้น สถิติการศึกษาของพระก็เป็นไปในทางที่ตรงกันข้ามกับของคฤหัสถ์ ดังตัวอย่างที่พูดมาแล้ว ซึ่งเราจะพูดไม่ได้เลยว่า พระสงฆ์เอาเปรียบสังคม และการที่พระเณรเรียนหนังสือโดยได้รับความอุปถัมภ์จากประชาชนนั้น ก็เป็นข้อดีที่ว่า การศึกษาของพระสงฆ์เป็นภาระรับผิดชอบของประชาชนโดยตรง ส่วนการศึกษาของนักเรียนฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ได้รับผลประโยชน์จากประชาชนโดยอ้อม โดยรัฐบาลไปเก็บภาษีมาแล้วเอามาให้เขาถึงที่ เขาไปเรียนตามโรงเรียน ตามสถาบันการศึกษา ตามมหาวิทยาลัย ถึงเวลาก็ไปรับผลประโยชน์เอาจากภาษีอากรทันที โดยที่ว่ารัฐบาลจัดส่งมาให้เสร็จ โดยไม่ต้องเดินไปหา ส่วนพระนั้น จะไปรับผลประโยชน์จากประชาชนต้องเดินไปรับบิณฑบาตด้วย อันนี้คือข้อแตกต่าง เพราะฉะนั้น จะพูดไม่ได้ว่าพระสงฆ์เอาเปรียบประชาชน

นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ถ้าหากว่าพระสงฆ์มีความเข้าใจในเรื่องนี้พอสมควรแล้ว จะมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นในสถาบันของตนเองเพิ่มขึ้น และจะกล่าวตอบโต้ออกไปด้วยความมั่นใจในตัวเองและด้วยเหตุผล ความมั่นใจในตนเองนี้ เป็นคุณค่าส่วนรากฐานที่จะทำให้เกิดขั้นตอนแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องในการแสดงออก คือจะไม่แสดงด้วยอาการอันหวั่นไหว

การหวั่นไหวที่กล่าวมาแล้วมี ๒ อย่าง คือ

  1. หวั่นไหวโดยลำเอียงเข้าข้างตัวเอง แล้วแสดงอารมณ์โกรธออกไปตอบโต้แบบรุนแรง
  2. หวั่นไหวโดยเอนเอียงเห็นคล้อยไปตามคำที่กล่าวโจมตีนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีท่าทีที่ถูกต้องก็ต้องมองเห็นภาพของตนเองอย่างถูกต้อง โดยวิธีนี้พระสงฆ์เราจะมีความมั่นใจตนเอง และกระทำการต่างๆ ด้วยเหตุผล เป็นการกระทำที่ดีงาม

ภาพที่อยากให้เขามอง

ภาพต่อไปก็เป็นภาพที่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์อยากให้เขามองตนเอง หมายความว่าพระสงฆ์ในปัจจุบันนี้ อยากให้ประชาชนมองเห็นตนเองเป็นอย่างไร เรามาพิเคราะห์ดูว่า พระสงฆ์ปัจจุบันนี้ อยากให้เขามองเห็นตนเองเป็นอย่างไร บางท่านก็อยากจะให้สังคมเห็นว่า ฉันนี้เป็นคนบำเพ็ญประโยชน์นะ ฉันได้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยนะ ฉันได้เอาใจใส่ชาวนาด้วยนะ ฉันได้ไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ด้วยนะ นี่เป็นภาพที่อยากให้เขามอง หรือว่า บางท่านก็อยากจะให้ประชาชนได้มองในแง่ว่า ฉันเป็นคนเอาใจใส่ในกิจพระศาสนาเป็นอย่างดีนะ ฉันได้พยายามสร้างโบสถ์สร้างศาลา ซ่อมวัดแล้วนะ นี่ก็เป็นภาพที่พระอยากให้เขามอง

ภาพที่พระอยากให้เขามองนี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เป็นตัวอิทธิพลเป็นแรงจูงใจที่จะขับไสให้พระทำการต่างๆ แสดงบทบาทออกมา เราอยากจะให้เขามองเราว่าเป็นอย่างไร เราก็พยายามแสดงอาการให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระจำนวนหนึ่งก็จะพยายามขวนขวายในการที่จะบำรุงรักษาซ่อมแซม และสร้างศาสนวัตถุให้มีพรั่งพร้อมขึ้น พระอีกฝ่ายหนึ่งก็จะพยายามบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม อันนี้ก็เป็นภาพที่เราอยากให้เขามอง

ทีนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่า ภาพที่อยากให้เขามองเหล่านี้ เป็นภาพที่ถูกต้องแล้วหรือยัง เป็นภาพที่ถูกต้องเหมาะสมตามหน้าที่ ตามภาวะภิกษุสงฆ์หรือไม่ ภาพที่อยากให้เขามองนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นภาพที่ถูกต้องเสมอไป บางทีเป็นเพียงภาพซึ่งเกิดจากปฏิกริยาต่อการถูกเขาเพ่งมองเท่านั้นเอง ไม่ได้เกิดจากการเข้าใจหลักของตนเองอย่างแท้จริง ฉะนั้น ถ้าเราไม่หันกลับมาวิเคราะห์ดูภาพนี้อยู่เป็นครั้งคราวแล้ว อาจจะเกิดความผิดพลาดไปได้ แต่จะขอผ่านไปก่อน

ภาพที่ควรมีให้เขามอง

ทีนี้ เมื่อพูดถึงภาพที่อยากให้เขามองแล้ว ก็ต้องพูดเลยไปถึงภาพที่ควรมีให้เขามองเรา หรือภาพที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรตามที่มันควรจะเป็น อันนี้แหละคือจุดที่สำคัญที่สุด และจะได้เอามาใช้วินิจฉัยแก้ข้อเมื่อกี้ได้ คือข้อที่ว่า ภาพที่อยากให้เขามองนั้น เป็นสิ่งถูกต้องแล้วหรือยัง เราจะต้องพยายามวินิจฉัยให้ได้ว่า เราควรจะมีภาพอะไรให้เขามอง ถ้าเราวินิจฉัยภาพอันนี้ได้แล้ว จะแสดงตนและทำบทบาททำภารกิจต่างๆ ได้โดยถูกต้องสมกับภาวะหน้าที่ของพระ

พระสงฆ์นั้นเป็นสถาบันอันหนึ่งของสังคม สถาบันต่างๆ ในสังคมนี้ ย่อมมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แต่ภารกิจของสถาบันต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสังคมนั้น ย่อมไม่เหมือนกัน ในการที่จะทำประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมนั้น สถาบันหนึ่งๆ ย่อมมีกิจมีหน้าที่ของตน ถ้าสถาบันต่างๆ มีหน้าที่ทำภารกิจเหมือนกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีสถาบันต่างๆ กัน ก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสีย หรือเราก็เปลี่ยนอันหนึ่งไปเป็นอีกอันหนึ่งที่เขาทำอยู่แล้วก็หมดเรื่องไป แต่การที่มีสถาบันต่างๆ กัน ก็เพราะว่าแง่มุมที่จะทำหน้าที่ในการสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมนั้นมันไม่เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นสถาบันสงฆ์เราก็จะต้องมีภารกิจมีหน้าที่ต่อสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากสถาบันอื่น พระสงฆ์เรากำหนดได้หรือไม่ว่า หน้าที่อันเป็นส่วนเฉพาะ หรือจะเรียกภาษาสมัยใหม่ว่าเป็น เอกลักษณ์ ของสถาบันของเรานี้ ที่มีต่อสังคมนั้น คือหน้าที่และบทบาทอะไร อันนี้คือจุดสำคัญอันหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับข้อที่ว่า ภาพที่พระสงฆ์ควรจะมีให้เขามองตนเอง

จุดยืนของพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา

นี้คือเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการที่พระพุทธศาสนาเข้ามาสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกระผมได้พูดปะปนกันไป ทั้งในแง่ศาสนธรรม และสถาบัน ทั้งสองสิ่งนี้มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะพิจารณาอะไรต่ออะไรก็ตาม เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ถ้าเราไม่ลืมจุดสำคัญแต่ต้น หรือจะพูดภาษาสมัยใหม่ว่า จุดยืน ถ้าไม่ลืมจุดยืนเสียแล้ว เราจะพิจารณาตนเองได้ถูกต้อง เราพูดได้ว่าพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญอยู่ ๒ อย่างคือ ศาสนธรรมกับสถาบัน สถาบันจะไม่มีคุณค่าและไม่มีความสำคัญอย่างแท้จริงถ้าไม่มีศาสนธรรม และศาสนธรรมนั้นจะปรากฏความหมายและคุณค่าด้วยดีไม่ได้ ถ้าขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้สิ่งทั้ง ๒ นี้มาสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดประโยชน์โดยสมบูรณ์ ข้อนี้ก็หมายความว่า สถาบันนั้นจะต้องทำหน้าที่ในการแสดงออกมา ซึ่งศาสนธรรมให้มีความหมายและมีคุณค่า หากประสบความสำเร็จในกิจนี้ก็หมายความว่า พระพุทธศาสนาจะมีความหมายในสถานการณ์ปัจจุบัน มีคุณค่า มีประโยชน์แก่ประชาชนในยุคปัจจุบันนี้ หากทำไม่ได้ ถึงจะไปทำอะไรอื่นๆ มากมาย ทำให้เกิดความพรั่งพร้อม ความบริบูรณ์ในทางวัตถุอย่างไร ไปขอเอาบทบาทบำเพ็ญประโยชน์ของเขามาทำอย่างไร พระพุทธศาสนาก็จะหาคุณค่าความสำคัญที่แท้จริงไม่ได้ เพราะหลักที่แท้จริงนั้นคือศาสนธรรม

ทีนี้ก็มีปัญหาอยู่ว่า ปัจจุบันนี้ ศาสนธรรมนั้นเราได้ทำให้เกิดคุณค่าความหมายที่แท้จริงเพียงพอแล้วหรือยัง หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น เราได้นำมาแสดง ทำให้คนในปัจจุบัน จะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หรือคนที่เราต้องการจะให้เขาได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาก็ตาม คนเหล่านั้นสามารถเข้าถึงธรรมที่เรานำไปแสดงหรือไม่ เราสามารถแสดงธรรมในรูปที่จะทำให้เขาเข้าถึง หรือนำธรรมะให้เข้าถึงประชาชนได้หรือไม่ การเข้าถึงนี้ก็หมายความถึงว่า ทำให้เขาเห็นความหมาย ให้เห็นคุณค่า ให้เห็นความสำคัญ ถ้าหากว่าพระสงฆ์ประสบความสำเร็จในกิจนี้ คือสามารถทำหน้าที่ของตนเอง ในการที่จะแสดงธรรมในรูปที่มีความหมายมีคุณค่าต่อคนในสมัยปัจจุบัน ทำให้เขาเข้าถึงได้ ให้เขาเห็นความสำคัญอย่างที่ท่านผู้ดำเนินการอภิปรายกล่าวมาแล้ว

เช่นว่าในทางการเมือง ก็แสดงให้เขาเห็นว่า พระพุทธศาสนานั้นสามารถนำมาใช้เป็นหลักในการปกครองได้เป็นอย่างดี แก้ไขปัญหาสังคมด้านการเมืองได้ ในแง่ของการศึกษา พระพุทธศาสนาก็มีรากฐานที่จะนำมาใช้เป็นปรัชญาการศึกษาของสังคมไทยได้ อย่างนี้เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คุณค่าอะไรที่พุทธศาสนาจะอำนวยให้แก่ชีวิตมนุษย์ได้ ซึ่งไม่มีสถาบันอื่นใดสามารถทำแทน นี่คือการแสดงศาสนธรรมในรูปที่จะทำให้คนในสมัยปัจจุบันเข้าถึง และมองเห็นคุณค่าความสำคัญของพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์ประสบความสำเร็จในภารกิจนี้ ไม่ต้องกลัว พระพุทธศาสนานั้นจะต้องดำรงอยู่ด้วยดีในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างแน่นอน

เท่าที่กล่าวมานี้ ได้พูดให้พิจารณาสภาวะของพระพุทธศาสนา ทั้งสถาบันและศาสนธรรมในสภาพสังคมปัจจุบัน และให้ช่วยกันพิจารณาต่อไปว่า เราควรจะทำอะไร และสิ่งที่เราจะทำนั้นจุดสำคัญอยู่ที่ไหน ก็ได้พูดมานานเป็นเวลาพอสมควร คิดว่าจะยุติการพูดในตอนนี้ก่อน

ศาสนจักรกับอาณาจักร
ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมือง50

คณะสงฆ์เป็นสถาบันใหญ่ในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีรายละเอียดมากมาย แต่เท่าที่เป็นมาในเมืองไทยเรานี้ การศึกษาเรื่องในอดีตยังไม่ชัดเจนละเอียดลออเท่าที่ควร ซึ่งเป็นข้อที่น่าพิจารณาอย่างหนึ่ง เรื่องศาสนจักรกับอาณาจักร เป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาประวัติให้ทราบกันอีกมาก ความจริงท่านผู้เสนอบทความก็พูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ด้วย

แต่อาตมภาพมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกว่าท่านอาจจะเอาสภาพปัจจุบัน เป็นแบบของสถาบันพุทธศาสนาในประเทศไทยทั้งหมดมากไปสักหน่อย อย่างเรื่องระบบการที่รัฐเข้าควบคุมคณะสงฆ์ เช่นโดยสมณศักดิ์เป็นต้น อย่างที่ท่านพูดมานั้น อันนี้ปัจจุบันเราเห็นว่าระบบนี้มันแน่นมาก แต่ถ้าเทียบในอดีตแล้ว อาตมภาพว่าในอดีตไม่เคยแน่นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะนึกว่า ในอดีตประเทศไทยเป็นมาอย่างนี้โดยตลอด ก็อาจไม่แน่ใจนัก

ทีนี้สภาพปัจจุบันที่ทางรัฐได้มีระบบ ที่เราอาจจะเรียกว่าการควบคุมคณะสงฆ์ในด้านการบริหาร ทั้งสายปกครองและสายสมณศักดิ์แน่นมาก เรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร แน่ละ ปัจจัยอันหนึ่งมาจากอดีต หมายความว่าแนวโน้มในอดีตมีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เด่นมาก ต้องมีปัจจัยด้านอื่นมาประกอบด้วย ในทัศนะอาตมภาพว่า ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งก็คือเรื่องการศึกษา ถ้าหากว่าพระสงฆ์ขาดการศึกษา มีการศึกษาน้อย การที่จะต้องพึ่งพิงสถาบันอื่นก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะในที่นี้ หมายถึงการพึ่งพิงสถาบันฝ่ายปกครอง เพราะว่าหน้าที่หลักของสถาบันสงฆ์นั้น คือการทำงานไปตามภาวะที่เป็นผู้นำทางสติปัญญา อันนี้เป็นรากฐานเดิม ถ้าขาดสติปัญญาเมื่อไร ไม่มีทางที่จะนำผู้อื่น ก็ต้องเป็นผู้ตาม แล้วก็จะพึ่งพิงอาศัยเขา

ในสภาพปัจจุบันนี้ สำหรับอาตมภาพมีความเห็นว่า พระสงฆ์ได้มีความตกต่ำทางการศึกษามาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้การพึ่งพาอาศัยสถาบันทางการเมืองมีมากขึ้น

ถ้าเรามองในแง่หลักการสามเส้า อาจจะพิจารณาเรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือในอดีตอาตมภาพเห็นว่า มีสถาบันสามฝ่ายที่เข้ามาอาศัยกัน และในเวลาเดียวกันก็ควบคุมซึ่งกันและกัน ได้แก่สถาบันฝ่ายปกครองคือพระมหากษัตริย์ สถาบันฝ่ายศาสนาคือคณะสงฆ์หรือวัด และอีกด้านหนึ่งก็คือประชาชน สามอันนี้จะควบคุมซึ่งกันและกัน ถ้าเรามองเพียงด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ ภาพอาจจะไม่เพียงพอ อาจจะไม่ชัด

การที่รัฐจะเข้ามาควบคุมคณะสงฆ์ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าเพราะรัฐต้องการฐานทางประชาชนด้วย ทำไมรัฐจึงพยายามเอาใจคณะสงฆ์ ข้อนี้เราอาจพิจารณาได้ ๒ ด้าน คือการทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างหนึ่ง กับการทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวสถาบันนั้นเองอย่างหนึ่ง หมายความว่าพระมหากษัตริย์เข้ามาอุปถัมภ์บำรุง และพยายามควบคุมคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ว่าจะควบคุมโดยตรงก็ตาม โดยอ้อมก็ตาม เราพิจารณาได้อีก ๒ แง่ แง่ที่หนึ่ง อาจจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน หรือในแง่ที่สอง อาจจะมองในแง่เพื่อผลประโยชน์ของตน คือความมั่นคงของการดำรงสถานะของตนก็ได้

แต่จะมองในแง่ไหนก็ตาม การที่สถาบันกษัตริย์หรือรัฐเข้ามาควบคุมหรืออุปถัมภ์คณะสงฆ์นั้น ย่อมเป็นเพราะเหตุผลเกี่ยวกับการที่ต้องการเสียงทางด้านประชาชนในสถานหนึ่ง เพราะอะไร เพราะพระสงฆ์มีความใกล้ชิดกับประชาชน และคุมเสียงประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่พระสงฆ์จะสามารถควบคุมเสียงประชาชนได้อย่างไร พระสงฆ์จะต้องมีการศึกษา มีความรู้ สามารถนำประชาชนได้ และในการที่พระสงฆ์มีอำนาจทางประชาชน พระสงฆ์ก็จะมีอำนาจต่อรองกับรัฐด้วย

ฉะนั้น อาตมภาพว่ามิใช่แต่รัฐจะมาควบคุมพระสงฆ์ฝ่ายเดียว ในอดีตนั้นน่าจะเป็นไปได้ว่า พระสงฆ์ได้มีส่วนในการที่จะควบคุมทางฝ่ายรัฐด้วยเหมือนกัน แต่จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องที่น่าพิจารณากันต่อไป เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยในแง่นี้จะต้องศึกษากันอีกมาก มองทั้งแง่ที่รัฐเข้ามาคุมคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ควบคุมรัฐ เมื่อใดที่คณะสงฆ์ขาดการศึกษาและเข้ามาพึ่งพิงรัฐมากเกินไป นั่นแหละความจริงคือตัวความเสื่อมแก่รัฐเองด้วย

ทำไมอาตมภาพจึงว่าเช่นนั้น การที่รัฐควบคุมคณะสงฆ์ไว้มากเกินไป เช่นในระบบอุปถัมภ์เป็นต้น ต่อมาคณะสงฆ์จะหวังพึ่งพิงรัฐ เมื่อคณะสงฆ์หวังพึ่งพิงรัฐมาก อะไรๆ ก็ขึ้นกับรัฐ คณะสงฆ์ก็จะห่างประชาชน เมื่อคณะสงฆ์ห่างจากประชาชน ไม่นาน เสียงทางประชาชนก็ขาดไป รากฐานทางประชาชนก็ไม่มี ต่อไปคณะสงฆ์นั่นแหละก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เพราะคณะสงฆ์จะเป็นประโยชน์แก่รัฐ ก็ต่อเมื่อคณะสงฆ์สามารถนำประชาชน และช่วยให้รัฐดำรงเสียงทางด้านประชาชนไว้ได้ เมื่อคณะสงฆ์หันมาอยู่กับรัฐ หวังพึ่งรัฐ ไม่เอาใจใส่ประชาชนหรือเข้าไม่ถึงประชาชน ไม่นานเท่าใดคณะสงฆ์ก็จะหมดความหมายต่อประชาชน แล้วก็หมดความหมายต่อรัฐไปเอง

เพราะฉะนั้น อาตมภาพว่า ในอดีต การที่คณะสงฆ์รุ่งเรืองอยู่ได้ก็เพราะมีเสียงทางประชาชนอยู่มาก อันนี้เป็นข้อพิจารณาอันหนึ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป จะมองในแง่ว่ารัฐมาคุมฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมองแต่สภาพปัจจุบัน เราจึงเน้นว่ามันเป็นอย่างนั้น คือรู้สึกว่าคณะสงฆ์ขึ้นต่อรัฐมาก ทั้งในการอุปถัมภ์บำรุงและระบบการบริหารควบคุม การศึกษาก็ตกต่ำ นำประชาชนได้น้อยลงๆ และต้องหวังพึ่งรัฐมากขึ้น ในสภาพอย่างนี้อาตมภาพว่า คณะสงฆ์เองจะเสื่อม แล้วความหมายต่อรัฐจะหมดไป คณะสงฆ์ก็จะช่วยอะไรรัฐไม่ได้ด้วย เพราะช่วยรัฐทำประโยชน์สุขแก่ประชาชนก็ไม่ได้ ช่วยตรึงเสียงทางด้านประชาชนให้แก่รัฐก็ไม่ได้ เมื่อถึงเวลานั้น รัฐก็จะสูญเสียประโยชน์ที่รัฐพึงได้จากคณะสงฆ์ และรัฐก็จะถอนตัวจากความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ ไม่ต้องใส่ใจเอาใจคณะสงฆ์อีกต่อไป จึงเป็นการสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่รัฐและคณะสงฆ์ ถ้าหากว่าในอดีตรัฐพยายามอุปถัมภ์ควบคุมคณะสงฆ์ และคณะสงฆ์ยังคงอยู่บัดนี้ ก็น่าจะแสดงว่า คณะสงฆ์สมัยก่อนนั้น มีฐานหนักแน่นในหมู่ประชาชน และย่อมสามารถควบคุมรัฐได้ด้วย

เพราะฉะนั้นถ้าเอาภาพปัจจุบันเป็นเกณฑ์ทีเดียว ก็อาจจะมองภาพในอดีตไม่ชัดนัก นี่เป็นข้อสังเกตในแง่หนึ่ง

ในแง่ความสัมพันธ์ทางด้านอื่นก็เหมือนกัน กับการที่ว่าคณะสงฆ์ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับฝ่ายรัฐนั้น เราจะมองในแง่ผลประโยชน์ก็ได้ หรือมองในแง่ประโยชน์สุขของประชาชนก็ได้ ในแง่ประโยชน์ของประชาชนนั้น เราพบว่าพระสงฆ์มีหน้าที่ตามหลักธรรม ที่จะต้องช่วยให้ประชาชนมีความเจริญงอกงามในทางศีลธรรมเป็นต้น หรือมีความสุขสงบในสังคม ตามปกตินั้น พระสงฆ์จะช่วยประชาชนได้โดยทั่วๆ ไประดับหนึ่ง แต่ท่านจะต้องพิจารณาเห็นว่าการที่จะช่วยประชาชนได้แท้จริงนั้น ท่านจะทำไม่สำเร็จ ตราบใดที่ท่านยังไม่สามารถทำให้ผู้ปกครองประพฤติธรรม เพราะผู้ปกครองมีอิทธิพลมากต่อประชาชน ถ้าผู้ปกครองไม่เป็นธรรม ก็ไม่ทำให้สังคมนั้นสงบสุข ประชาชนจะอยู่สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่แท้จริงได้ ก็ต้องสอนผู้ปกครองให้มีธรรมด้วย โดยหลักการในการสอนธรรมนั่นเอง จึงต้องเข้าถึงผู้ปกครอง เพราะจะมองในแง่ว่าท่านทำอย่างนั้นเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ได้ หรือจะมองในแง่ว่า ท่านต้องการผลประโยชน์แก่สถาบันของท่าน อันนี้ก็แล้วแต่ ซึ่งความจริงแล้วเรื่องนี้ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว มันต้องเป็นไปทั้งสองอย่าง แม้แต่ตัวพระสงฆ์เอง ก็มีทั้งผู้หวังประโยชน์ส่วนตัว และผู้ที่ทำเพื่อหลักการอุดมการณ์

ปัญหาโยงมาถึงปัจจุบัน เมื่อสักครู่หนึ่ง รู้สึกจะมีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงสภาพปัจจุบัน ที่ทางสถาบันสงฆ์หรือสถาบันพระศาสนานี้ช่วยสังคมไม่ค่อยได้มาก อาตมภาพขอโยงเข้ากับสาเหตุที่พูดมาแล้วว่า ในสภาพปัจจุบันนี้ อาตมภาพเห็นว่าพระสงฆ์ขาดการศึกษา มีความอ่อนแอเสื่อมโทรมภายใน จะดำรงสถาบันตนเองแทบไม่ไหว แล้วจะไปช่วยสังคมภายนอกได้อย่างไร อันนี้เรามองกันในแง่หนึ่งที่ท่านไปทำอะไรข้างนอกไม่ได้ เพราะตัวเองท่านก็แย่อยู่แล้ว ในสภาพปัจจุบันนี้ ถ้าเรามองหรือสำรวจในชนบท เราจะเข้าใจภาพนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนี้เป็นภาระที่สังคมไทยทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบด้วย เวลามองภาพอย่างนี้แล้ว จะมองแต่ว่าสถาบันสงฆ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างเดียว ไม่ถูกต้อง ความจริง พวกเราทั้งหมดได้ช่วยกันสร้างสภาพที่ไม่ดีให้เกิดมีขึ้น ถ้าพูดไปก็เป็นเรื่องยาวที่จะต้องศึกษารายละเอียดกันต่อไป

ทำไมพระสงฆ์สามเณรจึงขาดการศึกษา ในปัจจุบันพระเณรส่วนมาก คือ ๙๐% ขึ้นไปเป็นชาวบ้าน หรือชาวชนบทที่ห่างไกล โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจน เสียเปรียบในทางสังคมอยู่แล้ว ด้อยโอกาสในทางการศึกษาเป็นอย่างมาก และยิ่งในปัจจุบันนี้ การมาบวชหมายถึงการถูกตัดโอกาสในการศึกษายิ่งขึ้นไปอีก จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทำให้พระเณรขาดการศึกษา อีกอย่างหนึ่งคือการที่อารยธรรมตะวันตกเข้ามา เรารับเอาการศึกษาแบบตะวันตก รัฐให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำหน้าที่จัดการศึกษามวลชน และทำไม่สำเร็จไม่ทั่วถึง คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและในทางภูมิศาสตร์ เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาของรัฐ ในเวลาเดียวกัน วัดนี่เป็นสถานศึกษาโบราณ ทางรัฐก็บอกว่าเลิก ไม่ต้องทำหน้าที่ต่อไป แต่ชาวบ้านที่ยากจนไม่มีทางเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐ ก็ไปอาศัยวัดตามประเพณีเดิม เด็กจบประถมสี่ที่ยากจน ถ้าอยากจะเรียนก็ไปอยู่ที่วัด รัฐก็ไม่เอาใจใส่ไม่รับผิดชอบ เพราะถือว่าพระสงฆ์ไม่มีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อมวลชนต่อไป ในที่สุดคนเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้ง คนที่มีลักษณะอย่างนี้เมื่อเข้าไปอยู่ตามวัด ต้องการจะเรียนแล้วไม่ค่อยได้เรียน ตกลงสถาบันสงฆ์ก็เป็นแหล่งที่คนยากจนด้อยโอกาส พยายามสร้างฐานะทางการศึกษาและสังคมขึ้นมา แต่เมื่อไม่ได้รับการเหลียวแล มันก็ตกเป็นภาระหนักแก่สถาบันสงฆ์ ในเวลาเดียวกัน คนยากจนเหล่านั้นก็ต้องการผลประโยชน์แก่ตนเองไปบ้าง แม้ว่าจะเล็กน้อย วัดก็สนองความต้องการของเขา ช่วยเหลือเขาได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันสงฆ์ก็ถูกดึงให้ต่ำและอ่อนแอลงไปด้วย สถาบันสงฆ์ในลักษณะเช่นนี้จะไปทำหน้าที่ต่อสังคมได้อย่างไร มีแต่ทรุดลงไปทุกที แต่นี่ก็เป็นการช่วยสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าวัดไม่ช่วยคนเหล่านี้ ใครจะช่วยเขา ข้อน่าคิดก็คือ ไหนๆ ก็ต้องช่วยอยู่แล้ว ก็น่าจะช่วยให้ดีๆ ไม่ใช่ปล่อยซังกะตายโดยไม่ยอมรับความจริงที่มี

เราลองมองดูสังคมต่างจังหวัด ปัจจุบันนี้วัดในประเทศไทยมีประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัดแล้ว สถิติเมื่อ ๓-๔ ปีที่แล้ว วัดไม่มีเจ้าอาวาสประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าวัด และในปัจจุบันจะมีวัดที่ไม่มีเจ้าอาวาสกี่วัดทั่วประเทศไทย ถ้ามี ๕,๐๐๐ วัด ก็เท่ากับ ๑/๖ ของวัดทั้งหมดในประเทศไทย ไม่มีเจ้าอาวาส เพราะอะไรจึงไม่มีเจ้าอาวาส ก็เพราะไม่มีพระที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ บางวัดหน้าแล้งไม่มีพระอยู่เลย หรือบางที่ไม่มีทั้งปี ถึงขนาดเรียกว่าชาวบ้านต้องไปประมูลจ้างพระจากที่อื่นมา ไปนิมนต์ท่าน บอกว่าผมจะให้ข้าวสารท่านเท่านั้นกระสอบ ให้ช่วยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ อะไรทำนองนี้ ไม่มีพระที่จะอยู่ประจำวัด แล้วผู้ที่เข้ามาบวชก็เป็นคนจบประถมสี่ เข้ามาแล้ววัดก็ไม่มีการศึกษาให้ เพราะไม่มีคนเก่าที่เป็นผู้มีความรู้อยู่ เข้ามาแล้วก็ไม่ได้เล่าเรียน ก็ตกเป็นภาระแก่มรรคนายกจะต้องสอนให้พระรู้จักพิธีกรรม จะได้ประกอบพิธีให้ชาวบ้านได้ อย่างนี้เป็นต้น

มีคนรู้จักกันไปต่างจังหวัดทางภาคอีสานแถวจังหวัดอุดร ขอนแก่นแถวนั้น ก็เห็นสภาพเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เขาบอกว่าไปเจอวัดบางวัดไม่มีพระอยู่เลย มีแต่เณรเล็ก ๓ องค์ เณรเล็ก ๓ องค์ก็กลัวผีไม่กล้านอนที่วัด เลยต้องไปนอนที่บ้านโยม เวลากลางวันจึงจะมาที่วัด แต่กลางคืนเณรไปนอนที่บ้านโยม สภาพอย่างนี้ใครรับผิดชอบ สังคมไทยเราได้สร้างมันขึ้นมา

ในเมื่อพระสงฆ์ขาดการศึกษาอย่างนี้แล้ว ความเป็นผู้นำในชนบทก็หมดไป ช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้ เมื่อชาวบ้านเหล่านี้เข้ามาในวัดเพื่อรับการศึกษา คณะสงฆ์เองก็มีผู้ใหญ่ซึ่งมีการศึกษาน้อยอยู่แล้ว ต้องหันไปรับภาระให้การศึกษาแก่คนเหล่านี้ ลำพังตัวเองก็ยังไม่ดี ยังจะสอนผู้อื่นอีก ก็ประคับประคองกันทุลักทุเล มันจึงอยู่ในสภาพที่ว่า สถาบันสงฆ์เองก็ยังย่ำแย่อยู่แล้ว จะมาทำอะไรให้กับสังคม ดีว่าสังคมข้างนอกแย่กว่า จึงพอจะช่วยได้บ้าง

เมื่อเราเห็นสภาพอย่างนี้ แน่นอนเราย่อมคิดแก้ไข เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมดาที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คนจำนวนมากพูดกันบ่นกันง่ายๆ ถึงปัญหาและสภาพที่ไม่น่าพอใจในสังคม แต่น้อยคนจะใส่ใจศึกษาพิจารณาเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนให้ลึกซึ้งลงไป ปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์เป็นเรื่องหนึ่งที่มีเหตุปัจจัยซับซ้อนมาก โยงกับปัญหาอื่นหลายอย่างของสังคมไทย แม้แต่คนที่รักพระศาสนาหรือคนที่เรียกกันว่านักปฏิบัติ ก็มักขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง มักกล่าวถึงบ่นว่าแนะนำอย่างผู้มีทัศนะอันคับแคบ เอาแต่ใจตัว จะให้ดีอย่างใจซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอย่างนั้นดี แต่เป็นทัศนะที่มีโทษมากกว่าคุณ เพราะเป็นไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในการที่จะแก้ไขนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือต้องเข้าใจเหตุปัจจัยของมัน เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้แน่นอน มิฉะนั้นการที่เราแก้ไขก็อาจจะเป็นการทำให้เกิดความผิดพลาดมากยิ่งขึ้น เพียงความปรารถนาที่จะแก้ไขเท่านั้นไม่เพียงพอ ข้อสำคัญที่สุด ก็คือต้องศึกษาเหตุปัจจัยให้เข้าใจชัดเจน เรายังจะต้องศึกษาเรื่องสังคมไทยนี้อีกมาก

สถาบันสงฆ์และความสัมพันธ์กับสังคม51

กระผมขอเรียนถามท่านเจ้าคุณเรื่องปัญหาของสถาบันสงฆ์ในปัจจุบัน เพราะเท่าที่สังเกตเห็นว่า การปฏิบัติในปัจจุบันกับพระธรรมคำสอนมันแตกต่างกันมาก

เราต้องแยกความหมายและคุณค่าเดิม ที่มีอยู่ในพระธรรมคำสอน กับความหมายและคุณค่าของสถาบันสงฆ์ที่มีอยู่จริงๆ ในปัจจุบัน เมื่อเห็นครบทั้งสองด้านแล้ว จึงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้

การที่เราจะทำอะไรให้เหมาะสมให้ถูกต้อง เราต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเอง

เราไม่ค่อยมีความเข้าใจคุณค่าความหมายของพระสงฆ์ในสังคม สังคมของเราในวงกว้าง ไม่รู้จักตัวเอง เรามองดูตัวเองไม่ออก เราจึงคิดไม่แจ่มแจ้ง

ถ้าเราจะเปรียบเทียบสังคมเป็นเหมือนกับตัวเรา สถาบันต่างๆ เปรียบเสมือนอวัยวะส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา ตัวเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ องค์ประกอบแต่ละส่วนก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามส่วนของมัน

ในปัจจุบันท่านเจ้าคุณมีความเห็นว่า สถาบันสงฆ์ควรอยู่ส่วนไหนของสังคม เท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ดูเหมือนสถาบันสงฆ์ค่อนข้างจะลอยๆ อยู่อย่างไรพิกล

ทุกส่วนของสังคมก็ต้องมีความเกี่ยวโยงกัน เท่าที่คนเห็นว่าสถาบันสงฆ์ลอยอยู่นั้น เป็นในแง่บทบาท มันมีหน้าที่พิเศษ บทบาทพิเศษ ซึ่งถ้าจะใช้คำพูดอาจจะเรียกว่าเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ช่วยกำกับสังคมในแง่ดุลยภาพ

ฐานะเดิมของสถาบันสงฆ์ นี่พูดในอดีต สถาบันสงฆ์มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้นำทางปัญญา หน้าที่ของพระตามหลักธรรมก็เป็นหน้าที่ทาง “การแสดงหลักธรรมทั้งหลักความจริงและหลักความประพฤติ”

ความเป็นผู้นำของพระก็คือ การเป็นผู้นำทางปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการแนะนำเกี่ยวกับปัญหาในด้านชีวิตประจำวัน แม้แต่ใครจะแต่งงานก็ยังมาปรึกษาขอฤกษ์ยาม หรือคำแนะนำทางจิตใจจากพระที่เคารพนับถือ

แต่ก่อนนี้นักปกครองมีอดีตเป็นลูกศิษย์วัดกันทั้งสิ้น พระก็มีบทบาทสามารถแนะนำสั่งสอนแม้กระทั่งพระมหากษัตริย์

พระแต่ก่อนมีความรู้มีสติปัญญาที่จะแนะนำเขาได้

หน้าที่รองละครับท่าน

เราจะเห็นได้ในสังคมชนบทของเรา วัดเป็นศูนย์กลางของสังคมใช่ไหม เมื่อเป็นผู้นำทางปัญญา ชาวบ้านมีเรื่องอะไรก็ต้องไปปรึกษาทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน แม้เรื่องที่ฆราวาสทะเลาะกัน เมื่อเป็นเช่นนี้วัดก็เป็นสมบัติส่วนรวมของสังคม มีความผูกพันพึ่งพิงกันอย่างใกล้ชิด

ของที่ชาวบ้านจะบริจาคก็บริจาคให้วัด เพราะใครมีงานมีการก็ยืมจากวัดทั้งนั้น คนก็เห็นว่าจะสร้างอะไรก็ต้องสร้างให้วัด เพราะเป็นของกลาง เด็กก็เรียนที่วัด โตขึ้นก็บวชที่วัด ทุกคนในหมู่บ้านไม่มีใครสามารถพ้นจากวัดได้

แต่มาในสังคมปัจจุบันนี้ หน้าที่บทบาทและสถานภาพของวัดและพระสงฆ์เปลี่ยนไปหมด ความเป็นศูนย์กลางของสังคมหลุดไป สาเหตุคือการศึกษา เพราะการศึกษาหลุดออกไปจากวัดโดยเกือบจะสิ้นเชิงเมื่อการศึกษาตะวันตกแพร่เข้ามา นี่เป็นสภาพที่ควรมอง

แต่ความจริงบทบาทสำคัญยังมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น คือการช่วยให้ความเป็นธรรมแก่สังคม แง่นี้ไม่มีใครมองเห็น

ตามประเพณีนิยม เราเรียกการบวชว่า “บวชเรียน” ใช่ไหม ที่เป็นดังนี้เพราะว่าเวลาเด็กแกโตขึ้นมา พ่อแม่ก็เอาไปฝากวัดให้เรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ และกลับไปทำมาหากินต่อไป ส่วนพวกหัวดี หลวงพ่อก็จับบวชเณรและศึกษาต่อไป ถึงพวกที่กลับไปอยู่บ้านแล้ว พออายุครบก็มาบวชพระอีก เมื่ออยู่ในฐานะเป็นพระสงฆ์ ก็มีหน้าที่ทำงานให้แก่วัด ทำงานให้แก่หมู่บ้าน และในวัดนอกจากธรรมวินัยก็มีวิชาการทุกแขนงให้เรียน ตั้งแต่การก่อสร้าง งานศิลป ไปจนถึงการรักษาโรค

ในด้านความเป็นธรรมเราจะเห็นว่า คนในชุมชนไม่ว่าจะฐานะอย่างใดก็มีสิทธิ์ “บวชเรียน” เท่ากันหมด

ต่อมาเมื่อรัฐรับการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาจัดในคราวที่รับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา ตอนแรกก็ให้ทางวัดช่วย แต่มาตอนหลังวัดก็ลดบทบาทลงมาจนหมด

การจัดการศึกษาตามหลักประชาธิปไตยต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง แต่เมื่อรัฐจัดการศึกษาไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเอาชั้นสูง แค่การศึกษาขั้นพื้นฐานเพียง ๔ ปีให้อ่านออกเขียนได้ ก็ไม่ค่อยจะทั่วถึงอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งระบบการศึกษาของเรา เป็นแบบที่คนจะต้องไต่ขึ้นไปให้สูงสุด เป็นระบบการศึกษาแบบขั้นบันได ไม่มีความสำเร็จประโยชน์พร้อมบริบูรณ์ในแต่ละขั้นแต่ละตอน การหวังความก้าวหน้าในชีวิต จำเป็นต้องเรียนจนถึงขั้นสูง ใครๆ ก็แหงนหน้าไปที่มหาวิทยาลัย

ในเมื่อระบบเป็นอย่างนี้ก็ย่อมมีผลเสียอยู่ในตัว คือคนที่มีโอกาสมากกว่าในทางเศรษฐกิจและทางภูมิศาสตร์ ก็สามารถไต่บันไดขึ้นไปได้สูง ส่วนพวกที่อยู่ในชนบท ถ้าต้องการเรียนสูงก็ต้องเข้ามาในเมือง จะเรียนต่อก็ต้องเข้าเมืองเข้ากรุงเทพฯ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเงินก็หมดโอกาส ถึงจะมีหัวดีก็ตาม

ผลจากการวิเคราะห์สถิติออกมา ลูกเกษตรกรในชนบทที่ได้เรียนมหาวิทยาลัยจึงมีไม่ถึง ๖% ทั้งๆ ที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

รัฐทราบไหมว่าเด็กจำนวนที่ตกหายไปนั้นหายไปไหน คงคิดว่าไปทำไร่ไถนากระมัง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ประเพณีเก่าในเรื่องการบวชเรียน ยังไม่ลืมเลือนออกไปจากใจชาวบ้าน

อาตมาเคยถามพระที่ลาเพศหลังจากเรียนจบวิชาการขั้นสูงไปแล้ว ว่าตอนจะบวชคิดอย่างไร เขาก็ว่า ตอนจะบวชพ่อแม่บอกว่าจน ไม่มีปัญญาส่งให้เรียน จึงเอาไปฝากวัดบวชจะได้มีทางก้าวหน้าบ้าง

ชาวชนบทเขาคิดอย่างนี้จริงๆ ลูกเขาอาจจะมีทางก้าวหน้าบ้าง ชาวไร่ชาวนาถือตามประเพณีว่าลูกแกเมื่อได้บวชก็จะได้เรียน แต่ในสังคมที่เจริญแล้ว กลับมองว่าวัดไม่มีหน้าที่จัดการศึกษาในฐานะที่ผู้เข้ามาเป็นทั้งพระทั้ง “พลเมือง” แต่จะต้องจัดการศึกษาในฐานะที่เป็นพระอย่างเดียว

แต่ตามความเข้าใจของเด็กที่จะบวช แกต้องการเข้ามาเล่าเรียนในฐานะเป็น “พลเมืองธรรมดา” ด้วย และโดยมากมักมีความเข้าใจในแง่นี้ มากกว่าจะเข้าใจและตั้งใจบวชเพื่อพระศาสนา พ่อแม่แกให้บวชเพื่อได้เรียนแกก็บวช การขัดกันก็เกิดขึ้น คนในถิ่นเจริญมองไปในแง่หนึ่ง คนในชนบทห่างไกลมองไปอีกแง่หนึ่ง เด็กชนบทเข้ามาเรียนหนังสือ คนเมืองมองในแง่ว่าแกเข้ามาเกาะศาสนาเอาเปรียบสังคม ความจริงแล้ว แกเป็น “ผู้เสียเปรียบ” แกตกหล่นจากระบบการศึกษาแบบขั้นบันไดของสังคมไทยเรา ซึ่งไม่ได้เอาใจใส่และไม่เข้าใจแกอย่างถูกต้อง

เชื่อไหม เณรทั่วประเทศมีประมาณแสนสองหมื่นรูป พระหนุ่มๆ ที่มาจากเณรอยู่ในวัยเล่าเรียนอีกมากมาย คนไม่เข้าใจก็มองว่าพระไม่ทำอะไร

ในสภาพปัจจุบัน คนที่เราเอาเข้ามาในสถาบันสงฆ์ ส่วนมากจึงเป็นประชาชนที่เข้ามาเพื่อการศึกษา ในฐานะของพลเมือง และเป็นคนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาของรัฐ เมื่อรัฐไม่ยอมรับความจริงในข้อนี้ การเกื้อหนุนการศึกษาทางด้านนี้ก็ไม่มี พระก็ทำไปตามบุญตามกรรม และมักทำไปอย่างไม่ยอมรับความจริงเช่นเดียวกันด้วย

อาตมาเองก็เป็นคนชนบทและได้เข้ามารับการศึกษาในระบบนี้ด้วย

ท่านเจ้าคุณคิดว่าเราควรจะยอมรับความจริงเสียที หรืออย่างไรครับ

เราต้องรู้จักสังคมของเราให้ดีขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการรู้จักตัวเราเอง

ปีหนึ่งๆ รัฐให้งบประมาณสำหรับการศึกษาของพระภิกษุสามเณร โดยถือว่าเป็นงบด้านสาธารณูปการ เมื่อ ๕ ปีที่แล้วให้มาล้านห้าแสนบาท มาระยะหลังนี้ให้ปีละสองล้านห้าแสนบาท

สำนักเรียนต่างจังหวัดได้รับเงินค่าบำรุงเพียงปีละ ๕๐ บาทบ้าง ๓๐ บาทบ้าง ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดเพื่อจะให้ได้เงินมากขึ้น อาตมาอยากจะให้สำนึกความจริงกันว่ามันมีอยู่อย่างไร ควรช่วยกันหนุนให้พระท่านตระหนักว่าท่านจะต้องทำสิ่งนี้ หันมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง เราอาจจะได้เงินมาจากประชาชน การร่วมมือระหว่างวัดกับประชาชนยังดีอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เราหันหลังให้ความจริง จึงไม่ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควร พระท่านเองก็อยากจะทำดี อะไรคือสิ่งที่ดี เมื่อตอบจากความรู้ความเข้าใจไม่ได้ ก็ต้องหันไปยึดประเพณีและความนิยม จึงทำได้เพียงการสร้างโบสถ์สร้างศาลาตามประเพณีนิยม เสร็จแล้วชาวเมืองก็มาติเตียนท่านซ้ำลงไปอีก

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ ท่านคิดว่าควรแก้ไขอย่างไร

อาตมาถึงบอกว่า ควรจะกลับมาศึกษาตัวเราเอง อันนี้คือสิ่งที่เราไม่รู้กัน ถ้าเรารู้ตัวว่าบทบาทสำคัญของพระที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นการช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษา เราก็จะเห็นทางแก้ปัญหา

ถ้าคุณสำรวจสถิติของจำนวนผู้เข้ามารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะเห็นในทางตรงกันข้ามกับวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยทั่วไป พระเณรที่เล่าเรียนที่นี่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์มาจากบ้านนอก แต่เมื่อมองมหาวิทยาลัยทั่วไป มีกี่คนที่มาจากชนบท

นอกจากนั้น เด็กวัดที่อาศัยวัดเป็นที่พักตอนเรียนอยู่ในเมืองมีอยู่เท่าไร

พระเรียนจบแล้วท่านไปไหนล่ะครับ

ท่านที่สึกออกไปมีมาก ก่อนสึก บางทีก็ได้ทำงานให้วัด มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ว่าโดยทั่วไปท่านไม่ทันได้ช่วยสถาบันสงฆ์ เพียงแต่มาอาศัยเรียนแล้วก็ออกไปทำงานให้กับรัฐ สถาบันสงฆ์จึงกลายเป็นสถาบันที่ “ให้” มากกว่า “รับ” วัดเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตคนทำงานส่วนหนึ่งให้แก่รัฐ ในขณะที่กำลังผลิตของตนเองอ่อนลงไปทุกๆ ที หนำซ้ำยังไม่ได้รับการยอมรับในการทำหน้าที่ของตนอีกด้วย

เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว อาตมาสำรวจสถิติพระเณรที่เรียนอยู่ ปรากฏว่ามีสองแสนสามหมื่นองค์ แต่รัฐบาลให้เงินเพียงหนึ่งล้านห้าแสนบาท แต่การศึกษาในภาคของรัฐ ตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีคนเรียนทั้งหมดสี่แสนกว่าคน ได้งบประมาณปีนั้น หนึ่งพันห้าร้อยหกสิบกว่าล้านบาท ขอให้เปรียบเทียบคำนวณเอาเอง

เพราะฉะนั้น ระบบการศึกษาของเรา จึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเสียบ้าง ไม่ดำเนินไปตามความมุ่งหมายเสียบ้าง การแก้ไขก็โดยเรายอมรับความจริงเสีย และตั้งความมุ่งหมายของการทำงานในด้านนี้ให้ตรงตามสภาพที่เป็นจริง หรือแก้ไขสภาพที่เป็นจริงให้ตรงกับความมุ่งหมาย จะเอาอย่างไรก็เอาให้แน่สักอย่าง

ปัจจุบันมีการวิจารณ์สถาบันสงฆ์กันอย่างกว้างขวาง ได้มีความพยายามแก้ไขอย่างไรบ้างครับท่านเจ้าคุณ

อาตมาพูดได้ว่าเรารู้จักตัวเองน้อย ไม่ค่อยเข้าใจคุณค่า และบทบาทของพระในสังคมไทย บทบาทแต่เดิมในสังคมไทยเรามีความหมาย แต่ในปัจจุบันมันไม่มีความหมายหรือมีก็น้อยลง ยิ่งเราทำให้มันไม่มีความหมายมันก็ยิ่งไปกันใหญ่

แต่ก่อนนั้นเรามีพิธีกรรมจริง แต่มันเป็นเพียงเครื่องประกอบ พระมีฐานะเป็นผู้นำทางปัญญาและทางคุณธรรม จากฐานะนี้ก็สร้างรูปแบบขึ้นมาเป็นความเคารพ ความเลื่อมใสศรัทธาที่แสดงออกทางประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นี่มันเพียงรูปแบบเท่านั้น ถ้าความเป็นผู้นำยังคงอยู่ในเนื้อหาสาระ พิธีกรรมก็จะเป็นไปแต่เพียงในขอบเขตที่ถูกต้อง และเป็นเครื่องประกอบที่มีความหมาย

เมื่อเนื้อหาสาระหมดไปแต่พิธีกรรมยังคงอยู่ เราก็ไปนึกว่ารูปแบบคือพิธีกรรมนั้นมันเป็นตัวจริงต่อไป ความหมายเดิมเป็นอย่างไรเราไม่รู้ เราก็ยึดมั่นในรูปแบบ แล้วแต่งเติมเสริมต่อรูปแบบนั้นออกไปตามความยึดมั่น จนคลาดเคลื่อนไปไกล เมื่อไขว้เขวไป ในระยะยาวคนก็เห็นว่าพิธีกรรมนั้นเป็นเรื่องตลก ไร้สาระ

สถาบันสงฆ์ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

เดี๋ยวนี้เราได้แต่ติเตียนโดยไม่หาสาเหตุว่า มันอยู่ที่ไหน เช่นพูดว่าพระสร้างโบสถ์ไม่ดี สิ้นเปลืองเงินทองมากมาย ไม่มีประโยชน์อะไร หวังแต่เพียงไปสวรรค์ แล้วก็พูดได้เพียงแค่นั้น

ถ้าเราเข้าใจสถาบันสงฆ์เสียหน่อยว่า เดิมมันเป็นศูนย์กลางของสังคม ทุกคนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน การสร้างวัด สร้างกุฏิทุกคนก็ได้ใช้ได้สอย สิ่งของต่างๆ เวลามีงานก็มายืมจากวัด วัดเป็นสถานที่ลูกหลานมาเล่าเรียนกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณค่าที่มารองรับฐานะของวัด ส่วนเรื่องสวรรค์นั้นเป็นอุดมคติ

ต่อมาฐานะของวัดในการเป็นศูนย์กลางของสังคมหมดไป คนไม่เห็นชัดในคุณค่าที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ว่าจะสร้างไปทำไม แต่การยึดถือคติในเรื่องการสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดยังมีอยู่ ค่านิยมในการสร้างเพื่อให้ได้บุญที่สุด จึงเบนจากการสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด มาเป็นการสร้างสิ่งที่สวยงามเด่นหรูหราที่สุด ผลที่สุดก็กลายเป็นโบสถ์เป็นเมรุที่มีแต่ความสวยงาม นี่คือความไขว้เขว

เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าวัดมีความหมายที่แท้จริงต่อสังคมอย่างไร ถ้าเรารู้จักตัวเองก็จะเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้เพียงแค่นี้ เมื่อพระท่านสร้างโบสถ์ ถึงเราไปด่าท่านว่าทำไม่ถูก ก็แก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากทำลายกัน จริงอยู่ มันไม่ดีเราต้องปราม แต่ในเวลาเดียวกันเราจะต้องรู้ว่าการแก้ปัญหาระยะยาวไม่ใช่เพียงแต่การเล่นงานกัน โดยไม่ยอมศึกษาให้เข้าถึงว่าสาเหตุมันอยู่ที่ไหน

แต่ก่อนพระสอนนักปกครองได้ แต่เดี๋ยวนี้เหลือเป็นเพียงพิธีกรรมที่รักษาเอาไว้ ถึงเวลาก็เทศน์ไป ฟังหรือไม่ฟังก็แล้วแต่

เมื่อความเป็นผู้นำทางปัญญาเสียไป เหลือแต่เพียงรูปแบบที่รักษาเอาไว้ตามประเพณี นักศึกษาจะเชื่อถือว่าพระเป็นผู้นำทางปัญญาไหม ไม่มีทาง แต่กลายเป็นมีพระภูมิใจว่านักศึกษาเข้าพวกตน ในบางกรณีตรงข้าม เวลามีพระเข้าข้างนักศึกษา นักศึกษาชอบใจแต่ไม่ได้ภูมิใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่แหละคือปัญหาสังคมอย่างแรงและลึกซึ้ง ขอให้คิดความหมายเอาเอง

ถ้าหากว่าเราจะให้พระท่านเลิกทำอะไรต่ออะไร อย่างที่ทำเดี๋ยวนี้ ไปให้ทำอย่างอื่นทันทีก็ไม่ได้ การแก้ปัญหาระยะยาวอาตมาคิดว่า ต้องใช้ความร่วมมือสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันต่างๆ หน้าที่ของสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมของเรา และจัดให้ได้ทำงานให้ตรงกับหน้าที่ของตน

บทบาทของพระสงฆ์ควรจะเปลี่ยนอย่างไร

พระต้องทำตัวให้พร้อมที่จะเป็นผู้สอนเขาได้ ถึงเวลานี้ถ้าคนมาหาพระเพื่อความรู้ พระก็ไม่ค่อยมีอะไรจะให้เขา ครั้นพระจะออกไปหาเขาก็สอนเขาไม่ค่อยได้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปไม่รอด

ทำอย่างไร จะทำให้พระเป็นผู้พร้อม ทางด้านรัฐจะต้องมองเห็นความสำคัญของการศึกษาของพระ ขณะนี้การศึกษาของรัฐเอง รัฐก็ทำไม่ได้เต็มที่แล้ว พอหันมาหาพระ พระก็ถูกทอดทิ้งจนหมดประสิทธิภาพแล้ว ถ้าจะไปสอนนักเรียน วัดหนึ่งจะทำหน้าที่ได้สักกี่องค์

พระสงฆ์เองควรจะปรับปรุงตัวอย่างไร บางครั้งพอมาสนใจวิชาการทางโลกหรือทางสังคม ก็ถูกหาว่าห่างเหินพระศาสนา พออยู่แต่ในวัด ก็กลายเป็นพระล้าสมัยพูดกับฆราวาสไม่รู้เรื่อง

คนที่ไปที่สุดทั้งสองอย่างตามที่โยมว่ามา อาตมาก็ว่ามี แต่คิดว่าเป็นคนส่วนน้อย พวกที่เห็นว่าพระควรแยกตัวออกจากสังคมพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็เข้าใจว่าพระก็คนเหมือนกัน ไม่ยอมแยกว่า พระควรจะมีบทบาทที่แตกต่างกับส่วนอื่นของสังคมอย่างไร อยากให้พระเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เหมือนกับคนธรรมดา สองพวกนี้เราไม่ต้องคำนึงมากนักเพราะมีไม่มาก แต่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าพระควรเป็นผู้มีรู้ความเข้าใจในหลักธรรมของตนเอง และสามารถแสดงออกมาในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับสังคม โดยปรับให้เข้าใจได้ง่าย และให้เขาเห็นคุณค่า อย่างน้อยคนทั่วไปก็อยู่ในประเภทนี้ หรือพอจะชี้ให้เห็นชอบอย่างนี้ได้

แต่สำคัญว่าพระเรารู้จักตัวเองแค่ไหน รู้จักลักษณะความสัมพันธ์ของพระกับสังคมไหม จริงอยู่สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันหนึ่งต่างหาก แต่ก็ต้องมีภาระเกี่ยวข้องกับสังคม เรื่องนี้พระเองก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้เต็มที่ ยังไม่ยอมรับความจริง อย่างเช่นเรื่องพระเณรมาจากเด็กพลเมือง ที่ตกหล่นจากระบบของรัฐจำนวนสองแสนกว่าคน ถ้าพระจะเอาเรื่องนี้จริงจังสักอย่างหนึ่ง ก็จะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ไม่น้อย

ขณะนี้ความเป็นจริงกับสภาพความเข้าใจของเรามันขัดกันตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงแก้ปัญหาไม่ได้

เท่าที่ผมสังเกตในแต่ละวัด พระสงฆ์มีความประพฤติตามพระธรรมวินัยอ่อนแก่แตกต่างกัน ทำไมในส่วนของวัดเองยังไม่มีความเป็นระเบียบที่เหมือนกัน

อันนี้เป็นเรื่องกลไกทางการปกครอง ในส่วนของสถาบันสงฆ์เราก็ต้องยอมรับว่า ยังมีความบกพร่องอยู่ไม่น้อย แต่ว่าพื้นฐานการแก้ปัญหาระยะยาวมันสัมพันธ์กับปัญหาที่พูดมาแล้ว คือ เรายังไม่เข้าใจคุณค่าหน้าที่และความหมายของสถาบันสงฆ์ต่อสังคม

ยกตัวอย่างสักข้อคือวัตถุประสงค์ในการบวช เรายืนยันว่า บวชแล้วก็ไม่ควรสึก ถ้าใครสึกก็ถือว่าไม่ดีไม่งาม แต่คนที่มาบวชพร้อมทั้งพ่อแม่กลับคิดว่า มาบวชเพื่อเรียนตามประเพณีไทย เมื่อบวชแล้วระบบการศึกษาของวัดก็ให้ไม่พอ แกต้องดิ้นรนเพื่อชีวิตแก เพราะแกไม่ได้ตั้งใจที่จะบวชอยู่ตลอดชีวิต แกอาจจะสนใจและรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ในด้านกิจของสงฆ์ แต่แกก็ห่วงอนาคตที่ไม่แน่ว่าอาจจะสึก ก็ต้องแสวงหาความมั่นใจไว้

เมื่อสภาพการณ์เป็นแบบนี้ แต่คณะสงฆ์ไม่ปรับปรุงระบบการศึกษา พระเณรก็ย่อมดิ้นรน ถ้ามีช่องทางก็ต้องออกไป เมื่อทางวัดคุมไม่อยู่ พระเณรก็ไปเรียนข้างนอกในระบบของคฤหัสถ์ นอกระบบของพระ ทางวัดก็ไม่มีโอกาสควบคุมความประพฤติ ในด้านวิชาการหลักสูตรการศึกษาก็เป็นเรื่องทางโลกล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัย

ผลออกมาก็คือความผูกพันในทางจิตใจไม่มี วัดกลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัย เพราะวัดไม่มีอะไรจะให้แก่พระ นอกเหนือจากนั้น ในความรู้สึกของพระเณร ระบบการศึกษาของวัดกลายเป็นเครื่องบังคับพระ วัดและเจ้าอาวาสกลายเป็นศัตรูกับลูกวัด คอยกีดกันพระเณรไม่ให้ไปเรียนที่โน่นที่นี่ ลูกวัดต้องการอย่างอื่นในสิ่งที่วัดไม่มี การปกครองในวัดจะเป็นไปด้วยดีต้องอาศัยความผูกพันทางจิตใจ วัดต้องมีอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของพระเณร เพราะวัดไม่มีอำนาจอาชญาเด็ดขาด เมื่อเครื่องผูกพันจิตใจไม่มี การปกครองของวัดก็เสียหมด

อย่างกรณีพระมหาจัด เจ้าอาวาสสามารถไล่ออกจากวัดนี่ไงครับ

นั่นเป็นการอาศัยอำนาจของทางบ้านเมือง วัดและเจ้าอาวาสไม่มีอำนาจทางอาชญาเด็ดขาด จึงต้องอาศัยอำนาจของบ้านเมืองช่วย เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน ทำตามอำนาจบ้านเมืองได้ แต่อำนาจที่แท้ของวัดอยู่ที่ธรรมวินัยซึ่งเกิดจากความผูกพันกันทางจิตใจ แต่เจ้าอาวาสใช้อำนาจของทางบ้านเมืองอย่างเดียว ก็เอื้ออำนวยในการเป็นศัตรูกัน แต่ถ้ารู้จักใช้ ก็เป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติการตามธรรมวินัย

กรณีพระมหาจัด เราไม่ควรจะมุ่งไปมองอยู่แต่ในเรื่องนี้52 ปัญหาอื่นนอกเหนือจากนั้นมีอยู่อย่างกว้างขวางเยอะแยะ ปัญหาและการแก้ไขในระยะยาวมันอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจ

ถ้าฝ่ายหนึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับเจ้าอาวาส อีกฝ่ายหนึ่งตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระมหาจัด มันก็จะไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น

ทางแก้เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เข้าใจสภาพ จัดระบบให้มันถูกต้อง ในเมื่อเรายังรับเด็กลูกชาวไร่ชาวนาเข้ามาเล่าเรียนในฐานะที่เป็นพลเมือง เราก็ต้องยอมรับความจริงและจัดการศึกษาที่ให้มันบรรลุจุดมุ่งหมายทั้งสองด้าน

เมื่อเด็กมาบวชเรียน ในแง่ของพระของเณร เราก็ควรให้บรรลุจุดประสงค์ทางศาสนาด้วย ในแง่ของพลเมือง ก็ควรช่วยแกในทางโลกด้วย ถ้าแกมีศรัทธามีจิตใจมั่นคงอยากบวชต่อไป ก็จะสืบศาสนาต่อไป และถ้าสึกไปก็ไม่เป็นภาระหนักก่อปัญหาแก่สังคม สามารถช่วยตัวเองได้ ทำประโยชน์แก่สังคมได้

เราต้องยอมรับความจริง วัดมีอะไรให้กับพระเณรๆ ก็ไม่ต้องไปสับสนวุ่นวาย อย่าลืมว่าเรื่องนี้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจของสังคม แม้จากหนังสือพิมพ์ก็มีบทความว่า พระเณรที่เรียนหนังสือหนังหาเป็นกาฝากสังคม แสดงถึงความไม่รู้และความผิวเผินที่แพร่หลายอยู่ในสังคม ถ้าเป็นอย่างนี้ ยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งเป็นการทำลาย หรือยิ่งรกรุงรัง

แต่ก่อน ถ้ามองสถาบันสงฆ์กับการเมือง รู้สึกจะมีความกลมกลืนกัน เพราะการเมืองไม่ค่อยมีความแตกแยกทางความคิด แต่ปัจจุบันมันมีขึ้นมา แบ่งเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ พระควรจะยืนอยู่จุดไหน

เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่วิธีการเข้าถึงปัญหาก็ทำกันไม่ค่อยถูก อย่างเรื่องพระเดินขบวน แทนที่เราจะพิจารณาที่จุดนั้น กลับไปยกอ้างขึ้นมาเถียงว่า ทำไมพระผู้ใหญ่ไปเจิมป้ายพรรคการเมืองได้ เดินขบวนแค่นี้ไม่ได้ กลายเป็นการแบ่งแยกคน แทนที่จะแยกเรื่อง การวิเคราะห์ปัญหา เราต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ เจิมป้ายก็เรื่องเจิมป้าย เดินขบวนก็เรื่องเดินขบวน เราจะเอาไปเปรียบเทียบกันทำไม

ที่จริงเราก็ยอมรับว่า การเจิมป้ายเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากพราหมณ์ มันเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว ทำไมต้องเอามาอ้างว่าสิ่งนั้นมันผิด เพื่อการกระทำของเราจะถูก การอ้างสิ่งที่เราถือว่าไม่ดีมาเป็นเหตุในการกระทำของเรา เท่ากับยอมรับว่า การกระทำของเราไม่ดี ถ้าเราจะรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องอะไรเราถึงอ้างเอาการกระทำที่เราว่าไม่ดีมาสนับสนุนการกระทำของเราที่เราว่าดี ถ้าเจิมป้ายไม่ดี มันก็ไม่ดี ถ้าเดินขบวนไม่ดี มันก็ไม่ดี การอ้างว่าเจิมป้ายไม่ดี ก็ไม่ช่วยให้เดินขบวนกลายเป็นดีขึ้นมา ถ้าอ้างก็กลายเป็นแข่งขันกันทำไม่ดี

สังคมมีปัญหาอยู่แล้ว เรายังมาแข่งขันสร้างปัญหา เรื่องอะไรต้องทำอย่างนั้น

การเจิมป้ายมันก็มีแง่ที่น่าคิดเหมือนกัน อย่างเช่นเขานิมนต์ไปฉันเพล พอฉันเพลเสร็จก็นิมนต์เจิมป้าย พระก็ขัดไม่ได้ เรื่องนี้ชาวบ้านเขาก็ยอมรับ

ส่วนการเจิมป้ายพรรคการเมืองนั้น ถ้าเขาเชิญมาทุกพรรค พระก็ไปเจิมทุกพรรคโดยไม่มีการขัดนิมนต์ มันก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนบางพรรคเขาไม่นิมนต์ เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เขาถือศาสนาแบบบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเจิมก็ได้ หรือบางพรรคเขาอาจไม่นิมนต์ เพราะเขาไม่นับถือศาสนาเลยก็ได้ แม้แต่ในเรื่องเดียวกัน บทบาทของพระกับคฤหัสถ์ก็ไม่เหมือนกัน บทบาทนี้ควรไม่ควรอย่างไรเราต้องแยกให้ดีว่า บทบาทนั้นพระควรจะอยู่ในส่วนไหนของเรื่อง อย่างชาวบ้านเขาแต่งงาน เขานิมนต์พระ คู่บ่าวสาวก็มีบทบาทอย่างหนึ่ง พระก็มีบทบาทอีกอย่างหนึ่งในพิธีเดียวกัน พระร่วมงานแต่งงานก็ได้นะ แต่พระซึ่งมีบทบาทเฉพาะของตน จะเข้าไปร่วมรื่นเริงกับคฤหัสถ์ในงานนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

อย่างในกรณีของพระเดินขบวนล่ะครับ

ถ้าพระไปสวดชยันโตให้พวกที่เดินขบวน ก็คงเทียบกับกรณีพระเจิมป้ายได้ แต่ทีนี้ท่านเล่นทำบทบาทเดียวกับชาวบ้าน

แต่ในกรณีพระเดินขบวนนี้ เราต้องพิจารณาด้วยความเห็นใจว่าท่านอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ถ้าท่านเข้าไปอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นอกเห็นใจชาวบ้าน และอยู่ในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตัดสินใจไปอย่างกระทันหัน อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ เมื่อผิดพลาดแล้ว ก็ยอมรับเสีย ควรเห็นใจ เราน่าจะพิจารณาไปเป็นเฉพาะกรณี แต่ก็ไม่ควรให้กรณีนี้ไปทำลายหลักการ

ต้องระวังให้ดี ถ้าหากว่าเรายังไม่แน่ใจก็ควรศึกษาให้แน่ใจเสียก่อนว่า ในกรณีนี้พระควรวางตัวอย่างไร กิจกรรมนี้ควรสนับสนุนหรือไม่ ถ้าควรสนับสนุน พระควรสนับสนุนอย่างไร อย่างเช่นชาวนาเดินขบวนเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ พระควรสนับสนุนหรือไม่ ถ้าควรสนับสนุน พระควรจะวางกิริยาอาการอย่างไร ต้องว่ากันไปให้ชัดทีละอย่างๆ และจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกัน

คิดว่าการบวชของพระควรจะเป็นไปในรูปไหนครับ การบวชยังคงมุ่งนิพพานอยู่หรือไม่

การบวชของพระตามประเพณีไทยนั้นเป็นการขยายบทบาทไปสู่สังคม แทนที่เราจะรอรับคน เราก็เอาเด็กมาบวชกล่อมเกลาอุปนิสัย ถ้าแกมีอุปนิสัยที่เรียกว่ามี “บารมีแก่กล้า” เราก็ได้คนที่อยู่ตลอด และใกล้ชิดกับเราแต่ต้น ถ้าไม่ตลอดเราก็ได้ “คน” ที่ดีให้แก่สังคม เราจะยอมรับระบบนี้ไหม ถ้าเราจะเลิก ก็ต้องบอกว่า “ฉันจะรับคนเบื่อโลกเท่านั้น”

ที่เป็นอยู่ขณะนี้เราทำอย่างแรก แต่เราไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าเราทำแบบนี้ เรากลับแสดงอาการทำนองว่า ต้องการแต่คนที่เบื่อโลกเท่านั้น เท่ากับเราพูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง

การบวชก็ต้องมุ่งนิพพานแน่นอน นิพพานคืออะไร คือ กำจัด โลภะ โทสะ โมหะได้ เป็นประโยชน์ ใช้ได้และจำเป็นทุกยุคทุกสมัย อย่างน้อยในระหว่างนี้ เราควรจะยอมรับความจริง ในเรื่องการลดกิเลส ไม่จำเป็นต้องมีวัตถุมาก มีเพียงให้สมควรแก่อัตภาพ อาหารก็กินพอดำรงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีจนเกินไป นี่ก็เป็นแนวทางแห่งนิพพาน

พระท่านก็ปฏิบัติในแนวนิพพานตั้งแต่ต้น เช่นการพิจารณาปฏิสังขาโย แต่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่รู้ความหมายของการพิจารณาว่าอาหารเรากินเพื่ออะไร

เรื่องการที่พระสะพายกล้องใบ้หวยและอะไรต่างๆ ที่เป็นเดียรฉานวิชชาล่ะครับ

ถ้าเราเข้าใจสภาพ จะเห็นว่าปัญหานี้สัมพันธ์กับเรื่องที่พูดมาแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงแล้วแก้ปัญหาอย่างนี้ แบบรุนแรงเราก็จะได้แต่เจ้าอาวาสที่เป็นศัตรูของลูกวัด แต่เดี๋ยวนี้เรามีเจ้าอาวาสบางส่วนที่เข้าใจสภาพการณ์จึงให้การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูกวัด

ปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุอยู่ที่ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ทำให้พระมีเวลาว่างมากเกินไป แม้ว่าจะมีเรียนบ้าง แต่ก็เพียงแค่ดูหนังแล้วไปสอบเอา ถ้าไม่ดูหนังเสือก็ไม่มีใครเขาว่า ผลที่สุดพระก็ใช้เวลาว่างไปในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไม่ทางดีก็ทางเสีย การแก้ปัญหา เราก็ต้องแก้ระบบการศึกษาและการทำงานของพระไม่ให้พระมีเวลาว่าง แก้ที่การศึกษาอย่างเดียว ก็คลุมไปถึงงานด้วย ถ้าเราเพียงกวดขันกันมันก็แก้ปัญหาได้เฉพาะหน้าเท่านั้น

ท่านเจ้าคุณช่วยมองอนาคตของพุทธศาสนาหน่อยครับ ว่าจะเป็นอย่างไร

มันก็น่ากลัวอยู่นะ เราไม่ได้ยอมรับและนำเอาประโยชน์ที่มีอยู่ของพุทธศาสนามาใช้ อย่างภารกิจในการศึกษา เราจะปรับปรุงเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้มาก แต่ถ้าเราไม่ยอมรับ ปล่อยให้มันเป็นปัญหา มันก็จะกลับกลายเป็นโทษอย่างใหญ่หลวง การที่เราปล่อยให้เด็กในชนบทเข้ามาบวชตามประเพณี แต่เมื่อบวชแล้วเรากลับปล่อยปละละเลยไม่ให้ได้รับการศึกษา ต่อไปแกก็จะเป็นเครื่องถ่วงหรือไม่ก็กลายเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันสงฆ์ เมื่อแกสึกออกจากวัดก็ไม่มีความรู้อะไร กลายเป็นปัญหาสังคม ถึงจะมีความรู้ก็เป็นความรู้ที่สังคมไม่ยอมรับ

แต่ก่อน จบนักธรรมโทออกไป เขาจะรับเข้าไปเป็นตำรวจ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เขารับแต่มัธยม ๖ แกก็หมดทางไป เมื่อแกไปเรียนในโรงเรียนฆราวาส คณะสงฆ์ไม่ยอมรับ ก็ป้องกันไม่ให้ไปเรียน ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ก็เกิดขึ้น

สถาบันสงฆ์เองก็ไม่ได้คนดีมาใช้ ในที่สุดสถาบันสงฆ์ก็กลายเป็นทางผ่าน เป็นเพียงที่อยู่อาศัย ผลดีแทนที่จะได้มาก ก็ได้เพียงอย่างเดียว คือเด็กจากบ้านนอกไม่มีเงินก็อาศัยวัดนี่แหละเป็นที่อยู่อาศัย ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีโอกาส

อาตมาพูดได้ว่า แม้ว่าวัดจะอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมแบบนี้ ก็ยังสามารถช่วยผดุงความเป็นธรรมของสังคม และช่วยประสานสังคมไว้ เพราะมันไม่ได้มีความหมายกับเด็กเท่านั้น พ่อแม่เด็กด้วย เพราะเขายังคิดว่าเขามีความหวังในชีวิต จึงมีความสัมพันธ์กับสังคม ถ้าไม่มีความหวัง เมื่อเรียนจบแล้วก็ออกไปไถนาตามเดิมอย่างเดียว คนจะแบ่งแยกกันชัดเจน สังคมจะแตก

เรื่องพิธีกรรมต่างๆ มีปัญหาอย่างไรบ้างครับ

อย่างที่พูดแล้วว่ามันเคยมีความหมาย เพราะมันเชื่อมโยงกับหลักธรรมและบทบาทความเป็นผู้นำของสงฆ์ แต่เมื่อควาหมายมันหมดไป ก็กลายเป็นสิ่งที่เหลวไหล คนอาจคิดว่าศาสนาพุทธเป็นที่มาของสิ่งเหลวไหล เพราะเราไม่รู้ความเป็นมาแต่เดิม

ศาสนาพุทธที่บริสุทธิ์กับศาสนาพุทธที่ไม่บริสุทธิ์ แตกต่างกันอย่างไรครับ

บริสุทธิ์หมายถึงล้วนๆ หรือตัวแท้ของมันคือหลักที่ว่าด้วยการดำเนินไปสู่นิพพาน แต่เมื่อศาสนาอยู่ในสังคมมนุษย์ที่ใด มันก็ต้องเอาตัวแท้ออกไปให้กับที่นั่น และการที่เขาจะรับนั้นก็ต้องเอาตัวแท้ผสมผสานกับของเก่าของเขา และเขาจะรับเท่าที่รับได้ มีประโยชน์แก่เขาแค่ไหนเพียงใด จะเข้าใจรับได้แค่ไหนเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้เข้าถึงกันได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจ เราก็จะใจกว้างขึ้น เราจะไม่ไปช่วยเฉพาะแต่คนที่เลิศลอยแล้วเท่านั้น แต่เราต้องช่วยคนที่ห่างที่สุดด้วย พุทธศาสนาจะต้องไม่จำกัดตัวเอง และเพราะอย่างนี้แหละ จึงมีพุทธศาสนาที่เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ มีเรื่องผีสางไสยศาสตร์เข้ามาปะปน

แต่ทีนี้มันมีปัญหาอยู่ว่า เราไปสัมพันธ์กับเขาจนไม่รู้จุดมุ่งหมายของเราเอง แต่ถ้ารู้จุดของเราที่เรียกตามแบบของคุณว่า “จุดยืน” เราก็จะดึงเขามาสัมพันธ์กับเราได้โดยเราไม่ต้องเสียจุดยืน หรือจุดมุ่งหมายของเรา ถ้าเราไม่รู้จุดก็กลายเป็นว่าเราถูกเขาฉุดออกไป ถ้าเข้าใจจุดหมายดีและมั่นคงในปฏิปทา สิ่งที่เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ ก็เป็นเพียงบันไดหรือขั้นตอนระหว่างก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ แต่ถ้าไม่เข้าใจและมั่นในจุดหมายแล้ว แม้แต่สิ่งที่บริสุทธิ์ก็จะถูกทำให้ไม่บริสุทธิ์

โครงสร้างเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ท่านมีความเห็นว่าดีแล้ว หรือควรแก้ไขอย่างไร

เรื่องควรแก้ไข มันควรแน่ๆ จุดสำคัญของการปกครองมันอยู่ที่วัดแต่ละวัดกับระบบการศึกษา ควรวางเรื่องนี้ให้แน่นอนชัดเจน และมีผลทางปฏิบัติ แต่ที่เป็นอยู่การปกครองคณะสงฆ์เป็นแบบหลวมๆ มหาเถรสมาคมก็ไม่ได้มีอำนาจมากมายอะไร บางอย่างมีน้อยกว่าวัด อยู่กันไปวันๆ

แล้วอำนาจของอธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะของเลขาธิการมหาเถรสมาคม ซึ่งมีเสียงบอกว่าเอาอำนาจทางการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับคณะสงฆ์

อันนี้ว่าโดยหลักการเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง แต่เท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนี้ ปัญหาในขณะนี้อยู่ที่การเพิกเฉยละเลย ไม่ทำสิ่งที่ควรทำต่างหาก จนบางครั้งนึกอยากให้บ้านเมืองทำกับคณะสงฆ์แรงๆ และให้ฝ่ายบ้านเมืองศึกษากิจการฝ่ายพระศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจดีขึ้นกว่านี้

เราจะต้องยอมรับว่าบุคคลในสังคมต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ การไม่เล่นการเมืองคือการมีบทบาททางการเมืองอย่างหนึ่งใช่ไหม? และการเล่นการเมืองย่อมเป็นการทำลายอำนาจทางการเมืองของตนเองอย่างหนึ่ง มันมีความหมายทางการเมืองมากนะ ถ้าพระเข้าใจเรื่องนี้ดี จะดำรงฐานะของตนไว้ได้ ถ้าไม่เข้าใจ จะถูกเขาหลอก นึกว่าตัวได้แต่กลายเป็นทำลายตนเอง

แต่ก่อนนี้วงจรของระบบการเมืองอาจมองได้อย่างนี้ พระมหากษัตริย์ ฟังพระ มีอะไรพระว่าได้เพราะเคยเป็นลูกศิษย์กันมาก่อน และในทำนองเดียวกัน พระก็ต้องฟังประชาชน ประชาชนเป็นผู้ควบคุมพระอีกที ถ้าพระประพฤติไม่ดี ประชาชนไม่นับถือ เป็นวงจร คุมกันโดยไม่ต้องใช้อำนาจอาชญา

ต่อมา พระไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ไม่ได้เป็นผู้นำทางปัญญาต่อไป ผู้ปกครองบางคน เรียนเมืองนอกมาตลอดไม่ได้ผ่านเมืองไทยเลย ถึงแม้จะมีความเคารพก็มีตามประเพณีเท่านั้น ตอนหลังการณ์เป็นว่า พระต้องไปเอาใจผู้ใหญ่ให้มาช่วยบำรุงวัด อย่างนี้เสียแล้วใช่ไหม นี่คือความเคลื่อนคลาดของสังคม

ในเมื่อพระต้องเอาใจชาวบ้านให้มาบำรุงวัด มันก็เสียระบบ ไม่มีการควบคุมกัน แต่ก่อนพระนเรศวรทรงมีความเกรงใจสมเด็จพระวันรัต ไม่ใช่ไปพูดเฉยๆ แต่ท่านมีความเกรงใจกันอยู่ เป็นรุ่นครูอาจารย์ พระต้องเทศน์ให้พระมหากษัตริย์ฟังและเทศน์กันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เทศน์กันอย่างพอเป็นพิธี เดี๋ยวนี้พระไปเทศน์ที่ไหนๆ บางทีสักแต่ว่าฟัง ไม่ได้เข้าใจความหมาย สมัยหลังๆ นี้ ระบบสังคมเสียไปแล้ว นักปกครองไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่มีใครจะเตือนเขาได้

ขอเรียนถามประวัติส่วนตัวหน่อยครับท่านเจ้าคุณ

อาตมาบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มาเรียนกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนวัดปทุมคงคาถึงชั้นมัธยมปีที่ ๓ สุขภาพตอนนั้นไม่ค่อยดี จึงกลับไปบ้านแล้วก็บวช เลยอาศัยมาในระบบที่ถูกตัดปล่อย ตอนที่บวชนั้นความคิดเห็นก็ไม่ได้กว้างไกลอะไร เพียงแต่บวชเข้ามาแล้วก็เรียนมาเรื่อยๆ จากอำเภอศรีประจันต์ เข้ามาจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วก็เข้ามากรุงเทพฯ แล้วก็เรียนทางบาลี เข้ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเรียนบาลีควบไปด้วย ได้ประโยค ๙ จึงบวชเป็นพระ

ไปศึกษาต่อเมืองนอกหรือเปล่าครับ

เปล่า เรียนแค่เมืองไทย เคยไปต่างประเทศก็เพียงแค่การเยี่ยมเยียนดูการศึกษาทางศาสนาในประเทศทางเอเซีย

กระผมได้ยินว่า ท่านเจ้าคุณเคยไปบรรยายในมหาวิทยาลัยที่อเมริกา

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วเขานิมนต์ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย ไปอยู่ที่นั่นสองเดือน ในอเมริกานั้นบางแห่งอย่างที่วิสคอนซิน เขาจัดสอนพระพุทธศาสนาสูงจนถึงชั้นปริญญาเอก

ภาคผนวก

วิเคราะห์ปัญหา และลู่ทางแก้ไขปัญหาการศึกษาของสถาบันสงฆ์53

เนื้อหาส่วนนี้ได้รับการจัดปรับ และพิมพ์ใหม่ เป็นบทหนึ่งในเรื่อง สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน สามารถอ่านได้ที่

https://www.payutto.net/book-content/%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-%e0%b9%91-%e0%b9%80%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%a1/

คำนำสำนักพิมพ์

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นผู้ที่ได้รับความยอมรับนับถือจากผู้รู้และใฝ่ธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อย่างยากที่พระภิกษุไทยในปัจจุบันจะอยู่ในสถานะเช่นนั้นได้ ด้วยนอกจากศีลาจารวัตรของท่านจะงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของวิสาสิกชนแล้ว ความเปรื่องปราดปรีชาญาณของท่าน โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนา ยังเป็นที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ศาสนิกชนชั้นนำอีกด้วย ข้อเขียนและคำบรรยายของท่านไม่เพียงแต่จะลุ่มลึกและรอบด้านในข้ออรรถธรรม หากยังถ่ายทอดด้วยภาษาอันหมดจด อย่างกระชับ และต่อเนื่องเป็นลำดับ ยังความกระจ่างแจ้งจับใจแก่ผู้อ่าน และผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ในภาวะที่พุทธศาสนาในไทยตกอยู่ในฐานะง่อนแง่น เป็นเป้าแห่งความเข้าใจผิดและการประเมินค่าอย่างฉาบฉวย แม้กระทั่งในหมู่พุทธศาสนิกชนด้วยกัน พระราชวรมนี้ได้เป็นสดมภ์หลักหนึ่งใน การแสดงสารัตถะแห่งพุทธศาสนา ทำคุณค่าให้ปรากฏอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี ดังมีงานเอกอุ เช่น พุทธธรรม เป็นตัวอย่างอันเด่นชัด

สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของพระราชวรมุนี ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันสำคัญสถาบันหนึ่งของไทย ซึ่งแม้จะมีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมเพียงใดก็ตาม แต่ก็มักไม่เป็นที่รับรู้เข้าใจกัน จนกลายเป็นความเข้าใจผิดในหมู่ผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องดังกล่าว ในแง่หนึ่งได้ทำให้สถาบันสงฆ์ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการบำรุงเอาใจใส่ในทางสร้างสรรค์เท่าที่ควร ในอีกแง่หนึ่งได้ก่อให้เกิดความรู้สึกอคติต่อสถาบันสงฆ์ จนถึงกับเป็นปฏิปักษ์ มุ่งขจัดขัดขวางสถาบันนี้ก็มี ทั้งสองประการย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สถาบันนี้ทรุดโทรมซวดเซเป็นลำดับ หนังสือเล่มนี้ มุ่งที่จะสร้างความเข้าใจในสถาบันสงฆ์ที่ถูกต้อง ให้แลเห็นไม่เฉพาะบทบาท คุณค่าในอดีตและปัจจุบันเท่านั้น หากยังรวมถึงปัญหา อุปสรรค และข้อบกพร่องในตัวสถาบันเอง ข้อเขียนและคำบรรยายที่ประมวลเป็น สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย นั้น เกือบทั้งหมดเป็นผลงานของพระราชวรมุนี เมื่อครั้งยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอน และรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งล้วนเป็นตำแหน่งหน้าที่ในอดีตของท่าน แต่แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปร่วมสองทศวรรษ นับแต่บทความชิ้นแรกสุดของท่านในเรื่องสถาบันสงฆ์ได้ปรากฏสู่สาธารณชน แต่ ปัญหา ฐานะ และภารกิจของพระสงฆ์ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ ข้อเขียนและคำบรรยายเหล่านี้จึงยังทรงคุณค่า ทั้งในฐานะแนวทางสำหรับการฟื้นฟูความเป็นผู้นำทางสติปัญญาของพระสงฆ์ ที่ยังเหมาะกับปัจจุบัน และในฐานะงานแบบฉบับ อันจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในอนาคต ด้วยแม้จนบัดนี้ ก็ยังหามีงานเขียนใดที่จะเป็นพยานหลักฐานได้ดีกว่านี้ไม่ ในแง่ที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของนักคิดไทยคนสำคัญ ที่มุ่งกระตุ้นเตือนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาวิกฤต อันเกิดกับสถาบันคู่บ้านคู่เมืองดังกล่าว ก่อนที่การณ์จะสายเกินแก้ โดยที่ความพยายามดังกล่าวจะสัมฤทธิ์เพียงใดหรือไม่นั้น ผลย่อมแลเห็นได้ในกาลข้างหน้า

สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย มูลนิธิโกมลคีมทองได้จัดพิมพ์ให้เข้าชุดกับ ปรัชญาการศึกษาไทย พุทธศาสนากับสังคมไทย และ ลักษณะสังคมพุทธ ของผู้ประพันธ์ท่านเดียวกัน ซึ่งกรุณามอบสิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง อย่างให้เปล่า มาโดยตลอด อันนับเป็นพระคุณต่อมูลนิธิอย่างยิ่ง เชื่อว่า ในวาระอันควร มูลนิธิจะได้มีโอกาสพิมพ์ผลงานลำดับต่อไป ในชุดเดียวกันของท่าน ซึ่งมีคุณค่าสาระไม่น้อยไปกว่าผลงานที่ผ่านมา

คำอนุโมทนา

มูลนิธิโกมลคีมทอง มีฉันทะที่จะเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ได้อุตสาหะรวบรวมข้อเขียน บทความ และคำบรรยายในโอกาสต่างๆ ของผู้เขียน จัดประมวลเป็นหมวด แล้วขออนุญาตพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม เฉพาะเล่มนี้ให้ชื่อว่า สถาบันสงฆ์กับสังคมไทย ผู้เขียนไม่ขัดข้อง เพราะเป็นการช่วยกันเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ อันจะอำนวยประโยชน์ ทั้งในทางวิชาการ และในการเจริญกุศลธรรม

สิทธิในการพิมพ์เฉพาะครั้ง ได้มอบให้เปล่าแก่ผู้จัดพิมพ์ในแต่ละครั้ง เช่นเดียวกับหนังสืออื่นทุกเล่มของผู้เขียน เท่าที่ได้พิมพ์แล้ว ไม่ว่าโดยบุคคลหรือสถาบันใด ทั้งนี้ ด้วยถือว่า ความเจริญแพร่หลายแห่งธรรม และความงอกงามแห่งสัมมาปัญญา ที่อาจเกิดมีขึ้นจากธรรมทานนั้น จักเป็นผลสนองที่มีคุณค่าสูงสุด

ขออนุโมทนาต่อมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ได้มีฉันทะและวิริยะ ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นเผยแพร่ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในการบำเพ็ญประโยชน์ ตั้งต้นแต่คุณดุษฎี อังสุเมธางกูร ผู้เริ่มงานประมวลและจัดประเภทข้อเขียนคำบรรยายเหล่านั้น อันเกื้อกูลแก่การจัดพิมพ์ของมูลนิธิ ขอกุศลกรรมร่วมกันนี้ จงอำนวยผลเพื่อประโยชน์สุขของหมู่ชน ตลอดกาลนาน

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
พฤศจิกายน ๒๕๒๗

1บรรยายในการสัมมนาเรื่อง "พุทธศาสนากับสังคไทยปัจจุบัน" ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ๙ สิงหาคม ๒๕๑๒ ตีพิมพ์ในบันทึกการสัมมนาดังกล่าว จัดพิมพ์เป็นของชำร่วยในการที่พระเทพเมธี (กี มารชิโน) ป.ธ. ๙ เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๔.
2องฺ.ทสก. ๒๔/๔๘/๙๒
3องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๕๔/๗๕.
4วินย. ๓/๔๒/๓๙.
5ขุ.อิติ. ๒๕/๒๘๗/๓๑๔.
6องฺ.สตฺตก. ๒๓/๖๙/๑๓๗.
7ที.ปา. ๑๑/๒๐๔/๒๐๕.
8วินย. ๑/๖๒๒/๔๒๑.
9วินย. ๒/๕๓/๓๖ ; ๕๘/๔๑ ; ๖๒/๔๖ ; ๖๖/๕๑ ฯลฯ.
10วินย. ๖/๑๕๙/๖๘.
11วินย. ๗/๑๑๓/๔๒.
12สํ.ม. ๑๙/๙/๔.
13องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗/๒๖.
14ขุ.ธ. ๒๕/๓๕/๖๖.
15ขุ.ธ. ๒๕/๑๕/๒๔.
16ขุ.ธ. ๒๕/๓๑/๕๕.
17สํ.สฬ. ๑๘/๓๒๓/๒๒๔.
18ดูบทความเรื่อง “พระสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน” ของผู้เขียนบทความนี้ และบทความเรื่อง “พุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน” ของ แสง จันทร์งาม ในสังคมศาสตร์ปรทัศน์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓
19ดู “เอกสารเรื่องจัดการศึกษาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่รวบรวมจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสครบร้อยปีนับแต่เสวยราชย์ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ หน้า ๙ และ ๒๓๖ เป็นต้น
20ดู พ.ร.บ. ที่อ้างถึง มาตรา ๑๓, ๒๔, ๒๖, ๓๑ และ ๓๗ และดูประกาศใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๑ ประกอบด้วย
21ดู ประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๓ รศ. ๑๑๕ หน้า ๒๖๓-๒๖๘
22ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๑๗๑
23ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๑๒๐
24บทบาทที่คงเหลืออยู่ในระยะสุดท้ายคือเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน เช่น เป็นผู้นำในการสร้าง เป็นต้น และการช่วยสอนบ้างเล็กน้อย
25ดู ประวัติกระทรวงศึกษาธิการ ๒๔๓๕-๒๕๐๗ หน้า ๒๗๑ และ ๓๓๕
26เก็บข้อมูลจากหนังสือ “เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๑” ของหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๖๓
27ไม่นับจำนวนเปรียญรามัญ ๑๐ รูป
28ในจำนวนผู้ยังคงอยู่ ๙๙ รูปนี้ เป็นผู้ที่ไม่ทราบแน่ว่าลาสิกขาหรือไม่ เพราะยังสอบต่อไปอีก ๓๐ รูป
29สำรวจจากหนังสือ “เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๑” พึงทราบว่าจำนวนตำแหน่ง และฐานันดรศักดิ์ ในสถิตินี้ สำรวจตามที่เป็นจริงใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เท่านั้น ในภายหลัง มีผู้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีก หรือได้รับตำแหน่งใหม่ก็มี แต่ไม่อาจสำรวจทั่วถึง จึงยุติเพียง พ.ศ. ๒๔๖๓ เท่านั้น
30ม.ม. ๑๓/๓๑๘/๓๑๖
31ดูสถิติต่างๆ เกี่ยวกับสภาพของสถาบันคณะสงฆ์ ในหัวข้อต่อไป
32รวบรวมจากหนังสือรายงานการศาสนาประจำปี ๒๕๐๙ และสำรวจจากตัวเลขดิบ ปี ๒๕๑๑ ที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากเลขานุการเจ้าคณะภาค ๙ จำนวนเจ้าอาวาสในช่องวุฒิและพรรษานั้น ไม่ครบจำนวนวัด เพราะตัวเลขเกินจากนี้ ไม่ทราบชัดบ้าง เป็นวัดที่ไม่มีเจ้าอาวาสบ้าง

ตารางข้อมูลสถิติพระภิกษุสามเณร จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๑

33ตัวเลขได้จากเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี พ.ศ. ๒๕๑๒
34เพิ่มให้มีการสอบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑
35ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ กำหนดให้มีวิทยฐานะเป็นปริญญาตรี
36เฉลี่ยสอบได้ ปีละ ๓.๗ รูป ต่อผู้เข้าสอบ ๒๗ รูป เฉพาะปี ๒๕๑๒ สอบ ๑๐๒ รูป ได้ ๔ รูป
37คิดเฉพาะตัวเลขงบประมาณที่นับได้แน่นอนของส่วนกลาง ไม่นับการลงทุนของสำนัก และเอกชนต่างๆ (ทุนที่ลงไปนั้นส่วนใหญ่เป็นตัวเลขเกิดจากความสูญเปล่า เพราะสอบไม่ได้เท่านั้นเอง ไม่ใช่การลงทุนในการศึกษาที่แท้จริง การลงทุนในการศึกษาแท้ๆ มีน้อยอย่างยิ่ง)
38การศึกษาบาลีแผนใหม่ได้สลายตัวหมดไปเองประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕ เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อนและเกินกำลังของผู้เรียนและผู้บริหารที่จะให้เป็นไปได้ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๔ เกิดมี ร.ร. ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์ และใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มี ร.ร. ศึกษาผู้ใหญ่สำหรับพระภิกษุสามเณรแพร่หลายถึง ๑๐๒ โรงเรียน
39ตั้งขึ้นเดิม พ.ศ. ๒๔๓๒ แต่ได้รับชื่อปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๓๙
40ระยะต่อมา เมื่อมีพระภิกษุสามเณรชาวเขาเพิ่มขึ้น ก็ให้ท้องถิ่นรับผิดชอบตนเองมากขึ้น จนไม่ต้องส่งพระธรรมจาริกเป็นคณะไปจากส่วนกลาง
41ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ มีวัดไทยในสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐ วัด ในจำนวนนี้ ที่เป็นหลักฐานดีแล้วประมาณ ๑๒-๑๕ วัด
42พ.ศ. ๒๕๒๗ มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ทั่วประเทศประมาณ ๓๐๐ โรงเรียน
43มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒ แห่งพึ่งได้รับฐานะเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ และพึ่งมี พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะขั้นปริญญาตรีใน พ.ศ. ๒๕๒๗
44ถึงบัดนี้ คือ เกือบ ๒๐ ปี
45ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา นับแต่เขียนถึงบัดนี้ ได้เกิดมีสำนักเผยแพร่ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของคนสมัยใหม่จำนวนมาก แต่ก็ได้เกิดมีปัญหาใหม่ๆ คือ บางสำนักตั้งตัวแข็งขืนต่อสถาบันสงฆ์ และมีความขัดแย้งด้านทิฏฐิระหว่างสำนักต่างๆ เด่นชัดมาก
46เหตุผลอื่นจากนี้ ก็คงมีด้วยเป็นแน่
47บทความนี้ เขียนชะงักไว้เพียงเท่านี้ ข้อความต่อจากนี้ไป ดัดแปลงจากคำบรรยายในเวลาสัมมนา
48มีเรื่องที่ควรพูดเพิ่มเติมไว้ในที่นี้เล็กน้อย คือ เคยมีผู้กล่าวทำนองว่า พระสงฆ์ที่มาบวชเล่าเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ แล้วอยู่บ้างสึกไปบ้างนั้น เป็นการเอาเปรียบสังคม ผู้พูดเช่นนี้น่าจะมุ่งให้เข้าใจเหตุผลว่า การบวชเป็นพระนั้นมีความเป็นอยู่และได้ศึกษาเล่าเรียนอย่างสะดวกสบาย และผู้ที่จะบวชนั้น ราวกับว่าเป็นผู้มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ จึงเข้ามาบวชได้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนคลาดความจริงถึงตรงข้าม ที่จริงแล้ว ต้องมองในทางกลับกันว่า พระสงฆ์ที่เข้ามาบวชนั้นต้องสละความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ยอมงดความสุขสำราญต่างๆ แม้จะมีประเภทที่ควรถูกกล่าวหาเช่นนั้นอยู่บ้าง แต่เมื่อกล่าวโดยส่วนรวม โดยเฉพาะที่เป็นพระนักเรียนนักศึกษา ส่วนมากที่สุดจะมีความเป็นอยู่ขาดแคลนขัดสนอย่างมาก และการที่จะได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการอยางที่เขายอมรับกันและที่เป็นไปโดยชอบ ก็ยากหนักหนา กลายเป็นถูกสังคมเอาเปรียบเสียเป็นส่วนมาก และการบวชนั้นก็มิใช่เป็นอภิสิทธิ์อันใด สถาบันสงฆ์ต้อนรับทุกคนที่เต็มใจจะเข้ามาบวชโดยเสรี หากผู้ใดเห็นว่าการบวชเรียนเป็นการได้เปรียบ ก็น่าจะเข้าบวชเสียเองทีเดียว มองในแง่ของรัฐ การศึกษาในเพศพระยิ่งน่าจะเป็นที่พอใจมาก ตรงตามนโยบาย เพราะเป็นการช่วยการศึกษาของรัฐ รัฐได้ผล มีผู้ได้รับการศึกษา โดยรัฐไม่ต้องลงทุน หรือลงทุนแต่น้อยที่สุด
49 หมายเหตุ: คำอภิปราย ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๘ (พิมพ์ครั้งแรกใน อนุสรณ์งานมอบประกาศนียบัตร ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดยานนาวา ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๘)
50หมายเหตุ: อภิปรายในการสัมมนาเรื่อง “ศาสนจักรกับอาณาจักร: ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับอำนาจการเมือง” ณ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรกใน สู่อนาคต ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๐๒ ๒๐-๒๖ กุมภาพันธ์, ๒๕๒๖
51หมายเหตุ: สัมภาษณ์พิเศษ พิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติ ๕ มกราคม ๒๕๑๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรัชญาการศึกษาไทย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๘
52กรณีพระมหาจัด ได้เคยตอบในที่อื่นมาก่อนแล้ว ผู้คิดจะตัดสินถูกผิด ควรไปศึกษาเรื่องให้ชัดเจน ไม่ใช่ตัดสินตามข่าวที่ว่าต่อๆ กันมา
53บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนเพิ่มเติมของบันทึกที่ ๑ ในบทว่าด้วย “ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันและแนวทางในการแก้ไข
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง