สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สถานการณ์พระพุทธศาสนา
พลิกหายนะ เป็นพัฒนา1

เรื่องสถานการณ์และสภาวการณ์พระพุทธศาสนานี้ เรามีวิธีพูดได้หลายอย่าง อาจจะแบ่งเป็นส่วนๆ ตามกลุ่มของพุทธบริษัท เพราะสถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ถ้ามองในวงของความรับผิดชอบ เจ้าตัวผู้รับผิดชอบ ก็คือพุทธบริษัท เพราะฉะนั้น จึงจะต้องพูดโดยจับเอาพุทธบริษัทเป็นหลัก หรือเป็นแกนกลาง

พุทธบริษัทมี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบรรพชิต กับฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายพระสงฆ์ กับฝ่ายญาติโยม เมื่อแบ่งอย่างนี้แล้ว ก็พูดไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่พุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต คือฝ่ายพระสงฆ์ก่อน เพราะถือว่าเป็นจุดศูนย์กลาง หรือเป็นวงในของพระพุทธศาสนา ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

ส่วนพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ถึงจะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเดียวกัน เพราะพระพุทธเจ้าได้ฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ ถือว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่เวลาเรามองกันโดยทั่วไป ก็มักจะมองว่าพระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริง แม้ว่าการมองอย่างนี้บางทีจะทำให้เกิดอันตราย คือทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมองตามความเข้าใจของคนทั่วไปก่อน

เอาเป็นว่า เราแบ่งพุทธบริษัทเป็น ๒ ฝ่าย และเริ่มจากฝ่ายบรรพชิต หรือฝ่ายพระสงฆ์ก่อน

- ๑ -
วงใน - ชั้นใน
สภาพวัด และพระสงฆ์

วัดหลวงตา: เครื่องชี้สภาพที่มาถึงเรา

ในด้านสถาบันพระสงฆ์นั้น ปัจจุบันนี้ ชาวพุทธทั่วไปเป็นห่วงกันมาก เวลาพูดถึงสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาในฝ่ายพระสงฆ์ ก็จะปรารภร้องทุกข์โอดครวญกันในเรื่องความเสื่อมโทรมต่างๆ

ไม่ต้องดูอะไรมากหรอก วัดในประเทศไทยเรานี้ มีทั้งหมด ๓ หมื่นกว่าวัด ลองมองเข้าไปดูสภาพในวัด

เริ่มตั้งแต่พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส เมื่อสัก ๑๐-๒๐ ปีก่อนนี้ วัดสามหมื่นกว่าวัดนี้ ไม่มีเจ้าอาวาส ว่างเจ้าอาวาสอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ วัด มาปัจจุบันนี้ แทนที่ตัวเลขจะเบาลง แทนที่พระสงฆ์หรือเจ้าอาวาสจะมากขึ้น สถิติกลับเป็นไปในทางที่น่าวิตกยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาให้ตัวเลขว่า เวลานี้วัด ๓ หมื่นกว่าวัดนั้น ว่างเจ้าอาวาสใกล้หมื่นวัดเข้าไปแล้ว หมายความว่า ไม่มีพระที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้

เจ้าอาวาสนั้น ต้องมีพรรษา ๕ ขึ้นไป แล้วก็มีคุณสมบัติคือวุฒิทางด้านการศึกษาบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ วัดไม่มีพระที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาส ได้แค่รักษาการอยู่ตั้งเกือบหมื่นวัด หมื่นวัดนี่ก็หนึ่งในสาม วัดของเราไม่มีเจ้าอาวาสมากมาย

ขอให้พิจารณาดู เมื่อไม่มีเจ้าอาวาส ความรับผิดชอบต่อวัดและการที่จะทำให้วัดเดินเข้าไปสู่ความก้าวหน้า ก็ไม่หนักแน่น ไม่เต็มที่ แค่รักษาการก็มีความรับผิดชอบไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นก็บ่งชี้ถึงสภาพที่ขาดคุณสมบัติ ไม่มีภาวะที่จะเป็นผู้นำได้

ในเมื่อไม่มีพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำ ที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ ก็จะเกิดมีสภาพที่ ๒ ตามมา

ในช่วง ๕-๖ ปีที่แล้วมา จนถึงปัจจุบันนี้ มีการปรารภกันในหมู่พระสงฆ์ระดับบริหาร ซึ่งอาจจะเป็นการพูดทำนองขำๆ สนุกๆ แต่ก็แฝงความน่าเป็นห่วงอยู่ด้วย คือการที่ท่านพูดกันว่า เวลานี้ในประเทศไทย ได้มีวัดหลวงเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง

วัดหลวงนี่ เราก็เคยได้ยินได้ฟังรู้กันอยู่แล้วว่า ศัพท์ทางการเรียกว่า “พระอารามหลวง” มีชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก แต่เวลานี้ท่านบอกว่ามีวัดหลวงเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง แล้วก็ให้คิดกันดู ลองฟังคำเฉลยนะ วัดหลวงที่เพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่งนั้นคือ “วัดหลวงตา”

วัดหลวงตานั้น เวลานี้มีมาก ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ไม่มีพระที่มีคุณสมบัติจะเป็นเจ้าอาวาส ก็เลยมีแต่หลวงตาเฝ้าวัด

“หลวงตา” ก็คือพระที่บวชเมื่อแก่ บางทีก็มุ่งมาหาความสงบ เลิกทำงานทำการ ก็เข้ามาบวช อย่างนี้ก็เป็นประเภทที่นับว่าดี แต่อีกประเภทหนึ่งก็คือ ผู้ที่ไม่มีทางไป ไปไม่ไหวแล้ว หมดทางทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็เข้ามาอาศัยวัดเป็นที่เลี้ยงชีพ โดยมาบวชเป็นหลวงตา

เราไปต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ พบพระที่สูงอายุ แล้วเข้าไปถามดูว่าพรรษาเท่าไร จะเห็นสภาพความเป็นไปของวงการคณะสงฆ์

สมัยก่อนนี้ พระที่มีอายุมากๆ ก็จะมีพรรษามาก อายุเจ็ดสิบ ก็อาจจะพรรษา ๔๐-๕๐ แต่ปัจจุบันนี้ ไปถามดู พระอายุ ๗๐ พรรษาเท่าไร หนึ่งพรรษา สองพรรษา สามพรรษา

อันนี้คือสภาพการณ์ที่น่าเป็นห่วง ท่านเหล่านี้มาบวชเมื่อแก่ บางท่านที่มาบวชหาเลี้ยงชีพแบบไม่มีทางไป ก็ไม่ตั้งใจจะศึกษาปฏิบัติ และอาจเที่ยวหาเงินทอง หลอกลวงทำความเสียหาย

ส่วนท่านที่มาบวชหาความสงบ ถึงแม้จะตั้งใจเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ วัยก็ไม่ให้ ไม่มีความแข็งแรง สมองก็เสื่อมโทรมลง เวลาในชีวิตที่จะทำงานให้พระศาสนา ก็เหลือน้อย น้อยองค์ที่จะมีความสามารถพิเศษ ซึ่งน่ายกย่อง ท่านที่ตั้งใจเล่าเรียนและมีความสามารถจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องยกให้

นี่ด้านหนึ่ง คือด้านพระที่สูงอายุ ก็เป็นอันว่า จะมีพระหลวงตาที่มีพรรษาน้อยๆ นี้มากมาย

ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป

อีกด้านหนึ่งก็ลงมาถึง เณร คือ สามเณร ซึ่งตรงกันข้ามกับหลวงตาโดยวัย

“เณร” นี้เป็นส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นศาสนทายาท เป็นผู้ที่บวชเข้ามาแล้วมีโอกาสเล่าเรียนมาก และส่วนใหญ่จะได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย เพราะวัยอยู่ในระยะเวลาที่จะเล่าเรียนศึกษา ช่วงเวลาของการที่จะเล่าเรียนได้ก็เต็มที่ หลังจากเรียนแล้ว ก็มีเวลาอีกมากที่จะทำงานให้พระศาสนาต่อไป

แต่ปัจจุบันนี้ เราหาเณรได้ยาก สำหรับในภาคกลางนี้หาเณรได้ยากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเมือง แทบจะไม่มีเด็กบวชเลย จนกระทั่งเราต้องใช้วิธีจัด บวชสามเณรภาคฤดูร้อน

อันนี้เป็นทางออกอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้จะแก้ไขปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นตัวผ่อนเบาว่า ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสรู้จักพระศาสนาบ้าง แต่เราจะหวังให้เณรเหล่านี้มาเป็นผู้ที่รับผิดชอบดูแลการพระศาสนาต่อไป ย่อมเป็นไปได้ยาก

เราอาจจะหวังว่า เมื่อมีเณรบวชภาคฤดูร้อนมากๆ บางส่วน อาจจะเป็นหนึ่งในสิบหรือหนึ่งในร้อย ที่มีศรัทธาแรงกล้าอยากจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย อยู่ในพระศาสนา อยู่ในวัดต่อไป (ซึ่งก็มีอยู่จริงด้วย) แต่นี่ก็เป็นเรื่องของการหาทางผ่อนคลายปัญหา

ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ไม่มีเด็กจะมาบวชเณร เพราะรัฐขยายการศึกษาตั้งโรงเรียนออกไปในถิ่นไกลๆ ได้มากขึ้น วัดไม่ต้องเป็นช่องทางช่วยผ่อนเบาปัญหาความไม่เสมอภาคแห่งโอกาสในการศึกษาของรัฐ(โดยไม่ตั้งใจ)มากเหมือนในช่วง ๒๐-๑๐๐ ปีก่อน และการศึกษาของวัดในสภาพปัจจุบัน ก็ไม่จูงใจเด็กให้เข้ามาเรียน หรือจูงใจพ่อแม่ให้ส่งลูกเข้ามาเรียน เด็กก็ไปเข้าเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐ

ยิ่งกว่านั้น เวลานี้เด็กออกโรงเรียนโตขึ้นกว่าเก่า ก็ไปเข้าตลาดแรงงานเด็กเสียมาก ในส่วนเมืองและในถิ่นใดที่ยิ่งมีความเจริญมากขึ้น ก็ยิ่งหาเด็กมาบวชเณรได้ยากขึ้น

เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีผู้ที่จะดำรงพระศาสนา ที่เราเรียกว่าเป็นศาสนทายาทต่อไป อันนี้ก็เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว

เมื่อ ๒๐-๒๕ ปีที่แล้วมา ครั้งที่สามเณรยังมีจำนวนมาก และเริ่มเข้าสู่หัวต่อแห่งความเปลี่ยนแปลงของจำนวนสามเณรที่อยู่วัดเล่าเรียนพระธรรมวินัย

ในภาคกลาง มีสามเณรในอัตราส่วนประมาณ ๑ รูป ต่อพระภิกษุ ๖-๗ รูป

ในภาคใต้ สามเณร ๑ รูป ต่อพระภิกษุ ประมาณ ๒-๓ รูป

ในภาคอีสาน สามเณร ๑ รูป ต่อพระภิกษุจำนวนเท่าๆ กัน คือ ๑ รูป หรือเณรมากกว่าพระเล็กน้อย และ

ในภาคเหนือ สามเณรประมาณ ๒ รูป ต่อพระภิกษุ ๑ รูป

(ตัวเลขนี้ ว่าตามที่นึกๆ ได้จากความจำ อย่าเพิ่งถือเอาเป็นแน่นอนทีเดียว เมื่อมีเวลาจะตรวจสอบหลักฐานอีกที)

ต่อจากนั้น อัตราส่วนของสามเณรที่อยู่เล่าเรียนมีน้อยลงเรื่อยๆ จากภาคกลางที่ลดลงก่อน ภาคอื่นๆ ก็พลอยเป็นไปด้วย จนปัจจุบัน แม้แต่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ก็หาเด็กบวชเณรยาก ในภาคเหนือที่เคยมีเณรในอัตราส่วนสูงสุด คือมากกว่าพระราว ๒ ต่อ ๑ เวลานี้ก็แทบไม่มีเด็กบวชเณร หาเณรเรียน หาเณรใช้ยาก

เมื่อเณรลดน้อยลงนั้น ก็หมดไปจากในกรุง ในเมือง ภาคกลาง และจากถิ่นเจริญก่อน

ดังนั้น ตั้งแต่รัฐเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตกในศตวรรษที่แล้วมา ที่ใดการศึกษาของรัฐไปไม่ถึง เด็กก็มาบวชเณรเรียนหนังสือ เณรในกรุงเทพฯ เป็นผู้ที่มาจากต่างจังหวัด ต่อมา เณรในเมืองใหญ่แต่ละเมือง ก็เป็นผู้ที่มาจากถิ่นห่างไกลนอกเมือง จนมาระยะเมื่อเร็วๆ นี้ เณรในโรงเรียนปริยัติธรรมที่อยู่ในวัดภาคกลาง ก็มาจากภาคอีสาน และภาคเหนือ

ครั้นถึงขณะนี้ เมื่อเณรกำลังจะหมดไปจากภาคเหนือ เณรที่อยู่ในวัดภาคเหนือ ก็กำลังกลายเป็นเด็กที่มาจากถิ่นห่างไกลในต่างแดนที่ไกลความเจริญ โดยเฉพาะที่เด่นขณะนี้ ก็คือเณรจากสิบสองปันนา ที่เข้ามาแสวงหาช่องทางแห่งความเจริญก้าวหน้า (ลองนึกถึงจิตใจของโรบินฮูดไทยในอเมริกา)

ยิ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ทางการได้มีนโยบายที่มุ่งมั่นจะขยายการศึกษาที่เคยเรียกว่าภาคบังคับเดิมออกไป ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา โดยขยายชั้นประถมขึ้นไปอีก ๓ ชั้น ถึงมัธยม ๓ หรืออาจจะเรียกว่าประถมปีที่เก้า ก็ทำให้เด็กต้องอยู่ในโรงเรียนยาวนานมากขึ้น ถ้าไม่มีนโยบายทางการคณะสงฆ์มารับกันให้พอเหมาะพอเจาะ ก็จะทำให้ยิ่งขาดแคลนเณรที่จะมาบวช และขาดแคลนศาสนทายาทยิ่งขึ้น

อันนี้เป็นปัญหาระยะยาว ที่จะต้องมาคิดกันว่า การพระศาสนาข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย

เมื่อมองดูที่ตัวพระสงฆ์แล้ว อีกด้านหนึ่งก็มองไปที่ภาพของพระสงฆ์ที่ปรากฏในสังคม

เวลานี้ เราได้ยินข่าวร้ายมากมายเกี่ยวกับความเสียหายของพระสงฆ์

ในช่วง ๓-๔ ปีนี้ มีข่าวต่อเนื่องกันมาไม่ขาดสาย ขึ้นพาดหัวหนังสือพิมพ์เรื่อย พระสงฆ์มีปัญหาความประพฤติเสียหายทางเพศบ้าง ทางเรื่องความโหดร้ายฆ่ากันบ้าง เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเป็นห่วงในหมู่พุทธศาสนิกชน พร้อมทั้งสร้างภาพที่ไม่ดีไม่งามแก่สังคม ทำให้ภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ของพระสงฆ์เสื่อมเสียไปมาก ซึ่งหมายถึงสถานะในความเคารพนับถือศรัทธาต่างๆ ด้วย

ไม่ต้องบ่นไม่ต้องเล่าให้ยืดยาวมากมาย แม้แต่เมื่อวานนี้ ก็มีข่าวอีก คือเรื่องที่ว่ามีพระจิตวิปริตไปข่มขืนศพ เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ที่เพิ่มเข้ามาอีกระลอก แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเมื่อมองไป ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยว่า สื่อมวลชนนั้นมีความเที่ยงตรง แล้วก็มีความรับผิดชอบในการเสนอข่าวแค่ไหน

อย่างข่าวที่ว่ามีพระจิตวิปริตไปข่มขืนศพนั้น เช้านี้ก็มีญาติโยมมาที่วัด พูดถึงเรื่องนี้แล้ววิจารณ์ว่า ผู้ที่อ่านเนื้อหาคำบรรยายข่าวที่เขาเสนอนั้น ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาก็จะเห็นว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเป็นไปได้อย่างนั้น อาจจะมีแง่มุมที่คลาดเคลื่อนไป เช่นอาจจะเป็นการลองไสยศาสตร์อะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เหมือน หรือไม่ตรงกับคำบรรยายข่าวนั้น

อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเป็นไปในการพระศาสนาที่อยู่ในสังคมไทย และภาพที่เกิดขึ้น

สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร

จะอย่างไรก็ตาม ข่าวสารที่ออกมาอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องแสดงถึงสภาพ ๓ ด้าน ที่เราจะต้องพิจารณา คือ

  1. สภาพการคณะสงฆ์ และการพระศาสนา
  2. สภาพของสื่อมวลชน
  3. สภาพของประชาชน ผู้รับฟังข่าวสาร

ทั้งสามด้านนี่สัมพันธ์กันทั้งหมด สำหรับในแง่ของสภาพคณะสงฆ์ ข่าวนั้นจะจริงหรือไม่จริง หรือจะมีส่วนจริงแค่ไหนอย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีเค้าอยู่ เมื่อมีเค้าอยู่ ก็แสดงถึงสภาพความเสื่อมโทรมโดยทั่วไป

ทีนี้ ในแง่ของการเสนอข่าว ในยุคข่าวสารข้อมูลนี้ ลักษณะของข่าวสารก็ขึ้นกับสภาพสังคมด้วย

ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่า ข่าวร้ายได้รับการเผยแพร่กันมาก แต่ข่าวดีไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ส่อแสดงถึงความเป็นไปของสังคมว่า การเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลของเรานั้นดำเนินไปด้วยดีหรือไม่เพียงใด และสถาบันที่รับผิดชอบในการเสนอข่าวสาร ที่เรียกว่าสื่อมวลชนนั้น มีความรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหน

ข่าวความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้น หรือความสำเร็จทางปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นความก้าวหน้าใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องกระตุ้นและส่งเสริมแนวโน้มและพลังที่ดีงาม พร้อมทั้งเป็นเกียรติแก่ประเทศชาติ และเป็นการร่วมสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ และข่าวการเสียสละพากเพียรบำเพ็ญคุณความดีอันยิ่งใหญ่ หรือก่อประโยชน์สุขแก่มหาชน แทนที่จะขึ้นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง กลับไปซุกซ่อนอยู่ในคอลัมน์เล็กๆ ข้างใน ที่แทบไม่มีใครมองเห็น

แต่หน้าแรกที่สำคัญนั้น กลับเป็นที่ชุมนุมของข่าวการฆ่าฟันสังหาร และอาชญากรรมเฉพาะราย ที่ทำจิตใจและปัญญาให้อับเฉามืดมัว

ต่อจากนั้น ประการที่สามก็คือ ตัวประชาชนผู้รับฟังข่าวสาร ซึ่งมีปัญหาว่า มีการใช้ปัญญาหรือวิจารณญาณไตร่ตรองหรือไม่ หรือเพียงแต่ตื่นเต้นตามกันไป แล้วก็เป็นเหยื่อของข่าวที่หละหลวมคลุมเครือ หรือการโฆษณา ไม่สามารถจะทันต่อความเป็นไปที่สำคัญและเป็นสาระ หรือรู้เท่าทันต่อข่าวสารที่ถูกนำเสนอ แล้วก็ไม่สามารถจะถือเอาประโยชน์ที่แท้จริงจากข่าวสารเหล่านั้นได้

คนที่อ่านข่าวตื่นเต้นร้ายแรงหน้าหนึ่ง น้อยคนจะรู้จักอ่านให้ได้คติ หรือได้แรงกระตุ้นเร้าในการที่จะคิดแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่ที่จะให้เกิดความไม่ประมาท

หนังสือพิมพ์ลงข่าวพระภิกษุอายุ ๗๐ ปี หรือแม้กระทั่ง ๘๐ ปี ประกอบกรรมชั่ว ผู้อ่านซึ่งขาดความตระหนักรู้ต่อสภาพสังคมของตน มองภาพเป็นพระภิกษุที่บวชมานาน คิดว่า ทำไมพระที่อยู่ในพระศาสนามาถึงเพียงนี้ ยังมีกิเลสชั่วร้ายนักหนา

ผู้อ่านหารู้ไม่ว่า บุคคลผู้นั้น ก็คือชาวบ้านแก่เฒ่าผู้อาศัยช่องว่าง ขณะที่วัดในชนบทมากมายกำลังจะกลายเป็นวัดร้าง และขณะที่สังคมทั่วไปไม่ใส่ใจดูแลสมบัติของตน เขาก็แฝงตัวผ่านเข้าสู่ช่องทางการบวชที่หละหลวม บวชเข้ามาเป็นพระแก่พระหลวงตาเพื่อจะทำการที่ตนปรารถนาได้โดยสะดวก

ด้านผู้อ่าน ก็ขาดความรู้ความเข้าใจต่อสภาพวัดและพระสงฆ์ในปัจจุบันที่จะวิเคราะห์ความจริง ด้านสื่อมวลชน ก็เสนอข่าวโดยไม่ให้ข้อมูลเพียงพอที่จะให้เกิดปัญญา

นี้ก็เป็นเรื่องของข่าวความเสียหาย นอกจากข่าวความเสียหายแบบนี้แล้ว ก็มีอีกด้านหนึ่งคือ เรื่องที่ประชาชนวิจารณ์กันในแง่ว่า พระแข่งกันทำกิจกรรมในแง่หาเงินหาทอง มุ่งแต่จะหาเงินหาทองกันเหลือเกิน และทำด้วยวิธีการต่างๆ

แล้วก็อวดกันในเรื่องสิ่งก่อสร้าง เช่นการสร้างพระที่ใหญ่ที่สุดในโลกบ้าง ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบ้าง อะไรทำนองนี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้สอย หรือประโยชน์ต่อพระศาสนาระยะยาว ไม่อ้างอิงไปถึงเหตุถึงผลว่า วัตถุนั้น การสร้างนั้นจะช่วยนำคนให้รู้เข้าใจธรรม ให้ประพฤติดีมีศีลมีธรรมอย่างไรๆ

มองพระสงฆ์ให้เป็น
ก็เห็นสภาพสังคมไทย

ที่ว่ามานี้ก็เป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟัง และบางท่านได้วิพากษ์วิจารณ์กัน แต่ข้อสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การวางท่าทีต่อความเป็นไปเหล่านี้ พร้อมทั้งในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ สิ่งสำคัญก็คือ การสอนให้นักเรียนหรือคนที่เราเกี่ยวข้อง รู้จักวางท่าทีที่ถูกต้อง

ท่าทีอย่างไร เป็นท่าทีที่ถูกต้อง แง่ที่หนึ่ง คือการใช้ปัญญา รู้จักพิจารณา และมีความรู้เท่าทันต่อเรื่องราวความเป็นไปที่เกิดขึ้น แล้วก็มองให้ได้ประโยชน์

ไม่ใช่มองแต่เพียงว่า เป็นข่าวตื่นเต้น แล้วก็ร้องทุกข์ โอดครวญ หรือได้แต่วิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็มีความรู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นในทำนองว่า พระสงฆ์ทำไมเสื่อมโทรมอย่างนี้ ไม่น่านับถือ เลิกนับถือดีกว่า

บางทีไม่นับถือพระสงฆ์ แล้วพาลจะไม่นับถือพระพุทธศาสนาอีกด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งเกิดจากการวางท่าทีไม่ถูกต้อง และขาดปัญญา

ประการที่หนึ่ง มองโดยภาพรวมก่อน ในแง่ที่ข่าวเหล่านี้เป็นเรื่องของความเป็นไปในสังคมไทย

ถ้ามองในแง่นี้ ข่าวคราวเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสภาพความเสื่อมโทรมในวงการพระศาสนา หรือในหมู่พระสงฆ์แล้ว ในฐานะที่พระสงฆ์นั้นเป็นสถาบันที่สำคัญในสังคมไทย มันก็เป็นเครื่องชี้บ่งถึงสภาพความเป็นไปของสังคมไทยด้วย

เราถือกันว่า พระสงฆ์เป็นสถาบันทางจริยธรรม เป็นสถาบันของผู้นำทางด้านจิตใจของสังคมนี้ เราอาจพูดได้ว่า โดยทั่วไปในสังคมไทยนี้ พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ถือได้ว่ามีศีลธรรมและจริยธรรมมากที่สุด

จากเกณฑ์มาตรฐาน หรือพื้นความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อเรามองสังคมไทย ก็จะได้ข้อคิดต่อไปว่า อ้อนี่ ขนาดบุคคลที่ถือว่าเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจของสังคมไทย ก็ยังมีความเสื่อมโทรมขนาดนี้ แล้วสังคมไทยส่วนรวมทั่วๆ ไป จะเลวทรามขนาดไหน

ถ้ามองในแง่นี้ เราก็จะได้ข้อเตือนใจให้ระลึกว่า ถ้าหากว่าพระสงฆ์ของเราเสื่อมขนาดนี้แล้ว สังคมไทยส่วนรวมจะยิ่งเสื่อมโทรมกว่านั้นอีกมากมาย

แล้วขอให้ท่านพิจารณาดูสภาพทั่วไปของสังคมของเราว่า คำที่ว่านี้จริงหรือไม่

ฉะนั้น เราจะต้องวางท่าทีที่ถือว่า สภาพของคณะสงฆ์นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสภาพของสังคมไทย ซึ่งเตือนให้เรารีบตื่นตัวขึ้นมา แล้วแก้ไขปรับปรุงสังคม

เมื่อได้เห็นได้ยินข่าวเสียหายเหล่านี้ในวงการพระสงฆ์ เราจะต้องรู้ตระหนักว่า มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของพระสงฆ์เท่านั้น แต่นี่คือปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยให้รู้ว่า เวลานี้ แม้แต่ส่วนที่ละเอียดอ่อนที่สุด ส่วนที่ถือว่าดีที่สุดของเรา ยังเลวทรามขนาดนี้ แล้วสังคมไทยส่วนรวมจะเลวทรามเสื่อมโทรมขนาดไหนแล้ว เราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ จะต้องรีบลุกขึ้นมาช่วยกันปรับปรุงแก้ไข

แล้วอันนี้ก็จะเป็นสำนึกที่เป็นประโยชน์ ช่วยนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นเพียงการมาต่อว่าด่าทอหรือปรับทุกข์กันแล้วก็จบไป ไม่ได้อะไรขึ้นมา

ถ้าเราคิดพิจารณาโดยใช้ปัญญาอย่างนี้ ก็จะเป็นประโยชน์โดยเห็นทางที่จะใช้สถานการณ์เหล่านี้ให้เกิดคุณค่าขึ้นมา คือทำให้มีการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาสังคมโดยส่วนรวม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงการพระศาสนาด้วย

คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร

ต่อแต่นั้นก็มองถึงหน้าที่รับผิดชอบ ที่ใกล้ตัวเข้ามาอีก คือในหมู่พุทธศาสนิกชนเอง โดยเฉพาะในฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อมีภาพความเป็นไปในแง่ความเสื่อมโทรมของพระสงฆ์เกิดขึ้นอย่างนี้ พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ควรมีท่าทีของจิตใจอย่างไร

ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่รับผิดชอบต่อพระศาสนา พุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ ทุกคนมีส่วนรวมเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาร่วมกัน จะต้องสร้างจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของของพระศาสนาให้เกิดขึ้น จะต้องมีความรู้สึกในการมีส่วนร่วมว่า นี้เป็นพุทธศาสนาของเรา เรามีส่วนร่วมรับผิดชอบในพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่มองอย่างคนนอก

ขณะนี้เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราสังกัดอยู่ในพุทธบริษัท ๔ เราเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบเป็นเจ้าของพระศาสนาด้วย เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราต้องมองในฐานะผู้เป็นเจ้าของ และผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่มองอย่างคนนอก

เมื่อมองอย่างเป็นเจ้าของแล้ว เราจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของของเรา หรือเป็นทรัพย์สมบัติของเรา

ถ้าเรามองว่าพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา ในเวลาที่มีคนหรือพระก็ตาม ทำความเสียหายต่อพระพุทธศาสนา เราจะเกิดความรู้สึกว่า สมบัติที่มีค่าของเรากำลังจะถูกทำลาย เมื่อสมบัติที่มีค่าของเราจะถูกทำลาย หน้าที่ของเราคืออะไร ก็คือการที่จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขป้องกัน

ถ้าพระที่ไม่ดีเหล่านั้นมาทำเสียหาย ก็คือมาทำความเสียหายต่อศาสนา เมื่อพระเหล่านั้นทำความเสียหายต่อพระศาสนา ก็คือเป็นคนที่เข้ามาทำลายสมบัติของเรา ถ้ามองในแง่หนึ่งก็คือ เป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเข้ามาทำลายสมบัติอันมีค่านี้ ก็เป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย

เมื่อเขาเป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย เราในฐานะเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขไล่โจรออกไป ไม่ใช่ยกสมบัติให้แก่โจร

ท่าทีของพุทธศาสนิกชนในเวลานี้ ส่วนมากเป็นท่าทีแบบว่าโจรมาปล้นบ้าน ก็ยกบ้านให้แก่โจร โจรมาลักขโมยหรือทำลายสมบัติ ก็ยกสมบัติให้แก่โจร เป็นอย่างนั้นไป โจรก็ยิ่งชอบใจ

แทนที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ก็ไม่ทำ กลับไปรู้สึกว่า โอ! นี่ พระประพฤติไม่ดี พระศาสนาไม่ดี เลยพาลจะเลิกนับถือ อะไรทำนองนั้น อันนี้แสดงถึงการขาดจิตสำนึกในความเป็นพุทธบริษัท ไม่มีจิตสำนึกในความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ไม่มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ และขาดความรู้เข้าใจที่เป็นปัญญาด้วย

ฉะนั้น ถ้าตนเป็นพุทธบริษัท เป็นพุทธศาสนิกชน จะต้องสำนึกในความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนี้ และถ้ามีเหตุการณ์ร้ายขึ้นในพระศาสนา จะต้องรีบลุกขึ้นมาช่วยกันป้องกันแก้ไขกำจัดภัยอันตราย และรักษาสมบัติที่มีค่าของตนและของประเทศชาติประชาชนไว้ จึงจะเป็นท่าทีและเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ต้องมองให้ถูกต้องว่า พระภิกษุทั้งหลาย หรือที่เราชอบเรียกกันว่าพระสงฆ์นั้น ท่านก็คนอย่างเราๆ ทั้งหลายนี่แหละ ทั้งเราและท่านก็เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสมบัติที่มีค่านั้นร่วมกัน ต่างก็มีสิทธิใช้ประโยชน์จากพระศาสนาทั้งนั้น

แต่ท่านที่บวชเป็นพระนั้น ท่านบอกว่าท่านจะเข้าไปอยู่วงใน จะเข้าไปเอาประโยชน์จากพระศาสนาให้ได้มากๆ หรือเต็มที่ คือเข้าไปรับการศึกษาอบรมที่เรียกว่าไตรสิกขา ชนิดเต็มเวลา พวกเราก็อนุโมทนา

เรายกย่องความตั้งใจดีและความเข้มแข็งเสียสละของท่าน และเราก็ถวายความเคารพท่านอย่างจริงใจ เพราะชาวพุทธเคารพท่านผู้ศึกษาพัฒนาตน และเคารพในฐานะที่ท่านทำหน้าที่ดำรงรักษาสืบทอดธรรมในนามของสงฆ์ คือเป็นสมาชิกของภิกษุสงฆ์ที่เป็นตัวแทนของสาวกสงฆ์ หรือเป็นสัญลักษณ์ชี้บ่งไปถึงอริยสงฆ์

แต่ถ้าท่านเข้าไปแล้ว คือบวชแล้ว ไม่ปฏิบัติตามที่บอกไว้ หรือปฏิบัติไม่ไหว ท่านก็กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ซึ่งจะต้องถอนตัวกลับออกมาอยู่อย่างพวกเราตามเดิม หรือถ้าท่านตั้งใจทำความเสียหาย ท่านก็กลายเป็นผู้ร้าย หรือเป็นโจรที่ประทุษร้ายพระพุทธศาสนา ทำลายสมบัติอันมีค่าของพวกเรา

ถึงตอนนี้ พวกเราก็มีสิทธิเรียกร้องเอาตัวท่านออกมา เพื่อรักษาสมบัติร่วมกันนั้นไว้ให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องต่อไป

มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ

สำหรับรัฐ ซึ่งมีรัฐบาลเป็นตัวแทน รวมทั้งผู้บริหารประเทศ และองค์กรของรัฐโดยทั่วไป ก็ต้องวางท่าทีในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

รัฐเป็นผู้รักษาผลประโยชน์ของประชาชน มีหน้าที่ส่งเสริมและทำประโยชน์แก่ประชาชน พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นแหล่งอำนวยคุณธรรมจริยธรรมของประชาชน และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเป็นอะไรต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ จนเรียกว่าเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐและผู้บริหารประเทศจึงต้องรับผิดชอบที่จะคุ้มครองดูแลรักษาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

พระภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ที่บวชเข้าไปจากพลเมืองไทย คือเป็นคนของรัฐนี่เอง ที่เข้าไปรับประโยชน์จากพระศาสนา

ถ้ามีพระประพฤติชั่วร้าย หรือเข้าไปบวชหาผลประโยชน์ ก็คือพลเมืองของรัฐเข้าไปทำอันตรายต่อพระศาสนา จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ที่จะร่วมกับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในฝ่ายพระศาสนา ที่จะเอาคนของตนกลับออกมา

มิใช่จะปัดไปว่า เป็นเรื่องของพระ ซึ่งจะกลายเป็นว่า รัฐมีส่วนร่วมเป็นใจ หรือให้ท้ายให้คนของตนเข้าไปทำลายพระศาสนา

สภาพปัญหาเวลานี้ก็คือ เราพากันปล่อยให้คนที่ขาดคุณภาพจำนวนมากมาย อพยพหรือย้ายตัวเข้าไปอยู่ข้างในพระศาสนา จะโดยเข้าไปหลบลี้หนีภัยก็ตาม อาศัยพักพิง พักผ่อน ทัศนาจร หรือแม้โดยตั้งใจดีก็ตาม ไม่ได้ค้ำจุนหรือทำประโยชน์อะไรให้แก่พระศาสนา แต่ตรงข้าม ถ่วงดึงหนักแอ้แก่พระศาสนา

ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ข้างในแล้ว ก็ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพ เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องควรจะรับผิดชอบต่างก็ไม่เอาใจใส่ที่จะจัดดำเนินการ

ฝ่ายคนมีคุณภาพที่อยู่ข้างนอก แทนที่จะเข้าไปช่วยร่วมแก้ไขสถานการณ์ ก็ได้แต่นั่งด่าทอต่อว่าคนอื่นอยู่ข้างนอก โดยไม่ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตัว

พระพุทธศาสนาถูกทอดทิ้งอย่างนี้ ก็ย่อมจะต้องทรุดโทรมลงไปเป็นธรรมดา

มองอีกแง่หนึ่ง การที่คนผู้ด้อยคุณภาพทั้งหลายเข้าไปอยู่ข้างใน ดีๆ ชั่วๆ ก็ยังช่วยให้พระศาสนาหรือสมบัติส่วนรวมนี้คงมีอยู่มาถึงปัจจุบันได้ แม้จะมีสภาพโทรมหรือกะปลกกะเปลี้ยเพียงใด บ้านยังมีคนอยู่ ถึงจะง่อย ก็ยังช่วยให้ยืดอายุมาได้

คนที่มีคุณภาพทั้งหลาย ซึ่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มัวแต่ออกไปหลงเพลิดเพลินกับผลประโยชน์และการเล่นสนุกกับคนต่างถิ่นภายนอก ละเลิงไปเสียนาน ควรจะสำนึกรู้ตัวและขอบคุณคนพวกที่ด้อยคุณภาพเหล่านั้น และบัดนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกคนผู้มีคุณภาพจะต้องหันกลับมาเอาใจใส่แสดงความรับผิดชอบของตน

มองอีกแง่หนึ่ง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมนี้ต่างก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับคนที่มีโอกาสเหนือกว่า มีความได้เปรียบ ก็หันไปสนุกกับผลประโยชน์ที่เข้ามาใหม่ๆ จากแหล่งห่างไกลภายนอก ส่วนคนพวกที่ด้อยโอกาส ไม่มีทางไป ก็เข้าไปอาศัยช่องทางเก่าที่ถูกทอดทิ้ง คือพระศาสนา พออาศัยหยิบๆ เก็บๆ ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ได้บ้าง ตามแต่จะได้

บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้สำนึกถึงการกระทำของตน แล้วหันมาปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้มีโอกาสเหนือกว่า หรือผู้ได้เปรียบ ย่อมควรจะต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ด้อยโอกาสต้องถูกบีบให้หาช่องทางต่อไป

ความที่ว่ามานี้ น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติรัฐและคณะสงฆ์ในฐานะผู้มีหน้าที่โดยตรง และโดยเฉพาะคนที่มีคุณภาพและมีโอกาสเหนือกว่า ในฐานะที่ได้เป็นผู้ละเลยความรับผิดชอบของตนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่าจะต้องแสดงจิตสำนึกในความรับผิดชอบให้ปรากฏ

คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย
คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป

เมื่อกี้นี้ ได้พูดไว้ว่า “มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็แลเห็นสังคมไทย

คำที่พูดนี้ มิใช่มีความหมายแค่ที่ได้พูดไปเท่านั้น แต่โยงไปหาหลักความจริงที่ใหญ่กว้างด้วยว่า คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน สังคมเกิดจากคน แล้วคนก็เป็นผลผลิตของสังคม คนกระแสใหญ่สร้างสังคมไว้อย่างไร สังคมก็สร้างคนส่วนใหญ่ขึ้นมาได้อย่างนั้น

ที่ว่านี้เป็นวงจรตามปกติ ถ้าไม่มีปัจจัยข้างนอกข้างในมาแปร วงจรก็หมุนต่อไป ยากที่จะแผกผันหรือพลิกให้เป็นไปได้อย่างอื่น

เมื่อสังคมนิยมนับถือคนอย่างไร เช่นอย่างง่ายๆ ที่พูดกันบ่อยว่า นับถือคนมีศีลมีธรรม หรือเทิดทูนคนมีสินมีทอง เชิดชูคนมียศมีอำนาจ สังคมก็ส่งเสริมสนับสนุน โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ให้คนอย่างนั้นเด่นขึ้นมา มีกำลังมาก จนกระทั่งได้เป็นใหญ่

อนุชนคือคนรุ่นที่ตามมา ก็เพียรพยายามหรือตะเกียกตะกายที่จะเป็นคนแบบนั้น อย่างน้อยก็มีโอกาสมากขึ้นสำหรับคนที่จะไปทางนั้น พร้อมกับปิดกั้นลิดรอนโอกาสของคนพวกที่ตรงข้าม

แม้แต่ในคนเดียวกัน แต่ละคนนั้นๆ บางคนมีธาตุดีกับธาตุร้ายแรงพอกัน เมื่อสังคมนิยมส่งเสริมธาตุดี ธาตุดีของเขาก็ได้กำลังหนุน เขาก็ได้โอกาสที่จะพัฒนาธาตุดี บางคนมีธาตุร้ายเข้มแรงกว่าธาตุดี แต่สังคมนิยมส่งเสริมเชิดชูธาตุดี ธาตุร้ายของเขาก็ไม่ได้โอกาส เขาก็กำราบมันลงไปได้ง่ายขึ้น

แต่ถึงอย่างนี้ ในบางราย (แม้จะน้อย) คนมีธาตุร้ายเข้มข้นแรงกล้า ถึงสังคมจะนิยมธาตุดี เขาก็ยังไปในทางของธาตุร้ายจนได้

ดังนั้น แม้แต่เมื่อสังคมดี ก็ยังมีรายยกเว้น ที่คนร้ายก็เกิดขึ้นมา และในทำนองเดียวกัน ถึงแม้เมื่อสังคมนิยมธาตุร้าย ก็ยังมีคนที่ยืนหยัดในทางของธาตุดีเติบโตขึ้นมาได้เช่นกัน

นี่คือปัจจัยตัวแปร ที่อาจจะมาตัดหรือมาหักหันเหวงจรการสร้างคนสร้างสังคม แต่ตัวแปรนี้น้อยนัก และยากที่จะมีกำลังพอ

โดยทั่วไป สังคมก็ไปตามทางของมัน สังคมชื่นชมนิยมคนอย่างไร สังคมก็สร้างคนอย่างนั้นขึ้นมา เป็นไปตามคุณภาพของคนที่ร่วมกันสร้างสังคมนั้นเอง

บางทีต้องรอนานหลายๆ ศตวรรษ จนกระทั่งเจอกับปัจจัยกระทบกระแทกเข้ามาจากข้างนอกของสังคมอื่น ที่มีกำลังเหนือกว่า วงจรที่ว่านั้นจึงขาดหรือสะดุดลงไป

แต่ถึงอย่างนั้น พอปัจจัยนอกปัจจัยในกลบหรือกลืนกันไม่ลงตัว ผลก็แปรไปอีก ปัญหาก็เกิดขึ้นใหม่ ในที่สุดก็อยู่ที่ว่าจะพัฒนาคนให้มีปัญญาขึ้นมาแก้ปัญหาได้หรือไม่ ถ้าเป็นสังคมที่ขาดหรือหย่อนสติปัญญา ก็หวังอะไรดีได้ยาก

พระทั้งหลาย ก็เช่นกับคนทั่วไป พื้นเพก็คือเป็นคนของสังคมนั้น เกิดในสังคมนั้น และเป็นผลิตผลของสังคมนั้นนั่นเอง เราให้คนไปบวชเป็นพระ ก็เพื่อให้พุทธศาสนาช่วยเอาปัจจัยดีที่เลือกคัดจัดสรรไว้ มาหลอมมาแปรให้เขาเป็นผลิตผลที่ดีอย่างที่น่าจะมั่นใจ

ถึงตอนนี้ เรื่องก็อยู่ที่ว่า ในสังคมนั้น คนทั่วไป หรือคนส่วนใหญ่รู้จักพุทธศาสนาแค่ไหน มองเห็นพุทธศาสนาว่าคืออย่างไร

แล้วก็ไปถึงตัวคนที่มาเป็นพระว่า พระเณรที่แท้น่านับถือคือผู้ที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติอย่างไร เป็นอยู่ ประพฤติตนอย่างไร พูดอะไร ไม่พูดอะไร พูดอย่างไร ไม่พูดอย่างไร ทำอะไร และไม่ทำอะไร

ถึงตรงนี้ก็อยู่ที่ว่า สังคมที่คนสร้างกันมานั้น มีศีล มีจิตใจ เฉพาะอย่างยิ่ง มีปัญญาหรือมีโมหะแค่ไหน เขามองเห็นพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน เขานิยมชมชอบส่งเสริมสนับสนุนพระที่มีอะไร เป็นอย่างไร อยู่อย่างไร พูด-ไม่พูด ทำ-ไม่ทำอะไร

จากนั้น ตามหลักของการส่งเสริมสนับสนุน ให้โอกาส ปิดกั้นโอกาส ดังที่ว่า สังคมของเขานี่แหละ ก็สร้างพระอย่างนั้นๆ ขึ้นมา และกำจัดหรือบั่นรอนพระอีกแบบหนึ่งให้เงียบหรือหายไป

ในสังคมนี้ หลายปีแล้ว ข่าวฉาวใหญ่อื้ออึงมาเป็นระลอก พระองค์นั้นโด่ง ก่อสร้างสิ่งสถานใหญ่โตมโหฬาร แต่แล้ว เรื่องอกุศลเบื้องหลังโผล่ขึ้นมา ก็เฉาอับไป พระองค์นี้ดัง เก่งอิทธิฤทธิ์ มีลูกศิษย์บริวารห้อมล้อมเต็มไปทุกที่ แต่แล้วเรื่องเสียหายไม่บริสุทธิ์เผยออกมา เกิดคดีมีเรื่องเปรอะชื่อเสียงเลอะ ก็เหี่ยวโทรมไป เวลาผันผ่าน กรณีใหม่ๆ ก็เรียงแถวทยอยมาให้ดูต่อๆ ไป

พอมีเรื่องดังขึ้นมาทีหนึ่ง คนพวกหนึ่งก็ด่าว่าพระไม่ดี ศาสนาไม่ดี คนอีกพวกหนึ่งไม่ว่าอะไร ก็อยู่ก็ทำต่อไปอย่างที่เคยอยู่เคยทำกันมา ความรู้เข้าใจปัญหา การแก้ไข การพัฒนา ไม่มี กระแสข้างล่างไหลอยู่อย่างนั้น ระลอกก็ผุดโผล่ข้างบนอย่างนี้ วงจรคนสร้างสังคมอย่างไร สังคมสร้างคนอย่างนั้น ก็หมุนต่อไป

ถ้าจะไม่ให้เจอปัญหาซ้ำซาก ถ้าจะให้สังคมของตนดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนา ก็ต้องรู้จักทำกรรมดีกันบ้าง ไม่ใช่นิ่งเฉยจมกันอยู่ในความประมาท

แทนที่จะเอาแต่ด่าว่าผลงานที่พวกตัวทำขึ้นมา ก็ใช้ปัญญา หาความรู้ความเข้าใจ สำรวจตรวจสอบตัวเองและสังคม แก้ไขพัฒนาตนและเพื่อนร่วมสังคมของตัว แล้วผลักดันสังคมให้สร้างคนสร้างพระที่มีคุณสมบัติถูกต้อง มีคุณภาพที่พึงต้องการ

ในยามสังคมแตกสลาย หรือบ้านเมืองเกิดวิกฤต เช่นมีสงครามใหญ่ อาจถึงขั้นเสียบ้านเสียเมือง เกิดภาวะไร้ขื่อแป อย่างเมื่อครั้งกรุงแตก อยุธยาล่ม สถาบันและกิจการที่เป็นระบบระเบียบแบบแผนแหลกลาญ

ในยามที่ผู้คนไม่มีหลัก ไร้ที่พึ่ง เคว้งคว้าง อ้างว้างอย่างนี้ ก็จะหันไปแอบอิงพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังพึ่งอิทธิฤทธิ์ ไสยศาสตร์

ดังที่ปรากฏว่า เมื่ออยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว ก่อนพระเจ้าตากสินมหาราชจะกู้ชาติกู้เมืองได้ เรื่องไสยศาสตร์ อิทธิฤทธิ์ การพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกลื่อนกลาดไปทั่ว พระปลอมบ้าง พระจริงบวชเข้ามาไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง พากันช่วยปลอบชาวบ้านบ้าง หลอกลวงหากินบ้าง ด้วยเวทมนตร์คาถาไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์เหล่านี้

พอกู้ชาติได้แล้ว จะฟื้นฟูบ้านเมือง พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงตั้งพระศาสนาให้เป็นหลัก ค้นหานิมนต์พระหลักๆ ที่ทรงธรรมวินัยมาสถาปนาเป็นพระสังฆราช และครองวัดสำคัญๆ พร้อมกับให้หัวเมืองต่างๆ รวบรวมส่งพระไตรปิฎกมาที่กรุงธนบุรี (ที่อยุธยา คัมภีร์ ตำราถูกเผาทั้งเมือง)

ต่อด้วยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ยังมีศึกสงครามมากมาย ก็ทรงจัดการบ้านเมืองให้เรียบร้อยมั่นคง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ทำสังคายนา แล้วทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม เพื่อ “เป็นหลักของแผ่นดิน”

สภาพสังคมเวลานั้น ยังไม่พ้นภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนระส่ำระสาย ยากแค้นลำเค็ญ ข้างนอกยังมีภัยสงครามจากทัพพม่า ข้างในเต็มไปด้วยการปล้นฆ่าแย่งชิง พระสงฆ์เป็นอยู่ยาก ต้องลาสิกขาไปมากมาย การบวชเรียนแทบจะไม่สืบต่อ

แต่คนพวกหนึ่งกลับบวชเข้ามาอาศัยผ้าเหลืองหาเลี้ยงชีพ มีเพศเป็นพระ แต่ไม่รู้ธรรม ไม่รู้วินัย แถมไม่มีธรรม ไม่มีวินัยอีกด้วย พระพวกนี้ใช้ความเชื่อเหลวไหลไสยศาสตร์ล่อหลอกหาลาภจากประชาชนด้วยเวทมนตร์อิทธิฤทธิ์ เท่ากับซ้ำเติมสังคมให้ยิ่งโทรมยิ่งทราม ดังนั้น กู้บ้านกู้เมืองไม่พอ ต้องกู้พระศาสนาอีกด้วย

ในรัชกาลที่ ๑ ทรงแสดงพระบรมราโชบายว่า “ฝ่ายพระพุทธจักร พระราชอาณาจักรย่อมพร้อมกันทังสองฝ่ายชวนกันชำระพระสาศนา” ทรงตรา กฎพระสงฆ์ รวม ๑๐ ฉบับ ทรงเน้นการชำระสะสางทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และชาวบ้าน ให้หมดจดพ้นไปจากลัทธิเหลวไหลไสยศาสตร์ ทั้งทางความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติ

โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่เป็นองค์ยืนด้านนี้ นอกจากให้พ้นจากเวทจากไสยอันเป็นลัทธิข้างนอกแล้ว ก็ให้เข้ามาตั้งอยู่ในหลักของตัวข้างใน คือ ให้รู้ธรรมรู้วินัย ให้มีธรรมมีวินัย จึงทรงเน้นหนักให้พระมีการศึกษาที่เป็นธุระในพระศาสนา ขอให้ดูตัวอย่างความที่แสดงถึงพระบรมราโชบาย เช่นว่า

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๒: ถ้าสามเณรรูปใดมีอายุศมควรจะอุประสมบทแล้ว ก็ให้บวดเข้าร่ำเรียนคันฐธุระ วิปัศนาธุระ อย่าให้เที่ยวไปมาเรียนความรู้อิทธิฤทธิให้ผิดทุระทังสองไป...ถ้าแลสามเณรรูปใดอายุศมถึงอุประสมบทแล้ว มิได้บวด เที่ยวเล่นโว้เว้อยู่ จับได้ จะเอาตัวสามเณรแลชีต้นอาจารยญาติโยมเปนโทษจงหนัก

กฎพระสงฆ์ ฉบับที่ ๔: แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเลละวัฏะประนิบัต...มิได้ร่ำเรียนธุระทังสองฝ่าย อย่าให้มีได้เป็นอันขาดทีเดียว

พร้อมกันนั้น ก็ทรงจัดให้มีการบอกพระปริยัติธรรม แก่พระภิกษุสามเณร ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังเจ้านาย และบ้านข้าราชการผู้ใหญ่

การที่ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้มีการบอกพระปริยัติธรรม แก่พระเณร ในพระบรมมหาราชวัง เท่ากับถือเป็นกิจการสำคัญถึงขั้นเป็นการแผ่นดินนี้ นอกจากเป็นการเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพระเณรให้อยู่ในหลัก ให้ทำกิจหน้าที่ที่แท้เข้าในทางของตน ให้ได้พระเณรที่มีคุณภาพตามหลักพระศาสนาแล้ว ก็เป็นแบบอย่างที่จะนำประชาชนให้สนใจที่จะทำบุญแบบที่เข้าในทางอย่างนี้ด้วย เฉพาะอย่างยิ่ง เป็นภาพเด่นชัดที่จะคอยเตือนสำนึกของประชาชนให้ตระหนักรู้อยู่ทุกเวลาว่า พระคือผู้ทำอะไร พุทธศาสนาอยู่ตรงไหน

ในประวัติศาสตร์ ได้เห็นกันว่า ยามใดบ้านเมืองวิกฤต สังคมวิปริต หลักหาย ไม่มีระบบแบบแผนที่จะมั่นใจ ประชาชนมีจิตใจเคว้งคว้าง อ้างว้าง ก็จะเป็นช่องว่างและช่องทาง ให้เรื่องอิทธิฤทธิ์ เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ อันเป็นที่พึ่งแบบผลุบโผล่เลื่อนลอย ขึ้นมาแพร่ระบาดเกลื่อนกลาดทั่วไป

เวลานี้ สังคมไทยมีสภาพวิกฤตทำนองนั้นไหม ผู้คนมีความอ้างว้างทางจิตใจ หรือเคว้งคว้างทางปัญญาหรือไม่ ลองพิจารณา

แล้วถ้าใครคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนา จะกู้สังคม อาจจะหันไปดูการกู้ชาติ ฟื้นสังคม ในยุคกรุงธนบุรี จนถึงตั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้บ้าง เผื่อจะพบคติหรือข้อชี้บ่งบางอย่างให้เห็นแนวทาง

ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา
ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง

ดูลึกลงไปหน่อย พระพุทธศาสนาที่สืบๆ มาถึงเรานั้น ก็อยู่มาในสังคมไทย เป็นพุทธศาสนาของคนไทย ที่ไปๆ มาๆ ก็เป็นมรดกสืบทอดของสังคมไทย บางทีที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ก็เป็นพระพุทธศาสนาที่บางส่วนกลาย หรือหลายส่วนเพี้ยนไปแล้ว

จึงได้กำชับกันมานักหนา ให้ใช้มาตรการที่จะรักษาตัวพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักแท้ของจริงไว้ให้ได้

เดชะบุญเราพอจะรักษาของจริงไว้ได้ แต่เดชะบาปอะไร ถึงของจริงจะยังอยู่ยังมี แต่คนไทยบางทีก็ (หรือก็มักจะ) ไม่มีแก่ใจจะไปดูไปหาไปศึกษาของแท้ ไม่เอาไม่เข้าไปให้ถึงให้แน่ ก็เลยอยู่กันแค่ปรัมปรา เป็นสังคมแบบตามเขาทำกันมา ตามเราว่ากันไป

ทีนี้ ในสังคมไทยนั้น ความพรั่นพรึงนิยมนับถือในเรื่องอำนาจดลบันดาลและความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เป็นกระแสที่แผ่ซ่านไหลแรงตลอดมา เป็นช่องให้ลัทธิเทวฤทธิ์พรหมพราหมณ์ผีสางไสยศาสตร์เข้ามาอาศัยและคงอยู่ได้ทนนาน อีกทั้งเมื่อได้โอกาส ยามสังคมมืดมัวมึนโมห์เปิดช่องให้ ก็เข้ามาสนองหนุนโลภะโทสะของคน แพร่ระบาดแรงเข้ม นับว่าเป็นพลังแอบแฝงซึ่งคอยแย่งที่กำบังตัว แม้กระทั่งซึมแทรกปนเปกับพุทธศาสตร์เรื่อยมา

เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้น ในพระพุทธศาสนาท่านก็ให้เกียรติ และถึงกับให้ความสำคัญในระดับหนึ่ง ดังที่ตรัสว่าพระมหาโมคคัลลานะเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์

(เอตทคฺค ภิกฺขเว...อิทฺธิมนฺตาน ยทิทํ มหาโมคฺคลฺลาโน, องฺ.เอก.๒๐/๑๔๖/๓๑; อิทฺธิม=มีฤทธิ์นี้ มีนัยด้วยว่า เป็นผู้เก่งกล้าสามารถทำการสำเร็จ เป็นนักบุกฝ่า หรือผู้บุกเบิก)

แม้ว่าลำพังตัวอิทธิปาฏิหาริย์เอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่โปร่งพระทัย ทรงระอา ทรงรังเกียจ (อิทฺธิปาฏิหาริเยน อฏฺฏิยามิ หรายามิ ชิคุจฺฉามิ, ที.สี.๙/๓๓๙/๒๗๕)

อิทธิปาฏิหาริย์นั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่เข้าในจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่ก็เป็นความสามารถพิเศษ ในพวกอภิญญาชั้นโลกีย์ ปุถุชนที่เก่งกาจก็มี แต่ถ้าเป็นคนไม่ดี ก็จะเหิมเกริม เอาไปใช้หาลาภ เสริมยศ เพื่อผลประโยชน์และความยิ่งใหญ่ กลายเป็นเครื่องมือก่อการร้ายของคนเลว ดังที่มีพระเทวทัตเป็นตัวอย่างเด่น

ถ้าผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์เป็นคนดี มีใจสะอาดบริสุทธิ์ เฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระอรหันต์ อิทธิปาฏิหาริย์ก็เป็นประโยชน์ ที่ท่านใช้เป็นเครื่องมือของปัญญา เพื่อช่วยพัฒนาคนให้เขาพ้นภัยจนถึงได้ปัญญา

ที่ว่าเป็นเครื่องมือของปัญญา เพื่อจุดหมายที่จะให้ได้ปัญญานั้น ก็คือ ในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในพุทธกิจ อิทธิปาฏิหาริย์มีคุณค่าต่อเมื่อไปประสานบรรจบกับอนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือ ใช้อิทธิฤทธิ์เป็นเครื่องหักหันนำคนเข้ามาหาคำสอนธรรมที่เป็นอนุศาสนี แล้วอิทธิฤทธิ์ก็จบลงที่อนุศาสนี โดยให้เกิดมีปัญญาเป็นจุดหมาย

ถ้าเข้าทางและพาให้ถึงจุดจนจบลงอย่างนี้ อิทธิปาฏิหาริย์ก็ลงทะเบียนมีชื่อในพระพุทธศาสนาได้ (แต่ถ้าเพื่อลาภ ยศ ความยิ่งใหญ่ ก็เข้าทางไปหาพระเทวทัต)

ที่พูดมาเสียยาว ก็เพื่อให้จับตัวได้ว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน หรืออยู่แถบข้างไหน เรื่องฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ มีความหมาย มีส่วนมีแง่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแค่ไหน อย่างไร

อนึ่ง อิทธิปาฏิหาริย์ แปลง่ายๆ ว่า ความสำเร็จที่ขจัดความติดขัดเสียได้ จะไปในอากาศ ที่ตามปกติติดขัด ก็เหาะไปได้ จะไปบนน้ำ ที่ตามปกติติดขัด ก็เดินบนน้ำไปได้ ฯลฯ

เมื่อมองเข้ากับยุคสมัย เทคโนโลยีก็เป็นอิทธิฤทธิ์ทางวัตถุ อะไรที่ตามปกติติดขัด ทำไม่ได้ เทคโนโลยีก็ทำให้สำเร็จได้ จะไปในอากาศ ไปบนน้ำ ไปใต้น้ำ ไปต่างดาว ฯลฯ ได้ (แทบ) ทั้งนั้น

เทคโนโลยี นอกจากให้สำเร็จกิจจำเพาะในเรื่องนั้นๆ แล้ว ที่สำคัญคือโยงกับปัญญาที่รู้ทั่วชัดในแดนวัตถุ ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เทคโนโลยีไม่เพียงอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นฐาน แต่เป็นเครื่องนำพาในการพัฒนาปัญญาแห่งวิทยาศาสตร์นั้น

ยิ่งมาถึงเวลานี้ คนเข้าสู่ยุคไอที มีไฮเทค กำลังบุกฝ่าแผ่ขยาย digital frontier ในยุคนี้ เทคโนโลยีเข้ามาจัดมาสื่อข่าวสารข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญา โดยปัญญา เพื่อปัญญาตรงตัวเต็มที่ และปัญญานั้นกว้างใหญ่ไกลกว่าเพียงวิทยาศาสตร์อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในยุคไอทีที่ประชิดปัญญานี้เอง กลายเป็นว่า คนใช้เทคโนโลยีนั้นอย่างแปลกแยกห่างเหินจากปัญญา ยิ่งกว่าในยุคอื่นแต่ก่อนมา ซ้ำร้ายยังใช้ในทางที่บังหรือทอนปัญญาเสียมากด้วย

สภาพทั่วไปในสังคมก็คือ คนตื่นติดความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ของไอทีในเชิงสนองตัณหา ทั้งโลภะและโทสะออกศักดาเต็มที่ เห็นแก่ความสนุกวูบวาบฉาบฉวย ไล่เสพบันเทิงก็ไม่ทัน เลยไม่มีเวลาจะศึกษา ได้ข้อมูลข่าวสารถึงทันทั่วโลกา แต่ไม่ถึงความรู้ ไม่เป็นปัญญา

ไอทีมา คนมัวเพลินภูมิกับความเฉียบฉลาดเชิงกลไก ละทิ้งปัญญา ถูกโมหะล่อพาไป เมื่อเพลินกับอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยี ก็เป็นเหยื่อของอิทธิฤทธิ์แห่งไสยศาสตร์ได้ง่ายด้วย

เป็นอันว่า อย่ามองแค่พระเณร ต้องมองให้กว้างที่จะกู้ทั้งสังคม ไม่ใช่แก้แต่ปัญหาพระเณร ต้องแก้ปัญหาคนไทย ให้ไอทีมากับปัญญา ให้อิทธิฤทธิ์ของไอทีเป็นสื่อนำเข้าหาปัญญา เป็นเครื่องมือพัฒนาปัญญา ไปให้ถึงปัญญา สังคมไทยจึงจะศรีวิไลเป็นอารยะขึ้นมา

ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน
ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ

พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานได้ตรัสไว้แล้วว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องมีคุณสมบัติเพียงพอ พระองค์จึงจะปรินิพพาน เราคงได้อ่านพุทธประวัติกัน

ในพุทธประวัตินั้น ท่านเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่ง ก่อนพุทธปรินิพพาน ๓ เดือนว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือทรงปลงพระทัยว่าต่อจากนั้นอีก ๓ เดือน พระองค์จะปรินิพพาน

เรามักจะมองกันแต่เหตุการณ์ที่ว่าจะมีการปรินิพพาน โดยมีมารมาทูลอาราธนา แล้วพระพุทธเจ้ารับอาราธนา แต่เหตุผลในการรับอาราธนาของมารที่เป็นสิ่งสำคัญเรากลับไม่ค่อยได้มองดู

พระพุทธเจ้ารับอาราธนาของมารให้ปรินิพพานนั้น พระองค์รับด้วยเหตุผลอะไร มารมาทวงว่าอย่างไร

มารมาทวงว่า พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ซึ่งรวมแล้วได้ ๓ ประการ พระองค์จะปรินิพพาน หมายความว่า แต่ก่อนนั้นมารก็เคยมาอาราธนาพระพุทธเจ้า

มารในที่นี้ จะเป็นขันธมาร หรือจะเป็นเทวบุตรมาร ก็แล้วแต่ ก็ไม่ใช่ข้อที่จะมาถกเถียงกันในที่นี้ แต่รวมความก็คือว่า มารได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ปรินิพพานก่อนหน้านั้นแล้ว แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับปรินิพพาน จนกระทั่งมาถึง ๓ เดือนก่อนปรินิพพานนั้น มารมาอาราธนาใหม่ พระพุทธเจ้าจึงทรงรับอาราธนา เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับเงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้

เงื่อนไขก็คือ พระองค์ได้ตรัสว่า ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ — ขอให้สังเกตว่า พระองค์ไม่ได้ตรัสเฉพาะภิกษุ พระองค์ตรัสรวมหมด ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ว่าทั้ง ๔ บริษัท — มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน คือจะต้องวางพระทัยได้ว่าพระศาสนามีความเจริญมั่นคงพอ โดยที่ว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถที่จะรับผิดชอบต่อพระศาสนาได้แล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว พระองค์จะไม่ปรินิพพาน

คุณสมบัติที่เป็นเงื่อนไข ๓ ประการนี้ คืออะไร กล่าวโดยย่อ (ดูพุทธพจน์ที่ ที.ม.๑๐/๙๕/๑๒๒)

ประการที่ ๑ พุทธบริษัททั้ง ๔ จะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ที่รู้หลักธรรมคำสอนของพระองค์ มีความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยสาระคือ ตนเองรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

ประการที่ ๒ พุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น นอกจากรู้เข้าใจและปฏิบัติถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ก็นำเอาธรรมหลักคำสอนนั้นไปบอกกล่าวสั่งสอนแนะนำชี้แจงแก่ผู้อื่นด้วย

ที่จะไปบอกกล่าวชี้แจงแนะนำสั่งสอนผู้อื่นนั้น ก็โดยที่ว่า

หนึ่ง มีความสามารถที่จะสอนหรือแนะนำแจกแจงอธิบาย

สอง มีจิตเมตตากรุณา หวังประโยชน์แก่เขา

เมื่อมีทั้งสองประการนี้ จึงเอาธรรมไปสั่งสอนหรืออธิบายแก่ผู้อื่นอย่างได้ผล

ประการที่ ๓ พุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น นอกจากบอกกล่าวแนะนำคำสอนของพระองค์ได้แล้ว ก็สามารถชี้แจงกำราบปรัปวาทได้ด้วย

ข้อนี้หมายความว่า ถ้ามีคำกล่าวร้ายต่อพระศาสนา มีการเผยแพร่คำสอนที่ผิด เอาคำสอนที่ผิดนอกพระศาสนามาใส่ในพระศาสนา หรือใส่ในพระโอษฐ์ ก็สามารถชี้แจงกล่าวแก้ได้ ทำให้เข้าใจถูกต้อง เรียกว่ากำราบปรัปวาทได้

พุทธบริษัททั้ง ๔ จะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม จะต้องมีคุณสมบัติครบ ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าจึงจะปรินิพพาน

เพราะฉะนั้น เมื่อมารมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพานครั้งก่อนๆ พระองค์ได้ทรงเห็นว่า พุทธบริษัท ๔ ยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามนี้ พระศาสนายังไม่มีหลักประกันความมั่นคง พระองค์จึงไม่ทรงรับอาราธนา และได้ตรัสคุณสมบัติ ๓ ข้อนี้ไว้เป็นเงื่อนไข

จนกระทั่งเมื่อก่อนหน้าปรินิพพาน ๓ เดือนนั้น มารได้มาทวงให้พระองค์ปรินิพพาน แล้วก็อ้างว่า เงื่อนไขเกี่ยวกับพุทธบริษัททั้ง ๔ ทั้ง ๓ ข้อนี้ครบถ้วนแล้ว

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาแล้ว ก็ทรงเห็นว่า เวลานั้นพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ครบแล้ว จึงได้ทรงรับอาราธนาของมาร แล้วก็ตรัสวาจาที่เราเรียกว่า “ปลงพระชนมายุสังขาร” ว่าต่อจากนั้น ๓ เดือนจะปรินิพพาน

เหตุผลที่เป็นเงื่อนไขเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเหตุการณ์เสียอีก แต่เรามักจะมองเพียงแค่ตัวเหตุการณ์ ไม่ได้ดูว่าเนื้อหาสาระของการที่จะปลงพระชนมายุสังขารนั้น คืออะไร

สาระสำคัญอยู่ที่นี่ คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ ที่ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทว่าจะสามารถรับผิดชอบพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ ซึ่งใช้ได้จนกระทั่งปัจจุบัน และจะต้องใช้เป็นเครื่องตรวจสอบคุณสมบัติของพุทธศาสนิกชนที่รวมกันเป็นพุทธบริษัท ๔ เรื่อยไป

ขอพูดขยายออกไปทางด้านพุทธศาสนิกชนที่รายล้อมในวงกว้างขึ้น

เรื่องพุทธบริษัทในฝ่ายพระสงฆ์ที่พูดมาแล้วนี้ เอาเพียงเล็กน้อย พอให้เห็นภาพสถานการณ์

ถ้าจะจาระไน ก็ต้องบรรยายกันอีกมากมาย จะต้องแยกแยะหลายอย่าง เช่นว่า สภาพการศึกษาเป็นอย่างไร สภาพการปกครองเป็นอย่างไร สภาพการเผยแผ่เป็นอย่างไร สภาพการพัฒนาและกิจการทั่วไปเป็นอย่างไร ในที่นี้เราจะไม่พูดถึง

พูดแค่ที่ผ่านมา ก็พอเห็นภาพแล้ว

- ๒ -
วงใน - ชั้นนอก
สภาพพุทธศาสนิก

ถ้าหลงใหลอย่างเลื่อนลอย
ก็จะหล่นผล็อยจากพุทธศาสนา

ต่อไปนี้มองกว้างออกไปในแง่ของพุทธบริษัทด้านวงนอก คือรวมทั้งคฤหัสถ์ด้วย หรือมุ่งเน้นพุ่งเป้าไปที่คฤหัสถ์เป็นพิเศษ

ลองมาดูสภาพทั่วไปในขณะนี้ว่า ประชาชนทั่วไปที่ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย ที่ถือว่ามีชาวพุทธอยู่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หรือปัจจุบันนี้ว่า ๙๓ เปอร์เซ็นต์นี่ มีสภาพเป็นอย่างไร

ภาพที่เด่นอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่ประชาชนทั้งหลายส่วนใหญ่มุ่งหาความสำเร็จจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล ภาพของการหลงใหลในไสยศาสตร์นี้ เป็นไปอย่างแพร่หลายมาก แล้วควบคู่กับความเชื่อ ความหลงใหลในไสยศาสตร์ ในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ในเครื่องรางของขลัง ก็คือเรื่องการพนัน และสุรา

คนไทยจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องการพนัน มองอะไรต่ออะไรในแง่การพนันไปหมด

หลวงพ่อชาถึงมรณภาพวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕ แล้วมาปลงศพ พระราชทานเพลิงศพวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖ ประชาชนก็มุ่งมองไปที่ตัวเลข ปรากฏว่าตัวเลขของท่านวันมรณภาพ และวันเผาเป็นวันที่ ๑๖ มกราคม ก็แทงหวยเลข ๑๖ หนังสือพิมพ์ก็ขึ้นพาดหัวเลย บอกว่าเจ้ามือแย่ไปตามๆ กัน ไม่มีเงินจ่าย ๕๐ ล้านบาท คนแทงหวยถูกกันมาก

คนจำนวนมาก เมื่อมองไปที่หลวงพ่อ ก็มองไปที่เลข มองที่หวย มองไปที่การพนัน แทนที่จะมองไปที่คำสอนว่าท่านสอนอะไร ปฏิปทาของท่านเป็นอย่างไร ไม่มองอย่างนั้น ไม่มองไปที่ธรรม แต่มองไปที่เรื่องการพนัน

การพนันในที่นี้ มีความสัมพันธ์กับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ ที่จะเอามาแทงหวยกัน หวังผลร่ำรวยแบบลาภลอย

นอกจากการพนัน ก็มียาเสพติด เช่นสุราเป็นต้น ซึ่งแพร่หลายเกลื่อนกล่นไปหมด

สภาพอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม เรื่องของสุราและการพนันก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงสภาพจิตใจที่หวังผลจากลาภลอย อยู่ด้วยความหวังอันเลื่อนลอย ไม่มีความมั่นใจ ขาดความเข้มแข็งอดทนและขาดความเพียรพยายามในการดำเนินชีวิต อันนี้เป็นสภาพจิตใจของสังคมที่มองแล้วน่าเป็นห่วง แล้วก็ไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา

ถ้าประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวพุทธ เป็นกันอย่างนี้ ก็สวนกระแสธรรม ในขณะที่ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนหลักกรรม ให้คนหวังผลจากการกระทำ แต่ประชาชนกลับหวังผลจากการดลบันดาลด้วยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันนี้มันตรงกันข้าม ขัดหลักกรรม

เมื่อขัดหลักกรรม ก็ถือว่าหลุดออกจากพระศาสนา และสูญเสียความเป็นชาวพุทธ

หลักกรรมนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธต้องพิจารณา โดยเฉพาะท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งสอนธรรม การที่ประชาชนหวังผลเลื่อนลอยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น เป็นการขัดหลักกรรม และหลักกรรมนี้เป็นหลักการพื้นฐาน ถ้าขัดหลักกรรมแล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ หลุดออกจากพระศาสนา

หลักกรรมมีสาระสำคัญ คือการหวังผลจากการกระทำ เราจะเอาอย่างไร เราจะวางท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร วันนี้เราควรจะยอมเสียเวลากันบ้างในการพิจารณาเรื่องนี้

ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป

ในการพิจารณาเรื่องนี้ ตอนแรกก็ต้องมองหาเกณฑ์มาตรฐานก่อน มาตรฐานที่จะใช้วัดความเป็นชาวพุทธ อย่างง่ายๆ ที่เป็นหลักทั่วไป เอา ๒ อย่าง ก็พอ คือ

๑. มาตรฐานด้านความเชื่อ คือ ความเชื่อกรรม เชื่อการกระทำ หวังผลสำเร็จจากการทำเหตุ คือลงมือกระทำด้วยความเพียรพยายามตามหลักการแห่งเหตุและผล ให้กรรมโยงกับความเพียร (กรรมวาที วิริยวาที)

๒. มาตรฐานด้านการปฏิบัติ คือ การที่จะต้องทำการต่างๆ ตามหลักกรรม ให้เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปในศีล ในสมาธิ ในปัญญา (ไตรสิกขา หรือเอาอย่างง่าย คือ บุญกิริยา ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา)

เอาเป็นว่า ถ้าประชาชนไปหวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่เครื่องรางของขลัง ไม่หวังผลจากการกระทำ ไม่เพียรพยายามในการกระทำเพื่อผลสำเร็จที่ดีงาม ก็ถือว่าผิดหลักกรรม พลาดจากหลักกรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผล หรือกฎแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ (กรรมนิยาม)

เมื่อผิดหลักกรรม หรือหลักเหตุผลแห่งการกระทำนี้ ก็อาจจะหมดความเป็นชาวพุทธไปเลย นี่คือข้อพิจารณาที่ ๑

ข้อพิจารณาที่ ๒ เราจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยังมุ่งหวังผลจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง

เราก็พิจารณาต่อไปว่า พระพุทธศาสนานั้นมีหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักกรรมว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนพัฒนาตน โดยถือว่ามนุษย์เป็นทัมมะ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และเมื่อฝึกแล้ว ก็ประเสริฐ โดยประเสริฐด้วยการฝึก

หมายความว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาตน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างให้เห็นแล้วว่า ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์นี่แหละ พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีพัฒนาพระองค์เองไป จนกระทั่งเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสูงสุด ที่เรียกว่าพุทธะ ซึ่งอย่าว่าแต่มนุษย์ด้วยกันเลย แม้แต่เทวดา ตลอดจนพระพรหม ก็บูชานมัสการ

การนับถือพระรัตนตรัยที่เริ่มด้วยพระพุทธเจ้านั้น

ประการแรก เป็นเครื่องเตือนใจ บอกชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ให้ระลึกถึงหน้าที่ในการพัฒนาตน และพร้อมกันนั้น

ประการที่สอง ก็เป็นเครื่องปลุกใจ ให้เกิดมีกำลังใจว่า เรามีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนเรานั้นพัฒนาได้จนสูงสุด การพัฒนาตนนั้นสำเร็จได้จริง

การระลึกถึงพระพุทธเจ้านั้น มีความมุ่งหมายอย่างนี้ คือ เตือนใจให้พัฒนาตนเอง ไม่ใช่ให้มาหวังผลจากการอ้อนวอนพระองค์

แต่สภาพทั่วไปในขณะนี้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่มีความมั่นใจในศักยภาพของตน และไม่ตระหนักในหน้าที่ที่จะพัฒนาและฝึกฝนตน แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะเอาอย่างไรกับการเชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เครื่องรางของขลัง

พอถึงจุดนี้ เราก็วินิจฉัยได้ คือก็ต้องหันไปเอาเกณฑ์มาตรฐานข้างต้นขึ้นมาตั้งว่า เอาละ จะทำอย่างไรก็ตามให้เขาเข้าสู่แนวทางของเกณฑ์มาตรฐานนี้ ก็นับว่าใช้ได้ คือให้มนุษย์ตระหนักถึงความมีศักยภาพในการพัฒนาตน และฝึกฝนตนขึ้นไป แล้วก็หวังผลจากการกระทำ

ถ้าได้อย่างนี้ ถึงเขาจะมีความผิดพลาดไขว้เขวอะไรบ้าง ก็ยังไม่หลุดลอยหรือหล่นออกไปจากความเป็นชาวพุทธ และยังมีทางที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะยังเข้าสู่หลักนี้ คือ ความเชื่อกรรมและการพัฒนาตน

จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม
ที่เขาจะก้าวต่อไปได้

ถ้ามนุษย์หวังผลจากการกระทำ เขาก็จะทำการด้วยตนเอง และการฝึกฝนตนเองก็จะเกิดขึ้นด้วย แล้วอันนี้ก็จะสอดคล้องกับหลักกรรม และหลักการศึกษาพัฒนาตน ซึ่งเข้าสู่แนวทางของพระพุทธศาสนา

แต่ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่นี้ การที่จะให้ได้ผลตามเป้าหมาย คือให้คนฝึกตน และหวังผลจากการกระทำให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการสั่งสอน

การสั่งสอนที่จะสำเร็จผลถึงจุดหมายอย่างนี้ ต้องขึ้นกับองค์ประกอบอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

  1. ความสามารถของผู้สอน
  2. ความหลากหลายในระดับการพัฒนาของผู้ฟัง

พูดง่ายๆ ก็คือ ขึ้นกับผู้สอนฝ่ายหนึ่ง และขึ้นต่อผู้ฟังฝ่ายหนึ่ง

ผู้สอนก็มีความสามารถต่างกัน ผู้ฟังก็มีระดับการพัฒนาต่างกัน มีความหลากหลายมาก

ถ้าผู้สอนมีความสามารถสูงอย่างพระพุทธเจ้า ก็ไม่เป็นไร พระองค์สอนครั้งเดียว นิดเดียว ก็อาจจะทำให้หลายคนก้าวพรวดเดียว ข้ามจากความเป็นคนที่อยู่นอกศาสนาเข้ามาเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในธรรมโดยทันที

แต่ผู้สอนในปัจจุบัน ยากที่จะมีความสามารถใกล้เคียงขึ้นไป

เราก็ต้องบอกว่า ถ้าท่านผู้สอนมีความสามารถ ก็เอาเลย สอนยกระดับเขาจากความเป็นอยู่ด้วยการหวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เข้าสู่การอยู่ด้วยหลักกรรม อยู่ด้วยการหวังผลจากการกระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบบริสุทธิ์แท้ๆ ทันทีเลย

แต่ผู้สอนที่มีความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยเมตตากรุณา สอนด้วยหวังประโยชน์แก่เขา คือเพื่อให้ชีวิตของเขาพัฒนาดีขึ้น ไม่ใช่สอนเพียงเพื่อจะข่มขู่ หรือเพื่อจะดูถูกทำลายน้ำใจกัน หรือเพื่อจะอวดตัวแสดงกล้าเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้น

อีกอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่สอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลัก เลิกสิ่งที่เคยเชื่อถืออยู่ แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลัก เที่ยวลอยเคว้งคว้าง จะให้เข้ามาสู่หลักพระพุทธศาสนา ก็ไม่เข้า ก็เลยเสียทั้งหมด ยิ่งไกลออกไป

นี่ทางด้านผู้สอนก็เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีทั้งความสามารถ และเมตตากรุณา

อีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือผู้ฟัง ซึ่งมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน บางคนอยู่ไกลสุดกู่ ไม่มีการพัฒนาเลย ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่รู้คำสอนอะไรแม้แต่นิดหน่อย เช่น เป็นพุทธศาสนิกชนแค่โดยชื่อ แต่มีความเชื่อชนิดหวังผลจากสิ่งที่เลื่อนลอย อย่างที่เรียกว่าลาภลอยมาก ถ้าเป็นแบบนี้เราจะเอาอย่างไร

ในฐานะผู้สอนที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟังหรือนักเรียนที่มีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน โดยเฉพาะในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนหรือผู้ปกครองทั่วไปด้วย นี่เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง

ในกรณีอย่างนี้ จุดยืนของเราก็คือ ต้องตระหนักในเป้าหมายอย่างที่พูดเมื่อกี้ เป้าหมายของเราก็คือ การเดินเข้าสู่หลักกรรม ที่ให้หวังผลจากการกระทำ แล้วก็ให้พัฒนาตนเอง โดยให้คนทุกคนมีจิตสำนึกในการพัฒนาตนเองที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

ถ้าได้แค่นี้ เราก็พอใจ ในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ต้องกลัว

ในกรณีนี้ ถ้าเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเครื่องรางของขลัง ก้าวแรกก็คือ เราต้องโน้มนำเขาเข้ามาจากการเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกแบบหวังอำนาจดลบันดาล ให้เข้ามาสู่ความเชื่อในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำเข้าสู่การฝึกฝนพัฒนาตน

สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา
ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว

ถ้าความเชื่อถือในพระรัตนตรัยมีเรื่องของความเข้าใจในแง่ศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง เราจะทำอย่างไร

เมื่อกี้ได้พูดแล้วถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ หลักการมีอยู่แล้วว่าให้หวังผลจากการกระทำ จุดตัดสินอยู่ที่นี่

ตรงนี้ก็ทำให้เรามีความชัดเจนว่า ถ้าหากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นแบบที่เสริมการกระทำ คือทำให้เขามีเรี่ยวแรงกำลังใจในการทำมากขึ้น อย่างนี้พอรับได้

แต่ถ้าเขาเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วทำให้เขานอนคอยโชค ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร อันนี้ผิดหลักกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยสิ้นเชิง อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เป็นอันว่า ถ้าความเชื่อใดทำให้ผู้เชื่อยังมีความสำนึกรับผิดชอบในการกระทำของตน และเพียรพยายามกระทำการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการอยู่ เพียงแต่เอาความเชื่อนั้นมาเสริมให้มีกำลังใจที่จะทำการนั้นให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น อย่างนี้ เราพูดได้ว่ายังไม่ผิดหลักกรรม และบุคคลนั้นยังพึ่งตน เขาจึงยังมีหลักในการที่จะก้าวหน้าในแนวทางของการฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สอนไม่มีความสามารถเพียงพอ และผู้ฟังยังมีระดับต่ำมาก แนวทางที่จะปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ และไม่ผิด ก็คือ

หนึ่ง ดึงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา โดยมองไปที่พระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาฝึกฝนพัฒนาตนสูงขึ้นได้ต่อไป

สอง แม้เขาจะมองพระรัตนตรัยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็ให้เขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัยนั้น ในทำนองที่สนับสนุนหลักกรรม คือให้เกิดกำลังใจที่จะเพียรพยายามทำการให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เชื่อแล้ว เลยยกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็หวังผลจากการดลบันดาล ซึ่งผิดหลักกรรมดังที่ว่าเมื่อกี้

ถึงเขาจะยังเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์นั้นย้ายมาอยู่ที่พระรัตนตรัยแล้ว ก็จะโยงเขาเข้ามาหาหลักกรรม และหลักการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งจะมีผลพลิกกลับให้เขาหลุดพ้นจากความหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป แต่จะต้องเข้าใจความหมายและเชื่อพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง

เป็นอันว่า การก้าวเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ก็อาจจะต้องมีขั้นมีตอนด้วย

  • สำหรับคนที่กระโดดไม่ไหว ก็อาจจะต้องมีบันไดให้ก้าวเป็นขั้นๆ
  • สำหรับคนที่ก้าวไกลไม่ได้ ก็อาจจะต้องมีไม้พาดให้ค่อยๆ เดิน

แต่ข้อสำคัญจะต้องให้เขาเดินหน้ามา ไม่ใช่หยุดนิ่ง หรือถอยหลัง หรือไปเหยียบซ้ำให้เขาจมหายไปเลย

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต่อเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ และต้องจับหลักให้ได้

ที่ว่าจับหลักให้ได้ หมายความว่า หลักกรรมที่สอนให้กระทำความเพียรเพื่อผลสำเร็จที่ต้องการ จะต้องยืนเป็นหลักอยู่

ไม่ว่าเขาจะนับถืออะไรก็ตาม ถ้าตราบใดความเชื่อนั้นยังมาเสริมให้เขากระทำการเพื่อผลสำเร็จ และยังเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปได้ ในวิถีแห่งการพัฒนาตน สู่อิสรภาพที่สมบูรณ์ข้างหน้าต่อไป ก็ยังไม่ผิดหลักการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นได้

แต่ถ้าเมื่อใดเขายกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อแล้วได้แต่หวังผลจากการดลบันดาล และนั่งนอนคอยโชค อย่างนั้นถือว่าเป็นการผิดหลักกรรมโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น ในฐานะที่ครูต้องสัมผัสกับคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่างกันมาก อย่าสอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลักแล้วลอยเตลิดไปเลย และเคว้งคว้างยิ่งขึ้น ควรสอนอย่างมีขั้นมีตอน โดยสัมพันธ์กับความสามารถของตน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องจับหลักไว้ให้ได้

ขอเน้นว่า ตัวเราก็ต้องยอมรับด้วยว่า เรานั้นมีความสามารถในการสอนแค่ไหน สอนแล้วจะทำให้เขามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองได้แค่ไหน จะต้องสอนเพื่อประโยชน์แก่เขา ให้เขาพัฒนา ไม่ใช่ว่าสอนเอาแต่ใจตนเอง ไปด่าไปว่าทำลายแล้วทำให้เขาหมดหลัก เลยยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก แล้วแทนที่ตัวเองจะทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ กลับทำสิ่งที่เป็นโทษ นี่เป็นเรื่องหนึ่ง

ตกลงว่า ในเรื่องพระศาสนานี้ สิ่งที่สำคัญคือ จับหลักให้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ในการสอนนั้นเราควรรู้ว่าจะผ่อนปรนอะไรได้แค่ไหนเพียงไร แต่หลักการจะต้องยืนตัวแน่นอน ไม่ว่าจะนับถืออะไรก็ตาม ที่จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องให้เป็นสิ่งที่มาเสริมการกระทำ และความรับผิดชอบต่อการกระทำ อย่าให้มาเป็นตัวลดหย่อนการกระทำและเสียความเชื่อกรรม

ส่วนการหวังผลจากการดลบันดาลและลาภผลที่เลื่อนลอยอะไรต่างๆ นั้น จะต้องให้หมดไปจากชาวพุทธ เพราะไม่ใช่หลักของพระศาสนา และผิดหลักการของพระศาสนาด้วย

ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก

ปัจจุบันนี้ น่าเป็นห่วงว่า การสอนตัวหลักกรรมเองมีน้อย แม้จะสอน ก็มักสอนออกไปในเรื่องลึกลับไกลตัว ไม่สอนให้ถึงหลัก

บางทีก็ไปสอนในแง่ที่ชักเขวออกไปหาการเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งการสอนที่สนองและเสริมย้ำความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กับการสอนที่ชวนให้หวังผลเลื่อนลอยมากกว่าผลจากการกระทำเป็นไปอย่างแพร่หลาย

ยิ่งกว่านั้น ยังชักนำให้ถอยห่างออกไปจากพระพุทธศาสนาด้วย แทนที่จะดึงจากเทวดาและพระพรหมข้างนอกให้เข้ามาสู่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

อย่างโบราณที่ท่านดึงมาสู่พระเครื่อง ก็ยังดีกว่าสมัยนี้ที่ดึงออกจากพระเครื่องไปหาพระพรหม เพราะถ้ายังอยู่ที่พระเครื่อง ก็ยังอยู่ในจุดที่จะเดินขึ้นมาได้ แต่ถ้าไปหาเทพเจ้าข้างนอกแล้ว ก็มีแต่เดินลง แล้วก็จะออกไปเลย

เมื่อยังเชื่อพระ ก็ยังโยงเข้ามาหาหลักกรรมและการพัฒนาตนได้ แต่ถ้าไปหาเทพเจ้าข้างนอกแล้ว ก็ขาดลอยออกไปสู่การหวังผลจากการดลบันดาลและการสนองกิเลส เตลิดไปเลย

ปัจจุบันนี้ แทนที่จะดึงจากสิ่งเคารพบูชาข้างนอกเข้ามาหาพระรัตนตรัย กลับไปส่งเสริมพระพรหมและเทวดาข้างนอก

เดี๋ยวนี้นับถือพระพรหมกันมาก เมื่อครั้งอาตมาไปสิงคโปร์ ปรากฏว่า พระพรหมเข้าไปอยู่ในวัด ศาลพระพรหมได้รับการเคารพนับถือยิ่งกว่าพระพุทธรูปอีก ชาวสิงคโปร์เขาเรียกรูปพระพรหมว่า four-faced Buddha เขาไม่รู้เรื่องรู้ราว นึกว่าเป็นพระพุทธเจ้าสี่หน้า แต่ต่อไป พอรู้ ก็ออกไปแล้ว ต่อไปนี้ ถ้าทำไม่ดี ไม่รีบแก้ไข พระจะกลายเป็นคนเฝ้าศาลพระพรหมไป นี่ก็คือการดึงห่างออกไป แทนที่จะดึงเข้ามาสู่พระรัตนตรัย

คนไทยทั้งหลาย โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน น่าจะรู้บทเรียนของอินเดียว่าเป็นอย่างไร อินเดียแดนเทวดา ที่เทพเจ้าเต็มฟ้า แต่ปวงประชาหน้าแห้ง

พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ ล้วนแต่ยิ่งใหญ่ คนอินเดียเขาเซ่นสรวงบูชากันนักหนา จนถึงขั้นมีพิธีบูชายัญวิจิตรพิสดาร ถ้าจะพูดให้ได้คิด ก็คงต้องแกล้งว่า เซ่นสรวงสังเวยกันไปกันมา จนเครื่องเซ่นจะหมด อินเดียก็เลยได้แห้งแล้งทั่วกัน

ถ้าขืนอยู่กับความลุ่มหลงกันอย่างนี้ ไม่ทำการตามเหตุตามผล พระพรหมท่านก็คงทำกับประเทศไทย เหมือนกับที่ท่านทำมาแล้วกับประเทศอินเดีย เรื่องนี้เคยพูดไว้ที่อื่นแล้ว (“คนไทย หลงทางหรือไร”) ไม่ต้องพูดให้มาก

ในวิถีของการพัฒนาตน ที่ดึงคนขึ้นมาจากการเชื่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยโบราณนั้น ท่านทำให้คนที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เชื่อถือฤทธิ์อำนาจเปลี่ยนมาเห็นว่า พระรัตนตรัยนี่แหละ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจยิ่งกว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อถือภายนอก ยิ่งกว่าเทพเจ้าที่เขานับถือ หลักการเดิมเป็นอย่างนั้น

ท่านดึงจากพระพรหม ดึงจากพระนารายณ์ ดึงจากพระอิศวรเข้ามา พอเขาเข้ามาสู่พระรัตนตรัยแล้ว เขาก็จะมีหลักกรรม เขาจะไม่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่จะยกชะตากรรมไปให้

สิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกพระพุทธศาสนานั้น เป็นประเภทนักดลบันดาล มีฤทธิ์ที่จะนิรมิตให้ หรือสาปแช่ง เมื่อไปเชื่อแล้ว ก็รอคอยการดลบันดาล ได้แต่อ้อนวอนให้ท่านดลบันดาลให้

แต่พอเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาแล้ว ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัย จะเป็นเครื่องส่งเสริมการกระทำ เพราะเข้ามาสู่หลักกรรม

ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์
ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ก็ต่างกัน การจะเข้าสู่หลักกรรมและหลักไตรสิกขาพัฒนาตน ต้องเปลี่ยนจากความศักดิ์สิทธิ์แบบฤทธิ์กิเลส มาเป็นฤทธิ์ของธรรม

ท่านที่รู้หลักบอกว่า เอาละ เธอนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าศักดิ์สิทธิ์กว่า

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เช่นพวกเทพเจ้าต่างๆ นั้น เขาศักดิ์สิทธิ์โดยฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ที่เป็นไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง

เทวดาโกรธกัน โลภแย่งกามกัน หึงหวงคู่ครองกัน จะทำลายกัน ก็แสดงฤทธิ์กัน ต้องมีสิบมือ พันมือ มีคทา มีอาวุธ มีจักร อะไรต่างๆ มากมาย แสดงฤทธิ์เดชกัน เต็มไปด้วยความโกรธ เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แย่งอำนาจกัน อวดความยิ่งใหญ่ แสดงหน้าตาท่าทางให้ดุร้าย คุกคาม ผาดโผนโจนทะยาน น่าตื่นเต้นหวาดกลัว

แต่พอเข้ามาในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ตลอดทั้งพระรัตนตรัยทั้งหมด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าเทพเจ้าเหล่านั้น แต่ไม่มีกิเลส พระพุทธรูปของเรานี้ นั่งสงบ แย้มยิ้มอย่างสดชื่นร่มเย็น มีแต่เมตตา มีแต่ความบริสุทธิ์ นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง

นี่คือการพัฒนามนุษย์ จากความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยกิเลสมาสู่ความบริสุทธิ์ เพราะในที่สุดแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์นั้น อยู่ที่ความบริสุทธิ์ อยู่ที่ปัญญา อยู่ที่ความไร้ทุกข์ ไร้กิเลส

พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ มีพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าเทพเจ้าที่มีฤทธิ์เดชแห่งกิเลสเหล่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์นี้พัฒนาขึ้นมาสู่ความบริสุทธิ์ พัฒนาจากกิเลสมาสู่แนวทางที่เป็นจริยธรรมมากขึ้น

ชาวพุทธกราบไหว้พระพุทธรูปด้วยความรู้สึกรำลึกคุณความดี และมีความร่มเย็นชื่นบาน ไม่ใช่กราบไหว้เพราะกลัวฤทธิ์เดช การสาปแช่งดลบันดาล หรือหวังผลลาภลอย

พร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์นั้น ก็คือความเชื่อมั่นในการทำความดี โดยหวังผลจากการกระทำด้วยความเพียรพยายาม โดยมีความมั่นใจและมีกำลังใจในการกระทำมากขึ้น ไม่ใช่หวังผลจากการดลบันดาล ได้แต่คอยอ้อนวอนขอผลประโยชน์จากเทพเจ้า

ถ้ามองเห็นแนวทางในการพัฒนามนุษย์อย่างนี้ ก็จะจับหลักได้ แม้แต่จะเชื่อเครื่องรางของขลัง ก็ขอให้มีหลักและเห็นทางที่จะเดินหน้า แล้วเราจะเห็นความแตกต่าง ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา กับความศักดิ์สิทธิ์ภายนอก

แต่รวมความแล้ว มันก็คือขั้นตอนในการชักจูงมนุษย์ขึ้นไปในวิถีของการพัฒนาให้ดีขึ้น เราจะชักคนพรวดเดียวขึ้นมาให้ถึงสาระและจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์นั้น ไม่ไหว เราทำไม่ได้

ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก
และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก

อย่างที่ว่าแล้ว เรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับคุณภาพของคนสอนด้วย คนสอนสมัยนี้มีความสามารถอย่างพระพุทธเจ้าไหม ก็ตอบได้ว่าไม่ แล้วท่านจะสอนพรวดเดียวสำเร็จเลยหรือ หรือถ้าท่านทำได้ ผู้สอนอื่นๆ ทำได้หรือ

ไม่ควรเอาแต่ใจตนเองผู้เดียวมาเป็นมาตรฐาน ต้องให้แนวทางแก่ส่วนรวมด้วย ขอให้มีหลักกลางที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้หลัก และรู้กำลังของเรา จับหลักให้ถูก ถ้าท่านจะใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ท่านต้องใช้ด้วยความเข้าใจในหลักนี้ และจับหลักไว้ให้มั่น แล้วใช้วิธีนำทางที่เหมาะกับกำลังของตน อย่าไปหวังผลลาภสักการะ หรือผลประโยชน์ส่วนตน

ถ้าไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน ไม่หวังลาภสักการะแล้ว ก็ไม่เป็นไร สบายใจไปครึ่งค่อนแล้ว ขออีกอย่างหนึ่งคือ ให้มีปัญญาเข้าใจในหลัก แล้วก็มีสติระลึกไว้ว่าเราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอุปกรณ์ในวิถีของการพัฒนา ที่จะชักจูงประชาชนขึ้นไปในวิถีของการฝึกอบรมตนให้เขามีการศึกษาที่ดีขึ้น

เอาละ อันนี้เป็นเรื่องของการที่ต้องรู้หลักการให้ชัดเจน คือหลักพระพุทธศาสนา ที่ว่า เชื่อในหลักกรรม และปฏิบัติในการพัฒนาตน ให้เดินไปในวิถีของการพัฒนาตน หรือสิกขา หรือการศึกษา

แล้วก็ถือคุณธรรมเป็นหลักของความศักดิ์สิทธิ์ ให้คนหวังผลจากการกระทำ ถ้าจะมีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องให้มาเสริมการกระทำ อย่ายกชะตากรรมของตนให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ในสภาพปัจจุบันที่ทำกันอยู่ จึงน่าเป็นห่วง เพราะทำโดยไม่รู้หลักเลย เมื่อไม่รู้หลัก ก็เสียหลัก หรือซ้ำร้ายทำโดยตั้งใจให้ผิดหลักด้วย

หนึ่ง คือ มีการชักจูงล่อเร้าให้เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันมาก ที่ร้ายที่สุดก็คือ การกระทำโดยหวังลาภสักการะ หวังผลประโยชน์ แล้วเลยมอมเมาให้เขาลุ่มหลงหนักยิ่งขึ้น

สอง คือ ทำแบบนอกศาสนา ให้คนยกชะตากรรมให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล หวังผลลอยๆ จากการดลบันดาลหรือฤทธิ์อำนาจเหล่านั้น ที่อยู่นอกตัว

สาม คือ แทนที่จะดึงเข้าสู่พระศาสนายิ่งขึ้น กลับดึงให้หลุดออกไปจากพระพุทธศาสนา จากพระรัตนตรัยออกไปหาพระพรหม เทพเจ้า และสิ่งลึกลับต่างๆ

พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป
สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ ในการฝึกตนหรือพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนานั้น เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ซึ่งทำให้คนมีการพัฒนาในขั้นและด้านต่างๆ

คนที่อยู่ในระดับต้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าอยู่ในระดับของกาม เป็นพวกกามาวจร และหวังผลในแง่ของกามสุข อันนี้เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงยอมรับความจริงของมนุษย์ พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธ

ธรรมดามนุษย์ก็หวังในกามสุข ยังหวังรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกายที่เอร็ดอร่อยชื่นชอบ ยังปรนเปรอความสุขแก่ตา หู จมูกลิ้น และกายอยู่ ยังหวังดูของสวยงาม ดูทีวีเรื่องสนุกๆ ฟังเสียงดนตรีไพเราะ ยังอยากกินอะไรอร่อยๆ ยังอยากสัมผัสสิ่งที่อ่อนละมุนนุ่มนวลอะไรต่างๆ ซึ่งเรียกว่า กามสุข

พระพุทธศาสนาก็ยอมรับให้เขามีกามสุข แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่เบียดเบียนกัน เพื่อให้ทุกคนพอจะได้สมหวังบ้างทั่วกัน ไม่ใช่แย่งชิงจนอดชวดไปด้วยกัน ท่านจึงให้มีกรอบ ได้แก่ ศีลห้า

ต่อไป เมื่อเขาพัฒนาตนเองขึ้นไป เขาจะสามารถมีความสุขที่ประณีตเพิ่มขึ้น ในระดับของจิตใจ จะมีความสุขอย่างอิสระ ที่เรียกว่านิรามิสสุขมากขึ้น

กามสุขนั้นเป็นพวกสามิสสุข เป็นความสุขที่อิงอาศัยอามิส คือต้องอาศัยวัตถุมาเป็นเครื่องปรนเปรอ พอเราพัฒนามากขึ้น เราก็มีนิรามิสสุขมากขึ้น คือสามารถมีความสุขได้ตามลำพังตนเองโดยไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก ไม่ต้องอาศัย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกายที่ชื่นชอบมาสนอง ก็มีความสุขมาก

อย่างคนที่บำเพ็ญสมาธิภาวนา เมื่อเขาก้าวหน้าไปในการเจริญภาวนานั้น เขาก็ได้นิรามิสสุข จิตใจสงบ สดชื่น ผ่อนคลาย เอิบอิ่ม ผ่องใส ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีสุขได้แม้แต่เมื่ออยู่ลำพังคนเดียวโดยไม่มีวัตถุบำรุงบำเรอ เหนือกว่านั้น เมื่อพัฒนาต่อไปอีก ก็เข้าสู่ขั้นของปัญญา

สำหรับในขั้นจิตหรือในขั้นสมาธิ นิรามิสสุขยังเป็นประเภทที่เรียกว่าสามายิกะ คือเป็นของชั่วคราว

ขณะอยู่ในสมาธิ ก็มีความสุขนั้น แต่พอออกมาจากสมาธิแล้ว รับประสบการณ์ต่างๆ กระทบโน่นกระทบนี่ กิเลสก็รบกวนตามเดิม ท่านจึงเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขประเภทสามายิกะ คือชั่วสมัย

ทีนี้ พอพัฒนาปัญญาหรือวิปัสสนาไปจนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว จิตหลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสสิ้นเชิง เพราะมีความรู้เท่าทันต่อความจริงของโลกและชีวิต เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญา

ปัญญามาแล้ว ก็ไม่ปรุงแต่งกระแสความอยากแห่งตัณหาของตนขึ้นมาฝืนทวนสวนขัดกับกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ถูกกระแสความเป็นไปที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไร้ตัวตนของธรรมชาติมาบีบคั้น จิตใจเป็นอิสระลอยตัว

ถึงตอนนี้ก็มีแต่ความเบิกบานผ่องใสสงบสบายที่เป็นปัจจุบันทุกขณะ ก็จะมีความสุขที่เป็นนิรามิสสุข ประเภทที่เรียกว่า อสามายิกะ หรือ อสมัย แปลว่า นิรามิสสุข ประเภทที่ไม่ขึ้นต่อสมัย เป็นสุขที่ไม่จำกัดกาลเวลา

รวมความว่า มีความสุขที่จำแนกได้เป็น ๓ ขั้น การพัฒนามนุษย์จะทำให้คนมีความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

จากกามสุขที่หยาบคายร้ายแรงเต็มไปด้วยการเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิง ก็มีกามสุขที่อยู่ในกรอบของศีลธรรม มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลชุ่มชื่นด้วยไมตรี

ต่อจากนั้นก็พัฒนาด้านจิตใจให้มีนิรามิสสุข ที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก

แล้วท้ายสุด จากนิรามิสสุขชั่วคราวด้วยกำลังจิต ก็พัฒนาต่อไปสู่นิรามิสสุขที่ปลอดโปร่งสว่างโล่งเป็นอิสระด้วยปัญญา

เมื่อคนรู้จักนิรามิสสุข หรือสุขด้วยลำพังตัวเองแล้ว ก็เป็นอิสระจากวัตถุ เขามีความเป็นอิสระมากขึ้น เพราะอยู่ลำพังตัวเองก็สุขได้

แล้วเพราะเหตุที่เขามีความสุขที่ประณีตนี้แหละ มันก็กลายเป็นตัวกำกับพฤติกรรมของเขาไปในตัว ไม่ให้ทำสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะว่าเขาสามารถมีความสุขได้แล้ว โดยไม่ต้องดิ้นรนไปเที่ยวแย่งชิงวัตถุของผู้อื่น และความสุขแบบนั้นก็เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจิตใจสงบดีงาม ไม่มีความงุ่นง่านเร่าร้อน

ฉะนั้น ในการพัฒนาทางจิตใจ การที่มีความสุขมากขึ้น จึงกลับกลายเป็นการลดการเบียดเบียนลง ทำให้มีจริยธรรมดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม
พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต

ตามวิถีของธรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง จะเป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนที่ว่ามานี้

แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กลับมีการเอาความสามารถทางจิต คือผลสำเร็จจากการบำเพ็ญกรรมฐานหรือทำสมาธิ ไปใช้เป็นเครื่องดลบันดาลผลสำเร็จทางลาภ ยศ หรือทรัพย์สินเงินทอง และฐานะตำแหน่งอำนาจ

อันนี้กลายเป็นการนำเอาอำนาจพลังจิตมาผนวกเข้ากับความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ ที่จะช่วยให้คนไปหาวัตถุบำรุงบำเรอมากขึ้น กลับเอาผลสำเร็จทางจิตมาสนองการแสวงหากามสุข

อันนี้เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งเป็นการตรงข้ามกับหลักการของพระพุทธศาสนา

การที่เชื่อพระศักดิ์สิทธิ์ ไปหาพระมีสมาธิ บำรุงอุดหนุนพระที่เจริญสมถะเก่งได้ฌานกันไป สรุปแล้วหวังผลสำเร็จทางจิตนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อจะเอามาช่วยให้แสวงหากามได้ดียิ่งขึ้น หาเงินหาทองได้ดียิ่งขึ้น ทำธุรกิจขายที่ดินเล่นหุ้นได้เงินทองมากมาย อะไรทำนองนี้ มุ่งแต่จะเอาผลสำเร็จทางจิตมาสนองกาม เอามาสนับสนุนการถือโชคลางและการพนัน เป็นการตรงข้ามกับวิถีของธรรม

แทนที่จะทำให้มนุษย์พัฒนาทางจิตสูงขึ้นไป แทนที่จะเอามาใช้เป็นเครื่องชำระจิตจากกิเลสและเจริญคุณธรรมให้มากขึ้น กลับเอาผลสำเร็จทางจิตมาสนองกามในขั้นต้น เรียกได้ว่ากลับตาลปัตร พลิกไปเลย นี่เป็นเรื่องที่ชาวพุทธต้องมีความเข้าใจ

วันนี้ แม้จะไม่ได้พูดเรื่องการปรับปรุงการเรียนการสอนโดยตรง แต่ถ้าดูให้ดี เรื่องที่พูดนี้จะเป็นรากฐานของการเรียนการสอน คือการที่จะต้องจับหลักให้ได้ว่าตัวพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน เพื่อให้การเรียนการสอนไม่คลาดเคลื่อนผิดพลาดไป และได้จุดเน้นที่สัมพันธ์กับสภาพปัจจุบัน ทั้งที่เป็นปัญหาและความจริง

เรื่องนี้ก็ต้องขอผ่านไป เป็นอันว่าจะต้องระวังให้ดี ถ้าจับหลักไม่ดี พุทธศาสตร์จะกลายเป็นไสยศาสตร์ แล้วจะเหินห่างจากพระรัตนตรัยไปหาเทพเจ้านอกพระศาสนา แล้ววิถีของการชักนำให้เข้าสู่การพัฒนามากขึ้น ก็จะกลับกลายเป็นการทำให้คนเสื่อมทรามลงไปจากการพัฒนา

แทนที่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อความสุขแก่ประชาชน ก็กลับกลายเป็นการมาดึงประชาชนให้ลดระดับลงไป

แต่ถ้าท่านเข้าใจแนวทางปฏิบัติให้ถูกหลักแล้ว ท่านก็จะสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้องได้ทั้งหมด หวังว่าเรื่องนี้คงจะชัดเจนพอสมควร ถ้าไม่ชัดเจน ก็มาคุยกันหรือถกเถียงกันได้อีก

นอกจากการมุ่งหวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลแล้ว ก็ยังมีการหวังผลจากลาภลอย และการปลอบใจตัวให้ผ่านเวลาไปคราวหนึ่งๆ อีก ซึ่งมีทั้งการพนัน สุรา และยาเสพติดต่างๆ เป็นการแสดงถึงการขาดความมั่นใจในการกระทำของตนเอง

นอกจากขาดความมั่นใจแล้ว ยังขาดความอดทนในการที่จะทำความเพียรพยายามเพื่อผลสำเร็จที่ต้องการอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่แสดงถึงการพลัดตกจากหลักกรรมทั้งสิ้น แต่เรื่องพวกนี้ จะขอข้ามไปก่อน

- ๓ -
วงนอก - ชั้นใน
สภาพสังคมไทย

ถ้าเอาอย่างเขา เพื่ออวดโก้แก่พวกเราด้วยกัน
ก็คือแสดงความด้อย ให้เขาขำขัน

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด ไม่เฉพาะในวงการชาวพุทธเท่านั้น ได้แก่สภาพความหลงใหลคลั่งไคล้ เลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งบางทีพระเณรเราเอง ถ้าไม่มีหลัก ก็เป็นไปด้วย ครูก็พลอยเป็นไป

บางทีครูก็แนะนำชักจูงนักเรียนให้หลงคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมตะวันตกไปด้วย โดยที่ตัวครูเองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรจริงในสิ่งที่ตนชักจูงนั้น

เดี๋ยวนี้ เรามีความนิยมที่จะตั้งชื่ออะไรต่ออะไรเป็นภาษาอังกฤษกันมาก ร้านค้า ก็ตั้งเป็นภาษาอังกฤษ สถานที่อะไรต่างๆ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเกลื่อนไปหมด หมู่บ้านใหม่ๆ พากันลงท้ายว่าวิลล่า ถ้าไม่วิลล่า ก็วิลล์ อาจจะเรียกว่า สุขใจวิลล่า หรือสบายใจวิลล์ หรืออาจจะเป็น บลู เวิร์ลด์ (Blue World) ซีไซด์ ไวด์ วิว (Seaside Wide View) อะไรทำนองนี้

ไปไหนก็มีแต่ชื่อภาษาอังกฤษ แม้แต่อาหารก็จะหมุนไปทางอาหารตะวันตกมากยิ่งขึ้น ผ่านไปในถิ่นที่หรูหราทันสมัยก็มี เคนตักกี้ ฟรายด์ ชิกเก้น (Kentucky Fried Chicken) มีแมคโดนัลด์ (MacDonald) อะไรทำนองนี้

ร้านค้าตั้งชื่อแบบฝรั่ง อาหารก็นิยมอย่างฝรั่ง ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านี้ฝรั่งเขาเรียกว่า จังค์ ฟูด (junk food) คืออาหารขยะ เป็นอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ พวกฝรั่งกำลังกลัวกัน แต่ที่กินก็เพราะชีวิตรีบร้อน ต้องเร่งให้มันผ่านๆ ไป แล้วก็ประหยัด แต่ในเมืองไทยกลายเป็นหรูและฟุ่มเฟือย

อาหารพวกนี้ ฝรั่งกินง่าย แต่คนไทยหลายคนกินยาก เพราะกินแล้วฝืดคอ วันสองวันพอได้ เจอเข้า ๗ วัน ก็ชักจะไม่ไหว มื้อสองมื้อพอไหว สักเจ็ดมื้อทำท่าจะไปไม่รอด ต้องเรียกหาอาหารไทย

บางคนอาจลองกินหรือกินเพราะชีวิตไทยชักจะกลายเป็นเร่งรีบอย่างฝรั่ง แต่หลายคนกินโก้ไปงั้นเอง เป็นเรื่องของค่านิยม เพียงซื้อความโก้ และอร่อยในความโก้ ไม่ได้อร่อยในตัวอาหารแท้จริงเท่าไร

การโฆษณาอะไรต่างๆ ก็ต้องเป็นไปแบบตะวันตก แม้กระทั่งวันปีใหม่นี้ ผ่านไปตามห้างสรรพสินค้า เห็นโฆษณา ก็เป็นแบบตะวันตก บางร้านมีแม้กระทั่งซานตาครอส และมีคนเล่นสกี เอ เมืองไทยมีหิมะมาให้เล่นด้วยหรือ ตอนนี้ปีใหม่เป็นฤดูหนาว เมืองไทยก็ราวกะมีหิมะให้เล่นสกี อันนี้อะไรกัน

มันเป็นเรื่องของค่านิยมที่เห็นว่าฝรั่งเจริญ แล้วก็ทำท่าเจริญให้เหมือนฝรั่ง แล้วก็เห็นการกระทำนั้นเป็นการโก้ แต่มองดูให้ชัดหน่อย เป็นการโก้อะไร อ๋อ ก็โก้เพื่อมาโอ้อวดกันเอง

เรารู้สึกโก้เมื่อได้ทำอย่างนั้น เราหลง เราสนุก เราเพลิดเพลินว่าทำอย่างนั้นโก้ แต่ลองหยุดหวนคิดสักนิดว่า ถ้าฝรั่งดูเรา ฝรั่งจะรู้สึกอย่างไร ถ้าฝรั่งมาเห็นคนไทย กำลังมีอาการแสดงออกอวดโก้อย่างนั้น เขาจะรู้สึกน่าหัวเราะหรือสมเพชไหม เขาสมเพชเพราะเราทำแบบเขา แต่ก็ไม่ได้อย่างเขา และที่สำคัญ มันไม่สมจริง

รวมแล้ว ความรู้สึกของฝรั่งเป็นไปได้ ๒ ประการ คือ

หนึ่ง ความรู้สึกหยามหยัน และ

สอง ความรู้สึกว่าดีแล้ว ที่ชาวโลกที่สาม มีประเทศไทยเป็นต้น จะเป็นทาสทางวัฒนธรรมของเขาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมโงศีรษะ

อันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะใช้ปัญญาพิจารณากันให้มาก อย่ามองแค่ว่าสนุกสนานโก้เก๋ เราทำตามอย่างเขา เพื่อจะอวดโก้กับพวกเราด้วยกันเท่านั้นใช่ไหม นี่เป็นการยอมรับความด้อยของเราหรือเปล่า เราต้องเอาอย่างเขามาอวดพวกเรากันเอง เราไม่มีอะไรดีที่จะให้เขาเห็นคุณค่าของเราอย่างนั้นหรือ

ในเรื่องนี้ ครู หรือผู้นำทางสังคม จะต้องเป็นผู้นำที่ถูกต้อง อย่านำอย่างมอมเมานักเรียนให้ลุ่มหลงจนเกิดความรู้สึกโก้เก๋ภายใต้ความด้อยหรือล้าหลัง เพราะการที่เราเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมตะวันตกด้วยความรู้สึกว่าโก้นี้ ก็คือการยอมรับความด้อย และความล้าหลังของเราเอง คือยอมรับว่าตัวเรานี้มีความด้อย เรามองเห็นว่าเขาเจริญกว่า การเอาอย่างเขามาอวดโก้กันเองนั้น เป็นการลุ่มหลงอยู่กับความด้อยและความล้าหลังนั้น

โดยเฉพาะครูวิชาพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้นำทางปัญญา นอกจากนำในทางความประพฤติแล้ว ต้องนำในทางปัญญาด้วย

สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน การที่จะนำความประพฤติได้ จะต้องนำทางปัญญาด้วย เพราะถ้าเราไม่นำทางปัญญา เขาจะไม่เชื่อถือ

คนสมัยนี้เห็นครูพระพุทธศาสนาประพฤติดี ดีไม่ดีเขาอาจจะดูถูกว่าโง่ แต่ถ้าครูพระพุทธศาสนามีปัญญาเหนือกว่าเขา แล้วยังประพฤติดีปฏิบัติดีด้วย ก็น้อมหัวเขาได้ เขาพร้อมที่จะเชื่อ

คนแม้ประพฤติดี แต่ค่านิยมในยุคปัจจุบันนี้ ก็ไม่ยอมรับ คนสมัยนี้มีค่านิยมทางวัตถุสูง วัดกันด้วยวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เราไม่เห็นด้วยกับการวัดคนด้วยวัตถุ

เพราะฉะนั้น ครูเราจะไม่เอาดีเด่นด้านวัตถุ แต่มีอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เขาต้องยอมรับ คือ ปัญญา

ครูไม่มีวัตถุที่จะให้เขานิยม ถึงจะประพฤติดี เขาก็ไม่ชื่นชมถ้าไม่มีปัญญานำเขา เพราะฉะนั้น ต้องนำทางปัญญาด้วย

ในยุคก่อนไม่นานนี้ ครูเป็นที่นับถือโดดเด่นของสังคม เพราะครูเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง ทั้งทางปัญญา และความประพฤติ คือทั้งวิชา และจรรยา

สองอย่างนี้ต้องสัมพันธ์กัน เพื่อให้การนำทางความประพฤติได้ผลดี จะต้องนำทางปัญญาด้วย ให้เขารู้ว่า เรานี้รู้เท่าทัน หรือรู้ดีกว่าเขา แล้วการสอนวิชาพระพุทธศาสนาจึงจะได้ผล

ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย
ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้

อีกอย่างหนึ่งที่ขอพูดกันไว้ในที่นี้ ก็คือ สภาพสังคมไทยที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตกนั้น เกิดมาจากการสั่งสมสภาพจิตที่เป็นความเคยชินมาตลอดเวลาราวศตวรรษหนึ่งแล้ว

คนไทยเรานี้มีสภาพจิตที่เรียกได้ว่าเป็นสภาพจิตของผู้ตามและผู้รับ ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งไม่รู้สึกตัวเลยว่าเรามีสภาพจิตอย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อมองอะไร ในเวลาที่มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก เช่นในเวลาที่มีการสัมผัสข่าวสารข้อมูล เป็นต้น สภาพจิตนี้จะขึ้นมาทันที โดยไม่รู้ตัวเลย คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ซึ่งมองในแง่ที่คอยแต่จะรับจากเขา คิดแต่ว่าเขามีอะไรจะให้เรารับ เมื่อจะเป็นผู้รับ ก็ต้องเป็นผู้ตาม

เมื่อคอยรอรับเอา ก็ต้องคอยตามเขาอยู่เรื่อยว่า เขาจะมีอะไรให้ สภาพจิตนี้ฝังลึกลงไปจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวเลย เวลามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามาใหม่ สภาพจิตนี้ก็แสดงอิทธิพลครอบงำขึ้นมานำทางพฤติกรรมทันที

ถ้ายังไม่มีอะไรเข้ามาให้รับให้เอา ก็คอยมองรอว่าเขาจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ สภาพจิตนี้เกิดขึ้นมาในราวหนึ่งศตวรรษ

ตอนแรกนั้น สังคมไทยก็สัมผัสกับอารยธรรมตะวันตกในทางลบแบบเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย คือถูกคุกคามจากลัทธิอาณานิคม

ขยายความว่า เมื่อศตวรรษก่อน ประเทศไทยถูกคุกคามจากประเทศตะวันตกที่เป็นนักล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับประเทศพม่า ลังกา ลาว เขมร จีน อินเดีย แต่ประเทศไทยนี้รอดมาได้

สภาพจิตที่เกิดขึ้นในการถูกคุกคามเป็นอย่างไร ก็พูดได้ว่าคือการฮึดขึ้นมาต่อสู้ รวมทั้งความรู้สึกที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาตนเองขึ้นมาให้เทียมทันเขา เพื่อจะยืนหยัดรักษาตัวให้ได้

สภาพจิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในยุคแรก ที่อารยธรรมตะวันตกเข้ามาพร้อมกับลัทธิอาณานิคมใหม่ๆ นั้น ก็คือการที่คนไทยมีจิตสำนึกอันแรงกล้า ที่จะเร่งรัดพัฒนาตัวเองให้เจริญเทียมทันเขา อย่างที่เรียกว่าสร้างความเจริญให้เทียมทันอารยประเทศ จึงทำให้เกิดมีกำลังใจ เกิดเป็นศูนย์รวมและเป็นแกนนำจิตใจในการที่จะเร่งรัดตัวเองขึ้นไป

แต่ประเทศไทยนั้น โชคไม่ดี เรามองว่าโชคดี โชคดีก็คือ พ้นจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม แล้วทำไมจึงว่าโชคไม่ดี แต่โชคไม่ดีก็คือถูกภัยคุกคามสั้นไป ไม่นานเลย ไม่กี่สิบปี คนไทยก็พ้นภัยคุกคาม

พอไม่มีภัยคุกคาม คนไทยก็เลิกเร่งรัดตัวเอง หันมามองว่าประเทศตะวันตกเจริญแล้ว ก็อยากเจริญอย่างเขา เห็นเขามีของใช้ของบริโภคใหม่ๆ แปลกๆ สะดวกสบาย ก็อยากจะมีอะไรอย่างเขา มองความเจริญของฝรั่งในแง่ที่จะมีของใช้ของบริโภคอย่างเขา จนกระทั่งเกิดความหมายของความเจริญแบบใหม่ขึ้นมา

ความเจริญนั้น มีความหมายสองแบบ คนไทยนึกถึงความเจริญอย่างตะวันตก หรืออย่างฝรั่งแล้ว เข้าใจความหมายอย่างไร ลองวิเคราะห์กันดู

คนมองความเจริญในความหมายที่หนึ่ง ก็จะคิดว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง”

คนที่มองความเจริญในความหมายที่สอง บอกว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง”

ทีนี้ คนไทยนั้นอยากเจริญอย่างฝรั่ง ขอให้พิจารณาวิเคราะห์ความหมายว่า คนไทยนี่มองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่าอย่างไร เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หรือเจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง ขอทิ้งไว้ให้วิเคราะห์กันดู

แต่เท่าที่อาตมาสัมผัสได้ คิดว่า คนไทยเรามองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่ง ในแง่ที่ว่าเป็นการมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีอะไร ใช้อะไร ฉันก็มีกินมีใช้อย่างนั้น ฝรั่งมีรถเก๋งอะไรอย่างไร ฉันก็มีอย่างนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่าฉันเจริญอย่างฝรั่ง

แต่ประเทศที่เป็นนักผลิต เขาไม่มองอย่างนั้น เขามองว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็ทำได้ และจะต้องทำให้ดีกว่านั้นด้วย

สองแบบนี้เรียกว่า มองความหมายของความเจริญแบบนักผลิต กับ มองความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค

ถ้าคนไทยมองความเจริญแบบนักบริโภค คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ก็จะนำไปสู่การรักษาสถานะของความเป็นผู้ด้อยและล้าหลังต่อไป และจะมีสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับอยู่เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนาประเทศให้สำเร็จ ก็จะต้องจัดการกันให้ลึกลงไปถึงพื้นฐานของความคิดจิตใจทีเดียว ไม่ใช่มองแต่สภาพภายนอกแค่วัตถุ

การที่จะพัฒนาอะไรต่อไป ถ้าพื้นจิตไม่ไปแล้ว มันก็ไม่รอด แม้แต่การมองความหมาย มันก็พลาดไปแล้ว ผิดแล้ว

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะนักเรียนของเรานี้ จะต้องมองความหมายของความเจริญใหม่ ต้องมองว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือ ทำได้อย่างฝรั่ง ไม่ใช่แค่มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง

จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง
ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง

ประเทศที่รักษาแบบแผนวัฒนธรรมของตนไว้ได้ ก็เพราะถูกฝรั่งคุกคามหนัก เพราะถูกลัทธิอาณานิคมคุกคามนานพอ ทำให้ความรู้สึกที่จะต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้นั้น ฝังแน่นลงในจิตใจ

แต่น่าเสียดายที่น้อยชาตินักจะพยายามเร่งรัดตัวเองให้เจริญแบบทำได้อย่างฝรั่ง หรือเหนือฝรั่ง ส่วนมากดูเหมือนจะได้แค่ปฏิกิริยาในทางลบ ที่เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง

ที่เป็นอย่างนั้น คงเป็นเพราะแพ้ฝรั่ง กลายเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของฝรั่งไป เลยเกิดความรู้สึกต่อต้านแบบผู้อยู่ใต้อำนาจของเขา ถูกเขากดขี่ข่มเหงแล้ว เกิดความรู้สึกแข็งขืนพยายามจะเป็นผู้ไม่ตาม และไม่รับ กลายเป็นปฏิกิริยาสุดโต่งไป

อย่างที่บางประเทศมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาว่า ฝรั่งทำอย่างไร ฉันต้องไม่ทำอย่างนั้น ฝรั่งแต่งตัวของเขาอย่างนี้ ฉันก็ต้องแต่งตัวของฉันอย่างนั้น ก็น้อมไปสู่การรักษาประเพณีและวัฒนธรรมได้มาก แต่ไม่ค่อยได้พัฒนาอะไร พวกที่ถูกคุกคามและครอบงำบีบคั้นระยะยาวหลายชาติเกิดปฏิกิริยาแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ที่พูดนี้เป็นการมองแบบง่ายๆ ที่จริงมีปัจจัยอย่างอื่นซ้อนอยู่อีก แต่เรามองเพียงในแง่ที่จะเอาคติมาใช้ประโยชน์

รวมความแล้ว ปฏิกิริยาทั้งสองแบบนี้ ไม่พึงปรารถนา ถ้าเพียงแต่รักษาวัฒนธรรมของตัวไว้ได้อย่างเดียว มุ่งแต่จะต่อต้านเขา ไม่ยอมรับของเขาเลย ไม่เอาของดีของเขามาพัฒนา และไม่ยอมพัฒนาเปลี่ยนแปลงของตัวเลย ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาสุดโต่งในทางตรงข้าม ก็ไม่เจริญ

แต่ของไทยเรา ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะถูกคุกคามระยะสั้น แล้วพอสบาย ก็เลยมองฝรั่งด้วยความรู้สึกชื่นชม อยากจะมีอยากจะบริโภคอย่างฝรั่ง ก็นำไปสู่การเป็นนักตามและนักรับ จนกระทั่งมีสภาพจิตแบบเป็นผู้ตามและผู้รับฝังมานานจนกระทั่งปัจจุบัน

อย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งที่เข้ามาจากประเทศตะวันตก สภาพจิตแบบผู้ตามและผู้รับนี้จะขึ้นมาแสดงอาการทันที

ปัจจุบันนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างความรู้ตัว และความเท่าทันขึ้นมา แล้วแก้ไขปรับปรุงกันใหม่

จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้
ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป

การศึกษาเป็นแกนสำคัญในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม การศึกษานั้นมีสองแบบ คือ การศึกษาแบบตามสนองสังคม กับการศึกษาแบบนำทางสังคม

การศึกษาที่แท้ ต้องเป็นการศึกษาที่นำทางสังคม ไม่ใช่เป็นแค่การศึกษาที่ตามสนองสังคม

ปัจจุบันนี้ การศึกษาเป็นไปในลักษณะของการตามสนองสังคมมาก อย่างน้อยก็มุ่งเพียงจะทำหน้าที่ผลิตกำลังคนให้แก่ประเทศชาติ เพื่อสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ

เขาบอกว่า ขณะนี้ ประเทศกำลังพัฒนา ต้องการกำลังคนด้านนี้มาก ฝ่ายการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ผลิตคนในด้านนั้นด้านนี้ให้เพียงพอตามความประสงค์ของรัฐ หรือตามความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

ถ้าทำได้แค่นี้ ก็เรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อตามสนองสังคม

จริงอยู่ การสนองความต้องการอย่างนี้ ก็เป็นภาระด้านหนึ่งของการศึกษา แต่มันไม่ใช่เนื้อแท้ของการศึกษา มันเป็นส่วนนอก หรือส่วนวงนอกของการศึกษา และเป็นส่วนปลีกย่อย แค่นั้นยังไม่ถึงเนื้อแท้ของการศึกษา

การศึกษาที่แท้ ต้องเป็นตัวนำสังคม เพราะฉะนั้น เราจะต้องเป็นผู้นำสังคม ถ้าสังคมเดินทางผิด การศึกษาก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มันเดินทางให้ถูก

ขณะนี้ ถึงเวลาที่เราต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐาน ถึงขั้นความคิดจิตใจ ถึงขั้นค่านิยม ถึงขั้นภูมิปัญญา แล้วครูอาจารย์อะไรที่จะทำงานนี้ได้

ครูอาจารย์วิชาทั่วไป โดยมากก็ทำได้แค่ตามสนองสังคมเท่านั้น วิชาต่างๆ มักเป็นวิชาชีพ แม้แต่วิทยาศาสตร์ และวิชาทั้งหลายที่เป็นเนื้อหาแท้ๆ โดยมากก็ทำงานกันแค่เป็นวิชาตามสนองสังคม

แต่วิชาประเภทจริยธรรม โดยเฉพาะวิชาพุทธศาสนานี้ เป็นวิชาที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะนำทางสังคม แต่มีข้อแม้ว่า ต้องจับหลักของตัวเองให้ได้ เข้าถึงจุดแล้ว จึงจะเป็นการศึกษาที่แท้จริง

จริยธรรม ที่ว่ามีหน้าที่นำทางสังคม และเป็นการศึกษาที่แท้นั้น หมายถึงจริยธรรมที่มีความหมายครอบคลุมถึงปัญญาด้วย

โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาถือว่าปัญญาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของจริยธรรม เพราะต้องรู้ จึงจะทำหรือประพฤติได้ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงทำไปตามคำสั่งที่ต้องเชื่อ

ถ้าจริยธรรมไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็พิการ ไม่ใช่เป็นการศึกษา และนำทางสังคมไม่ได้

ขณะนี้ เราต้องการเปลี่ยนแม้กระทั่งสภาพจิตของคนไทย จากความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ให้ขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

จะต้องตั้งจิตใจให้มั่นคง ให้เป็นการอธิษฐานจิตเด็ดเดี่ยวว่า ต่อไปนี้ จะต้องสร้างเด็กไทยให้เป็นผู้มีจิตสำนึกของความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ เลิกกันทีกับการเป็นผู้ตาม หรือเป็นผู้รับ ผู้ได้แต่รอ

ในการที่จะเป็นผู้นำนั้น เราจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีอะไรที่จะให้แก่เขา เมื่อเรามีอะไรให้แก่เขา เราก็จะเป็นผู้นำได้

คนไทยเราเคยสำรวจตัวเองไหมว่า เรามีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง อย่างน้อยก็ให้ได้ชื่อว่าประเทศไทยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ไม่ใช่เป็นผู้ด้อย มีแต่คอยตามเขาอยู่ โดยไม่มีความสำคัญอะไรเลยในประวัติการสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ

พอเรามีอะไรที่จะให้แก่อารยธรรมของโลกบ้าง เราก็จะมีความเป็นผู้นำขึ้นมาทันที

ถ้าเราสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมาได้แล้ว เราก็จะมองเห็นตัวเอง แล้วเราก็จะรู้เองว่า เรามีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่น แล้วความเป็นผู้นำก็จะเกิดขึ้น

ข้อสำคัญก็คือ จะต้องสร้างจิตสำนึกของความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ขึ้นมาให้ได้ การศึกษาจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จุดยืนนี้

สภาพจิตที่เคยชิน ที่ฝังลึกกันมานานเป็นร้อยปี จะต้องเปลี่ยนแปลงเสียที มิฉะนั้น การศึกษาของประเทศไทยจะไม่เดินหน้า

เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า
จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ

ขอแทรกนิดหน่อยก่อนจะผ่าน ในสภาพปัจจุบันที่ประเทศเขาเจริญ เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเขามีความเจริญนำหน้า อย่างน้อยก็ในบางเรื่องหรือบางอย่าง เช่น ในทางเทคโนโลยี เป็นต้น และเราก็จะต้องไม่แข็งทื่อ ไม่ใช่ว่าจะต่อต้านไม่ยอมรับยอมตามใครเลย แต่ต้องทำอย่างมีหลัก

ถ้าเรามีจุดยืนที่ชัดเจน คือ มีความสำนึกในความเป็นผู้นำและผู้ให้แล้วนี้ เวลาเราจะทำตามเขา อย่างน้อยเราก็จะสำรวจตัวเอง จะพิจารณาแล้วเตือนตัวเองว่า ถ้าจะทำตามเขา ก็ต้องรู้และเข้าใจในสิ่งที่จะทำตามนั้น อย่าทำตามเพียงเพราะเห็นเป็นความโก้

ครูต้องบอกนักเรียนว่า ถ้าเธอจะทำตามเขาในอารยธรรมตะวันตก หรือวัฒนธรรมตะวันตก ให้ถามตัวเองก่อนว่า ที่เราทำนี้ทำเพียงเพราะเห็นว่าโก้เท่านั้น ใช่หรือเปล่า

ถ้าจะทำเพียงเพราะเห็นว่าโก้ ก็อย่าทำ แต่ทำตามเขาได้ ทำตามโดยรู้เข้าใจในสิ่งที่จะทำตามนั้นก่อน ว่าอะไรเป็นอะไร และทำไมเราจึงทำ

วันวาเลนไทน์เข้ามา เราตามกันด้วยความรู้สึกโก้ หรือด้วยความเข้าใจ มีความเข้าใจเป็นพื้นฐานหรือเปล่าที่จะทำ ถ้าทำด้วยความรู้เข้าใจ ก็เป็นผู้ที่มีสติปัญญา ถ้าทำตามเพียงเพราะความรู้สึกโก้ ก็เป็นคนหลงโง่เขลางมงาย ก็เท่านั้นเอง

ในเรื่องตามเขานี้ พฤติกรรมอย่างหนึ่งก็คือ การเลียนแบบ ซึ่งก็จะต้องมีการเตือนสติตนเอง นี่คือขั้นตอนของการแก้ไขในการที่จะเปลี่ยนจิตสำนึกเสียใหม่

จุดเริ่มใหม่ในสำนึกนี้ก็คือ ถ้าจะเลียนแบบเขา ก็ต้องมีอะไรดีกว่าเพิ่มเข้ามา ที่จะให้แก่เขา หรือที่จะให้เขาเห็นในการเลียนแบบนั้น อันนี้สำคัญมาก

ถ้าจะเลียนแบบเขา ก็ต้องมีอะไรที่ดีกว่าเดิมเพิ่มเข้ามา ถ้าเลียนแบบเขาเพียงเพราะเห็นว่าโก้ แล้วพยายามทำจะให้เหมือนเขา แต่ไม่เหมือนจริง ก็หมดความหมาย เขามาเห็น เขาก็ดูถูก

แม้แต่พูดภาษาอังกฤษ เราจะพูดได้ชัดอย่างฝรั่งหรือ ถ้าเราพูดด้วยความรู้สึกว่าโก้ เราพูดไม่ได้ชัดอย่างเขา ฝรั่งมาเห็นก็ดูถูกเอา เราก็ได้แต่พูดอวดคนไทยพวกเดียวกันเท่านั้นเอง

ในทางตรงข้าม ถ้าเรามีของดีที่จะบอก มีดีอยู่ในคำพูดของเรา แล้วเราไปพูดภาษาอังกฤษ ถึงเราจะพูดไม่ชัด ถึงเราจะไม่คิดอวดใคร การพูดของเราก็มีคุณค่า ถึงจะไม่อยากอวดโก้ มันก็โก้ ไม่ต้องอวดพวกเดียวกันหรอก อวดฝรั่งก็ได้

นึกถึงคนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษ คนญี่ปุ่นนั้นโดยมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง ญี่ปุ่นเป็นชาติหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษแย่ที่สุด แต่คนญี่ปุ่นพูดภาษาอังกฤษเมื่อไร ฝรั่งต้องฟังและฟังด้วยความตั้งใจ แล้วไม่รู้สึกเลยว่าดูถูก ไม่กล้าดูถูกด้วยซ้ำ

ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะในคำพูดของคนญี่ปุ่นนั้นๆ คนอื่นเห็นสำคัญที่จะรอฟังว่าอาจมีอะไรดี ที่จะให้แก่ผู้อื่น เขามีอะไรดีอยู่เป็นหลักของเขา หรือว่าเขาอาจจะมีอะไรบางอย่างที่เหนือกว่า

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดภาษาอังกฤษ ก็อย่าพูดเพียงเพื่อแสดงว่าเราโก้ที่ได้พูดภาษาอังกฤษ หรือได้พูดภาษาของฝรั่ง เพราะเราจะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีอย่างเขา เขาจะดูถูกเอา เราจะต้องมีอะไรที่ดี ที่จะให้หรือแสดงแก่เขา

เราเอาภาษาอื่นนั้นมาเป็นเครื่องมือรับใช้เรา ในการถ่ายทอดความรู้ความคิดที่ดีๆ หรือมีเหตุผลสมควรในกรณีนั้นที่จะพูด เพื่อประโยชน์บางอย่าง หรือมองในฐานะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีอย่างหนึ่ง ที่จะใช้ไปตามเหตุตามผล

การกระทำอย่างนี้ จึงจะทำให้ไม่เป็นการทำตามเขาด้วยความหลงงมงายโง่เขลา หรืออวดความด้อยเพราะไม่มีอะไรของตัวที่จะภูมิใจ อันนี้เป็นข้อหนึ่งที่ต้องเตือนใจตัวเองไว้

ถ้าเราจะใช้ภาษาอังกฤษ ก็ต้องมีเหตุผลในทางสติปัญญาว่าเรามีอะไรที่จะเสนอ ที่จะให้แก่ผู้อื่น ที่เขาจะต้องรับฟัง ไม่ใช่มาฟังแต่ภาษาสำเนียง แต่เนื้อหาที่พูดต่างหากที่สำคัญ

ตามเป็น เอาอย่างเป็น
นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา

เวลานี้ถึงตอนขึ้นปีใหม่ นอกจากมีการโฆษณาต่างๆ ก็มีการส่ง ส.ค.ส. เดี๋ยวนี้ก็นิยมส่งการ์ดกัน

การ์ด ส.ค.ส. เท่าที่สังเกตเห็นใน ๔-๕ ปีนี้ จะมีคำภาษาอังกฤษมากขึ้นๆ จนเดี๋ยวนี้แทบจะมีทุกแผ่น สมัยก่อน ไม่ค่อยมี ภาษาอังกฤษที่ใช้มากก็คือ Best Wishes for a Merry Christmas and a Happy New Year แม้แต่หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ก็พลอยไปกับเขาด้วย

ขึ้นปีใหม่ปีนี้ อาตมาก็ได้รับ เมื่อวานนี้ มาถึงสำนักสงฆ์ก็ได้รับการ์ดที่เขาเก็บไว้ให้ ๓ การ์ด แล้วก็มีภาษาอังกฤษควบภาษาไทยทั้งนั้น ดูเหมือนจะทั้ง ๓ การ์ดมีคำว่า A Merry Christmas and a Happy New Year นี่คืออะไร มันแสดงถึงความรู้สึกอะไร

ผู้ส่งบางทีอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ธุรกิจก็มุ่งจะสนองหรือกระตุ้นความรู้สึกตามค่านิยม คือความรู้สึกโก้ที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษใช่หรือเปล่า

ผู้ทำการ์ดเอง บางทีก็ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าฝรั่งเขามีข้อความใช้กันกี่แบบ เพียงแต่จะให้มีภาษาอังกฤษ แล้วก็ใช้ข้อความอย่างฝรั่ง ก็เลยใช้ตามกันไป ไม่ได้คิดให้ถึงเหตุถึงผล

คนไทยมีกี่คนที่จะรับ Merry Christmas ไม่ใช่เราใจแคบ แต่เราปฏิบัติอย่างมีเหตุผลหรือไม่ ในประเทศไทยนั้นมีคนที่เป็นคริสต์ เป็นฝรั่งนับตัวได้ เวลาเราเขียนส่งถึงคนที่เป็นคริสต์เป็นฝรั่ง เราก็เขียนใส่เพิ่มเติมไปได้ว่า Best Wishes for a Merry Christmas ฝรั่งจะดีใจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำว่าเราตั้งใจเขียนข้อความนั้นให้เขา แต่นี่คนไทยทั่วไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกับ Merry Christmas สักหน่อย ก็ใส่เข้าไป

ไหนๆ จะใช้ภาษาอังกฤษของเขา ก็น่าจะคิดหาทางเอามาสื่อความคิดหรือของดีอะไรของเราสักอย่าง เช่นสร้างคำอวยพรภาษาอังกฤษที่เป็นแบบของเราขึ้นมา

ดังนั้น จึงน่าจะสำรวจตัวเองว่า อันนี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากจิตสำนึกหรือสภาพจิตอะไร อย่าทำอะไรเพียงเพราะเห็นว่าโก้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้นและอย่างน้อยต้องกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้

ก่อนจะผ่านไป ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่พูดไว้แล้วข้างต้นว่า ในเรื่องการเอาอย่างหรือเลียนแบบนั้น ไม่ใช่เราจะไม่ยอมรับหรือต่อต้าน แต่จะต้องรู้จักเอาอย่าง และรู้จักเลือกรับ ด้วยการใช้ปัญญา และก็วางท่าทีของจิตใจให้ถูกต้อง

ฝรั่งมีดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการรู้จักรับ หรือเอาอย่างเป็น อารยธรรมตะวันตกที่เราเห็นว่าเจริญมากนั้น ก็เป็นการรับเอาเข้ามาจากภายนอก โดยรู้จักรับเอาของคนอื่นเข้ามาพัฒนาของเดิมของตัวบ้าง รับเอาของคนอื่นเข้ามาแล้วก็พัฒนาของที่รับเข้ามานั้นให้ดียิ่งขึ้นบ้าง จึงกลายเป็นกระแสอารยธรรมที่ใครๆ มองเห็นว่ายิ่งใหญ่เจริญงอกงาม แม้จะมาประสบปัญหาติดตันในปัจจุบัน ก็ยังมีดีอยู่อีกมาก

แต่ฝรั่งไปเสียตรงที่พัฒนาด้วยความคิดที่จะมีพลังอำนาจไปสำแดงเดชครอบงำคนอื่น ถ้าจะเอาอย่างเขา ก็น่าจะเอาอย่างวิธีเอาอย่างของเขา โดยเอามาใช้ในทางสร้างสรรค์

ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ภาษาอังกฤษ ที่ปัจจุบันเป็นภาษาอันอุดมสมบูรณ์ ก็เกิดจากการรับเอาเข้ามาจากภาษาอื่นๆ มากมาย

ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ตัวเลขอาระบิก ที่ฝรั่งใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และชาติอื่นๆ ก็นิยมใช้กันทั่วไปหมด ฝรั่งก็รับเอามาจากอาหรับ แล้วก็เข้าใจว่าเป็นของอาหรับ จึงเรียกว่า เลขอาระบิก แต่ที่จริงเป็นตัวเลขของอินเดีย อาหรับรับไปจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ต่อมาจึงปรากฏมีการใช้ในเมืองฝรั่งเมื่อราว ค.ศ. ๙๗๖

เลขอาระบิก ทำให้การคิดคำนวณต่างๆ สะดวกรวดเร็ว เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คณิตศาสตร์เจริญก้าวหน้า ถ้าฝรั่งมัวนับตัวเลขโรมันอยู่ ก็คงแย่

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การพิมพ์หนังสือ การทำแบบพิมพ์ก็เกิดในจีน แล้วฝรั่งก็รับเอาเข้ามาใช้ จนการพิมพ์ในตะวันตกเจริญมากมาย หรืออย่างดินปืน ดินระเบิด ฝรั่งก็ได้มาจากจีน

ข้อสำคัญ ฝรั่งรับของคนอื่นเข้ามาแล้ว ก็เอาของนั้นมาพัฒนาต่อ ทำให้ดียิ่งขึ้นๆ ทั้งเอาของนั้นมาพัฒนาตัวเอง และพัฒนาของนั้น แล้วกลับดียิ่งกว่าของเจ้าของเดิม

น่าจะพิจารณาว่า อินเดียเจ้าของตัวเลขอาระบิก และจีนต้นคิดแบบพิมพ์ ดินปืน และลูกคิด ใช้ของของตัวกันมาอย่างไร ก้าวหน้าไปถึงไหน และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น นี่สิเป็นสิ่งที่ควรคิดพิจารณา

การเอาอย่าง การรับของเขา และการเลียนแบบนั้น เมื่อจะทำ ก็ต้องทำให้เป็น ทำอย่างมีหลักอย่างที่ว่าแล้ว

ถ้าจะรวบรัด อาจจะสรุปเป็นวิธีปฏิบัติได้ว่า

๑) ถ้าจะเอาอย่างเขา ก็ต้องจับเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเขามา เอาสิ่งที่เขาเองก็ภูมิใจของเขา แต่ต้องดูด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะกับเรา

๒) เมื่อเอาอย่างเขา หรือเลียนแบบเขาก็ตาม จะต้องมีอะไรดีพิเศษที่เราเพิ่มเข้าไปในสิ่งที่เอาอย่างหรือเลียนแบบนั้น ที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าของเดิมของเขา อย่างน้อยก็ในแง่ใดแง่หนึ่ง

๓) เมื่อเลือกรับเอาเข้ามาแล้ว ก็เอาสิ่งนั้นมาพัฒนามาเสริมตัวเราให้เจริญงอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วก็พัฒนาสิ่งที่รับเข้ามานั้นให้เจริญก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นด้วย

การที่รับเอาสิ่งใหม่เข้ามาพัฒนาเสริมตัวเองนั้น อาจจะเอามาเสริมมาพัฒนาทั้งเนื้อหาหรือหลักการของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และพัฒนารูปแบบและวิธีการ

ถ้าหลักการของเราสมบูรณ์อยู่แล้ว หรือดีกว่าของเขา ก็อาจจะเลือกรับเอาระบบวิธี โดยเฉพาะรูปแบบและวิธีการเข้ามา เอามาพัฒนาให้เป็นเครื่องรับใช้หลักการที่ดีและสมบูรณ์ของเรานั้น อย่างน้อยก็เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือสำหรับเอาหลักการที่ดีของเรานั้นไปให้ไปเสนอแก่เขา ให้เป็นประโยชน์แก่เขาอย่างเหมาะสม และเข้ากันได้กับตัวเขาที่จะเอาไปใช้ต่อไป

ถ้ารู้จักเอาอย่าง รู้จักเลือกรับ และปฏิบัติด้วยจิตสำนึกที่ถูกต้อง และใช้ปัญญา ก็จะเจริญงอกงามดียิ่งขึ้น

การรู้จักเอาอย่างนั้นเป็นประโยชน์ยิ่ง แม้แต่คนที่ถูกเอาอย่าง ก็ไม่กล้าดูถูก และเราก็จะมีความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างอารยธรรมส่วนรวมของโลกให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย

ถ้าเอาอย่างเขา เลียนแบบเขา เพียงด้วยความรู้สึกว่าโก้ และเอามาโก้อวดกันเอง ภายใต้ความรู้สึกด้อยหรือยอมรับและแสดงความด้อยโดยไม่รู้ตัว ก็มีแต่จะกดตัวเองลง จะเจริญพัฒนาได้ยาก

คนเรานั้น ถ้ายิ่งรู้สึกตัวไร้เกียรติด้อยค่าลงไป มองเห็นตัวด้อย ตีค่าตัวต่ำ ก็ยิ่งทำการที่ต่ำลงไปๆ ลดคุณค่าของตัวเองลงเรื่อยๆ คำพระเรียกว่า “โอมานะ” – ถือตัวต่ำ หันมาดูถูกตัวเอง ตรงข้ามกับ “อติมานะ” – ถือตัวล้ำ หันไปดูถูกคนอื่น ไม่ดีทั้งคู่

ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย
บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข

พูดมาถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เลยขอแทรกความหมายของคำว่า “มานะ” เสียหน่อย

ความถือตัว หรือความสำคัญตัวยิ่งใหญ่ ตลอดจนการสำคัญตัวเองว่าด้อยนี้ ทางพระเรียกว่ามานะ

เห็นตัวเองยิ่งใหญ่กว่าเขา ก็เป็นมานะ ถือตัวว่า เขาแค่ไหน ฉันก็แค่นั้น ก็เป็นมานะ ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ก็เป็นมานะ คือถือตัวทั้งนั้น เป็นการมองตัวเองโดยเทียบกับคนอื่น

มานะนี้ ภาษาไทยนำมาใช้กลายเป็นศัพท์ดีไป ที่จริงมานะเป็นกิเลส คือความถือตัว อยากเด่น อยากยิ่งใหญ่ พระอริยบุคคลต้องละกิเลสเหล่านี้ แต่ละยากมาก เพราะเป็นกิเลสละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่พระอนาคามีก็ยังมี ต้องพระอรหันต์เท่านั้นจึงละได้หมด

แต่พระอริยบุคคลท่านมีมานะนี้เหลืออยู่เพียงในลักษณะที่ละเอียดอ่อน คือยังมีความรู้สึกถือตัวอยู่บ้าง ยังภูมิใจ แต่ไม่พอง ส่วนมานะอย่างต่ำ ที่หยาบ ที่จะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน ก่อความเสียหาย จนเกิดทุกข์โทษ ต้องละได้หมด

คนไทยเรานี้ได้เอามานะมาใช้ในความหมายที่ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเคลื่อนคลาดในความรู้เข้าใจหลักของพระศาสนาอย่างหนึ่ง ที่เตือนเราว่า จะต้องสำรวจวัฒนธรรมของเราเองด้วย

ผู้เฒ่าผู้แก่บางทีสอนเด็กให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ โดยบอกว่า เออ ตั้งใจเล่าเรียนขยันหมั่นเพียรไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือบอกว่าให้มานะพากเพียรเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน นี้เป็นคำพูดที่ค่อนข้างติดปากในสังคมไทย

คำที่ใช้ในความหมายอย่างนี้ ยังไม่ได้สืบให้ชัดว่าเกิดขึ้นมานานแค่ไหน อาจจะในช่วงศตวรรษเดียว หรือมีมาก่อนก็ได้ แต่มันส่อแสดงถึงการที่คนไทยเราได้เอากิเลสตัวมานะนี้มาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายามทำความดี และเป็นการเร้ากิเลสที่ได้ผล

เราจะได้ยินคนพูดทำนองว่า โน่น ดูซิ เขาแค่นั้น ทำได้ เธอแค่นี้ ทำไมทำไม่ได้

เศรษฐีอาจจะบอกลูกว่า โน่นเขาลูกคนกระจอก โน่นลูกคนยากคนจน เขายังทำได้ เธอหรือแกเป็นถึงลูกเศรษฐี ทำไมทำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าปลุกเร้ามานะ ปลุกเร้าแล้ว ฮึดขึ้นมา ทำให้ทำการอะไรก็ได้ มีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า หรืออาจจะถึงกับรุนแรงที่สุด

อย่างคำเก่าว่า ขัตติยมานะ ก็บอกถึงตัวเร้าที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเกิดขัตติยมานะขึ้นมาแล้ว ก็จะพยายามทำจนสำเร็จให้ได้

มานะนี้เป็นตัวปลุกเร้าที่สำคัญ แต่ในทางพระพุทธศาสนาท่านไม่สรรเสริญ เพราะเป็นการเอากิเลสมาใช้ปลุกเร้า แม้จะให้ทำความดี ก็จะมีโทษแฝงอยู่ด้วย เพราะเป็นการทำดีอย่างเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเองจะได้จะเป็น ทำให้ไม่คำนึงถึงคนอื่น อาจก่อความเบียดเบียนได้มาก

จะให้ขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียน ก็เอามานะมาปลุกเร้า กระตุ้นให้อยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคน เป็นนายคน ทางพระเรียกว่า เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล ท่านแสดงไว้ในหลักอภิธรรม ใช้ได้ เป็นไปได้จริง แต่มีโทษ

ปัจจุบันนี้เปลี่ยนจากการเอามานะเป็นตัวเร้า หันไปเอาตัณหามาเร้า เอาตัณหามาเร้า คือกระตุ้นให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินทอง ว่าต่อไปจะได้ร่ำรวยมีเงินทองใช้มากๆ ให้ขยันเล่าเรียนไป จะได้ปริญญาไปประกอบอาชีพ ได้งานดี มีเงินเดือนแพง หรือได้ค่าตอบแทนมากๆ

บางทีก็เอาทั้งสองอย่างประกอบกัน ว่าจะได้มียศตำแหน่งใหญ่โต แล้วจะได้มีเงินทองใช้มาก การที่อยากจะได้มีเงินทองใช้มาก เป็นตัณหา อยากได้เป็นใหญ่เป็นโตมีฐานะตำแหน่งสูง ก็เป็นมานะ เอาสองอย่างนี้มาเร้าทำให้คนเพียรพยายามทำความดี แต่มีอันตราย เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวทั้งนั้น

ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด
จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น

ทั้งตัณหาและมานะนี้ พระพุทธเจ้าให้ละเสีย สิ่งที่พระองค์ต้องการคือ ให้ปลุกฉันทะขึ้นมา

“ฉันทะ” คือความอยากรู้ความจริง อยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงาม อยากทำให้มันดี ให้มันงาม ให้มันสมบูรณ์เต็มหรือสมตามสภาวะของมัน รักงาน รักจะทำสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์

ยกตัวอย่าง เช่น ต้องการพัฒนาชีวิต ต้องการพัฒนาสังคม ต้องการทำให้สังคมไทยร่มเย็นสงบสุข อยากทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดีมีสุขภาพดี อยากทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ อยากให้บ้านเมืองไทยเป็นสังคมที่ดี ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี อยากให้เกิดมีคุณภาพชีวิต ความอยากอย่างนี้เรียกว่า ฉันทะ

ถ้าเอาสิ่งที่ดีงาม เอาความสำเร็จที่ดีอย่างนี้มาเป็นตัวปลุกเร้าว่า เออ เธอเล่าเรียนไปนะ ต่อไปจะได้มาช่วยกันพัฒนาชุมชนของเรานี้ ให้พ้นจากความยากจน พ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ให้คนมีสุขภาพดี มีสติปัญญา มีความสงบสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอย่างนี้เรียกว่า เอาฉันทะมาปลุก

แต่คนไทยเรา แทนที่จะใช้ฉันทะปลุก กลับเอาตัณหากับมานะมาปลุก หรือไม่ก็เลยเถิดไปเสียอีกข้างหนึ่ง คือไม่ให้มีความอยาก กลัวว่า ถ้าอยาก จะเป็นตัณหา ก็เลยไม่ให้อยาก จะไม่ให้อยากอะไรทั้งนั้น กลับตรงข้ามไปอีก เสียทั้งคู่ เพราะไม่รู้หลัก หรือจับหลักไม่ถูก

อย่าให้เขาติเตียนได้ว่า คนไทยนี่อยู่กันมาอย่างไร คนไทยนี้นับถือพระพุทธศาสนากันมาอย่างไร แค่ความอยากก็แยกไม่ออก แยกแยะไม่ได้ รู้จักแต่ตัณหา ไม่รู้จักฉันทะ แล้วจะเอาประโยชน์จากพระพุทธศาสนาได้อย่างไร

ความอยาก มี ๒ อย่าง ความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ ความอยากที่เป็นกิเลส เรียกว่า ตัณหา

ความอยากที่พระพุทธเจ้าให้ละนั้น หมายถึงความอยากประเภทตัณหา ซึ่งหมายถึงความอยากได้วัตถุอามิสมาเสพปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของตน ความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากไม่เป็น เพื่อตัว

แต่สิ่งที่พระองค์สนับสนุน คือความอยากประเภทฉันทะ ซึ่งตรงข้ามกับตัณหา

มองง่ายๆ ตัณหา คืออยากเพื่อตัว อยากเอาให้แก่ตัว แต่ ฉันทะ คืออยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆ อยากเพื่อความดี ความงาม ความเต็ม ความสมบูรณ์ เพื่อความอุดมหมดจดผ่องแผ้วของสิ่งนั้นๆ

ท่านจึงสอนให้เรามีความใฝ่รู้ ให้เรารักงาน ให้เราอยากทำสิ่งที่ดีงาม ให้เรามุ่งหวังเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ดีงาม ให้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นกุศล ให้บำเพ็ญบารมีธรรม เมื่อเห็นด้วยปัญญาว่าอะไรดีงามมีคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ให้อธิษฐานจิตอุทิศใจในการที่จะทำให้สำเร็จ

ความต้องการให้ชีวิตมีคุณภาพ ต้องการให้สังคมมีความสงบสุข มีความมั่นคงในด้านต่างๆ มีความสะอาดสงบเรียบร้อยสวยงาม เป็นต้น อย่างนี้เป็นฉันทะ

เราควรจะเอาตัวนี้ คือฉันทะนี้ มาเป็นตัวเร้าให้คนอยากเล่าเรียนศึกษา ไม่ใช่เอาความอยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินตอบแทน หรือยศฐานะตำแหน่งส่วนตัวมาปลุกเร้า อันนั้นเรียกว่าตัณหา-มานะ

ประเทศไทยในยุคพัฒนาระยะที่ผ่านมานี่ พัฒนาผิดพลาดไปมาก เพราะไปเอาตัณหามาเร้า ให้คนอยากได้อยากเอา อยากมีวัตถุอามิสมาเสพมาบริโภคมากๆ นึกว่าเขาอยากอย่างนั้นแล้ว จะขยันทำงานพัฒนาประเทศชาติ

แต่คนอยากได้ อยากเอา เขาไม่อยากทำงาน เมื่ออยากร่ำรวย ก็เลยเล่นการพนัน กู้หนี้ยืมสินดีกว่า ไม่ต้องไปทำงาน ก็จะได้เงิน ไม่ได้พัฒนาปัญญา ก็เลยกลายเป็นพัฒนาปัญหา

ความอยากที่ผิด และความอยากที่ถูกนี้ เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้วย จะต้องปลุกเร้าเอาฉันทะมาใช้กัน

จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้
ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ

ทีนี้ กลับมาเรื่องมานะอีกทีหนึ่ง มานะนี้ ในเมื่อเป็นปุถุชนกันอยู่ แทนที่จะเลิกพรวดพราดไป เราก็เอามาใช้ประโยชน์เสีย แต่ใช้ประโยชน์อย่างมีเป้าหมาย คุมให้ดี จัดการมัน อย่าให้มันเสีย

จัดการอย่างไร คือ เราต้องเลิกมานะอย่างต่ำ เลิกมานะเพื่อตัว ชนิดที่เต็มไปด้วยโมหะ และเอามานะชนิดที่ประณีตขึ้นมา ที่มีโมหะน้อยลง มาแทนที่ อย่างนี้เรียกว่ามีการพัฒนาขึ้นมาบ้าง แล้วค่อยก้าวไปสู่ความหมดมานะ หรือกำจัดมานะอีกทีหนึ่ง

ยกตัวอย่างมานะที่เต็มไปด้วยโมหะเป็นอย่างไร คือความถือตัว ความอยากอวดโก้กันเอง หรืออยากจะโก้ อวดพวกตัวเอง ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นอย่างไร ไม่รู้พื้นเพภูมิหลังในสิ่งที่กระทำ เห็นว่าเป็นของฝรั่ง ก็เห็นว่าโก้ แล้วทำเพียงด้วยความรู้สึกโก้

อย่างนี้ เรียกว่ามานะที่เต็มไปด้วยโมหะ ประกอบด้วยโมหะ หรืออยู่ใต้ความครอบงำของโมหะโดยสิ้นเชิง

เพื่อละมานะอย่างหยาบนี้ เราก็ขยับขึ้นมามีมานะอีกขั้นหนึ่ง มานะที่ดีขึ้นก็คือ ความรู้สึกมีความภูมิใจในตัวเอง โดยมีความรู้เข้าใจเหตุผลในสิ่งที่กระทำ

ความภูมิใจในตัวเอง ที่รู้เข้าใจเหตุผลในการกระทำ ก็เป็นมานะเหมือนกัน แต่เป็นมานะที่ประกอบด้วยปัญญามากขึ้น โมหะน้อยลง เราเอามานะตัวนี้มาแทนที่ ให้คนมีมานะที่ถูกต้อง

แม้แต่การสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ สำหรับปุถุชนก็อาจเป็นการสร้างมานะชนิดหนึ่ง เพราะทำให้มีความรู้สึกภูมิใจในสถานะที่จะเป็นผู้นำ และอยากจะมีสถานะของความเป็นผู้นำนั้น ซึ่งทำให้เกิดการกระตุ้นเร้าตัวเอง ทำให้สร้างความรู้สึกนี้อยู่เสมอ ว่าเราจะต้องเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้

นี้เป็นมานะ แต่ประกอบด้วยปัญญา เข้าสู่วิถีของการที่จะพัฒนาต่อไปได้ เมื่อเรารู้เท่าทันอยู่ เราก็ก้าวไปสู่การพัฒนาคนให้ดีขึ้นไปอีกตามลำดับ จนกระทั่งต่อไปก็ทำด้วยเหตุผลและปัญญาล้วนๆ เพราะเราไม่ต้องการจะมามัวแข่งกับเขา เพื่อให้เราเหนือเขาหรืออะไรอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์

อย่างลัทธิชาตินิยม ก็ใช้มานะมาปลุกเร้าทั้งสิ้น แต่ก้าวจากมานะเพื่อตัว ขึ้นไปสู่ขั้นของมานะเพื่อชาติ ทำให้ทำการทุกอย่างได้สำเร็จ เพื่อให้ชาติของตนยิ่งใหญ่ เช่น ชาตินิยมของญี่ปุ่น ก็ให้คนญี่ปุ่นทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้ชาติญี่ปุ่นยิ่งใหญ่ ไม่ว่าอะไรๆ ญี่ปุ่นต้องเป็นหนึ่งในโลก

อย่างไรก็ตาม มานะแบบชาตินิยมนี้ แม้จะทำให้สร้างความสำเร็จได้ดี แต่ในที่สุดก็เป็นไปเพื่อการข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น เอาแต่ประโยชน์ของพวกตน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง

ต่างจากจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้นี้ ซึ่งเมื่อพัฒนาไปถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่หลงตัวเอง แต่จะมีปัญญารู้ว่า ที่เราจะเป็นผู้นำนี้ ไม่ใช่เพื่อจะยกตัวข่มใคร หรือจะไปครอบงำใคร แต่มุ่งสู่ความเป็นมิตร และในที่สุดแล้ว เราทำเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งหมด เพื่อความเป็นสุขร่วมกันในโลกนี้ เพื่ออารยธรรมของมนุษย์ที่ดีงาม และงอกงาม

ฉะนั้น เราจะต้องก้าวไปตามลำดับ ในเรื่องของการให้การศึกษานี้ เราไม่ใช่จะมองอยู่แค่เฉพาะตัวบุคคล แต่มองไปถึงอารยธรรมของโลกมนุษย์ทั้งหมดด้วย และเมื่อก้าวไปในวิถีที่ถูกต้องแล้ว ชีวิตบุคคล กับอารยธรรมของสังคมมนุษย์ทั้งหมด ก็จะสัมพันธ์ในทางที่ประสานเกื้อกูลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตกลงว่า ตอนนี้ก็ขอผ่านเรื่องนี้ไปก่อน

เอาเป็นว่า เรื่องการแก้ปัญหาการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกด้วยมานะที่เต็มไปด้วยโมหะนี้ ควรละเลิกเสีย แล้วขยับขึ้นมาสู่สภาพที่ประณีตยิ่งขึ้น คือการมีมานะที่ประกอบด้วยปัญญา โดยสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ขึ้นมา

พึงตั้งใจมุ่งแน่วไปว่า เราจะแก้ไขละเลิกสภาพจิตที่ฝังรากลึกในประเทศไทยมาเป็นร้อยปี คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ให้หมด หรือให้บรรเทาเบาบางเสียที

- ๔ -
วงนอก - ชั้นนอก
สภาวการณ์ของโลก

เปิดตาดูโลกกว้าง
จะได้แก้ปัญหาและพัฒนาไม่ผิดทาง

เริ่มต้นวันนี้ เรามองจากแคบที่สุด คือมองจากสภาพในคณะสงฆ์ที่เป็นแกนกลางของวงการพระพุทธศาสนา ต่อจากนั้นก็มองไปที่สภาพของชาวพุทธไทยทั้งหมด แล้วก็มองเมืองไทยทั้งหมด

ต่อไปนี้ เราจะมองกว้างออกไปทั่วโลก เปิดตาไปดูทั่วโลก นอกประเทศไทยด้วย ไปดูโลกกว้าง ดูตัวอย่างสังคมที่ว่าเจริญแล้วด้วยความรู้เท่าทัน

แล้วทีนี้ ถ้าเรารู้เท่าทันความเป็นไปในโลก รู้เท่าทันความเจริญของโลก ว่าสังคมที่พัฒนาแล้วมีสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็กลับมาช่วยให้เราไม่หลงเพ้อตามเขา ไม่หลงตามไปด้วยความเพ้อฝันเลื่อนลอย แต่มีปัญญาที่จะรู้จักตามเขาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะกลับมาเป็นตัวแก้ปัญหาในการตามเขา และจะสามารถสร้างความเป็นผู้นำได้ดีขึ้น และมองเห็นด้วยว่าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขา

ถ้าชาวพุทธเปิดตากว้างออกไปดูโลก มองดูสังคมของประเทศที่พัฒนาเจริญมากแล้ว ก็จะมองเห็นสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาได้ชัดยิ่งขึ้น และกลับจะมองเห็นได้ดีขึ้นว่าตัวเรามีอะไรที่จะให้แก่โลกนี้ และก็จะพัฒนาความเป็นผู้นำได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราก็มาเปิดตากว้างออกไป ดูสภาพความเป็นไปในโลกทั้งหมด

(เรื่องที่พูดไว้นับถึงพิมพ์ใหม่ปี ๒๕๕๖ ก็คือ ๒๐ ปีแล้ว แต่ปัญหายังสดอยู่ ไม่เก่า แถมทวีความรุนแรงขึ้น จึงควรฟังทวนไว้ ให้รู้ทันกระแสธาร)

โลกนี้ ขณะนี้ก็มีความเจริญพัฒนาไปมาก แต่พัฒนาไปๆ พอมาถึงปัจจุบันนี้ เขาบอกว่าได้มาถึงจุดที่เกิดเป็นปัญหา และเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากด้วย

ความสำนึกในปัญหาการพัฒนาของยุคปัจจุบันนี้ ได้เริ่มมีขึ้นมาหลายปีเป็นทศวรรษๆ แล้ว ยิ่งมาถึงปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งมองเห็นปัญหาหนักยิ่งขึ้น จนยอมรับกันแล้วว่า ถ้าขืนพัฒนากันแบบนี้ต่อไป ก็จะต้องประสบความพินาศ เป็นการพัฒนาที่ติดตัน อับจน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

การพัฒนาสมัยปัจจุบันนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นการพัฒนาแบบตะวันตก คือประเทศตะวันตกเป็นผู้นำ ดังที่ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ส่วนมากก็เป็นประเทศตะวันตก แล้ววิถีของการพัฒนาแบบตะวันตกนี้ ก็ได้เป็นแบบอย่างที่ประเทศทั้งหลายเอาอย่าง พยายามถือตามกันทั่วไปหมด ประเทศไทยเราก็เป็นไปอย่างนั้น

จนกระทั่งอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ในช่วงเป็นสิบๆ ปีมานี้ จึงได้เริ่มตระหนักเห็น “ทุกข์” ขึ้นมา เนื่องจากได้เกิดปัญหาจากการพัฒนานั้นมากมาย ทั้งด้านชีวิตมนุษย์ หรือตัวมนุษย์ และปัญหาสังคม แล้วมาสุดท้ายที่หนักที่สุด คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อม

มองดูคนที่เดินนำหน้า
อย่าให้พาเราเดินหลงทาง

ปัญหาชีวิตของคนแบ่งเป็นสองส่วน คือ ชีวิตด้านกาย กับชีวิตด้านใจ

สำหรับชีวิตด้านกายนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ประสบปัญหามาก แม้ว่าจะสามารถพิชิตโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไปได้แล้วมากมาย มีการแพทย์ที่พัฒนามาก ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่

แต่พร้อมกันนั้น ในด้านลบ ปัญหาด้านนี้ของมนุษย์ก็ไม่ได้ลดลงเลย ประเทศที่พัฒนามากแล้ว กลับมีโรคร้าย ที่ยังไม่มีในประเทศด้อยพัฒนา หรือมีก็น้อย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือด เป็นเหตุให้เส้นโลหิตในสมองตีบบ้างแตกบ้าง หรือทำให้หัวใจวาย ตลอดจนโรคเบาหวาน เป็นต้น (เหล่าประเทศที่พัฒนาตามเขา ก็ได้พัฒนาโรคจำพวกนี้ตามไปด้วย)

นอกจากนั้น การที่ปัจจุบันนี้เคยภูมิใจกันว่าโรคระบาดต่างๆ ได้หมดไปๆ นั้น ขณะนี้องค์การอนามัยโลกก็หันมายอมรับแล้วว่า ไม่สามารถพิชิตโรคระบาดบางอย่างได้ โดยเฉพาะโรคมาลาเรีย ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับแล้วว่า ไม่สามารถพิชิตได้ และกลับมีกำลังเฟื่องฟูขึ้น

อีกโรคหนึ่งคือ วัณโรค ซึ่งแทบจะหายไปแล้ว ขณะนี้กำลังกลับเฟื่องฟูขึ้นมาอีก แม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา วัณโรคก็กำลังเพิ่มขึ้น และจะเป็นโรคสำคัญที่คุกคามมนุษย์ต่อไปภายหน้าในยุคของโรคเอดส์ด้วย เพราะวัณโรคและโรคปอดทั้งหลายจะเป็นตัวซ้ำเติมคนที่เป็นโรคเอดส์ โดยทำหน้าที่เป็นตัวพิฆาต เพราะโรคเอดส์นั้นเป็นตัวนำทางเท่านั้น แต่ตัวสังหารก็ได้แก่โรคปอดบวม และวัณโรคที่กำลังฟื้นตัวขึ้นมา

ส่วนตัวโรคเอดส์เองไม่ต้องพูดถึงว่าร้ายแค่ไหน ก็ยังย่ำแย่กันอยู่ อหิวาต์ก็กลับขึ้นมาอีก ดังปรากฏในเปรูเมื่อ ๒ ปีที่แล้วนี้

(ก่อนถึงปี ๒๕๕๖ โรคอ้วนได้เป็น “โรคระบาด” ใหม่ นับเฉพาะประชากรอเมริกันเป็นโรคนี้ ๑ ใน ๔ แล้ว)

นี่คือสภาพปัญหาด้านร่างกาย ที่คุกคามมนุษย์อยู่ไม่วาย เพราะฉะนั้น การพัฒนานี้จึงไม่พ้นจากภัยอันตราย แม้แต่ในขั้นพื้นฐานทางร่างกาย

ด้านจิตใจยิ่งหนักเข้าไปอีก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนมีปัญหาจิตใจมาก เป็นโรคจิตเป็นโรคประสาทมาก มีความเครียดสูง ว้าเหว่ โดดเดี่ยวเดียวดาย จิตใจเร่าร้อนเป็นทุกข์

ปัญหาด้านจิตใจมากมายเหลือเกิน จนกระทั่งคนยุคนี้ ในประเทศที่พัฒนานำหน้า แม้แต่พวกชั้นนำในวงการบันเทิงแสนจะสนุกสนาน คือพวกดารา ต้องมีจิตแพทย์ประจำตัว มีการฆ่าตัวตายกันมาก นี้เป็นเรื่องที่ตัวมนุษย์

ต่อไปก็ปัญหาสังคม เริ่มตั้งแต่อาชญากรรมก็มากมายรุนแรง ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศอเมริกา ขณะนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อสู้กับโจรกรรม ฯลฯ หนักกว่าประเทศไทยมาก เป็นมานานหลายปีแล้ว

แต่ละบ้าน ประตูต้องปิดล็อค ๒ ชั้น และมีช่องแว่นขยายสำหรับมองดูว่าใครมา จะเปิดประตูทีหนึ่งไม่ใช่เปิดง่ายๆ ถ้าขืนเปิดออกไป ดีไม่ดีโดนจับโดนลักของบีบคอ รถยนต์ก็ต้องติดอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสู้กับโจรกรรมที่ทันสมัยยิ่งขึ้น โจรก็มีเทคโนโลยีที่พัฒนาเช่นกัน ฝ่ายเราก็พัฒนาเทคโนโลยีสู้กันเข้าไป ขณะนี้หนักเข้าไปทุกที ถ้าไม่แก้ที่จิตใจ การพัฒนาก็ต้องมาเน้นด้านการแก้ปัญหาใหม่ๆ มากขึ้น ผลที่สุดก็ไปไม่รอดด้วยกัน

ปัญหายาเสพติดก็หนักเหลือเกิน กระทั่งว่าเด็กที่เกิดมาใหม่จำนวนมากติดยามาตั้งแต่อยู่ในท้อง ติดกัญชาเป็นเรื่องธรรมดา ต่อมาก็เฮโรอีน โคเคน จนกระทั่งโรงพยาบาลบางแห่งต้องจัดแผนกเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดโคเคน เพราะว่าติดมาจากในท้อง

ปัญหาการแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติก็หนักมากในอเมริกา หนังสือบางเล่มบอกว่าไม่เห็นทางที่จะแก้ไขได้ คนอเมริกันมีความรู้สึกสิ้นหวังกันอยู่ไม่น้อย

คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง
เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่

มาสุดท้าย ปัญหาหนักที่สุดที่ทนไม่ได้ คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย

ปัญหาจิตใจและร่างกายในชีวิตของมนุษย์ก็ดี ปัญหาสังคมก็ดี ถึงจะหนักหนาร้ายแรงแค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่าพอจะมองข้ามและเลี่ยงหนีไปก่อน โดยหันไปแสดงภูมิฐานครอบงำไล่เบี้ยเอากับประเทศเล็กๆ และล้าหลังทั้งหลาย แต่พอมาถึงปัญหาธรรมชาติแวดล้อม คราวนี้หลีกหลบไม่ได้ เป็นปัญหาร่วมกัน ถึงจะเสียที่อื่น ก็มาถึงตัวด้วย ก็เลยต้องตื่นตัวกันใหญ่

แต่ก่อนนี้ ถึงจะมีปัญหาชีวิต ทั้งจิตใจและร่างกาย จนถึงปัญหาสังคม ก็ยังพอมีที่อยู่ แต่ปัจจุบัน พอมาเจอปัญหาสิ่งแวดล้อมเสีย โลกจะอยู่ไม่ได้ จะไม่มีที่อยู่แล้ว มนุษย์ก็เลยหวาดผวา (ถึงแม้บางคนจะบอกว่า ไม่เป็นไร รอได้ ค่อยย้ายหนีไปโลกพระอังคาร)

ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตอนนี้ต้องตื่นตัวมาก กลัวปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสียเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น มาถึงยุคนี้ เขาจึงกลับมาพิจารณาทบทวนกันว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร ในที่สุดก็ลงข้อสรุปว่า เป็นปัญหาจากการพัฒนาที่ผิดพลาด

ปัจจุบันนี้ลงมติแน่นอนแล้ว จนกระทั่งในการพัฒนานั้นได้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้ เดี๋ยวนี้ไปที่ไหน ก็เป็นคำฮิต เป็นคำที่เด่นมาก คือคำว่า sustainable development

คำว่า sustainable development นี้ เพิ่งเกิดเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง หมายความว่าจะต้องเลิกการพัฒนาแบบเก่า เพราะการพัฒนาแบบเก่านั้น มัน unsustainable เราแปลกันง่ายๆ ว่า sustainable development คือการพัฒนาที่ยั่งยืน และ unsustainable คือไม่ยั่งยืน แต่คำแปลนี้ยังไม่ถึงใจ ยังหาคำแปลที่ดีทีเดียวไม่ได้

Sustainable development เป็นการพัฒนาชนิดที่พากันไปรอดได้ หรือการพัฒนาที่เหตุปัจจัยรองรับไหว ถ้าการพัฒนานั้นเป็น unsustainable ก็หมายความว่า เป็นการพัฒนาที่เหตุปัจจัยรองรับไม่ไหว มันจะไปกันไม่รอด

ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างชัดเจนโจ่งแจ้งว่า การพัฒนาที่ผ่านมาแบบตะวันตกได้นำมาสู่ปัญหาที่ว่ามานี้ และจะนำโลกไปสู่ความพินาศแน่นอน จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาใหม่ทั้งระบบ เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำนี้เกิดขึ้น ไปไหนก็จะต้องพูดกันว่า sustainable development

เดี๋ยวนี้ฝรั่งพากันเอาคำว่า sustainable นี้ไปใช้กับเรื่องต่างๆ ทั่วไปหมด เช่น sustainable future อนาคตที่ sustainable ที่ไปรอดได้ อะไรทำนองนี้

เรื่องการยอมรับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อันนี้ เราจะต้องทราบ ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ที่เป็นวิชาแห่งความรู้ แห่งปัญญา จะต้องรู้ว่าโลกได้เคลื่อนไหวไปถึงไหน เวลานี้ยอมรับกันทั่วไปหมด องค์การโลกก็ได้ตื่นตัวขึ้นมาเร่งรัดความเอาใจใส่เกี่ยวกับเรื่องนี้

การตื่นตัวในเรื่องปัญหาธรรมชาติแวดล้อมนี้ ปรากฏขึ้นมาเพิ่งนับได้ ๒๐ ปี เท่านั้นเอง และมาเมื่อปี ๒๕๓๑ องค์การสหประชาชาติโดยข้อเสนอขององค์การยูเนสโก ก็ได้ประกาศให้ปี ๒๕๓๑ – ๒๕๔๐ เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม เขาเรียกว่า The World Decade for Cultural Development

ในคำบรรยายเหตุผลที่อ้างว่าจะต้องมีการพัฒนาอย่างนี้ ก็ได้ชี้แจงรายละเอียดไว้มากว่า การพัฒนาที่ผ่านมาแล้วมีความผิดพลาดอย่างไร นำมาสู่ปัญหาอย่างไร

รวมความก็คือ เขามองเห็นว่า การพัฒนาที่ผ่านมานั้น เป็นการพัฒนาที่เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ และมุ่งเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือเอาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ การพัฒนาแบบนี้แหละได้เป็นตัวสร้างปัญหาที่ทำให้โลกและสังคมมนุษย์จะไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนแนวหรือวิถีทางและกระบวนการพัฒนาใหม่ และองค์การสหประชาชาติก็ประกาศให้ยึดเอา cultural development ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมที่ให้คุณค่าแก่มิติด้านจิตใจ

นี้ก็เป็นการเคลื่อนไหวขององค์การโลก ซึ่งขณะนี้เราก็อยู่ในทศวรรษโลกนั้นด้วย แต่คนไทยน้อยคนที่จะรู้ เราควรจะไปอ่านว่า ทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาเชิงวัฒนธรรมนี้เกิดมีขึ้นได้อย่างไร มีเหตุผลอย่างไร และมีแนวทางอย่างไร

เรื่องนี้ครูจะต้องรู้เท่าทัน มันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอนของเราด้วย แทนที่จะมองแคบๆ อยู่แค่ตัวเรา ต้องมองไปทั่วโลก

โดยเฉพาะในเมื่อเมืองไทยของเราไปตามประเทศตะวันตก เราจะต้องก้าวเลยเขาไปดูในมุมกลับย้อนมาจากตะวันตก ว่าตอนนี้ตะวันตกเขาเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะได้เห็นว่า ขณะนี้ตะวันตกกำลังพลิกกลับแล้ว

รวมความก็คือ การพัฒนาแบบตะวันตกที่ผ่านมานี้ ไปไม่รอดแล้ว เขาต้องเปลี่ยนวิถีการพัฒนาใหม่มาเป็นแบบที่เรียกว่า sustainable development

เมื่อก้าวขึ้นมาสู่ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ก็ทำให้เขาแสวงหาวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงว่าจะทำอย่างไร

ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ
กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าจะต้องปฏิวัติประวัติศาสตร์กันทีเดียว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องกินลึกลงไปถึงรากฐานทางความคิดทีเดียว เพราะในที่สุดแล้ว การพัฒนาทางวัตถุหรือทางเทคโนโลยีที่ก้าวดำเนินมาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากตัวนำคือความคิดก่อน

แนวทางการพัฒนาและวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่นี้ สืบเนื่องมาจากค่านิยม แล้วก็สืบสาวลงไปถึงความคิด ที่เป็นเรื่องของภูมิปัญญา

ตอนนี้ ฝรั่งจึงกลับไปทบทวนรากฐานทางความคิดในภูมิปัญญาของตนเอง ก่อนที่จะมาพัฒนาแบบนี้ ว่าอะไรกันที่ทำให้เดินเข้าสู่การพัฒนาที่ผิดพลาด

นี่หมายความว่า การที่ได้เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารับใช้วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจในแนวนี้นั้น จะต้องมีความเชื่อ มีค่านิยม มีแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลัง เป็นรากฐาน ตอนนี้เขากำลังคิดค้นไปจนถึงจุดนี้

เพราะฉะนั้น จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่หยั่งลึกลงไปจนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของมนุษย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นภูมิปัญญา

เพราะฉะนั้น ตอนนี้ฝรั่ง ผู้นำในการเดินทางผิดนั้น จึงบอกว่า โลกนี้จะต้องมีการปฏิวัติครั้งใหม่ และเป็นครั้งใหญ่ที่สุด เป็นการปฏิวัติทีเดียวพร้อมกันทั่วทั้งโลก และในเวลาที่สั้นฉับพลันที่สุด

โลกนี้ได้มีการปฏิวัติที่เป็นเรื่องของอารยธรรมมาก่อนแล้ว ๒ ครั้ง แต่เป็นการปฏิวัติในถิ่นหนึ่งแห่งหนึ่งก่อน ไม่พร้อมกัน และต้องใช้เวลานานกว่าการปฏิวัตินั้นๆ จะเสร็จสิ้นไปทั่ว กล่าวคือ

การปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง เรียกว่า Agricultural Revolution คือการปฏิวัติทางการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว โดยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือมนุษย์ได้ตั้งถิ่นฐานแน่นอนแล้วจึงเกิดอารยธรรมขึ้น

แต่ก่อนนี้มนุษย์เที่ยววิ่งล่าสัตว์ แล้วก็เก็บอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติมากิน ไม่มีอารยธรรม จนกระทั่งเมื่อประมาณหมื่นปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักอยู่กับที่ รู้จักปลูกพืชขึ้นมาเอง และเอาสัตว์มาเลี้ยง มีการทำคอกเก็บรักษาและมีที่เลี้ยงสัตว์

พออยู่กับที่แล้ว ก็สร้างบ้านสร้างเมือง เกิดมีกิจกรรม และกิจการต่างๆ เช่น การค้าขาย การช่างฝีมือ ศิลปวิทยา มีความเจริญขึ้นมา อารยธรรมมนุษย์ก็เกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติอารยธรรมครั้งที่ ๑ เรียกว่า Agricultural Revolution

ต่อมา เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น มีอารยธรรรม มีความเจริญทางกิจการต่างๆ มากมาย ศิลปวัฒนธรรมพัฒนาขึ้นมาในยุคเกษตรกรรม ก็มีปัญหาอีก เพราะมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น ประชากรเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

ในระยะสองล้านปีก่อน ในโลกนี้มีมนุษย์เพียง ๒-๓ ล้านคน ต่อมา พอถึงยุคปฏิวัติเกษตรกรรม ประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น ๒,๐๐๐ ล้านคน

เมื่อประชากรเพิ่มมาก อาหารการกินที่ผลิตด้วยวิธีการเกษตรก็ไม่เพียงพอ และการทำมาหากินของมนุษย์ได้ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในธรรมชาติด้วย ที่ดินทำกินก็น้อยลง มีคุณภาพลดลง มนุษย์จึงหาวิธีการใหม่ที่จะผลิตให้พอบริโภค ที่จะแก้ไขความขาดแคลน

มนุษย์ดิ้นรนกันไป ในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติยุคที่สอง เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแค่ประมาณ ๒๕๐ ปีนี้เอง (ถือกันว่า ในอังกฤษมีในช่วงประมาณ ค.ศ. ๑๗๕๐ ถึง ๑๘๕๐) และเริ่มขึ้นในเขตยุโรปตะวันตกเท่านั้น แล้วจึงขยายออกจนขณะนี้ก็ยังไม่ทั่วโลก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ แม้ว่าจะยังไปไม่ทั่ว ก็ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ในระบบสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการผลิตที่เพิ่มอย่างมหาศาล และประชากรก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับต่อจากยุคปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากสองพันล้าน เป็นห้าพันห้าร้อยล้านคน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้โลกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน และโดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบที่ใช้ในตะวันตกปัจจุบัน ที่ชี้นัยว่า ผลิตให้มากที่สุด จะเจริญที่สุด และบริโภคได้มากที่สุด ก็คือมีความสุขมากที่สุด

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งแนวความคิดตามนัยเศรษฐศาสตร์ตะวันตก แบบที่ว่านี้ ได้ครอบงำวิถีการพัฒนาของตะวันตกตลอดมา และเมื่อตะวันตกขยายอิทธิพลมาสู่ตะวันออก เราก็ตามวิถีการพัฒนาแบบนั้นไปด้วย

วิถีการพัฒนาแบบตะวันตกนั้น จึงได้เป็นวิถีการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ที่บอกว่าได้นำมาสู่ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่
แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป

การปฏิวัติครั้งที่สอง ที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าหลายประเทศจะยังไม่ทันได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และยังพยายามอยู่ แต่ตอนนี้เขาบอกว่า จะต้องมีการพลิกประวัติศาสตร์ใหม่ หนังสือตำราของตะวันตกที่ทันสมัยกำลังร่ำร้องกันถึงการปฏิวัติครั้งที่ ๓

การปฏิวัติครั้งที่ ๓ นี้ หนังสือบางเล่มเรียกว่า Sustainability Revolution อาจจะแปลว่าการปฏิวัติเพื่อความคงอยู่ยั่งยืน

แต่หลายคนไม่เอาคำนี้ ก็ใช้คำใหม่ให้ง่ายและตรงเข้าไปอีกเรียกว่า Environmental Revolution คือการปฏิวัติด้านสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ ๓ ที่ร่ำร้องกัน

ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะจะต้องพลิกประวัติศาสตร์ จะต้องพลิกกระบวนการพัฒนา จะต้องพลิกแนวความคิด และจะต้องแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ หนังสือบางเล่มบอกว่า นี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม

ตอนนี้ อเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเพิ่งปฏิญาณตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานซืนนี้ คือวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๖ ได้แก่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งมีรองประธานาธิบดีชื่อ นายแอล กอร์

ให้สังเกตว่า Al Gore นี้เป็น environmentalist คือเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มานานแล้ว ถึงกับแต่งหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อเรื่อง Earth in the Balance อาจเรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่ยังเป็นว่าที่รองประธานาธิบดี ก็ได้นำคณะผู้แทนของอเมริกันไปประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แกสนใจเรื่องนี้มาก

ในหนังสือเล่มที่ว่านั้น ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม ซึ่งหมายถึงอารยธรรมตะวันตก ว่าอารยธรรมตะวันตกจะต้องมีการพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร และจะต้องลงลึกถึงสาระทางจิตใจ มนุษย์จะต้องปฏิวัติตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะภายนอก แต่ต้องเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานทางด้านจิตใจทีเดียว และมีหนังสืออื่นๆ ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มาก

ไหนๆ ก็ได้พูดถึงการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคลินตันแล้ว ขอแทรกเรื่องนี้เข้ามาหน่อย

เมื่อวานซืนที่ บิล คลินตัน ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น คนเป็นอันมากมัวชื่นชมกับพิธีการที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร ตื่นเต้น

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคำปราศรัยของท่าน เราจะต้องมองดูว่า เขาคิดอย่างไร และเขาจะทำอะไร ขอให้สังเกตในคำปราศรัยของท่าน

คำปราศรัยตอนหนึ่งของท่านคลินตัน บอกด้วยความภูมิใจว่า American idea คือแนวความคิดของอเมริกัน ได้รับการยอมรับปฏิบัติตามไปทั่วโลก

นี่เป็นความภูมิใจของคนอเมริกัน ซึ่งก็เป็นความจริง แนวความคิดที่คนอเมริกันภูมิใจ ที่คนอื่นพากันทำตามนี้ คืออะไร

ที่จริง อันนี้เขาพูดกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่ท่านคลินตันจะปราศรัย เพราะฉะนั้น เมื่อท่านคลินตันพูด ก็ไม่ต้องบอกว่าอะไร

อันนั้นก็คือ ความคิดในเรื่อง democracy และ free market economy คือ ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี หรือลัทธิทุนนิยมนั่นเอง

หนึ่ง ก็แนวคิดประชาธิปไตย สอง ก็แนวคิดตลาดเสรีตามระบบทุนนิยม นี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันภูมิใจมากในขณะนี้ เขียนภูมิใจอวดกันไว้ในหนังสือต่างๆ

ขณะที่โลกคอมมิวนิสต์แตกกระจาย และอาณาจักรโซเวียตล่มสลาย ยุโรปตะวันออกเปลี่ยนพลิกจากระบบคอมมิวนิสต์มาหาระบบตลาดเสรี ที่ไหนๆ ก็ยอมรับหมดว่า โลกคอมมิวนิสต์ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็มาสมาทานลัทธิทุนนิยม และประชาธิปไตยไปตามๆ กัน

นี้คือความภูมิใจของคนอเมริกัน ก็ควรที่จะภูมิใจ เพราะเขาเป็นผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า มีสิ่งที่ดีให้แก่ผู้อื่น

แต่เบื้องหลังความภูมิใจนี้ คืออะไร เบื้องหลังความภูมิใจนี้ ก็คือปมในใจ

ที่ท่านบิล คลินตันพูดอย่างนี้ ไม่ใช่มีแต่ความภูมิใจอย่างเดียว แต่มองให้ลึกลงไป ก็จะมองเห็นว่า ท่านพูดอย่างนี้ขึ้นมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางจิตใจของคนอเมริกัน ที่กำลังขาดความมั่นใจ

คนอเมริกันในระยะ ๑๐ ปีมานี้ ได้สูญเสียความมั่นใจลงโดยลำดับ มีความไม่มั่นคงทางจิตใจมาก ทั้งในด้านความหวัง และความเชื่อถือ

ฉะนั้น คำของท่านคลินตันในฐานะผู้นำ จึงเป็นการพูดขึ้นในสภาพภูมิหลังอย่างนี้ เพื่อปลอบใจ และปลุกใจคนอเมริกัน เมื่อปัญหามีอยู่ และผู้คนหวั่นใจกันอยู่ แต่บ้านเมืองยังมีอะไรที่ภูมิใจได้ ในฐานะของผู้นำ เขาก็หยิบเอาจุดนั้นขึ้นมาพูด

ถ้อยคำส่วนอื่นๆ ของ บิล คลินตัน นั้น ส่อแสดงปมความรู้สึกนี้ ถ้าลองไปอ่านดู จะเห็นว่า เขามีปมอะไรในใจอยู่บ้าง แต่เอาเป็นว่า เขามีความภูมิใจอันนี้อยู่ และความภูมิใจนี้เขาพูดขึ้นมาจากภูมิหลังที่มีปมในใจ คือการขาดความมั่นใจในตนเอง

เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว
คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่

ขณะนี้สังคมอเมริกันก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า ขาดความมั่นใจในตัวเองมาก แม้แต่ความภูมิใจใน democracy และ free market economy ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง เราอย่าหลงไปตาม

ประชาธิปไตยอเมริกันกำลังมีสิ่งท้าทายมาก ขณะนี้อเมริกันกำลังประสบปัญหาหนักๆ มากมาย

แม้แต่ประชาธิปไตยที่ภูมิใจมากนี้ ก็มีปัญหาว่าจะไปรอดด้วยดีหรือเปล่า ปัญหาการแบ่งแยกสีผิว และแบ่งแยกเชื้อชาติ เป็นต้น ยังเด่นยังแรง และคุกคามประชาธิปไตย

ส่วน free market economy หรือเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ในลัทธิทุนนิยม ก็ตั้งอยู่บนฐานของลัทธิเศรษฐศาสตร์แบบที่ก่อให้เกิดปัญหาการทำลายธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ในระยะยาวก็จะไปไม่รอด ถึงแม้ว่าตอนนี้จะชนะโลกคอมมิวนิสต์ แต่ที่จริงก็อยู่ในระบบความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเดียวกัน

เศรษฐศาสตร์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กับเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมนั้น คนทั่วไปมองว่าตรงกันข้าม นึกว่าเป็นคนละพวก แต่พอลงไปถึงรากฐานแล้ว ก็มาจากแนวความคิดพื้นฐานอันเดียวกัน แต่มาแยกกันออกเป็นทุนนิยม กับสังคมนิยม เราจะต้องจับไปให้ถึงจุดนี้ให้ได้

ตอนนี้ สิ่งที่สั่นคลอนก็คือ ความมั่นใจในภูมิปัญญา ที่เขาบอกว่า American idea ได้รับการยอมรับทั่วไปในโลกนั้น พูดง่ายๆ ก็คือภูมิปัญญาอเมริกัน

เขาต้องการพูดว่า ภูมิปัญญาอเมริกันได้รับการยอมรับนับถือ นานาชาตินานาประเทศพากันปฏิบัติตาม โดยเลียนแบบหรือเอาอย่างกันทั่วไป แต่ขณะนี้คนอเมริกันเองก็ไม่มีความมั่นใจในภูมิปัญญานี้

American idea เกี่ยวกับ democracy หรือประชาธิปไตย และ free market economy หรือเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีของระบบทุนนิยมนั้น บัดนี้ไม่มีรากฐานที่มั่นคงเสียแล้ว

นั่นเพราะอะไร? เพราะปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติทั้งหมดขณะนี้ คือปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสีย ที่จะทำให้โลกนี้อยู่ไม่ได้ ที่จะพาอารยธรรมมนุษย์ไปสู่ความพินาศ ซึ่งเขากำลังมองหาทางออกกันอยู่ และกำลังก้าวเข้ามาถึงขั้นของการพิจารณาทบทวนถึงผลร้ายของความคิดพื้นฐานที่เป็นสาระของภูมิปัญญาอเมริกันที่ว่านี้

ขณะนี้ การแก้ปัญหาการพัฒนาของโลกทั้งหมด ไม่ใช่ของอเมริกาประเทศเดียว ได้โน้มเข้ามาสู่วิถีที่ชาวพุทธจะต้องสังเกตเป็นพิเศษ เพราะพวกนี้หันมามองดูแนวความคิดแบบพุทธด้วย

ในหนังสือที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการพัฒนาของโลกและอารยธรรมของโลกในปัจจุบัน ที่วิเคราะห์ปัญหาสืบลึกลงไปถึงรากฐานของความคิดและภูมิปัญญา บ้างก็หันมาสนใจในแนวความคิดของพระพุทธศาสนา

ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา
จึงจะมองเห็นทางแก้ไข

ขอเล่าสักหน่อยว่าเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร เขาสืบลงไปว่า การพัฒนาที่ผิดพลาดของตะวันตกทั้งหมดนั้น ในที่สุดแล้วก็เกิดจากแนวความคิดที่ผิดพลาด เริ่มแต่ท่าทีต่อธรรมชาติ

ชาวตะวันตกนั้นมีรากฐานทางความคิดที่มองธรรมชาติต่างหากจากมนุษย์ โดยมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และมองธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับเอามารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้ที่จะครอบครองธรรมชาติ และจัดการกับธรรมชาติตามพอใจ เพื่อสนองจุดหมายของตน

เวลานี้ หนังสือของอเมริกันก็ตาม ของฝรั่งอื่นก็ตาม ที่วิเคราะห์เรื่องนี้ ที่กำลังหาทางเปลี่ยนแปลงลงมาถึงขั้นรากฐานทางความคิด ต่างก็ยอมรับมตินี้ ฉะนั้นในการแก้ปัญหาจึงมีการย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า ต่อไปนี้มนุษย์จะต้องมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ขอให้สังเกตดูเถิด ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะพวกฝรั่งมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติมาโดยตลอด

หนังสือบางเล่มบอกชัดเจนว่า อารยธรรมของเรา คือตะวันตกนั้น สอนให้มนุษย์มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ ความคิดของตะวันตกทุกอย่างสอดคล้องกันในแง่ที่สืบทอดขยายออกมาจากรากฐานความคิดอันนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ หรือศาสนา หรือปรัชญา ตลอดจนเศรษฐศาสตร์ก็มองอย่างนี้

ดังนั้น แม้จะมองในแง่การเมืองและระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็นค่ายทุนนิยม หรือค่ายสังคมนิยม ก็มองแบบนี้หมด คือมองด้วยแนวความคิดพื้นฐานเดียวกันว่า มนุษย์เป็นต่างหากจากธรรมชาติ มนุษย์จะเป็นผู้ครอบครองธรรมชาติ มนุษย์จะเป็นผู้จัดการกับธรรมชาติเพื่อเอามาสนองความต้องการของตน ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นตอของปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของโลกในปัจจุบัน

ฉะนั้น แนวความคิดนี้จะต้องเปลี่ยน เพราะแนวความคิดนี้เป็นรากฐานของการพัฒนาของตะวันตกทั้งหมด ที่ได้ดำเนินมาเป็นพันๆ ปี แล้วก็เพิ่งมารู้ว่าผิดพลาด เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

Al Gore เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้เขียนยอมรับไว้ อาตมาจะอ่านให้ฟัง ในหนังสือ Earth in the Balance Al Gore ที่เป็นรองประธานาธิบดีอเมริกาในปัจจุบัน ได้วิเคราะห์ แล้วลงมติว่า

It is certainly true that our civilization is built on the premise that we can use nature for our own ends without regard to the impact we have on it.

ขอแปลว่า: เป็นความจริงอย่างแน่นอนว่า อารยธรรมของเรา(คืออารยธรรมตะวันตก) สร้างขึ้นบนฐานความเชื่อที่ว่า เราสามารถใช้ธรรมชาติ เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของเรา โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อธรรมชาตินั้น

อันนี้เป็นคำของ Al Gore ซึ่งได้ยอมรับว่า การมองความ สัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างผิดพลาดนั้น เป็นความจริงที่ได้มีมาในอารยธรรมตะวันตก อย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่
ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย

หนังสือบางเล่มสืบลึกลงไปจนถึง Socrates, Plato, Aristotle รวมความก็คือว่า ตอนนี้ ฝรั่งที่เคยภาคภูมิใจกับบรรพบุรุษผู้สร้างรากฐานอารยธรรมตะวันตกนั้น ได้เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนใจ เปลี่ยนความเห็นใหม่แล้ว

ตอนนี้ Plato, Aristotle กำลังถูกตี หรือกำลังไม่เป็นที่สบายใจของพวกนักคิดสมัยใหม่ของตะวันตก ในแง่หนึ่ง บางทีเหมือนว่าจะเป็นผู้ร้ายไปแล้ว เพราะกลายเป็นผู้ทำให้การพัฒนาของตะวันตกนี้นำมนุษย์ไปสู่ความหายนะ

ขอยกตัวอย่าง เช่น Mr. Clive Ponting เขียนหนังสือวิชาการเล่มหนึ่งชื่อว่า A Green History of the World บทหนึ่งก็สืบประวัติความคิดของตะวันตกว่า เป็นฐานความคิดที่นำมาสู่ความผิดพลาดในการพัฒนาปัจจุบันอย่างไร เริ่มตั้งแต่ Socrates

เขากล่าวถึงความคิดของ Socrates ที่ได้บอกว่าสัตว์ทั้งหลายถูกสร้างขึ้นมา และเลี้ยงดู เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ แล้วก็ยกหลักฐานคำกล่าวของปราชญ์และศาสนาของฝรั่งในอดีตมาอ้างมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดของตะวันตกนั้นสอดคล้องกันหมด ที่ให้มองธรรมชาติเป็นเครื่องมือรับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

Aristotle ในหนังสือชื่อ Politics ก็ได้บอกไว้ว่า ธรรมชาติสร้างสัตว์ทั้งหลายมาเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์เช่นเดียวกัน

จนมาถึง Christian Bible คือคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ ซึ่งมีคัมภีร์ Genesis ที่รับมาจากยิว ก็บอกว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างสัตว์เดรัจฉาน พืชพรรณธัญญาหาร และทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่บนพื้นโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ เพื่อเป็นอาหารแก่มนุษย์ ให้มนุษย์มี dominion คือมีอำนาจครอบครอง

จนกระทั่งมาถึง Descartes ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้นำของ modern science คือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็ได้พูดถึงจุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์นั้นมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้มนุษย์นี้ สามารถเอาความรู้ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาใช้เพื่อทำตนเองให้เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นเจ้าของธรรมชาติ

ต่อมาอีก Francis Bacon นักปราชญ์ใหญ่และรัฐบุรุษสำคัญของอังกฤษ ก็บอกทำนองเดียวกันว่า เมื่อเรารู้จักธรรมชาติแล้ว ธรรมชาตินั้นจะได้ถูกครอบครอง เราจะได้เป็นเจ้านาย จัดการเอาธรรมชาติมาใช้สนองความต้องการเป็นบริการแก่มนุษย์

ส่วน Immanuel Kant นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ได้ไปไกลถึงขนาดที่สอนว่า มนุษย์นั้นสามารถจัดการกับธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบในทางจริยธรรมเลย

ใกล้เข้ามาอีก Sigmund Freud ซึ่งหลายท่านจะต้องเคยได้ยินชื่อ เพราะเป็น psychoanalyst คือนักจิตวิเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่ ท่านผู้นี้บอกว่า อุดมคติของมนุษย์ก็คือ การที่จะเข้ารุกโจมตีธรรมชาติ บังคับธรรมชาติให้เชื่อฟังเจตจำนงของมนุษย์ภายใต้การนำทางของวิทยาศาสตร์

ในวงการคอมมิวนิสต์ฝ่ายโลกสังคมนิยม ก็แบบเดียวกัน นักประวัติศาสตร์โซเวียตคนหนึ่งชื่อว่า M.N. Pokrovskiy ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Brief History of Russia บอกว่า เมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบรรลุถึงความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ธรรมชาติจะกลายเป็นเหมือนกับขี้ผึ้งอันอ่อนเหลวอยู่ในมือของมนุษย์ ที่เขาสามารถจะปั้นมันให้เป็นรูปอย่างไรก็ได้ตามปรารถนา

นี้คือแนวคิดตะวันตก ที่ฝรั่งสมัยปัจจุบันสืบค้นเอามาให้ช่วยกันดูมากมาย ในที่นี้ได้ยกมาให้เห็นเพียงเป็นตัวอย่าง ซึ่งเขาสรุปว่า โลกตะวันตกทั้งหมดคิดแบบเดียวกัน มีฐานความคิดอย่างเดียวกัน มีภูมิปัญญาอย่างเดียวกัน

ถึงแม้จะไปแยกกันเป็นแบบสังคมนิยม และเป็นทุนนิยม ก็ไม่ไปไหนเลย แนวความคิดพื้นฐานก็ยังคงเป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น

ถึงตอนนี้ จุดยุติไม่ใช่อยู่แค่การแข่งระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมเท่านั้น

แม้ว่าสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จะล้มลงไป แพ้ทุนนิยมแล้ว แต่ทุนนิยมเองก็ไปไม่รอด เพราะทุนนิยมก็ตั้งอยู่บนฐานความคิดอันเดียวกันนั่นเอง จึงจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดพื้นฐานของตนเสีย

อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว
โลกหันหาทางเลือกใหม่

เป็นอันว่า ตอนนี้ฝรั่งยอมรับว่าแนวความคิดของตะวันตก ตลอดประวัติศาสตร์ของอารยธรรมนับพันปี ได้สอนอย่างเดียวกันหมด มีเถียงกันอยู่นิดก็ในตอนที่ว่าด้วยรายละเอียด ซึ่งบางอย่างก็ไม่เหมือนกันบ้าง

อย่าง Mr. Clive Ponting นี้ตีศาสนาคริสต์หนักเลย เขาบอกว่า เป็นตัวการที่ทำให้มนุษย์มองธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องรับใช้มนุษย์ มนุษย์จะต้องครอบครอง ครอบงำ จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เอาธรรมชาติมารับใช้สนองความต้องการของมนุษย์

Al Gore ค้านตรงนี้ว่า ศาสนาคริสต์ไม่ได้สอนถึงขนาดนั้น ศาสนาคริสต์สอนแต่เพียงว่า พระเจ้าสร้างธรรมชาติ คือสัตว์และพืช สร้างชีวิตทั้งหลายขึ้นมา ให้อยู่ในความดูแลของมนุษย์ โดยเป็นสมบัติของพระผู้เป็นเจ้า ให้มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อจะได้ดูแลสมบัติของพระผู้เป็นเจ้าไว้ เรียกว่าให้มนุษย์ทำหน้าที่ของสจ๊วต Al Gore เถียง Clive Ponting เป็นต้นอย่างนี้

ตอนนี้ ในรายละเอียด ฝรั่งมีความเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ในความคิดรวบยอด หรือในความคิดโดยสรุปแล้ว เหมือนกัน

Al Gore เถียงว่า ไม่อยากให้ศาสนาคริสต์ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เขายอมรับว่าศาสนาคริสต์สอนว่า พระเจ้าสร้างธรรมชาติให้อยู่ในอำนาจครอบงำของมนุษย์ แต่เขาตีความว่ามนุษย์จะต้องดูแลรับผิดชอบธรรมชาติ ในฐานะเป็นสมบัติของพระเจ้า ไม่ใช่จะทำตามชอบใจตนเอง มนุษย์มีหน้าที่ดูแลธรรมชาติแทนพระองค์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม Al Gore ก็ยอมรับว่า พวกนักบวชคริสต์ หรือสถาบันศาสนาคริสต์ ไม่เข้าใจความคิดเดิมของคัมภีร์ จึงไปสมาทานแนวความคิดของกรีก แล้วแนวความคิดของกรีกก็เข้ามาครอบงำคำสอนของคริสต์ศาสนาตลอดมา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเจตนารมณ์เดิมของคริสต์ศาสนาจะสอนว่าอย่างไรก็ตาม แต่คำสอนที่มีผลในทางปฏิบัติก็ออกมาเป็นแบบเดียวกัน ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คือสอนให้มนุษย์มองธรรมชาติในแง่ที่ตนจะเข้าไปจัดการเอามารับใช้สนองความต้องการของตน และ Al Gore ก็ติเตียนพวกนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในปัจจุบัน ที่ยังคงสอนให้คนมองธรรมชาติตามแบบปรัชญากรีก

แล้ว Al Gore ก็ตี Plato บอกว่า ความคิดและคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ให้จัดการกับธรรมชาตินั้น ได้รับอิทธิพลมาจาก Plato อันนี้เป็นรายละเอียดที่เราไม่จำเป็นต้องพูดมาก

เอาเป็นว่า ขณะนี้ฝรั่งกำลังเดินมาถึงจุดแห่งความสำนึกนี้แล้ว

ดังที่ได้ยกตัวอย่าง Clive Ponting ที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า แนวความคิดของศาสนา ปรัชญา และศาสตร์ทั้งหลายในตะวันตกทั้งหมด ได้มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และเป็นเจ้าเป็นนายที่จะเข้าไปจัดการกับธรรมชาติ

แล้วเขาก็บอกต่อไปว่า แนวคิดของตะวันตกนี้แตกต่างตรงข้ามกับศาสนาตะวันออกทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ แต่มองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

อันนี้เป็นเรื่องของเราเอง ที่จะต้องวิเคราะห์ดู ฝรั่งเขามองได้เท่าที่เขาเห็น เราเป็นเจ้าของเรื่องเอง จะต้องมาพิจารณาว่าตัวเรามีรากฐานความคิดอย่างไร

ใจความก็คือว่า เวลานี้ ฝรั่งปัจจุบันเกิดความผิดหวัง ไม่พอใจกับความคิดหรือภูมิปัญญาที่เป็นรากฐานแห่งอารยธรรมของตน และหันมาสนใจความคิดตะวันออกในพระพุทธศาสนาเป็นต้น ที่มีความเป็นมิตรกับธรรมชาติ เราก็ควรรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวนี้ด้วย

พระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบของความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ตามกระบวนการของธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การกระทำและความเป็นไปของมนุษย์ทั้งทางกายและในจิตใจทั้งหมด อยู่ในระบบความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ฉะนั้น ทุกอย่างในโลกจึงอยู่ในระบบเดียวกันทั้งนั้น

การเคลื่อนไหวทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา เป็นกรรม เป็นการกระทำแล้ว ย่อมมีผลกระทบส่งต่อๆ กันไป

อันนี้เป็นแนวความคิดที่ฝรั่งกำลังสนใจกันมาก

ฉะนั้น เมื่อชาวพุทธมองกว้างออกมาถึงความเป็นไปในโลกจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นในสิ่งที่ตัวจะให้แก่โลกทันที พร้อมทั้งรู้ด้วยว่า ฝรั่งเป็นอะไร เป็นอย่างไร ต้องมองฝรั่งให้ทั่วตลอด อย่าไปมองแค่ภาพตื่นเต้นทางโทรทัศน์เท่านั้น

ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว
ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป

อนึ่ง ขณะนี้ เมื่อฝรั่งมองเห็นตระหนักว่าโลกถูกภัยอันตรายคุกคาม จะไปไม่รอด ดังที่ว่าแล้ว เขาเกิดความคิดใหม่ว่า การพัฒนาแบบที่ทำกันมานี้จะต้องพลิก จะต้องปฏิวัติกันใหม่ อารยธรรมของโลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และต้องเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐานทางความคิดหรือทางภูมิปัญญา โดยจะต้องแสวงหาแนวทางปรัชญากันใหม่

ในขณะที่เขากำลังคิดเรื่องนี้กันอยู่ เขาได้รู้สึกตระหนักขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ มองเห็นความสำคัญของจริยธรรม

จริยธรรม นั้น มีความสำคัญทั้งในทางจิตใจ ในทางสังคม และทางธรรมชาติแวดล้อม แต่ในโลกตะวันตก และสังคมที่คิดอย่างตะวันตก มักจะมองความหมายของจริยธรรมเพียงในแง่สังคมเท่านั้น ครั้นมาถึงตอนนี้ เขาได้หันมาเน้นในการที่จะเอาจริยธรรมมาใช้ในแง่ของการรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมด้วย

ทีนี้ พอฝรั่งจะยกเอาจริยธรรมขึ้นมาให้ความสำคัญ ฝรั่งก็ประสบปัญหา

แต่ก่อนจะพูดถึงปัญหา ขอพูดแทรกนิดหนึ่งว่า ขณะนี้ฝรั่งให้ความสำคัญแก่จริยธรรมมาก จนกระทั่งมีวิชาใหม่ๆ เช่น Business Ethics คือจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด พร้อมทั้งมีตำรา Business Ethics เกิดขึ้น และพร้อมกันนั้น วิชาจริยธรรมอื่นที่มีอยู่ก่อน เช่น Medical Ethics คือจริยธรรมทางการแพทย์ หรือจรรยาแพทย์ ก็ได้รับความเอาใจใส่มากขึ้นด้วย

เดี๋ยวนี้ องค์กรและบริษัทใหญ่ๆ พากันว่าจ้างพวกนักปรัชญาที่ชำนาญจริยศาสตร์เข้าไปทำงาน เพื่อเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม นักจริยธรรมกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ

ในหนังสือ Megatrends 2000 บอกว่า พวกนักศีลธรรม ที่สมัยก่อนตกงาน ไม่มีงานทำ เดี๋ยวนี้กลับเป็นที่ต้องการ เป็นที่ง้องอน นี้เป็นความเคลื่อนไหวในโลกที่พัฒนา

อย่างไรก็ตาม พอมีความสนใจในเรื่องจริยธรรม หรือ ethics ขึ้นมา ฝรั่งก็เกิดปัญหาติดขัด เพราะอะไร เพราะจริยธรรมของตะวันตกได้ถูกตีตกไปนานแล้ว พร้อมกับที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิหลังของจริยธรรมตะวันตกเอง

จริยธรรมตะวันตกนั้น เกิดจากคำสอนของศาสนาที่ถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ผู้ดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จริยธรรมตะวันตกจึงเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา

จริยธรรมเทวบัญชา คือจริยธรรมที่เป็นไปตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าหรือเทพเจ้าว่า ให้มนุษย์ทำและไม่ทำอย่างนั้นๆ มนุษย์ต้องเชื่อคำสั่งนั้น เพราะถ้าเชื่อและปฏิบัติตาม ก็จะได้รับความโปรดปราน ประทานรางวัล แต่ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกลงโทษ

ทีนี้ พอวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็ตีว่า ความเชื่อทางศาสนานั้นงมงาย มีที่ไหน พระเจ้าสั่ง พระเจ้าสร้าง เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีเหตุผล ทำให้ชาวตะวันตกเสื่อมจากความเชื่อถือในจริยธรรมแบบเทวบัญชา

แต่พอตีจริยธรรมเทวบัญชาตกไปแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ให้หลักอะไรมาแทน

วิทยาศาสตร์เพียงแต่ทำให้คนตะวันตกหันไปมองใหม่ว่า จริยธรรมนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์คิดกันขึ้นเอง เพื่อหาทางที่จะอยู่กันด้วยดี เป็นเรื่องสมมติเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ตามทัศนะเชิงวิทยาศาสตร์ (แบบปฏิกิริยา) สิ่งที่เรียกว่าความดีและความชั่วในแต่ละสังคม จึงไม่เหมือนกัน ในสังคมนี้บอกว่าทำอย่างนี้ดี แต่อีกสังคมหนึ่งบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ดี ในสังคมนี้บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ดี แต่อีกสังคมหนึ่งบอกว่าทำอย่างนั้นดี มันก็ขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงไม่มีจริง ไม่เป็นสัจธรรม เป็นเรื่องที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นเอง

เมื่อวิทยาศาสตร์ตีจริยธรรมตกไปแล้ว และไม่สนใจ ไม่ได้ให้หลักอะไรในเรื่องนี้ ฝรั่งก็คว้าง จริยธรรมก็เลื่อนลอย คนทั่วไปไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญแก่จริยธรรม

ครั้นมาถึงบัดนี้ เมื่อจริยธรรมกลับมีความสำคัญขึ้นมาอีก เพราะความจำเป็นที่ถูกภัยคุกคาม ฝรั่งก็ไม่รู้จะยึดจริยธรรมที่ไหน

พวกหนึ่งก็หันกลับไปหาจริยธรรมของศาสนาเทวบัญชานั่นแหละ แต่ก็เจอปัญหาหนักถึงสองประการ คือ นอกจากจริยธรรมเทวบัญชานั้นจะถูกวิทยาศาสตร์ตีตกไปแล้ว ก็มีปัญหาในวงการศาสนาเอง ที่ไม่มีเอกภาพ มีความขัดแย้งกันมาก

นั่นเพราะว่า ศาสนาของฝรั่งนั้น แม้จะเป็นศาสนาเดียวกัน แต่ก็แตกแยกกันเป็นร้อยๆ นิกาย แต่ละนิกายก็สอนไม่เหมือนกัน จะเอาของนิกายไหนก็ลงตัวไม่ได้ จึงเกิดการถกเถียงขัดแย้งกันอยู่

อีกพวกหนึ่งก็หันไปเอาจริยธรรมแบบของนักปรัชญา หรือนักคิดทางการศึกษา เอา Kohlberg บ้าง เอา Simon บ้าง มาอ้าง ซึ่งที่จริง จริยธรรมพวกนี้ ก็คือการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าไม่มีจริยธรรมที่จะเอามาใช้

ในแง่นี้ก็น่านิยมที่เขาใฝ่แสวงปัญญา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะน่าภูมิใจ

ตกลงว่า ในเรื่องจริยธรรมนี้ ปัจจุบัน เมื่อเกิดความต้องการจริยธรรมอย่างสูง และจำเป็นจะต้องส่งเสริมจริยธรรม ฝรั่งก็เกิดมีปัญหาขึ้นสองชั้น ปัญหาที่หนึ่งคือ ทำอย่างไรจะให้คนมีจริยธรรม และปัญหาที่สองคือ จะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องแก้ปัญหาจริยธรรม แต่ไม่มีจริยธรรมที่จะเอามาใช้แก้ปัญหา จริยธรรมที่เอามาพิจารณาก็หลากหลาย ลงตัวกันไม่ได้

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นข้อเสียเปรียบของฝรั่งที่ว่า พอจะแก้ปัญหาขึ้นมา ก็เกิดความเคว้งคว้างขึ้น เริ่มตั้งแต่ปัญหาว่าจะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้ ตอนนี้ก็ยังเถียงกันอยู่ เป็นปัญหามากในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้เท่าทันสภาพความเป็นไปในโลก

สำหรับสังคมไทยเรานี้ นับว่าโชคดีทั้งสองประการ คือ ทั้งในแง่ที่เรามีเอกภาพในเรื่องของคำสอนในทางพระศาสนา และในแง่ของหลักการที่ว่า จริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นจริยธรรมตามธรรมชาติ เป็นจริยธรรมแห่งสัจธรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะมาโค่นล้มได้ เพราะจริยธรรมนี้เป็นเรื่องของความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

กฎแห่งจริยธรรมนั้น เป็นกฎธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีใครสั่ง ไม่มีใครสร้าง พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงไม่มีความวิตกหรือหวั่นไหวในเรื่องนี้

นี่คือสภาพที่โยงมาจากความเป็นไปในตะวันตกปัจจุบัน ที่ตะวันตกกำลังขาดความมั่นใจ ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน

แต่มองย้อนกลับอีกที ตะวันตกเห็นปัญหาและความขาดพร่องของตน เขายอมรับและหาหลักทางปัญญาเพื่อจะแก้ปัญหา

ระหว่างนั้น ในทางปฏิบัติ หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสังคมที่ประชาชนมีวินัยและเคารพกฎหมายหลักเกณฑ์กติกา ซึ่งได้ฝึกปฏิบัติกันมาเป็นประเพณี อะไรที่ชัดว่าต้องทำ เขาจึงทำได้

วินัย แสดงถึงการบังคับควบคุมปกครองตนเองได้ เป็นฐานให้จริยธรรมตั้งอยู่ได้ และให้ประชาธิปไตยเป็นจริง เช่น เมื่อรู้ว่า ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะเป็นองค์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง เขาก็ตรากฎหมายออกมา และมีการปฏิบัติได้จริงจัง จึงช่วยผ่อนเบาปัญหาไปได้บ้าง

หันมาดูสังคมไทย ที่ว่ามีหลักจริยธรรมที่ดีเป็นความจริง แต่คนไทยน้อยนักจะรู้จักหรือสนใจจริยธรรมที่ว่านั้น และไม่เป็นคนมีวินัยที่จะทำให้ปฏิบัติจริยธรรมและถือกฎหมายได้จริง เมื่อการทำจริงไม่มี คำกล่าวข้างต้นจึงเหมือนบอกความภูมิใจที่เลื่อนลอย

ในที่สุด เรื่องของเขาก็รู้เท่าทันไว้ แต่ภารกิจที่ตรงแท้ คืออะไรดีอะไรถูกต้อง ก็ต้องจัดการกับตัวเองให้ได้จริง

มิใช่ว่า จะทำอะไร ก็ไม่เอาจริง ทำได้ไม่จริง

สังคมไทยมีทุนดี แต่ทุนนั้นจะมีความหมาย ต่อเมื่อคนไทยมีสำนึกที่จะรู้เข้าใจ และมีวินัยที่จะทำให้ได้จริง

ถ้าคนไทยเป็นคนจริง เมื่อมีทุนดีอยู่แล้ว คนไทยรู้จริง ทำจริง ก็ลุกขึ้นเดินนำหน้า พาอารยธรรมมนุษย์ให้พัฒนาถูกทางได้

ครูอาจารย์วิชาพระพุทธศาสนานี่แหละ คือผู้นำที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย โดยถือเป็นงานอันท้าทายข้อแรกที่จะต้องฝึกสอนพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนมีวินัย เคารพกฎหมาย เพื่อให้จริยธรรมมีฐานที่จะตั้งต้น และมีหลักประกันให้มั่นคงต่อไปได้

สรุป

เราก็ได้มองสถานการณ์พระพุทธศาสนากันในวันนี้ ตั้งแต่วงแคบ คือวงการคณะสงฆ์ ออกไปสู่วงการพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ แล้วขยายออกไปถึงสังคมของประเทศไทยทั้งหมด แล้วก็ออกไปทั่วโลก โดยเน้นประเทศผู้นำ คือประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในฐานะที่เป็นครูวิชาพุทธศาสนา ต้องถือตนว่าเป็นผู้นำทางปัญญา รู้ทัน รู้ธรรม ไม่ใช่เป็นผู้นำทางความประพฤติอย่างเดียว

การสอนจริยธรรมในปัจจุบันจะได้ผล ต้องมีปัญญารองรับ และมีความเป็นผู้นำทางปัญญามาสร้างศรัทธาให้เกิดความเชื่อถือ แล้วความประพฤติที่ดีจึงจะไปได้

มิฉะนั้นจะถูกอิทธิพลของค่านิยมแห่งยุคสมัยเข้ามาขัดขวาง กล่าวคือ เวลานี้ เราอยู่ในยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศไทยนี้ แม้โลกเขาจะหักเลี้ยว หันกลับมาทบทวนแนวทางพัฒนากันใหม่ แต่ไทยเรายังวิ่งตามเขาอยู่ในอดีต เพราะฉะนั้น ค่านิยมทางวัตถุแบบอุตสาหกรรม และค่านิยมแบบเทคโนโลยี ก็จะยังครอบงำสังคมไทยอยู่ต่อไปอีกนาน

ในสังคมแบบนี้ เขามีค่านิยมที่ไม่ยกย่องผู้มีความประพฤติดี ถ้าหากว่าคนนั้นไม่มีวัตถุ และไม่มีปัญญา

ในแง่ของการมีวัตถุนั้น เราไม่ต้องการ เพราะเราไม่อยากให้คนมาวัดกันด้วยความมีวัตถุพรั่งพร้อม แต่เราต้องเอาปัญญามาเป็นตัวนำ ถ้าเรามีความเป็นผู้นำทางปัญญาแล้ว ความประพฤติของเราก็จะได้รับการยอมรับเชื่อถือได้

นอกจากนั้น ความเป็นผู้นำทางปัญญานี้ จะเป็นตัวกลับมาช่วยแก้ปัญหาได้ด้วย ทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาความประพฤติ และช่วยชี้แนะแนวทางของการพัฒนาแบบใหม่

อนึ่ง เราต้องรู้ตระหนักว่า ปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง แต่เป็นปัญหาทั่วทั้งโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อกัน โดยเฉพาะก็คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่ว่ามาแล้ว

ปัจจุบันนี้ เขานิยมใช้คำว่า global อะไรต่ออะไรก็ต้องเป็น global คือเป็นเรื่องของทั้งโลก

เวลานี้ สิ่งที่มนุษย์ทำแม้ในที่ใดที่หนึ่ง ก็มีผลกระทบไปทั่วโลก และความคิดสำคัญๆ ในโลก โดยเฉพาะในส่วนที่นำทางการพัฒนานั้น เป็นสิ่งที่เราจะต้องตามให้ทัน

เราจะต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตะวันตก ต้องรู้ว่า ปัจจุบันนี้ตะวันตกไปถึงไหน ติดตันอย่างไร มีปัญหาอย่างไร และเขากำลังหาทางออกอย่างไร ตลอดกระทั่งว่าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาได้บ้าง

ถึงตอนนี้ ก็จะต้องกลับมาย้ำเน้นเรื่องสำคัญที่พูดมาแล้วว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การแก้ไขสภาพจิตที่ฝังรากลึกมาในสังคมไทยประมาณหนึ่งศตวรรษ คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตาม และเป็นผู้รับ โดยสร้างจิตสำนึกของความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ขึ้นมาแทน

ท่านอาจารย์และครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาทุกท่าน ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ กำลังทำหน้าที่ที่สำคัญ ขออย่าได้ท้อถอย

แต่เราจะต้องจับจุดให้ถูกว่า ในพระพุทธศาสนาของเรานี้ ตัวหลักการอยู่ที่ไหน ปัญหาในบ้าน ในเมือง ในสังคมของเรา แม้แต่ในหมู่ชาวพุทธ หรือชุมชนชาวพุทธนั้น คืออะไร จุดที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ที่ไหน และจะทำอย่างไร

ถ้าเรารู้หลักการของเรา เราจะแก้ปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าจับหลักการ จับจุด จับประเด็นไม่ถูกแล้ว การแก้ปัญหาก็จะนัวเนีย วุ่นวาย สับสน

นอกจากในหมู่ของเราเองแล้ว เราต้องมองปัญหากว้างออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของประเทศอื่นๆ ในโลกทั้งหมด เพราะประเทศไทยเรากำลังเดินตามวิถีทางการพัฒนาตามแบบของตะวันตก และเราจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น จะต้องมองกว้างทั่วโลก อย่ามองแคบๆ เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น ไม่เพียงพอ

เป็นอันว่า ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ท่านมีภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งวิชาอื่นๆ ไม่สามารถจะทำได้ หรือไม่สนใจที่จะทำ

อย่างที่กล่าวแล้วว่า วิชาการส่วนมากนั้น ถ้าพูดว่าเป็นการศึกษา ก็ไม่ได้เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง เพราะวิชาการส่วนมากที่เราศึกษาในปัจจุบันนั้น เป็นวิชาที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการศึกษาประเภทสนองสังคมเท่านั้น

การศึกษาที่แท้ ไม่ใช่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อสนองสังคมเท่านั้น การศึกษาที่แท้จริงนั้น เป็นเนื้อตัวของการพัฒนาสังคม เป็นตัวแก้ไขปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาของสังคม และเป็นผู้นำทางให้แก่สังคม เราจะต้องตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบอันนี้

จากสถานะที่มีอยู่อย่างชัดเจนนี้ เราก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำทางปัญญาอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ถ้าครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาจับจุดจับหลักของตนได้ถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นผู้นำทางให้แก่วงการของวิชาการและการศึกษาอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น จึงขอให้ท่านมีความภูมิใจในตัวเองอย่างนี้ แล้วก็สร้างความภูมิใจนี้ให้ถูกหลักถูกเรื่องกัน

ไม่ใช่มีแต่ความภูมิใจเลื่อนลอย ที่เป็นมานะ อันแฝงด้วยโมหะ แต่จงเป็นมานะที่แม้จะมีส่วนเป็นกิเลสอยู่บ้าง แต่ประกอบด้วยปัญญา แล้วเราก็จะพัฒนาไปสู่ความมีปัญญามากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งไม่ต้องอาศัยมานะอีกต่อไป

อาตมภาพได้กล่าวมา บัดนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายธรรม เรื่อง สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เพียงแค่นี้

ขออนุโมทนาทุกท่าน และขอให้ทุกท่าน ทั้งที่เป็นพระสงฆ์ และอาจารย์ ครูในโรงเรียน และในวงการวิชาการทุกท่าน จงเจริญพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา ที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม ประเทศชาติ และอารยธรรมของมนุษยชาติ ให้ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

บันทึกท้ายเล่ม

สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะเป็นพัฒนา นี้ เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ในปี ๒๕๓๖ เป็นงานที่ปรับปรุงจากปาฐกถาธรรม เรื่อง “สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน” ในการสัมมนาเรื่อง ปัญหาและแนวทางการปรับปรุงการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ณ หอประชุมพุทธมณฑล เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๖ มีการพิมพ์ใหม่อีกสัก ๕ ครั้ง ใน ๒ ปีต่อมา หลังจากนั้นก็เหมือนถูกลืมเงียบหายไป

จนกระทั่งถึงปีนี้ เมื่อมีบางท่านคิดจะพิมพ์ขึ้นอีก (พร้อมกับเรื่อง สถานการณ์พระพุทธศาสนา: ทวนกระแสไสยศาสตร์) ก็ไม่มีข้อมูลต้นแบบ ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลเดิมในระบบ MAC ก็สูญหายไปแล้ว แต่ยังดีว่า คุณวีระ สันติบูรณ์ ได้แปลงข้อมูลเดิมนั้นเข้าไว้ในฐานข้อมูลระบบ PC และมอบให้รักษาไว้ที่วัด จึงนำข้อมูลนั้นมาใช้ทำงานครั้งนี้

ในการจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือขึ้นใหม่ ได้ถือโอกาสจัดปรับให้อ่านง่ายใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ซอยย่อหน้าถี่ขึ้น รวมทั้งได้เขียนเพิ่มแทรกเข้าไปอีก ๒ หัวข้อ (หน้า ๑๙ “คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป” และหน้า ๒๕ “ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง”)

เข้าใจว่า ท่านผู้คิดจะพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นใหม่คราวนี้ (แจ้งต่อๆ มา ไม่ได้พบกัน) คงปรารภเหตุการณ์ในวงการศาสนาที่กระทบศรัทธาในช่วงนี้ จึงอยากจะเตือนสติ-ให้ปัญญาแก่ประชาชน ซึ่งควรอนุโมทนา

เมื่อมองย้อนหลังไป หนังสือเล่มนี้เอง ก็เกิดขึ้นจากการพูดโดยปรารภเหตุการณ์คล้ายกันอย่างนี้ในวงการศาสนาครั้งนั้น โดยเฉพาะเป็นการพูดกับครูอาจารย์ผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา จึงมีแนวและลักษณะตลอดจนจุดเน้นของเนื้อความไปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านพึงสังเกตด้วย

ขออนุโมทนาท่านผู้ดำริให้การบุญตั้งต้น และขอให้กุศลงอกงามต่อไป

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖

1 ปาฐกถาธรรม เรื่อง “สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน” ในการสัมมนาเรื่อง ปัญหาและแนวทางการปรับปรุงการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมพุทธมณฑล ๒๒ มกราคม ๒๕๓๖
เนื้อหาในเว็บไซต์นอกเหนือจากไฟล์หนังสือและไฟล์เสียงธรรมบรรยาย เป็นข้อมูลที่รวบรวมขึ้นใหม่เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยมิได้ผ่านการตรวจทานจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผู้ใช้พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือหรือเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง